ThaiPublica > คนในข่าว > คุยกับ “ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” 1 เดือนหลังทหารบุกถึงบ้าน อนาคตประเทศไทยใต้รัฐบาล คสช.

คุยกับ “ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” 1 เดือนหลังทหารบุกถึงบ้าน อนาคตประเทศไทยใต้รัฐบาล คสช.

13 มกราคม 2016


นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

จากเหตุการณ์ที่สร้างเสียงวิจารณ์อื้ออึงในแวดวงวิชาการ ช่วงปลายปี 2558 เมื่อทหารจำนวนหนึ่งเดินทางไปขอพบ “นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการอาเซียนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงบ้านพักส่วนตัวใน จ.นนทบุรี (แต่ได้พบภรรยาชาวสหรัฐอเมริกาแทนเนื่องจากธเนศไม่อยู่บ้าน) พร้อมระบุว่าจะมาสังเกตการณ์ทุกวันที่ 15 ของเดือน และหากนายธเนศจะไปต่างประเทศต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน

แม้เวลาจะผ่านมาเกือบเดือนแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีการชี้แจงจาก คสช. ว่าเหตุใดถึงส่งทหารไปขอพบนายธเนศถึงบ้านพักส่วนตัว ทั้งๆ ที่ ที่ผ่านมานายธเนศก็ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ โดยนักวิชาการบางส่วนวิเคราะห์ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารจะไปพบนักวิชาการที่ชื่อ “ธเนศ” ผิดคน

ต้นปี 2559 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เดินทางไปพูดคุยกับนายธเนศถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมขอให้ช่วยวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ “มาเยี่ยม” ครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อแวดวงวิชาการของเมืองไทย รวมถึงชวนคุยถึงอนาคตบ้านเมืองในขณะที่รัฐบาล คสช. กำลังเดินหน้านโยบาย “ประชารัฐ”

ไทยพับลิก้า: หลังจากอาจารย์ธเนศถูกทหารมาเยี่ยมที่บ้าน มีการพูดกันว่า นักวิชาการคนอื่นๆ ก็มีสิทธิถูกทหารไปเยี่ยมที่บ้านได้เช่นกัน คิดอย่างไรต่อคำพูดแบบนี้

น่าจะเป็นสัญญาณที่บอกว่า นักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจะต้องระมัดระวัง เพราะการใช้อำนาจที่มีลักษณะพิเศษ โดยไม่รู้ว่าเป้าหมายคือใคร กระบวนการเป็นอย่างไร และจะไปจบที่ตรงไหน สิ่งนี้จะทำให้คนกังวลเพราะไม่รู้ชะตากรรมตัวเอง ทางป้องกันที่ดีที่สุดคือนิ่งหรือสงบ ไม่ทำอะไรให้ตัวเองต้องตกไปอยู่ในสภาพนั้น คือหากเป็นนักการเมือง หรือคนที่มีมวลชน มีเครือข่าย ก็อาจจะป้องกันตัวเองได้ แต่คนทำงานที่ไม่ได้เป็นกลุ่มผลประโยชน์ เช่น นักวิชาการ เอ็นจีโอ ระยะหลังจะถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเกิดเครือข่ายหลวมๆ ในหมู่อาจารย์ แต่ก็เป็นเพียงเครือข่ายเรียกร้องให้เกิดกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนขึ้น ไม่ได้ไปช่วยต่อต้านหรือทำให้อีกฝ่ายหยุด

ไทยพับลิก้า: เพราะนักวิชาการไม่ได้มีพลังขนาดนั้น

มันมีพลังในแง่เนื้อหาที่นำเสนอ แต่คนที่เข้าใจ ก็อาจจะแค่เห็นด้วย ไม่จำเป็นต้องออกมา เพราะนักวิชาการไม่มีเครือข่าย การที่จะมีกลุ่มคนออกมาเสียสละเพื่อช่วยนักวิชาการ ค่อนข้างจะยาก (ภรรยานายธเนศที่นั่งอยู่ด้วยกล่าวเสริมว่า ที่สหรัฐฯ ปกติ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่ไปพบนักวิชาการที่บ้านพักส่วนตัว ยกเว้นกรณีเดียวคือรู้สึกว่าเป็นศัตรูของประเทศ)

ไทยพับลิก้า: แสดงว่าสถานะนักวิชาการไทยก็ไม่ปลอดภัย

มันมีการใช้วิธีการข่มขู่อยู่จริง ที่น่ากลัวคือถูกใช้อย่างไม่เป็นระบบ ปัญหาก็คือเป้าหมายของเขาคืออะไร แต่สิ่งที่บรรลุแน่นอนคือ ทำให้เสียงสะท้อนทางวิชาการลดระดับลงจนกระทั่งไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์

ไทยพับลิก้า: คิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ทหารมาเยี่ยมถึงที่บ้าน

ประเมินจากสิ่งที่พูดและเขียนในช่วงเวลาที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทนำเสนอที่เขียนลงหนังสือของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวสหรัฐฯ ที่เป็นอาจารย์ของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยชื่อดังอีกหลายๆ คน) เรื่อง “ชาติกับมนุษยชาติ” ในงานชิ้นดังกล่าว จะอ้างอิงถึงสิ่งที่อาจารย์เบนบอกว่า คนจำนวนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องชาตินิยม คิดว่าเป็นสิ่งที่บรรพชนสร้างให้ เป็นของเก่า ของสูง เป็นสิ่งที่อดีตส่งมาให้เรา ทั้งที่จริงๆ เป็นโครงการร่วมกันของประชาชน

ไทยพับลิก้า: แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐบาล คสช.

ต้องไปคิดเอง คืองานเขียนของอาจารย์เบนได้วิพากษ์ทฤษฎีกำเนิดชาตินิยม ที่หลายคนเข้าใจว่ามาจากยุโรปตะวันตก จริงๆ แล้วไม่ใช่ มาจากลาตินอเมริกาและประเทศนอกยุโรปทั้งหลาย โดยอาจารย์เบนเน้นว่า “ความเป็นชาติ” เป็นของใหม่ คือ ประวัติศาสตร์ของทุกชาติมักจะเริ่มต้นเล่าถึงชาติ พอมีชาติก็มีชาตินิยม ทุกคนต้องรักชาติ รักผู้ปกครอง ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน ทั้งที่จริงๆ แล้วชาติเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่ถึง 100 ปี แน่นอนว่ารัฐโบราณมีอยู่จริง แต่สมัยนั้นไม่มีชาตินิยม

ชาตินิยมในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่สังคมไทยเข้าใจและใช้กันอยู่ มันเป็นสิ่งที่เข้าใจผิดกันทั้งนั้น โดยหนังสือของอาจารย์เบนได้อธิบายให้เห็นเป็นฉากๆ ว่า ความเข้าใจนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันเป็น “จินตกรรม” หรือความคิดที่ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในประเทศโลกที่สาม ทั้งในลาตินอเมริกาจนถึงเอเชีย จินตกรรมเรื่องชาตินิยมในสังคมไทยเป็นสิ่งที่ชนชั้นสูงคิดขึ้นก่อนส่งทอดมาให้ชนชั้นกลาง

ที่ตะวันตกคิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพราะรู้ว่าการปกครองที่อาศัยขุนนาง พระ และกองทัพ หมดยุคไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ในยุคที่ทุกคนอยากเข้ามาร่วม มีกฎหมายเป็นกติกา ไม่ใช่ทำตามอำนาจและความเชื่ออย่างเดียว ทุกคนเท่ากันหมด

ไทยพับลิก้า: คิดอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้

ทุกประเทศในโลกตอนนี้มีอนาคตเหมือนกันหมด คือต้องพัฒนาการผลิตเพื่อตอบสนองการบริโภค จะได้นำไปสร้างการผลิตต่อไป ระบบเศรษฐกิจขณะนี้คือระบบ “ทุนนิยมอุตสาหกรรม” ที่ต้องผลิตและยกระดับเครื่องมือการผลิตต่อๆ ไป เพื่อขยายตลาด ขยายผู้บริโภค ขยายความต้องการ ทำให้ทุนเติบโตต่อไปได้ ประเทศไหนไม่มีเรื่องการผลิตและการบริโภค ก็จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนจะลำบากและออกมาประท้วง นำไปสู่ปัญหาการเมืองภายในประเทศ

ภาพรวมของรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม จะไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแน่ๆ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง โอกาสขยายทุนอุตสาหกรรมแบบเต็มที่จะทำยาก เพราะชาวบ้านมีเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงต่อต้าน แล้วข้อมูลข่าวสารมันไปถึงกันหมดแม้จะมีทั้งจริงบ้างไม่จริงบ้าง ต่างกับรัฐบาลรัฐประหาร ที่มีโอกาสที่จะยกให้ทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรับไปทำเลย ซึ่งจะทำให้เกิดได้เร็วขึ้น เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ทั้งที่ดอกเบี้ยสูง เทคโนโลยีก็ไม่ได้ดีกว่าญี่ปุ่น แต่กลับยังเดินหน้าได้ ทั้งที่หากเกิดขึ้นในรัฐบาลเลือกตั้ง ป่านนี้ต้องถูกสื่อถล่มทุกวันจนต้องล้มเลิกโครงการไปแล้ว ไม่มีทางผ่าน

ไทยพับลิก้า: แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ก็ต้องอาศัยอำนาจพิเศษ

สังคมไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างใหญ่ๆ ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษ เพราะหากมาจากการเลือกตั้ง บางครั้งก็ถูกคัดค้านจนถูกตีตกไป หรือจะทำไปก็ไปได้ไม่ไกล

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ยังต้องไปพิสูจน์ต่อว่าจริงหรือไม่

ไทยพับลิก้า: อาจารย์ธเนศเคยผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง พบข้อแตกต่างระหว่างรัฐบาลรัฐประหารครั้งนี้กับครั้งก่อนๆ อย่างไรบ้าง

เท่าที่พบมี 2 ข้อ ประการแรก เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่ยึดอำนาจมา 1 ปีแล้วไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ไม่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ยังเป็นแค่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ถือว่าผิดสเปกกับการรัฐประหารที่ผ่านๆ มา และประการที่สอง แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญในอดีตจะเป็นไปแล้วแต่คณะกรรมการยกร่าง แต่คราวนี้มีการตั้งธงว่าต้องไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเด็ดขาด ต้องมีองค์กรอย่างสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ หรือ คปป. ขึ้นมาคุมรัฐบาลอีกระดับหนึ่ง จนบางคนบอกว่าเป็นการยึดอำนาจโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ไทยพับลิก้า: เรื่องการควบคุมสื่อมีความแตกต่างกันหรือไม่ ทั้งกรณีคุณเซีย ไทยรัฐ (นามปากกาของนักเขียนการ์ตูนประจำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ) หรือกรณีอื่นๆ

การคุมสื่อเงียบๆ มันมีอยู่แล้ว แต่การคุมสื่ออย่างเปิดเผย เช่น เรียกไปปรับทัศนติ หลายคนก็สงสัยว่า มาตรฐานอยู่ตรงไหน เช่น กรณีคุณเซีย เท่าที่ฟังจากรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน วันที่ทหารเรียกไปปรับทัศนคติ การ์ตูนของคุณเซียที่เขียนในวันนั้นก็ไม่ได้แรงมาก น้อยกว่าวันอื่นๆ เสียอีก คนจึงงงว่าน้ำหนักในการตัดสินใจว่าจะเรียกใครไปปรับทัศนคติอยู่ที่ตรงไหน หรือกรณีวอยซ์ทีวี วันไหนที่วิจารณ์รัฐบาลมากหน่อย เขาก็จะเตือนผ่านคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะโทรศัพท์มาที่สถานี หรือห้ามพิธีกรบางคนออกโทรทัศน์เลย

ผมคิดว่า ยิ่งเวลามันงวดขึ้นมาเท่าไร เขาก็ยิ่งกลัวการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ เขาก็คุมหมด แต่น่าแปลกว่าทำไมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงยังมีพลังขนาดนี้ อย่างที่ พล.อ. ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.) ออกมาด่าสื่อมวลชนในการให้สัมภาษณ์ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนก็ไม่ได้เชียร์เขาทั้งหมด

หน้าปกหนังสือเบเนดิกท์_แอนเดอร์สัน
หน้าปกหนังสือของนายเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน หรืออาจารย์เบน ที่นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ไปเขียนบทนำเสนอ เรื่อง “ชาติกับมนุษยชาติ” ให้ ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารต้องเดินทางมาพบถึงบ้านพักส่วนตัว

ไทยพับลิก้า: คนบางกลุ่มยังมองว่า แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หากมีผู้นำที่ดี ทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นต่อประเทศ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือ

โลกสมัยใหม่มีความซับซ้อนไม่เหมือนกรีกสมัยเพลโตที่เป็นนครรัฐและมีการปกครองซึ่งไม่ซับซ้อนอีกต่อไป การหานักปราชญ์มาเป็นราชา คนคนเดียวคงหาไม่ยาก แต่การปกครองในปัจจุบัน ใช้ระบบราชการ จะทำให้ทุกคนเป็นราชาปราชญ์เหมือนกันหมด จะเอามาจากไหน ที่ตะวันตกคิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพราะรู้ว่าการปกครองที่อาศัยขุนนาง พระ และกองทัพ มันหมดยุคไปแล้ว ปัจจุบันมันอยู่ในยุคที่ทุกคนอยากเข้ามาร่วม มีกฎหมายเป็นกติกา ไม่ใช่ทำตามอำนาจและความเชื่ออย่างเดียว ทุกคนเท่ากันหมด

ไทยพับลิก้า: การเลือกตั้ง ซึ่งให้ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน จึงควรจะเป็นคำตอบ

