ThaiPublica > เกาะกระแส > UNFPA ชี้โครงสร้างประชากรยุคเกิดน้อย อายุยืน ส่งผลครอบครัวไทย “ซับซ้อน-หลากหลาย” – หวั่นทัศนคติเจนวายคาดเด็กเกิดใหม่ไม่เกิน 5 แสนคน/ปี

UNFPA ชี้โครงสร้างประชากรยุคเกิดน้อย อายุยืน ส่งผลครอบครัวไทย “ซับซ้อน-หลากหลาย” – หวั่นทัศนคติเจนวายคาดเด็กเกิดใหม่ไม่เกิน 5 แสนคน/ปี

23 พฤษภาคม 2016


เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 นางสาวโยริโกะ ยาซุกาวา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก กองทุนประชากรแห่งสหประชาติ (UNFPA) ได้กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน” ว่า ครอบครัวเป็นหัวใจของภารกิจองค์การสหประชาชาติ ซึ่งสนับสนุนกระบวนการพัฒนาไปสู่การรับประกันสิทธิที่ทุกคนจะมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และบนพื้นฐานนี้ ครอบครัวจะสร้างสันติภาพและชุมชนที่คงอยู่อย่างถาวร

จากการที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 นั่นหมายความว่าทุกประเทศกำลังเรียกร้องเส้นทางการพัฒนาที่จะนำเราทุกคนไปสู่อีกซีกโลกหนึ่งของชีวิตที่แตกต่างไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงว่าเราแต่ละคนจะถูกปกครองอย่างไรและอยู่ด้วยกันอย่างไรในสังคมเดียวกัน

วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 เน้นความสำคัญของความไม่เท่าเทียมกัน การถูกกีดกัน และวาระดังกล่าวยังเป็นการให้คำมั่นสัญญาอีกด้วยว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะให้แน่ใจว่าทุกๆ คนจะได้รับการดำรงชีวิตอยู่อย่างดี

ครอบครัวมีความสำคัญในความพยายามส่วนนี้เพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่เกิดในครอบครัว เราโตมากับครอบครัว เราใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ครอบครัวเป็นที่แรกที่เราเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างเป็นชุมชนและเรียนรู้ที่จะดูแลซึ่งกันและกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมครอบครัวจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นประเด็นของการพัฒนา มีความสำคัญด้านนโยบายสาธารณะ มีความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน เพราะจากมุมมองเหล่านี้ครอบครัวจำเป็นต้องได้รับการรับประกันว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย มีสุขภาพดี มีศักดิ์ศรี ได้รับความรักและการดูแล สำหรับลูกๆ หรือเด็กๆ ต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้ที่จะเคารพและดูและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องเพศ เพศวิถี อายุ ถิ่นกำเนิดหรือเชื้อชาติ ความเชื่อ และความสามารถ

นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงมีความสำคัญที่ครอบครัวต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐผ่านนโยบายสาธารณะ กฎหมายที่เหมาะสม และจากสังคมโดยรวม

เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องมีข้อมูลว่าขณะนี้มีครอบครัวอยู่เท่าใดและอยู่ในรูปแบบใดบ้าง มีองค์ประกอบใดบ้าง ครอบครัวแบบต่างๆ มีความจำเป็นใดบ้าง รวมทั้งมีความต้องการใดบ้างที่จะทำให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง และนี่ก็คือสิ่งที่รายงานฯ ฉบับนี้ (รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน) ได้พยายามทำขึ้นมาเพื่อสังคมไทย

อะไรคือสิ่งที่เราพบ 3 ประเด็นใหญ่

UNFPA4

  • หนึ่ง – ครอบครัวในประเทศไทยมีความหลากหลายมาก และพบว่าครอบครัวเดี่ยวที่มีลักษณะดั้งเดิมที่ประกอบไปด้วยแม่พ่อและลูกไม่ได้เป็นบรรทัดฐานของสังคมอีกต่อไป
  • สอง – พบว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายสาธารณะที่มุ่งจะสนับสนุนครอบครัวไทยในแบบต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเน้นในการป้องกันและสนับสนุนสมาชิกในครอบครัวที่เปราะบางที่สุด ซึ่งรวมไปถึงเด็กๆ ผู้สูงวัย และสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคคลเหล่านี้ต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวโดยลำพัง
  • สาม – พบว่าเราจำเป็นต้องทราบถึงความจำเป็นของครอบครัวแต่ละแบบเพื่อเอาใจใส่ทุกครอบครัวได้ดีขึ้น
  • นอกจากนี้ ยังมีข้อค้นพบที่ขอกล่าวถึงโดยละเอียดดังนี้

  • ครอบครัวสามรุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวประเภทหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตชนบท โดยประชากรกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในครอบครัวประเภทนี้
  • ครอบครัวพ่อ แม่ ลูก ซึ่งเคยเป็นครอบครัวประเภทหลัก มีจำนวนลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง โดยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2556
  • ครอบครัวคู่สามีภรรยาและไม่มีลูก เพิ่มขึ้น 3 เท่า
  • ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 970,000 ครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน
  • ครอบครัวข้ามรุ่นเพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา
  • ครัวเรือนคนเดียวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา
  • ขณะเดียวกัน ยังมีความหลากหลายในครอบครัวแต่ละแบบอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวขยายมีลักษณะแบบคนสามรุ่นอาศัยอยู่ด้วยกัน และก็มีแบบครอบครัวข้ามรุ่นดังที่ได้กล่าวไปแล้วด้วย ภายใต้ครอบครัวเดี่ยว มีลักษณะครอบครัวที่พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน และมีแบบที่เป็นคู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันและไม่มีลูก มีครอบครัวที่เป็นคู่ของเพศตรงข้ามและมีครอบครัวแบบเพศเดียวกันที่มีทั้งแบบมีลูกและไม่มีลูก และมีอีกหลายๆ แบบมากกว่านี้ ซึ่งครอบครัวแต่ละแบบก็มีข้อได้เปรียบและปัญหาต่างกัน รวมไปถึงมีความจำเป็นในการได้รับการสนับสนุนที่ต่างกัน

    สามสิ่งที่โยงใยครอบครัวในแบบต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันคือ

  • หนึ่ง – ภาวะอายุยืนและการเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุของประชากรไทย
  • สอง – อัตราการเกิดที่ลดลง ดังนั้นจึงทำให้ครอบครัวต่างมีลูกน้อยลงๆ
  • สาม – การย้ายถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่สังคมเมือง
  • ทั้งนี้ แนวโน้มทั้งสามอย่างนี้ได้แสดงออกมาให้เห็นในวิถีต่างๆ ของครอบคร้ว ในรูปแบบต่างๆ ของครอบครัว และในท้องที่ต่างๆ ของประเทศ

    ดังนั้น ภาพรวมนี้จึงเป็นภาพที่มีความซับซ้อนแต่บอกได้อย่างดีถึงการที่สังคมไทยเปิดกว้างต่อความแตกต่างของวิถีการดำรงชีวิตของผู้คน ในวีถีของความรักและในวิถีของการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ภาพนี้ยังบ่งบอกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในวัยต่างๆ และเสรีภาพที่เพิ่มมากขึ้นในการที่คนไทยเลือกที่จะดำเนินชีวิต

    UNFPA5

    เป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับประเทศไทยที่จะจัดทำและดำเนินนโยบายที่สามารถส่งเสริมครอบครัวในทุกประเภทได้ และถ้าประเทศไทยจะตัดสินใจเลือกแนวนโยบายที่มุ่งเน้นในการ “ไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลังเลย” นโยบายต่างๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนครอบครัวที่มีความเปราะบางมากที่สุด

    แต่อย่างแรกที่เราจำเป็นต้องทำคือ ชื่นชมในสิ่งที่ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแล้วเพื่อให้ไปถึงในทิศทางนั้น หนึ่งในนั้นคือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมประชากรทุกคนอย่าง 100% อีกมาตรการคือเงินอุดหนุนบุตร ซึ่งรวมไปถึงการลดหย่อนภาษีและการให้เงินสดอุดหนุน รวมทั้งกฎหมายไทยระบุให้มีการลาคลอดได้ 90 วัน และถ้าเป็นข้าราชการ พ่อจะได้สิทธิลาคลอด 15 วันด้วย นโยบายเหล่านี้เป็นการสนับสนุนที่สำคัญต่อครอบครัวไทย

    “แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่สามารถทำได้อีก ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนให้ผู้หญิงไม่ต้องเลือกระหว่างหน้าที่การงานและการมีบุตร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้หญิงที่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงบริการการดูแลเด็กให้มีคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เด็กที่ต่ำกว่า 2 ขวบซึ่งยังเป็นช่วงก่อนเกณฑ์อายุที่สามารถจะรับบริการจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ”

    ขณะที่ผู้ชายควรได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กและครอบครัวมากกว่านี้ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วใช้เวลามากถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้ชายในการทำหน้าที่เหล่านี้ และเพื่อให้ผู้ชายได้มีส่วนร่วมในการดูแลนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีแรงจูงใจในที่ทำงาน เช่น การให้พ่อลาคลอด อย่างไรก็ดี เด็กๆ ควรได้รับการสอนตั้งแต่ยังเยาว์ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้ชายไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ควรมีส่วนร่วมในการดูแล ดังนั้น การศึกษาที่เน้นความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด

    ความจำเป็นอีกด้านที่รายงานฯ ฉบับนี้เน้นคือ การสนับสนุนสตรีและเด็กผู้หญิง การแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย สตรีวัยรุ่นและเด็กผู้หญิงจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนให้หลีกเลี่ยงการแต่งงานหรือตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุน้อยจนเกินไป และถ้าเด็กหญิงต้องยุติการตั้งครรภ์ พวกเธอยังคงต้องได้ศึกษาอยู่ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุผลนี้ ซึ่งยินดีมากที่ประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพื่อตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายเหล่านี้ และเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้กฎหมายเหล่านี้กลายเป็นมาตรการอย่างชัดเจนให้เร็วที่สุด

    อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเปราะบางซึ่งต้องการการสนับสนุน คือ กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสตรีผู้สูงอายุ ยกตัวอย่าง ในครอบครัวข้ามรุ่น มีมากกว่าครึ่งที่หัวหน้าครอบครัวอายุมากกว่า 60 ปี และร้อยละ 90 คือผู้หญิง มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้สูงวัยที่เป็นหัวหน้าครอบครัวข้ามรุ่นต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงปากท้องของครอบครัว และ 1 ใน 5 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

    “นี่เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง แต่ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นที่จะต้องชื่นชมว่าผู้สูงอายุเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ ท่านผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ง่ายเหล่านี้ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากในการดูแลและเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูแลคนที่มีความจำเป็นมากที่สุด คือ ลูกๆ ที่แยกจากพ่อแม่ ดังนั้น เราจำเป็นต้องเน้นนโยบายในการจัดหาสิ่งที่คนสูงวัยต้องการ เพื่อที่ท่านเหล่านี้จะสามารถดำรงศักยภาพและดูแลสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็ลดความยากลำบากและความเครียดที่เกิดขึ้นให้ท่านด้วย”

    ประเภทของครอบครัวที่เราจำเป็นต้องรู้จักมากขึ้นคือ ครอบครัวเพศเดียวกัน เราทราบดีว่ายังคงเป็นหนทางอีกไกลมากที่จะรับรองว่ากลุ่มคนรักเพศเดียวกันจะมีโอกาสได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม ทั้งนี้ รวมถึงสิทธิในการตั้งครอบครัว สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือแบบที่ครอบครัวประเภทอื่นๆ ได้รับ ในแง่บวกที่รายงานฯ ฉบับนี้แสดงให้เห็นคือสังคมไทยส่วนใหญ่ยอมรับคนที่รักเพศเดียวกันในฐานที่เป็นเพื่อน เป็นสมาชิกในครอบครัว มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนทั่วไปคาดว่าจะเห็นด้วยกับกฎหมายที่ยอมรับการอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวของคนเพศเดียวกัน

    สุดท้าย เราจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรืออยู่กับคนใดคนหนึ่ง ลูกจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะได้อยู่กับพ่อและแม่ และด้วยเหตุที่ว่าพ่อแม่มากมายจำเป็นที่จะต้องทิ้งลูกไว้ให้อยู่กับปู่ย่า/ตายายคือผู้อพยพ จึงสำคัญมากที่จะต้องจัดหางานและค่าตอบแทนที่ดี ที่พักที่เหมาะสม และบริการการดูแลเด็กที่ดี เพื่อทำให้พ่อแม่ที่เป็นผู้อพยพเหล่านี้ได้อยู่กับลูกของตนเอง สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ได้อยู่กับลูก จำเป็นอย่างมากที่นายจ้างจะจัดหาให้แรงงานต่างด้าวสามารถมีวันลาที่เพียงพอในการไปเยี่ยมลูกได้อย่างเป็นประจำ

    “ดิฉันขอกลับมาที่เรื่องวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 ดูเหมือนว่าหัวใจของวาระนี้คือการพัฒนารากฐานตามหลักจริยธรรม และเน้นสร้างสังคมที่ดีขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น และดูแลห่วงใยกันมากขึ้น ที่จะไม่ละทิ้งใครไปไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน และเพื่อที่จะทำเช่นนั้นได้ เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่าครอบครัวทั้งหมดมีความสุขและสามารถใช้หลักการเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลลูก และนี่ไม่สามารถจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครอบครัวเท่านั้น จำเป็นที่รัฐจะต้องมีความมุ่งมั่น มีการสนับสนุนด้านทรัพยากรอย่างเพียงพอ เพื่อสนับสนุนครอบครัวที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวยากจนหรือเปราะบาง เพื่อครอบครัวเหล่านี้จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างดี ที่พักอาศัยที่ดี สภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีการบริการสาธารณสุขและการศึกษาที่ดี และได้มีเวลาใช้ร่วมกัน และเพื่อจะได้มีความสุขจากการได้อยู่ด้วยกันและแสดงความรักความห่วงใยต่อกัน” นางสาวโยริโกะกล่าว

    ขณะนี้ที่โลกกำลังไม่มีความสุขจากการขาดความอดกลั้น ลัทธิสุดโต่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่รัฐจะสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถขยายขอบเขตการดูแลซึ่งกันและกันให้กว้างออกไป และเพิ่มความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อที่จะสร้างสังคมที่สงบสุขและทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตามอย่างที่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 กำลังเรียกร้องให้เราทำ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่รับประกันได้ว่าทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่มีการคำนึงถึงความแตกต่างที่แต่ละคนมีอยู่ UNFPA หวังว่าจะได้ร่วมทำงานกับรัฐบาลและประชาชนคนไทยเพื่อทำให้สังคมอุดมคตินี้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

    UNFPA3

    UNFPA2

    สถานการณ์ครอบครัวไทยในปัจจุบัน

    ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า ลักษณะสำคัญของครอบครัวไทยในปัจจุบัน ที่เป็นผลจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา และจะเป็นโจทย์ความท้าทายต่อการพัฒนาในอนาคต คือ

    1. ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง และมีรูปแบบที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งปัจจัยทางด้านประชากรที่การเกิดน้อยลงและคนมีอายุยืนขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครอบครัวไทย โดย

  • อัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 6.3 คนในปี 2507 เป็น 1.6 คนในปี 2559 และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 1.3 คนในปี 2583
  • คนไทยอายุยืนขึ้น ผู้ชายมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 56 ปีในปี 2507 เป็น 72 ปีในปี 2559 และคาดว่าจะเฉลี่ย 75 ปีในปี 2583 ส่วนผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 62 ปี เป็น 78 ปี และในปี 2583 คาดว่าจะเฉลี่ย 82 ปี
  • อัตราเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2547-2557 เฉลี่ยปีละ 800,000 คน คาดว่าใน 25 ปีข้างหน้าจะลดลงเหลือต่ำกว่า 500,000 คนต่อปี
  • ขนาดของครอบครัวไทยลดลง จากเฉลี่ย 5.2 คนในปี 2523 เหลือ 4.4 คนในปี 2533 และเหลือ 3.1 คนในปี 2543 คน และในปี 2557 เหลือเฉลี่ย 2.7 คน เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วครอบครัวไทยมีขนาดน้อยกว่าสิงคโปร์ที่มี 3.5 คน ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นที่มี 2.71 คน และเกาหลีใต้ที่มี 2.97 คน
  • 2. ครอบครัวใหม่ๆ อาทิ ครอบครัวที่มีแค่สามี ภรรยา ไม่มีลูก ครอบครัวเพศเดียวกัน ครอบครัวอยู่คนเดียว ซึ่งครอบครัวอยู่คนเดียวกับครอบครัวไม่มีลูกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ครอบครัวที่มีเฉพาะสามีภรรยาเพิ่มจาก 5.6% ในปี 2530 เป็น 16.2 % ในปี 2556 และครอบครัวคนเดียวเพิ่มจาก 6.1% เป็น 13.9% รวมทั้งครอบครัวเดี่ยวที่มีพ่อแม่ลูกลดลงอย่างมากเช่นกัน จาก 52.4% เหลือ 26.6%

    3. ความอบอุ่นของครอบครัวลดลง ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 สศช. ได้พัฒนาดัชนีชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย พบว่าความอบอุ่นของครอบครัวลดลงจาก 68.31% ในปี 2555 เป็น 65.60% ในปี 2557 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง

    สำหรับโจทย์ที่ท้าทายการพัฒนาประเทศ คือ

    1. โครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 และในปี 2564 จะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรผู้สูงวัยมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่วัยเด็กและวัยแรงงานจะลดลง และยิ่งสถานการณ์ครอบครัวเป็นดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ครอบครัวมีบทบาทในการผลิตและสร้างคนให้มีคุณภาพอย่างเต็มที่

    2. ประชากรรุ่นเจเนอเรชันวาย (เจนวาย) หรือคนที่เกิดในช่วงปี 2523-2546 ถือเป็นกลุ่มวัยแรงงานและวัยเจริญพันธุ์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศและการผลิตประชากรรุ่นต่อไปในอนาคต กลับมีทัศนคติและวิธีคิดแตกต่างจากคนยุคก่อนหน้า เช่น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง รักอิสระ มีความเป็นเจกสูง แต่งงานช้า แสวงหาการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และไม่ให้ความสำคัญกับการมีครอบครัว เหล่านี้จึงมีผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศในอนาคต ซึ่ง 5-10 ปีจากนี้ เจนวายมีบทบาทสำคัญในกำลังแรงงานและการผลิตประชากรรุ่นต่อไป แต่การพัฒนาประเทศในระยะยาวต้องคำนึงถึงทัศนคติของประชากรรุ่นถัดไป หรือประชากรรุ่นเจเนอเรชันซี (Generation Z) ซึ่งเป็นประชากรวัยเรียนปัจจุบัน โดยแบบแผนการดำเนินชีวิตของประชากรเจนซีจะมีผลต่อโครงสร้างประชากรของประเทศในอนาคต

    3. ความเหลื่อมล้ำจากลักษณะครอบครัวที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวข้ามรุ่น ครอบครัวพ่อและแม่เลี้ยงเดี่ยว มักมีปัญหาทางเศรษฐกิจ โอกาสในการศึกษา ฯลฯ ก็อาจจะมีแนวโน้มเป็นคนจนเรื้อรัง ยากที่จะยกระดับให้หลุดพ้นความยากจน ขณะที่ครอบครัวอยู่คนเดียวก็มีมากขึ้น หากไม่เตรียมความพร้อมทางการเงินตั้งแต่ช่วงวัยแรงงาน ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวอาจจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจต่ำกว่ากลุ่มคนอื่นๆในอนาคต