ThaiPublica > เกาะกระแส > “ธานี ชัยวัฒน์” ชวนคุยพฤติกรรมการเงินแบบไทยๆ มุมมองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

“ธานี ชัยวัฒน์” ชวนคุยพฤติกรรมการเงินแบบไทยๆ มุมมองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

25 ตุลาคม 2018


ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในงาน “คุยกัน Money” ในหัวข้อ “พฤติกรรมการเงินแบบไทยๆ จากมุมมองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ทั้งสนุกและได้สาระ” ที่ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผศ. ดร.ธานีกล่าวว่า “โจทย์วันนี้ที่ศูนย์การเรียนรู้ชวนมาคุยคือพฤติกรรมการเงินแบบไทยๆ ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์การเงิน ผมเรียนจบมาทางสายวัฒนธรรม ฉะนั้นเวลาผมมองเงินในมุมของวัฒนธรรมจะไม่เหมือนที่นักการเงินมอง วันนี้ถ้าใครทำงานด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ บัญชี ลองถอดหมวกออกก่อน ลองใช้ชีวิต ใช้วิถีชีวิตของมนุษย์ปกติ แล้วเราดูว่าเงินจะเข้ามาอยู่ในส่วนไหนของชีวิตเราบ้าง เราจะมองเงินไม่ใช่เงิน แต่จะมองเงินเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเรา”

งานในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เงินอยู่ในวิถีชีวิตเราอย่างไร?

ผศ. ดร.ธานีเริ่มต้นว่าอยากจะชวนทุกท่านมองชีวิตแบบที่เป็นชีวิตก่อน ถามคำถามแรกว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร … ทุกท่านเงียบ จริงๆ ไม่ใช่คำถามที่ง่ายนะครับ ถ้าทุกท่านเงียบเป็นเรื่องปกติ ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตตามที่ตลาดพาไป ตามระบบเศรษฐกิจสังคมพาไป จริงๆ แล้วเราไม่ได้ถอยกลับมาคิดว่าเราเกิดมาทำไม เราใช้ชีวิตอยู่เพื่ออะไร ถ้าสมมติว่าเป็นทางของชีววิทยาเราจะบอกว่ามนุษย์มีหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์ เป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง สัตว์ทุกประเภทที่หน้าที่สืบเผ่าพันธุ์

ที่นี้ถ้ามองว่าสืบเผ่าพันธุ์มันอาจจะไกลไป นักเศรษฐศาสตร์อาจจะเข้าใจยาก จริงๆ เราเกิดมาเพื่อให้เราอยู่รอดได้ เราอยู่รอด เรามีลูก แล้วเราก็ใช้ชีวิตรอด แล้วพอบอกว่าอยู่รอด เวลามองทางด้านการเงินแปลว่าอะไร แปลว่าเรามีหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงและผลตอบแทนในชีวิตของเรา ความเสี่ยงในที่นี้อาจจะไม่ใช่การเงินอย่างเดียว อาจจะเป็นทางด้านสุขภาพการกินดีอยู่ดีหรืออุบัติเหตุต่างๆ แล้วก็มีหน้าที่บริหารจัดการผลตอบแทน คือให้เราอยู่อย่างสบายไม่ลำบาก เพราะฉะนั้น เราจะอยู่รอดได้ สิ่งที่เราทำทุกวันนี้คือการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนในชีวิต แล้วเราบริหารในทางด้านที่เรียกว่าระหว่างคนในรุ่นเดียวกันและข้ามรุ่นด้วย เราบริหารให้ลูกด้วย และก็ตัวเราเอง

กลับมาดูอันนี้ก่อนว่าเวลาเราใช้ชีวิตโจทย์ของเราคือใช้ชีวิตและต้องการอยู่รอด แล้วเราอยู่รอดได้เมื่อการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ดี พอพูดเรื่องบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทน นักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์เข้าใจดี ทีนี้คำถามต่อไปคือเงินอยู่ตรงไหนของการมีชีวิตอยู่ เงินทำหน้าที่อะไร

ถ้าเราคุ้นกันคือเงินทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน อีกหน้าที่เก็บรักษามูลค่าไว้ในอนาคต อันนี้คือการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทน พอเป็นสื่อกลางคุณอาจจะได้จากอะไรบางอย่าง คุณขายผักแต่อยากได้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ คุณขายผักไปได้เงินมาแล้วเอาไปซื้อเนื้อสัตว์ เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง ณ ปัจจุบัน ส่วนอีกหน้าที่เป็นการบริหารความเสี่ยงข้ามเวลาไป ถ้าเก็บเงินในวันนี้ที่ยังหนุ่ม พอแก่ลงก็ใช้เงินนั้น ฉะนั้น เงินเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งการแลกเปลี่ยนในปัจจุบันและอนาคต

พอเราเห็นเงินแบบนี้ เงินจะทำหน้าที่บริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนในชีวิตเรา แล้วเราทำอะไร จากตรงนี้ก็มีมุมมองว่าเพราะคนกลัวความเสี่ยง คนก็พยายามลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด อันที่ 2 คือคนกลัวการสูญเสีย ไม่อยากขาดทุนเยอะ สิ่งที่ทำอีกอย่างคือจะหาผลตอบแทนที่สูงสุด และอีกหน้าที่ในมุมเศรษฐศาสตร์การเมืองคือสินค้าที่เราซื้อขายทุกประเภทจริงๆ จะทำหน้าที่ 2 อย่าง อันแรกเป็นการแลกเปลี่ยน (exchange value) อันที่ 2 ทำหน้าที่บอกสถานะ (sign value) คือส่งสัญญาณว่าเราอยู่ในระดับขั้นไหนของสังคม ฉะนั้นเงินทำหน้าที่ 3 อย่างนี้ จัดการความเสี่ยงให้ต่ำ จัดการผลตอบแทนให้สูง แล้วก็แสดงฐานะของเราให้สูงที่สุดภายใต้สังคมที่เราอยู่

สังคมไทยออมผ่านความสัมพันธ์

ผศ. ดร.ธานีกล่าวต่อว่า”ผมจะพาท่านดูทีละขั้นว่า ถ้ามองคนด้วยชีวิตของเขา เงินสำคัญตรงไหนและไม่สำคัญตรงไหนในชีวิตเขา เริ่มต้นที่อันแรก ถ้าพูดถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงของคนคนหนึ่ง อย่างที่บอกว่าความเสี่ยงในชีวิตหลายอย่างจัดการด้วยเงินได้ แต่หลายอย่างก็มีวิธีอื่นในการจัดการ เวลาที่เราพูดถึงความเสี่ยงในชีวิต ถ้าพูดในมุมการเงินล้วนๆ อะไรเป็นตัวบริหารจัดการ คือการออม ท่านออมไว้ยามฉุกเฉิน ยามชรา เพื่อซื้อของต่างๆ เป็นการออมที่เป็นทางการเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง คำถามคือการออมเป็นอย่างเดียวในชีวิตที่เราใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงหรือไม่?”

