ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > SDGs Index 2018 ชี้โลกเสี่ยงไม่เข้าเป้าหมายปี 2030 – ไทยดีขึ้นหลายข้อแต่ยังห่างเป้า

SDGs Index 2018 ชี้โลกเสี่ยงไม่เข้าเป้าหมายปี 2030 – ไทยดีขึ้นหลายข้อแต่ยังห่างเป้า

16 กรกฎาคม 2018


ที่มาภาพ : https://dashboards.sdgindex.org/#/

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่รายงาน SDG Index and Dashboards 2018 Global Responsibilities – Implementing the Goals ซึ่งเป็นรายงานความคืบหน้าของการขับเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมาย SDGs ของประเทศต่างๆ ที่ได้นำ SDGs ไปประยุกต์ใช้

รายงาน SDG Index and Dashboards เป็นโครงการติดตามความคืบหน้าของประเทศต่างๆ ต่อการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Sustainable Development Solutions Network หรือ SDSN ร่วมกับมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung จากเยอรมนี

SDG report “Global Responsibilities – Implementing the Goals 2018 เป็นรายงาน ฉบับที่ 3 นับตั้งแต่ที่ประเทศสมาชิก UN ได้นำ SDGs ไปปรับใช้ และนับเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้วจึงมีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินว่าแต่ละประเทศสมาชิกมีคืบหน้าในการนำเป้าหมายไปปรับใช้อย่างไร รวมทั้งประสบปัญหาอะไรในการประยุกต์ใช้ มีขั้นตอนกระบวนการในการเป้าหมายไปใช้อย่างไร

ที่มาภาพ : http://www.sdgindex.org

โลกเสี่ยงไม่บรรลุเป้าหมายปี 2030

รายงาน SDG Index and Dashboards 2018 ยังพบว่า มี 2-3 ประเทศในกลุ่มประเทศ G-20 เท่านั้นที่ได้ดำเนินการชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมาย ขณะที่หลายประเทศมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว แต่โดยรวมแล้วโลกยังมีความเสี่ยงจะไม่บรรลุเป้าหมายในปี 2030

การประเมินความคืบหน้าเข้าสู่เป้าหมาย SDG Index ประเทศที่มีความคืบหน้ามากสุดคือ สวีเดน ที่ติดอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 85 คะแนน อันดับสองคือ เดนมาร์ก ด้วยคะแนน 84.6 คะแนน อันดับสามคือ ฟินแลนด์ ด้วยคะแนน 83 คะแนน ทั้งสามประเทศกำลังเดินทางเข้าสู่เป้าหมาย แต่ก็ยังมีสิ่งที่ทั้งสามประเทศต้องทำอีกมากที่จะบรรลุเป้าหมาย

ส่วนอันดับสี่เยอรมนี และอันดับห้าฝรั่งเศส เป็นเพียงสองสมาชิกในกลุ่ม G-7 ที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ขณะที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ ติดอันดับ 35 จีนติดอันดับ 54 และรัสเซียติดอันดับ 63

10 อันดับประเทศที่มี SDGs Score สูง ที่มาภาพ : https://dashboards.sdgindex.org/#/

การให้คะแนน SDGs มีตั้งแต่ 0-100 โดย 0 หมายถึงแย่สุด และ 100 คือดีที่สุด และปีนี้ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการและตัวบ่งชี้จึงมีผลต่อดัชนีและคะแนน ปีนี้ได้ใช้คะแนนเฉลี่ยภูมิภาคกับประเทศที่ไม่มีข้อมูลเป้าหมายข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ โดยใช้กับเป้าหมาย SDGs ข้อ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ และข้อ 14 การใช้ประโยนช์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลกับประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงวิธีการจึงมีผลต่ออันดับของประเทศเมื่อเทียบกับผลการประเมินในปีก่อน ขณะที่ตัวบ่งชี้มีผลต่อคะแนนในข้อ 10 และข้อ14 จึงไม่สามารถนำผลปี 2017 กับปี 2018 มาเปรียบเทียบกันได้ และการเปลี่ยนแปลงของคะแนนหรืออันดับไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นมีความคืบหน้ามากขึ้นหรือถอยหลังในการเข้าสู่เป้าหมาย SDGs

รายงานเปิดเผยว่า ผลการประเมินพบว่า หนึ่ง มีเพียงประเทศกลุ่ม G-20 เท่านั้นที่มีการลงมือดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย กลุ่มประเทศสมาชิก G-20 ส่วนใหญ่มีการนำ SDGs ไปใช้ แต่ยังมีความแตกต่างกันในระหว่างสมาชิก ในด้านผู้นำทางการเมืองให้ความสำคัญและยอมรับและนำสู่การมีกลไกเชิงสถาบัน บางประเทศมีการก่อตั้หน่วยงานเพื่อประสานงาน มีการวางยุทธศาสตร์และแผนมีระบบวัดความรับผิดชอบ ขณะที่บางประเทศตามหลังอีกมากไม่ว่าในมิตินี้หรือด้านอื่น

