ThaiPublica > เกาะกระแส > EIC วิเคราะห์พลังงานร่วงหรือรุ่ง…ในยุคทรัมป์?

EIC วิเคราะห์พลังงานร่วงหรือรุ่ง…ในยุคทรัมป์?

25 พฤศจิกายน 2016


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ “พลังงานร่วงหรือรุ่ง…ในยุคทรัมป์?” โดยมองว่าชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ ทรัมป์สนับสนุนธุรกิจน้ำมันที่ได้จากฟอสซิล โดยมีเป้าหมายต้องการให้สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน และมีพลังงานเพียงพอใช้ในประเทศ ในทางกลับกัน ธุรกิจพลังงานทดแทนมีความเสี่ยง เพราะทรัมป์ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และลดความสำคัญในธุรกิจพลังงานทดแทน

อีไอซีมองว่า นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำมันของทรัมป์จะเป็นโอกาสของธุรกิจสำรวจขุดเจาะน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมีไทยที่จะเข้าไปขยายการลงทุนในสหรัฐฯ แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงด้านกฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศ สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวจึงเป็นความเสี่ยงให้กับผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วน เช่น แผงโซลาร์ ไปสหรัฐฯ ที่ต้องหาตลาดทดแทน

ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากปัจจัยกดดันด้านอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากกิจกรรมสำรวจขุดเจาะในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ หากสหรัฐฯ กลับมาพิจารณาเรื่องการคว่ำบาตรอิหร่าน จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น อีไอซีประเมินราคาน้ำมันในปี 2017 จะอยู่ที่ระดับราว 52 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ธุรกิจน้ำมันมีแนวโน้มสดใส เนื่องจากนโยบายของทรัมป์สนับสนุนการลงทุนและการจ้างงานในธุรกิจน้ำมัน มุ่งสู่เป้าหมายให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่พึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน นโยบายสำคัญที่จะช่วยผลักดันการลงทุนในธุรกิจน้ำมัน ได้แก่

  • การเพิ่มพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันในที่ดินของรัฐบาลกลาง (federal land) ทั้งบนบก ในทะเล บริเวณอ่าวเม็กซิโก และมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งสหรัฐฯ มีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้ขุดเจาะออกมาสูงที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่าสูงถึงราว 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • การขอใบอนุญาตขุดเจาะน้ำมันในที่ดินของรัฐบาลกลางจะรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาสูงถึง 300 วัน ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันส่วนใหญ่หันไปเช่าที่ดินเอกชนหรือที่ดินของรัฐแทน ซึ่งใช้เวลาขอใบอนุญาตสั้นกว่ามาก เช่น ใน Texas ใช้เวลาเพียง 2-4 วันทำการเท่านั้น
  • การปฏิรูปภาษีในธุรกิจน้ำมัน เช่น การนำ Intangible Drilling Cost (IDC) มาลดหย่อนภาษีได้ นโยบายดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันขยายการลงทุน มีต้นทุนที่ถูกลง และสร้างงานในธุรกิจน้ำมันได้ราว 5 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้อุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะเปลี่ยนจากผู้นำเข้ากลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิภายในปี 2023 เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ปี 2028

1

การสำรวจขุดเจาะ tight oil และ shale gas ในสหรัฐฯ มีโอกาสเติบโต เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดีขึ้น ส่งผลให้อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นด้วย สหรัฐฯ มี tight oil และ shale gas จำนวนมหาศาลซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้เปลือกโลกราว 1.5-3 กิโลเมตร ทำให้ต้องใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะที่ทันสมัยและมีต้นทุนสูง เรียกว่า Hydraulic Fracturing หรือ Fracking ซึ่งได้รับการต่อต้านเพราะทำให้เกิดการเจือปนของสารพิษในน้ำใต้ดิน ส่งผลต่อคุณภาพและความสะอาดของน้ำดื่ม อย่างไรก็ตาม ทรัมป์จะดำเนินมาตรการสนับสนุนการขุดเจาะแบบ Fracking ซึ่งอีไอซีมองว่า ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำในปัจจุบัน กิจกรรมการขุดเจาะ tight oil และ shale gas จะยังทรงตัว แต่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งเมื่อราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุนเฉลี่ยของผู้ผลิต

การเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น ท่อส่งน้ำมัน ส่งผลดีด้านวัตถุดิบต่อธุรกิจโรงกลั่นในสหรัฐฯ ทรัมป์ประกาศว่าจะเร่งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่างๆ เพื่อผลักดันการลงทุนภาคเอกชนและการจ้างงาน เช่น การก่อสร้างโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL ยาว 1,900 กิโลเมตร จากรัฐ Alberta ในแคนาดา มายังรัฐ Nebraska ในสหรัฐฯ ซึ่งโอบามาได้ยับยั้งโครงการนี้ไปในปี 2015 จากความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะการผลิตและกลั่น oil sand ที่ได้จากแคนาดาจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำมันดิบชนิดอื่น