ตรงนี้จะพาท่านย้อนกลับไปดูในชุมชน แล้วท่านจะเห็นพฤติกรรมของคนที่อยู่ในเมืองที่ทำงานในภาคทางการชัดขึ้น แต่ขอพาไปไกลๆ ก่อน กลับไปในชนบทที่เป็นชนบทสังคมไทย สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ให้ความสำคัญมากๆ คือการส่งลูกเรียน ท่านนึกออกหรือไม่ว่าทำไมส่งลูกเรียน เพราะว่าเขาจะให้ลูกกลับมาดูแลตอนแก่ แปลว่าอะไร อันนี้คือการออมสำหรับเกษียณของเขา ฉะนั้นจะเห็นว่า พ่อแม่ทุกคนพยายามจะส่งลูกเรียนให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ การศึกษามันจึงราคาสูงเกินไป ณ ตอนนี้ มันมีคนพยายามไปลงทุนในการศึกษาเยอะเกินไปจนมันแพงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะว่าพ่อแม่ออมผ่านลูก ตราบใดที่ค่านิยมกตัญญูยังอยู่และส่งลูกเรียนดีที่สุด ลูกไม่เบี้ยวเขาตอนแก่ พ่อแม่หลายคนตอนนี้ก็บอกว่าไม่แน่ใจ แต่สมมติว่าไม่เบี้ยวกัน ลูกก็ต้องมาเลี้ยงดูเขาตอนแก่

ฉะนั้นเขาต้องมีการออมเงินจริงหรือไม่ครับ อาจจะไม่มาก ถ้าเขาแน่ในว่าลูกกลับมาเลี้ยงดู แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะกลับมาหรือไม่แน่ใจว่าจะเลี้ยงได้หรือไม่ เขาทำอย่างไร เขาต้องมีลูกหลายๆ คน เวลาบอกว่ามีลูกมากจะยากจน แต่อีกด้านหนึ่งในสังคม การมีลูกหลายคนคือการประกันความเสี่ยงตอนแก่ มีลูก 5 คน มีแค่คนเดียวเลี้ยง รอด หรือคนเดียวอาจจะเลี้ยงไม่ไหวตอนนี้ของแพง ก็มีขอสัก 3 จาก 5 คนเลี้ยง รอด

ดังนั้น ที่เรามักมองว่าทำไมคนจนมีลูกมาก เพราะยิ่งมีมากจะยากจน อีกด้านหนึ่งการมีลูกคือการรับประกันความเสี่ยงตอนเขาแก่ วิธีคิดมันไม่ใช่วิธีคิดทางการเงิน เป็นวิธีคิดที่มันพลิกไปอีกด้านหนึ่ง การออมยามเกษียณเขามีทางเลือกอื่นในการออม เราก็เลยไม่ค่อยเห็นการออมยามเกษียณ แล้วเราก็พยายามผลักดันกันเมื่อไม่นานมานี้ น่าจะไม่เกิน 10 ปี แต่ไทยเรามีคนแก่มาเป็น 1,000 ปีแล้วนะโดยที่ไม่ได้ผลักดันเรื่องนี้ แล้วเราเพิ่งมากังวลเรื่องการออมยามเกษียณ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ควรเป็นห่วง ต้องเป็นห่วง แต่มันแปลว่าก่อนหน้านี้มันยังมีกลไกอื่นทำงานอยู่ อันนี้อันแรก

อันต่อไปคือการออมเพื่อจับจ่ายใช้สอย ท่านอยากได้มือถือท่านเก็บเงินออม ท่านอยากได้รถจักรยานยนต์ท่านเก็บเงินไปซื้อ ตอนนี้ท่านต้องเก็บเงินหรือไม่ ไม่ต้องแล้ว ท่านมีบัตรเครดิตกันแทบจะ 5-6 ใบ ไม่ได้แปลว่าดีหรือไม่ แต่ประเด็นคือท่านไม่จำเป็นต้องออมเพื่อจับจ่ายใช้สอย เพราะการเข้าถึงสินเชื่อ…ไม่กล้าใช้คำว่าง่ายเกินไป แต่การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นเท่าไหร่ อีกด้านหนึ่งจะไม่จูงใจการออม ดังนั้นตัวเลขการออมในระบบที่ไม่รู้ว่าออมเพื่ออะไร เรามองไม่เห็น เพราะว่าถ้าเขาอยากได้อะไร เขาก็ใช้บัตรเครดิตผ่อนได้ มองไม่เห็นเรื่องเล่านี้

อันสุดท้ายคือออมยามฉุกเฉิน ถ้าเราไม่มีเงินออมเลยท่านจะทำอย่างไร ยืมญาติยืมตระกูล ฉะนั้น ถ้าสมมติว่าญาติป่วย ท่านช่วยเหลือ วันหนึ่งท่านป่วยญาติช่วยท่าน ยิ่งท่านครอบครัวใหญ่เท่าไหร่ ระบบประกันจะยิ่งทำหน้าที่ได้ดีมากขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่าสมัยก่อนระบบประกันแบบนี้ดีกว่า เพราะเป็นครอบครัวใหญ่มากๆ ถ้าดูต่อให้พี่น้องทะเลาะกันแค่ไหน มันจะมีบางคนที่ช่วยเหลือ บางคนก็ไม่ช่วย ดังนั้นการออมยามฉุกเฉินมันทำงานด้วยเครือข่ายญาติพี่น้องครอบครัว ถ้าเรานึกถึงการออมในระบบจริงๆ เราบอกว่าเรามีเงินออมยามฉุกเฉิน เอาเข้าจริงๆ เวลาฉุกเฉินเรานึกถึงญาติก่อนจะนึกถึงเงินออมด้วยซ้ำ คนเหล่านี้จะช่วยท่านก่อน เงินออมมาทีหลังแล้ว

เรื่องเหล่านี้บอกอะไรเรา มันกำลังบอกว่าจริงๆ แล้วการมองเงินออมในฐานะตัวจัดการความเสี่ยงในชีวิตนั้นมีทางเลือกอื่นที่ทำงานในสังคม เราส่งลูกเรียนเป็นการออมตอนเกษียณ เราเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นเพื่อแทนการออมเพื่อจับจ่ายใช้สอย และเรามีญาติมีครอบครัวเพื่อนบ้าน คนเหล่านี้ทำหน้าที่แทนการออมยามฉุกเฉิน ตราบใดที่ค่านิยมบุญคุณยังมีในสังคม ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ แต่มันเป็นแกนหลักของการทำหน้าที่นี้ เรามีกลไกที่ทำหน้าที่แทนการออม เราเลยไม่เห็นการออมเต็มที่

…นึกภาพต่อว่าถ้าเราอยู่ในสังคมที่ปัจเจกมากๆ ที่ไม่ได้มีครอบครัวพรรคพวก แบบในสหรัฐอเมริกา อันนี้การออมของท่านต้องออม ไม่มีญาติช่วย ลูกก็ไม่รู้จะเลี้ยงหรือไม่ เราก็จะเห็นการออมในระบบ หรือถ้าท่านอยู่ในสังคมเมืองมากขึ้น  พึ่งพาคนอื่นยากขึ้น ท่านก็จะเห็นการออมมากขึ้น และภายใต้สังคมแบบนี้ของเราก็จะทำให้การออมต่ำกว่าในระดับหนึ่ง

