ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม : โอกาสในการปฏิรูปภาคการประมงไทย (ตอนที่ 2)

ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม : โอกาสในการปฏิรูปภาคการประมงไทย (ตอนที่ 2)

25 มกราคม 2016


อรนุช แสงจารึก

ต่อจากตอนที่ 1

4.

มาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing Measures)

การที่จะป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมง IUU ให้หมดสิ้นไปนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศ ไม่แต่เฉพาะรัฐชายฝั่งที่มีอาณาเขตทางทะเลและมีการดำเนินกิจกรรมทางการประมงทะเลเท่านั้น รัฐภายในซึ่งเป็นตลาดสินค้าสัตว์น้ำก็สามารถกำหนดมาตรการในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมง IUU ได้เช่นกัน

ดังนั้น แผนปฏิบัติการสากลฯ (IPOA-IUU) จึงได้กำหนดมาตรการของรัฐเจ้าของธง (flag state measures) รัฐเจ้าของท่าเรือ (port state measures) รัฐชายฝั่ง (coastal state measures) และมาตรการที่เกี่ยวข้องในด้านการค้าระหว่างประเทศ (internationally agreed market¬ing-related measures) ไว้เพื่อให้แต่ละประเทศและองค์กรบริหารจัดการประมงในภูมิภาคต่าง ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติด้านการประมง สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้ และ

4.1 มาตรการสำหรับรัฐเจ้าของธง (flag state measures)

4.1.1 รัฐเจ้าของธงต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะทำให้การขจัดการทำประมง IUU ประสบผลสำเร็จ และมีความต่อเนื่องในแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการในการขจัดการทำประมง IUU

4.1.2 รัฐเจ้าของธงต้องควบคุมกิจกรรมการทำประมงของเรือที่ชักธงของประเทศตน รวมถึงเรือที่ใช้สนับสนุนการทำประมง เช่น เรือส่งเสบียงและน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลและนำสัตว์น้ำนั้นกลับเข้าท่าเรือ หรือสะพานปลา ฯลฯ มิให้มีการทำประมง IUU

4.1.3 รัฐเจ้าของธงควรจดทะเบียนเรือประมงทุกประเภท ทุกขนาดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนเรือที่เคยมีประวัติการทำประมง IUU มาก่อน

4.1.4 ก่อนการรับจดทะเบียนเรือประมง หรืออนุญาตให้เรือประมงลำใดชักธงของประเทศตน ควรต้องมีความมั่นใจในความสามารถของหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศตนว่ามีศักยภาพในการควบคุมการทำการประมงของเรือลำนั้น

4.1.5 เพื่อให้การควบคุมเรือประมงมีผลอย่างจริงจัง ประเทศเจ้าของธงเรืออาจเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ปฏิบัติได้จริง ตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการสากลฯ (IPAO-IUU) เช่น การกำหนดให้มีการรายงานตำแหน่งทางวิทยุ การให้บันทึกตำแหน่งเรือลงในสมุดบันทึกการทำประมงหรือสมุดปูมเรือ (fishing logbook) เป็นประจำ และการใช้ระบบติดตามตำแหน่งเรือประมง (Vessel Monitoring System: VMS) เพื่อให้ทราบตำแหน่งของเรือของตนทุกลำ

4.1.6 รัฐเจ้าของธงควรสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ โดยวิธีการตรวจสอบนี้รวมถึงการตรวจสอบเป็นประจำที่ท่าเทียบเรือและการใช้ผู้สังเกตการณ์อิสระประจำอยู่บนเรือ

4.1.7 รัฐเจ้าของธงควรทำให้มั่นใจได้ว่ามีมาตรการลงโทษผู้ทำการประมง IUU ที่รุนแรงเพียงพอต่อการกระทำความผิด ควรลงโทษเรือประมงที่ไม่รายงานหรือรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จ และในกรณีที่มีการกระทำความผิดอย่างรุนแรง เรือดังกล่าวควรถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมง หรือให้ระงับการใช้ใบอนุญาตเป็นการชั่วคราว

กล่าวโดยสรุป มาตรการที่รัฐเจ้าของธงควรดำเนินการ คือ ต้องจดทะเบียนเรือประมงที่ชักธงของตนทุกลำ โดยให้มีระบบการจดทะเบียน การพักหรือการถอนทะเบียนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเรือประมง และการทำประมงของเรือดังกล่าวไว้อย่างครบถ้วน มีระบบการออกใบอนุญาตการทำประมง การพักและถอนใบอนุญาตทำการประมง และมีระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) เพื่อตรวจสอบ ติดตามการทำประมงของเรือเหล่านั้น ตลอดจนให้เรือประมงเหล่านั้นมีการรายงานข้อมูลการทำประมงอย่างสม่ำเสมอ

4.2 มาตรการสำหรับรัฐเจ้าของท่าเรือ (port state measure)

4.2.1 ทุกประเทศต่างมีอธิปไตยสมบูรณ์ในท่าเทียบเรือทุกแห่งของตน ดังนั้นจึงสามารถใช้มาตรการเพื่อป้องกันเรือที่ทำการประมง IUU เข้ามายังประเทศตนได้ โดย
• ปฏิเสธการเข้าเทียบท่าของเรือต่างชาติ (ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินหรืออยู่ในภาวะอันตราย)
• ห้ามเรือประมงต่างชาตินำสัตว์น้ำมาขึ้นท่า หรือทำการขนถ่ายสัตว์น้ำในบริเวณท่าเรือ
• กำหนดให้เรือประมงที่จะเข้าเทียบท่าต้องส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับเรือ และข้อมูลในการทำการประมง และตรวจสอบเรือที่สมัครใจให้ตรวจสอบขณะเข้าเทียบท่า

4.2.2 ประเทศเจ้าของท่าเรือทุกประเทศ ควรกำหนดให้เรือประมงต่างชาติที่ขออนุญาตเข้ามาเทียบท่าทุกลำดำเนินการ
• แจ้งขออนุญาตเข้าเทียบท่าเรือเป็นการล่วงหน้าตามสมควร
• ส่งมอบสำเนาใบอนุญาตการทำการประมง
• แจ้งรายละเอียดการทำประมงของเที่ยวเรือนั้น
• แจ้งปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่บนเรือ

4.2.3 ก่อนที่รัฐเจ้าของท่าจะอนุญาตให้เรือต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการประมงลำใดลำหนึ่งเข้าเทียบท่าเรือ ควรทำการสอบถามข้อมูลก่อนอนุญาต

4.2.4 ประเทศที่มีท่าเทียบเรือประมงควรอนุญาตให้เรือประมงเข้าเทียบท่าได้ก็ต่อเมื่อได้ทำการตรวจสอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำการประมงของเรือลำนั้น เพื่อแจ้งต่อรัฐเจ้าของธงหรือองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMO) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แก่ ชื่อรัฐเจ้าของธงของเรือลำนั้นและรูปพรรณของเรือโดยละเอียด ชื่อ สัญชาติและคุณสมบัติของนายท้ายเรือและผู้ควบคุมการประมง (ไต้ก๋ง) ประเภทของเครื่องมือทำการประมงที่ใช้บนเรือ สัตว์น้ำที่มีอยู่บนเรือ โดยต้องระบุแหล่งที่จับ ชนิดและลักษณะของสัตว์น้ำ ปริมาณการจับ ปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกนำขึ้นและขนถ่ายที่ท่าเทียบเรือ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่องค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMO) และข้อตกลงสากลกำหนดไว้

กล่าวโดยสรุป มาตรการที่รัฐเจ้าของท่าเรือควรดำเนินการ คือ มีการกำหนดมาตรการในการควบคุมเรือประมงเข้าเทียบท่าให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องมีระบบตรวจสอบหลักฐานการทำประมงของเรือประมง หรือสินค้าประมงว่ามาจากการทำประมง IUU หรือไม่ และต้องปฏิเสธการนำเข้าสินค้าประมงจากเรือที่ทำการประมง IUU หรือเกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU รัฐท่าเรือควรมีระบบการตรวจสอบและเก็บข้อมูลเรือประมง และไม่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินการต่าง ๆ ของเรือที่ทำการประมง IUU เช่น การเติมน้ำมัน เสบียง การเข้าท่าเรือเพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำที่ท่าเรือของรัฐตน นอกจากนี้ควรแจ้งไปยังรัฐเจ้าของธงด้วย

เรือประมง จ.สมุทรสาคร
เรือประมง จ.สมุทรสาคร

4.3 มาตรการสำหรับรัฐชายฝั่ง (coastal state measure)

4.3.1 รัฐชายฝั่งหรือประเทศที่มีแหล่งทำการประมงอยู่ในทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) ควรทำทุกวิถีทางในการขจัดการทำประมง IUU ให้หมดสิ้นไปจากน่านน้ำตน เนื่องจากการทำประมง IUU ในน่านน้ำส่งผลเสียหายต่อชาวประมงที่ทำการประมงอย่างรับผิดชอบ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนผลประโยชน์ที่จะได้โดยตรงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

4.3.2 รัฐชายฝั่งควรหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนเรือที่เคยมีประวัติการทำประมง IUU มาก่อน และควรขอร้องให้รัฐเจ้าของธง หรือประเทศที่เรือประมงทำการจดทะเบียนรับรองว่าเรือที่ตนได้จดทะเบียนให้ไม่เคยมีประวัติเสียในเรื่องการทำการประมง IUU มาก่อน ต่อเมื่อรัฐเจ้าของธงรับรองแล้ว รัฐชายฝั่งจึงจะสามารถออกใบอนุญาตให้เข้ามาทำการประมงในน่านน้ำของตนได้

4.3.3 รัฐชายฝั่งที่รัฐเจ้าของธงต้องการส่งกองเรือเข้าไปทำการประมง ควรแสวงหาข้อตกลงที่เป็นทางการกับรัฐเจ้าของธง หรือประเทศที่เรือประมงทำการจดทะเบียน โดยข้อตกลงนี้ควรระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐเจ้าของธงที่มีต่อการทำการประมงของกองเรือของตนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำของรัฐชายฝั่งอื่น เช่น การดำเนินคดีและลงโทษเรือประมงที่ชักธงหรืออยู่ภายใต้การจดทะเบียนของรัฐตนซึ่งได้ทำการละเมิดกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต รวมทั้งควรผูกมัดให้ประเทศที่เรือทำการจดทะเบียน ให้ความช่วยเหลือรัฐชายฝั่งในการติดตามตรวจสอบเรือประมงดังกล่าวด้วย

4.3.4 รัฐชายฝั่งควรมีข้อบังคับให้เรือประมงทุกลำต้องนำสัตว์น้ำที่จับได้มายังท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง เนื่องจากการตรวจสอบการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลทำได้ยาก หากจำเป็นต้องขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล จะต้องมีระบบควบคุมการขนส่งที่เหมาะสม และกำหนดจุดขนถ่ายที่ผู้ตรวจการสามารถเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดของสัตว์น้ำในระหว่างการขนย้ายจากเรือลำหนึ่งไปยังอีกลำหนึ่งได้

กล่าวโดยสรุป รัฐชายฝั่งเจ้าของทรัพยากรควรปฏิบัติและดำเนินการตามอนุสัญญาฯ กฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยควรกำหนดมาตรการในการป้องกันการทำประมง IUU ปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น กำหนดระเบียบการทำประมงภายในรัฐตน มีระบบควบคุมและเฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance: MCS) เพื่อตรวจสอบการทำประมงในน่านน้ำอธิปไตย และมีระบบป้องกันและลงโทษการทำประมง IUU

4.4 มาตรการที่เกี่ยวข้องในด้านการค้าระหว่างประเทศ (internationally agreed marketing-related measures)

เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศในส่วนของการค้าผลิตภัณฑ์ประมงทั่วโลกในแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาล อีกทั้งยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำมาตรการทางการค้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อขจัดปัญหาการทำประมง IUU จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น แผนปฏิบัติการสากลฯ (IPAO-IUU) จึงได้เรียกร้องให้นานาประเทศ และระดับภูมิภาคร่วมกันพัฒนามาตรการทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมง IUU ให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง IUU เข้าสู่ตลาด ทั้งนี้ มาตรการทางการค้าควรครอบคลุมทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยควรจะประกอบด้วย

4.4.1 ข้อกำหนดให้มีใบรับรองสัตว์น้ำที่จับได้ และเอกสารควบคุมการค้าสัตว์น้ำ

4.4.2 ข้อจำกัดและข้อห้ามในการนำเข้าและส่งออกสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง IUU

ทั้งนี้ ที่ประชุม Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: WTO Consistent Trade Related Measures to Address IUU Fishing ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลออสเตรเลีย และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้สรุปแนวทางในการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU ไว้ โดยเห็นว่า รัฐควรให้ความร่วมมือกับองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMO) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินมาตรการด้านการค้าในการต่อต้านการทำประมง IUU ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO รวมถึงควรกำหนดให้สินค้าผ่านการรับรอง หรือมีเอกสารการจับสัตว์น้ำแนบ โดยเอกสารที่กำหนดควรเป็นที่ยอมรับ และควรพัฒนาให้ใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์เพื่อให้มีประสิทธิภาพและไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า ควรมีมาตรการการห้ามและควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เกิดจากการทำประมง IUU รัฐควรปรับปรุงระบบตลาดในประเทศตนเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง หากจำเป็นอาจต้องกำหนดมาตรการทางการค้าเฉพาะชนิดสัตว์น้ำเพื่อต่อต้านการทำประมง IUU และรัฐควรใช้ระบบรหัสสินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินการตาม IPOA-IUU

อ่านต่อตอนที่ 3 มาตรการของสหภาพยุโรปในการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing)

ป้ายคำ :