ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไม Google Books จึงไปไม่ถึงดวงดาว?

ทำไม Google Books จึงไปไม่ถึงดวงดาว?

29 เมษายน 2017


อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

สำหรับหนอนหนังสือแล้ว ลองคิดดูสิครับว่าจะน่าตื่นตาตื่นใจเพียงใด ถ้าเราสามารถเข้าถึงหนังสือทุกเล่มในโลกได้เพียง “คลิก” เปิด Google Books ในโลกอินเทอร์เน็ต

โครงการ Google Books ซึ่งเริ่มคิดในปี ค.ศ. 2002 เป็นความตั้งใจของ Google ที่จะสแกน “หนังสือทุกเล่ม” ในโลก แต่สุดท้ายโครงการนี้กลับไปไม่ถึงดวงดาว Google ต้องพับโครงการไปหลังจากที่สแกนหนังสือไปได้ 25 ล้านเล่ม และสุดท้ายพวกเราชาวเน็ตในวันนี้ก็ทำได้เพียง “search” คำและประโยคในหนังสือเหล่านี้ แต่ไม่สามารถเข้าไปอ่านหนังสือทั้งเล่มได้

ผมเพิ่งอ่านเรื่องราวมหากาพย์การต่อสู้คดี Google v. Authors Guild ซึ่งสนุกและให้ข้อคิดอย่างมาก ทั้ง Google และเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือต่างใช้การต่อสู้ทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำหนดอนาคตของเทคโนโลยีและตลาดหนังสือ

น่าเสียดายที่บทสรุปของการต่อสู้ทางกฎหมายที่ต่อเนื่องยาวนานนับ 10 ปี กลับเป็นว่า ในแง่หนึ่ง ผลการตัดสินของศาลทำให้ Google Books ถูกกฎหมาย แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้ Google Books ไม่สามารถก้าวถึงฝั่งฝันที่สมบูรณ์

Google Books ละเมิดลิขสิทธิ์?

Google Books เป็นโครงการแรกสุดในชุดโครงการ Moonshot ซึ่งเป็นการวาดฝันถึงโลกอนาคต โดย Google วาดฝันว่าในเวลาอีกไม่นาน หนังสือทั้งหมดในโลกจะเก็บอยู่ในรูปดิจิทัล

Google เริ่มต้นสแกนหนังสือเพื่อเก็บในรูปดิจิทัลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 โดยทำความร่วมมือกับห้องสมุดมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีสแกนและกระบวนการสแกนที่รวดเร็ว ทำให้สามารถสแกนหนังสือ (ซึ่งยืมมาจากห้องสมุด) ด้วยความเร็ว 1,000 หน้าต่อชั่วโมง จนถึงวันนี้ โครงการนี้ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 เมื่อทราบว่า Google กำลังยืมหนังสือจากห้องสมุดมาสแกนทีละเล่ม กลุ่ม Authors Guild ซึ่งเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิของนักเขียน ได้ยื่นฟ้อง Google ต่อศาลในสหรัฐฯ โดยใช้วิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) กล่าวคือ เจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือที่ Google สแกนทั้งหมดถือเป็นสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์ร่วมกันในคดีนี้

Google ต่อสู้ว่า การสแกนหนังสือของตนเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) เพราะ Google จะแสดงเฉพาะผลการค้นหาคำและประโยคในหนังสือ โดยผู้ใช้บริการจะเห็นเฉพาะส่วนที่คัดย่อย (snippets) ที่ตัดบางตอนมาจากหนังสือเท่านั้น เช่น ประโยคไม่กี่ประโยคในหนังสือที่เกี่ยวข้องกับคำหรือประโยคที่ค้นหา แต่ผู้ใช้บริการไม่สามารถเข้าไปอ่านหนังสือทั้งเล่มได้

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในคดีนี้ไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่คือการเจรจาระหว่างคู่ความ ซึ่งเปิดช่องความเป็นไปได้ที่จะทำให้ Google Books กลายเป็นขุมทรัพย์วิทยาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ โดยที่ผู้ใช้บริการสามารถอ่านหนังสือทั้งเล่มและทุกเล่มใน Google Books ได้ โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้ในที่สุดแล้ว ศาลสหรัฐฯ จะไม่เห็นชอบกับข้อตกลงระหว่างคู่ความ แต่นี่คือเรื่องราวตัวอย่างข้อตกลงที่ฉลาดและสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็มีมิติด้านนโยบายสาธารณะที่น่าถกเถียงหลายอย่าง

เมื่อการดำเนินคดีเริ่มไปได้ไม่นาน ทั้ง Google และกลุ่มตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เริ่มตระหนักว่า หากทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้อย่าง win-win อาจได้ประโยชน์และสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ยิ่งกว่าการที่ฝ่ายตนชนะในคดีนี้เสียอีก

เพราะเมื่อมองจากมุมของทั้งคู่แล้ว จะเห็นว่ามีหนังสือเก่าหลายล้านเล่มที่เป็น “โอกาส” ทางธุรกิจ ถ้า Google สามารถสร้างตลาดและคืนชีวิตใหม่ให้กับหนังสือเก่าที่เลิกพิมพ์และจำหน่ายไปนานแล้ว Google ก็มีโอกาสจะทำกำไรได้อย่างงาม (ซึ่งดีกว่าการที่ Google ชนะคดี แต่สามารถโชว์ได้เพียงบางส่วนบางตอนของหนังสือ ไม่สามารถขายหรือเปิดให้คนอ่านหนังสือทั้งเล่มได้) ส่วนกลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์เองก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากยอดขายหนังสือเก่าของ Google (ซึ่งดีกว่าการที่เจ้าของลิขสิทธิ์ชนะคดี แต่ได้เพียงแค่ค่าชดเชยตามกฎหมายราว 750 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนังสือหนึ่งเล่มที่ Google สแกน)

ข้อตกลงที่เกือบสร้างประวัติศาสตร์

ที่ผ่านมา ยังไม่มีบริษัทใดเปิดตลาดหนังสือเก่าในโลกดิจิทัลได้สำเร็จ เพราะมีความไม่แน่นอนว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือเก่าแต่ละเล่ม ตัวอย่างเช่น สัญญาหนังสือในสหรัฐฯ อาจกำหนดให้ลิขสิทธิ์โอนจากสำนักพิมพ์กลับไปที่ผู้เขียนภายหลังจากที่หนังสือขาดตลาด แต่สัญญาอาจกำหนดว่าผู้เขียนจะต้องส่งจดหมายถึงสำนักพิมพ์เพื่อแจ้งความจำนงขอคืนลิขสิทธิ์จึงจะมีผลทางกฎหมาย ดังนั้น การสืบค้นว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือแต่ละเล่ม (สำนักพิมพ์หรือนักเขียน?) จึงยุ่งยากมาก เพราะต้องสืบค้นสัญญาและจดหมายเหล่านี้ ซึ่งสำหรับหนังสือเก่ามากๆ แล้ว ไม่แน่ว่าจะหาเอกสารเหล่านี้พบ นอกจากนั้น ยังต้องสืบค้นต่ออีกว่าสำนักพิมพ์หรือนักเขียนซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยังอยู่หรือไม่ และมีการถ่ายโอนลิขสิทธิ์ต่อไปอย่างไร

ในสหรัฐฯ มีการประเมินว่า ครึ่งหนึ่งของหนังสือที่พิมพ์ในช่วงปี ค.ศ. 1923-1963 ไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์และเข้าข่ายเป็นสมบัติสาธารณะ (public domain) เพียงแต่ไม่มีใครแน่ใจว่าหนังสือเล่มใดบ้างที่ยังมีเจ้าของลิขสิทธิ์ เล่มใดบ้างกลายเป็นสมบัติของสาธารณะไปแล้ว ความยากลำบากในการสืบหาเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นอุปสรรคสำคัญในเอาหนังสือเก่ามาพิมพ์ใหม่ เช่นเดียวกับการสแกนหนังสือเก่าทั้งเล่มเพื่อขายหรือเผยแพร่ในโลกออนไลน์โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

คดีนี้จึงเปิดโอกาสทางกฎหมายที่หาไม่ได้อีกแล้ว เพราะถ้าในคดีนี้ Google และตัวแทนกลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถตกลงกันได้ ก็จะแก้ไขปัญหาลิขสิทธิ์ของหนังสือเก่าทั้งหมดชนิด “ครั้งเดียวจบ” เพราะคดีนี้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ดังนั้น ตามกฎหมายสหรัฐฯ ข้อตกลงประนีประนอมยอมความย่อมมีผลผูกพันสมาชิกกลุ่มทุกคน ซึ่งได้แก่ เจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือที่ Google สแกนทั้งหมด

ดังนั้น เทคนิคทางกฎหมายชั้นเซียนของ Google ก็คือ ต้องร่างข้อตกลงประนีประนอมยอมความ โดยกำหนดให้สมาชิกกลุ่มทุกคนยินยอมที่จะให้ Google พ้นภาระทุกชนิดทั้งในปัจจุบันและอนาคต แลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนที่ Google ตกลงแบ่งให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์

ทั้งสองฝ่ายใช้เวลาเจรจา 2 ปีครึ่ง จนเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008 จึงเกิดร่างข้อตกลงความยาว 170 หน้า ชนิด win-win ทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากทั้งคู่ตกลงตามนี้ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ Google Books ซึ่งได้สแกนหนังสือไปแล้ว 25 ล้านเล่ม กลายเป็นห้องสมุดดิจิทัลและร้านหนังสือดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกในทันที เนื้อหาสำคัญของร่างข้อตกลง ก็คือ

    1. Google สามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากหนังสือเก่าที่สแกนไป ได้แก่ 1) ขายหนังสือเก่าฉบับดิจิทัลเป็นรายเล่ม และ 2) ทำฐานข้อมูลหนังสือเก่าขายให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยหรือผู้สนใจ เพื่อเข้าอ่านหนังสือเก่าได้ทั้งหมด

    2. 63% ของรายได้ของ Google Books จะเข้ากองทุน Book Rights Registry ซึ่งจะมีผู้จัดการทำหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ออกมาแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือแต่ละเล่ม

    3. เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิที่จะไม่อนุญาตให้ Google สแกนหนังสือของตน หรือขอให้ Google เลิกใช้ประโยชน์จากหนังสือของตนเมื่อใดก็ได้

    4. เพื่อประโยชน์สาธารณะ Google จะจัดให้มีฐานข้อมูลนี้บริการฟรีในห้องสมุดสาธารณะทั่วประเทศในสหรัฐอเมริกา

    จะเห็นได้ว่า ตามข้อตกลงนี้ ดูเหมือนทุกฝ่าย win-win นั่นก็คือ Google ทำการค้าได้จากหนังสือที่ตนสแกนไป เจ้าของลิขสิทธิ์เองก็ได้ส่วนแบ่งรายได้จากหนังสือเก่าที่เลิกพิมพ์ไปนานแล้ว นอกจากนั้น ยังมีการสร้างฐานข้อมูลซึ่งจะกลายเป็นห้องสมุดดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจะมีหนังสือเก่าทั้งหมดในโลกให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ฟรีตามห้องสมุดสาธารณะทั่วประเทศอีกด้วย

เสียงค้านรอบด้าน

แต่ตามกฎหมายสหรัฐฯ ก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลทางกฎหมาย ผู้พิพากษาจะต้องอนุมัติข้อตกลงนี้ โดยพิจารณาว่าข้อตกลงประนีประนอมเป็นประโยชน์กับสมาชิกกลุ่มทั้งหมดจริง

สิ่งที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดก็คือ เมื่อผู้พิพากษาในคดีนี้ประกาศร่างข้อตกลงนี้สู่สาธารณะและเปิดรับฟังความคิดเห็น กลับได้รับเสียงคัดค้านอย่างมาก เหตุผลหลักของกลุ่มผู้คัดค้านก็คือ หากข้อตกลงนี้ผ่านการรับรองจากศาล Google จะกลายเป็นผู้ผูกขาดในตลาดหนังสือเก่าแต่เพียงผู้เดียว