ออมเงินเพื่อเป็นคนดี ไม่เพียงพอในยุคใหม่

การจัดการความเสี่ยงมีเรื่องอื่นด้วย เวลาเราออม เราออมไปทำไม ถ้าท่านถอดหมวกนักการเงินออก เวลาสอนเด็กเราสอนอะไรกัน เขาจะไม่สอนว่าต้องออมเพื่อใช้จ่ายหรือฉุกเฉิน แต่จะสอนว่าเด็กดีต้องออมนะ ถ้าท่านทันเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีมันจะมีข้อหนึ่งเรื่องการออม แล้วเราก็สอนการออมในหน้าที่ของการเป็นคนดี ต้องประหยัดอดออม  อันนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย คือเขาไม่รู้ว่าจะออมไปทำไม เพราะเขารู้แต่ว่าเป็นคนดีต้องออม แล้ววันหนึ่งถ้าความดีไม่ทำงานในสังคมยุคใหม่ เด็กยุคใหม่ไม่รู้จะออมไปทำไมจะเป็นอย่างไร

ถ้าคุณค่าความดีแบบนี้ ไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้ามันยังทำงานในสังคมการออมอยู่ได้ เพราะเราสอนการออมเป็นคุณธรรม  แต่พอวันหนึ่งมันมีบทบาทน้อยลงคนไม่รู้ว่าจะออมไปทำไม เราไม่ได้สอนเด็กว่าออมไว้ฉุกเฉิน เจ็บป่วย แต่สอนแบบนี้ก็ไม่สำเร็จ ทำไมสอนแบบนี้ไม่สำเร็จ ถ้าลองไปถามเด็ก เด็กจะตอบว่าขอพ่อแม่สิ เพราะพ่อแม่คือที่พึ่งสุดท้าย เคยมีงานวิจัยอันหนึ่งที่ทำก็เห็นภาพแบบนี้เหมือนกัน เด็กเขาไม่รู้สึกว่าต้องเก็บอะไรไว้ เพราะพ่อแม่คือผู้ให้กู้รายสุดท้ายที่ไม่ต้องคืนก็ได้ เขามีตัวช่วยอยู่ ดังนั้นปัญหาคือว่าการสอนเด็กให้เด็กเรียนรู้การออมอย่างไร จากที่เดิมมันผูกอยู่กับคุณธรรมที่มีบทบาทน้อยลง

ตลาดเงินออมในเชิงวัฒนธรรม – เมื่อคนออมบุญแย่งเงินออมในระบบ

อีกอันที่เราเห็นและน่าสนใจที่สุดคือการออมไม่ใช่ทางเลือกในการลดความเสี่ยงตรงๆ อย่างเวลาคุณรู้สึกว่าเจอสถานการณ์เลวร้าย หรือมีโอกาสที่จะเจอความเสี่ยงในชีวิต เช่น เดินทางกลัวจะเกิดอันตราย เขาทำอะไรกัน เขาไปไหว้พระ ฉะนั้น การไหว้พระหรือทำบุญ เป็นรูปแบบหนึ่งของการออมเพื่อลดความเสี่ยงในความรู้สึกของเขา อยากจะลดความเสี่ยง ไม่ได้ออมแต่ไปทำบุญ สะเดาะเคราะห์ แล้วเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และเป็นตลาดที่กำลังต่อสู้กับการออมในระบบอยู่ คือถ้าเก็บไว้รักษาในโรงพยาบาลไม่รู้เท่าไหร่จะพอ แต่ทำบุญพอเท่าไหร่ก็ได้อยู่ที่ใจ แล้วถ้าไปไหว้พระท่านขออะไรบ้าง ขอให้ไม่เจ็บป่วย ให้รวย สอบได้ ปลอดภัย ให้มีลูก ให้ได้ลูกชายลูกสาว ให้ถูกหวย เยอะมาก พระหรือวัดคือตลาดขนาดใหญ่เพราะท่านขอทุกอย่าง

แล้วแบบนี้ไม่ได้มีตลาดเดียว ก็ยังมีเจ้าจีนก็จะเป็นตลาดเจาะจง เวลาขอลูกก็จะต้องขอองค์ไหน เวลาจะค้าขายก็ขออีกองค์ มันก็ใหญ่มากตั้งแต่ตลาดใหญ่จนถึงตลาดเจาะจง หนักกว่านั้นอีกคือมีตลาดแบบเจาะจงรายบุคคลอีก พระกับเจ้าตอบไม่ได้ ก็ตอบไม่ได้ไป ท่านก็ไปหาร่างทรง ไม่ว่ามีปัญหาอะไร ร่างทรงตอบได้ในปัญหาเฉพาะของท่านเลย ท่านก็ออมผ่านร่างทรง รูปแบบพวกนี้เป็นการประกันความเสี่ยงผ่านการออม แต่ไม่ได้ออมในระบบ ออมผ่านวัดผ่านศาลเจ้า เรื่องแบบนี้มันดูไม่เหมือนการออม แต่การแข่งขันแย่งชิงเงินออมในระบบอยู่ที่ตลาดเหล่านี้ แล้วมันทำงานอยู่สังคมไทย เราไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่มันอยู่ในโครงสร้างที่ทำงานในสังคมไทย

ดังนั้น สรุปแล้วการจัดการความเสี่ยงแบบไทยๆ นอกจากออมปกติแล้ว มันมีทางเลือกอื่นผ่านความสัมพันธ์ของคนไทยที่เข้มแข็งมาก แล้วตราบใดที่มันยังอยู่การออมก็จะออมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แล้วที่ผ่านมาเราสร้างเป้าหมายเพื่อความดี ไม่ใช่จัดการความเสี่ยง ฉะนั้น เวลาที่บทบาทความดีลดลงไม่รู้จะออมไปทำไม การออมก็ลดลงไปด้วย และสุดท้ายตลาดการจัดการความเสี่ยงมีการแข่งขันสูงและแย่งเงินออมในระบบไป เพราะคนคิดว่ามีที่ที่ไว้ใจและจัดการได้ดีกว่าการออม เช่น เข้าวัดทำบุญ หาร่างทรง

สังคมไทยลงทุนสร้างสัมพันธ์ – ควบคุมความเสี่ยงเอง

ประเด็นที่สอง นอกจากเรื่องการจัดการความเสี่ยงแล้ว เราอยากจะมีชีวิตที่ดี ไม่อยากสูญเสีย อยากมีผลตอบแทนที่ดี แล้วเราเอาเงินไปทำอะไร เราเอาไปลงทุน แต่คำถามเดียวกันคือมันเป็นช่องทางเดียวหรือไม่ ถ้าท่านเป็นชาวนาในระบบ มีความรู้ไม่มาก ให้เขาซื้อหุ้นลงทุน เขากลัวเพราะไม่รู้ว่าคืออะไรและผลตอบแทนร้อยละเท่าไหร่ เขาอาจจะไม่ทราบ

