ThaiPublica > คอลัมน์ > เสรีภาพกับความรับผิดชอบสื่อในศตวรรษที่ 21 (3): กำกับกันเองให้ได้ ถ้าไม่อยากให้รัฐยุ่ง?

เสรีภาพกับความรับผิดชอบสื่อในศตวรรษที่ 21 (3): กำกับกันเองให้ได้ ถ้าไม่อยากให้รัฐยุ่ง?

5 มิถุนายน 2017


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงสาเหตุหลักที่คิดว่าทำให้กลไกกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนไทยไร้ประสิทธิผลตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาว่า เกิดจาก “ความไม่โปร่งใส” ของกลไก ประกอบกับ “ความไม่ศักดิ์สิทธิ์” ของมาตรการลงโทษสื่อไร้จรรยาบรรณ เพราะสมาคมสื่อที่ “ลงดาบ” นั้นไร้ซึ่งอำนาจทางกฎหมายใดๆ รองรับ

สื่อคนไหนที่ทำตัวไร้จรรยาบรรณก็ลอยชายสบายแฮต่อไปได้เพราะไม่ต้องแยแสกับการตัดสินใจของสมาคมสื่อ ยิ่งถ้าค่ายตัวเองให้ท้ายหรือไม่ใส่ใจ (เช่น เพราะคนคนนั้นทำเงินให้ค่ายคิดเป็นหลายเปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด) สื่อไร้จรรยาบรรณก็จะไม่มีและไม่ต้องจ่าย “ต้นทุน” ใดๆ ในการทำผิดจรรยาบรรณ (นอกจากสูญเสียความเชื่อถือจากประชาชนบางส่วนที่แคร์และคาดหวังจรรยาบรรณสื่อ)

แต่การหาวิธีใหม่ๆ ในการกำกับและกระตุ้นให้วงการสื่อเกิดแรงจูงใจที่จะปรับปรุงจรรยาบรรณของวงการจริงๆ ก็สำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะปล่อยผ่านหรือยักไหล่พูดลอยๆ ว่า “เดี๋ยวสังคมก็กำกับเอง” เพราะจรรยาบรรณสื่อที่เลวลงเรื่อยๆ นั้นก่อความเสียหายต่อผู้ที่ถูกกระทบ และจะยิ่งทำให้สื่อสูญเสียความเป็นมืออาชีพ และความเชื่อมั่นจากสังคมต่อไปเรื่อยๆ

พูดง่ายๆ คือ สื่ออาชีพควรมองว่า การสร้างกลไกกำกับที่เกิดประสิทธิผลจริงๆ นั้นสำคัญไม่ใช่เพราะว่ารัฐควรเข้ามามีอำนาจควบคุม แต่เป็นเพราะการหันกลับไปยึดมั่นใน “จรรยาบรรณสื่อ” โดยรวมนั้นสำคัญต่อการกอบกู้ความน่าเชื่อถือ เป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้รัฐอ้างภาวะสื่อไร้จรรยาบรรณมาแทรกแซงหรือควบคุม ตลอดจนช่วยยืดอายุ-ความอยู่รอดในระยะยาวของตัวสื่อเอง!

หมายเหตุตรงนี้อีกทีว่า เรากำลังพูดเรื่องวิธีการนำเสนอหรือเนื้อหาที่เข้าข่าย “ผิดจรรยาบรรณ” แต่ไม่ถึงขั้น “ผิดกฎหมาย” เพราะอะไรก็ตามที่ผิดกฎหมาย ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิฟ้อง และเจ้าหน้าที่รัฐก็มีหน้าที่ต้องจัดการในฐานะผู้รักษากฎหมายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ลามกอนาจาร หมิ่นประมาท ฯลฯ (ยกเว้นว่าจะเป็นเนื้อหาที่ไม่ผิด แต่ถูกตีความว่าผิดเพื่อปิดปากคนพูด แต่นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับกลไกกำกับสื่อ ขอยกยอดไปก่อน)

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงข้อเสนอ “กลไกกำกับดูแลร่วมกัน” (co-regulation) จากนักวิจัยหลายชุดว่า น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมและทำได้จริง โดยเฉพาะสำหรับสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ภายใต้กลไกใหม่นี้ การกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 องค์กรสื่อ (Media Organization) ระดับที่ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ (Self-Regulatory Organization-SRO) ทั้งสองระดับนี้เรียกว่า “การกำกับดูแลกันเอง” ภายในวงการ หรือ self-regulation ส่วนระดับที่สามหรือระดับสุดท้าย คือ กสทช. ซึ่งมีอำนาจลงโทษทางกฎหมาย (regulatory backstop)

กลไกแบบนี้นับว่าเป็นการกำกับ “ร่วมกัน” ระหว่าง กสทช. กับสื่อ เพราะไม่ใช่ว่าให้อำนาจ กสทช. ในการเข้ามา “ล้วงลูก” ตั้งแต่ต้น แต่รอใช้อำนาจเฉพาะในกรณีที่กลไกกำกับกันเอง (ระดับที่ 1 กับ 2) ใช้การไม่ได้ผลเท่านั้น เช่น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการควบคุมจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อหรือองค์กรสื่อเสนอให้ กสทช. พิจารณาเอง ด้วยเหตุผลว่า สื่อทำผิดซ้ำซาก ไม่ปฏิบัติตามคําตัดสินของคณะกรรมการ หรือผู้ร้องเรียนยังไม่พอใจกับคำตอบที่ได้รับจากองค์กรสื่อ หรือองค์กรวิชาชีพสื่อ

