ThaiPublica > คอลัมน์ > อยากลดน้ำหนักสำเร็จ? บริหารเงินเป็นก็ลดหุ่นได้

อยากลดน้ำหนักสำเร็จ? บริหารเงินเป็นก็ลดหุ่นได้

5 มกราคม 2018


พุทธิพร ผดุงกุล

การลดน้ำหนักตัวอย่างถาวรไม่ใช่เรื่องหมูๆ ของคนน้ำหนักเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หากแต่ว่าจริงๆ แล้วเรื่องลดน้ำหนักไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงหากคุณคุ้นเคยกับการจัดงบประมาณ บริหารการเงิน เพราะทักษะทางการเงินเป็นทักษะที่นำมาประยุกต์เทียบเคียงได้กับการจัดการสุขภาพและกำจัดไขมันส่วนเกิน ทักษะทางการเงินกับทักษะการลดหุ่นมีอะไรคล้ายๆ กันมากกว่าที่คุณคิด

1. พลังงานที่ใช้ในแต่ละวันเทียบได้กับ “รายรับ”

พลังงานที่ใช้ในแต่ละวันมีหน่วยเป็นแคลอรี หรือกิโลจูล ซึ่งเหมือนกับรายรับ โดยทั่วไปผู้หญิงต้องการพลังงานวันละ 1800 แคลอรีหรือ 7600 กิโลจูล ในขณะที่ฝ่ายชายต้องการประมาณ 2400 แคลอรี หรือ 9800 กิโลจูล แต่อย่างไร “รายรับ” นี้จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ วัย มวลกล้ามเนื้อ ระดับของกิจกรรมในแต่ละวัน และอื่นๆ ซึ่งก็เหมือนกับรายรับของแต่ละคนซึ่งไม่เท่ากัน การใช้จ่ายเกินรายรับเป็นผลให้เกิดความขาดดุลและก่อหนี้สิน เหมือนกับรับประทานเกินพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันก็จะทำให้น้ำหนักเพิ่ม หากเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นคือการออกกำลังกายและตัดค่าใช้จ่าย คือรับประทานอาหารที่มีคุณค่าแต่แคลอรีน้อยลง ผลก็คือมีเงินเก็บ คือไขมันลด การสร้างมวลกล้ามเนื้อโดยการออกกำลังกาย เช่น ยกน้ำหนัก เหมือนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนดีๆ เก็บกำไรได้เรื่อยๆ เหมือนมวลกล้ามเนื้อ เพราะหากมีมากก็จะเผาผลาญพลังงานไปเรื่อยๆ ทำให้ส่งผลต่อกำจัดไขมันในระยะยาว

2. นิสัยการใช้จ่ายแต่ละวันสำคัญที่สุด

ลองนึกดูว่า ค่าใช้จ่ายอะไรมากกว่ากันระหว่างไปทานอาหารคุณภาพดีๆ สักมื้อกับคนที่คุณรัก กับค่าใช้จ่ายเบี้ยหัวแตกในแต่ละวัน เช่น ค่ากาแฟ หรืออื่นๆ ที่ไม่ควรเสีย เช่น ของลดราคาที่ซื้อมาไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รายจ่ายเหล่านี้บวกๆ กันเข้าเป็นปีอาจจะมากกว่าค่าอาหารมื้อใหญ่กับครอบครัว ฉันใดฉันนั้น การรับประทานอาหารจุบจิบโดยไร้สติ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญของปริมาณและคุณภาพ และแคลอรีของอาหาร ก็สามารถทำให้น้ำหนักขึ้นโดยไม่รู้ตัว

3. ตรวจสอบบัญชี

โดยปกติผู้มีทักษะทางการบริหารเงินจะคอยตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่าย บางคนจัดทำบัญชีครัวเรือน จดบันทึกเพื่อวางเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว แม้จะไม่ได้จดบันทึกละเอียดแต่การจดบันทึกจะทำให้เห็นรูปธรรมเพื่อดำเนินการเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ซึ่งใช้ได้ผลมากกับการลดน้ำหนัก การจดบันทึก อาหารที่รับประทาน การออกกำลังกายในแต่ละวัน และสรุปในแต่ละสัปดาห์ เพื่อวางเป้าหมายระยะใกล้ ไกล ความสำเร็จระยะใกล้อาจหมายถึงใส่เสื้อผ้าตัวที่เคยโปรดได้ รอบเอวลดลง แข็งแรงมากขึ้น เป้าหมายระยะยาวคือน้ำหนักลงสัก 10-20 กิโลกรัม การจดบันทึกและสรุปผลทำให้รู้ว่ายังอยู่ในร่องในรอยและกำลังเดินไปสู่จุดหมายหรือไม่

4. ใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น

การวางแผนการใช้เงิน ส่วนมากมักจะออมไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็นที่สุด เช่น บ้าน รถยนต์ การศึกษา รักษาพยาบาล นอกจากนี้แล้ว ยังมีส่วนเก็บไว้เพื่อความรื่นรมย์ในชีวิต เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยวเป็นต้น เช่นเดียวกับการลดน้ำหนัก เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญของคุณภาพในการโภชนาการก่อน ผักสด ผลไม้ปลอดสาร คาโบไฮเดรตดี (ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท) โปรตีนดี (ถั่ว ปลา) ไขมันดี (น้ำมันมะกอกหีบเย็น) โดยต้องระวังอาหารที่ “แคลอรีแพง” เช่น อาหารที่ประกอบด้วยแป้งขัดขาว น้ำตาล ไขมันทรานส์ (เบเกอรี กาแฟเย็น เป็นต้น) อาหารดังกล่าวไม่ได้ห้ามเสียทีเดียวแต่ต้องทานอย่างระมัดระวังและไม่ให้เกินงบแคลอรีในแต่ละวัน

การตั้งงบแคลอรีในแต่ละวันเป็นการเปิดโอกาสให้เรามีอิสระในการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า และแคลอรีถูก หากยังมีงบประมาณเหลือก็สามารถหาความรื่นรมย์ทางปากได้ตราบใดที่ให้ความสำคัญต่อคุณค่า ปริมาณ ของอาหาร ที่สำคัญต้องไม่เกินงบ

เรียบเรียงจาก Lose weight? Treat your diet like your finances. ของ Scott Campbell