“อันแรกที่น่าสนใจคือเงินยืมกับเงินกู้ไม่เหมือนกันในสังคมไทย ผมทำงานกับทีมฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เวลาเราถามว่าท่านมีเงินกู้หรือไม่ หลายคนไม่มี แต่ยืมเงินหรือไม่ มี คือมันไม่เหมือนกัน เวลาบอกว่ายืมมันมีความรู้สึกของความสัมพันธ์ร่วมกันบางอย่าง นักการเงินก็พยายามจะไปตัดนิยามว่ามีดอกเบี้ย มีระยะเวลาคืนหรือไม่ เขาไม่สนใจหรอก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาสามารถยืมเงินหรือให้ยืมได้ คือการลงทุนที่เขาควบคุมความเสี่ยงด้วยตัวเอง เขาไปลงทุนหุ้นเขาไม่รู้ครับ แต่พอให้ยืมเขารู้ว่าใครมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นการยืมและให้ยืมด้านหนึ่งคือความสัมพันธ์แต่อีกด้านคือเป็นความเสี่ยงที่เขาประเมินได้

ตัวอย่างหนึ่งชัดๆ คือวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คุณคิดว่ารายได้เฉลี่ยใน กทม. เท่าไหร่ จากผลสำรวจเฉลี่ยอยู่ที่ 35,000 บาทต่อเดือน เยอะสุดคือ 75,000 บาทต่อเดือน แถวๆ สุขุมวิท เงินเยอะมาก แล้วมีโครงการสนับสนุนให้เขาไปออมเงิน ไม่ได้ผล เพราะอะไร คนก็ไปวิเคราะห์ว่าเขาได้เงินเร็ว ได้เงินสด ก็เอาไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่ แต่จริงๆ ก็มีเงินเหลือเยอะมากอยู่ ด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องเงินคือเขาบอกว่าไม่เพราะว่าไม่อยากไปธนาคาร เพราะเวลาเข้าไปแล้วรู้สึกว่าพนักงานดูถูกเขา แต่เขาไม่จนนะครับ แล้วอีกด้านจริงๆ แล้วเขาทำอย่างอื่น เงินที่ได้มาเขาเอาไปเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แม่ค้าเป็นหลัก คนที่เขารู้ว่าใครเป็นใครบ้างบ้านอยู่ไหน แล้วเก็บดอกเบี้ยรายสัปดาห์ ซึ่งไม่ต่ำกว่าที่ไปฝากธนาคารแน่ๆ ความเสี่ยงประเมินเองได้ ปล่อยไป 10 คน เบี้ยวไป 4 คนยังคุ้มกว่าไปฝากธนาคารอีก

ถามว่าวินไม่มีเหตุผลตรงไหน ในขณะที่วันหนึ่งคนบางกลุ่มก็จะผลักดันให้เขาไปฝากเงิน คำถามคือจะฝากเพื่ออะไรถ้าเขาเก็บดอกเบี้ยได้สูงขนาดนี้ เบี้ยวไปก็ยังกำไร เขาไม่ได้ลงทุนในหุ้นในหลักทรัพย์ต่างๆ แต่เขาลงทุนในที่ๆ เขาประเมินความเสี่ยงได้เอง ในเชิงพฤติกรรมเราอาจจะบอกว่าเขามีความมั่นใจสูงเกินไป แต่อีกด้านหนึ่งคือเขาไม่รู้และไม่เข้าใจในระบบการเงินในระบบที่ซับซ้อน ดังนั้นอันแรกที่อยากให้เห็นภาพคือเขาลงทุน แต่ไม่ลงทุนในระบบ เขาลงทุนในรูปแบบที่ประเมินความเสี่ยงเองได้

อันที่ 2 เวลามีเงินคนในชนบทเอาไปทำอะไรบ้าง ไปซื้อลูกวัว ที่เป็นข่าวไปซื้อมา 700,000 บาทผ่านไปปีครึ่งขายไป 2 ล้านบาท ถามว่าอยู่ในระบบหรือไม่ เป็นการลงทุนหรือไม่ เป็น แต่ไม่อยู่ในระบบ คนเหล่านี้ก็จะไปซื้อวัวไปปลูกยางพารา มันไม่ใช่แค่ความเสี่ยงที่เขาควบคุมได้เท่านั้น แต่เขารู้ เขาเลี้ยงวัวมาตลอด เขารู้ว่าจะเลี้ยงอย่างไรให้โตขึ้น จะปลูกยางอย่างไรให้ได้น้ำยางเยอะๆ แล้วการที่วัวจากเล็กๆ แล้วขายได้ จริงๆ ถ้าเขาซื้อมา 500,000 บาท ต่อให้ขายได้ 700,000 บาทใน 3 ปีก็ไม่คุ้มเลย แต่เขาจะรู้สึกว่าได้กำไรมา 200,000 บาท เขาไปคุยได้ อันนี้สำคัญ มันเป็นการลงทุนที่เมื่อไรที่เขาได้มันสร้างสังคมให้เขาด้วย เขาเอาไปบอกคนอื่นได้ว่ามันประสบความสำเร็จ มันเป็นการลงทุนที่ประเมินได้ด้วยตัวเองและสร้างสังคมเครือข่ายของเขาได้ด้วย

อีกตัวอย่างคือการเล่นเปียแชร์ มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการเงินการลงทุนที่เขาเลือกคนมาเฉพาะที่ไว้ใจได้ และเวลาที่เขาจะเสนอดอกเบี้ยที่ดึงเงินแชร์หรือเปียแชร์ คำว่าเปียแปลว่าข่ม ฉะนั้นเวลาที่เปียแชร์ไม่ใช่แค่เสนอดอกเบี้ยสูงๆ แต่เป็นการข่มกันที่ฉันมีมากกว่า พร้อมจ่ายมากกว่า มันเป็นอีกรูปแบบของการสร้างความสัมพันธ์ด้วย มันเป็นรูปแบบการจัดการเงินที่มีประสิทธิภาพมากในชุมชน เขาเลือกคนเอง กำหนดความเสี่ยงเอง ระหว่างเล่นไปตราบใดที่ไม่เบี้ยวไปเรื่อยๆ ความสัมพันธ์เขาแน่นแฟ้นเรื่อยๆ ความไว้ใจมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วท่านนึกภาพแบบนี้เวลาเรามองเห็นเงินกู้นอกระบบ เราเห็นดอกเบี้ยสูงมากๆ น่ากลัว สงสารว่าจะถูกหลอก แต่อันนั้นคือปลายยอดเขา เขาต้องยืมใครไม่ได้เลยสักคนถึงต้องไปหาระบบแบบนั้น ซึ่งไม่ได้เยอะถ้าเทียบกับเงินยืมที่มีทั้งหมดในชุมชนมากมายมหาศาล ถ้าลองมองกลับกันแล้วเป็นคนในชุมชนแล้วเวลาเห็นข่าวขาดทุนหุ้นหนักฆ่าตัวตาย มีอยู่ไม่กี่คนนะ แต่เขากลัว มันเหมือนกันกับเวลาที่เรามองเขา แชร์โกงกัน หนีกัน แต่คิดดูว่าเวลาหนึ่งมันมีแชร์อยู่กี่วงในประเทศ ไม่แน่ใจว่าแบงก์ชาติมีหรือไม่ แต่คิดว่าไปแทบทุกออฟฟิศมีหมด ที่เห็นโกงๆ มันเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นการไปลงทุนด้วยการเลี้ยงวัวหรือเปียแชร์ มันเป็นรูปแบบของการลงทุนที่กำกับความเสี่ยงเอง และได้ผลประโยชน์ในเชิงของสังคมด้วย

