ปุณฑริกา เรืองฤทธิ์ รายงาน
Blue Economy ที่สร้างความสมดุลใหม่ระหว่างการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรทางทะเลกับการรักษาสิ่งแวดล้อม กำลังสร้างแรงกระเพื่อมในน่านน้ำเอเชียตะวันออก เพราะหลายประเทศประยุกต์เป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล และมีความก้าวหน้าเข้าสู่เป้าหมายความยั่งยืน
ทรัพยากรชายฝั่งและมหาสมุทร มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งฐานะที่เป็นระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ ในปัจจุบัน มูลค่าการซื้อขายอาหารจากสัตว์ทะเลในตลาดโลกนั้นสูงมากกว่าปีละ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การท่องเที่ยวทางทะเลก็มีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมถึงมูลค่าการขนส่งทางทางทะเล คิดรวมเป็น 90% ของระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดในโลก จึงทำให้เศรษฐกิจทางทะเลมีมูลค่ารวมถึงปีละ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
น่านน้ำเอเชียตะวันออก (East Asia Sea: EAS) มีพื้นที่เพียง 3% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งโลก แต่เป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก มีแนวปะการัง ป่าชายเลน แนวหญ้าทะเลรวมกันถึง 33% จากที่มีทั้งหมดในโลก เอเชียตะวันออกจึงเป็นศูนย์กลางแห่งความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และเป็นศูนย์กลางแห่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก
น่านน้ำทะเลเอเชียตะวันออกมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มีแหล่งทำการประมงถึง 80% ของการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำของโลก มีสัดส่วน 60% ของการทำประมงในโลก และมีเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าถึง 90% ตลอดจนยังเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของโลกอีกด้วย เศรษฐกิจทางทะเลของเอเชียตะวันออกจึงมีสัดส่วน 3-19% ในเศรษฐกิจโลก
การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทะเลทวีความสำคัญมากขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวคิด Blue Economy ในที่ประชุม United Nations Conference on Sustainable Development หรือ “RIO+20 ในปี ค.ศ. 2012 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล
Blue Economy ได้เริ่มมีบทบาทสำคัญ เพราะประเทศตามแนวชายฝั่งยึดเป็นแผนเศรษฐกิจซึ่งนำหลักการความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อบรรลุเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ในข้อ 14 คือการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยกุญแจสำคัญในการพัฒนา Blue Economy คือ นำความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น มารวมเข้าด้วยกัน
แม้ภูมิภาค EAS เป็นศูนย์กลางการประมงของโลกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางทะเลและความมั่นคงทางอาหาร กำลังประสบกับปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งการฟื้นฟูความสะอาดของชายฝั่งกับทางเดินเรือ การรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดารัฐทางทะเล และเป็นส่วนหนึ่งของ EAS ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลสูงถึง 15-20% ของจีดีพีโดยรวม แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจชายฝั่งของไทยกำลังประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน อันจะบั่นทอนศักยภาพทางทะเลที่สามารถทำให้ประเทศไทยเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องได้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) จึงได้ร่วมกับ พันธมิตรเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลในเอเชียตะวันออก (Partnership Management for the Seas of East Asia: PEMSEA) จัดงานสัมมนาระดับนานาชาติ Blue Economy Forum 2017 ในช่วงวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ขึ้นในไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์เกี่ยวกับ Blue Economy จากผู้แทนประเทศสมาชิกกว่า 11 ประเทศ และหน่วยงานพันธมิตรในระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเล
Blue Economy Forum เป็นหนึ่งในโครงการ ของ PEMSEA ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อสนับสนุนและดำเนินงานแบบบูรณาการด้านชายฝั่งทะเล มหาสมุทร ชุมชุน และเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งมีพันมิตรทั้ง รัฐบาล สถาบันทางเทคนิค และกลุ่มอุตสาหกรรม
ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทำบันทึกความตกลงการขยายการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทะเลเอเชียตะวันออกในประเทศไทย กับ PEMSEA ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
รายงาน PEMSEA ที่เผยแพร่พร้อมกับ Blue Economy Forum 2017 มีข้อมูลภาวะทางทะเลและชายฝั่งพร้อมปัญหาที่ประสบออกเป็น 5 หัวข้อหลัก คือ 1. การประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยงพืชสัตว์น้ำชายฝั่ง (Coastal Fisheries and Aquaculture) 2. ท่าเรือและพาณิชย์นาวี (Port and Marine Transport) 3. การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการพัฒนาชายฝั่ง (Ecotourism and Coastal Development) 4. พลังงานหมุนเวียนที่ได้จากมหาสมุทร (Renewable Ocean Energy) และ 5. มลพิษทางทะเลที่มาจากแหล่งบนบก (Marine pollution from land-based sources)
สัตว์น้ำหมดแล้ว 58% ทั่วโลก
รายงาน PEMSEA ทางการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยงพืชสัตว์น้ำชายฝั่ง (Coastal Fisheries and Aquaculture) พบว่า กลุ่มประเทศน่านน้ำเอเชียตะวันออกมีการทำการประมงรวมกันสูงถึง 63% ของการทำการประมงของทั้งโลก โดยมีสัดส่วน 40% ของสินค้าประมงและมีสัดส่วนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำถึง 80% ทั้งนี้ มูลค่าการประมงของกลุ่มน่านน้ำเอเชียตะวันออกรวมสูงถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นได้ว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกำลังเติบโตและมีความสำคัญขึ้น
โดยระหว่างปี 2000-2015 อินโดนีเซีย ไทย และ เวียดนาม ลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บนบก ส่งผลให้มีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น 460% ประชากรในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนมีการบริโภคสัตว์ทะเลอยู่ที่ปีละ 36 กิโลกรัมต่อหัว ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราการบริโภคสัตว์ทะเลต่อประชากรทั่วโลก เอเชียตะวันออกจึงเป็นผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้บริโภคอาหารทะเลรายใหญ่
ปัญหาในระดับภูมิภาคที่พบคือ 1. การประมงได้จับสัตว์น้ำหมดพื้นที่ไปแล้วกว่า 58 % ทั่วโลก และอีกกว่า 31% เป็นการจับสัตว์น้ำเกินกว่าที่ทรัพยากรมีอยู่ 2. มีการทำการประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ในมูลค่าราว 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 3. ปัญหาการจับปลาเป็ด (Trash Fish) มากเกินไป คือปลาที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและปลาเล็กปลาน้อยอื่นๆ เพื่อนำมาทำน้ำมันปลาและทำเป็นอาหารปลาเพื่อการเพาะเลี้ยงปลาอีกทอดหนึ่ง 4. ปัญหาการใช้สารเคมีในการทำประมง ปัญหาโรคติดต่อในสัตว์ และปัญหาระบบนิเวศเสื่อมโทรมจากการทำประมงชายฝั่ง เช่น การตัดต้นโกงกางเพื่อทำเป็นบ่อกุ้ง เป็นต้น
เรือขนส่งปล่อยน้ำเสีย-ก๊าซคาร์บอน
สำหรับท่าเรือและพาณิชย์นาวี (Port and Marine Transport) จากรายงานวิจัยของ PEMSEA ในปัจจุบัน ธุรกิจการขนส่งทางเรือในน่านน้ำเอเชียตะวันออกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 90% ของมูลค่าการขนส่งทางเรือทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 การขนส่งทางเรือจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า หรือจาก 100 ล้าน TEUs (TEU คือ ตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุต) เป็น 350 ล้าน TEUs ในปี 2040 และอัตราการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2030 หรือมากกว่า 40 ล้านคน โดยท่าเรือขนส่งที่หนาแน่นที่สุดในน่านน้ำเอเชียตะวันออกห้าลำดับ คือ 1. เซี่ยงไฮ้ 2. สิงคโปร์ 3. ฮ่องกง 4. เสิ่นเจิ้น และ 5. ปูซาน
