ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “ฉลาดบริหารเงิน…สไตล์ชาวพุทธ”กับ “พระไพศาล วิสาโล”…การจัดการเงิน – การจัดการที่ใจ ให้ทรัพย์เป็นบ่าวไม่ใช่นายเรา

“ฉลาดบริหารเงิน…สไตล์ชาวพุทธ”กับ “พระไพศาล วิสาโล”…การจัดการเงิน – การจัดการที่ใจ ให้ทรัพย์เป็นบ่าวไม่ใช่นายเรา

17 กุมภาพันธ์ 2018


กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดธรรมบรรยาย “ฉลาดบริหารเงิน…สไตล์ชาวพุทธ” โดยท่านพระครูพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จัดธรรมบรรยาย “ฉลาดบริหารเงิน…สไตล์ชาวพุทธ” โดยท่านพระครูพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ซึ่งพระไพศาลได้กล่าวว่า “การที่นิมนต์พระมาบรรยายเรื่องการบริหารเงินมันเป็นเรื่องที่อาจจะผิดฝาผิดตัวไปหน่อย เพราะว่าสถานะหรือตามพระธรรมวินัย พระต้องค่อนข้างจะห่างจากเงิน อีกทั้งส่วนตัวอาตมาเองไม่ได้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในด้านการเงินพอที่จะมีอะไรแนะนำทุกท่านในที่นี้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้ในเรื่องการเงิน อย่างไรก็ตาม อาตมาก็เชื่อว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านได้ โดยเฉพาะเรื่องของการวางท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับเงิน”

คนมักจะมองว่าพุทธศาสนามีท่าทีที่เป็นลบต่อเงินหรือความสุขที่เกิดจากการใช้จ่ายเงินทอง แต่ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระอานนท์ว่าเงินคืออสรพิษ นั่นมีความหมายในบริบทของพระภิกษุ แต่พวกเราที่เป็นคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือน เงินเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่สำคัญ แต่จำเป็นสำหรับชีวิต ดังนั้นเมื่อมีเงินก็ควรรู้จักใช้เงินให้เกิดประโยชน์และประโยชน์เบื้องต้นก็คือการทำให้ตนเองมีความสุข

มีครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทราบว่ามีเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถีที่เสียชีวิตลงและปรากฏว่า เนื่องจากไม่มีทายาท ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ตกเป็นของหลวง แต่เศรษฐีคนนี้มีพฤติกรรมบางอย่างที่น่าจะนำมากล่าวถึง กล่าวคือเป็นคนตระหนี่ แม้จะมั่งมีร่ำรวย แต่ก็อยู่แบบอัตคัดขัดสน ข้าวที่กินก็เป็นข้าวปลายหัก เสื้อผ้าก็ปะแล้วปะอีก แล้วก็มีความหวงแหนในทรัพย์สิน ไม่ค่อยนำไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เช่น บริจาค พระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงเศรษฐีคนนี้ว่าเป็นคนที่น่าตำหนิ เพราะไม่รู้จักใช้ทรัพย์เพื่อเลี้ยงตนเองให้มีความสุข

พระพุทธเจ้าไม่ได้มองว่าความยากจนหรือว่าความอัตคัดขัดสนเป็นของดีนะ จริงอยู่วิถีชีวิตของพระ ถ้าเทียบกับวิสัยชาวโลกหรือพูดอย่างภาษาชาวโลกก็คือว่าเป็นผู้ที่อยู่อย่างเรียบง่ายและอาจจะถือว่ายากจนด้วยซ้ำ แต่นั่นมีเหตุผลที่เฉพาะเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์ แต่ส่วนของฆราวาส คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เมื่อหาเงินมาได้ต้องรู้จักใช้ทรัพย์ให้มีความสุข ถ้าไม่ใช้เงินไม่ใช้ทรัพย์เพื่อเลี้ยงตนให้มีความสุขก็ถือว่าเป็นคนโง่ ไม่น่าสรรเสริญ

อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ให้เราเข้าใจว่าพุทธศาสนาไม่ได้มองหรือมีท่าทีลบต่อเงินทอง ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ถึงเรื่องของการใช้เงินหรือการเกี่ยวข้องกับเงินไว้ในหลายตอน มันมีธรรมะบทหนึ่งเรียกว่ากามโภคี แปลว่าผู้บริโภคกาม คำว่ากามนี้หมายถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่าพอใจ คือความสุขจากวัตถุ พระพุทธเจ้าตรัสว่ากามโภคีหรือผู้ครองเรือนอย่างพวกเรา

ประการแรก ต้องรู้จักหาทรัพย์โดยชอบธรรม คือไม่คดโกง ไม่ไปลักใครมา ไม่ได้ประกอบมิจฉาชีวะ พอได้ทรัพย์มาแล้ว ประการที่สอง ต้องรู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็น คือ อย่างแรก เลี้ยงตนให้มีความสุข รวมถึงครอบครัว อย่างที่สอง ใช้เงินให้เกิดประโยชน์ เช่น บริจาค หรือว่าทำความดี คนที่หาเงินมาโดยชอบธรรม แต่ไม่รู้จักเลี้ยงตนให้มีความสุข อันนี้ไม่ถูก หรือเลี้ยงตัวให้มีความสุข แต่ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น อันนี้ก็ไม่ถูก อันนี้เป็นเรื่องของการใช้ทรัพย์ให้เป็น

ไม่ทำตัวให้เป็นทาสของทรัพย์สมบัติ แต่มีปัญญารู้จักทำจิตทำใจให้เป็นอิสระเหนือทรัพย์ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ทรัพย์เป็นนายเหนือทรัพย์ แต่ว่าปล่อยให้ทรัพย์หรือเงินเป็นนายเรา

คนที่ฉลาดจะทำให้ทรัพย์เป็นบ่าว ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นนายเรา

ทีนี้พอใช้ทรัพย์เป็นแล้วที่สำคัญคือประการที่ 3 คือว่าไม่สยบไม่มัวเมาหมกมุ่นในทรัพย์ ไม่ทำตัวให้เป็นทาสของทรัพย์สมบัติ แต่มีปัญญารู้จักทำจิตทำใจให้เป็นอิสระเหนือทรัพย์ อันนี้คือสิ่งสำคัญมาก พูดอย่างง่ายๆ คือว่าเราต้องรู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ หรือย่อยลงไปกว่านั้นคือว่าทรัพย์เป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว ถ้าเราเป็นนายเหนือทรัพย์ เราจะใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์ เลี้ยงตนให้มีความสุข เผื่อแผ่แบ่งปันให้ผู้อื่น ช่วยเหลือส่วนรวม ทำบุญ ก่อให้เกิดประโยชน์ อันนี้เรียกว่ารู้จักใช้ทรัพย์และเป็นนายเหนือทรัพย์ ใครใช้ทรัพย์แบบนี้จะเกิดประโยชน์

แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ทรัพย์เป็นนายเหนือทรัพย์ แต่ว่าปล่อยให้ทรัพย์หรือเงินเป็นนายเรา อันนี้คือปัญหาที่ทำให้คนมีความทุกข์ทุกวันนี้ เวลาเงินหาย ของหาย เราเสียใจไหม แล้วเราเสียใจจนกินไม่ได้นอนไม่หลับไหม นั้นแปลว่าเรากำลังปล่อยให้ทรัพย์เป็นนายเรา เวลาเราทำงานเราได้เงินน้อย เราไม่พอใจ เรามีความทุกข์ เมื่อใดก็ตามที่เราทุกข์เพราะเงิน นั่นแปลว่าเรากำลังปล่อยให้เงินเป็นนายเรา และคนที่ยอมให้เงินเป็นนายเราในที่สุดก็อาจจะทำชั่ว คอร์รัปชันเพื่อเงิน บางทีถึงกับไปปล้นไปฆ่าเพื่อแย่งชิงทรัพย์มา บางทีถึงกับฆ่าพี่ฆ่าน้องหรือฆ่าพ่อฆ่าแม่เพื่อเอามรดก อันนี้เป็นตัวอย่างคนที่ตกเป็นทาสของเงิน

จริงอยู่เราอาจจะไม่ได้ยอมถึงกับทำชั่วเพื่อเงิน แต่คนจำนวนไม่น้อยยอมตายเพื่อเงิน ชีวิตทั้งชีวิตทุ่มเทไม่ได้หลับได้นอน ไม่ได้พักผ่อน ทั้งที่มีเงินมาเยอะแล้วก็ยังหาเงินไม่หยุดจนเป็นโรคเครียด โรคประสาท โรคความดัน อายุ 70 ปี 80 ปี แล้วยังไม่หยุดหาเงิน มีความสุขทุกครั้งที่ได้เงิน อันนี้เป็นอาการของคนที่ตกเป็นทาสของเงิน คือยอมตายเพื่อเงินได้ บางคนที่อาจจะพกเงินทองแก้วแหวนเพชรพลอยติดตัวแล้วเดินไปในซอยเปลี่ยว แล้วเกิดมีคนมาปล้นมาจี้ เอาเงินมา หลายคนเลือกที่จะต่อสู้ขัดขืนจนถูกทำร้ายบาดเจ็บหรือล้มตาย อย่างนี้ก็ตายเพื่อเงิน ตายเพราะเงิน คนที่ยอมตายเพราะเงินหรือเพื่อเงินจะเรียกว่าเป็นนายของทรัพย์ได้อย่างไร ก็แสดงว่าเป็นทาสของทรัพย์

เดี๋ยวนี้เราจะพบว่าคนปล่อยให้เงินมาเป็นนายเยอะมาก ทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่เพื่อนพี่น้องครอบครัวเพราะเงิน ความสัมพันธ์สูญเสียไปเพราะเงิน บางคนอาจจะมีตั้งเป้าหมายในชีวิตเมื่ออายุ 30 ปีจะต้องมีเงิน 20 ล้านบาท ก็ทุ่มเททุกอย่าง แม้จะขัดแย้งกับพ่อแม่เพื่อนฝูง แม้จะทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน แต่เขาไม่สนใจ เพียงเพื่อจะได้มีเงินให้ได้ตามเป้าหมาย อาจจะมีครอบครัวแต่ไม่สนใจครอบครัว สุขภาพก็ไม่ดูแลรักษา ครบ 30 ปีมีเงินอาจจะ 100 ล้านบาท เกินเป้าหมายด้วยซ้ำ แต่ครอบครัวแตกแยก ร่างกายเจ็บป่วย เป็นโรคความดัน นอนไม่หลับ เป็นตัวอย่างของคนที่คอยให้ทรัพย์เป็นนาย

คนที่ฉลาดจะทำให้ทรัพย์เป็นบ่าวไม่ใช่ปล่อยให้เป็นนายเรา ดังนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า กามโภคีประการสุดท้ายมีความสำคัญมาก คือ อย่าสยบอย่ามัวเมาหมกมุ่นในทรัพย์ ต้องรู้จักมีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระจากทรัพย์ เพราะชีวิตของคนเรามีค่ามากกว่าการที่จะหาเงินหาทองให้ได้มากๆ โดยที่ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างที่มันมีความหมายต่อชีวิตมากกว่า

รายรับ-อดออม-เงินลงทุน = รายจ่าย

ตอนนี้มันมีคำสอนอีกประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะใกล้ตัวเราเข้ามาอีกหน่อย ชื่อว่าโภควิภาค 4  คือการแบ่งทรัพย์ ลองพิจารณาดูว่ามีประโยชน์กับเราแค่ไหน

พระพุทธเจ้าตรัสว่าทรัพย์แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ใช้จ่ายเลี้ยงตนและคนที่ควรบำรุงให้มีความสุขและทำประโยชน์แก่ผู้อื่น อีก 2 ส่วนใช้ลงทุนประกอบการงานคือครึ่งหนึ่ง และส่วนสุดท้ายเก็บออมยามจำเป็น จะสังเกตว่าคำแนะนำของพระพุทธเจ้าให้ใช้ทรัพย์เลี้ยงตนหรือครอบครัวเพียง 25% อีก 25% เก็บออมเวลาจำเป็น อีก 50% ใช้ลงทุน หลายคนสงสัยว่าทำไมลงทุนเยอะ หรือเก็บออมเยอะ รวมทั้งหมดก็ 75% ใช้เพียง 25% อันนี้เพราะสมัยก่อนวิถีชีวิตของคนอยากได้อะไรก็ต้องผลิตขึ้นมาเอง ข้าวก็ปลูกเอง ทอผ้าเอง ฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องใช้เงินมันมีน้อย ดังนั้นเงินที่หามาได้เอามาใช้จ่ายอาจจะไม่มาก เพราะว่าส่วนใหญ่ผลิตด้วยตนเอง มาถึงสมัยนี้การที่คนเราจะใช้เงินเพียงแค่ 25% ในการใช้จ่ายเลี้ยงตนถือว่ายาก

คำสอนเรื่องนี้อาตมาคิดว่ามีประโยชน์ เพราะมันช่วยให้เห็นว่าเมื่อเราหาทรัพย์มาได้ก็ต้องคำนึงถึง 3 ส่วน คือ การใช้จ่าย การเก็บออม การลงทุน เวลาเราพูดถึงการบริหารเงินในด้านหนึ่งก็มีหลักอยู่ในใจว่าทำอย่างไรให้เงินเป็นบ่าวที่ดี ไม่ใช่กลับมาเป็นนายของเรา การที่เราจะทำแบบนั้นได้ ส่วนหนึ่งคือต้องมีหลักการในการใช้เงิน และหลักการใช้เงินก็คือต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกเรื่อง เรามีเวลาในชีวิตนี้น้อย เรามี 24 ชั่วโมง เวลาจะทำอะไรก็ต้องจัดลำดับความสำคัญว่าอันไหนสำคัญควรทำก่อน อันไหนรองลงมาก็ทำทีหลัง