วัฒนธรรมเรียบง่าย – เหมือนกัน กดดันไม่กล้าเปลี่ยน

อีกอันที่จะช่วยอธิบายเรื่องทั้งหมดคือสังคมไทยมีค่านิยมของการมีชีวิตที่เรียบง่าย หรือมีความสุขแบบที่เป็นอยู่ หรือการที่อยู่อย่างไรก็ได้ มันความต้องการผลตอบแทนลงไป ฉะนั้นค่านิยมของความเรียบง่ายในต่างจังหวัดมันไม่ได้กระตุ้นให้เขาอยากมีผลตอบแทนมากขึ้น รูปแบบแบบนี้ทำให้การหาผลตอบแทนสูงสุดที่ต้องเข้าไปในตลาดที่แข่งขันมากๆ เพื่อผลตอบแทนมันไม่เกิดขึ้น แต่แน่นอนเรื่องนี้มีทั้งบวกและลบ ความเรียบง่ายทำให้เขามีความสุข แต่อีกด้านคือความต้องการผลตอบแทนของเขาก็ลดลง แล้วมันสำคัญอย่างไร

ท่านจะเห็นภาพภาพหนึ่งคือชาวนาจำนวนหนึ่งปลูกข้าวแล้วไม่ได้กำไร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บอกไปปลูกอย่างอื่น บางคนบอกไม่เชื่อหรอกทางการ เอาปราชญ์ชาวบ้านก็ได้มาบอกไปปลูกอย่างอื่นสิแล้วจะได้รายได้สูงขึ้น ทำไมเขาไม่เปลี่ยนกันอยู่ดี เพราะว่าในชุมชนเขามีค่านิยมการอยู่อย่างพอเพียง แปลว่าถ้าเขาเปลี่ยนแล้วสำเร็จไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาเปลี่ยนแล้วล้มเหลว เท้ามาเต็มเลย ปลูกข้าวดีๆ อยู่แล้ว ไปเชื่อเขา เขาไม่รู้จักชุมชนเราดี เราต้องปลูกข้าว คำแบบนี้เต็มไปหมด จริงๆ ไม่แค่ชุมชนแต่ในสังคมไทย ถ้าท่านทำแบบเดิมแต่ไม่ประสบความสำเร็จไม่มีใครว่า ถ้าท่านเปลี่ยนแล้วล้มเหลวจะมีคนช่วยเหยียบ ถามว่ามันคืออะไร มันคือวัฒนธรรมของการเหมือนกันสอดคล้องกัน (conformity) ทำให้คนอยู่ในชุมชนร่วมกันได้ด้วยความเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นเวลาที่ชาวนาไม่เปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น มันไม่ใช่ไม่เชื่อว่ามันดีกว่า เวลานักเศรษฐศาสตร์ไปก็คิดว่าโอกาสได้กำไรดีกว่านะ แต่เขาไม่สนใจ เขาถามคำแรกเลยว่าขาดทุนเท่าไหร่ จะขาดทุนหรือไม่ เพราะเขารู้ว่าขาดทุนเมื่อไหร่ เพื่อนบ้านคนรอบข้างพร้อมจะมาหา ส่วนหนึ่งของการไม่เปลี่ยนแปลงมันมาจากค่านิยมหรือคุณค่าของการอยู่อย่างไม่ปรับตัว เรียบง่าย พอมีพอกิน

สรุปแล้วกลไกของการจัดการผลตอบแทนที่เป็นการจัดการแบบไทยๆ มี 3 ประเด็นที่อยากให้มองนอกเหนือจากการลงทุนในตลาดหุ้นที่เขาไม่รู้และเป็นทางการ อันแรกคืออยู่กับความเสี่ยงที่ควบคุมได้และผลตอบแทนเขาไม่ได้ด้อยไปกว่าการฝากเงินหรือลงทุนในระบบ ท่านอาจจะถามว่าเลี้ยงวัวไปจะมีสักกี่ตัวที่ขายได้ 2 ล้านบาท แต่ถ้าเลี้ยง 10 ตัวได้มาตัวเดียวก็คุ้มกว่าแล้ว อันที่ 2 คือเขาลงทุนกับสิ่งที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ในสังคมด้วย

อันสุดท้ายคือค่านิยมเรียบง่ายช่วยลดความต้องการผลตอบแทนในชีวิต แต่ทำให้เขามีความสุข มันแลกกัน สภาพความเป็นอยู่อาจจะไม่ดี แต่มีความสุข เราก็จะเห็นข้อมูลว่าสังคมไทยลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เรามองไม่เห็น แต่เขาลงทุน รวมไปถึงการออมก่อนหน้าที่รูปแบบการออมการลงทุนที่เราเก็บข้อมูลอยู่ไม่ใช่รูปแบบที่สังคมไทยเป็นอยู่

วัฒนธรรม “หวย” สะท้อนสังคมที่ “ไร้ความหวัง-ไม่กล้าเปลี่ยน”

รศ.ดร.ธานีกล่าวต่อว่า “ประเด็นสุดท้ายเป็นความย้อนแย้งบางอย่างในสังคมไทยและไม่มีคำตอบให้ อย่างที่เล่าให้ฟังว่าตอนเรียนปริญญาเอก ผมเน้นด้านวัฒนธรรม มีความมั่นใจว่าเราจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมที่เป็นคนเดียวของสังคมไทย กลับมาเจอวัฒนธรรมไทย งงไปเลย ยากมาก เพราะมันไม่ตรงไปตรงมาเหมือนตะวันตก ฉะนั้นอยากพาไปดูหน้าที่อันสุดท้ายของเงิน คือ การส่งสัญญะทางชนชั้นในสังคม”

ในสังคมไทยเราอยากเป็นชนชั้นบนๆ แต่ก็ทำตัวแปลกแยกมากไม่ได้ เพราะมันมีวัฒนธรรมชุมชนที่คอยจำกัดกำกับคุณอยู่ เหมือนการเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น คุณไม่กล้าเปลี่ยน กลัว แต่คุณก็อยากเป็นชนชั้นสูงในชุมชนด้วย มันก็ต่อสู้กันระหว่าง 2 ค่านิยมนี้อยู่ ด้านหนึ่งในชีวิตคุณต้องทำหน้าที่บริหารจัดการตำแหน่งแห่งที่ในสังคมของคุณ เรานับถือคนรวย แต่เราก็มีค่านิยมให้คุณค่ากับการพออยู่พอกิน เหมือนพูดเล่นแต่อันนี้พูดจริง มันเป็นความย้อนแย้งในการจัดการมาก

