1721955
หนังเปิดฉากด้วยภาพชายหนุ่มคนหนึ่งหันมาคุยกับกล้อง เขาตั้งใจจะบันทึกวิดีโอให้ลูกดู หลังจากเขารู้ข่าวดีว่าภรรยากำลังตั้งท้องลูกคนแรก ซึ่งมาในเวลาไล่เลี่ยกับข่าวร้ายว่าตนกำลังป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS อันเป็นโรคร้ายแรงที่ประสาทสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยจะเสียชีวิตลงภายใน 2-5 ปี
ก่อนที่หนังจะตัดสลับไปยังภาพคลิปวิดีโอโมเมนต์ต่างๆ ที่เผยให้คนดูรู้ว่าเขาคือ สตีฟ กลีสัน อดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลดาวรุ่ง ในตำแหน่งไลน์แบ็คเกอร์ (กองกลางของแนวตั้งรับ อันเป็นหัวใจของทีม) หนุ่มหล่อ หุ่นล่ำ ยิ้มมีเสน่ห์ ฮอตสุดในทีม นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส โดยเฉพาะในเกมนัดสำคัญที่ซูเปอร์โดมเมื่อปี 2006 หลังจากบ้านเกิดของเขาถูกพายุแคทรีนาซัด สตีฟก็เอาชนะคู่ต่อสู้ได้อย่างถล่มทลาย กลายเป็นดาวเด่นข่าวใหญ่ประจำปีนั้นไปเลย

กระทั่งเขาได้เจอแฟนสาว มิเชล หนังก็อัดใส่คนดูด้วยโมเมนต์ที่พวกเขาพากันลั้ลลาท่องโลก ที่บ้างก็รั่วๆ ขำๆ แสนจะมีความสุขชีวิตดี๊ดี ก่อนที่ทั้งสองจะแต่งงานกันแล้วมาลงเอยในปี 2011 เมื่อสตีฟรู้ตัวว่าเป็นโรคร้าย ซึ่งคนดูจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของเขา ตั้งแต่ใบหน้าที่เปลี้ยนเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิม ร่างกายที่ทรุดฮวบอย่างรวดเร็ว แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ได้เป็นเห็นโมเมนต์กำเนิด ริเวอร์ ลูกชายของพวกเขา ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
หนังทั้งเรื่องนี้รวมรวมจากคลิปต่างๆ ทั้งที่ถ่ายกันเล่นๆ, วิดีโองานแต่ง, รูปถ่ายต่างๆ และที่ถ่ายเพิ่มทีหลังโดยตัวสตีฟและมิเชลเอง บวกกับภาพจากกล้องของ เดวิด ลี คนทำหนังแถวบ้าน กับ ไท มินตัน-สมอลล์ เพื่อนซี้ของสตีฟ ก่อนที่ผู้กำกับ เคลย์ ทวีล จะก้าวเข้ามากำกับสารคดีเรื่องนี้ในเดือนมีนาคม ปี 2015 ที่มีการถ่ายเพิ่มจนฟุตเตจทั้งหมดยาวถึง 1,300 ชั่วโมง “มันเป็นงานสุดหินที่ละเอียดอ่อนมาก” ทวีลกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ Gleason ที่ในอีกสิบเดือนต่อมาก็สามารถไปผงาดในเทศกาลท็อปสุดของอเมริกา ซันแดนซ์ ได้ โกยคำชมไปอื้อ แถมคว้ารางวัล ออเดียนซ์ อะวอร์ด ในเทศกาล SXSW, สารคดียอดเยี่ยมเทศกาลหนังซีแอตเทิล รางวัลสเปเชียล จูรี เมนชั่น จากเทศกาลหนังฟูลเฟรม ไปจนถึงลือกันว่าอาจได้ชิงออสการ์ที่กำลังจะมาถึงด้วย
ทวีลเล่าให้ฟังว่า “ด้วยความที่มันเป็นภาพถ่ายส่วนตัว บวกกับที่ถ่ายโดยเพื่อนสนิท ดังนั้นมันจึงเต็มไปด้วยโมเมนต์แสนจะแนบชิด ขณะเดียวกันก็แสนจะดิบ แล้วก็ยังเต็มไปด้วยโมเมนต์เปราะบางสะกิดใจ หน้าที่ของผมคือการเข้ามาจัดการร้อยเรียงเรื่องราว แล้วถ่ายทำบางส่วนเพิ่มเพื่อช่วยเชื่อมต่อข้อปล้องต่างๆ ให้เล่าเรื่องราวได้อย่างไหลลื่น เป็นเหมือนชั้นบางๆ ที่ช่วยห่อหุ้มฟุตเตจเหล่านี้ไม่ให้หลุดขาดจากกัน แต่แน่นอนว่าฟุตเตจที่พวกเขาถ่ายทำกันมามันมีความพิเศษอยู่แล้ว หนังเรื่องนี้จึงทั้งกินใจและแสนจะจริงใจ ไม่ซ้ำใคร พวกเขารู้ทางกันในการรับมือกันและกันอย่างไม่เสแสร้งเลยสักนิด สิ่งเหล่านี้ทำให้ Gleason พิเศษเหนือสารคดีทั่วไป”
เช่นเดียวกับความเห็นจากนิตยสาร Wired ที่ว่า “นี่ไม่ใช่สารคดีดาดๆ ที่แค่กระแทกเราด้วยโมเมนต์ดราม่า แต่มันพูดถึงสิ่งที่ท้าทายกว่านั้นมาก โดยเฉพาะเมื่อมันปรากฏขึ้นในปีนี้ที่จัดว่าเป็นปีทองของหนังสารคดีเลยก็ว่าได้ เพราะแค่ซัมเมอร์นี้ก็มีสารคดีเด่นๆ อย่าง O.J. Made in America ที่ขุดคุ้ยคดีสุดฉาวของซิมป์สัน, Weiner ที่ตีแผ่นักการเมืองและโต้กระแสสื่อได้อย่างเผ็ดร้อน, ไปจนถึง De Palma ที่เล่าถึงผู้กำกับชื่อดัง ไบรอัน เดอ พัลมา ไปพร้อมกับการวาดภาพความเสื่อมทรุดของระบบสตูดิโอทำหนังยุคใหม่ หรือแม้แต่หนังของผู้กำกับสารคดีรุ่นเก๋าอย่าง แวร์แนร์ แฮร์โซก ที่มาเล่าประเด็นร่วมสมัยอย่างโลกอินเทอร์เน็ต ใน Lo and Behold, Reveries of the Connected World ก็จะเห็นได้ว่าขนาดอยู่ท่ามกลางสารคดีสายแข็งพวกนี้ Gleason ก็ยังมีความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง ทั้งในทางหนังและสีสันของตัวผู้เล่าเอง พวกเขาทั้งดูดี ชีวิตเพียบพร้อม แถมรวยมากด้วย ซึ่งทำให้ได้รับการดูแลทางการแพทย์ในระดับดีเยี่ยม แต่นั่นก็หมายความว่าพวกเขาต้องจัดการกับความหิวกระหายของอุตสาหกรรมเซเล็บอันซับซ้อนด้วยเช่นกัน ซึ่งพวกเขาก็จริงใจมากพอที่กล้าจะบอกว่าต้องการเป็นที่จับจ้อง แต่ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง อันทำให้พวกเขากลายเป็นฮีโร่อย่างแท้จริง’
เพราะนอกจากการต่อสู้กับโรคร้ายแล้ว ครอบครัวนี้ยังระดมผองเพื่อนมาช่วยกันก่อตั้งเป็น #ทีมกลีสัน ที่ช่วยกันระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ALS ยากไร้ด้วย พวกเขาตระเวนไปให้กำลังใจผู้ป่วยรายอื่นๆ จัดกิจกรรมออกสื่อให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงภัยร้ายของโรคนี้ ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในทางกฎหมาย และในการเข้าถึงอุปกรณ์สุดล้ำที่ช่วยให้ผู้ป่วยสื่อสารได้ง่ายขึ้น ด้วยเครื่อง Tobii Dynavox อันเป็นเทคโนโลยีสื่อสารด้วยการกะพริบตาไปยังอุปกรณ์ที่สามารถพิมพ์และพูดแทนผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัสเลย
หรืออย่างเมื่อไม่กี่ปีก่อน ถ้ายังจำกันได้ ที่มีการท้าประลองเอาน้ำแข็งราดตัวอัดคลิปแล้วส่งต่อๆ กันไปทั่วโลก ที่สามารถดึงเงินจากกระเป๋าของบรรดาเซเล็บอย่าง จัสติน บีเบอร์, ฮิวจ์ แจ็กแมน, เรเน่ เซลเวเกอร์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หลิวเต๋อหัว ฯลฯ ที่ต่างก็แห่กันมาช่วยอัดคลิปกันรัวๆ ภายใต้โครงการ Ice Bucket Challenge หนึ่งในนั้นก็มี สตีฟ กลีสัน ผู้นี้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีด้วย รวมถึงกิจกรรมขับเคลื่อนอื่นๆ ภายใต้คำขวัญของ #ทีมกลีสัน ที่ว่า “ไม่ยอมยกธงขาว” (No White Flags) ก็ทำให้ สตีฟ ได้เป็นทั้งพรีเซนเตอร์สินค้า ได้ออกสัมภาษณ์สื่อ ได้เงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์รวยๆ มากมาย
ขณะที่ในหนังช่วงหนึ่ง มิเชลเล่าว่า “ผู้คนเข้ามาบอกฉันว่า ‘ยินดีด้วยนะ’ …หืม!? …สำหรับอะไร? …หมายความว่าไง? …ให้ฉันยินดีกับอะไรรึ? ฉันควรจะยินดีกับความฉิบหายในชีวิตฉันงั้นสินะ…”