ThaiPublica > คอลัมน์ > คำแถลงของประธานาธิบดีฝรั่งเศสต่อรัฐสภาฝรั่งเศส เพื่อต่อสู้กับสงครามการก่อการร้าย และประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจ

คำแถลงของประธานาธิบดีฝรั่งเศสต่อรัฐสภาฝรั่งเศส เพื่อต่อสู้กับสงครามการก่อการร้าย และประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจ

23 พฤศจิกายน 2015


ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล (Docteur en droit)
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

นายฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้กล่าวคำแถลงต่อรัฐสภาฝรั่งเศส ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ที่แวร์ซายส์ เพื่อรับมือและต่อสู้กับสงครามการก่อการร้าย เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2558 โดยมีสาระสำคัญของคำแถลงและประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจดังนี้

1. ประเทศฝรั่งเศสอยู่ในภาวะสงคราม การก่อร้ายที่ปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558 เป็นการทำสงครามของกลุ่มนักรบญิฮาด ซึ่งโจมตีประเทศฝรั่งเศสเพราะเล็งเห็นว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งเสรีภาพ และเป็นต้นแบบของสิทธิมนุษยชน พวกผู้ก่อการร้ายคงคิดว่าชาวฝรั่งเศสจะยอมจำนนด้วยความหวาดกลัว แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ชาวฝรั่งเศสเป็นชนชาติที่องอาจ กล้าหาญ และจะไม่ยอมแพ้

2. ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558 มีระยะเวลาบังคับใช้เพียงแค่ 12 วัน นับแต่วันประกาศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเสนอร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภาเพื่อขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือน และจะได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐบัญญัติ เลขที่ 55-385 วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1955 ว่าด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (Loi no 55-385 du 3 avril 1955 relative à l’état d’urgence) ซึ่งมีมาตรการสำคัญที่ใช้อยู่ 2 ประการ คือ การกักบริเวณให้อยู่ในที่พักอาศัยและการตรวจค้น ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การก่อการร้ายในปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของเทคโนโลยีและภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่ประเทศฝรั่งเศสเผชิญอยู่

(ผู้เขียน: รัฐบัญญัติ วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1955 ว่าด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีที่มาจากการประกาศบังคับใช้เพื่อรับมือกับสงครามแอลจีเรีย โดยให้อำนาจรัฐบาลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศสหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศรวมทั้งดินแดนโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส เมื่อมีภยันตรายร้ายแรงกระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณะอย่างเห็นได้ชัดเกิดขึ้น หรือเมื่อมีเหตุที่ถือว่าเป็นภัยพิบัติสาธารณะเมื่อพิจารณาถึงสภาพและความรุนแรงแล้วเกิดขึ้น ด้วยการออกรัฐกฤษฎีกาโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และตามรัฐบัญญัติฉบับนี้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลตามรัฐกฤษฎีกามีระยะเวลาบังคับใช้เพียง 12 วัน หากรัฐบาลต้องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้มากกว่า 12 วัน ตามมาตรา 2 ของรัฐบัญญัติ ฯ กำหนดให้ต้องกระทำโดยการตราเป็นรัฐบัญญัติซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะเป็นผู้พิจารณา และตามมาตรา 3 ของรัฐบัญญัติฯ กำหนดให้รัฐบัญญัติที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องกำหนดเวลาสิ้นสุดของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ชัดเจน

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ในสมัยที่นายฌาร์ค ชิฮัก เป็นประธานาธิบดี ในพื้นที่บางส่วนของประเทศเพื่อรับมือกับการก่อจลาจลตามเมืองต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส สำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 นี้เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2504 ในช่วงสงครามแอลจีเรีย โดยนายพลชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น

มาตรการที่บังคับใช้ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามรัฐบัญญัติ วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1955 ได้แก่ การกักบริเวณให้อยู่ในที่พักอาศัย การตรวจค้น การห้ามสัญจรไปมาของบุคคลหรือยานพาหนะในบริเวณพื้นที่และเวลาที่กำหนด กำหนดพื้นที่สำหรับการคุ้มครองหรือความมั่นคงสำหรับบุคคลพักอาศัย กำหนดห้ามไม่ให้บุคคลที่มีพฤติการณ์ขัดขวางการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ พักอาศัยในเขตพื้นที่ที่กำหนด สั่งปิดโรงมหรสพ สถานบริการเครื่องดื่ม และสถานที่ชุมนุมทุกประเภท ในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดเป็นการชั่วคราว สั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมที่มีลักษณะจะก่อให้เกิดหรือสนับสนุนให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น ออกคำสั่งให้ส่งมอบอาวุธตามประเภทของอาวุธที่กฎหมายกำหนดไว้)

3. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลลองด์ ได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2501) มาตรา 16 และมาตรา 36 เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ก่อการร้ายปัจจุบันที่ประเทศฝรั่งเศสประสบอยู่ เพื่อให้สามารถใช้อำนาจรัฐจัดการกับสงครามการก่อการร้ายให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ โดยรัฐธรรมนูญจะต้องให้เครื่องมือที่เหมาะสมที่จะกำหนดให้มีมาตรการพิเศษในการต่อสู้กับการก่อการร้าย โดยไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และไม่กระทบกับเสรีภาพของประชาชน และต้องการให้มีการบัญญัติเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ในรัฐธรรมนูญจากที่ปัจจุบันบัญญัติไว้ในรัฐบัญญัติ

(ผู้เขียน: รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 16 กำหนดว่า เมื่อสถาบันแห่งสาธารณรัฐ ความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพของดินแดน หรือการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ถูกคุกคามอย่างร้ายแรงและทันทีทันใด และการดำเนินการตามปกติของอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญต้องสะดุดหยุดลง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นในการจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว และรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 36 กำหนดให้การประกาศกฎอัยการศึก (l’état de siège) สามารถกระทำได้โดยการออกรัฐกฤษฎีกาโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และการขยายระยะเวลาการประกาศใช้กฎอัยการศึกเกินกว่า 12 วันต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 89 กำหนดให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในเนื้อความอย่างเดียวกัน และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบโดยสมบูรณ์ต่อเมื่อชาวฝรั่งเศสได้ออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้ว หรือหากไม่ทำประชามติ ก็จำเป็นที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมของสมาชิกทั้งสองสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกผู้ออกเสียงลงคะแนนทั้งหมด การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรวมทั้งกฎหมายด้วยจึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากสมาชิกของทั้งสองสภา พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และประชาชนชาวฝรั่งเศสเอง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ)

นายฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่มาภาพ : http://i1.mirror.co.uk/incoming/article6834033.ece/ALTERNATES/s615/PAY-Francois-Hollande-learns-about-terrorist-attack-in-Paris.jpg
นายฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่มาภาพ : http://i1.mirror.co.uk/incoming/article6834033.ece/ALTERNATES/s615/PAY-Francois-Hollande-learns-about-terrorist-attack-in-Paris.jpg

4. ประเทศฝรั่งเศสจะปฏิบัติการโจมตีกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (IS) ในประเทศซีเรียให้หนักยิ่งขึ้น

5. เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติจัดประชุมโดยเร็วที่สุด เพื่อหาฉันทามติร่วมกันในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย IS และประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลลองด์ แถลงว่าจะพบกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อหารือถึงการร่วมมือที่สำคัญและเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย IS

6. เรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามมาตรา 42-7 ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรป (Treaty on European Union) ซึ่งกำหนดว่า หากประเทศสมาชิกประเทศหนึ่งประเทศใดถูกคุกคามโดยการใช้กำลังอาวุธ ประเทศสมาชิกอื่นของสหภาพยุโรปจะต้องร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกนั้น โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสต้องการมุ่งไปที่ความร่วมมือทางทหารจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

(ผู้เขียน: มาตรา 42-7 ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรป ยังไม่เคยมีการใช้บังคับมาก่อน)

7. เสนอให้มีการถอนสัญชาติคนฝรั่งเศสที่ถือสองสัญชาติ ซึ่งถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดกรณีกระทำการที่กระทบต่อผลประโยชน์ที่สำคัญของชาติ หรือกระทำการก่อการร้าย รวมทั้งห้ามไม่ให้บุคคลสองสัญชาติในกรณีดังกล่าวเดินทางกลับมาประเทศฝรั่งเศส เว้นเสียแต่บุคคลดังกล่าวจะยอมอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยต้องการมุ่งเน้นไปยังคนสัญชาติฝรั่งเศสที่เกิดในประเทศฝรั่งเศสและถือสัญชาติอื่นร่วมอยู่ด้วย เพิ่มเติมไปจากคนที่มีสัญชาติอื่นอยู่ก่อนแล้วและได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการแปลงสัญชาติในภายหลัง รวมทั้งได้เสนอให้มีการขับคนต่างชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างร้ายแรงและต่อความมั่นคงของประเทศ ออกนอกประเทศให้รวดเร็วขึ้นด้วย