แล้วเราบริหารจัดการลำดับขั้นอย่างไร ลำดับขั้นหมายถึงว่าเราเป็นชนชั้นสูง กลาง ล่าง ล่างมากๆ แต่เมื่อเราเกิดมาเป็นชนชั้นไหน การที่เราจะเปลี่ยนชนชั้นโดยที่ไปทำผิดแผกแตกต่างอาจจะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ง่ายในสังคมไทย ลองดูบางตัวอย่าง เริ่มจาก social mobility คือการเปลี่ยนชนชั้นทางสังคม ถามว่าในเมืองไทยทำได้หรือไม่ ถ้าเกิดมาเป็นลูกคนยากจน ต้องใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะเปลี่ยนมาเป็นชนชั้นกลาง พ่อทำนา แม่รับจ้าง หาเช้ากินค่ำ กู้เงินให้ลูกเรียนด้วย เขาจะเปลี่ยนขึ้นไปได้หรือไม่ครับ แล้วถ้าดูภาพชนชั้นกลางทั้งหมด ถ้าไม่ได้อยู่ในเมืองก็ต้องมีฐานะระดับหนึ่งที่จะส่งลูกเรียนที่ดีได้ คุณอาจจะบอกว่าแข่งขันฟันฝ่า แต่พื้นฐานไม่เท่ากับฐานของคนจน แต่ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ แปลว่ายาก

“การเปลี่ยนชั้นทางสังคมทางล่างขึ้นไปกลางยาก แล้วจากชนชั้นกลางไปชนชั้นบนยากกว่า ชนชั้นสูงของไทยจัดอันดับตามอะไรครับ ผมเชื่อว่าหลายคนในที่นี้เป็นชนชั้นกลางอยู่ แต่ถามว่าลูกคุณจะมีโอกาสขึ้นเป็นชนชั้นสูงในสังคมไทยหรือไม่ แทบจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีมรดก ไม่ได้มีนามสกุลที่ดี ไม่ได้มีที่ดินมหาศาล ไม่ได้มีบริษัทใหญ่ๆ ล่างขึ้นกลางยากแล้ว กลางขึ้นบนแทบเป็นไปไม่ได้ คำถามหนึ่งที่ World Value Survey มักจะถามคือ คุณจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการเลื่อนชนชั้น แต่ดีที่เขาไม่ถามเมืองไทย สหรัฐอเมริกาคนตอบว่า 20 ปี ญี่ปุ่นตอบ 30 ปี ถ้ามาไทยผมก็นึกไม่ออกว่าจะทำได้ง่ายแค่ไหน แต่คิดว่าโอกาสยากมากในสังคมไทย”

ทีนี้กลับที่ไทยเราเคยสำรวจกับสังคมไทย เราถามคำถามแรกว่าเราอยากรู้ว่าทำอะไรจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ เราอยากรู้ว่าอะไรมีพลังมากๆ ในสังคมไทย เราให้เขาตอบอะไรก็ได้มาเลย 87% บอกว่าต้องเป็นคนดี ทำความดี นักเศรษฐศาสตร์ไม่เข้าใจว่าเป็นคนดีมันจะเปลี่ยนประเทศได้อย่างไร อันดับ 2 ต้องร่วมมือกัน สามัคคีกัน ไม่ขัดแย้งกัน 77% อันนี้พอเป็นไปได้ อันที่ 3 คือต้องทำหน้าที่ของตัวให้ดี มีความรับผิดชอบ 70% แล้วก็ 64% บอกว่าต้องสุจริตไม่โกง 63% บอกว่าต้องมีวินัยมีระเบียบ 58% บอกว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ก็หลากหลาย ให้เขาตอบได้หลายข้อ

เราก็ถามคำถามที่ 2 ด้วยคำถามเดิม แต่ให้เลือกระหว่างของเก่าที่ตอบไปกับอำนาจ เงินทอง และชื่อเสียง ไม่มีใครเลือกของเก่าเลย แล้วเกือบทั้งหมดเลือกเงินทอง 77% อำนาจ 19% ชื่อเสียง 4% ถ้าคุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อะไรเปลี่ยนประเทศไทยได้ ลองนึกในใจดู คนส่วนใหญ่เลือกเงินทอง มันกำลังบอกอะไร อันแรกคือบอกว่าเงินทองซื้ออำนาจและชื่อเสียงได้ในประเทศนี้ คิดว่าจริงหรือไม่ อันที่ 2 คือ ถ้าถามว่าคุณอยากได้อะไรในชีวิต เกือบทั้งหมดจะตอบว่าอยากรวย ไม่ได้บอกว่าดีหรือเลว เพราะต่อให้เขามีเป้าหมายที่ดี เพื่อสังคมเปลี่ยนประเทศ แต่เขาทำอะไรไม่ได้มากกว่าทำหน้าที่ให้ดี ถ้ามองภาพแบบนี้การที่คนไทยจำนวนมากตอบว่าอยากรวยอาจจะไม่ได้ผิด เพราะความรวยเปลี่ยนประเทศได้

ถามต่อไปอีกว่า ถ้าเราบอกว่าเงินทองเปลี่ยนประเทศได้ แล้วจะร่ำรวยได้อย่างไรในประเทศนี้ คำตอบคือ 76% บอกว่าต้องมีครอบครัวที่ร่ำรวย พ่อรวย เกิดมารวย 11% ตอบว่าต้องถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 แล้วจำนวนหนึ่งบอกว่าต้องถูกติดกันหลายๆ รอบด้วย อีก 8% บอกว่าทำงานหนัก ขยันอดออม อีก 5% บอกว่ากตัญญูทำความดีทำบุญ นี่คือคำตอบของคนที่ตอบมาว่าทำอย่างไรถึงจะรวยได้

ฉะนั้น ถ้าเราบอกว่าอยากเปลี่ยนประเทศนี้ หรืออยากจะเป็นชนชั้นที่สูงขึ้นในประเทศนี้ เขาต้องพึ่งพาเงินทอง แล้วถามว่าทำไมถึงให้เลือกเป็นอำนาจเงินทองและชื่อเสียง มันคือสังคมแบบเดียวกับสัตว์อื่นๆ สัตว์ก็มีการเรียงลำดับชั้นด้วย 3 รูปแบบ ถ้าเป็นสิงโตตัวที่แข็งแรงสุดจะเป็นจ่าฝูง มันคืออำนาจ ถ้าเป็นเพนกวิน ตัวที่เป็นจ่าฝูงคือตัวที่หาหินมาสร้างรังได้มากที่สุด จะมีตัวเมียมาชอบเยอะๆ เพราะมันปลอดภัยเวลาออกไข่ มันคือการเข้าถึงทรัพยากร มันคือเงิน และสุดท้ายคือเป็นปลาปิรันย่า คือกลุ่มยิ่งใหญ่เท่าไหร่ยิ่งที่อำนาจมากขึ้น มันคือชื่อเสียง เพื่อนฝูง

เวลาที่มนุษย์เราจัดอันดับ เราก็จัดตามนี้ อำนาจเงินทอง ชื่อเสียง มันก็จะวนอยู่แบบนี้ แล้วในสังคมไทยตัวหลักจะเป็นเงินทอง คุณจะมีเงินทองเยอะได้อย่างไร ในเวลาที่สังคมไม่อยากให้คุณทำอะไรที่ผิดแปลกออกไป คุณต้องอยู่เฉยๆ คุณเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ยาก เพราะกลัวคนเหยียบเมื่อเราพลาด แต่คุณก็อยากมีชนชั้นสูงขึ้น อะไรตอบโจทย์

“มันคือหวยหรือลอตเตอรี่ อันนี้คือหน้าที่หลักของหวยเลย คุณสามารถร่ำรวยได้โดนไม่ต้องเปลี่ยนค่านิยมอะไร ที่จริงหวยก็มีหลายหน้าที่ ผมเคยวิจารณ์งานของศูนย์การพนันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมบอกว่ามันทำหน้าที่หลายอย่าง อันแรกคือความหวังที่จะเลื่อนชนชั้นโดยที่ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงกับชีวิตตัวเอง อันที่ 2 คือ ถ้าคุณเป็นคนจน ความบันเทิงในชีวิตมีอะไรบ้าง ถ้ามีเงินก็ไปดูหนัง เพ้อฝันมีความสุขสนุกไป แต่เวลาซื้อหวย ซื้อวันที่ 5 ออกวันที่ 16 ใบละ 80 บาท ฝันว่าถูกรางวัลที่ 1 ฝันว่าจะเอาไปทำอะไรดี ฝันไป 10 วัน วันละ 8 บาท ถูกกว่าดูหนังอีก คุ้มค่าแล้ว ไม่ถูกก็คุ้มค่าแล้วเวลาที่ผ่านมา”

ถ้าคุณเป็นนักการเงิน หวยมันคือออปชันแบบหนึ่ง เพราะมันจำกัดความเสียหาย กำไรได้ไม่อั้น ส่งมอบเมื่อตรงเงื่อนไข มันคือออปชันในชีวิตจริง แล้วถ้าเราไปถามชุมชน ล่าสุดผมไปที่ขอนแก่น มีประเด็นน่าสนใจมาก คือนักการเงินจะไม่ซื้อเพราะคำนวณโอกาสแล้วมันต่ำ คือผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้เงินเมื่อคำนึงถึงโอกาสแล้วด้วยมันต่ำกว่าราคาหวยอีก แต่พอไปคุยกับชาวบ้าน เขาบอกว่าที่เขาเล่นเพราะเวลามันออกโอกาสมัน 50:50 มันมีแค่ถูกกับไม่ถูก จริงๆ ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแบบนี้มันคือการให้น้ำหนักกับเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดน้อยมากไป (overweighting of small probabilities) พอมันมีโอกาสน้อย เขาก็คิดไปว่ามีโอกาสเกิดขึ้นครึ่งๆ ไปเลย ง่ายกว่า มันก็คุ้มค่าสำหรับเขา ในภาพของการเลื่อนชนชั้นทางสังคมที่เราไม่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะเรากลัวความผิดพลาด แต่เราอยากเลื่อนชนชั้นเพราะเราอยากเป็นคนรวย อันนี้ตอบโจทย์ มันคือออปชันของการเปลี่ยนลำดับขั้นในชีวิต

การออม-ลงทุนเพื่อเลื่อนชนชั้นในชาติหน้า

รศ.ดร.ธานีกล่าวต่อว่า “แล้วเราไม่ได้ซื้อแค่ออปชัน เราซื้อฟิวเจอร์จากการทำบุญด้วย มันคือสัญญาที่ต้องส่งมอบ แค่มันส่งมอบมาชาติหน้า ทำไมชาติหน้าถึงสำคัญ เพราะเขาไม่มีความหวังมากนักในชาตินี้ การที่ทำบุญเยอะๆ แล้วหวังว่าชาติหน้าจะดีกว่านี้เขาสมเหตุสมผลแล้วด้วยซ้ำ คุณลองไปเป็นเขาแล้วคิดว่าต้องทำงานหนักแค่ไหนในการเลื่อนชนชั้น คุณขอใช้ชีวิตแบบนี้ไปทำบุญแล้วหวังชาติหน้า มันยังมีโอกาสมากกว่าอีก แปลว่าในเรื่องของการเลื่อนชนชั้นมันมีหน้าที่บางอย่างที่ตอบโจทย์ แต่ไม่ใช่ชาวบ้านหรือชุมชนไม่ทำอะไร แต่เขามีกลไกที่ทำแล้ว ลงมือแล้ว โดยที่เขาอยู่เฉยๆ แต่เลื่อนชนชั้นได้ หรือการบนบานศาลกล่าวเรียกว่าทุนนิยมสุดๆ เลย บนว่าถ้าถูกรางวัลที่ 1 จะเอาไข่ 100 ฟองมาถวาย ต้นทุนต่ำมาก ผลตอบแทนสูงมาก ขอให้สอบเข้าเรียนได้แล้วจะซื้อตุ๊กตายีราฟมาถวาย”

พามาดูอีกตัวอย่าง ถ้าไปตามต่างจังหวัดจะเห็นว่าส่วนมากเป็นครอบครัวแหว่งกลาง มีคนแก่กับเด็กอยู่ด้วยกัน นี่คือรูปแบบหนึ่งของการแข่งขันทางชนชั้นของคนในชุมชน เงินที่ลูกส่งมามากน้อยแค่ไหนเป็นตัวจัดลำดับของเขาในชุมชน เขาไม่ต้องเปลี่ยนตัว ไม่มีใครเห็น แต่เขาลำดับได้จากลูกที่ไปทำงานข้างนอก เราจะเห็นครอบครัวแหว่งกลาง ลูกไปทำงานข้างนอก กลับมาก็จะซื้อบ้าน รถ ทองให้ มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการแข่งขันโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่แข่งขันผ่านตัวแทน สรุปแล้วภาพอันสุดท้ายของเงินที่เราอยากให้เห็นคือการจัดลำดับขั้นแบบไทยๆ จริงๆ แล้วต้องนึกไว้ก่อนว่าการเลื่อนลำดับของชีวิตแทบเป็นไปไม่ได้ในชาตินี้ เราก็เลยลงทุนการซื้อหวยและทำบุญอยู่มากมาย นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่ง เราลงทุนทำอะไรหลายอย่าง ส่งลูกไปเรียน ส่งเงินกลับมา สร้างชนชั้นในชุมชน