สอง ไม่มีประเทศใดอยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs และการประเมินในปีนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถแสดงผลให้เห็นว่าไม่มีประเทศใดที่อยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายในปี 2030 แม้ในสามประเทศที่ได้คะแนนสูง ทั้งสวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ เพราะต้องเร่งให้มีความก้าวหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางข้อ เช่น ข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนและข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สาม ความขัดแย้งนำไปสู่การถอยหลังของการไปสู่เป้าหมาย ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีความคืบหน้าอย่างมากในการลดความยากแค้นหลายรูปแบบ ที่รวมไปถึงความยากจนเชิงรายได้ การเพิ่มรายได้ การขาดอาหาร การเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษา และการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแบบครบวงจร ประเทศที่มีประสบกับความขัดแย้งนี้จึงมีผลให้เผชิญกับการถอยหลัง โดยเฉพาะในข้อ 1 ขจัดความยากจน ข้อ 2 ขจัดความหิวโหย

สี่ การเดินหน้าสู่เป้าหมายแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนช้ามาก ประเทศที่มีรายได้สูงจึงมีคะแนนต่ำในข้อ 12 และข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล แม้ว่าไม่มีข้อมูลแนวโน้มของข้อ 12 แต่ข้อมูลของข้อ 14 ที่มีนั้นแสดงให้เห็นว่าประเทศรายได้สูงส่วนใหญ่มีความคืบหน้าใน 2-3 ปีที่ผ่านมาที่จะเดินหน้าสู่เป้าหมาย ส่วนข้อมูลของข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ไม่เพียงพอ จึงสะท้อนว่าจะต้องใช้ความพยายามอีกมากที่จะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

ห้า ประเทศรายได้สูงได้ก่อให้เกิดผลกระทบภายนอกในเชิงลบ โดยประเทศที่มีรายได้สูงได้ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ความมั่นคงในเชิงลบอย่างมากต่อประเทศอื่น ซึ่งมีผลต่อความพยายามของประเทศอื่นในการที่จะบรรลุเป้าหมาย และผลกระทบภายนอกนั้นแตกต่างกันแม้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ประชากรต่อหัวที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งผลนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ สามารถลดผลกระทบภายนอกได้โดยไม่ต้องลดรายได้ประชากรต่อหัว

หก ความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมต้องมีข้อมูลที่ดีกว่านี้ การนำตัววัดใหม่มาใช้กับกลุ่มประเทศ OECD โดยเฉพาะผลของความไม่เท่าเทียมด้านเศรษฐกิจ อนามัย และการศึกษา ทำให้คะแนน SDGs บางประเทศลดลง แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกกลบจากข้อมูลในภาพรวม แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีข้อมูลแยกส่วน ทำให้ต้องมีการลงทุนเพื่อให้ได้ข้อมูลมากกว่านี้

ไทยคืบหน้า 3 ข้อแนวโน้มดีขึ้น

ประเทศไทยในปีนี้มีคะแนนตาม SDG Index ที่ 69.2 คะแนนเฉลี่ยภูมิภาค 64.1 จัดอยู่ในอันดับที่ 59 จาก 156 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังทำได้ดีในด้านการขจัดความยากจนตามข้อ 1 ซึ่งทำได้สม่ำเสมอ และในปีนี้สิ่งที่ทำได้ดีเพิ่มขึ้นรวมเป็น 3 ข้อจากปีก่อนที่ทำได้ดีเพียงข้อเดียวคือข้อ 1

ปีนี้ไทยมีคะแนนที่ดีขึ้นในในข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล โดยเฉพาะในด้านที่จัดให้ประชากรของประเทศอื่นสามารถใช้บริการน้ำดื่มและใช้บริการสุขาภิบาลได้ และข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อวัดจากประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีบัญชีกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น หรือกับผู้ให้บริการการเงินผ่านมือถือ

สำหรับการดำเนินการตามข้ออื่นๆ ไทยมีแนวโน้มดีขึ้นถึง 7 ข้อ คือ ในข้อ 2 ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ข้อ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน และข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล

โดยในข้อ 2 ทำได้ดีในเรื่องภาวะโภชนาการในเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปี ส่วนข้อ 3 มีความสม่ำเสมอในการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดา อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด อัตราการเสียชีวิตของเด็กวัยต่ำกว่า 5 ปี และที่โดดเด่นมากคือลดอัตราการติดเชื้อ HIV

