
กว่าจะมาถึงวันประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ม.44 ให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อปิดล้อมและตรวจค้น ตามหมายจับพระธัมมชโย จากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีการสอบสวนดำเนินคดีอาญาพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ซึ่งเป็นเงินที่มาจากการทุจริตของอดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวนกว่า 1,400 ล้านบาท
แต่ 3 วันหลังประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ม.44 ก็ยังคงไร้วี่แววพระธัมมชโยในวัดพระธรรมกาย
การออกหมายจับพระธัมมชโยในวันนี้ หากย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว “ไทยพับลิก้า” เปิดประเด็นข่าวสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นด้วยประเด็นเล็กๆ แค่ศึกแย่งชิงอำนาจบริหารของผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยฝ่ายหนึ่งมีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินการ ขณะนี้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอดีตกรรมการที่รวมกลุ่มเพื่อหวังเข้ามาตรวจสอบการบริหารงานของกลุ่มนายศุภชัย เพราะสมาชิกเริ่มสงสัยและถอนเงินฝากไม่ได้ แต่ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น
“ไทยพับลิก้า” ได้เกาะติดและเจาะลึกข้อมูล เนื่องจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเป็น “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน” ที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกกว่า 50,000 คน มีสินทรัพย์กว่า 20,000 ล้านบาท จนในที่สุดพบหลักฐานที่ชี้ว่ากลุ่มนายศุภชัยและพวกได้มีการยักยอกเงิน เช่น การสั่งทดรองจ่ายเงินเข้าบัญชีตัวเอง การทำ บัญชีลูกหนี้ปลอม (สัญญากู้ยืมปลอม) รวมทั้งการบริจาคเงินให้กับวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย
ในประเด็นการปลอมแปลงเอกสารสัญญา ซึ่งต่อมานายศุภชัยได้กล่าวยอมรับว่าได้กระทำจริง จากคดีที่นางสาวจารุชา ติรกิจสุนทร ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกหนี้ 27 รายได้เป็นโจทก์ฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำเลยคดีดำที่ อ.3472/2556 ในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 มีการไกล่เกลี่ยโดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้ลงนามในหนังสือยอมรับว่าได้มีการปลอมแปลงเอกสารสัญญาเงินกู้ทั้งหมด 5 ฉบับ เป็นเงินจำนวน 1,810 ล้านบาท โดยนายศุภชัยจะลงประกาศโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์หรือหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่น และสำนักข่าวไทยพับลิก้า เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน (กรณีไทยพับลิก้า ไม่ได้มีการตีพิมพ์แต่อย่างใด)
ส่วนการจ่ายเช็คให้วัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยนั้น หลักฐานที่ตรวจสอบพบในตอนแรกเป็นการจ่ายเช็ค 16 ฉบับ เป็นเงินกว่า 814 ล้านบาท ของสหกรณ์ฯ คลองจั่นให้พระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย แต่ต่อมา จากการร้องเรียนของสมาชิกให้ดีเอสไอเข้ามาช่วยดำเนินการ ทำให้ตรวจสอบพบหลักฐานการโอนเงิน ของสหกรณ์ฯ คลองจั่นจ่ายเงินให้วัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยรวมแล้วประมาณ 1,400 ล้านบาท
จากปมเหล่านี้ นำมาสู่การขยายผลในประเด็นต่างๆ เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก ในช่วงแรกต่างคนต่างฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย บางส่วนก็รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เสียงเหล่านี้ดังขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดหลายฝ่ายก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ และนำมาสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่นในที่สุด ขณะที่การดำเนินคดีฟ้องร้องและการอายัดทรัพย์ต่างๆ ก็ดำเนินไป เพื่อติดตามทรัพย์สินคืนมาให้มากที่สุด
ปัจจุบัน ศาลได้ตัดสินจำคุกและไม่ให้ประกันตัวนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารที่ยักยอกเงิน แต่คดีฟ้องร้องต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป
สำหรับกรณีวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยที่รับเงินสหกรณ์ฯ คลองจั่นไปนั้น ทางวัดได้ติดต่อเจรจาขอคืนเงินโดยแจ้งว่าทางศิษย์วัดพระธรรมกายได้รวบรวมเงินเพื่อ จ่ายคืนแก่สหกรณ์ฯ คลองจั่นในงวดแรก 618.78 ล้านบาท ต่อมาได้ขอจ่ายคืนอีก 370.78 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,055.56 ล้านบาท แม้ผู้บริหารใหม่ของสหกรณ์ฯ คลองจั่นไม่ดำเนินการฟ้องร้อง แต่มีคดีที่สมาชิกเสียหายได้ทำการฟ้อง จึงนำมาสู่คดีความที่พระธัมมชโยถูกออกหมายจับในที่สุด

สำหรับประเด็นการรับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น วัดพระธรรมกายเคยยอมรับในศาลว่าได้รับเช็คจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นจริง คำยอมรับนี้มาจากจากกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกว่า 200 ล้านบาท ใช้สิทธิเรียกร้องแทนสหกรณ์ฯ คลองจั่น ฟ้องวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย จำเลยที่ 1 และ 2 โดยระบุว่าสหกรณ์ฯ คลองจั่นจ่ายเช็คให้แก่วัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยโดยตรงกว่า 900 ล้านบาท ช่วงปี พ.ศ. 2552 ซึ่งขณะนั้นนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ดำรงตำแหน่งประธานฯ ของสหกรณ์ฯ คลองจั่น
โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ศาลนัดไต่สวนคดี จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การว่า จำเลยรับเงินบริจาคจากนายศุภชัยโดยสุจริต จำเลยไม่รู้จักกับนายศุภชัยเป็นการส่วนตัว อีกทั้งไม่ทราบที่มาของเงินว่าเป็นของสหกรณ์ฯ คลองจั่นที่นายศุภชัยบริหาร คิดว่าเป็นเงินส่วนตัว รู้เพียงนายศุภชัยเป็นผู้มีศรัทธาบริจาคทรัพย์สินเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไป โดยวัดนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์สาธารณะ เช่น สร้างศาสนสถาน หรือจัดโครงการเพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาโดยวัดพระธรรมกาย นอกจากนี้ ยอมรับว่ารับเช็คจริงแต่มีเพียงแค่ 15 ใบจากที่โจทก์กล่าวหาว่ามี 16 ใบ
สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างนายศุภชัยกับวัดพระธรรมกาย นายศุภชัยเคยเป็นประธานกฐินวัดพระธรรมกายปี 2552 และร่วมเป็นไวยาวัจกร (ผู้ดูแลเงินของวัด) ต่อเนื่องหลายปี อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตวัดพระธรรมกาย ปทุมธานี มีทรัพย์สินมากกว่า 4,000 ล้านบาท นับเป็นสหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนียนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น
นี่คือเรื่องราวจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นถึงพระธัมมชโย ที่กลายเป็นปมร้อน จนต้องออกม.44 มาเป็นเกราะเพื่อตามจับพระธัมมชโย ที่เริ่มต้นจากปมเล็กๆโดย”ไทยพับลิก้า”