ปรีดี บุญซื่อ
ทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอก คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็รู้สึกเองได้ว่า เรากำลังอยู่ในสมัยที่ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่ประเทศตัวเองกำลังประสบอยู่ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก หรือบางปัญหาอาจจะแก้ไม่ได้เลย ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีให้เห็นอยู่ทั่วไปและอาจจะเลวร้ายยิ่งขึ้น ปัญหาความรุนแรงในรูปการก่อการร้ายนับวันจะอันตรายมากขึ้นและเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องลำบากมากขึ้นที่ประเทศต่างๆ จะดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในแต่ละวันทำให้คนทุกวันนี้เต็มไปด้วยความวิตกกังวลต่ออนาคต นอกจากนี้ คนทั่วโลกยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตกค้างจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติ พวกนักวิเคราะห์บอกว่า โลกเรากำลังเข้าสู่ยุคทองของความก้าวหน้า เพราะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ คนมีการศึกษาสูงขึ้น และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็รุ่งเรืองสุดขีด เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเติบโตระดับ 7% ต่อปี คนชั้นกลางทั่วโลกมีถึง 1.8 พันล้านคน ภายในระยะ 10 ปี คนจนจำนวน 440 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำบางคนบอกว่า เรากำลังเข้าสู่ “ยุคความเหมือนกัน”(convergence) ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังไต่บันไดเศรษฐกิจเพื่อมาร่วมเป็นสมาชิก “สโมสรประเทศมั่งคั่งตะวันตก”
ในเดือนกันยายน 2008 บริษัทยักษ์ใหญ่การเงิน Lehman Brothers ล้มละลาย ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกทรุดฮวบลงทันที กำลังซื้อในประเทศตะวันตกหดหายไป ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบต่างๆ หายไปด้วย ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีราคาตกฮวบลง รัสเซียที่เศรษฐกิจอาศัยการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาตลอด ในระยะ 9 ปีหลังจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 เศรษฐกิจภูมิภาคสำคัญๆ ของโลกยังไม่สามารถกลับมาเติบโตที่ระดับก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติ
ส่วนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเราในทุกวันนี้ก็มืดมน เหตุการณ์ Arab Spring ในปี 2011 พัฒนาไปสู่การถดถอยทางประชาธิปไตย เมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจในอียิปต์ สงครามกลางเมืองเกิดปะทุขึ้นในลิเบีย เยเมน และซีเรีย ปี 2014 จีนส่งทหารและสร้างที่ตั้งทางทหารตามหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ รัสเซียส่งหน่วยคอมมานโดเข้าไปร่วมทำสงครามกลางเมืองทางตะวันออกของยูเครน และผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และขบวนการมุสลิมหัวรุนแรงชื่อว่า ISIS เติบโตจนยึดครองดินแดน 1 ใน 3 ของอิรัก รวมทั้งโมซูล เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรัก
แต่ท่ามกลางวิกฤติที่มืดมนทางการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าว คนที่ไม่สิ้นหวังคือ Jonathan Tepperman บรรณาธิการของ Foreign Affairs วารสารทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่เขียนหนังสือออกมาชื่อ The Fix: How Nations Survive and Thrive in a World in Decline (2016) โดย Tepperman เขียนถึงการดำเนินนโยบายของบางประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในแก้ปัญหาที่ท้าทายมากสุดและยากลำบากที่สุดของยุคปัจจุบัน Tepperman ยังเชื่อว่า แบบอย่างการแก้ปัญหาเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ หากผู้นำการเมืองมีความกล้าหาญพอ
Tepperman บอกว่า สถานการณ์ยากลำบากที่ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่มาจากความล้มเหลวของผู้นำการเมืองในการแก้ปัญหาใหญ่ 10 เรื่องด้วยกัน คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาผู้อพยพ ความรุนแรงจากพวกมุสลิมหัวรุนแรง สงครามกลางเมือง ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาคำสาปจากน้ำมัน ปัญหาการผลิตพลังงาน กับดักประเทศรายได้ปานกลาง และการชะงักงันของการเมืองเพราะสังคมแบ่งขั้ว
แต่ละปัญหาดังกล่าว มีแบบอย่างของประเทศที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ Tepperman หยิบยกตัวอย่างเช่น โครงการ Bolsa Familia ของบราซิลที่แก้ปัญหาความยากจน นโยบายอ้าแขนรับผู้อพยพของแคนาดา การใช้วิธีการบังคับใช้กฎหมายกับการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย หรือความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการผลิตพลังงานจากหินน้ำมัน หรือ Oil Shale เป็นต้น เนื่องจากผู้เขียนบทความนี้เคยเขียนถึงโครงการ Bolsa Familia และความสำเร็จของเกาหลีใต้ ที่พัฒนาหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางมาแล้ว บทความนี้จะพูดถึงแบบอย่างการแก้ปัญหาในกรณีอื่นๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือ The Fix
แคนาดากับการต้อนรับผู้อพยพ
ในปี 2015 คลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาลที่หนีความปั่นป่วนและความยากจนจากตะวันออกกลางและแอฟริกา เดินทางมุ่งหน้าไปยังยุโรป ผู้อพยพมากกว่า 1 ล้านคนเดินทางเข้าไปยังเยอรมนี ปัญหานี้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในกลุ่ม EU ที่สำคัญก็คือ ปัญหาคลื่นผู้อพยพพวกนี้ทำให้ประเทศตะวันตกพลอยปฏิเสธการอพยพแบบปกติทั่วไป ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากสงคราม แต่ผู้อพยพต้องการสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม การดำเนินนโยบายแบบเหวี่ยงแหของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ห้ามคนจากประเทศมุสลิม 6 ประเทศเข้าสหรัฐฯ ชั่วคราว ก็สะท้อนท่าทีของประเทศพัฒนาแล้วต่อปัญหาผู้อพยพ
แต่ขณะที่นักการเมืองสหรัฐฯ และยุโรปกำลังถกเถียงกันว่าจะรับผู้อพยพหนีภัยสงครามจากซีเรียหรือไม่ วันที่ 10 ธันวาคม 2015 นายกรัฐมนตรีแคนาดาคนใหม่ชื่อ จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) เดินทางไปสนามบินและยื่นเสื้อกันหนาวให้กับผู้อพยพจากซีเรียคนแรกที่มาถึงแคนาดาพร้อมกับพูดว่า “คุณมาถึงบ้าน ก็ปลอดภัยแล้ว” ท่าทีที่อ้าแขนรับผู้อพยพทำให้แคนาดาเป็นประเทศที่มีคนต่างด้าวต่อหัวสูงสุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว คือ 20% ของประชากรทั้งหมด
นโยบายอ้าแขนรับผู้อพยพทำให้แคนาดาเปลี่ยนจากประเทศที่เดิมประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายเดียวกันกลายมาเป็นประเทศที่มีพลังเศรษฐกิจที่คึกคักมากสุดและประสบความสำเร็จมากสุด ในฐานะประเทศเปิดกว้างที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ มีการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของผู้อพยพ เช่น การเรียนภาษา และการกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้คนแคนาดา 85% เห็นว่า ความหลากหลายทางเชื้อชาติคือเอกลักษณ์ของแคนาดา
อินโดนีเซียกับการขจัดการก่อการร้าย
ในเดือนมิถุนายน 2014 เมืองโมซูลของอิรักตกอยู่ภายใต้การยึดครองของขบวนการรัฐอิสลาม หรือ ISIS เหตุการณ์นี้ถือกันว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของขบวนการมุสลิมหัวรุนแรง หากนับจากเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา ชัยชนะของพวก ISIS ครั้งนี้ทำให้คนมุสลิมหนุ่มสาวจากประเทศมุสลิมทั่วโลก รวมทั้งจากประเทศตะวันตกเอง พากันหลั่งไหลเข้ามายังซีเรียเพื่อร่วมกับพวก ISIS นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จนถึงธันวาคม 2015 มีคนมุสลิม 30,000 คนจาก 86 ประเทศเข้าร่วมต่อสู้กับพวก ISIS
ขบวนการ ISIS กลายเป็นสิ่งมีพลังมากในการดึงดูดพวกที่ต้องการเป็นนักรบศักดิ์สิทธิ์ ความป่าเถื่อนของพวก ISIS อาจเป็นข่าวที่สร้างความสนใจทั่วโลก แต่ในเดือนตุลาคม 2015 เครื่องบินเช่าเหมาลำของรัสเซียตกในทะเลทรายไซนาย ผู้โดยสาร 224 คนเสียชีวิต เพราะการวางระเบิดของพวกนิยม ISIS การโจมตีของพวก ISIS ในเดือนพฤศจิกายน 2015 ทำให้คนปารีสเสียชีวิต 130 คน และคนเบลเยียมเสียชีวิต 35 คน เมื่อเดือนมีนาคม 2016 พวก ISIS ยังอ้างว่าตัวเองมีสาขาระบบแฟรนไชส์เพื่อขายบริการของ ISIS ในอีกหลายประเทศ
หนังสือ The Fix ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากในเรื่องการสร้างความสงบปลอดภัยของอินโดนีเซีย ในปี 1998 เมื่อคนอินโดนีเซียลุกขึ้นมาขับไล่การปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ทำให้นักวิเคราะห์คาดหมายอนาคตการเมืองของอินโดนีเซียไปต่างๆ นานา เช่น แตกแยกเป็นหลายประเทศ หรือกลายเป็นประเทศอิสลามแบบอิหร่านในเอเชีย แต่อินโดนีเซียที่มีประชากรมากสุดอันดับ 4 ของโลก และ 90% ของประชากร 250 ล้านคน เป็นคนมุสลิม กลับกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด
นอกจากนี้ การก่อการร้ายในอินโดนีเซียก็ลดลงอย่างมาก โดยที่ประเทศนี้ยังสามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะอินโดนีเซียใช้นโยบายให้ปฏิบัติต่อการก่อการร้ายว่าเป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่การทำสงคราม พยายามดึงพรรคการเมืองที่มีแนวคิดรุนแรงมากกว่าที่จะมุ่งทำลายล้าง จับกุมผู้สงสัยเฉพาะกรณีมีหลักฐานเพียงพอ ใช้วิธีพิจารณาคดีทางศาลอย่างเปิดเผยกับคนที่ทำผิด วิธีการนี้ทำให้หลักนิติธรรมเข้มแข็งมากขึ้น และคนในสังคมมีความเชื่อมั่นต่อรัฐ Tepperman กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว ทำให้อินโดนีเซียก้าวมาไกลจนแทบจะสามารถกำจัดความรุนแรงทางศาสนาให้หมดไปแล้ว
สิงคโปร์กับการพิชิตคอร์รัปชัน
คนในประเทศตะวันตกมักมองว่า คอร์รัปชันระดับใหญ่ๆ เป็นโรคร้ายเฉพาะตัวของประเทศยากจน นาย Ben Ali เผด็จการของตูนิเซีย ที่ถูกประชาชนขับไล่ จนเป็นชนวนทำให้เกิดเหตุการณ์ Arab Spring ขโมยทรัพย์สินของประเทศไป 2.6 พันล้านดอลลาร์ แต่นาย Ehud Olmert อดีตนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ประเทศที่รายได้ประชากร 35,700 ดอลลาร์ต่อคน เพิ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 8 เดือนในข้อหารับสินบน คอร์รัปชันจึงเป็นตัวทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อผู้นำและต่อระบอบการปกครอง ทั้งยังเหมือนกับสารเคมีที่เป็นพิษ ไปสัมผัสกับอะไรสิ่งนั้นก็ติดพิษร้ายไปด้วย คอร์รัปชันทำให้ชีวิตประชาชนยากลำบากหลายอย่าง เช่น ถนนเสียหายเร็วขึ้น หรือสะพานถล่ม ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดอายุการใช้งาน
The Fix กล่าวว่า สิงคโปร์ก้าวมาไกลกว่าประเทศอื่นโดยแทบจะสามารถขจัดปัญหาคอร์รัปชันหมดสิ้นไปได้ ความสำเร็จของสิงคโปร์ในเรื่องนี้เป็นสิ่งโดดเด่นที่ประเทศต่างๆ สามารถนำเอาแบบอย่างไปใช้ได้ เพราะสิงคโปร์ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นประเทศที่รัฐบาลสะอาดบริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น เมื่อสิงคโปร์ได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1959 ประเทศนี้มีชื่อเสียงมากด้านคอร์รัปชัน ในเวลานั้น เมื่อประชาชนเรียกรถพยาบาลจะต้องจ่ายสินบนก่อนที่จะถูกพาไปโรงพยาบาล
เมื่อลี กวนยู ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก จึงใช้นโยบายหาเสียงเรื่องการขจัดคอร์รัปชัน ในที่สุดพรรค People Action Party (PAP) ของเขาก็ชนะการเลือกตั้งในปี 1959 ในเวลานั้น รายได้ต่อหัวคนสิงคโปร์อยู่ที่ 443 ดอลลาร์ การว่างงานสูง ลี กวนยู บอกว่า สิ่งที่รัฐบาลจะให้ประชาชนได้ก็มีแต่เพียงธรรมาภิบาล เพราะสิงคโปร์ต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติมาพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งที่สิงคโปร์จะมีความได้เปรียบเหนือประเทศเพื่อนบ้านก็มีเพียงการสร้างหลักนิติธรรมและกฎเกณฑ์ของรัฐแบบประเทศโลกที่ 1 ให้เกิดขึ้นในสิงคโปร์เท่านั้น
ลี กวนยู เริ่มต้นด้วยการเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานที่อังกฤษทิ้งไว้ชื่อ Corrupt Practice Investigation Bureau (CPIB) ในปี 1960 สิงคโปร์ผ่านกฎหมาย Prevention of Corruption Act โดยตีความคำว่าคอร์รัปชันให้กว้างที่สุด ว่าหมายถึงการให้สิ่งของมีค่าเพื่อแลกประโยชน์จากรัฐบาล หลักฐานแสดงว่าเกิดการคอร์รัปชันก็เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้ชีวิตเกินฐานะตัวเอง กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายพิสูจน์ตัวเอง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สืบสวนเป็นคนไปหาหลักฐานเพื่อมาฟ้อง กฎหมายให้อำนาจ CPIB ที่จะสืบสวน ขอเข้าค้น และจับกุมได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น
ความสำเร็จของลีกวนยู ในการสร้างมาตรฐานการมีรัฐบาลที่สะอาดแบบประเทศ “โลกที่ 1” ให้เกิดขึ้นในสิงคโปร์ สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างมากแก่ประเทศนี้ ธนาคารโลกบอกว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่สะดวกที่สุดในโลกในการทำธุรกิจ สิงคโปร์มีพลเมืองแค่ 5.5 ล้านคน แต่มีขนาดเศรษฐกิจมูลค่าถึง 300 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ที่มีพลเมือง 90 ล้านคน สิงคโปร์สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาในระยะเวลา 50 ปี
ทำไมการผลิต Oil Shale เกิดเฉพาะในสหรัฐฯ
ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะด้านพลังงาน ทำให้ประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศประสบปัญหาที่เรียกว่า “คำสาปน้ำมัน” ความมั่งคั่งจากทรัพยากรทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับผู้นำการเมือง และสังคมก็ไม่มีการพัฒนาที่ก้าวหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสิทธิของพลเมือง แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศที่มีการค้นพบทรัพยากรพลังงานใหม่ แต่มีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง อย่างเช่น การค้นพบหินน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Oil Shale
หินน้ำมันเป็นแร่เชื้อเพลิงที่อยู่ในหินดินดาน มีสารอินทรีย์เรียกว่า เคโรเจน (Kerogen) ปะปนอยู่ในเนื้อหิน เมื่อเผาที่อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส จะได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติออกมา หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 เป็นต้นมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยปีละ 2% ส่วนหนึ่งมาจากการผลิต Oil Shale แต่สหรัฐฯ มีหินน้ำมันสำรองเพียง 15% ของโลก ที่เหลือกระจายอยู่ในอาร์เจนตินา จีน ฝรั่งเศส และโปแลนด์ เป็นต้น ในอนาคตอันใกล้นี้ยังไม่มีแนวโน้มที่ประเทศเหล่านี้จะผลิตพลังงานจากการสกัดหินน้ำมัน
หนังสือ The Fix กล่าวว่า การผลิตพลังงานจากหินน้ำมัน ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องราวความสำเร็จของอเมริกา แต่ยังเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นเฉพาะในอเมริกาอีกด้วย ทั้งนี้เพราะปัจจัยเอื้ออำนวยจากโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบกฎหมายของสหรัฐฯ การผลิตพลังงานจากหินน้ำมันมีความได้เปรียบมากกว่าการขุดน้ำมันจากทะเล เพราะมีต้นทุนถูกกว่า ดำเนินการได้รวดเร็ว และการผลิตก็ง่ายกว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบของหินน้ำมันอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 57 ดอลลาร์ และในอนาคตจะเหลือ 40 ดอลลาร์ ส่วนกฎหมายสหรัฐฯ ก็เอื้อประโยชน์ คนที่เป็นเจ้าของที่ดินจะรวมถึงกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรต่างๆ ที่อยู่ใต้ดินด้วย และตลาดทุนสหรัฐฯ ก็ใหญ่และมีพลวัต พร้อมสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการต่างๆ
ตัวอย่างความสำเร็จของแคนาดา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐฯ ในการแก้ปัญหาที่ยากลำบาก เช่น ปัญหาผู้อพยพ การก่อการร้าย คอร์รัปชัน และการผลิตพลังงาน แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จในการเอาชนะปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องไม่ยากอย่างที่คิด ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ แต่เป็นความสำเร็จที่อาศัยเพียงแค่ผู้นำการเมืองมีความกล้าที่จะนำแบบอย่างความคิดที่ดีๆ ของประเทศอื่นมาใช้ และมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ความคิดนั้นบรรลุผล