ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลเปิดโมเดลการฝากขังและปล่อยชั่วคราวใหม่ นำร่อง 5 จังหวัด ชี้ต้องรื้อระบบเงินซื้ออิสรภาพได้ “คุกมีไว้ขังคนจน”

ศาลเปิดโมเดลการฝากขังและปล่อยชั่วคราวใหม่ นำร่อง 5 จังหวัด ชี้ต้องรื้อระบบเงินซื้ออิสรภาพได้ “คุกมีไว้ขังคนจน”

24 กุมภาพันธ์ 2017


รายงานโดย ศาสตรกวิน ลภัสรดาเศรษฐ์ นักศึกษาฝึกงาน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงานศาลยุติธรรมโดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ได้จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “สู่ยุคใหม่ของการฝากขังและปล่อยชั่วคราว: เปลี่ยนแนวคิด พลิกระบบด้วยวิสัยทัศน์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ชั้น 7 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม การจัดการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบประเมินการปล่อยตัวชั่วคราวและการฝากขังในชั้นศาลให้มีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยแท้จริง ทั้งยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“คุกมีไว้ขังคนจน” ยังเป็นจริงในสังคมไทย

นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 1
นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 1

นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 1 กล่าวในหัวข้อ “สภาพปัญหาในปัจจุบันของการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในประเทศไทย” ว่าในปัจจุบัน การพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัวนั้น ศาลต้องใช้ดุลยพินิจตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายพิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 มาตรา 108 และมาตรา 108/1 แต่ในทางปฏิบัติ ศาลมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยจำกัด และไม่มีเครื่องมือเรื่องการโอนและกำกับดูแลผู้ต้องขังหรือจำหลังปล่อยชั่วคราว ศาลจึงต้องเรียกประกันหรือหลักประกันเป็นเงินหรือทรัพย์สิน โดยอ้างอิงอัตราวงเงินประกันตามบัญชีเกณฑ์มาตรฐานกลาง ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีฐานะกับผู้ยากจน

“การเรียกหลักประกันเป็นเงินหรือทรัพย์สินนั้น อาจไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการหลบหนี การกระทำผิดซ้ำ หรือก่ออันตรายประการอื่น จึงไม่อาจป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่สังคมได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาเรื่องของหลักประกันให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ตำแหน่งหน้าที่ กองทุนยุติธรรม กรมธรรม์ต่างๆ แต่ก็ยังอยู่ในความหมายของเงิน ทำอย่างไรเราถึงจะหนีไปจากประโยคที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน”

นายบุญรอดกล่าวว่าการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเป็นเงินหรือทรัพย์สินจึงส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ประกันตัว สถานะทางกฎหมายอาจต่างจากโทษจำคุกที่ศาลตัดสิน แต่ในความเป็นจริง ผลกระทบที่เกิดกับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไม่ได้ต่างกัน เพราะต้องอยู่ในสถานที่ที่ใกล้เคียงกัน ถึงแม้อาจจะมีการแบ่งเขตของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับนักโทษเด็ดขาดออกจากกัน แต่ก็เป็นผู้ที่ถูกจำกัดอิสรภาพเหมือนกัน และอาจเลวร้ายกว่าการถูกจำคุกเสียอีก เพราะไม่รู้กำหนดเวลาว่าต้องถูกขังไปอีกนานเท่าไรกว่าการพิจารณาคดีจะสิ้นสุด

“ตอนที่คดีมาถึงผม สืบพยานโจทก์กันมาแล้ว พอย้อนดูเนี่ย โอ้โห ไม่รู้อยู่ในคุกมาก่อนหน้านี้เท่าไหร่ และจะอยู่ต่อไปอีกเท่าไหร่ ในกรณีที่ศาลพิพากษาแล้วเขารู้ว่าจำคุกเขาเท่าไหร่ เริ่มนับเมื่อไหร่ จะจบเมื่อไหร่ ไม่มีเกินไปกว่านั้นหรอก อาจมีแถมได้ออกเร็วกว่านั้น แต่ถูกจำคุกระหว่างพิจารณานี่ไม่รู้อนาคตเลย ไม่มีใครบอกได้เลยว่าจะติดนานเท่าไหร่ ผลกระทบมีมากมาย ในแง่ของรัฐ การที่ต้องมาดูแล ด้วยความที่มันไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลา การตั้งงบประมาณในการดูแล ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องที่ จะต้องกำหนดงบประมาณไว้ขนาดไหน เพราะต้องดูแลอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ทุกอย่าง สถานที่ด้วย นี่คือผลกระทบ แล้วในส่วนตัวเขาและครอบครัวเขาละ” นายบุญรอดกล่าว

นายบุญรอดเผยว่า “ข้อมูลสถิติในปี 2557 มีคดีอาญาทั้งหมดของศาลชั้นต้น 628,454 คดี จำนวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว 221,695 คดี คิดเป็น 35.28% ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 206,211 คดี คิดเป็น 93.02% จำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีหลังปล่อยชั่วคราว 4,619 คดี คิดเป็น 2.08% จากข้อมูลจะเห็นว่า ศาลยังยืนยันหลักการในเรื่องการให้ประกัน ในส่วนที่ไม่อนุญาตถือเป็นข้อยกเว้น”

ดังนั้น จากข้อมูลข้างต้นมีคำร้องขอปล่อยชั่วคราวประมาณ 35% หมายความว่าอีกกว่า 60% ที่ไม่ได้ยื่นคำร้องเพราะอยากถูกควบคุมหรืออย่างไร เนื่องจากมีคดีบางประเภทที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่รู้สึกว่าจะต้องขอประกันตัว เพราะต้องการที่จะยอมรับผิดอยู่แล้ว คดีเล็กๆ น้อยๆ ศาลตัดสินลงโทษก็จบ อาจเพราะไม่ได้คิดว่าจะต้องมาเสียเวลากับเรื่องที่จะต้องถูกขังระหว่างพิจารณา ข้อมูลในส่วนนี้ไม่ได้ถูกแยกไว้

“ผมสั่งประกันครั้งแรกในชีวิต ผมเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ผมพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง ความหนักเบาของข้อหาเหรอ คดีเช็คน่ะ ท่านว่าหนักไหมคดีเช็คท่านจะลงโทษสักเท่าไหร่ล่ะ ด้านความเชื่อถือ นายประกันเขาก็ยื่นหลักทรัพย์ ฐานะของเขา เขาทำงานเอกชนอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการบริษัท ซึ่งพอจะมีชื่อมีเสียงอยู่ในเชียงใหม่ ผมไม่ให้เขาเหรอ แค่นี้ผมพอแล้วที่ผมจะประเมินได้ ผมก็อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหา ผลคือหนีครับ ผมบอกกับท่านเลยว่าผมไม่เคยลืมความรู้สึกนั้น ผมเสียความรู้สึกจริงๆ ผมมานั่งทบทวนอยู่กับตัวเอง ว่าเราพลาดอะไร ก็ดูดีแล้ว มันมีแค่นี้จริงๆ จนกระทั่งไปสอบถามทนายเลยครับ เขาบอก ท่านครับ เขาไม่ได้ออกเช็คใบเดียว เขาเป็นหนี้ทั่วบ้านทั่วเมือง ท่านเห็นไหมว่าข้อมูลอย่างนี้เป็นจุดอ่อนมากในการที่เราจะสั่งประกัน เราจะรู้ไหม เราจะรู้ได้ไง พฤติการณ์ในชั้นฝากขังท่านมีอะไรดูนอกจากคำร้องขอ จะเห็นว่าปัญหาทางด้านศาลในเรื่องข้อมูลเนี่ยมันเป็นเรื่องใหญ่” นายบุญรอดกล่าว(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thaipublica-สถิติคดีการขอปล่อยชั่วคราวปี55-57

thaipublica-โมเดลการฝากขังและปล่อยชั่วคราว

อเมริกาไม่ต่างจากไทย คนมีทรัพย์สินได้ไปอยู่กับครอบครัว

ส่วนนางสาวธัญญานุช ตันติกุล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวในหัวข้อ “ปัญหาและการแก้ไขในประเทศสหรัฐอเมริกา: ระบบการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในอุดมคติในดิสทริกต์ ออฟ โคลัมเบีย” ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาเรื่องการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในทำนองเดียวกันกับประเทศไทย ถึงขั้นที่อาจแย่กว่าในบางแง่ ทำให้การปฏิรูประบบของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างลำบาก แต่ก็สามารถปฏิรูปจนสำเร็จได้ในศาลใหญ่ๆ อย่าง วอชิงตัน ดี.ซี. และได้กลายเป็นต้นแบบทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาในเรื่องการฝากขังและปล่อยชั่วคราว

“ทางผู้แทนของศาลยุติธรรมได้เดินทางไปศึกษางานที่อเมริกา เมื่อเดือนเมษายนของปีที่ผ่านมา เราได้รับเกียรติอย่างสูงจากผู้พิพากษา ทรูแมน มอร์ริสัน ผู้พิพากษาอาวุโสแห่งศาลดิสทริกต์ ออฟ โคลัมเบีย ที่จริงแล้วท่านทรูแมน มอริสัน มีความยินดีที่จะเดินทางมาบรรยายให้เราฟังด้วยตัวเอง แต่ท่านไม่สามารถเดินทางไกลๆ ได้ แต่ได้อนุเคราะห์วิดีโอนี้ให้กับเราขอเชิญทุกท่านชมคำบรรยายของท่านทรูแมน มอริสัน”

นายทรูแมนกล่าวว่า “ในอเมริกานั้นจัดการเรื่องการฝากขังและปล่อยชั่วคราวได้ไม่ดี และเป็นปัญหามานาน ประกอบกับอเมริกามีระบบศาลสหพันธรัฐหรือศาลในระดับชาติ และในแต่ละมลรัฐก็มีระบบศาลกับการดำเนินคดีอาญาแยกต่างหาก โดยมีระบบในแต่ละมลรัฐและท้องถิ่นมากกว่า 5,000 ระบบ ซึ่งคดีอาญาส่วนใหญ่จะถูกฟ้อง พิจารณาและพิพากษาในระบบระดับมลรัฐ ถึงแม้ข้อกฎหมายจากรัฐบัญญัติ บรรทัดฐานคำพิพากษา และระเบียบศาลของอเมริกาจะแตกต่างกันในแต่ละรัฐในแง่การสั่งขังหรือปล่อย แต่เกือบทุกรัฐในอเมริกาและระบบศาลเกือบทุกแห่งดำเนินกระบวนการผิดพลาดเหมือนๆ กัน ผลลัพธ์จึงออกมาล้มเหลวไม่ต่างกัน ยกเว้นที่วอชิงตัน ดี.ซี.”

นายทรูแมนอธิบายต่อว่า “ข้อผิดพลาดดังกล่าวคือ การตัดสินว่าจะขังหรือปล่อยผู้ต้องหาในอเมริกาจะดูที่ฐานะเป็นหลัก ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้เขียนเรื่องนี้ชัดเจน แต่บทสันนิษฐานความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมทางกฎหมายระดับชาติของอเมริกา คือไม่ว่าข้อหาหรือพฤติการณ์คดีจะเป็นอย่างไร ล้วนได้รับการสันนิษฐานความบริสุทธิ์ภายใต้กฎหมายตราบจนพิสูจน์ได้ ในทางกลับกัน แม้หลักกฎหมายพื้นฐานของอเมริกาจะเป็นเช่นนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังชี้ขาดอิสรภาพของผู้ต้องหาโดยอิงฐานะเป็นหลักอยู่ดี นั่นหมายความว่า คนที่มีทรัพย์สินก็จะได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวก่อน ส่วนคนจนก็ต้องคอยวันนัดพิจารณาในคุก”

“แก่นของความเลวร้ายในระบบประกันตัวของเรา คือการปล่อยโดยให้วางหลักทรัพย์เป็นประกัน คือ ต้องวางทรัพย์ที่มีมูลค่าตามวงเงินที่ศาลตั้งก่อนจึงจะปล่อยได้ และส่วนใหญ่ในอเมริกา นายประกันอาชีพก็ยิ่งทำให้เรื่องเลวร้ายขึ้น โดยการทำให้คำสั่งศาลที่เรียกหลักประกันเกิดขึ้นได้จริง หากศาลตั้งวงเงินประกันไว้ที่ 10,000 เหรียญ ครอบครัวของผู้ต้องหาก็ต้องวิงวอนให้นายประกันไปประกันตัวให้ ก็คือนายประกันสัญญากับศาลว่าจะชดใช้เงินให้หากผู้ต้องหาไม่มาศาล และ ‘บริการ’ นี้ต้องแลกกับค่าธรรมเนียมที่จ่ายแล้วเรียกคืนไม่ได้ ค่าธรรมเนียม 10% ที่ไม่คืนให้นี้ก็คือกำไรของนายประกันอาชีพ หากนายประกันอาชีพเลือกไม่ประกันตัวให้ คำสั่งศาลที่อนุญาตให้ปล่อยก็จะไม่มีความหมาย ผู้ต้องหาก็ต้องอยู่ในคุกไปจนกว่าจะหาเงิน 10,000 เหรียญมาได้ อย่างที่คุณคงเห็นแล้ว สุดท้ายนายประกันอาชีพ ไม่ใช่ผู้พิพากษา เป็นผู้ตัดสินว่าจะปล่อยใคร ผมจำได้ว่าน่าเศร้าที่ประเทศไทยอาจมีนายประกันอาชีพ ถ้าเช่นนั้นท่านก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศซึ่งรวมถึงอเมริกา ที่ยอมให้นายประกันอาชีพหากำไรได้จากกระบวนการยุติธรรม ในเกือบทุกประเทศ และใน 4 รัฐของเราห้ามธุรกิจนายประกันอาชีพ เป็นธุรกิจผิดกฎหมาย” นายทรูแมนกล่าว

นายทรูแมนกล่าวต่อว่า “เกือบทุกที่ในอเมริกาใช้การสั่งขังหรือปล่อยโดยดูเพียงแค่เงินที่มี เพียงแค่มีเงิน ไม่ว่าความเสี่ยงที่จะหลบหนีหรือถูกจับอีกจะมากแค่ไหนก็สามารถกลับบ้านได้ ถือเป็นระบบที่ไม่ปลอดภัย ไร้ประสิทธิภาพ แพง และไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ในทุกๆ วันผู้ที่มีความเสี่ยงสูงถูกปล่อยตัว และขังคนจำนวนมากที่ไม่มีความเสี่ยงเลยแต่ยากจนเกินกว่าจะซื้ออิสรภาพได้ ส่งผลให้ 2 ใน 3 ของห้องขังในอเมริกาเป็นที่นอนของผู้ที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ในแต่ละปี ครึ่งหนึ่งของคนที่ถูกตำรวจจับในอเมริกา ไม่เคยได้กลับบ้านก่อนจะมีการพิจารณาคดี”

นายทรูแมนกล่าวว่า “สำหรับผู้พิพากษาในอเมริกาเองแล้ว ระบบที่ผิดเพี้ยนสร้างปัญหาให้ผู้พิพากษาอย่างมาก ในแง่ว่าผู้พิพากษาจะทำงานให้สมกับคำปฏิญาณได้อย่างไร ในกรณีที่ผู้ต้องหาที่มีเหตุหนักแน่นให้เชื่อว่าเป็นบุคคลอันตราย เห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราว หากกฎหมายบอกให้ต้องปล่อยตัว แต่อนุญาตให้เรียกหลักประกันได้ ผู้พิพากษาก็จะพยายามไม่ให้ผู้ต้องหาได้ออกไป โดยตั้งวงเงินประกันไว้สูงลิ่วและหวังว่าผู้ต้องหาจะหาเงินไม่ได้ แต่ผู้พิพากษาไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยคนนั้นๆ มีทรัพย์สินในครอบครองเท่าไร ผู้พิพากษาจึงเดาผิดอยู่เสมอ ทำให้คนที่เสี่ยงสูงยังไงก็ประกันตัวได้ ในอเมริกามีเรื่องสำคัญหลายอย่างที่ผิดพลาดไปในวิธีการนี้ การเรียกประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์จึงเป็นวิธีการหนึ่งของการให้ประกันตัว ซึ่งตามประวัติศาสตร์ในอเมริกาหรือยุโรปแล้ว การเรียกประกันไม่เคยมีเป้าหมายเพื่อขังคนไว้ก่อนพิจารณาคดี หากแต่ตรงกันข้าม เป้าหมายของมันคือเพื่อเป็นวิธีการให้ปล่อยตัวคนได้ ดังนั้น การตั้งวงเงินประกันไว้สูงลิ่วเพื่อขังคนไว้ จึงไม่สอดคล้องกับธรรมเนียมกฎหมายอเมริกัน

“ไม่นานนี้มีงานวิจัยในรัฐหนึ่งของเราพบว่า ครึ่งหนึ่งของคนที่เสี่ยงสูงจริงๆ หาเงินประกันตัวและได้ปล่อยออกไป ผู้พิพากษาทุกแห่งต้องมีกระบวนการที่เป็นธรรม โปร่งใส และอยู่บนหลักกฎหมายในการจัดการกับผู้ต้องหาที่ความเสี่ยงสูง และนั่นจึงเป็นกระบวนการที่เหมาะสม จะจัดการเฉพาะกับคนส่วนน้อยที่ควรถูกขังไว้ระหว่างพิจารณา แทบไม่มีศาลในรัฐใดในอเมริกานอกจากวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ผมทำงานอยู่ที่ให้อำนาจศาลขังคนที่เสี่ยงสูงได้” นายทรูแมนกล่าว

ผู้ต้องขังหญิงสาธิตการนอนในเรือนนอนในแดนหญิงของเรือนจำกลางอุดรธานี
ผู้ต้องขังหญิงสาธิตการนอนในเรือนนอนในแดนหญิงของเรือนจำกลางอุดรธานี
สภาพเท้าของผู้ต้องขังหญิงขณะนอนที่ต้องสับและเกยกันไปมาเนื่องจากมีพื้นที่ที่จำกัดมาก
สภาพเท้าของผู้ต้องขังหญิงขณะนอนที่ต้องสับและเกยกันไปมาเนื่องจากมีพื้นที่ที่จำกัดมาก

วอชิงตัน ดี.ซี.ให้อำนาจศาลขังคนที่เสี่ยงสูงได้

นายทรูแมนเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ระบบศาลของวอชิงตัน ดี.ซี. เกิดการเปลี่ยนแปลงว่า “ในอเมริกามีระบบศาลระดับรัฐเพียงแห่งเดียวที่ไม่ใช้เงินเป็นหลักประกันเลย คือ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อก่อนก็นิยมเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวในคดีร้ายแรงเหมือนที่อื่นๆ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบศาลในอเมริกา เริ่มจากนาย เจย์ คาร์เวอร์ ซึ่งเดิมเป็นผู้อำนวยการสำนักงานปล่อยชั่วคราวที่วอชิงตัน ดี.ซี. รับไม่ได้กับการที่เห็นคนอันตรายทั้งหลายถูกปล่อยออกมา ส่วนคนที่เสี่ยงต่ำแต่ยากจนกลับต้องถูกขังโดยไม่จำเป็นเพราะไม่มีเงิน”

นายทรูแมนเล่าต่อว่า “นายเจย์ คาร์เวอร์ จึงร่วมมือกับอัยการและทนายในสังกัดรัฐ ขับเคลื่อนจากระบบที่ผิดเพี้ยนมาสู่ต้นแบบในการสร้างระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพต่อสังคมและเป็นธรรม ด้วยการแก้กฎหมายเพียงประโยคเดียวที่ส่งผลกระทบมหาศาล ใจความสั้นๆ ว่า ผู้พิพากษาจะสั่งปล่อยโดยเรียกหลักประกันได้ต่อเมื่อ มันจะไม่ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องถูกขังก่อนคดีเริ่มพิจารณา หรือเป็นครั้งแรกที่ผู้ต้องหามีสิทธิวางหลักประกันตามกำลังที่มี เนื่องจากผู้ต้องหามากกว่า 90% ในอเมริกาต่างเป็นคนยากจน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าศาลจะตั้งวงเงินประกันที่คิดว่าเหมาะสมไว้เท่าไร ก็ยังเกินกำลังของผู้ต้องหาอยู่ดี”

“เราจึงกลับหลังหันมาใช้วิธีการใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยนกันชั่วข้ามคืนหรอก แต่ก็ถือว่าเร็วอยู่มาก เราหันมาใช้กระบวนการแบบไม่ปล่อยก็ขัง เราเริ่มด้วยการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาประเมินความเสี่ยงของผู้ต้องหาที่จะหลบหนีหรือทำความผิดอื่นในระหว่างปล่อย และใช้กระบวนการพิจารณาที่โปร่งใส เป็นธรรม ดำเนินการไต่สวนต่อหน้าทนาย ถ้าศาลเห็นว่าไม่อาจกำกับดูแลผู้ต้องหาที่เสี่ยงสูงมาก หลังปล่อยตัวได้ ซึ่งรัฐมีภาระพิสูจน์ว่าผู้ต้องหามีความเสี่ยงสูงถึงระดับนั้น โดยต้องนำเสนอหลักฐานที่ชัดเจนและหนักแน่น หากพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาเสี่ยงสูงจนน่ากลัวในการไต่สวนโดยชอบแล้ว ผู้ต้องหาก็จะต้องถูกขัง ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะรวยหรือจน ท่านซื้ออิสรภาพไม่ได้ และสำหรับคนอื่นๆ ศาลจะปล่อยผู้ต้องหาไปโดยต้องให้คำมั่นว่า ผู้ต้องหาจะมาศาลตามนัดและไม่ทำผิดกฎหมาย หรือปล่อยภายใต้เงื่อนไขที่กำกับดูแลโดยสำนักงานปล่อยชั่วคราว เราทำทั้งหมดนี้โดยไม่เรียกเงินเลย ถึงตอนนี้เราตัดสินว่าจะขังหรือปล่อยคนระหว่างพิจารณา ในลักษณะนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว” นายทรูแมนกล่าว

นายทรูแมนเผยถึงผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงระบบว่า “การเปลี่ยนแปลงระบบของวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ผลดีเป็นอย่างมาก เห็นได้จากในปี 2016 มีการขังผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินจะปล่อยออกไปเพียง 9% จากผู้ถูกจับทั้งหมดหลายพันคน ส่วนผู้ถูกจับที่เหลืออีก 91% ถูกปล่อยตัวไปโดยไม่เรียกเงินประกันแม้แต่คนเดียว และในจำนวนนั้นมีมากกว่า 88% ที่มาศาลตามนัดทุกนัด และคน 89% ไม่ทำผิดอีกในระหว่างปล่อยชั่วคราว ส่วนคนกลุ่มน้อยที่ถูกจับอีกในระหว่างปล่อยชั่วคราวมีเพียง 1% ที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง สถิติเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์โดยปราศจากข้อโต้แย้งว่า ศาลใหญ่ที่วุ่นวายและมีคดีอาญาจำนวนมากก็สามารถประสบความสำเร็จในการบริหารระบบที่โปร่งใส ระบบที่ความเสี่ยงของผู้ต้องหาเองเป็นตัวกำหนดอิสรภาพและความปลอดภัยของสังคม ไม่ใช่ฐานะทางเศรษฐกิจที่ทุกคนกำหนดไม่ได้ และระบบที่อ้างอิงข้อมูลความเสี่ยงเป็นสำคัญนี้สร้างผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้ว่า มีเหตุผล ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม”

“ในความเห็นผม องค์ประกอบและโครงสร้างสำคัญของระบบการสั่งขังและปล่อยชั่วคราวที่มีแนวโน้มแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ อย่างแรก คือ ต้องขจัดการให้ประกันโดยเรียกหลักทรัพย์ให้หมด ต่อมา คือ มีกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวที่มีหลักการสำคัญ เช่น ให้ทุกคนมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวโดยเพียงให้คำมั่นต่อศาล หรือต้องปล่อยโดยมีเงื่อนไขที่เป็นภาระแก่ผู้ต้องหาให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อรับประกันต่อศาลว่าผู้ต้องหาจะทำตามกฎหมายและมาศาล ถัดมา คือ กระบวนพิจารณาที่เป็นธรรมและโปร่งใส สำหรับคนจำนวนน้อยมากๆ ที่ศาลสั่งขังและไม่ให้ประกัน โดยต้องมีหลักฐานชัดเจนและหนักแน่นว่า เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงมากในระดับที่รัฐไม่อาจกำกับดูแลได้และไม่มีทางที่จะรับรองให้มั่นใจได้ว่า หากปล่อยไปแล้วจะไม่ก่อเหตุร้ายและยังจะมาศาลตามนัด” นายทรูแมนกล่าว

ต่อมา คือ การใช้วิธีประเมินความเสี่ยงที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยศาลวัดความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยงนั้น ผ่านมาตรการกำกับดูแลในชุมชน ถัดมา คือ ระบบแจ้งเตือนวันนัดที่สร้างสรรค์และยืดหยุ่น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการช่วยให้คนมาศาลตามนัด ด้วยการติดต่อแจ้งข่าวอยู่เรื่อยๆ และคอยย้ำเตือนวันนัดศาล และกล่าวโดยย่อ องค์ประกอบสำคัญท้ายสุด คือ ศักยภาพของสำนักงานปล่อยชั่วคราว หน่วยงานซึ่งในอุดมคติสามารถกำกับดูแลผู้ต้องหาที่มีความเสี่ยงบ้าง แต่ยังสามารถดูแลได้ระหว่างปล่อย คนกลุ่มนี้จึงไม่จำเป็นต้องขังไว้ องค์ประกอบทั้งหมดนี้ ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษสามารถสร้างขึ้นได้ในทุกแห่งหน และเมื่อนำมาใช้จริงแล้วจะประหยัดเงินได้มหาศาล รวมทั้งสร้างผลที่เราทุกคนและผู้ต้องหาทั้งหลายต่างสมควรได้รับ ผลลัพธ์ที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม

โครงการนำร่อง 5 ศาล – ต้องใช้ Big Data

นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา
นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา

ส่วนนายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวในหัวข้อ “โครงการนำร่อง: ระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว” ว่าภายหลังจากที่ผู้แทนของศาลยุติธรรมได้เดินทางไปศึกษางานที่อเมริกาแล้วพบว่า ระบบของศาลวอชิงตัน ดี.ซี. สามารถปล่อยผู้ต้องหาและไม่หลบหนี การที่ศาลวอชิงตัน ดี.ซี. สามารถมีระบบการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้การประเมินความเสี่ยงได้นั้น เนื่องจากมีระบบประเมินความเสี่ยงที่อาศัยฐานข้อมูลที่มีสำนวนคดีที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ประมาณ 100,000 สำนวน แล้วจึงนำสำนวนเหล่านี้มาวิเคราะห์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ดูปัจจัยตัวแปรต่างๆ แล้วได้แบบแผนการประเมินความเสี่ยทางพฤติกรรมศาสตร์มา และมีหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่กว่า 100 คนทำหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยง มีเจ้าหน้าที่ที่ใช้ฐานข้อมูลในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสอบสำนวนซ้ำว่าสิ่งที่ผู้ต้องหาให้การในเรื่องพฤติการณ์ของเขาตรงกับความจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีตำรวจที่มีประสิทธิภาพ เช่น คนหนีแล้วส่วนใหญ่ถูกจับมาได้จนไม่รู้ว่าจะหนีไปทำไม

“จะเห็นว่าเขามีหลายอย่างมาก เพราะฉะนั้น สิ่งไหนที่เรายังไม่มี เราก็ทำเท่าที่มี ผมจึงดีไซน์ระบบขึ้นมา ระบบยืนอยู่บนฐานของการศึกษาในเรื่องของการจัดการความเสี่ยง โดยเริ่มต้นจากการมีระบบประเมินความเสี่ยง ลดความเสี่ยง และควบคุมความเสียหาย ด้านการประเมินความเสี่ยง เรามีการว่าจ้างสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่เราเห็นว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ดำเนินการศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างฐานข้อมูลความเสี่ยงในเชิงจิตวิทยา ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลจากสำนวนคดีในศาลอาญาเป็น 1,000 สำนวน เพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลระบบประเมินความเสี่ยง เรื่องลดความเสี่ยงเราจะสร้างระบบในศาลซึ่งจะทดลองต่อไป โดยในระบบนี้จะมีเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนวันนัด มีการรับรายงานตัว มีการกำกับดูแลหลังปล่อยโดยการใช้โทรศัพท์มือถือ กำไลข้อมือข้อเท้า และด้านระบบควบคุมความเสียหายนั้นจะประสานงานกับตำรวจว่าหากมีการหลบหนีจะมีวิธีตามจับอย่างไร” นายมุขเมธินกล่าว

การปล่อยตัวชั่วคราว

นายมุขเมธินกล่าวว่า “หลังจากที่ได้ออกแบบระบบแล้ว ในระยะแรกเริ่มทดลองกับผู้ต้องหาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีในศาลทดลอง โดยจะใช้ระบบประเมินความเสี่ยงในศาลนี้ก่อน โดยนำแบบแผนจากการประเมินความเสี่ยงของอเมริกามา แล้วให้สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ทำการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อที่จะให้ไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องมีสัญญาประกัน ประกอบกับตามกฎหมายคือโทษจำคุกต่ำกว่า 5 ปีเท่านั้นถึงจะทำอย่างนั้นได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากโครงการนี้หรือการประเมินความเสียงอาจยังไม่เที่ยงแท้แน่นอน อาจเกิดปัญหาว่าเมื่อปล่อยไปแล้วผู้ต้องหาหายหมด ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน”

นายมุขเมธินกล่าวต่อว่า “ในระยะที่ 2 จะขยายต่อไปในความผิดทุกฐานความผิด ยกเว้นความผิดร้ายแรง เช่น ความผิดอุกฉกรรจ์ หรือยาเสพติดจำนวนมาก หรือความผิดที่เรามีข้อมูลจากการทดลองในระยะแรกว่าระบบการประเมินความเสี่ยงของเรายังไม่เที่ยงแท้แน่นอนสำหรับความผิดบางฐาน ซึ่งมีความเป็นไปได้ และจะสำรองไว้ในระยะที่ 2 ส่วนในระยะที่ 3 นั้นจะขยายไปสำหรับทุกคดี โดยในส่วนนี้สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์จะทำหน้าที่ติดตาม ประเมินผล และจัดแบบ ให้มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากขึ้น”

“เราทดลองนำร่องใน 5 ศาลก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เราทดลองในศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุที่ทดลองใน 5 ศาลนี้ เพื่อเป็นตัวแทนของประชากรในกลุ่มภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสานซึ่งมีคนแตกต่างกัน ต้องการทดลองในเมืองใหญ่และเมืองเล็กซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างผู้คน เพื่อเก็บข้อมูล เพื่อที่จะได้แบบแผนมา ถ้าแบบแผนนี้ใช้ได้ไม่ว่าจะเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ ก็น่าจะใช้ได้กับทั่วประเทศ และที่ผ่านมาเราได้รับรายงานว่า ศาลจังหวัดจันทบุรีปล่อยไป 10 คน จังหวัดกาฬสินธุ์ 12 คน เชียงใหม่น้อยกว่านั้นหน่อย ทั้งหมดมารายงานตัวตามกำหนดไม่มีใครหนีเลย” นายมุขเมธินกล่าว

นอกจากนี้ นายมุขเมธินยังได้นำเสนอวิดีทัศน์ เกี่ยวกับการทำงานของสำนักงานปล่อยชั่วคราวในอเมริกามีเนื้อหาว่า “ในปัจจุบันศาลวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่เรียกประกันในการให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปล่อยชั่วคราว เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงจำเลยรายคนโดยการลงไปสอบถามข้อมูลจำเลยที่ห้องขัง ดูประวัติอาชญากรรมของจำเลย ตรวจสอบว่ามีคดีอื่นค้างพิจารณาอยู่หรือไม่ อยู่ในระหว่างคุมประพฤติหรือพักการลงโทษหรือไม่ เป็นบุคคลตามหมายจับอื่นที่ยังมีผลอยู่หรือไม่ ดูประวัติสุขภาพและการใช้ยาเสพติด ตรวจสอบการใช้ยาเสพติด และนำข้อมูลทั้งหมดมาทำเป็นรายงานเสนอศาลพร้อมข้อเสนอแนะของสำนักงานปล่อยชั่วคราว ในแต่ละวันก็จะพิจารณาตั้งแต่คดีเล็กน้อยไปจนถึงฆาตรกรรม โดยคนที่มีความเสี่ยงต่ำ สำนักงานปล่อยชั่วคราวจะแนะนำให้ปล่อยโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนคนที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือสูงก็จะแนะนำเงื่อนไขกำกับดูแลที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงต่อศาล เช่น คนส่วนใหญ่ที่ทำผิดเล็กน้อย หากไม่มีประวัติอาชญากรรมร้ายแรงก็จะปล่อยตัวไป ภายใต้เงื่อนไขจากเบาไปหาหนัก อาจถึงขั้นเข้มงวดที่จะต้องสวมกำไลติดสัญญาณ GPS โดยกำหนดเงื่อนไขของศาลห้ามออกหรือเข้าเขตที่กำหนดได้”