  • เจ้าของลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่งคัดค้าน เพราะต้องการให้ Google เผยแพร่หนังสือเก่าของตนในโลกออนไลน์ฟรี ไม่ใช่เอาหนังสือเก่าของตนมาหาประโยชน์ทางการค้า โดยเก็บเงินค่าสมัครสมาชิกฐานข้อมูลหนังสือเก่ากับห้องสมุด
  • ห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งคัดค้าน เพราะกลัวว่าต่อไป Google อาจขึ้นราคาค่าสมัครสมาชิกฐานข้อมูลเท่าไรก็ได้ตามใจชอบ เพราะไม่มีคู่แข่งในตลาด
  • Microsoft คัดค้าน เพราะเห็นว่า Google จะกลายเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด search engine อย่างไม่มีคู่แข่ง เพราะ Google สามารถเชื่อม Google Books เข้ากับบริการ search engine ของตนได้ ซึ่งจะทำให้ Google ได้เปรียบคู่แข่งอย่างไม่ยุติธรรม
  • Amazon คัดค้าน เพราะเห็นว่า Google จะสามารถทำกิจการร้านหนังสือเก่าออนไลน์ที่คู่แข่งไม่มีทางทำได้ เพราะ Google เป็นเพียงผู้เดียวที่จะได้สิทธิชนิด “ครั้งเดียวจบ” จากข้อตกลงนี้ ขณะที่บริษัทอื่นที่ต้องการขายหนังสือเก่า กลับจะต้องสืบค้นและเจรจาลิขสิทธิ์หนังสือทีละเล่ม
  • หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรมคัดค้าน โดยเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้ Google ผูกขาดในตลาดหนังสือเก่าแต่เพียงผู้เดียว
  • บทสรุป: ‘ชนะ’ แต่ ‘แพ้’

    ข้อชวนคิดในทางนโยบายสาธารณะก็คือ เราควรชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของข้อตกลงนี้อย่างไร? ถ้าข้อตกลงนี้ได้รับการอนุมัติจากศาล เราจะได้ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (หนังสือเก่าทั้งหมดในโลก) นักเขียนที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะได้ค่าตอบแทนจากหนังสือเก่า และหนังสือเก่าของตนก็จะยังมีผู้อ่านหรือยังสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่สิ่งที่ต้องแลกก็คือ เราจะยอมให้ Google เป็นผู้หาประโยชน์ทางธุรกิจจากฐานข้อมูลดิจิทัลอันมหึมานี้แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่? สุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์? Google จะมีความได้เปรียบทางธุรกิจแบบไม่มีคู่แข่ง?

    ในที่สุด ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในคดีนี้ ได้ตัดสินว่าข้อตกลงประนีประนอมระหว่าง Google กับตัวแทนกลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ยุติธรรมและไม่สมเหตุสมผล โดยข้อกังวลที่สำคัญคือเรื่องการผูกขาดธุรกิจหนังสือเก่าของ Google การตีตกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการปิดฉากความฝันของการสร้าง Google Books ให้เป็นคลังห้องสมุดหนังสือดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

    ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ Google ชนะคดี และต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 ศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินยืนให้ Google ชนะคดี โดยมองว่า Google Books เป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) ตราบเท่าที่ Google แสดงเฉพาะผลการค้นหาคำและประโยคในหนังสือ โดยผู้ใช้บริการจะเห็นเพียงส่วนที่คัดย่อย (snippets) ที่ตัดบางตอนมาจากหนังสือเท่านั้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2016 ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะรับคดีเข้าสู่การพิจารณา ทำให้คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ให้ Google ชนะเป็นที่สิ้นสุด

    แต่ในความเป็นจริงแล้ว Google ได้ “แพ้” ตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นไม่อนุมัติข้อตกลงประนีประนอม เพราะนั่นเป็นการปิดฉากความเป็นไปได้ที่โครงการจะก้าวถึงดวงดาวได้อย่างสมบูรณ์

    ในวันนี้ Google Books ก็ยังให้เรา search หาคำและประโยคในหนังสือ 25 ล้านเล่มที่ Google ได้สแกนไปแล้ว แต่จะโชว์เพียงส่วนที่คัดย่อย (snippets) ให้เราเห็นประโยคและข้อความแวดล้อมบางตอนสั้นๆ เท่านั้น ส่วนภายในทีม Google เอง ก็ปิดตัวมหกรรมการสแกนหนังสือของตนลง

    เป็น ‘ชนะ’ ที่ ‘แพ้’ ของทุกคนด้วย ในเมื่อเรามีหนังสือเป็นล้านๆ เล่มอยู่ในรูปดิจิทัล ตามที่ Google ฝัน เพียงแต่ไม่มีใครเข้าไปอ่านได้ เท่านั้นเอง