พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ใกล้สิ้นปีเข้ามาทุกที หลายๆคนคงตั้งคำถามกันแล้ว ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร
เหมือนกับทุกปี บรรดานักวิเคราะห์มักจะคาดการณ์ว่าปีหน้าจะต้องดีกว่าปีนี้เสมอ (จะมียกเว้นก็ช่วงเศรษฐกิจดีเกินจริงแบบปี 2012 ที่เราฟื้นจากน้ำท่วม และมีนโยบายอัดฉีดต่างๆ) และเรามักจะจบปีด้วยผลงานที่แย่กว่าที่คาดการณ์อยู่บ่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปลายปี 2556 ที่เราเริ่มมีปัญหาเรื่องการเมือง การส่งออกเริ่มแผ่ว เราจบปีที่อัตราการเจริญเติบโตประมาณเกือบๆร้อยละสาม เราก็ยังคาดว่าปีต่อไป (คือปี 2557) น่าจะดีขึ้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คิดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ที่อัตราร้อยละสี่แบบสบายๆ (ก่อนหน้านี้เราเคยคิดว่าปี 2557 น่าจะโตสักห้าด้วยซ้ำ)
แล้วก็อย่างที่เราทราบ เราจบปีด้วยเศรษฐกิจที่โตไม่ถึงร้อยละหนึ่ง ตอนนั้นเราก็โทษปัญหาทางการเมือง และการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ และการเข้าสู่ทางตันของภาครัฐที่ไม่สามารถเบิกจ่าย (โดยไม่ทันฉุกคิดว่ากำลังมีปัญหาอย่างอื่นกำลังคุกรุ่นอยู่เบื้องหลังความคัดแย้งทางการเมือง
แต่เราก็คิดว่าปี 2558 เมื่อพระเอกขี่ม้าขาวมา ปัญหาทางการเมืองจบไปแล้ว ทุกอย่างน่าจะดีขึ้นอยู่ดี ตอนต้นปีเราก็คิดว่าเศรษฐกิจน่าจะกลับไปโตได้ร้อยละสี่แบบสบายๆ (อีกแล้ว) ด้วยฐานที่ต่ำเสียขนาดนี้ แล้วเรากำลังจะจบปีด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่ไม่ได้น่าภูมิใจนัก ที่ประมาณร้อยละสองกว่าๆ (สังเกตนะครับว่าเฉลี่ยสองปี เราโตแค่ปีละร้อยละหนึ่งกว่าๆ เท่านั้นเอง)
นี่ถ้าไม่นับการอัดฉีดจากนโยบายรัฐ (เช่นการจำนำข้าวที่ขาดทุนไปหลายแสนล้าน คิดเป็นร้อยละสามถึงสี่ของ GDP) และการสร้างหนี้จากนโยบายรัฐในปีก่อนๆ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยน่าจะแผ่วสักพักแล้ว เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้สังเกตกัน
และปีหน้า (2559) ก็เช่นกัน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนส่วนใหญ่จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้ ส่วนใหญ่มองว่า หลังจากที่ปีนี้น่าจะโตได้ร้อย 2.5-2.7 ปีหน้าน่าจะโตอยู่ที่ร้อยละ 3.5-3.8 ไม่ค่อยหนีกันเท่าไร มีแต่ของธนาคารโลก ที่ออกมาเตือนเสียงดังๆ ว่ามีโอกาสเหมือนกันที่การเจริญเติบโตปีหน้าอาจจะลงไปเหลือแค่ร้อยละสองก็ได้
หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรคงไปดูแค่ตัวเลข GDP คงไม่ได้ เพราะปีนี้เองที่ตัวเลขทางการบอกว่าจะโตร้อยละสองกว่าๆ ความรู้สึกของคนทั่วๆไป รู้สึกแย่กว่านั้นเยอะ
และตัวเลขประมาณการห่างกันแค่ร้อยละหนึ่งอาจจะไม่ได้เปลี่ยนภาพรวมเศรษฐกิจไปมากนัก
แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เราควรดูในการประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ตัวเลขการคาดการณ์ แต่เป็น “ความเสี่ยง” ที่เราคิดว่าอาจจะเกิดขึ้น ถ้าทุกคนมองว่าปีหน้าน่าจะโตได้สักร้อยละ สามครึ่ง ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปัจจุบันอาจจะมีไม่มากนัก
แต่คำถามที่เราน่าจะมองคือ อะไรเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ และมี “โอกาส” แค่ไหน แรงผลักดันเหล่านั้นอาจจะพาเราไปไม่ถึงฝั่งฝัน และเศรษฐกิจอาจจะทำได้ต่ำกว่าที่คาด และเรามีนโยบายเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์เช่นนั้นหรือไม่
ผมยกตัวอย่างช่วงปี 2557 อีกรอบ ที่เราเห็นเศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ แต่เราคิดว่าเศรษฐกิจปีต่อไปคงเด้งกลับไปโตแถวๆสี่เหมือนเดิม จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำอะไร นโยบายการคลังก็อยู่เฉยๆ เป้าการขาดดุลการคลัง ปีงบประมาณปี 2558 เท่ากับเมื่อปีงบประมาณ 2557 ที่ 2.5 แสนล้านบาท (และน้อยลงเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของ GDP)
อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ค้างอยู่แถวๆร้อยละสอง จนถึงต้นปี 2558 ที่เริ่มรู้แล้วเศรษฐกิจคงแย่กว่าที่คาด
วันนี้ก็เช่นกันครับ ถ้าเราคิดว่าปีหน้าจะกลับไปโตใกล้ๆสี่ เราก็คงไม่ต้องทำอะไรอีก แต่คำถามคือมีความเสี่ยงแค่ไหน ที่เศรษฐกิจจะไม่เป็นไปดังคาด และเรามีมาตรการอะไรในการรับมือ?
ถ้าไล่ปัจจัยเสี่ยง ผมว่าวันนี้ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอยู่ที่ประเด็นภายนอกเป็นสำคัญแต่ก็คงละเลยประเด็นภายในประเทศไม่ได้ เราลองมาไล่กันดูดีกว่าครับ
•ความเสี่ยงการส่งออก การส่งออกไทย หดตัวติดกันมาสามปีแล้ว เราเจอกับปัญหาการส่งออกชะลอตัว ทั้งจากปัญหาอุปสงค์ต่างประเทศ (เศรษฐกิจต่างประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังมีจีนที่ชะลอตัวลงอีก) เรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ส่งออกปริมาณเท่าเดิม แต่มูลค่าลดลงไปมาก) ความสามารถในการแข่งขัน (การผลิตหลายชนิดย้ายฐานการผลิตออกไปจากเรา สินค้าหลายชนิดที่เราเคยส่งออกได้มาก กลายเป็นสินค้าล้าสมัยด้านเทคโนโลยี เช่น harddisk drive) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก (ความเชื่อมโยงด้านการค้ายังไม่กลับไประดับที่เราเคยเห็นก่อนวิกฤตปี 2008 ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับไปผลิตเองทดแทนการนำเข้ามากขึ้น)
ปีนี้ IMF คาดว่าปริมาณการค้าโลกโตที่ร้อยละสามนิด ปีหน้าน่าจะดีขึ้นนิดหน่อย แต่คำถามคืออะไรจะเป็นแรงผลักดันทำให้ไทยแย่งชิงตลาดส่งออกมาจากคนอื่นๆ และโตแซงหน้าคนอื่นไปได้?
การส่งออกที่ปัจจุบันมีความสำคัญกว่าร้อยละ 60-70 ของ GDP ยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญของเรา ถ้าเรายังเห็นตัวเลขการส่งออกติดลบอยู่ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตแบบแรงๆคงมีจำกัด
ถ้าเศรษฐกิจจีนเป็นอะไรไปเราคงเหนื่อยหนักอีก และถ้าค่าเงินคนอื่นลดลงเพราะดอกเบี้ยสหรัฐขึ้น เราก็คงต้องคิดหนักเหมือนกันครับ
•ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อรายได้เกษตรกร อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเศรษฐกิจในต่างจังหวัด ที่กดดันการบริโภคภายในประเทศ ถ้าราคาสินค้าเกษตรไม่กระเตื้องขึ้น โอกาสเห็นการบริโภคฟื้นแบบเยอะๆ คงลำบาก แต่ข่าวดีคือราคาสินค้าโภคภัณฑ์หล่นมาเยอะแล้ว โอกาสลดลงไปเยอะๆแบบที่ผ่านมาคงลำบาก แต่ถ้าราคาสินค้าเกษตรกลับไปฟื้นตัวอีกรอบ เราคงมีลุ้นหายใจหายคอได้คล่องขึ้น
•ปัญหาภาระหนี้และคุณภาพสินทรัพย์ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีค่อนข้างสูงเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของรายได้ ในภาวะที่รายได้ไม่โตแบบอย่างเคยเป็นปัญหาใหญ่ และทำให้โอกาสที่การบริโภคจะโตขึ้นแบบที่เราเห็นช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรืองคงเป็นไปได้ลำบาก และปัญหาคุณภาพสินทรัพย์เริ่มจะกดดันธนาคารพาณิชย์ ทำให้การปล่อยกู้อาจจะไม่คล่องเหมือนอย่างเคย
•การลงทุนภาคเอกชน ความหวังสำคัญอันนึง ของเศรษฐกิจไทยวันนี้ คงอยู่ที่ภาคลงทุนเอกชน ที่ยังเป็นกลุ่มที่เงินเหลือค่อนข้างเยอะ เพราะเราแทบไม่ได้ลงทุนเลย ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ในขณะที่มีความจำเป็นเพื่อลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบขนานใหญ่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน แต่กำลังการผลิตส่วนเกินที่อยู่ในปัจจุบัน และความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและการเมือง คงเป็นข้อจำกัดใหญ่
แต่ปัจจัยบวกก็ยังพอมีนะครับ การลงทุนภาครัฐ ที่เป็นความหวังมานาน ถ้าทำกันดีๆ และดึงการลงทุนภาคเอกชนมาร่วมด้วยก็คงพอผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า ให้กลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค สร้างเมืองใหม่ กระจายความเจริญไปนอกเมืองกรุงได้อย่างฝัน หรือการท่องเที่ยว และภาคบริการ ที่เป็นจุดแข่งของประเทศ
อย่างไรก็ดีผมว่า ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ไม่ใช่ความเสี่ยงที่เราจะเกิดวิกฤต แบบปี 2540 คือความเสี่ยงที่เราจะโตช้าๆซึมๆ สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เพื่อนบ้านที่เราเคยมองว่าอยู่คนละชั้นกับเราแซงเราไปเรื่อยๆ แล้วเราจะมีทรัพยากรเพียงพอที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และรับมือกับความเสี่ยงข้างหน้าได้อย่างไร
วันนี้เราจึงต้องคิดถึงปัญหาระยะยาว (เช่นปัญหาประชากร ปัญหากับดักประเทศปานกลาง ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน) พอๆกับการดูแลเสถียรภาพระยะสั้น ยุทธศาสตร์ประเทศในการการเพิ่มศักยภาพของประเทศ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และการยกระดับคุณภาพและผลิตผลของแรงงานเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด การปรับปรุงการศึกษา การพัฒนาคน การลงทุน การเปลี่ยนระบบการผลิต การพัฒนาเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญพอๆกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
ความท้าทายนี้ไม่ง่ายเลย แต่ถ้าเราไม่เริ่มทำวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะสายเกินไป