ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ใต้เงากระโปรง “ชมพู่-อารยา” ความเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมหนัง จากเมืองคานส์ ถึงฮอลลีวูด และเมืองไทย

ใต้เงากระโปรง “ชมพู่-อารยา” ความเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมหนัง จากเมืองคานส์ ถึงฮอลลีวูด และเมืองไทย

25 มิถุนายน 2016


โปสเตอร์โปรโมตเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ประจำปีนี้ (ค.ศ. 2016)
โปสเตอร์โปรโมตเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ประจำปีนี้ (ค.ศ. 2016)

ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงภาพยนตร์จะรู้ดีว่า “เทศกาลภาพยนตร์ (film festival)” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า เทศกาลหนัง มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลกเพียงใด

เพราะไม่ใช่แค่การประกวดชิงรางวัลความโดดเด่นในด้านต่างๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเป็น “เวที” ในการเจรจาซื้อขายแลกเปลี่ยน “ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์” เพื่อนำไปฉายต่อในประเทศต่างๆ

โดยปัจจุบันมีเทศกาลภาพยนตร์ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ 2 เวที สำหรับฝั่งอเมริกา ก็คือ “เทศกาลภาพยนตร์เมืองโตรอนโต (Toronto International Film Festival: TIFF)” ประเทศแคนาดา จัดขึ้นทุกปีช่วงเดือนกันยายน ซึ่งลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่ซื้อขายในเทศกาลมักเป็นหนังที่มีเนื้อหาค่อนข้างป็อป ส่วนใหญ่มักเป็นหนังจากฮอลลีวูด

ส่วนฝั่งยุโรป ก็คือ “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes International Film Festival)” จัดขึ้นทุกปีช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่ซื้อขายในเทศกาลมักเป็นหนังที่มีเนื้อหาค่อนข้างอินดี้ แม้จะดูยากกว่าหนังจากฮอลลีวูด ทำให้มีผู้ชมเฉพาะกลุ่ม แต่เนื้อหาก็มีความหลากหลายกว่า กระทั่งถูกยกให้เป็น “มักกะฮ์ (เมืองศักดิ์สิทธิ์) ของวงการหนังอินดี้”

เทศกาลหนังเมืองคานส์ ปีล่าสุด ซึ่งถือเป็นปีที่ 69 เพิ่งจัดขึ้นไประหว่างวันที่ 11-22 พฤษภาคม 2559 ได้รับความสนใจจากคนไทยเป็นพิเศษ

เหตุผลไม่ใช่เพราะมีการนำภาพยนตร์ไทย ที่ฟิล์มต้นฉบับเคยสูญหายไปกว่า 60 ปี อย่าง “สันติ-วีณา” มาฉายในสาย Cannes Classics แต่น่าจะเป็นเพราะ “ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต” นักแสดงหญิงไทยได้ไปปรากฏตัวบน “พรมแดง” หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ในฐานะพรีเซ็นเตอร์ของของเครื่องสำอาง L’Oréal Thailand เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน เสียมากกว่า

แม้การเดินพรมแดงตลอด 4 วันของชมพู่-อารยาจะได้รับเสียงชื่นชมจากคนไทยบางกลุ่ม โดยเฉพาะแฟนคลับของดาราชื่อดังรายนี้ แต่อีกด้านหนึ่งกลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คนไทยจะโฟกัสประเด็นสำคัญของเทศกาลหนังชื่อดังนี้ผิดจุด แทนที่จะไปให้ความสนใจในตัวภาพยนตร์ว่าเรื่องไหนได้รางวัล เรื่องไหนมีความสดใหม่-น่าสนใจ จนกลายเป็นดราม่าย่อมๆ ขึ้นมาในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม-เว็บบอร์ดชื่อดังของเมืองไทย รวมไปถึงในสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ

“จะมีสักกี่คนที่ได้ไปเดินอวดโฉมตรงนั้น เราไม่สนเรื่องหนังเลย แต่สนใจการแต่งตัวของสาว ๆ มากกว่า”

“ให้ดูดาราคนอื่นด้วย เค้าก็เน้นเสื้อผ้าหน้าผมกันทั้งนั้น ไม่งั้นจะมีพรมแดงไว้ทำไม”

“ไม่มีดาราใครจะมาล่ะคะ แล้วงานไม่เงียบกริบเหรอ”

“แฟชั่นก็เป็นอีกหนึ่งในจุดเด่นนะ หนังเมืองคานส์มันไม่ดังเท่าออสการ์ ก็เลยไม่ยิ่งใหญ่ไง”

ฯลฯ

คือบางเสียงจากผู้ที่ให้ความสนใจกับเสื้อ ผ้า หน้า ผม ของชมพู่ รวมถึงแฟชั่นอื่นๆ บนพรมแดง มากกว่าภาพยนตร์ที่เข้าประกวดหรือเข้าฉายภายในงาน…

ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ขณะเดินบนพรมแดงในเทศกาลหนังคานส์ ปี พ.ศ. 2559 ที่มาภาพ : http://women.mthai.com/fashion/star-dress/242848.html
ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ระหว่างเดินบนพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี พ.ศ. 2559 ที่มาภาพ : http://women.mthai.com/fashion/star-dress/242848.html

หลังเงากระโปรงชมพู่ เมื่อคานส์ “ซบ” วงการหนังก็ “ซึม”?

หากลองแหวกวงล้อมดราม่าเรื่องชมพู่ กระโดดข้ามพรมแดง แล้วเข้าไปดูบรรยากาศภายในเทศกาล

ผู้อยู่ในแวดวงภาพยนตร์ไทยหลายรายที่ติดตามเทศกาลนี้มาตลอดหลายปีหลัง ให้ข้อมูลตรงกันว่า เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ค่อนข้างเงียบเหงากว่าทุกปี โดยเฉพาะการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เพื่อกลับไปฉายในประเทศต่างๆ ที่น้อยผิดปกติ และได้ยินมาว่า ผู้จัดจำหน่ายของไทยที่ไปเจรจากับคู่ค้าภายในงาน ยังไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องใดกลับมาฉายเลยแม้แต่เรื่องเดียว !

“วรกร ฤทัยวาณิชกุล” ตัวแทนของ HAL ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์อิสระของไทย ซึ่งเดินทางไปเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน บอกว่า การซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะมี 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ซื้อขายกับผู้ผลิตภาพยนตร์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอ โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ ฯลฯ และซื้อขายผ่านนายหน้าหรือเอเย่นต์ ซึ่งในยุคปัจจุบันเราสามารถเจรจาซื้อขายกันผ่านทางอีเมล์และช่องทางออนไลน์อื่นๆ ได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปเจอกันตามงานเทศกาล แต่ส่วนตัวคิดว่าการได้ไปพูดคุยกันต่อหน้า น่าจะทำให้การเจรจาซื้อขายเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยปีที่แล้ว ตนไปเจรจากับเอเย่นต์เพียง 2 ราย ส่วนปีนี้ได้ไปเจรจากับเอเย่นต์ถึง 20 ราย

“หลังจากได้ไปคุยที่คานส์ปีนี้ แม้จะยังไม่ซื้อเรื่องใดกลับมา แต่ก็อยู่ในขั้นตอนเจรจาเพื่อซื้อลิขสิทธิ์อยู่ 1 เรื่อง แต่เนื่องจาก HAL เป็นผู้จัดจำหน่ายอิสระที่มีทุนไม่มากนัก ปกติเราจะซื้อหนังมาฉายทั้งปีแค่ 3-4 เรื่องเท่านั้น เลยไม่รู้ว่าผู้จัดจำหน่ายรายอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า ได้ไปซื้อหนังกลับมาจากคานส์หรือไม่ เท่าที่ดูก็ยอมรับบรรยากาศในปีนี้คนน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ในภาพรวมก็ตอบไม่ถูกว่า ภาพรวมของงานมันซบเซากว่าเดิมหรือไม่” วรกรกล่าว

หากเทศกาลหนังที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของยุโรปอย่างคานส์ (ร่วมกับเทศกาลหนังเมืองเบอร์ลินของประเทศเยอรมัน และเทศกาลหนังเมืองเวนิซของประเทศอิตาลี) ยังเงียบเหงา จะเป็นตัวบ่งชี้ได้หรือไม่ว่า “อุตสาหกรรมภาพยนตร์” โดยรวม อยู่ในภาวะ “กำลังตกต่ำ”

“ธิดา ผลิตผลการพิมพ์” บรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์ Bioscope ผู้คลุกคลีกับข่าวสารในแวดวงภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศมากว่า 20 ปี กล่าวว่า ได้ยินมาเหมือนกันว่า เทศกาลหนังคานส์ปีล่าสุด ผู้จัดจำหน่ายของไทยแทบไม่ซื้ออะไรกลับมาเลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าวงการหนังทั่วโลกจะย่ำแย่เสมอไป เพราะที่ไม่ซื้อกลับมาฉายในเมืองไทยเลย อาจเพราะคิดว่าซื้อมาก็ไม่มีที่ให้ฉาย หรือฉายไปก็ไม่ค่อยมีคนดู เพราะปัจจุบันอย่างที่รู้จักกันว่า โรงหนังทำเป็นธุรกิจเต็มตัว จึงต้องการกำไรสูงสุด เจ้าของโรงหนังส่วนใหญ่จึงมักตัดสินใจเลือกฉายเฉพาะหนังดังๆ จากฮอลลีวูด ที่มีโอกาสทำเงินมากๆ มากกว่า

“หากดูเม็ดเงินโดยรวมของอุตสาหกรรมหนังโลก จะเห็นว่ามันโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันเกิดตลาดของจีนที่ใหญ่โตมหาศาลโผล่ขึ้นมา แต่ตัวเลขที่เยอะแยะเหล่านี้ไม่ได้เฉลี่ยไปที่หนังทุกเรื่อง มันไปกระจุกตัวอยู่ที่หนังใหญ่ไม่กี่เรื่อง” ธิดากล่าว

มูลค่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก ปีล่าสุด ปี ค.ศ. 2015 อยู่ 38,300 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นของสหรัฐฯ และแคนาดา 11,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และอื่นๆ 27,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มา :
มูลค่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกของ ปี ค.ศ. 2015 อยู่ที่ 38,300 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นของสหรัฐฯ และแคนาดา 11,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และภูมิภาคอื่นๆ 27,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มา: Theatrical Market Statistics 2015 ของ MPAA

ตลาดหนังโตเฉื่อยๆ “เอเชียแปซิฟิก” พุ่ง “ยุโรป-แอฟริกา” ทรุด

ในรายงานสถิติที่เกี่ยวข้องกับตลาดภาพยนตร์ (Theatrical Market Statistics) ประจำปี ค.ศ. 2015 ของสมาคมภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (Motion Picture Association of America: MPAA) ให้ข้อมูลว่า มูลค่ารวมตลาดภาพยนตร์โลก ในปี ค.ศ. 2015 อยู่ที่ 38,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.34 ล้านล้านบาท) เกือบครึ่งของตัวเลขงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลไทย โดยเติบโตขึ้นถ้าเทียบกับปี ค.ศ. 2014 ถึง 5% และเติบโตขึ้นถ้าเทียบกับเมื่อห้าปีก่อน หรือในปี ค.ศ. 2011 ถึง 18%

แต่หากลงลึกไปดูในรายละเอียด ก็จะพบว่า ตลาดภาพยนตร์ในส่วนอื่นๆ ของโลก มีทั้งที่ลดลง คือ “ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา” มูลค่ารวม 9,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (3.39 แสนล้านบาท) ลดลงถ้าเทียบกับปีก่อน 9%

เพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือ สหรัฐฯ และแคนาดา มูลค่ารวม 11,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.88 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8%

ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก มีเพียง “ละตินอเมริกา” มูลค่ารวม 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.19 แสนล้านบาท) และ “เอเชียแปซิก” มูลค่ารวม 14,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.93 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นเท่ากันที่ 13%

แต่ในกรณีเอเชียแปซิฟิก เฉพาะประเทศจีน ก็มีมูลค่าถึง 6,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.38 แสนล้านบาท) คิดเป็นเกือบครึ่งของทั้งภูมิภาค !

ทั้งนี้ หากเจาะลึกไปที่ตลาดภาพยนตร์ในสหรัฐฯ และแคนาดา สถานที่ตั้งของฮอลลีวูด (อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ) เป็นหลัก ก็จะพบว่า แม้มูลค่าโดยรวมจะเพิ่มจาก 10,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2011 มาเป็น 11,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2015 หรือเพิ่มขึ้นถึง 9% ในช่วงเวลาเพียงห้าปี

แต่ถ้านำราคาเฉลี่ยตั๋วดูภาพยนตร์ (ตั๋วหนัง) ในสหรัฐฯ และแคนาดา ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน จาก 7.93 เหรียญสหรัฐต่อใบ มาเป็น 8.43 เหรียญสหรัฐต่อใบ หรือเพิ่มขึ้น 6% มาคำนวณด้วย

ก็อาจจะพอบอกได้ว่า ตลาดภาพยนตร์ในสหรัฐฯ และแคนาดา เติบโตเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่ได้เติบโตขึ้นเลย

มูลค่าตลาดหนังโลก2
แนวโน้มอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (14,100 ล้านเหรียญสหรัฐ) และภูมิภาคละตินอเมริกา (3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ) เติบโตขึ้นเท่ากันที่ 13% แต่ภูมิภาคยุโรป, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (9,700 ล้านเหรียญสหรัฐ) กลับหดตัวลงถึง 9% ที่มาข้อมูล: Theatrical Market Statistics 2015 ของ MPAA

ยุคทองของ “หนังภาคต่อ” การันตีรายได้ แม้เนื้อหาไม่หลากหลาย

แม้หลายคนจะเปรียบเทียบภาพยนตร์ที่ฉายและซื้อขายกันในเทศกาลหนังเมืองคานส์ หรือ “หนังคานส์” ว่าไม่ต่างกับ “วรรณกรรม” ที่แม้จะลึกซึ้งและแปลกใหม่ แต่ก็เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมบางกลุ่มเท่านั้น ต่างกับ “หนังฮอลลีวูด” ที่คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบมากกว่า

แต่คุณูปการของหนังคานส์ก็คือการเพิ่ม “ความหลากหลาย” ของเนื้อหา เข้าไปในตลาดภาพยนตร์โลก ท่ามกลางกองทัพหนังฮอลลีวูด ที่ออกฉายถึง 600-700 เรื่องต่อปี

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่รายได้ในตลาดภาพยนตร์ยังกระจุกตัวอยู่ที่หนังฮอลลีวูด ระดับ blockbuster (หนังฟอร์มยักษ์ที่ทุ่มทุนในการผลิตและโปรโมตค่อนข้างสูง โดยคาดหวังว่าจะได้รับรายได้มากๆ) “เพียงบางเรื่อง” เท่านั้น โดยในปี ค.ศ. 2015 เฉพาะหนังที่มีรายได้สูงสุด 25 เรื่องแรก [คิดเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และแคนาดา] ก็ทำรายได้รวมกันถึง 6,250 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.18 แสนล้านบาท) มากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดภาพยนตร์ของสหรัฐฯ และแคนาดา ทั้งหมด

ส่วนเม็ดเงินที่เหลือกว่าครึ่ง จะเป็นการแย่งชิงกันของหนังมากกว่า 600 เรื่อง !

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่แปลกอะไรที่ค่ายหนังฮอลลีวูดทั้งหลายจะเน้นทำแต่ “ภาคต่อ” ของหนัง blockbuster ที่ทำเงินอยู่แล้ว เฉพาะในปี ค.ศ. 2017 ก็มีหนังภาคต่อจ่อคิวเข้าโรงเป็นสิบๆ เรื่อง อาทิ Pirates of the Caribbean: Dead Men Tell No Tales (ภาค 5), Fast 8 (ภาค 8), Maze Runner: The Death Cure (ภาค 3), Godzilla 2 (ภาค 2), Thor: Ragnarok (ภาค 3), Chucky 7 (ภาค 7), The Divergent Series: Ascendent (ภาค 4), Avatar 2 (ภาค 2), Iron Man 4 (ภาค 4), The Wolverine (ภาค 8 ของฮิวจ์ แจ็คแมน ในบทบาทวูล์ฟเวอรีน), Transformers 5 (ภาค 5), Final Destination 6 (ภาค 6), Annabelle 2 (ภาค 2), Insidious 4 (ภาค 4), Pitch Perfect 3 (ภาค 3), World War Z (ภาค 2), Despicable Me 3 (ภาค 3), Guardians of the Galaxy 2 (ภาค 2), Saw 8 (ภาค 8) ฯลฯ

ต้องยอมรับว่า ความพยายามในการสร้างสินค้าที่การันตีรายได้รวมถึงกำไรสูงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดบาปในฐานะคนทำธุรกิจ

แต่ในฐานะผู้เสพภาพยนตร์ซึ่งถือเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง การที่หนังเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่เข้ามาเบียดหนังอื่นๆ จนแทบตกโปรแกรมฉาย ก็อาจทำให้หลายๆ คนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวเลือกในการดูหนังสักเท่าใดนัก

ตัวอย่างภาพยนตร์ "ภาคต่อ" ที่วางแผนจะออกฉายในปี ค.ศ. 2017
ตัวอย่างภาพยนตร์ “ภาคต่อ” ที่วางแผนจะออกฉายในปี ค.ศ. 2017

ตลาดหนังไทยขนาดเล็กมาก เครือโรงหนังใหญ่ครองส่วนแบ่ง 80%

ย้อนกลับมาดูตลาดภาพยนตร์ในไทย หากวัดกันด้วยมูลค่า จะมีขนาดที่ “ค่อนข้างเล็ก” ไม่ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกด้วยซ้ำ โดยในปี 2558 มีมูลค่ารวมกันแค่ 170 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6 พันล้านบาท) น้อยกว่าประเทศอาร์เจนตินา ประเทศที่มีตลาดภาพยนตร์ใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลก ซึ่งมีมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 หมื่นล้านบาท) ถึงเกือบครึ่ง

การนำหนังเข้ามาฉายในเมืองไทย แม้จะมีผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอยู่หลายเจ้า แต่ผู้ตัดสินใจว่าจะให้ฉายหรือไม่ ฉายโรงไหน ฉายกี่รอบ กลับมีผู้เล่นหลักๆ เพียง 2 ราย ได้แก่ เครือ Major Cineplex ของ “ตระกูลพูลวรลักษณ์” และเครือ SF Cinema City ของ “ตระกูลทองร่มโพธิ์” ที่เคยเป็นสายหนังในภาคตะวันออกภายใต้ชื่อ “สมานฟิล์ม” มาก่อน โดยทั้ง 2 เครือ มีโรงภาพยนตร์รวมกันถึง 918 โรง จากโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยทั้งหมดกว่า 1,100 โรง และกินส่วนแบ่งการตลาดในเมืองไทยถึง 80%

และก็เช่นเดียวกับตลาดภาพยนตร์ในประเทศอื่นๆ ที่รายได้ส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวอยู่ที่หนังฟอร์มยักษ์บางเรื่อง โดยเฉพาะหนังฮอลลีวูด อย่างในปี พ.ศ. 2557 เว็บไซต์ boxofficemojo.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมรายได้จากการเข้าฉายของภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ระบุว่า ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในเมืองไทยและทำรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก (หนังฮอลลีวูด 7 เรื่อง หนังไทย 3 เรื่อง โดยเป็นหนังภาคต่อถึง 6 เรื่อง) มีรายได้รวมกว่า 90 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.15 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นกว่าครึ่งของตลาดภาพยนตร์ไทยในปีนั้นทั้งปี

…จากคานส์ ไปฮอลลีวูด กลับสู่เมืองไทย…

ถ้าดูเฉพาะ “ตัวเลข” อาจพูดไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกอยู่ในภาวะตกต่ำ เพราะก็ยังสามารถเติบโตไปได้เรื่อยๆ ในแบบของมัน

แต่ถ้าลงลึกไปดูในรายละเอียด ก็จะเริ่มเห็นปัญหาจากการที่ผู้เกี่ยวข้องมุ่งใช้ภาพยนตร์เป็น “สินค้า” ในการทำกำไรมากขึ้น ผลก็คือความหลากหลายของเนื้อหาภาพยนตร์ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้ชมแทบไม่มีตัวเลือกเมื่อเดินไปดูโปรแกรมที่หน้าโรง ส่วนผู้ผลิตที่ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสดใหม่ ก็ถูกจำกัดโอกาสที่จะขึ้นสู่เวที

ประเด็นเหล่านี้หลายคนๆ คนอาจมองไม่เห็น หากพุ่งความสนใจไปเพียงแต่กรณีดราม่าชมพู่-อารยา บนพรมแดงของเทศกาลหนังเมืองคานส์เท่านั้น

ยังไม่รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่ถูกซุกไว้ใต้พรม โดยเฉพาะปัญหาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ที่เกี่ยวพันตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย สตูดิโอ เจ้าของโรงหนัง ไปจนถึงผู้ชมภาพยนตร์

รอติดตามตอนต่อไป… โครงสร้างอุตสาหกรรมหนังไทย มี “ขนาดเล็ก” เพราะ “การผูกขาด” ?