OECD คาดว่า เศรษฐกิจทางทะเลของทั้งโลกจะโตขึ้น 2 เท่าในปี 2030 มีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในภาคธุรกิจท่าเรือจะเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน ธุรกิจการขนส่งทางเรือประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากสินค้าที่ส่งทางเรือแต่ละครั้งมักไม่เต็มตามความจุของเรือที่สามารถจุได้ ทำให้การที่จะพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความจุของเรือ หรือประสิทธิภาพอื่นๆ เป็นไปได้ยากยิ่ง ปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ธุรกิจต่อเรือที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียรายงานว่า มีการต่อเรือจำนวนเพียงแค่ครึ่งเดียวของความสามารถที่จะต่อเรือได้
แม้ทั่วโลกจะมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและยกระดับการบริการด้านการขนส่งทางเรือ ซึ่งหากขาดแผนงานที่ชัดเจน ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้คนและชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ทั้งมลภาวะทางน้ำ ทางอากาศ และระบบนิเวศที่อยู่โดยรอบ โดยเฉพาะน้ำอับเฉาเรือ (Ballast Water) ที่ปล่อยออกมามีผลกระทบต่อระบบนิเวศคิดเป็นมูลค่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และต้องใช้เงินจัดการแก้ไขราว 4% ของมูลค่าความเสียหาย
อนึ่งน้ำอับเฉาเรือหมายถึง น้ำที่ใช้รักษาเสถียรภาพและบูรณภาพทางโครงสร้างของเรือ หลังจากเรือขนถ่ายสินค้าออกแล้วจะสูบถ่ายน้ำอับเฉาออก ซึ่งน้ำอับเฉาเรือนี้จะมีสิ่งมีชีวิตและตะกอนเรือ เมื่อถ่ายน้ำออกก็จะมีผลต่อระบบนิเวศแต่ละแห่ง โดยแต่ละปีมีการถ่ายน้ำอับเฉาเรือประมาณ 4-5 พันล้านตัน
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากเรือขนส่ง จากการศึกษาโดยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยการขนส่งทางเรือในปี 2015 มีประมาณ 800 ล้านตัน หรือคิดเป็น 2.2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 250% ภายในปี 2050
ท่องเที่ยวเบียดบังชุมชน
ทางด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการพัฒนาชายฝั่ง (Ecotourism and Coastal Development) ใน รายงานของ PEMSEA ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 10% ของจีดีพีรวมทั้งโลก โดยเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด มีนักท่องเที่ยวปีละกว่า 308 ล้านคน World Tourism Organization รายงานว่าระหว่างปี 1995-2007 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งตลาดท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 18.7% เป็น 25.7% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทศวรรษถัดไป
ในปี 2016 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าคิดเป็น 9% ของจีดีพีทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 5.8% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเหมืองที่คาดว่าเติบโตขึ้นประมาณ 1.8% และภาคเกษตรกรรมที่คาดว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% ที่ปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว อีกทั้งในระหว่างปี 2013-2016 จำนวนเรือสำราญเติบโตขึ้นถึง 12% และคาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นอีก
จำนวนนักท่องเที่ยวที่ทะลักเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ขนาดเล็ก ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมาก ทั้งปัญหามลภาวะ น้ำเสีย น้ำใช้สำหรับชุมชน สร้างแรงกดดันทางโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและผู้คนในชุมชน ในหลายแหล่งท่องเที่ยวมีการพัฒนาสนามบิน ท่าเรือ รีสอร์ท และสนามกอล์ฟ ซึ่งการพัฒนาทางการท่องเที่ยวที่มากเกินไปนี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลที่เปราะบางเช่นเดียวกับการพัฒนาชายฝั่งด้านอื่น
แต่สิ่งที่ต้องตระหนักอย่างยิ่งคือ จะทำอย่างไรจึงดำรงทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ไว้ได้โดยไม่ถูกทำลายจากการท่องเที่ยว แม้จะเคยมีรายงานว่าป่าชายเลนลดจำนวนลงเป็นผลมาจากการทำบ่อกุ้ง แต่ในหลายปีที่ผ่านมา การก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทตามชายฝั่งก็กลายมาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ป่าชายเลนลดลงเช่นกัน
มลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
