ThaiPublica > เกาะกระแส > วงเสวนาอุตสาหกรรมยา ชี้คนไทยใช้ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตามโฆษณารุนแรงขึ้น วอนรัฐหนุนผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

วงเสวนาอุตสาหกรรมยา ชี้คนไทยใช้ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตามโฆษณารุนแรงขึ้น วอนรัฐหนุนผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

29 มิถุนายน 2018


เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา มีงานแถลงข่าวจัดงาน CPhI South East Asia 2019 พร้อมกับเสวนาด้านอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทย

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา มีงานแถลงข่าวจัดงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและประชุมด้านส่วนประกอบเภสัชภัณฑ์ สำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ CPhI South East Asia 2019 พร้อมกับเสวนาด้านอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของประเทศไทย

เภสัชกร รองศาสตราจารย์ ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย นายกสมาคมเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันของไทยว่ามีการเติบโตไปในทิศทางที่ดี มีมูลค่าเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกภาคการส่งออก ซึ่งมีตลาดสำคัญในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไว้ใจคุณภาพและมาตรฐานการผลิตยาของไทย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยาประเทศไทยยังมีจุดอ่อนจากการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศมาโดยตลอด จากอดีตที่ต้องนำเข้าจากยุโรป มาเป็นการนำเข้าหลักจากจีนและอินเดีย ไม่สามารถผลิตวัตถุดิบของตนเองได้ หากเกิดการสถานการณ์ไม่ปกติขึ้น อาจจะทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยเสียหายลงได้

“อุตสาหกรรมยาของประเทศไทยยังเป็นการผลิตในระดับปลายน้ำ คือซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมาแล้วผลิต ซึ่งยาเราได้คุณภาพจริง แต่ถามว่าหากเกิดการขาดแคลน เกิดการบอยคอต หรือเกิดสงครามขึ้น อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยคงพังพาบลง เพราะเราไม่มีแหล่งวัตถุดิบ เป็นจุดอ่อนอย่างยิ่ง ต้องพึ่งข้างนอกตลอด”

“ขณะที่รัฐบาลไทยก็ไม่สนับสนุนในการผลิตวัตถุดิบ โดยบอกว่าซื้อจากต่างประเทศถูกกว่า เป็นอย่างนี้มาตลอด เช่นเดียวกับบีโอไอที่ไม่สนับสนุน ฉะนั้น ต่อให้รัฐบาลมีนโยบายที่ดีอย่างไร แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ลงมือเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยก็จะเป็นอย่างนี้ไปตลอด” ดร.สินธุ์ชัยกล่าว

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาหลักเรื่องการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เช่น คนในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าถึงยาได้มากเกินความจำเป็น แต่คนในภาคอีสานส่วนใหญ่กลับเข้าไม่ถึงตัวยาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมยาต้องตระหนักและร่วมมือกับภาคชุมชนในการกระจายยาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อสุขพลานามัยที่ดีของประชากรไทยและอาเซียน

ดร.สินธุ์ชัยกล่าวด้วยว่า ลักษณะการใช้ยาของคนไทยในปัจจุบันและอนาคต มีทีท่าการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพตามคำโฆษณาที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่แย่มาก

“ต้องพูดตรงๆ ว่าประชากรไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันและในอนาคต ดูทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้น คือใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพตามแรงโฆษณา ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่แย่สุดๆ ขณะเดียวกัน ประชากรไทยไม่สามารถอ่านแล้วเข้าใจในใบประกอบยา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยทางสมาคมฯ กำลังพยายามทำความเข้าใจเรื่องการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสมผ่านสื่อออนไลน์ให้คนไทยเข้าใจมากขึ้น”

ด้านนายรชฎ ถกลศรี เลขาธิการสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยาประเทศไทยมีความแข็งแรงอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน มีกำลังการผลิตสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยในการเข้าถึงยา รวมถึงศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนการส่งออกเฉลี่ย 10% ของการผลิตในประเทศ และน่าจะขยายเพิ่มได้อีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่อไปของอุตสาหกรรมยาที่ผลิตในไทย คือจะพัฒนาตนเองอย่างไรให้มีคุณค่าหรือมูลค่าที่สูงขึ้น เช่น สร้างแบรนด์ยาไทยให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศยอมรับ หรือปรับขบวนการผลิตให้ใหญ่ขึ้น ลดต้นทุนการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยจะทำได้เพราะมีพื้นฐานที่ดี เช่นเดียวกับมาตรฐานการผลิตที่จะต้องพัฒนาให้เกิดมูลค่าสูงสุด ผลิตสินค้าที่คู่แข่งผลิตไม่ได้ โดยอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์

“ปัจจุบันพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ติดแบรนด์และเลือกใช้ยานำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเกิดความลังเลที่จะใช้สินค้าไทย หรือเกิดข้อสงสัยในคุณภาพและมาตรฐานยา ดังนั้น ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมยาที่ผลิตในไทยคือจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แบรนด์ยาไทยได้อย่างไร”

ดร.สินธุ์ชัยกล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า หากจะสร้างแบรนด์และมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยาไทย จะต้องกลับไปที่การศึกษาทางเภสัชศาสตร์ ที่ต้องสร้างคนให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในด้าน “เภสัชศาสตร์ชีวภาพ” เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการลงทุนทางด้านนี้แล้ว แต่ยังมีจำนวนน้อย เนื่องจากขาดบุคลากรที่จะช่วยทำงานวิจัยและพัฒนาวัตถุชีวภาพ หรือยาชีวภาพขึ้นมา

นายปริญญา เปาทอง ที่ปรึกษาสมาคมเภสัชกรอุตสาหการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัย มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มากกว่า 10 ล้านคน และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีประมาณ 17 ล้านคน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน เช่นเดียวกับในอาเซียนที่คาดว่าจะมีประชากรสูงวัยราว 120 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 600 ล้านคน

นอกจากนี้ อายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้นจาก 60 ปี เป็น 80 ปี ซึ่งเป็นสัดส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ในเรื่องสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ เพราะผู้สูงวัยมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพตามธรรมชาติ บางส่วนกลายเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพต่อไปได้ ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้ดี

นายปริญญายังกล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบันภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีนโยบายต่างๆ ออกมาส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้นเพื่อลดการป่วย การตาย และลดความแออัดในโรงพยาบาล รวมทั้งยังมีการส่งเสริมสุขภาพในระบบชุมชน ใช้ระบบบริการแบบปฐมภูมิเพื่อทำให้ผู้ป่วยสูงวัยสามารถดูแลตัวเองได้ หรือชุมชนสามารถดูแลสุขภาพของคนในชุมชนได้

แต่นโยบายดังกล่าวยังขาดเจ้าภาพหลักและการทำงานแบบบูรณาการที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เป็นจริง เพราะแต่ละหน่วยงานมีความรับผิดชอบของตนเองอยู่ มีกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยา ต่อการพัฒนายา ต่อการนำทรัพยากรต่างๆ ที่มีในประเทศมาพัฒนาเป็นยาให้กับประชาชน

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมยาของไทยคือนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาอย่างชัดเจน หนักแน่น และเอาจริงเอาจังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการลดป่วย ลดตาย การเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพหรือระบบบริการสาธารณสุขได้ จะผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

“การที่รัฐบาลจะสนับสนุนเชิงนโยบาย และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การประชุมของคณะกรรมการก็ไม่มีการบูรณาการที่แท้จริง เพราะแต่ละหน่วยงานมีความรับผิดชอบของตัวเองอยู่ มีกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนายา ต่อการนำทรัพยากรต่างๆ ที่มีในประเทศมาพัฒนาเป็นยาให้กับประชาชนต่อไป  ซึ่งกลไกนี้ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ทั้งหมดต้องทำงานบูรณาการกันจริงๆ” นายปริญญากล่าว

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย ประเทศไทย กล่าวว่า จากแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยา บริษัทจึงเตรียมจัดงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านวัตถุดิบและส่วนประกอบการผลิตยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ CPhI South East Asia 2019 ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น มีการเชิญผู้ซื้อยาจากเครือข่ายในอาเซียนมาพบกับผู้ผลิตยาในประเทศไทย มีการจัดเวทีให้ความรู้ด้านวิชาการโดยเภสัชกรในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งใช้เวทีนี้ในการประกาศศักยภาพความยั่งยืนของธุรกิจเภสัชในประเทศไทย และจะเป็นเวทีแรกที่จะนำเสนอนวัตกรรมการผลิตยาให้กับผู้ประกอบการไทยและในภูมิอาเซียนได้เห็น