ThaiPublica > คอลัมน์ > กุนซือใหญ่ของสีจิ้นผิง

กุนซือใหญ่ของสีจิ้นผิง

31 ตุลาคม 2017


อาร์ม ตั้งนิรันดร

ที่มาภาพ : http://www.scmp.com/news/china/policies-politics/article/2117169/out-technocrats-chinas-new-breed-politicians

ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เพิ่งผ่านพ้นไป นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้มีการแต่งตั้งนักวิชาการเข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในคณะผู้นำสูงสุด 7 คน ของพรรคคอมมิวนิสต์

นักวิชาการท่านนี้ชื่อ หวัง ฮู่หนิง เขาเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ก้าวขึ้นเป็นคณะผู้นำสูงสุด ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารกระทรวง มณฑล หรือมหานครมาก่อน

ประสบการณ์เดียวของเขาก็คือ เป็นกุนซือใหญ่ให้แก่ผู้นำจีน คนมักเล่าขานกันว่าเขาคือมันสมองของผู้นำจีนสามรุ่นตั้งแต่เจียง เจ๋อหมิน, หู จินเทา และสี จิ้นผิง นักการทูตต่างประเทศมักให้ฉายาเขาว่าเป็น “China’s Kissinger”

หวัง ฮู่หนิง เคยเป็นศาสตราจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ และเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟูตั้น (สาขาการเมืองระหว่างประเทศเคยเป็นส่วนหนึ่งของคณะนิติศาสตร์) ในปี ค.ศ. 1995 เจียง เจ๋อหมิน ได้เชิญให้เขาย้ายมาอยู่ในทีมคลังสมองของพรรคคอมมิวนิสต์ เขาได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002

เขาใกล้ชิดกับทั้งประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และประธานาธิบดีหู จินเทา แต่ลือกันว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยิ่งให้ความเคารพนับถือเขาเป็นพิเศษ ในการประชุมใหญ่ในต่างประเทศ สี จิ้นผิง จะต้องพาเขาติดตัวไปด้วยเสมอ ความนับถือที่สี จิ้นผิง มีต่อเขายิ่งเด่นชัด เมื่อสี จิ้นผิง เลื่อนให้เขาขึ้นเป็นหนึ่งในคณะผู้นำสูงสุดชนิดพลิกโผทุกสำนัก

ด้วยความที่เขาเป็นนักวิชาการมาก่อน หวัง ฮู่หนิง จึงเป็นผู้นำระดับสูงของจีนคนแรกที่มีผลงานวิชาการให้เราศึกษาความคิดทางการเมืองของเขา ก่อนจะเข้าไปช่วยงานพรรคคอมมิวนิสต์เต็มตัว เขาเคยตีพิมพ์หนังสือ 12 เล่ม และบทความวิชาการ 50 เรื่อง การทำความเข้าใจแนวคิดของหวัง ฮู่หนิง จะช่วยให้เราเข้าใจทิศทางนโยบายของจีนในปัจจุบันได้ดีขึ้น

ย้อนกลับไปช่วงการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้ง เสี่ยวผิง ในทศวรรษ 1980 วงวิชาการเริ่มมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า จีนควรปฏิรูปการเมืองด้วยหรือไม่? อย่างไร?

หวัง ฮู่หนิง เป็นที่รู้จักในวงรัฐศาสตร์จีนในฐานะนักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิด Neo-Authoritarianism (新权威主义) ซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่มองว่าการเมืองต้องรวมศูนย์อำนาจ จึงจะผลักดันการปฏิรูปได้สำเร็จ โดยเขาเชื่อว่า

  • ต้องกระจายอำนาจ แต่ก็ยังต้องรวมศูนย์อำนาจด้วย ในช่วงการปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง มีการกระจายอำนาจไปที่พื้นที่ต่างๆ เพื่อทดลองนโยบาย จนเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจของส่วนกลางเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ หวัง ฮู่หนิง นำเสนอปัญหาที่เกิดจากการกระจายอำนาจ เช่น ปัญหาท้องถิ่นนิยมที่แต่ละมณฑลต่างวางนโยบายเพื่อตักตวงประโยชน์เข้าตนเอง แต่กลับส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวม นอกจากนั้น มีหลายครั้งที่รัฐบาลส่วนกลางวางนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลมณฑลกลับไม่รับไปปฏิบัติอย่างจริงจัง บางครั้งรัฐบาลมณฑลกลับเพิกเฉยหรือปฏิบัติสวนทางนโยบายของส่วนกลาง เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์เดิมของตน โจทย์ใหญ่ของจีนคือ ต้องรักษาสมดุลระหว่างการกระจายอำนาจและการรวมศูนย์อำนาจ ถ้าไม่กระจายอำนาจและไม่เปิดให้มีการทดลองนโยบายใหม่ๆ ก็ยากที่จะพัฒนาเศรษฐกิจได้สำเร็จ แต่ถ้ากระจายอำนาจสุดขั้ว ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการจัดการเศรษฐกิจมหภาคได้เช่นกัน ดังนั้น ส่วนกลางต้องมั่นใจว่ายังสามารถรักษาอำนาจสูงสุดและกำกับควบคุมมณฑลได้
  • ต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็งและพร้อมขับเคลื่อนการปฏิรูป และรักษาศรัทธาของประชาชนไว้ได้ ในช่วงเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่แข็งแกร่ง เป้าหมายสำคัญสูงสุดของรัฐบาลก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในความหมายของจีน หมายถึง การผลักดันให้จีนเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrialization) และการใช้ประโยชน์จากกลไกตลาด หวัง ฮู่หนิง และนักวิชาการกลุ่มนี้มักยกตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของสี่เสือแห่งเอเชีย (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง) ซึ่งล้วนแต่อยู่ภายใต้รัฐบาลรวมศูนย์ที่แข็งแกร่ง
  • เสถียรภาพทางการเมืองอยู่ที่ความนิยมและศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลต้องตอบสนองคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชน และต้องควบคุมปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำระดับสูง อย่างไรก็ตาม หวัง ฮู่หนิง เห็นว่าประเทศจีนยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพราะประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมเฉพาะ หน้าที่ของรัฐบาลจีนก็คือ ต้องขับเคลื่อนการพัฒนาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวเสียก่อน

    หวัง ฮู่หนิง ที่มาภาพ : http://www.straitstimes.com/asia/east-asia/chinas-new-leadership-who-are-the-new-faces-on-communist-partys-politburo-standing

    การถกเถียงในวงวิชาการจีนในยุคนั้นเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน นักวิชาการกลุ่มหัวก้าวหน้าที่สนับสนุนให้จีนเริ่มปฏิรูปการเมืองตามแนวทางตะวันตกมักโต้แย้งว่า ประเทศสี่เสือแห่งเอเชียพัฒนาขึ้นมาได้ เพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเน้นการส่งออก ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับว่าประเทศเหล่านั้นต้องเป็นเผด็จการหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลเผด็จการอย่างในฟิลิปปินส์กลับล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะถูกกลุ่มผลประโยชน์ครอบงำ ดังนั้น การเรียกร้องให้รวมศูนย์อำนาจหรือต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง อาจกลายเป็นปูทางให้เกิดเผด็จการพวกพ้องสมบูรณ์แบบที่ยิ่งขัดขวางการปฏิรูปได้

    นอกจากนั้น ความคิดที่ว่าประเทศยังไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย เป็นความคิดที่ไร้ศีลธรรม โดยมองไม่เห็นคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตยในการจรรโลงจิตวิญญาณและเสรีภาพของมนุษย์ แต่กลับเอาประชาธิปไตยไปผูกกับเรื่องเศรษฐกิจ ไม่สนคุณค่าอื่นของประชาธิปไตย และไม่ให้โอกาสเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยได้เบ่งบาน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่ควรต้องเริ่มต้น

    นักวิชาการหัวก้าวหน้าหลายคนในจีนยังมองว่าระบอบประชาธิปไตยจะเป็นคุณกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจควรอยู่ที่การส่งเสริมกลไกตลาด ซึ่งต้องอาศัยระบบกฎหมายที่คุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและเสรีภาพในสัญญา รวมทั้งวัฒนธรรมผู้ประกอบการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเจริญรุ่งเรืองมากกว่าในสังคมประชาธิปไตยแบบตะวันตก

    คงไม่ต้องถามว่าใครชนะการถกเถียงในวงวิชาการจีนในยุคนั้นนะครับ ฝ่ายหัวก้าวหน้าอาจชนะใจผู้คนไม่น้อย แต่ฝ่าย Neo-Authoritarianism ชนะใจผู้นำจีนในสมัยนั้น โดยเฉพาะประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ซึ่งเป็นผู้นำถัดมาต่อจากเติ้ง เสี่ยวผิง เจียง เจ๋อหมิน ได้ส่งเทียบเชิญให้หวัง ฮู่หนิง มาเป็นทีมกุนซือประจำพรรค

    ในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดีหู จินเทา ตรงกับช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2007 รัฐบาลจีนได้อัดฉีดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยอัดฉีดเงินผ่านรัฐบาลมณฑลและรัฐวิสาหกิจ จนทำให้ในช่วงท้ายของประธานาธิบดีหู จินเทา มีนักวิจารณ์มองว่ารัฐบาลส่วนกลางไม่สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปใดๆ ได้เลย รัฐวิสาหกิจมีแต่ขยายใหญ่โตขึ้น (แถมหนี้เน่าก็มีแต่ทบทวีคูณ) ผู้นำมณฑลต่างก็กลายเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลและถูกกลุ่มผลประโยชน์ครอบงำ การคอร์รัปชันรุนแรง ความเชื่อมั่นและศรัทธาต่ออำนาจของรัฐบาลกลางเริ่มลดลงเรื่อยๆ

    เราอาจจินตนาการฉากวันที่สี จิ้นผิง ขึ้นมารับช่วงต่อจากหู จินเทา เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเรียกกุนซือใหญ่อย่างหวัง ฮู่หนิง เข้าพบและขอคำแนะนำ หวัง ฮู่หนิง บอกกับสี จิ้นผิง ว่า “ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเมือง” เขาไม่ได้หมายถึงปฏิรูปการเมืองแบบตะวันตกอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง แต่หมายถึงปฏิรูปตามแบบ Neo-Authoritarianism ของเขา

    นั่นก็คือ เริ่มเดินแผนรวบอำนาจกลับเข้ามาที่พรรคและส่วนกลาง ในช่วง 5 ปีแรก สี จิ้นผิง ประกาศภารกิจหลัก 2 อย่าง คือ ปราบคอร์รัปชัน เล่นเอาผู้นำมณฑลและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ โดนเช็คบิลกันถ้วนหน้า และปฏิรูปกองทัพ จนสามารถรวบอำนาจเข้ามาที่พรรคและส่วนกลางได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผลจากการดำเนินภารกิจทั้งสองอย่าง จึงส่งผลให้สี จิ้นผิง กลายเป็นผู้นำจีนที่มีอำนาจมากที่สุดนับตั้งแต่เหมา เจ๋อตง เป็นต้นมา

    ชาติอื่นๆ ที่สนใจจะเลียนแบบท่านประธานสีก็ต้องคิดให้ดีว่า เลียนแบบมาเฉพาะการรวบอำนาจ หรือเลียนแบบเรื่องการปราบคอร์รัปชัน ปฏิรูปกองทัพ และเพื่อเป้าหมายสำคัญคือ ปฏิรูปเศรษฐกิจ จัดการกับกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดขวางการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วย

    ฝ่ายวิจารณ์ท่านประธานสีในจีนมักกังวลใจ ไม่น่าเชื่อว่ามาถึงยุคนี้แล้ว ยังจะมีคนบ้าอำนาจแบบประธานเหมาอีก (นึกถึงความโหดร้ายในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมเพราะการบูชาผู้นำอย่างลืมหูลืมตาแล้วก็อดหนาวใจไม่ได้) ส่วนกองเชียร์ประธานสีในจีนก็มักเชียร์ว่า ท่านจำเป็นต้องรวบอำนาจเพื่อจัดการกับกลุ่มผลประโยชน์ในท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ กรุยทางเพื่อปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้จีนยังสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปได้ เพื่อบรรลุ “Chinese Dream” ที่ท่านประธานสีตั้งเป้าไว้ ภายในปี ค.ศ. 2021 (พรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี) จีนจะเป็นประเทศที่กินดีอยู่ดีพอสมควร และในปี ค.ศ. 2049 (สาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 100 ปี) จีนจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์

    ดูจะเป็นเกมเดิมพันที่อันตรายไม่น้อย ในคำกล่าวของสี จิ้นผิง ในการประชุมใหญ่ที่ผ่านมา สี จิ้นผิง บอกว่าจีนต้องอาศัยทฤษฎีของจีนเองและการศึกษาวิจัยจากสภาพความเป็นจริง แถมบัดนี้ ท่านยังได้ตั้งให้กุนซือใหญ่นักทฤษฎีขึ้นเป็นคณะผู้นำสูงสุดอีกด้วย

    ท่านกุนซือจะใช้ประโยชน์จากรัฐบาลที่แข็งแกร่งของประธานสีขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างได้สำเร็จ หรืออำนาจที่รวมศูนย์จะทำลายตัวเองเสียก่อน คงต้องติดตามต่อไปด้วยใจระทึก