ทีนี้ก็มีคำถามว่าการยอมอยู่ในระบบ คือไม่อยากทำงานหรือเปลี่ยนแปลงเอง มีสังคมครอบอยู่ หรือจริงๆ เขาขาดโอกาสทางเศรษฐกิจจริงๆ นโยบายไม่ได้เอื้อให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน จริงๆ แล้วถามว่าอันไหน ประเด็นหลักของการเลื่อนชนชั้นคือการศึกษา จริงๆ ก็มีหลายองค์ประกอบ แต่ตัวหลักคือการศึกษา แล้วถ้าเราเอามาเป็นตัวหลักในประเทศไทยก็จะเห็นว่ามันก็จัดอันดับชนชั้นอยู่แล้วระดับหนึ่ง การที่ผมเป็นคนจนส่งโรงเรียนวัด แล้วจะเรียนสูงๆ เทียบกับชนชั้นอีกแบบหนึ่งที่เรียนโรงเรียนดีๆ โอกาสที่จะเรียนสูงๆ มันก็แตกต่างกัน ตัวโครงสร้างมันกดให้เลื่อนชนชั้นยากแน่นอน

แต่ในโจทย์ที่เราเห็นในความเป็นจริงคือว่าสิ่งที่ทำให้คนอยู่ในอยู่ในชนชั้นล่างและไม่มีโอกาสในการเลื่อนชนชั้นแล้วยังอยู่ต่อไปได้คือการทำบุญ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจอการกระทำอย่างไม่ยุติธรรมมากๆ เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นผลกรรมสมัยก่อน เขาไม่ต่อสู้แล้ว ทำบุญ มีความสุข หรืออยากจะมีชีวิตดีขึ้นก็ไปทำบุญ ก็คาดหวังว่าจะดีขึ้น แล้วก็มีความสุข คือการทำบุญทำให้เขามีความสุขภายใต้สังคมที่ไม่มีความหวังในการเลื่อนชนชั้น เวลาที่เขามาสำรวจความสุขในไทย ไทยจะเป็นไม่กี่ที่ที่ความเหลื่อมล้ำสูงมากแต่มีความสุข คุณไม่ได้อธิบายหรอกว่าทำไม แล้วฝรั่งก็ไม่เข้าใจ แต่พวกเราเข้าใจเรื่องแบบนี้ ในความเห็นผมคือมันก็มาคู่กัน โอกาสก็ไม่เปิดให้และเขาก็อยู่อย่างมีความสุขได้ด้วยความพอใจแค่นี้

อีกอันที่น่าสนใจคือมีการสำรวจเมื่อ 6-7 ปีก่อน ถามว่าคุณคิดว่าเป็นคนจนหรือไม่ ไม่ได้วัดจากการให้ตอบรายได้ เป็นทัศนคติ ซึ่งคำตอบคือ 70% คิดว่าจน ความน่าสนใจอยู่ที่คำถามต่อไป ถามว่าทำไมคนถึงจน คนที่คิดว่าตัวเองไม่จนจะบอกว่าสาเหตุของความจนคือขี้เกียจ ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองจนจะตอบว่าสาเหตุมาจากการขาดโอกาส ฉะนั้นมันแปลว่ามันฝังรากลงไปถึงทัศนคติของคนที่ว่าตัวเองไม่จนกับจน เวลามองไปที่ความจน มันไม่เหมือนกัน

นโยบายการเงินต้องหาสมดุลกลไกทางวัฒนธรรม

ก่อนจบผมจะกลับไปตอบ 2 คำถามว่าในสังคมไทยเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร จำนวนมากบอกว่าอยากให้ชีวิตให้มีความสุข เพราะเขาอยู่กับความสัมพันธ์และมันคือกลไกในการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนของเขา เราดูชีวิตเขายุ่งเหยิงมาก คนนั้นป่วย คนนี้ถูกจับ เพื่อนบ้านมีปัญหา แต่มันมีความหมาย และมันเหมือนจะเรียบง่ายคล้ายๆ กัน แต่มันก็มีการแข่งขันบางอย่างที่เขาไม่ลงมือ เราก็ไม่เห็น ฉะนั้นเงินมีไว้ทำไมสำหรับการมีชีวิตอยู่ โจทย์หลักในปัจจุบันคือเงินที่เป็นทางการมันควรจะวางตำแหน่งอย่างไรในสังคม เพราะตราบใดที่เราไม่ทำเงินที่เป็นทางการให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน การขยายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างไรก็มีข้อจำกัด

นักเศรษฐศาสตร์เวลาออกแบบนโยบายการเงิน เรามักเอาคนออกไปแล้วเราบอกว่าแบบนี้มีประสิทธิภาพ เราควรส่งเสริมให้คนออมคนลงทุน แต่ต้องย้อนกลับมาว่ามันเป็นนโยบายที่เรามองไม่เห็นคน แล้วเราไม่มีวิถีชีวิตเขาในนั้น เรายิ่งสนับสนุนให้เขาออมลงทุนในระบบเท่าไหร่ เรากำลังทำลายกลไกอื่นที่อาจจะมีประสิทธิภาพไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เรามักจะเอาเครื่องมือหรือกลไกที่มาจากแนวคิดเป็นตัวตั้งแล้วขยายออกไป แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลก มันก็มีขอบเขตในการขยายอยู่ระดับหนึ่ง ด้านพวกนี้คือภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการแล้วในเมืองไทยติด 1 ใน 5 ของโลก ประมาณ 60% ของจีดีพี แล้วสิ่งที่ประเทศอื่นทำกันคือจัดระบบพวกนี้ อย่างลาตินอเมริกาก็จะมีตัวอย่างอยู่

คำถามต่อไปคือเขาควรจะเปลี่ยนวิถีหรือไม่ เราควรเปลี่ยนให้มาออมทางการหรือไม่ หรือควรส่งเสริมวิถีชุมชนให้เข้มแข็ง มันก็ทดแทนกันอยู่คือชุมชนที่เข้มแข็งก็จะทำให้การออมส่วนบุคคลไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าจะให้ออมส่วนบุคคลมากๆ เขาก็พร้อมจะช่วยญาติหรือคนอื่นน้อยลง เพราะเขาก็ต้องระมัดระวังตัวเอง มันเป็นโจทย์ที่จะหาสมดุลกันอย่างไร จะให้วิถีโบราณไปเลยในโลกยุคใหม่ก็อาจจะไม่ได้ผล แต่จะบังคับให้ออมในระบบแล้วไปตัดความสัมพันธ์เขาหมดเลยก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน ถามต่อไปว่าทำอย่างไร ยังตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้ที่รู้คือคนที่ไม่ลงทุนในระบบจะมี 2 อย่าง อันแรกคือมีกลไกอื่นๆ ที่ดีอยู่แล้ว เราไม่เห็น อีกอันคือไม่กล้า โดยเฉพาะถ้าอยู่ในชุมชนแล้วมาซื้อหุ้นคนเดียว ถ้าขาดทุนผมตายแน่ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะทำเป็นออมกลุ่มหรือลงทุนกลุ่ม เอาวงเปียแชร์มาเล่นหุ้น อาจจะได้ผล แล้วอีกประเด็นคือการเกิดขึ้นของสังคมเมืองก็อาจจะช่วยให้ภาคทางการมีมากขึ้นด้วย

ป้ายคำ :