ใช่ แม้การเลือกตั้งในโลกที่ 3 จะไม่ได้ผลดีเท่าโลกที่ 1 เพราะพื้นฐานในสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำสูง และทรัพยากรยังไม่ได้ถูกกระจาย ยังมีการผูกขาดรวมศูนย์อยู่ในคนบางกลุ่มบางชนชั้นเท่านั้น เลือกตั้งเมื่อใดก็ต้องใช้เงิน เลยกลายเป็นว่าคนที่มีเงินก็มีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่มีเงิน พอได้ตำแหน่งมาแล้วก็ต้องหาคนมาช่วยขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี จึงเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน หลายกรณีรัฐมนตรีหรือ ส.ส. ก็ไม่อาจรู้ว่า ที่เซ็นไปมีการสมคบกันหาประโยชน์

ไทยพับลิก้า: ฝ่ายที่ปฏิเสธการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมาก็เคยตั้งคำถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าเลือกตั้งเข้าไปแล้วจะไม่โกง

จริงๆ มันขึ้นอยู่กับความเชื่อของคนนะ เรื่องนี้พูดยาก ถ้าถามผม สิ่งที่เราต้องการจากรัฐบาลคือทำอย่างไรก็ได้ให้เกี่ยวข้องกับการปกครองให้น้อยที่สุด แล้วปล่อยให้กลไกต่างๆ ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมดขับเคลื่อนอย่างเสรี รัฐบาลทำหน้าที่เพียงออกกฎมารองรับเรื่องนั้นๆ แล้วกำกับอย่าให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน

ไทยพับลิก้า: รัฐบาลปัจจุบันก็ประกาศเดินหน้านโยบาย “ประชารัฐ” ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น

มันจะเรียกอะไรก็ตาม อยู่ที่ว่าเป้าหมายคืออะไร แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำอยู่คือให้เงิน ให้อะไรต่างๆ ไป มันไม่ได้สร้างความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากร ตลาด เทคโนโลยี ผู้ผลิตรายเล็กๆ ไม่มีทางเป็นอิสระได้ ชาวนาก็เป็นชาวนา ยังต้องไปกู้เงินมาซื้อปัจจัยการผลิตอยู่

หากอยากจะทำให้สำเร็จ บางทีอาจต้องกลับไปตั้งแต่สมัยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ หลังอภิวัฒน์ประเทศเมื่อปี 2475 ที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งหมดผ่านสหกรณ์ ถ้าทำมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วมันใช้การได้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ปกครองด้วยระบบสหกรณ์

ไทยพับลิก้า: ระบบสหกรณ์คืออะไร

คือการให้ประชาชนรวมกลุ่มกัน ทำหน้าที่เป็นนิติบุคคล เก็บเงินได้ รับฝากเงินได้ แล้วนำเงินเหล่านี้ไปลงทุน หรือซื้อสิ่งของต่างๆ มาให้สมาชิก สิ้นเดือนก็นำกำไรมาปันผลให้สมาชิก เหมือนกับเราซื้อหุ้นบริษัท

แต่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่มีกลไกที่ทำให้เอกชนขยัน ต้องแข่งขัน แล้วรัฐบาลจะทำเฉพาะสิ่งที่เอกชนไม่มีเงินสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน โทรคมนาคม โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ รัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วมีหน้าที่คือทำอย่างไรก็ได้ให้เอกชนหาเงินได้

ไทยพับลิก้า: แต่เวลานี้ประเทศไทยเหมือนติดกับดักอยู่ ทำให้พัฒนาได้ไม่ถึงไหน

เพราะเรายังมีฐานันดร มีอะไรต่างๆ อีกเยอะแยะ ถ้าคุณเปิดฐานเศรษฐกิจให้เท่ากันหมด ใครดีใครจนไม่รู้ ถ้าขยันก็จะรวย พวกที่เคยรวยด้วยเงินเก่าจะอยู่ไม่ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือกระจายการถือครองที่ดิน เอาไปให้คนที่ใช้ทำมาหากิน ไม่ใช่ซื้อเก็บไว้แล้วมาแบ่งขายเก็งกำไร ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ที่ตรงนี้เหมาะจะสร้างโรงงาน ถึงจะอนุญาตให้ทำได้

แต่แนวคิดของรัฐบาลที่ผ่านมา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่โง่ ไม่มีความรู้ จึงต้องสงเคราะห์เขาอยู่ตลอดเวลา

ไทยพับลิก้า: สิ่งเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไหม

คงใช้เวลาเป็นร้อยปี

ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลไทยจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่สิ่งที่รับเข้ามาก็เพียงแค่เปลี่ยนคนของเราให้ไปเป็นลูกจ้าง ไม่มีการยกระดับฐานะ เช่น เกษตรกรที่เรียกกันว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ก็ยังเป็นกระดูกอยู่อย่างนั้น ไม่เคยได้เป็นตัวคนอย่างสมบูรณ์เสีย