ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ขบวนการใช้สิทธิขรก.โกงยา “สวมสิทธิ-ยิงยา-ช็อปปิ้งยา” – ปี’59 ใช้บริการกว่า 27.8 ล้านครั้ง

ขบวนการใช้สิทธิขรก.โกงยา “สวมสิทธิ-ยิงยา-ช็อปปิ้งยา” – ปี’59 ใช้บริการกว่า 27.8 ล้านครั้ง

14 สิงหาคม 2017


จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)แถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำข้อเสนอแนะถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา

คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา ที่มีนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ได้ดำเนินการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเบิกจ่ายยา โดยได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), และกรมบัญชีกลาง ทำการศึกษาข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานได้เคยรวบรวมพฤติกรรมความผิดที่เคยเกิดขึ้นเอาไว้ โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการทุจริตที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย

จากการรวบรวมข้อมูล ป.ป.ท. เริ่มพบความผิดปกติเกี่ยวกับการทุจริตในปี 2553 ภายหลังจากงบประมาณที่ใช้สำหรับค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและเครือญาติ เพิ่มสูงขึ้นกว่า 3 เท่าจากปี 2547 เบิกจ่าย 26,000 ล้านบาท เป็น 61,000 ล้านบาท ในปี 2552 จนในที่สุดมีการจับกุมข้าราชการ 8 ราย ที่ทุจริตเบิกค่ายามูลค่าความเสียหายกว่า 4.6 ล้านบาท ในครั้งนั้นป.ป.ท.พบมูลเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดการทุจริตใน 3 ประเด็น คือ

    1. การสมคบกันระหว่างโรงพยาบาล แพทย์ ผู้บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายยา หากแพทย์มีความเห็นสนับสนุนยาชนิดนั้นๆ จะได้รับการตอบแทนด้วยค่าคอมมิชชั่นในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาแถม ตัวเงิน หรือ อาจเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศในรูปแบบของการสัมมนาดูงานในต่างประเทศ

    2. เกิดจากช่องโหว่ระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นระบบจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง โดยผู้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเองเหมือนในอดีต ผู้ใช้สิทธิจึงไม่ทราบว่าได้ใช้สิทธิไปเท่าใด ขณะที่โรงพยาบาลแจ้งค่ารักษาพยาบาลกรมบัญชีกลางเท่าใด กรมบัญชีกลางก็จ่ายงบประมาณชดใช้คืนเท่านั้น

    3. ระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละโรงพยาบาล ไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ เนื่องจากโรงพยาบาลมีสังกัดหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบพฤติกรรมที่เวียนขอรับยาตามโรงพยาบาลต่างๆได้

โดยมีรูปแบบการทุจริต 3 ประเภท คือ

“สวมสิทธิ” ผู้ป่วย หรือ ไม่มีอาการป่วย ซึ่งไม่มีสิทธิตามสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว เข้าสวมสิทธิรักษาพยาบาลของบุคคลที่มีสิทธิ โดยอ้างใช้สิทธิสวัสดิการข้าราการ

“ยิงยา” เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายยา สั่งจ่ายยาที่ไม่จำเป็น และไม่เหมาะสมสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายนั้น หรือ จ่ายยาในลักษณะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เน้นการจ่ายยานอกบัญชียาหลักซึ่งมีราคาแพง โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทผู้ผลิตยา หรือตัวแทนจำหน่ายยาในลักษณะของผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินค่าตอบแทน ของกำนัล การเดินทางไปต่างประเทศ

“ช็อปปิ้งยา” กรณีนี้ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ ครอบครัว จะเบิกค่ารักษาพยาบาลในลักษณะของการเดินสายขอตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และมักเดินทางไปพบแพทย์เกินกำหนดนัดเพื่อให้ได้รับยาจำนวนมากขึ้น มีการดำเนินการเป็นขบวนการ เชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ ร้านขายยา บริษัทยา

โดยพบกระบวนการโยงใยเครือข่ายการทุจริตนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มผู้ใช้สิทธิและญาติ ซึ่งจากการตรวจสอบของป.ป.ท.พบว่ามีการช็อปปิ้งยาในทุกๆ 1-3 สัปดาห์ที่จะตะเวนใช้สิทธิในโรงพยาบาลหลายๆแห่ง บางราย ช็อปปิ้งยาได้สูงถึง 1.2 ล้านบาท ภายใน 1 ปี

ในปี 2559กรมบัญชีกลางได้ตรวจพบข้าราชการและบุคคลในครอบครัว 11 ราย มีพฤติกรรมเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่อทุจริต เช่น นาง ก. มารดาของข้าราชการได้สมัครจ่ายตรง 5 โรงพยาบาล เมื่อไปโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะขอรับยากลุ่มความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง พร้อมแจ้งกับแพทย์ผู้รักษา ว่าขาดยา และ ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อขอเพิ่มยา จนกรมบัญชีกลางพบพิรุธ เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ายาในปี 2557 เพิ่มสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 10 เท่าตัว โดยปี 2556 เบิกจ่าย 58,981 บาท ปี 2557 เบิกจ่าย 257,893 บาท

2.กลุ่มบุคลากรโรงพยาบาล เป็นกลุ่มใหญ่ที่มีช่องโหว่ในการทุจริตเบิกค่ารักษาพยาบาลได้มากที่สุด โดยพบว่าแพทย์มีพฤติกรรมสั่งยาให้ตัวเองสัปดาห์ละประมาณ 20,000-30,000 บาท และสั่งยาเกินความจำเป็นในรายที่ผู้ป่วยไม่ได้มาใช้สิทธิที่โรงพยาบาล มีการนำเวชระเบียนของผู้ป่วยมาเบิกยาโดยผู้ป่วยไม่ทราบเรื่อง รวมถึงยังพบพฤติกรรมการบันทึกข้อมูลจำนวนยาสูงกว่าที่แพทย์สั่งจ่าย เช่น แพทย์สั่งจ่ายยาจำนวน 300 เม็ด แต่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลจ่ายยา 1,000 เม็ด

นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการสั่งยาเกินความจำเป็นให้ผู้ป่วย และสั่งจ่ายยาที่ไม่เกี่ยวกับโรคที่วินิจฉัย เช่น ผู้ป่วยโรคเข่าเสื่อม แต่แพทย์สั่งจ่ายน้ำตาเทียมให้ด้วย โดยแพทย์บางรายมีเป้าหมายจ่ายยาออกมาจำนวนมาก เพื่อทำยอดให้กับบริษัทยาแลกกับผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ขณะที่แพทย์บางรายสั่งจ่ายยาให้ตนเอง และบุคคลในครอบครัวด้วยตัวยาเดียวกัน โดยไม่มีการวินิจฉัยโรค ซึ่งพบในภายหลังว่าแพทย์ผู้นั้นเปิด “คลินิก” ส่วนตัว รวมไปถึงการจ่ายยานอกบัญชีหลักทั้งที่เป็นยาที่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับยาในบัญชีหลักด้วย เช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สั่งซื้อยานอกบัญชีหลัก เช่น ยาลดไขมัน (ROSUVASTATIN)จำนวนกว่า 72 ล้านบาท และ ยาลดการหลั่งกรด (ESOMEPRAZOLE) จำนวน 51 ล้านบาท รวมยอดสั่งซื้อกว่า 120 ล้านบาท

อีกกรณีหนึ่งคือ โรงพยาบาลจะเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน โดยวิธีการกำหนดเพดานงบประมาณและจัดสรรตามหลักเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ซึ่งระบบดังกล่าว เมื่อแพทย์วินิจฉัยโรคแล้วจะต้องใช้รหัสโรค เพื่อคำนวณน้ำหนักโรค ซึ่งกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินตรงให้กับโรงพยาบาลตามน้ำหนักโรคแบบเหมา ซึ่งพบว่ารหัสลงน้ำหนักโรคนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินให้โรงพยาบาลสูงกว่าความเป็นจริง

3.กลุ่มจำหน่ายยา มีความเกี่ยวพันกับโรงพยาบาล มีการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับโรงพยาบาลและแพทย์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ดีเอสไอ เคยเข้าตรวจสอบความผิดปกติคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศ และธุรกรรมทางการเงิน พบว่า มีข้าราชการของโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ มีลักษณะการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสั่งจ่ายยาบางชนิดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ อาจมีผลข้างเคียงของยาต่อผู้ป่วย และอาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วยเป็นเหตุให้ไม่ได้รับโอกาสแนวทางรักษาที่เหมาะสมตามวิชาชีพเวชกรรม

ขณะเดียวกันพบสถิติการเดินทางเข้าออกประเทศจำนวนมาก โดยอ้างว่าเป็นการเข้าประชุมวิชาการจากการสนับสนุนของบริษัทยา แต่พบหลักฐานว่ามีการเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางไปยังประเทศอื่นที่ไม่มีการประชุมวิชาการตามที่ได้ระบุไว้ และยังพบอีกว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการร้องขอการสนับสนุนจากบริษัทยา ซึ่งต่อมากรมบัญชีกลางพบว่ามีการสั่งจ่ายยาของบริษัทดังกล่าวอย่างไม่เหมาะสม

สำหรับการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดในกลุ่มของบุคลกรโรงพยาบาลนั้น ดีเอสไอ ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ในฐานะความผิดตามมาตรา 149 และมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติมิชอบ และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

ขณะที่การดำเนินคดีในกลุ่ม “ผู้ใช้สิทธิ” นั้น แม้ว่ากรมบัญชีกลาง ในฐานะ “ผู้เสียหาย” ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาทุจริตหลายราย แต่พบว่าส่วนใหญ่อัยการไม่ส่งฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะเบิกค่ายาและแพทย์เป็นผู้สั่งให้ รวมถึงพฤติกรรมการช็อปปิ้งยา ผู้ต้องหาอ้างว่าไม่มั่นใจการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งเดียว จึงต้องตะเวนไปรักษาในหลายโรงพยาบาล ก็ถือว่าไม่ใช่ความผิดโดยตรง หรือ บางกรณี อัยการมองว่า เป็นคดีฉ้อโกงธรรมดา ไม่ใช่คดีทุจริต

ปมปัญหาเหล่านี้คณะกรรมการป.ป.ช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542และที่แก้ไขเพิ่มเติมเสนอ“มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา ตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทาง “ปราบโกง”ซึ่งทันทีที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอแนะ ได้ทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ถึงประธานป.ป.ช.

โดยระบุว่า “นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอนี้”

โดยกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ“แม่งาน” ต้องสรุปผลการพิจารณาในภาพรวม แล้วส่งให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายใน 30 วันเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

การใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการกลุ่มไหนใช้เท่าไหร่ – 10 โรคที่เบิกจ่ายมากสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับสถิติค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิสวัสดิการของข้าราชการย้อนหลัง 10 ปี ที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวพบว่า ในปี 2549 มีการเบิกจ่าย 37,004 ล้านบาท และมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยล่าสุดปี 2559 รายจ่ายดังกล่าว มีจำนวนถึง 71,016 ล้านบาท

ปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการทั้งสิ้น 5 ล้านคน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้มีสิทธิ ได้แก่ ข้าราชการ,ผู้รับบำนาญปกติ,ผู้รับเบี้ยหวัด,ลูกจ้างประจำ,ลูกจ้างชาวต่างชาติ,และผู้รับบำนาญพิเศษ เหตุทุพลภาพ และกลุ่มที่ 2 เป็นผู้อาศัยสิทธิ หรือ บุคคลในครอบครัวข้าราชการ ได้แก่ บิดา,มารดา,คู่สมรสและบุตรไม่เกิน 3 คน

ทั้งนี้ในปี 2559 มีผู้มาใช้สิทธิดังนี้ (ดูตารางด้านล่าง)

จะเห็นว่าในปี 2559 ยอดรวมมีการใช้สิทธิเป็นผู้ป่วยใน 687,750 ครั้ง ผู้ป่วยนอก 27,133,313 ครั้ง รวมมาใช้บริการทั้งสิ้น 27,821,063 ครั้ง รวมเป็นเงินค่ารักษาพยาบาล 63,756 ล้านบาท โดยผู้ใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลมากสุดคือข้าราชการที่ยังทำงานอยู่และข้าราชการบำนาญ (หมายเหตุ:ข้อมูล ณ สิ้นปีงบประมาณ เดือนกันยายน 2559)

ทั้งนี้ถ้าดูจำนวนความถี่ในการมารักษาและเฉลี่ยค่าใช้จ่ายแล้ว ข้าราชการบำนาญเบิกเฉลี่ยต่อครั้งสูงกว่าผู้ใช้สิทธิกลุ่มอื่นๆ ซึ่งสะท้อนถึงโรคของผู้สูงอายุ โดยสอดรับกับข้อมูลกรมบัญชีกลางได้ระบุ 10 โรคที่มีการเบิกจ่ายมากสุด พร้อมแยกแยะยอดการเบิกจ่ายของผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน พร้อมเฉลี่ยโดยรวมว่ามีการเบิกจ่ายต่อคนเป็นวงเงินเท่าไหร่ดังนี้

ข้อเสนอนแนะ “ดักทางโกง” เบิกจ่ายยาสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา ของป.ป.ช. ที่มีนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ออก “มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา ตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” เพื่อปรับปรุงระบบการควบคุมการเสนอการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาล ดังนี้

ข้อเสนอแนะเชิงระบบ
1.ผลักดันยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

  • ให้สถานพยาบาลของรัฐทุกสังกัด รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงสำหรับสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ นำหลักเกณฑ์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (RDU) ที่เป็นมาตรฐานกลางซึ่งเกิดจากการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไปใช้บังคับอย่างเป็นรูปธรรม
  • ให้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ใช้หลักเกณฑ์ของการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นหนึ่งในมาตรการพัฒนาและรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล
  • ให้รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จัดให้มีระบบการกำกับ ดูแล ตรวจสอบการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในแต่ละระดับอย่างเหมาะสม
  • จัดให้กลไกการให้ข้อมูลวิชาการด้านยาที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลของโรคเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ (evidence base) และการรักษา ตลอดจนราคากลางของยา โดยข้อมูลต้องเข้าถึงง่ายเป็นปัจจุบัน ถูกต้องและน่าเชื่อถือ

2.จัดให้มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยาซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยากับสถานพยาบาลทุกสังกัดเพื่อตรวจสอบการใช้ยาอย่างเหมาะสม และเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที (real time) ทั้งนี้หน่วยงานดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร หรือ เป็นองค์กรมหาชนตามข้อเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศก็ได้

โดยระหว่างที่ยังไม่มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยา ให้กรมบัญชีกลางจัดให้มีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอก โดยอาจมีการจำกัดวงเงิน หรือ อาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอก เช่น จำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาต่อปี ค่ารักษาต่อปี ภูมิลำเนาของผู้ป่วย เป็นต้น โดยหากการรักษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง ทำการตรวจสอบโดยละเอียด และกรมบัญชีกลางควรจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอกของแต่ละโรงพยาบาลว่า แต่ละโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใด ให้สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบโดยเปิดเผยด้วย

3.กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา

  • ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล
  • ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านต้นทุน มาตรฐาน ระยะเวลาในการส่งมอบ การให้บริการ และราคา ประกอบการตัดสินใจ
  • ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อกำหนดคุณสมบัติของบริษัทคู่ค้าใน TOR ให้บริษัทคู่ค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 103/7 มาตรา 123/5 และมีระบบอบรมเกณฑ์จริยธรรมแก่พนักงาน โดยให้เป็นคะแนนบวกใน price performance
  • ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อกลไกต่อรองราคาตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด

4.ให้เพิ่มความเข้มงวดของระบบการตรวจสอบภายใน ทั้งในระดับสถานพยาบาล และระดับหน่วยงานต้นสังกัดของสถานพยาบาล
ข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ
1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวด
2. การผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา

  • ให้กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมกรรพัฒนาระบบยาแห่งชาติบังคับใช้เกณฑ์จริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ประชาสัมพันธ์ และปลูกฝังให้บุคลากรและภาคประชาชน มีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเสนอขายยาอย่างเหมาะสม
  • ให้สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีเกณฑ์จริยธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายยา และการสั่งจ่ายยาในจรรยาบรรรณวิชาชีพ
  • ให้เกณฑ์จริยธรรมเป็นกลยุทธ์เสริมสร้างธรรมาภิบาลระบบจัดซื้อและควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของสถานพยาบาล

3. การปลุกจิตสำนึกบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

  • ให้หน่วยงานต้นสังกัดประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์จริยธรรมให้บุคลาการรับทราบ และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการปฏิบัติตนตามเกณฑ์จริยธรรม
  • ให้สถานพยาบาลประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์จริยธรรม การส่งเสริมขายยา และการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลให้ประชาชนได้รับทราบในรูปแบบของสื่อที่มีความเข้าใจง่าย สร้างเครือข่ายที่ประกอบไปด้วยบุคลากรในสถานพยาบาลและประชาชน ทำการเฝ้าระวังและตรวจสอบ การส่งเสริมการขายยา และการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงมีช่องทางในการร้องเรียนและแจ้งข้อมูลการกระทำผิดให้แก่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรง
  • ให้กรมบัญชีกลางประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการของข้าราชการ ให้ผู้ใช้สิทธิมีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช้สิทธิของตนโดยไม่สุจริต

4. การสร้างมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมของภาคเอกชน เพื่อป้องกันการส่งเสริมการขายยาอย่างไม่เหมาะสม

ให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยความร่วมมือกับสำนักงานป.ป.ช. ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมตามาตรา 123/5 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องให้แก่บริษัทผู้จำหน่วยยาให้เกิดความรู้ความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

อนึ่ง ข้อเสนอแนะดังกล่าวมุ่งเสนอต่อสถานพยาบาลของทางราชการ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งครอบคลุมถึงการรักษาพยาบาลตมสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และการรักษาพยาบาลตามสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หากข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นเป็นประโยชน์ อาจนำไปใช้กับสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการในระบบโครงการประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าก็ได้