ส่วนพลังงานหมุนเวียนจากมหาสมุทร (Renewable Ocean Energy) PEMSEA รายงานว่า แม้พลังงานหมุนเวียนจากโซลาร์เซลล์และพลังงานจากกังหันลมจะเป็นพลังงานที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดและมีการใช้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่ศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันยังสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนจากมหาสมุทรได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปเพิ่มศักยภาพในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์หรือลมได้อีกด้วย
จากผลสำรวจพบว่า ความต้องการใช้พลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 50% โดยมีสาเหตุมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้มลพิษที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอีก 35% หรือ 225,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกปล่อยออกมาเพิ่มขึ้นถึง 61% ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ปกติ
อาหารทะเลปนเปื้อน 25%
ปัจจุบันระบบนิเวศทางทะเลประสบปัญหามลพิษอยู่แล้ว โดย 80% ของน้ำเสียในภูมิภาคนี้ไม่ได้มีการบำบัดก่อนที่จะปล่อยทิ้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบทั้งการประมง การท่องเที่ยว คุณภาพน้ำ และสุขภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพราะการสุขาภิบาลไม่เพียงพอ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประเมินว่าทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนในด้านสุขาภิบาลจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็ประสบปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ ปัญหาขยะพลาสติก โดยพบการปนเปื้อนของพลาสติกขนาดเล็กในอาหารทะเลและน้ำประปาสูงถึง 25% ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจและพบในทุกภูมิภาคทั่วโลก
รายงานระบุอีกว่า ทุกๆ 1 นาทีมีการซื้อถุงพลาสติกจำนวน 1 ล้านใบทั่วโลก และยังมีการรั่วไหลของพลาสติกลงมหาสมุทรอีกราว 8 ล้านตันต่อปีในประเทศแถบชายฝั่ง และคาดว่าปริมาณการรั่วไหลจะเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี 2025 ความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเลจากพลาสติกมีมูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ข้อเสนอแนะทางนโยบาย
เจมส์ มิทเชลล์ ตัวแทน PEMSEA มีข้อเสนอแนะทางนโยบายในแต่ละด้านดังนี้
ด้านการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยงพืชสัตว์น้ำชายฝั่ง 1. การเก็บข้อมูลการประมงและการจัดทำแผนความยั่งยืนจะส่งผลให้มีปลามากขึ้น 2. ประเทศผู้นำเข้าควรมีมาตรการในการควบคุมการนำเข้าสินค้าให้ถูกกฎหมายและเป็นสินค้าที่สร้างความยั่งยืน รวมทั้งมีมาตรการลงโทษทางการค้า 3. การเพิ่มประสิทธิในการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลจะช่วยเพิ่มจำนวนปลาทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ให้ทำการจับได้มากขึ้น 4. ลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคธุรกิจเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ 5.คิดค้นการประมงแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคนและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกแทนที่จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามา 6. ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นริเริ่มปรับปรุงพื้นที่ชายฝั่งให้ดีขึ้น 7. ลดการให้เงินอุดหนุนเพื่อกำจัดองค์ประกอบความไม่ยั่งยืนในแต่ละภาคธุรกิจ 8. ลงทุนในการปรับกระบวนการแปรรูปอาหารให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับท้องถิ่น
ด้านท่าเรือและการขนส่ง ในปัจจุบันมี IMO กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางทะเล การเดินเรือ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการอำนวยความสะดวกการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งล่าสุดได้กำหนดให้อนุสัญญาว่าด้วยการจัดการน้ำอับเฉา (Ballast Water Management Convention) มีผลในทางปฏิบัติในเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมไปถึงการปรับปรุงข้อบังคับในภาคผนวก Annex VI ว่าด้วย การป้องกันมลภาวะทางอากาศจากเรือของอนุสัญญา MARPOL
