ทพพล น้อยปัญญา

ในระยะนี้เรื่องของอินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดผลทางกฎหมายเป็นคดีใหม่ๆ หลายคดี
อย่างในคดีแรก เป็นคดีเกี่ยวกับ emoji หรือรูปสัญลักษณ์ที่ปรากฏในข้อความอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าจะเข้าใจให้ง่ายก็คือ พวกรูปการ์ตูนขนาดเล็กทั้งหลาย เช่น รูป smiley ซึ่งรูปการ์ตูนเหล่านี้มีอยู่ในโปรแกรมแชททั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Line หรือ Instagram หรือ Facebook Messenger นอกเหนือไปจากการส่งสติกเกอร์ทั้งหลาย
คดีเกี่ยวกับ emoji นี้มีอยู่ว่า นาย Yaniv Dahan เป็นเจ้าของบ้านได้โฆษณาให้เช่าบ้านของตนในเว็บไซต์ชื่อ Yad2 และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2559 ก็ได้รับข้อความจากนาย Yarden Rosen ความว่า
“สวัสดีครับ สนใจในบ้านเช่า ต้องคุยกันในรายละเอียด เวลาไหนที่คุณสะดวกครับ?”
ถ้าอ่านแต่ข้อความก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่บังเอิญในข้อความนั้น ผู้ที่สนใจเช่าบ้านได้ส่ง emoji หรือสติกเกอร์รูปภาพไปกับข้อความด้วย ข้อความที่ส่งมาจึงกลายเป็นดังนี้

เมื่อมีคนสนใจ นาย Dahan เจ้าของบ้านก็เลยถอดโฆษณาออก และทำการเจรจาต่อรองกับนาย Rosen และคู่ของเขาชื่อนาง Nir Haim Saharoff
ระหว่างการติดต่อกัน นาย Dahan ได้ส่งข้อความถึงนาย Rosen ให้พิจารณาแก้ไขสัญญาเช่าเพื่อที่จะได้ลงนามกันในอาทิตย์ถัดมา นาย Rosen ตอบว่า เขาไม่สะดวกเพราะว่ากำลังเก็บของทั้งหมดในบ้านเก่าไปไว้ที่ห้องเก็บของ แต่ไม่ต้องกังวล เขาจะแจ้งให้ทราบ ถัดไปอีก 4 วันหลังจากนั้น นาย Dahan ได้ส่งข้อความไปถามอีกว่าจะเซ็นสัญญากันวันอังคารได้หรือไม่? 2 วันถัดมานาย Rosen ตอบว่า วันอังคารเรากำลังย้ายอพาร์ตเมนต์ อาจจะเป็นวันพุธ ถึงตอนนั้นสัญญาก็คงแก้ไขแล้ว
แต่แล้วทั้งคู่ก็เงียบหายไป นาย Dahan จึงไปฟ้องศาล Herzliya Small Claims Court ข้างฝ่ายนาย Rosen และนาง Saharoff ก็แก้ตัวโดยอ้างว่าทั้งคู่ไม่ค่อยพอใจกับสภาพของบ้าน จึงไปเช่าอพาร์ตเมนต์อื่นแทน
ในคำพิพากษา ผู้พิพากษา Amir Weizebbluth ได้กล่าวถึงการใช้ emoji ใน คดีนี้ไว้ว่า
“…Indeed, this negotiation’s parties’ ways of expression may take on different forms, and today, in modern times, the use of the “emoji” icons may also have a meaning that indicates the good faith of the side to the negotiations. The [emoji laden] text message sent by Defendant 2 on June 5, 2016, was accompanied by quite a few symbols, as mentioned. These included a “smiley”, a bottle of champagne, dancing figures and more. These icons convey great optimism. Although this message did not constitute a binding contract between the parties, this message naturally led to the Plaintiff’s great reliance on the defendants’ desire to rent his apartment. As a result, the Plaintiff removed his online ad about renting his apartment…”
การใส่ emoji จึงทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อได้ว่าจะมีการทำสัญญากัน ผู้พิพากษา Weizebbluth ได้ตัดสินให้นาย Dahan ได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินเท่ากับ 2,200 เหรียญสหรัฐ นี่แสดงว่า ศาลอิสราเอลเขายอมรับแล้วนะครับว่า การใส่ emoji ในข้อความสามารถที่จะแสดงถึงเจตนาได้ แน่นอนครับว่า พวกสติกเกอร์ทั้งหลายก็คงอยู่ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน เพราะพวกสติกเกอร์แสดงอารมณ์ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ชอบ หิวข้าว โกรธ ฯลฯ
ในศาลฎีกาของสหรัฐฯ ก็เคยมีคดีนาย Anthony Elonis อยู่ที่รัฐ Pennsylvania ที่โดนข้อหาใช้ข้อความที่โพสต์ใน Facebook ข่มขู่อดีตภรรยาของตน โดยนาย Elonis มีข้อแก้ตัวข้อหนึ่งว่า ข้อความที่เป็นการข่มขู่ดังกล่าวเป็นเพียงการล้อเล่นเพราะว่าเขาได้ใส่สติกเกอร์รูป smiley แลบลิ้นเข้าไปด้วย สุดท้ายศาลฎีกาสหรัฐฯ ตัดสินว่านาย Elonis ไม่มีความผิดด้วยการที่พนักงานอัยการไม่สามารถพิสูจน์ว่าข้อความของนาย Elonis ใน Facebook เป็นการข่มขู่ได้ โดยในคำพิพากษาไม่ได้กล่าวถึงสติกเกอร์แต่อย่างใด (คดี Elonis v. United States )
พูดถึง Facebook ท่านผู้อ่านก็คงจะพอจำได้ถึงคดีที่ศาลเมือง Zurich ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เริ่มทำการพิจารณาคดีที่ชายอายุ 45 ปีถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทที่ไปกล่าวหานักต่อสู้เพื่อสิทธิของสัตว์คนหนื่งโดยชายคนนี้ได้เข้าไปในการถกเถียงออนไลน์เกี่ยวกับการกล่าวหานักต่อสู้คนดังกล่าวและกด like ไป 8 ครั้ง ซึ่งนับเป็นคดีแรกที่ศาลจะตัดสินว่าความผิดฐานหมิ่นประมาททำได้ด้วยการกด like ได้หรือไม่ (อ่าน“การกด like ก็หมิ่นประมาทได้?”)
คดีนี้ศาลได้ตัดสินแล้วครับ คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการไปแสดงความคิดเห็นต่อนาย Erwin Kessler หัวหน้าของกลุ่มพิทักษ์สัตว์ว่า เป็นพวกแบ่งแยกผิวและต่อต้านชาวยิว
ศาลแขวง Zurich ได้บอกว่าจำเลย “ได้รับรองโดยแจ้งชัดถึงข้อความที่ไม่เหมาะสม และได้ทำให้เป็นของตน” โดยการกด Like ข้อความนั้น ศาลจึงตัดสินว่า จำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การแสดงความคิดเห็นที่ตนกด like ไปนั้นเป็นเรื่องจริง การไปกด like ของการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นการ “ทำให้เข้าถึงคนจำนวนมาก” จึงเป็นการ “ทำให้เสื่อมเสียแก่เกียรติ (ของนาย Kessler)” ลงโทษปรับเป็นเงิน 4,000 สวิสฟรังก์หรือประมาณ 4,100 เหรียญสหรัฐ
คำพิพากษานี้เป็นแค่ของศาลชั้นต้น ตัวจำเลยเองก็ยังสามารถอุทธรณ์ได้ เราก็คงต้องรอดูกันต่อไป
ทุกวันนี้ เรื่องของอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นการเขียน e-mail หรือ chat เพื่อติดต่อสื่อสารกัน การใช้ Social Media พวก Line หรือ Facebook เพื่อสื่อสารกันเป็นระบบสังคมออนไลน์ หรือการใส่ emoji หรือสติกเกอร์ไปกับข้อความที่ส่ง เหล่านี้เราเคยใช้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบอะไรมาก แต่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้กำลังก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายมากขึ้นดังที่ได้ยกตัวอย่างมา
เพราะฉะนั้น จะเล่น Line หรือ Facebook หรือจะ chat กันวันนี้หรือวันต่อๆ ไป คงจะต้องระมัดระวังกันแล้วละครับ