ในข้อ 7 ที่ทำได้ดีคือการเข้าถึงบริการไฟฟ้าของประชากรและการเข้าถึงเชื้อเพลิงสะอาดและเทคโนโลยีในการหุงต้ม ส่วน ข้อ 9 คะแนนเด่นในด้านจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ต และการใช้โทรศัพท์มือถือ ข้อ 11 ทำได้ดีในด้านบริการขนส่งสาธารณะ ข้อ 14 ดีขึ้นในด้านคุณภาพน้ำทะเล

แต่ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแม้จะดีขึ้นแต่ยังไม่ถือว่าผ่าน ขณะที่การดำเนินการข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ ข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ส่วนข้อที่มีทำได้แย่ลงคือข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กลุ่ม G-20 ต้องพยายามมากขึ้น

รายงานยังให้ข้อมูลอีกว่า การประเมินผลความก้าวหน้าในปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการประเมินความดำเนินการของรัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และผลการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่า ไม่มีประเทศไหนที่อยู่บนเส้นทางที่จะเข้าสู่เป้าหมายในปี 2030 นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงการใช้เครื่องมือของกลุ่มประเทศ G-20 ซึ่งปรากฏว่า บราซิล เม็กซิโก อิตาลี เป็นสมาชิกกลุ่ม G-20 ได้มีการดำเนินการที่สำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เห็นได้ชัดจากการวางยุทธศาสตร์ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศสมาชิก G-20 ก็มีความคืบหน้าที่แตกต่างกันมาก เนื่องจากว่ามีเพียงอินเดียและเยอรมนีเท่านั้นที่ได้นำหลักการประเมินการลงทุนเข้ามาประยุกต์ใช้บางส่วน ไม่มีประเทศสมาชิก G-20 รายใดที่ปรับงบประมาณประเทศให้สอดคล้องกับหลัก SDGs อีกทั้งมีสหรัฐอเมริกาและรัสเซียสองประเทศเท่านั้นที่อย่างน้อยมีการดำเนินการในการที่จะนำเป้าหมาย SDGs ไปปรับใช้

รายงานแสดงให้เห็นว่า ประเทศต่างๆ มีความคืบหน้าเร็วแค่ไหน ในการมุ่งสู่เป้าหมาย และการประเมินจากความเร็วของการดำเนินงานประเทศต่างๆ มีความเป็นไปได้สูงที่จะบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง โดยรวมแล้วประเทศส่วนใหญ่มีความคืบหน้าในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย SDGs แม้ว่าการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมจะช้าที่สุด

ประเทศรายได้สูงแม้ประสบความสำเร็จในด้านขจัดความยากแค้นและลดความอดอยาก แต่ยังได้คะแนนต่ำสุดในข้อการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน การรับมือการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน ทางด้านประเทศรายได้มีความคืบหน้าในการลดความยากแค้น การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำยังไม่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอและกลไกในการจัดการกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โดยรวมแล้วคะแนนจึงต่ำกว่าประเทศรายได้สูงค่อนข้างมาก

ต้องมีการดำเนินการร่วมกัน

เจฟฟรีย์ แซคส์ ผู้อำนวยการ SDSN มีความเห็นว่า รายงานนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า ประเทศในยุโรปเหนือมีคะแนนนำใน SDG Index และประเทศยากจนพ้นจากระดับต่ำสุดและ มีนัยะที่ชัดเจนว่า ปรัชญาการตลาดเพื่อสังคมในระบบเศรษฐกิจแบบผสมที่สร้างสมดุลของตลาด ความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจสีเขียว (ระบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม และในขณะเดียวกันก็สามารถลดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขาดแคลนของทรัพยากรลงได้) คือหนทางไปสู่ SDGs ประเทศที่ยังติดอยู่ในความยากแค้นต้องได้รับความช่วยเหลือจากส่วนอื่นของโลก

“รายงานยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของกลุ่มประเทศ G-20 ในการที่จะเติมเต็มเป้าหมายของโลก ประเทศที่ร่ำรวยจำเป็นที่จะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างและต้องลดผลกระทบที่จะมีต่อภายนอก ขณะที่จัดให้มีช่องทางหรือแนวทางในการนำเป้าหมายไปบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ” อาร์ต เดอ กีอุส ซีอีโอและประธานมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung กล่าว

กุยโด ชมิดท์ ทรอป Co-Director of SDG Index จาก SDSN กล่าวว่า การที่ได้เห็นว่าประเทศต่างๆ อยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs หรือไม่จะช่วยให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ สังคม จัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการได้