เครื่องมืออื่นที่ภูมิภาคนำมาใช้ ได้แก่ มาตรฐานชี้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจตัวใหม่ Environmental Ship Index (ESI) ของสมาคมท่าเรือระหว่างประเทศ (International Association of Ports and Harbours และมีบางประเทศใช้นโยบายการกำกับดูแล การให้สิทธิประโยชน์ เช่น สิงคโปร์ มีทั้งมาตรการทางการคลัง สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมไปถึงโครงการพลังงานทดแทนบนบก ตัวอย่างเช่น การท่าเรือสิงคโปร์ให้ส่วนลด 25% ในการใช้บริการท่าเรือหากเรือใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยกำมะถันต่ำกว่าค่าที่ IMO กำหนด ขณะที่จีนกำหนดว่า เชื้อเพลิงของเรือที่เทียบท่าจะต้องมีกำมะถันน้อยกว่ามาตรฐานเชื้อเพลิงเรือขนส่งถึง 80%
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่เอเชียตะวันออก ได้แก่ 1. ประยุกต์ใช้มาตรฐาน Blue Economy ชุดเดียวกันสำหรับทุกประเทศ เช่น เรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. ต้องมีความยืดหยุ่นของแนวทางปฏิบัติ โดยผสมผสานกติกาสิทธิประโยชน์มากับการควบคุมและการกำกับดูแล 3. บริษัทเดินเรือและบริษัทต่อเรือควรยึดมาตรฐานต่ำสุดด้านประสิทธิภาพและการลดต้นทุน
กลุ่ม NGO ได้นำเสนอมาตรการการให้รางวัลแก่บริษัทที่สร้างมลพิษ ที่ออกแบบมาใช้สำหรับ Blue Economy นำเสนอต่อ Policy Makers แต่ก็ยังเกิดข้อกังขาว่า มีการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะจากบริษัทเอกชนให้แก่องค์กรเหล่านี้เพื่อให้ผ่านการทดสอบหรือไม่
ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการพัฒนาชายฝั่งนั้น เจมส์ระบุว่า การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนวัดได้จากผลที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่ Ecotourism หมายถึง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีขนาดเล็ก และเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ที่ไม่ส่งผลต่อธรรมชาติและพื้นที่
ปัจจุบันมีข้อมูลการท่องเที่ยวว่า องค์กร UNESCO ได้จัดทำคู่มือการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในแหล่งมรดกโลกไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งรายงาน APEC ได้มีข้อแนะนำให้ภูมิภาคร่วมมือกันจัดทำนโยบายออกเป็นสามระดับ คือ 1. จุดหมายปลายทาง 2. ลักษณะเศรษฐกิจ 3. ระดับนานาชาติ ซึ่งระดับนานาชาติต้องใช้ความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการจัดการอย่างเป็นระบบ
ข้อเสนอของ PEMSEA ด้านนี้ก็คือ 1. ร่างเกณฑ์เฉพาะเพื่อวัดความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมธุรกิจที่มีคุณค่าแท้จริง 2. ใช้เครื่องมือทางนโยบาย เช่น การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล หรือการจัดพื้นที่ชายฝั่ง (Marine Spatial Planning) การวางกฎเกณฑ์การกำจัดน้ำเสีย การคุ้มครองคนในพื้นที่ รวมทั้งการใช้เครื่องมือทางการตลาด เช่น มาตรการภาษี การให้รางวัลจูงใจ 3. หาทางเชื่อมการค้าคาร์บอนสีน้ำเงินกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการจัดพื้นที่ทางทะเล
4.การมีแผนที่ครอบคลุมด้านการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวในด้านใดก็ตาม โดยยึดความยั่งยืนที่มีการร่วมมือกับจากหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง และธุรกิจในพื้นที่ 5. วางระบบบริหารพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้มีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองและรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวรวมทั้งจัดหาบุคลากรที่มีความสามารถ การจัดให้มีกลไกด้านเงินทุนให้เป็นระบบ เพื่อการดำเนินงานที่ยั่งยืน 6. ควรนำแผนการจัดพื้นที่ทางทะเลบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติงานของรัฐบาลทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด รวมทั้งควรมีการวางกระบวนการออกใบอนุญาตเพื่อป้องกันไม่ให้มีการพัฒนาแนวชายฝั่งที่ควบคุมไม่ได้และมีการขัดแย้งในการใช้ทรัพยากร เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศชายฝั่ง
ส่วนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ได้จากมหาสมุทร ซึ่งมีทั้งจากการขึ้นลงของน้ำ คลื่น และพลังลมนั้น รายงาน PEMSEA ให้ข้อมูลว่า ยุโรปคือศูนย์รวมของเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานจากคลื่นและกระแสน้ำ โดยใน EU’s Ocean Energy Strategic Roadmap แบ่งการพัฒนาเป็น 5 เฟส ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การสร้างต้นแบบ การสาธิต การทดลองใช้ก่อนบริการเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และการเปิดให้บริการจริง นอกจากนี้ในโรดแมปยังมีแผนปฏิบัติการอีก 4 แผน
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซีย ได้บรรจุ Ocean Energy ไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นได้รวมพลังงานจากคลื่น การขึ้นลงของน้ำ กระแสน้ำ พลังงานความร้อนจากมหาสมุทร ไว้ในแผน Basic Plan on Ocean Policy ฉบับที่ 2 เช่นกัน โดยที่โครงการสาธิตจะดำเนินไปจนถึงเดือนมีนาคม 2018
ASEAN ตั้งเป้าที่จะดันพลังงานทดแทนให้มีสัดส่วน 25% ของพลังงานทั้งหมดในปี 2025 ดังนั้น ในแง่นโยบาย หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้ใช้นโยบาย FiT และกลไกตลาดเพื่อจูงใจให้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
FiT คือ มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่ง เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพราะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ซึ่งอัตรา FiT จะอยู่ในรูปแบบอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ แต่ FiT จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามค่าไฟฐานและค่า Ft)
รายงาน PEMSEA ระบุว่า ตัวอย่างที่ยกมานี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนพลังงานจากมหาสมุทรได้ โดยการจัดทำแผนต้องคำนึงถึง 1. พันธกรณีของรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการดูแลประชาชนจากมลภาวะด้วยการประเมินความเป็นไปได้ของพลังงานทดแทนทั้งบนบกและในน้ำ โดยทั่วไปแล้วเทคโนโลยีที่ใช้กันทั่วไปจะได้ประโยชน์จาก FiT มาก ส่วนเทคโนโนโลยีใหม่ๆ นั้นจะได้ประโยชน์จากนโยบายการให้เงินสนับสนุนที่นอกเหนือจาก FiT 2.สรรหาเทคโนโลยีที่เหมาะกับสภาพภูมิศาสตร์และความชำนาญในพื้นที่ 3. ลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อให้แหล่งจ่ายกระแสไฟทำงานอย่างเต็มศักยภาพ 4. สนับสนุนการวิจัยพลังงานทดแทนเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลในเชิงพาณิชย์
ด้านมลพิษทางทะเลที่มาจากแหล่งบนบก เจมส์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันแต่ละประเทศมีนโยบายด้านจัดการน้ำเสียอยู่แล้ว โดยฟิลิปปินส์จัดทำ National Sewerage and Septage Management Plan and Program พร้อมสร้างระบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ และส่งเสริมให้ใช้น้ำที่ผ่านการบําบัดแล้ว ขณะที่จีนนั้น เมืองเซียะเหมินสามารถบำบัดน้ำเสียได้ถึง 80% ซึ่งมีผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้นและสิ่งแวดล้อมดี และสิงคโปร์จัดตั้ง NEWater ศูนย์บำบัดน้ำเสีย มีการผลิตน้ำจากน้ำรีไซเคิล
ส่วนนโยบายด้านปัญหาขยะพลาสติกในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคนั้น ในที่ประชุม Rio+20 ได้ให้ความเห็นชอบ Global Partnership on Marine Litter โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดปริมาณขยะทางทะเล ส่วนที่ประชุม APEC ในปี 2016 ให้คำมั่นที่จะลดความเสียหายจากขยะทางทะเลทุกประเภทให้ได้ปีละ 1,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ WESTPAC หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของ UNESCO ได้พัฒนาแนวทางที่จะสุ่มตัวอย่างขยะขนาดเล็กบนชายหาด ในน้ำ และสิ่งมีชีวิตทางทะเล รวมไปถึงจัดทำโครงการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) เพื่อให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะหรือนำกลับมาใช้ใหม่
นโยบายระดับประเทศด้านขยะพลาสติก อินโดนีเซียตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 จะลดปริมาณขยะมูลฝอยลด 30% และลดปริมาณขยะพลาสติกทางทะเลลง 70% ส่วนญี่ปุ่นมีโครงการวิจัยขยะทางทะเลให้เงินอุดหนุนจำนวนมากเพื่อกำจัดขยะ สิงคโปร์มีกฎหมายห้ามทิ้งขยะที่แรงมาก มีระบบจัดการขยะมูลฝอยและมีข้อตกลงให้สิทธิประโยชน์จูงใจลดขยะ