เงินก็เหมือนกัน ในแต่ละขณะเรามีเงินจำกัด เราจะบริหารเงินให้ได้ดีก็ต้องจัดลำดับความสำคัญ ทีนี้อาตมาอยากจะมองแบบกว้างๆ คือ เงินที่เราจะใช้จ่ายหรือสิ่งที่ต้องใช้จ่ายด้วยเงินมันมีอยู่ 4 ประเภท อย่างแรกคือสิ่งที่จำเป็น ประเภทที่ 2 คือไม่ถึงกับจำเป็นแต่ให้ความสุขแก่เรา และสิ่งที่จำเป็นและให้ความสุขมันก็มีอีก 2 ประเภท คือ ระยะสั้นกับระยะยาว ดังนั้น เวลาพูดถึงการใช้จ่ายเงิน เรื่องการบริหารเงินมันมีวิธีคิดคือการจำแนกออกมาเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก สิ่งจำเป็นระยะสั้น ส่วนที่ 2 จำเป็นเหมือนกันแต่ระยะยาว ส่วนที่ 3 คือให้ความสุขกับเราระยะสั้น สุดท้ายให้ความสุขแก่เราระยะยาว

แล้วมันได้แก่อะไรบ้าง ถ้าจำเป็นระยะสั้น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร พาหนะ เสื้อผ้า ภาษีสังคม งานแต่งงาน งานศพ ผ่อนบ้านผ่อนรถ หมายถึงสิ่งที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการดำรงชีวิตเพื่อการทำงาน ซึ่งแม้แต่วันต่อวันหรือไม่เกิน 1 เดือนมันต้องใช้ออกไป ส่วนความสุขระยะสั้น เช่น ดูหนัง กินข้าวนอกบ้าน น้ำชากาแฟ ไม่นับเรื่องเหล้า ทำบุญ คือคนเรามันจะอยู่อาศัยแต่สิ่งที่จำเป็นก็อาจจะดูแห้งๆ คนเราทุกคนเราต้องการความสุขที่ทำให้มันมีชีวิตชีวาขึ้นมา เติมสีสันให้กับชีวิต ดังนั้น สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน การที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อเติมความสุขให้กับชีวิตเติมสีสันให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก นี่คือความสุขและสิ่งจำเป็นระยะสั้นที่ควรคำนึงถึง

แต่คนเราจะคิดแต่เรื่องระยะสั้น คิดเรื่องเฉพาะเดือนนี้คงไม่พอ แต่ต้องคิดระยะยาวด้วย เช่น 1 ปีเรามีรายจ่ายอะไรบ้าง อะไรบ้างที่จำเป็น อะไรบ้างที่เติมเป็นสีสันให้กับชีวิต ความจำเป็นระยะยาวมีอะไรบ้าง เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ต้องอดออมเอาไว้เพราะบางทีเป็นหมื่นเป็นแสนบาท เงินเดือนเราอาจจะแค่ 30,000 บาท อาจจะไม่พอ เราต้องคิดถึงระยะยาวว่าเราจะมีเงินค่ารักษาพยาบาลเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะต้องใช้ภายใน 1 ปี ค่าเล่าเรียนการศึกษาลูก เรื่องการซื้อที่ดินซื้อบ้าน เป็นเรื่องที่เราต้องคิด ส่วนความสุขระยะยาวมีตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี เช่น การเที่ยวต่างประเทศ ซื้อกล้องถ่ายรูป เครื่องเสียง บางคนหลายแสนบาท เป็นตัวอย่างว่าการบริหารเงินการจัดลำดับความสำคัญมันมีวิธีการจัดได้หลายแบบ ตัวอย่างอันนี้จัดได้ 4 แบบ 4 ประเภท

ทีนี้แผนภาพนี้สิ่งที่เป็นความจำเป็นหรือความสุขระยะสั้นคือรายจ่ายเดือนต่อเดือน ส่วนความจำเป็นระยะยาวหรือความสุขระยะยาวคือสิ่งที่เราควรเก็บออมเอาไว้ ฉะนั้น เมื่อมีรายรับ เราก็ต้องมีเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินออม มีเงินส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเงินลงทุนด้วย แล้วที่เหลือถึงเป็นรายจ่าย บางคนมีรายได้ จ่ายก่อน เหลือเท่าไหร่ถึงออม แต่วิธีการคิดแบบนี้อาจจะกลายเป็นว่าจ่ายจนไม่เหลือให้ไปอดออมหรือลงทุนเลย มันจะดีกว่าหรือเปล่าถ้าเรามีรายได้ ก่อนที่จะจ่ายอะไรไป ออมไว้ก่อน รวมทั้งมีเงินลงทุน เช่น ซื้อพันธบัตร กองทุนรวม หรือซื้อกองทุนอะไรต่างๆ ก็ได้

ถ้าเราไม่ออมไม่ลงทุนไว้ก่อน เราใช้แล้วก่อนมาออมอาจจะไม่เหลือ มันเหมือนการใช้เวลา เรามีเวลาวันหนึ่ง 24 ชั่วโมง เรานอนไปแล้ว 8 ชั่วโมง เรามีเวลาทำมาหากิน 16-17 ชั่วโมง ถ้าเราไม่เก็บเวลาส่วนหนึ่งเอาไว้ทำสิ่งที่สำคัญ เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เราบอกว่าออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หรือมีเวลากับครอบครัวก็ดีนะ แต่ว่างแล้วค่อยทำ คนที่คิดแบบนี้ว่างเมื่อไหร่ค่อยทำ เวลาเหลือค่อยไปใช้อย่างอื่น มันเหมือนคุณมีขวดโหลขวดหนึ่ง แล้วใส่ก้อนหินลงไปจนเต็ม คุณยังสามารถใส่กรวดให้มันเต็มได้ ใส่ทรายได้ แล้วยังเติมน้ำได้อีก แต่ถ้าคุณเริ่มจากใส่กรวดให้มันเต็มก่อน คุณจะไม่สามารถใส่ก้อนหินได้เลย สิ่งสำคัญคือใส่อะไรลงไปก่อน ถ้าใส่ก้อนหินลงไปก่อน แม้จะเต็มโหลคุณก็ใส่ทราย ใส่กรวดเล็ก หรือเติมน้ำลงไปได้ แต่ถ้าเริ่มจากใส่ทรายหรือกรวดเล็ก เมื่อเต็มแล้วคุณใส่ก้อนหินไม่ได้เลยนะ

อันนี้ก็เหมือนกันเวลาคุณจะบริหารเงิน ถ้ามีรายได้แล้วบอกว่าจ่ายก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยออมลงทุน มันจะลงเอยว่าไม่เหลืออะไรเลย เพราะคุณจะสนุกกับการจ่ายจนลืม แต่ถ้าเริ่มจากว่างได้เงินมาแบ่งเป็น 4 กอง กองนี้เอาไว้ออม กองนี้ลงทุน เหลือเท่าไหร่ใช้จ่าย มันทำให้การใช้หรือบริหารเงินเป็นไปได้อย่างที่ต้องการ ถ้าคุณมีเงินสำหรับสิ่งที่จำเป็นระยะสั้นในเดือนและสิ่งที่เป็นความสุขหรือสีสันใน 1 เดือน และคุณยังมีเงินเหลือสำหรับสิ่งที่จำเป็นระยะยาวและความสุขใน 1 ปี รวมทั้งเงินลงทุนด้วย เป็นตัวอย่างว่าถ้าจัดลำดับความสำคัญได้มันก็ช่วยการบริหารเงิน

เรื่องแบบนี้อาจจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เรารู้กันอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือว่าเราจะทำอย่างนี้ได้อย่างไรถ้าเกิดว่าเรามีการวางแผนแบบนี้แล้ว ไม่ว่าจะคุณจะวางแผนแบบไหนก็ตาม หลายครั้งเราวางแผน แม้จะสวยหรูอย่างไรแต่เราทำตามแผนไม่ได้ เพราะว่าเผลอใจ เพราะว่าไม่มีวินัย ดังนั้น ในแง่หนึ่งการที่เรารู้จักควบคุมตัวเองช่วยทำให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ หลายคนบอกว่าเวลาได้เงินมาแทนที่จะเก็บเงินไว้เป็นกองเดียวกัน เขาแบ่งเป็น 4 บัญชี เงินออมบัญชีหนึ่ง เงินลงทุนบัญชีหนึ่ง เงินที่จำเป็นบัญชีหนึ่ง เงินที่เป็นความสุขระยะสั้นอีกบัญชีหนึ่ง เป็นวิธีที่ช่วยตรวจสอบได้ว่าได้ใช้จ่ายตามที่วางแผนหรือไม่ แทนที่จะเก็บในกระเป๋าแล้วคิดอยู่ในหัวว่าวันนี้เดือนนี้เราจะใช้สิ่งที่จำเป็น 2,000 บาท สิ่งที่เป็นความสุขในเดือนนี้ 1,000 บาท คิดอยู่ในหัว แต่เอาเข้าจริงทำไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้แบ่งเงินไว้เป็นกองๆ แยกตั้งแต่แรก นี่เป็นตัวอย่าง

การจัดการเงิน-การจัดการที่ใจ

หัวข้อนี้เป็นเรื่องของการจัดการเงิน แต่สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการจัดการที่ใจ การจัดการที่ใจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การบริหารเงินหรือวินัยการใช้เงินมันเป็นจริงได้ การจัดการที่ใจของเราเช่นอะไรบ้าง ที่สำคัญคือเราต้องรู้ทันจิตใจของเรา รู้ทันใจว่ามีความอยาก หลายคนแม้ว่าจะรู้ว่าอะไรดี อะไรควร อะไรไม่ควร แต่ทำไม่ได้อย่างที่ต้องการ มันมีคำพูดหรือสำนวนว่าดีชั่วรู้หมดแต่อดใจไม่ได้ ก็รู้ว่าการออกกำลังกายเป็นของดี รู้ว่าการกินน้ำตาลมากเป็นของไม่ดี การกินเนื้อเยอะๆ ในวัยนี้มันเสี่ยงต่อเป็นโรคหัวใจ รู้ว่าสูบบุหรี่ไม่ดี กินเหล้าไม่ดี แต่อดใจไม่ได้ สิ่งที่รู้มันอยู่ในหัว แต่ใจมันไม่ร่วมมือด้วย

ที่ใจไม่ร่วมมือด้วยส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้จักควบคุมจิตใจ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าไม่มีสติรู้ทันจิตใจของตนเอง มีความอยากก็ปล่อยมันชักพาจิตใจ หลายคนใช้จ่ายเงินอย่างไม่สติ เพราะว่าถูกสิ่งกระตุ้นเร้ามันนำพาจิตใจไป มีคนหนึ่งบอกว่าวันหนึ่งจะไปซื้อรองเท้าแตะ ไปเข้าห้าง ปรากฏว่าในห้างมีลดราคาเยอะแยะเลย ซื้อของอะไรเยอะแยะกลับมา อย่างเดียวที่ไม่ได้ซื้อกลับมาคือรองเท้าแตะ ไปถึงเข้าไปในห้างมันอยาก มันอยากก็ซื้อ ยิ่งลดราคาก็ซื้อเข้าไป ลืมไปเลยนะว่าเข้าไปเพื่ออะไร ซื้อสารพัดแต่สิ่งเดียวที่ไม่ได้ซื้อคือสิ่งที่ตั้งใจจะไปซื้อ เพราะว่าเขาไม่มีสติ เพราะลืมตัว

แล้วถ้าเราก็ปล่อยให้เราลืมตัวบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน วันแล้ววันเล่า แล้วคุณจะบริหารเงินจะวางแผนการใช้เงินได้อย่างไร คุณก็ทำอย่างที่ต้องการไม่ได้ รู้ทันจิตใจของเรา เมื่อมีความอยากก็รู้ทัน อาตมาประทับใจแม่คนหนึ่ง เธอมีลูกสาวอายุ 12 ขวบ วันหนึ่งลูกสาวกลับจากโรงเรียนบอกว่าแม่หนูอยากได้ของเล่นชิ้นหนึ่ง อยากได้มากเลย แม่ถามว่ามันคืออะไร เธอตอบว่ามันคือไมโครโฟน กดปุ่มแล้วมันร้องเพลงเหมือนว่าตัวเธอร้องเพลงได้ดี นี่สมัย 10 กว่าปีก่อนที่ยังไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ของเล่นก็มีเท่านี้แหละ ประมาณนี้แหละ แม่ก็ถามลูกว่าราคาเท่าไหร่ เด็กตอบว่า 400 บาท สำหรับแม่หรือบ้านนี้ถือว่าเยอะ

เมื่อแม่เจอแบบนี้ส่วนใหญ่จะหาทางออก 2 ประการ อันแรกซื้อให้ลูก อันที่สองคือไม่ซื้อ แต่แม่คนนี้ฉลาด แกบอกว่าถ้าลูกอยากได้จริงๆ แม่มีเงื่อนไข 2 ประการ อันแรกแม่หักเงินค่าขนมลูกวันละ 20 บาทจนครบหนึ่งอาทิตย์ก็ได้ 140 บาท ที่เหลือแม่ออกให้ ข้อสองทุกเย็นก่อนกลับบ้านให้ไปร้านของเล่นนั้นแล้วไปดูความอยากในใจของตัวเอง เด็กอยากได้ก็รับปากและทำตามที่รับปาก ทุกเย็นก็ไปที่ร้านของเล่น เด็กอยากได้ก็ดีใจที่ได้ดูของก็ไม่ลืมที่รับปากกับแม่ก็ดูความอยากของตนเอง ผ่านไป 3 วันเด็กมาบอกแม่ว่าหนูไม่เอาแล้ว เบื่อ เสียดายเงิน เอาเงินไปซื้ออย่างอื่นดีกว่า ความอยากมันหายไป เพราะเธอมาสังเกตดูความอยากในใจของตัวเอง

หลายคนพอมีความอยากปุ๊บก็ทำตามความอยากเลย เห็นของในห้างอยากได้ก็ซื้อเลย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีแผนการที่จะซื้อเลยนะ แต่ว่ารู้ตัวก็ซื้อเข้าบ้านมาแล้ว แต่ถ้าเราหมั่นสังเกตความอยากของตัวเอง แทนที่เราจะซื้อทันที เรารอดูความอยากของตัว ในที่สุดความอยากก็จะหายไป ทุกวันนี้เราถูกกระตุ้นเร้าให้เกิดความอยาก แล้วเราก็ไม่มีสติ เราก็เลยเผลอจ่ายเงินไปโดยไม่รู้ตัว ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่วางแผนการใช้เงินไม่เคยทำได้ตามเป้า เพราะลืมตัวไม่มีสติ อันนี้เป็นเพราะเราไม่คิด เราคิดจะบริหารเงินนะ แต่ไม่คิดจะบริหารใจ

รู้เท่าทันความอยาก รู้เท่าทันอารมณ์ของตัว

การมีสติสำคัญ รู้เท่าทันความอยาก รู้เท่าทันอารมณ์ของตัว แล้วคุณก็ไม่ต้องอดทนมากนะ เพียงแต่ดูมันเฉยๆ เป็นแง่คิดว่าเมื่อเราอยากจะได้อะไร อย่าเพิ่งรีบ ซื้อบางทีเราแค่ฆ่าเวลาไปสักพักสัก 2-3 วันความอยากจะหมดไปก็ได้ หลายคนพบว่าพอรีบซื้อแล้วมันมีความทุกข์กับการเงิน อยากได้ก็ซื้อปุ๊บเลย 1 อาทิตย์ลดราคา เสียดายเลยหรือไปอีกร้านลดราคา ซื้อของคุณดีใจตอนได้มา แต่พออีกเดือนหนึ่งของมันลดราคา คุณมีความสุขหรือไม่ คุณไม่มีแล้ว เสียใจ หลายคนเสียใจทั้งที่ได้ของมาแต่คุณทุกข์ เพราะว่ารีบหุนหันพลันแล่น ถ้าทิ้งระยะสักหน่อยอย่างน้อยๆคุณจะรู้ว่าความอยากจะลดลง แล้วเผลอๆอาจจะได้ของที่ดีกว่า เพราะได้เห็นข้อมูล ได้พบที่อื่นที่ขายในราคาที่ดีกว่าการรู้ทันจิตใจความอยากของตัวเองสำคัญนะ

สมัยนี้รู้ทันจิตใจของตัวแล้วคุณต้องรู้ทันสิ่งเย้ายวนด้วย สมัยนี้มีสิ่งที่ล่อให้คุณอยากซื้อมาก คุณเปิดหรือเล่นเฟซบุ๊ก ความอยากมันเกิดขึ้นแล้ว เพราะคนนั้นคนนี้เขาโพสต์ว่ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้คุณก็อยากได้แบบเค้าบ้าง เค้าไปกินร้านอาหารญี่ปุ่น อิตาเลียน คุณก็อยากไปบ้าง มีความสุขแบบเค้า เดี๋ยวนี้มันมีสิ่งเย้ายวนเยอะและความสามารถในการดึงจิตของเราให้จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นจนเกิดความอยากในที่สุด เดี๋ยวนี้มันมีมากขึ้น ล่อให้คุณจ่ายเงินในกระเป๋ามีมากขึ้นเรื่อยและทรงประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งเล่านี้ทำให้คุณเสียเวลามากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่เสียเงินมากขึ้นเท่านั้น ปัญหาคนสมัยนี้ก็คือไม่มีเวลา ส่วนหนึ่งเพราะถูกสิ่งเหล่านี้มันดึงดูดเวลาไป สมัยนี้เรียกว่ามันมีเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่ใหญ่โตมาก เรียกว่า Attention Economy แต่จริงๆ ที่อยู่ได้หรือหล่อเลี้ยงได้ อาศัยการที่ดึงให้คนจดจ่อใส่ใจกับสิ่งนั้นไปนานๆ เฟซบุ๊กรวยได้เพราะเขาสามารถดึงเราให้ใช้เวลากับเขานานเท่าที่จะนานได้ วันละ 2-3 ชั่วโมง เพราะถ้าเราให้เวลากับเขานานๆ เขาก็ได้ค่าโฆษณา ได้ข้อมูลจากเราไปขายได้อีก

เดี๋ยวนี้มันมีสิ่งต่างๆ พยายามดึงล่อให้เราสนใจ เพื่อให้เราควักเงินกับเขา หรือให้สิ่งที่มีค่า เช่น ข้อมูล เคยมีคนถามซีอีโอ Netflix ที่จัดหาหนังให้เราดูด้วยราคาที่แพงเดือนละ 300-400 บาท เขาว่านะ อาตมาไม่ทราบ แต่มีคนถามว่าอะไรคือคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของคน แทนที่เขาจะตอบว่า Amazon, HBO หรืออะไร เขาตอบว่าคู่แข่งที่สำคัญคือเวลาที่เราหลับ เพราะถ้าหลับเราก็ดูไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราตื่น เขามั่นใจว่าจะดึงให้เราไปดูหนังของเขาและนับเงินจ่ายเขา เขาจะเริ่มต้นด้วยการคิดเงินถูกๆหรือว่าฟรี เราคิดว่าเป็นของฟรี เราก็ดู พอดูเสร็จเราติด เราก็ต้องจ่ายเงินให้เขา เป็นกระบวนการที่ทำให้เงินในกระเป๋าเราหายไปเรื่อยๆ ไม่รู้ตัว เพราะเราไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี หรือบางทีเราไม่รู้เท่าทันการตลาด

เมื่อหลายปีก่อนสหรัฐอเมริกาผลิตเครื่องทำขนมปังในบ้าน ฝรั่งมันมีกระแส Do it yourself ทำในบ้าน เฟอร์นิเจอร์มาต่อกันในบ้าน ไม่ต้องซื้อสำเร็จรูปมา บริษัทก็คิดว่าจะขายได้ดี เพราะว่าคนสนใจเรื่องสุขภาพทำขนมปังกินเองในบ้าน เครื่องของเขาราคา 275 ดอลลาร์สหรัฐ 8,000 กว่าบาท เขาขายไม่ออก  ผิดคาด เขาก็ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษามาช่วยแก้ปัญหานี้หน่อย บริษัทที่ปรึกษาแนะนำเขาว่าให้ผลิตเครื่องทำขนมปังรุ่นใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมและแพงกว่าเดิมคือ 400 ดอลลาร์สหรัฐ คุณเจอคำแนะนำแบบนี้คิดว่าอย่างไร ห่วยแตกหรือไม่ แต่บริษัทนี้เชื่อและทำตาม ปรากฏว่าสินค้าขายดีเลย แต่ไม่ใช่ 400 ดอลลาร์สหรัฐนะ แต่เป็นเครื่องเล็ก เพราะคนรู้สึกว่ามันถูก มันมี 400 เป็นตัวเทียบ จากเดิมขายไม่ออกกลายเป็นขายดีเลย ทำไมเป็นแบบนั้น เพราะมี 400 เป็นตัวล่อ

อาตมาเคยไปภูเก็ตเมื่อ 2 เดือนก่อน นักธุรกิจก็เล่าว่าคนจีนมาเที่ยวเยอะมาก แล้วสินค้ายอดนิยมที่ซื้อมากเลยคือหมอนยางพารา มีโชว์รูมขายเยอะแยะไปหมดเลย รถทัวร์เยอะมาก หมอนราคา 8,000 บาท ขายคนจีนนะ ซื้อเยอะเลย หารู้ไม่คนไทยซื้อ 800 บาท แต่ทำไมคนจีนซื้อรู้หรือไม่ เพราะว่าในเมืองจีนมันมีโชว์รูมของบริษัทผลิตหมอนยางพารา เขาขายอันละ 20,000 บาท คนจีนเห็นที่ภูเก็ตขาย 8,000 บาทไม่ซื้อหรือ ก็ซื้อสิมันถูก ถามว่าที่ไปขายในจีนขายออกหรือไม่ นักธุรกิจเขาไม่สนใจหรอก เขาผลิตเป็นตัวล่อว่าภูเก็ตมันถูกกว่า เป็นลูกเล่นเทคนิคที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมควักเงิน เจอแบบนี้ก็ไม่มีสติแล้ว ถูกซื้อเลย ถ้าเราไม่รู้ทัน คุณวางแผนการเงินเท่าไรก็ทำไม่ได้ ต้องรู้ทัน สามารถใช้วิจารณญาณได้อย่างเต็มที่ ไม่ตกเป็นเหยื่อของเขา

การรู้เท่าทันสิ่งนี้มันช่วยให้คุณสามารถบริหารเงินได้ ยิ่งมีการวางแผนจัดลำดับความสำคัญอย่างที่ยกตัวอย่าง รวมทั้งรู้จักวิธีที่จะควบคุมการใช้เงิน ถ้าเรารู้ว่ามีจุดอ่อนตรงไหนก็พยายามปกป้องตรงนั้น เช่น เราพบว่าอยากจะซื้อรองเท้า แต่พอเข้าห้างซื้อทุกอย่างยกเว้นรองเท้า คุณอาจจะแก้ปัญหานี้ว่าต่อไปนี้เข้าห้างจดไว้เลยว่าจะซื้ออะไรบ้าง ตั้งกติกาไว้ก่อนว่าจดราคาจดของที่จะไปซื้อ พอไปถึงก็กางว่าจะซื้ออะไรและสัญญาว่าไม่ซื้อของที่ไม่อยู่ในใบจด เป็นตัวอย่าง ก็ช่วยทำให้ไม่หลง ไม่เผลอง่าย

บางคนมีเงื่อนไขกับตัวเองว่าจะไม่พกบัตรเครดิตเข้าไปในห้าง จะเอาไปแต่เงินสด เพราะว่าบัตรมันใช้ได้เรื่อยๆ มันยืมเงินจากอนาคต แต่ถ้าคุณมีเงินสดจำนวนหนึ่งใช้หมดก็หมด แต่วิธีนี้สมัยนี้อาจจะทำได้อยากเพราะเราใช้เงินสดน้อยลง เราใช้เงินพลาสติกกันมากขึ้น หรือมีวิธีการเบิกเงินต่างๆ ที่สะดวก แต่ก็ทำให้เราเผลอได้ง่าย คุณก็ต้องคิดว่าถ้าเป็นคนที่ใช้จ่ายเงินง่ายเกินไปหรือลืมตัว เข้าห้างทีไรพลาดทุกที คุณก็ต้องหาสิ่งที่ช่วยปกป้องหรือควบคุมไม่ให้เผลอ แต่แน่นอนว่าถ้าสามารถควบคุมใจได้เป็นสิ่งดี ถ้าไม่ได้การควบคุมพฤติกรรมด้วยการกำหนดเงื่อนไขกติกาจะช่วยได้ คนเดี๋ยวนี้มีปัญหาการควบคุมจิตใจคือห้ามใจไม่อยู่

มีคนหนึ่งแกห้ามใจไม่อยู่จริงๆ นะ เป็นหนี้เยอะแยะ มีบัตรเครดิต 20 ใบ ในสหรัฐอเมริกานะ พอเงินหมดก็เอาเครดิตจากที่อื่นมา แต่แกก็รู้ว่าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ หนี้ท่วมหัวแน่ แกทำอย่างไรในการควบคุมไม่ให้ใช้จ่ายเงินแบบพร่ำเพรื่อ แกเอาบัตรที่มีใส่ในแก้วน้ำมีน้ำเต็มและไปแช่แข็ง เวลาอยากได้จะซื้อของในอินเทอร์เน็ต อยากได้แต่เอาบัตรไปใช้ไม่ได้เพราะมันแข็ง ต้องรอให้ละลาย 10-15 นาที ถึงตอนนั้นแกก็อาจจะได้คิดว่าอย่าซื้อเลย แกเชื่อว่า 10-15 นาทีจะทำให้ความอยากลดลงจนไม่อยากซื้อแล้ว เดี๋ยวนี้ขนาดนี้แล้วคือคุมใจไม่ได้ก็ต้องหาวิธีการที่จะควบคุมไม่ให้ทำตามใจอยาก พวกเราอาจจะไม่ถึงขนาดนี้ แต่ถ้าเผลอใจง่าย เราจะมีวิธีการควบคุมไม่ให้ทำตามความอยากได้อย่างไร

ตรงนี้เรียกว่าวินัยหรือศีล ศีลเป็นเรื่องของการควบคุมพฤติกรรม การไม่ฆ่า การไม่ลักขโมย มันเป็นการควบคุมพฤติกรรมภายนอก แม้ใจมันโกรธแต่ไม่ทำเพราะว่าต้องการรักษาศีล ศีลค้ำเอาไว้ อยากได้แต่ไม่ขโมยเพราะศีลค้ำเอาไว้ เหมือนเราสมัยนี้ศีล 5 ไม่พอแล้ว คุณต้องมีศีลหรือเงื่อนไขควบคุมพฤติกรรมไม่ให้ทำตามความอยาก เป็นสิ่งที่ต้องคิดเอา

แต่ถ้าจะให้ดีต้องควบคุมใจให้มีสติ หรืออย่างน้อยรู้จักข่มใจ เดี๋ยวนี้ความรู้จักข่มใจหรือมีกำลังจิตที่เข้มแข็งสำคัญ ยุคปัจจุบันเราไปเน้นการคิดสร้างสรรค์ คิดไวคิดเร็ว แต่ห้ามใจไม่ได้ ถ้าเราสามารถฝึกจิตให้ห้ามใจหรือควบคุมจิตใจตัวเอง อาตมาเชื่อว่าเราอยู่ในยุคนี้ได้อย่างมีความสุข และอาจจะได้เปรียบคนอื่นด้วย ได้เปรียบที่ใจ

ความสุขที่ประณีต-ประเสริฐกว่าคือความสุขที่เกิดจากการทำ

มันมีการทดลองอันหนึ่งที่มันเกิดผลที่ไม่คาดคิด คือทดลองให้คนประมาณ 30-40 คน อายุ 18-50 ปี ออกกำลังกายทุกวันประมาณ 3 สัปดาห์หรือ 3 เดือน มีทั้งการวิ่ง การยกน้ำหนัก วันหนึ่ง 2-3 ชั่วโมง ทุกคนมาร่วมด้วยความสมัครใจและพยายามทำให้ได้ตามที่ตกลงกันเอาไว้ เมื่อผ่านไป 3 เดือนปิดโครงการ แน่นอนว่าทุกคนสุขภาพดีขึ้น แต่สิ่งที่พบและคิดไม่ถึงก็คือว่าพฤติกรรมการบริโภคและการใช้เงินของคนทั้งหมดเปลี่ยนไป หลายคนที่เคยติดอาหารขยะ บริโภคน้อยลง บางคนติดทีวีก็ดูน้อยลง บางคนติดเหล้าบุหรี่ก็สูบน้อยลงดื่มน้อยลง ซื้อของน้อยลง มีวินัยการใช้เงินดีขึ้น มันมีรูปแบบอื่นด้วยนะแทนที่จะออกกำลังกายก็เป็นการบริหารการเงิน หรือว่าไปเรียนเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ เช่น ต้องมาเรียนมาทำการบ้านสม่ำเสมอ แต่ผลคล้ายกันคือว่าคนที่มาควบคุม มาฝึกการบริหารการเงิน ใช้จ่ายเงินตามเป้าเอาไว้ การเงินดีขึ้น แต่สิ่งที่คิดไม่ถึงคือว่าออกกำลังกายก็มากขึ้นด้วย มีการบริโภคที่ดีขึ้น ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับการใช้เงินเท่าไหร่

เขาก็สงสัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? ก็หาความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากอะไร? มันเกิดขึ้นจากที่คนเหล่านี้มีกำลังจิตที่เข้มแข็ง เขารู้จักควบคุมตัวเองได้ แล้วการที่เขาควบคุมตัวเองได้ มันทำให้เขาควบคุมพฤติกรรมด้านอื่นได้ เช่น การดูทีวี การใช้จ่ายเงิน การกินอาหาร มันอยู่ที่ใจ ความสามารถในการควบคุมจิตใจ อาตมาเชื่อว่าปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญมาก คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เขาจะมีวินัยในการใช้เงิน เขาจะมีความสำเร็จในการบริหารการเงิน มากกว่าคนที่ใช้ชีวิตไปตามแบบสบายๆ อยากกินอะไรก็กิน อยากทำอะไรก็ทำ ออกกำลังกายก็ไม่สนใจ

คนเราถ้าเกิดรู้จักฝึกจิตให้มีสติ รู้จักใช้ชีวิตในทางที่ช่วยทำให้เราสามารถควบคุมจิตใจตัวเอง รู้จักรอคอยได้ มันทำให้การบริหารการเงินไม่ใช่เรื่องยาก มันจะเป็นไปได้

แล้วอันหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้การบริหารเงินมันเป็นไปได้ดีและช่วยทำให้เราไม่เป็นทาสของเงิน แต่สามารถทำให้เงินกลายเป็นบ่าวของเราได้ อันนั้นคือสิ่งที่อาตมาเรียกว่าการรู้จักหาความสุขที่ประณีต ทำไมคนเราใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภค เพื่อการเสพมากจนบางทีเป็นหนี้เป็นสิน เพราะคิดว่าความสุขเกิดจากการบริโภคการเสพและนั่นคือความสุขชนิดเดียวที่เรารู้จัก คนเรานะ ร่างกายต้องการอาหารต้องการปัจจัย 4 จิตใจต้องการความสุข คนเราถ้าขาดความสุขไม่ได้นะ แต่ความสุขส่วนใหญ่ที่คนรู้จักคือความสุขที่เกิดจากการเสพ กินอาหารที่อร่อย ดูหนังฟังเพลง รวมทั้งการไปเที่ยว จับจ่ายใช้สอย การมีของมีรถยนต์ มีบ้าน พวกนี้เป็นการเสพ ความสุขที่เกิดจากวัตถุ

ถ้าความสุขผูกติดกับสิ่งเล่านี้ การบริหารเงินเป็นเรื่องยาก เพราะคุณจะต้องใช้เงินเพื่อซื้อความสุขตลอดเวลา แต่ความสุขชนิดนี้มันไม่เคยทำให้คุณมีความพอใจอย่างแท้จริง คุณได้แล้วก็อยากได้อีก คุณได้รองเท้าคู่ใหม่ไม่นานก็อยากจะซื้อคู่ใหม่อีก หลายคนมีเป็นร้อยคู่และยังซื้ออีก เพราะที่มีไม่นานก็เบื่อต้องการของใหม่ ผ่านไปก็เบื่ออีก แล้วจะสุขได้อย่างไรก็ซื้อใหม่ คนที่ 100 ล้านบาท 1,000 ล้านบาทก็ไม่เคยมีความสุขเสียที เพราะมีอีกก็มีความสุข ความสุขชนิดนี้ไม่ได้เป็นความสุขที่ประเสริฐ เพราะว่ามันได้มาง่ายก็จริง เกิดขึ้นเร็ว แต่มันก็จางหายไปเร็ว ถ้าเราไปผูกติดกับความสุขแบบนี้ เราจะเป็นทาสของเงิน ต้องมีเงิน จนกระทั้งยอมตายเพื่อเงิน

ความสุขที่ประณีตประเสริฐกว่าคือความสุขที่เกิดจากการทำ การทำงาน การไปช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การเป็นจิตอาสา การทำสมาธิ พวกนี้ให้ความสุขใจ คนที่พบความสุขกับงานนะ โอกาสที่จะคอร์รัปชั่นมีน้อย แต่เพราะคนเราไม่มีความสุขกับงาน เรามีความสุขจากเงิน ถ้ามีโอกาสที่จะคอร์รัปชันก็อาจจะทำ คนที่มีความสุขจากงาน แค่ทำงานก็มีความสุขแล้ว คนอื่นจะรวยกว่าเราก็ไม่ค่อยอิจฉา คนที่อิจฉาก็เพราะยังไม่มีความสุข เราเห็นเขารวยกว่าเราทุกข์เราอิจฉา เพราะเราไม่มีความสุขและคิดว่าความสุขเกิดจากวัตถุอย่างที่เขามี ถ้าคุณมีความสุขจากสมาธิก็ไม่ต้องไปหาเงินหาทองมาปรนเปรอหล่อเลี้ยงจิตใจ เพราะคุณมีความสุขที่ดีกว่าหล่อเลี้ยงหัวใจ

อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมพระที่ปฏิบัติธรรม ที่มีคุณธรรมขั้นสูง ถึงอยู่อย่างง่ายๆ มีแค่อัฐบริขาร เพราะความสุขไม่ได้ผูกติดกับวัตถุ ไม่ได้เกิดจากการเสพ แต่เป็นความสุขที่เกิดจากการทำหรือความสุขที่ยิ่งไปกว่านั้นคือความสุขจากการละเว้น ยิ่งละยิ่งสละก็ยิ่งมีความสุข เคยมีการวิจัยนักศึกษาอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เงินไป 100 ดอลลาร์ไปทำอะไรก็ได้ ซื้อของกินขนม อีกกลุ่มให้ 100 ดอลลาร์เหมือนกันแต่ให้เอาไปช่วยเหลือคนอื่น ไปทำกิจกรรม ไปช่วยเหลือคนป่วยหนัก เขาพบว่ากลุ่มที่ 2 มีความสุขและรู้สึกดีกับตัวเองมากกว่ากลุ่มแรก

ท่าทีและการวางใจเกี่ยวกับเงิน

ดั้งนั้น ความสุขจากการทำสุขกว่าความสุขจากการเสพ ความสุขจากการละเว้นมันเหนือกว่าความสุขจากการเสพมาก ถ้าเราสามารถเข้าถึงความสุขจากการกระทำหรือจากการละเว้น คุณจะเป็นทาสของเงินทองน้อยลง ไม่ใช่ว่าเงินไม่สำคัญ เงินสำคัญ แต่มันจะกลายเป็นบ่าวของคุณ ไม่ใช่เป็นนาย และถ้าเป็นเงินเป็นบ่าวก็จะเป็นบ่าวที่ดี แต่ถ้าปล่อยให้เงินเป็นนายจะเป็นนายที่เลว และที่เราปล่อยให้เงินเป็นนายเราได้ เพราะว่าเรารู้จักความสุขชนิดเดียว ความสุขที่ต้องซื้อด้วยเงิน

ฉะนั้น อาตมาคิดว่าเรื่องของการบริหารเงินถึงที่สุดมันอยู่ที่ท่าทีและการวางใจเกี่ยวกับเงินด้วย และมันขึ้นอยู่กับท่าทีหรือทัศนคติเกี่ยวกับความสุข ตราบที่ยังเห็นความสุขเกิดจากเงินเกิดจากวัตถุนะ การบริหารเงินจะเป็นเรื่องยาก ถึงบริหารได้ก็จะมีความทุกข์ เพราะเงินมันได้ไม่พอเสียที เงินที่ได้มากมันจะน้อยตลอดเวลา ไม่เคยพอ คุณจะไม่รู้จักคำว่าสันโดษและคำว่าสงบ เพราะว่ากลายเป็นทาสของเงินเสียแล้ว เฉพาะมีเงินเป็นบ่าวเท่านั้นที่จะรู้จักความสงบ เพราะเขาจะรู้จักพอ จะมีความสันโดษ พอใจสิ่งที่มียินดีสิ่งที่ได้ สามารถอิ่มเอม นอนหลับไม่เครียด

อาตมาคิดว่าการหันมารู้จักความสุขที่เกิดจากการทำ ทำดี ทำประโยชน์ ทำสมาธิ แล้วแต่ และความสุขที่เกิดการได้อยู่ท่ามกลางญาติมิตรครอบครัว ได้ทำอะไรร่วมกัน มันก็สามารถหล่อเลี้ยงใจให้มีความสุขกว่าการไปเที่ยวห้างเสียอีก ถ้าคุณรู้จักการละการปล่อยวาง คุณจะมีความสุขยิ่งขึ้น เช่น เอาเงินไปเป็นทานไปช่วยเหลือคนอื่น พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ให้ความสุขย่อมได้ความสุข ให้เงินก่อน สละเงินก่อน ต่อไปสละเวลาเป็นจิตอาสา คุณจะมีความสุขยิ่งขึ้น ต่อไปสละความเห็นแก่ตัวความอยาก ยิ่งสุขเข้าไปใหญ่

มันมีการทดลองที่น่าสนใจนะ ไม่เกี่ยวกับเงินเท่าไหร่ มีหนู 10 ตัวในกรง กรงนั้นมีน้ำ 2 ขวด น้ำเปล่ากับน้ำผสมฝิ่นเจือจาง คงนึกภาพออกนะว่าหนู 10 ตัวมันเลือกขวดที่ 2 เพราะมันมีสารเสพติด มันกินจนตาย ทีนี้ทดลองใหม่อีกกรงเหมือนกันมีน้ำ 2 ขวด แต่กรงนั้นมีของเล่น มีสิ่งที่หนูชอบเยอะแยะไปหมดเลย เขาประหลาดใจว่าหนู 10 ตัวมันไม่แตะขวดที่มีฝิ่นเลยนะ มีน้อยมากที่ไปแตะ เพราะมันมีของเล่นอย่างอื่นที่ดีกว่า หนูมันรู้ว่ามันมีความสุขที่ประเสริฐกว่ายาเสพติด เมื่อมันได้สิ่งที่มีความสุขกว่า มันก็ไม่แตะฝิ่นในน้ำ

คนเราก็เหมือนกัน ระหว่างความสุขจากเงินทองกับความสุขที่ประณีตอย่างความสุขที่ได้ทำสิ่งที่มีค่าหรือความสุขที่เป็นความสงบใจ คนที่ได้หรือสัมผัสความสุขที่ประณีต ความสุขจากเงินทองมันจะมีความหมายต่อจิดใจน้อย เพราะเขารู้ว่ามีความสุขที่ประเสริฐกว่า เงินยังจำเป็นอยู่ เพราะมีค่าเช่าบ้าน ต้องมีอาหารที่ต้องซื้อ แต่มันไม่ได้มารบกวนจิตใจในฐานะที่เป็นนาย มันเป็นบ่าว แต่ถ้าคนที่ไม่รู้จักความสุขชนิดอื่นเลยนะ เงินจะกลายเป็นนาย ยอมเป็นทาสของเงิน

เรื่องการบริหารเงิน เทคนิคทักษะมีประโยชน์ วินัยจำเป็น แต่เรื่องของข้างในการบริหารใจ หรือทำให้ใจสัมผัสความสุขที่ประณีตสำคัญมากกว่า