(ผู้เขียน: ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 (Universal Declaration of Human Rights of 1948) ข้อ 15 (1) กำหนดว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีสัญชาติหนึ่งสัญชาติ ดังนั้น ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 การถอนสัญชาติจะกระทำได้เฉพาะกับบุคคลที่มีสองสัญชาติเท่านั้น และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 ข้อ 15(2) กำหนดว่า บุคคลใดจะเพิกถอนสัญชาติของบุคคลอื่นตามอำเภอใจไม่ได้

ในเรื่องการถอนสัญชาตินี้ ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส (Code Civil) ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 25 ดังนี้ บุคคลที่ได้สัญชาติฝรั่งเศส (โดยการแปลงสัญชาติ) อาจถูกถอนสัญชาติฝรั่งเศสได้ โดยรัฐกฤษฎีกาที่ได้ขอความเห็นจากสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Conseil d’État) เว้นเสียแต่ว่าการถอนสัญชาติจะเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนไร้สัญชาติ หากมีกรณีดังต่อไปนี้

(1) ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดอาญาซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์สำคัญของชาติหรือกระทำความผิดอาญาที่เป็นการก่อการร้าย
(2) ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดอาญาตามที่กำหนดไว้ในหมวด 2 ลักษณะ 3 บรรพ 4 ของประมวลกฎหมายอาญา
(3) ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดด้วยเหตุที่หลีกเลี่ยงหน้าที่ของตนตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายการรับใช้ชาติ
(4) ยอมตนให้เป็นประโยชน์แก่ต่างชาติ ด้วยการกระทำการซึ่งไม่สมควรกับการเป็นคนฝรั่งเศสและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประเทศฝรั่งเศส

ดังนั้น เฉพาะคนที่ได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการแปลงสัญชาติและถือสัญชาติอื่นร่วมอยู่ด้วยเท่านั้นที่อาจถูกถอนสัญชาติฝรั่งเศสตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 25 ส่วนคนฝรั่งเศสที่ได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการเกิดและถือสัญชาติอื่นร่วมอยู่ด้วยจะไม่ถูกถอนสัญชาติตามมาตรา 25 ถึงแม้ว่าจะกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 นี้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม คนที่ได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการเกิดและถือสัญชาติอื่นร่วมอยู่ด้วยอาจเสียสัญชาติฝรั่งเศสได้หากมีกรณีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 23 คือ การแสดงความจำนงสละสัญชาติฝรั่งเศสอย่างชัดแจ้งตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายให้คนฝรั่งเศสที่ได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการเกิดและถือสัญชาติอื่นร่วมอยู่ด้วยและถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดกรณีกระทำการที่กระทบต่อผลประโยชน์ที่สำคัญของชาติ หรือกระทำการก่อการร้าย สามารถถูกถอนสัญชาติฝรั่งเศสได้เช่นกัน)

8. เพิ่มกำลังตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อรับมือกับการก่อการร้าย โดยจะเพิ่มอัตรากำลังตำรวจและทหาร 5,000 นาย ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ จะให้มีการเพิ่มอัตรากำลังตำรวจและทหารให้ได้จำนวน 10,000 นาย ภายใน 5 ปี และเพิ่มเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม 2,500 ตำแหน่ง (เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ศาล) และเจ้าหน้าที่ศุลกากร 1,000 ตำแหน่ง รวมทั้งปัญหาการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเงื่อนไขการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องหยิบยกมาพิจารณาภายในขอบเขตของหลักนิติรัฐ

9. เรียกร้องให้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายต่อผู้ก่อการร้ายที่เข้มข้นขึ้น โดยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต้องมีบทบัญญัติพิเศษเฉพาะสำหรับจัดการกับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ผู้พิพากษาและอัยการต้องสามารถเข้าถึงวิธีการสอบสวนค้นหาความจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โทษสำหรับการก่อการร้ายจะต้องหนักขึ้น

10. ประเทศฝรั่งเศสยังจะรับผู้ลี้ภัยสงครามจากดินแดนที่กลุ่มก่อการร้าย IS ยึดครองต่อไป เพราะผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นเหยื่อของการก่อการร้าย ซึ่งยุโรปจะต้องให้ความช่วยเหลือ

จากนี้ไป ทั่วโลกต่างต้องเฝ้าจับตามองการรับมือและต่อสู้กับสงครามการก่อการร้ายตามที่ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลลองด์ แถลงต่อรัฐสภาฝรั่งเศส ในการที่จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ ดังที่กล่าวไป ว่าจะมีความคืบหน้าและได้ผลเป็นอย่างไร ซึ่งเกี่ยวข้องและมีผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างสำคัญ