กลไกนี้จะช่วยแก้ทั้งปัญหาความไม่โปร่งใส และปัญหาการขาดความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรการกำกับจรรยาบรรณที่ผ่านมา ความโปร่งใสจะมากขึ้นมากเพราะองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อจะต้องร่วมกันจัดทำหรือปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพที่ยอมรับร่วมกัน เปิดให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น (public hearing) และนำมาตรฐานจริยธรรมที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้วไป “จดแจ้ง” กับ กสทช. เพื่อให้ กสทช. รับรองมาตรฐานดังกล่าว

ความศักดิ์สิทธิ์คราวนี้ก็จะเกิดได้ เพราะทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนคนเสพสื่อจะรู้ชัดว่า ถ้าหากสื่อคลี่คลายเรื่องร้องเรียนไม่ได้ หรือว่าสื่อที่มีปัญหาไม่ยอมทำตามคำตัดสินของคณะกรรมการจริยธรรมในองค์กรวิชาชีพสื่อ เราก็จะมีสิทธิ์ร้องเรียนต่อไปยัง กสทช. ซึ่งมีอำนาจลงโทษสื่อ ถ้าค่ายไหนทำผิดมาตรฐานอย่างร้ายแรงและซ้ำซากมากๆ กสทช. ก็อาจใช้อำนาจถึงขั้นยึดคืนใบอนุญาต

ในกลไกนี้ เวลาที่ กสทช. จะพิจารณากรณีใดก็ตาม ก็จะต้องอ้างอิงตามมาตรฐานที่สื่อเป็นผู้จัดทำขึ้นเองและจดแจ้งกับ กสทช. ไม่ใช่คิดค้นมาตรฐานขึ้นมาเอง หรือตัดสินเองโดยไร้มาตรฐาน ฉะนั้นสื่อก็น่าจะวางใจได้ว่า กสทช. (หรือกระทรวงดิจิทัล ซึ่ง กสทช. จะอยู่ใต้อำนาจอีกที ย้อนเข็มการปฏิรูปสื่อถอยหลังไปสองทศวรรษ) จะไม่ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงและควบคุม

ความโปร่งใสจะดีกว่านี้อีก ถ้าหากเราเรียกร้องให้ข้อมูลทุกอย่าง ตั้งแต่ตัวมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ แนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลการพิจารณาข้อร้องเรียนทุกเรื่องต่อองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ และ กสทช. ต้องถูกเผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะ (ตัวอย่างจากเว็บหน่วยงานกำกับดูแลสื่อในออสเตรเลีย)

หน้าแรกสำหรับประชาชนคนเสพสื่อ เว็บ ACMA องค์กรกำกับดูแลสื่อของออสเตรเลีย
หน้าแรกสำหรับประชาชนคนเสพสื่อ เว็บ ACMA องค์กรกำกับดูแลสื่อของออสเตรเลีย

การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สื่อเกิดแรงจูงใจที่จะทำตัวตามจรรยาบรรณ (เพราะไม่อย่างนั้นจะถูก “ประจาน” เปรียบเทียบกับคู่แข่งในพื้นที่สาธารณะ) อีกทั้งประชาชนคนเสพสื่อเองก็จะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นด้วยว่า มาตรฐานวิชาชีพของสื่อมีอะไรบ้าง จะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา รวมทั้งจุดประกายการถกเถียงอภิปรายอย่างต่อเนื่องด้วย เช่น เส้นแบ่ง “ลามกอนาจาร” วันนี้ควรจะอยู่ตรงไหน อยู่ที่เดียวกับเมื่อสี่สิบปีที่แล้วหรือเปล่า? รูปธรรมของคำว่า “ละเมิดความเป็นส่วนตัว” มีอะไรบ้างในสังคมไทย? ฯลฯ

สื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ได้ใบอนุญาตจาก กสทช. ใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะ เป็น “สมบัติ” ร่วมกันของคนทั้งชาติ ดังนั้นก็สมควรแล้วที่จะต้องยอมรับการกำกับจากภาครัฐ

สำหรับสื่ออื่นๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ ไม่ได้ใช้ทรัพยากรสาธารณะใดๆ ก็สามารถหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกกำกับดูแลกันเอง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ถ้าอยากให้กลไกนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ทางกฎหมายด้วย ก็อาจลองเสนอโครงสร้างแนว “สภาวิชาชีพ” ที่มีกฎหมายรองรับอำนาจในการลงโทษ คล้ายกับสภาวิชาชีพบัญชี หรือวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย โดยไม่ต้องมีอำนาจบังคับให้สื่อต่างๆ เข้ามาเป็นสมาชิก แต่สร้าง “แรงจูงใจ” ให้อยากเป็นสมาชิก เช่น ด้วยการประชาสัมพันธ์ว่าจะติดตามและรายงานเกี่ยวกับจรรยาบรรณสื่ออย่างเข้มข้น ลงโทษสมาชิกที่ทำผิดมาตรฐานวิชาชีพ เสริมสร้างทักษะความรู้เท่าทันสื่อในหมู่ประชาชน ฯลฯ

แล้วอีกสองกลไกที่เกริ่นในคราวที่แล้ว คือ “โค้ด” กับ “ประชาชน” ทำอะไรได้บ้าง?

โปรดติดตามตอนต่อไป.