คริสเตียน โครลล์ Co-Director of SDG Index จากมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung กล่าวว่า ที่ผ่านมา SDGs ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในด้านการเมือง ด้านนโยบายของหายประเทศ แต่จากการประเมินและการคาดการณ์บ่งชี้ว่า หลายประเทศจะพลาดเป้าหมายหากไม่เร่งมือการดำเนินการ และแม้ว่าประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนมีความท้าทายที่ต่างกันแต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย

ความคืบหน้าแต่ละภูมิภาค

กลุ่ม OECD สำหรับความคืบหน้าของการเข้าสู่เป้าหมาย SDGs แต่ละภูมิภาคนั้น รายงานระบุว่า ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทุกประเทศสมาชิกที่ร่ำรวยของ OECD ประสบปัญหาหลักในการเข้าสู่เป้าหมายและไม่มีประเทศในกลุ่ม OECD รายใดอยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก สะท้อนว่าประเทศ OECD ยังห่างไกลจากเป้าหมายนี้ มีบางประเทศที่ตามหลังและบางประเทศถอยหลัง

นอกจากนี้ การวัดการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จากเป้าหมายข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม และข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ แล้วกลุ่ม OECD ยังไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งยังได้คะแนนต่ำในข้อ 2 ขจัดความหิวโหย เพราะภาคเกษตรที่ผันผวนและโรคอ้วนที่เพิ่มมากขึ้น

เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ประเทศในกลุ่มนี้เจอความท้าทายในข้อ 2 ขจัดความหิวโหย ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก นอกจากนี้ยังความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ตามข้อ 10 และความไม่เท่าเทียมกันในด้านอื่นๆ

ประเทศส่วนใหญ่มีความคืบหน้าของการขจัดความยากแค้นและจัดให้มีการเข้าถึงบริการพื้นฐาน แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่อยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายในปี 2030 เพราะยังต้องมีความพยายามอีกมากในข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกและยังห่างไกลในข้อ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน และข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก

ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ประเทศในกลุ่มนี้ทำได้ดีในข้อ 1 ขจัดความยากจน ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ที่ยังทำไม่ได้คือ ข้อ 2 ขจัดความหิวโหย ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งยังพบว่าประเทศกลุ่มนี้การการดำเนินการถอยหลังในมิติการพัฒนามนุษย์ และยังพบว่าจะต้องใช้ความพยายามอีกมากในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะยังตามหลังและมีการถอยหลังตามข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อ14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ข้อ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ตลอดจนยังมีการลงทุนจากภาครัฐที่ไม่มากที่จะขับเคลื่อนตามข้อ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน การดำเนินการตามข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ ข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก คือความท้าทายหลักของกลุ่มนี้ ทั่วทั้งภูมิภาค บางประเทศยังเจอปัญหาที่จะ จัดให้มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีตามข้อ 3 รวมทั้งข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล แต่มีข้อยกเว้นสำหรับบางประเทศที่มีความคืบหน้าอย่างมากในการลดความยากแค้น การปรับปรุงด้านสุขภาพ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แต่ข้อที่ห่างไกลและกลับถดถอยคือ ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนทางการเกษตรตามเป้าหมายข้อ 2 ขจัดความหิวโหย และข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เป็นความท้าทายหลักของประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ และยังทำได้ไม่ดีในข้อ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประเทศที่หาข้อมูลได้ก็พบว่าไม่สามารถทำได้ในข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และต้องใช้ความพยายามอีกมากเพื่อทำให้มีข้อมูลด้านรายได้และการกระจายรายได้ เพื่อให้มีผลด้านนโยบาย

แอฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่า แม้มีความคืบหน้าในข้อ 1 และ 2 ขจัดความยากจนและลดความหิวโหย แต่ยังประสบความท้าทายในข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม รวมทั้งยังเดินหน้าด้านต่อในข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน จากที่ได้ทำมาแล้วและเสริมความแข็งแกร่งของสถาบันตามข้อ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก โดยรวมแล้วแอฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการตาม SDGs หลายข้อ ทั้ง ข้อ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน ข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ แม้ทำได้ดีขึ้นในด้านข้อ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศที่มีมีรายได้มากกว่าจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบที่มากขึ้น โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

ประเทศหมู่เกาะ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่นำผลการประเมินประเทศหมู่เกาะเข้ามาแสดง ซึ่งพบว่าประเทศขนาดเล็กทำได้ดีในข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่โดยที่เป็นประเทศที่มีความเปราะบางต่อสภาพอากาศ จึงมีผลให้ประสบความท้าทายในการดำเนินการข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล ข้อ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน แต่ทุกประเทศก็มีความคืบหน้าในข้อ 3 ขณะที่ส่วนใหญ่ทำได้ดีในข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้กลุ่มนี้ยังมีความแตกต่างด้านข้อมูลอีกมาก ต้องอาศัยความช่วยเหลือสังคมโลกในการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล