ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเภทของผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย

ประเภทของผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย

30 มิถุนายน 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าเราจะมองไปที่ไหน เราก็มักจะเห็นคนที่อ้างว่าตัวเองเป็น “ผู้เขี่ยวชาญ” อยู่เต็มไปหมด วันนี้ผมก็เลยถือโอกาสเขียนในเรื่องประเภทของผู้เชี่ยวชาญในประเทศของเราดังนี้

ผู้เชี่ยวชาญที่เมืองไทยมีอยู่ 5 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันดังนี้นะครับ

    1. ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิจัยในเรื่องที่เขียนหรือพูดจริงๆ
    2. ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ทำผิดทำถูกเป็นร้อยเป็นพันครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่เคยทำวิจัยในเรื่องนั้นๆ จริงๆ
    3. ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้ทำทั้งงานวิจัย และไม่ได้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ จริงๆ แต่มีความสามารถในการอ่านงานวิจัยจากคนอื่นๆ และสามารถแปล แปลง และสื่อสารผลงานวิจัยนั้นๆ เพื่อสื่อมวลชนทั่วไปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
    4. ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้ทำทั้งงานวิจัย และไม่ได้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ จริงๆ ไม่อ่านงานวิจัยอื่นๆ ด้วย แต่ใช้ประสบการณ์ตัวเองจากเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังให้ความคิดเห็นอยู่มาพูด มาประยุกต์
    5. ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีคุณสมบัติ

1-4 ข้อข้างบน แต่ใช้แพลตฟอร์มที่ตัวเองมีในสังคมในการใช้อารมณ์และความคิดเห็นส่วนตัวในการให้คำแนะนำในเรื่องนั้นๆ

(Note: จริงๆ แล้วมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็น hybrid ระหว่าง 1, 2, และ 3 ได้นะครับ)

ข้อดีของผู้เชี่ยวชาญประเภทที่ 1 คือ เป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้ลึกในสิ่งที่ตัวเองรู้จริงๆ และมักจะสามารถพูดหรือให้คำแนะนำตามตัวเลขที่วิจัยออกมา พูดง่ายๆ คือไม่ค่อยจะ subjective เท่าไหร่นัก แต่ข้อเสียก็คือไม่ค่อยได้รับเชิญมาให้ออกความคิดเห็นสักเท่าไหร่ นั่นก็เป็นเพราะว่าไม่สามารถออกความคิดเห็นเรื่องอื่นๆ ที่ตัวเองไม่ถนัดได้ (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นข้อดีแหละ ไม่ใช่ข้อเสีย)

ข้อดีของผู้เชี่ยวชาญประเภทที่ 2 คือมีประสบการณ์จริงๆ สามารถเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาพูด บรรยายให้น่าฟังได้ สอนได้จริงๆ แต่ข้อเสียก็คืออาจจะทำให้ก่อเกิดอคติทางความคิด (cognitive bias) ต่างๆ นานาได้ เพราะว่ามีประสบการณ์จากการสังเกตแค่ตัวเดียวก็คือตัวเอง

ส่วนข้อดีของผู้เชี่ยวชาญประเภทที่ 3 ก็คือรู้เยอะเพราะว่าได้อ่านเยอะ ข้อเสียก็คือรู้ได้แค่เพียงผิวเผินเมื่อเทียบกันกับผู้เชี่ยวชาญประเภทที่ 1 และ 2 แต่ก็ยังดีเพราะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างคนที่ทำงานวิจัยจริงๆ และมีประสบการณ์จริงๆ และคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อ่านงานวิจัยหรือมีประสบการณ์ส่วนตัวจริงๆ

ส่วนผู้เชี่ยวชาญประเภทที่ 4 และ 5 นั้นไม่น่าจะมีข้อดีเลย คงมีแต่ข้อเสียนั่นก็คือการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ได้มาจากการวิจัยหรือประสบการณ์ของตัวเองจริงๆ

คิดว่าผู้เชี่ยวชาญ 1 ในเมืองไทยนั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกันกับผู้เชี่ยวชาญประเภทอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญ 2 คงมีอยู่บ้าง ผู้เชี่ยวชาญ 3 น่าจะมีเยอะอยู่เหมือนกัน แต่ที่เยอะที่สุดน่าจะเป็น 4 และ 5 นะครับ

แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดในสังคมของเราไม่ใช่ว่ามีผู้เชี่ยวชาญประเภทที่ 4 และ 5 อยู่ในสังคม แต่ก็คือคนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถแยกแยะผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเภทได้ นั่นก็เป็นเพราะว่าคนธรรมดาทั่วไปไม่มีความรู้ที่ลึกพอในเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญ “claim” ว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยให้พวกเขาแยกแยะสินค้าที่ดีจากสินค้าที่ไม่ดีได้

พูดง่ายๆ ก็คือ ตลาดผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยก็คือตลาดมะนาวดีๆ นั่นเองที่มีทั้งมะนาวดีและมะนาวเสียขาย (และเพราะมะนาวดีเปรี้ยว ส่วนมะนาวเสียก็เปรี้ยว ทำให้คนแยกแยะไม่ค่อยถูกว่าที่บริโภคไปนั้นเป็นมะนาวดีหรือมะนาวเสียกันแน่)