โครงการนี้จะกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ซึ่งจะลำเลียงน้ำมันจากแคนาดามาเชื่อมต่อระบบท่อส่งน้ำมันที่มีอยู่ ส่งลงมายังโรงกลั่นที่กระจุกตัวบริเวณแถบ Mid-West และอ่าวเม็กซิโก ทำให้โรงกลั่นลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศในตะวันออกกลางที่มีอุปทานน้ำมันค่อนข้างอ่อนไหวต่อประเด็นทางการเมือง ทั้งนี้ คาดว่าโครงการ Keystone XL จะทำให้ GDP ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานได้ 9,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ หากทรัมป์ตัดสินใจกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านเรื่องโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง จะทำให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้น ภายหลังจากที่อิหร่านซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกลุ่ม OPEC ได้รับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจากกลุ่ม P5+1 (สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย) ในปี 2015 อิหร่านได้เร่งผลิตน้ำมันให้ได้ปริมาณเท่ากับช่วงก่อนโดนคว่ำบาตรที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ซึ่งในช่วงที่ยังมีความเสี่ยงว่าทรัมป์จะนำเรื่องอิหร่านกลับมาพิจารณาหรือไม่นี้ คาดว่าอิหร่านจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันออกมาอีก และไม่ยอมเข้าร่วมกับกลุ่ม OPEC ในการกำหนดเพดานการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หากในที่สุด ทรัมป์ตัดสินใจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านซึ่งเป็นอำนาจของประธานาธิบดีที่สามารถกระทำได้ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในระยะสั้นจากปัจจัยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการตึงตัวของอุปทานราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน เพราะอิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ในบางตลาด

2

3

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจพลังงานทดแทนมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากทรัมป์อาจยกเลิกนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตในสหรัฐฯ และผู้ส่งออกอุปกรณ์ผลิตพลังงานทดแทน ทรัมป์โจมตีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และพลังลมว่ามีต้นทุนแพง ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าทรัมป์จะยกเลิกนโยบายที่สนับสนุนธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น แผนพลังงานสะอาด (Clear Power Plan) ที่จำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ผ่านสภาคองเกรสไปแล้ว เช่น การให้ production tax credit (PTC) จำนวน 23 ดอลลาร์สหรัฐ/เมกะวัตต์ชั่วโมง แก่ผู้ผลิตพลังงานลม และ investment tax credit (ITC) 30% ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ น่าจะยังดำเนินได้ต่อไปเพราะได้รับการสนับสนุนจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ซึ่งเดิมมาตรการดังกล่าวได้ทำให้การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น การให้ ITC ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2006 ทำให้การติดตั้งแผงโซลาร์ในสหรัฐฯ เติบโตถึง 76% ต่อปี

การลดการสนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทนของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ให้มีต้นทุนสูงขึ้นหลังจากที่นโยบาย PTC และ ITC หมดอายุลงตามแผนในปี 2019 และ 2023 ตามลำดับ รวมไปถึงผู้ผลิตในเอเชีย โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลักของแผงโซลาร์ และอินเวอร์เตอร์ที่ใช้ในระบบการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จะมีความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากทรัมป์อาจเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวให้สูงถึง 30-45% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 5-11% คาดว่าในอีก 4-8 ปีข้างหน้า อัตราการขยายตัวของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงเหลือราวปีละ 2% โดยเฉลี่ย จากเดิมขยายตัวที่ราว 24%

อีไอซีมองว่า ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันที่จะสูงขึ้นอีกมากในสหรัฐฯ ในระยะกลางราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันและเศรษฐกิจโลก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในระยะสั้นยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการลงทุนขุดเจาะน้ำมันที่ได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายของทรัมป์จะยิ่งทำให้อุปทานน้ำมันล้นตลาดมากขึ้นอีก เว้นแต่ว่าจะมีเรื่องการคว่ำบาตรอิหร่านที่จะทำให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นได้ ในระยะกลางคาดว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆ ปรับระดับสูงขึ้น จากปัจจัยด้านอุปสงค์น้ำมันที่เร่งขึ้นมาทันกับอุปทาน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดภาษี นโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจ การใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สนามบิน รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของทรัมป์ จะผลักดันให้มีความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้น ทั้งนี้ อีไอซีประเมินราคาน้ำมันในปี 2017 จะอยู่ที่ระดับราว 52 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ธุรกิจสำรวจขุดเจาะน้ำมันไทยมีโอกาสขยายการลงทุนในสหรัฐฯ แต่ต้องระวังความเสี่ยงเรื่องกฎระเบียบการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ นโยบายด้านพลังงานของทรัมป์สนับสนุนให้มีการสำรวจขุดเจาะทรัพยากรน้ำมันในประเทศที่มีปริมาณมหาศาลจึงเป็นโอกาสของบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันที่จะขยายการลงทุนในสหรัฐฯ นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่จะเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นผลดีต่อธุรกิจปิโตรเคมีไทยที่จะเข้าไปตั้งโรงผลิตในสหรัฐฯ เพื่อชิงความได้เปรียบด้านวัตถุดิบและต้นทุน อีไอซีมองว่าการทำ M&A กับบริษัทในสหรัฐฯ เป็นทางเลือกที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องกฎเกณฑ์ด้าน FDI ที่อาจเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทรัมป์ที่เน้นการดำเนินนโยบายแบบปกป้องและชาตินิยม

ในระยะสั้นราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ ธุรกิจไทยที่ได้รับอานิสงส์ ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่น สายการบิน และโลจิสติกส์ ในภาพรวม ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ และครัวเรือนจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและบริโภคน้ำมัน ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบจะมีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น สำหรับธุรกิจที่มีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนใหญ่ เช่น โรงกลั่น สายการบิน และโลจิสติกส์ จะได้รับอานิสงส์จากต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวนมากนัก อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนในภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันในระยะสั้น

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ มีความเสี่ยง ควรมองหาตลาดอื่นที่เน้นสินค้าพรีเมียม เช่น ธุรกิจไทยที่ผลิตแผงโซลาร์เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ นอกจากจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัว ยังอาจได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายปกป้องทางการค้า ดังนั้น ผู้ผลิตควรมองหาตลาดอื่นที่เน้นสินค้าที่มีคุณภาพสูงทดแทนตลาดสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรป

หมายเหตุ: ที่มาการวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg