ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “แกรนท์ ธอนตัน ” เผยเศรษฐกิจไทยหมดเวลา”โชคดี” กางความจริงใหม่ที่ต้องเผชิญ

“แกรนท์ ธอนตัน ” เผยเศรษฐกิจไทยหมดเวลา”โชคดี” กางความจริงใหม่ที่ต้องเผชิญ

19 พฤศจิกายน 2015


IMG_3489
นายเอียน แพสโค (ซ้าย) ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน และนายแอนดรูว์ แม็คบีน (ขวา) หุ้นส่วนและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเออีซี บริษัทแกรนท์ ธอนตัน

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน และนายแอนดรูว์ แม็คบีน หุ้นส่วนและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเออีซี บริษัทแกรนท์ ธอนตัน เปิดตัวรายงาน International Business Report (IBR): Thailand focusซึ่งเป็นรายงานสำรวจทำการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจในไทยในแง่มุมต่างๆ ของเศรษฐกิจ โดยในปีนี้นักธุรกิจไทยมองว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น การย้ายฐานการผลิตของต่างชาติเข้ามา ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค จะเป็นข้อจำกัดหลักและความท้าทายหลักของการประกอบธุรกิจ ขณะเดียวกันยังมองว่า การเปิดเออีซี การเติบโตของชนชั้นกลาง จะกลายเป็นโอกาสที่ดีของการประกอบธุรกิจในปีหน้า

10 ปี หมดเวลาโชคดี ต้องยืนด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ เนื่องในวาระที่แกรน ธอร์นตัน ได้จัดทำรายงานนี้ เป็นปีที่ 10 นายแอนดรูว์ ได้ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาว่าประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรีทั้งทางการและรักษาการ 11 คน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 10 คน รวมทั้งมีการปิดถนนประท้วงทางการเมืองขั้นร้ายแรงนับไม่ถ้วน ปิดสนามบินแห่งชาติ มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง และมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ทั่วประเทศในปี 2554

แม้จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่มากมาย แต่เศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้เฉลี่ยที่ 3.13% ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในประเด็นนี้นายแอนดรูว์ได้ให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยค่อนข้างโชคดีจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้สูงและช่วยดึงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะการเติบโตจากประเทศจีน แต่ในปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างน้อย 3 ประเด็น ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ให้ในระยะต่อไปไม่สามารถพึ่งพาเศรษฐกิจโลกได้เหมือนช่วงที่ผ่านมาอีกแล้ว

ประการแรก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและไม่ได้อยู่ในภาวะ “เข้มแข็ง” เหมือนในอดีต แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่อาจจะดีขึ้นในอนาคต แต่ถือว่ายังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ถึงแม้จะยังเติบโตได้ที่ระดับ 7% แต่พอดูในรายละเอียดกลับพบว่าส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของภาคบริการที่เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังหดตัวลงและโตได้น้อยกว่า 7% ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยตามไปด้วย เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ขณะที่เศรษฐกิจในยุโรป, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นต่างก็ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมามากนัก โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ปัจจุบันได้เข้าสู่ “ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค” เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวติดกัน 2 ไตรมาส

ประการที่สอง โลกกำลังเผชิญภาวะเงินฝืดและอาจจะนำไปสู่วัฏจักรการถดถอยของเศรษฐกิจ เพราะถ้ามองในมุมมองของหนี้ เมื่อโลกต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด จำนวนหนี้จะมีมูลค่ามากขึ้นทุกๆ ปี เนื่องจากสินทรัพย์ที่จะใช้ชำระหนี้จะมีมูลค่าลดลงทุกๆ ปี สุดท้ายจะนำไปสู่การผิดชำระหนี้และล้มละลาย ทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานหรือลดค่าจ้างลง ซึ่งทำให้อุปสงค์ในสินค้าต่างๆ โดยรวมของโลกและผลประกอบการของบริษัทที่จะต้องชำระหนี้ย่ำแย่ลงไปอีก เป็นวัฏจักรต่อเนื่องไป ดังนั้น สุดท้ายแล้วในระยะยาวภาวะเงินฝืดจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ประการสุดท้าย โลกกำลังเผชิญกับภาวะสินค้าล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อปัจจุบันโลกกลับชะลอตัวและหยุดเติบโต จนทำให้ความต้องการสินค้าของโลกลดลง ผลที่ตามมาคือผู้ผลิตต่างๆ ในโลกมีกำลังการผลิตเหลือมากเกินไป รวมถึงประเทศไทยเช่นกัน

“10 ปีที่เราโตได้เฉลี่ย 3.13 % เป็นเพราะเศรษฐกิจของเราถูกดึงไปด้วยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากจีนที่เติบโตสูงมาก แต่เราจะเห็นได้แล้วว่าตอนนี้มันกำลังหยุดลงแล้ว ค่อยๆ หยุดลง ดังนั้น ที่ผ่านมาจริงๆ เราค่อนข้างโชคดีมากนะ และถ้าพูดจริงๆ เราก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขมาตลอด แต่ด้วยความโชคดีที่ผ่านมากลับทำให้เราไม่สนใจจะแก้ไขปัญหาอะไรเลย แล้วกลายเป็นว่าตอนนี้เรา ‘ต้อง’ แก้ไขจริงๆ แล้ว เพราะต่อไปเราไม่มีเชื้อเพลิงสำหรับการเติบโตเหมือนที่เคยได้มาจากโลกภายนอกแล้ว ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ด้วย ดังนั้น เราและทุกประเทศไม่สามารถพึ่งพาโลกภายนอกได้อีกแล้ว เราไม่สามารถรอให้คนอื่นมาป้อนสิ่งต่างๆ ให้เราได้ เราต้องกลับมายืนและเติบโตบนฐานของตนเองให้ได้ แล้วเอาจริงๆ รัฐบาลเองก็รู้เรื่องปัญหาอยู่แล้ว และที่บอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาในรัฐบาลนี้จริงๆ ก็เป็นผลจากการไม่ทำอะไรของรัฐบาลก่อนๆ หน้า ผมว่าก็ยุติธรรมนะ” นายแอนดรูว์กล่าว

อาเซียนเร่งปรับตัว แต่ไทยยื่นนิ่ง

นายแอนดรูว์กล่าวต่อไปอีกว่า ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะเจริญเติบโตได้ 3.13% มาตลอด 10 ปี แต่เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียนแล้วยังถือว่าเติบโตได้ต่ำที่สุด เนื่องจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้พัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตนเองในด้านต่างๆ แม้ว่าหลายประเทศจะมีข้อจำกัดคล้ายกับประเทศไทย แต่ยังถือว่ามีจุดแข็งของตนเองที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้

ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนิเชียและประเทศฟิลิปปินส์ ถึงแม้จะมีปัญหาหลายประการคล้ายกับประเทศไทย แต่ด้วยขนาดตลาดและกำลังแรงงานที่มีอยู่มากกว่าไทยค่อนข้างมากทำให้สามารถรักษาระดับการเติบโตของตนเองได้ด้วยเพียงจากประชากรของตนเองเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีกำลังแรงงานที่ยังว่างงานและมีอายุน้อยอีกจำนวนมาก พร้อมที่จะเข้าทำงานในโรงงานต่างๆ ได้ ขณะที่ประเทศเวียดนาม มีการลงทุนด้านการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ถึงขั้นสามารถเป็นฮับการผลิตสินค้าป้อนแก่โลกแทนจีนได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกับมามองประเทศไทย เรากลับพบว่ายังคงไม่มีแนวทางที่ชัดเจนและเหมือนยืนนิ่งอยู่กับที่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากภายหลังจากที่รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาลกลับมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาเรื่องเสถียรภาพมากกว่าการสร้างความมั่งคั่งและการเติบโตของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับปัญหาขาดเสถียรภาพและความต่อเนื่องของการบริหารประเทศมาตลอด

ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย แต่รัฐบาลกลับเลือกจะตรวจสอบอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้การลงทุนดังกล่าวมีความล่าช้าออกไปได้

แกรนท์

แนะรัฐบาลสร้างสมดุล “เสถียรภาพ-การเติบโต”

สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว นายแอนดรูว์กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับทั้งเสถียรภาพของประเทศและการสร้างความมั่งคั่งหรือการเติบโตไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถ้าเรามองไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนต่างๆ จะพบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากจุดแข็งทางเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศแล้ว อีกด้านหนึ่งประเทศกลุ่มอาเซียนต่างๆ เกือบทุกประเทศต่างมีเสถียรภาพของประเทศค่อนข้างสูง สะท้อนจากจำนวนของผู้นำในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาที่เปลี่ยนแปลงเพียง 1-2 คนเท่านั้น เมื่อรวมกันจึงส่งผลให้หลายประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าประเทศไทย ขณะที่ของไทยมีนายกรัฐมนตรีทั้งทางการและรักษาการ 11 คน เติบโตเฉลี่ย 3.13%

ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ มีประธานาธิบดี 1 คน เติบโตได้เฉลี่ย 5.17%, ฟิลิปปินส์ มีประธานาธิบดี 2 คน เติบโต 5.43%, มาเลเซีย มีนายกรัฐมนตรี 2 คน เติบโตได้ 4.86%, อินโดนีเชีย มีประธานาธิบดี 2 คน เติบโตได้ 5.7% และเวียดนาม มีนายกรัฐมนตรี 1 คน เติบโตได้ 6%

ดังนั้น ทางออกที่ควรจะเป็นคือรัฐบาลควรสร้างความสมดุลระหว่าง 2 แนวทางที่เหมาะสม เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพของประเทศไปพร้อมๆ กัน

“การขาดเสถียรภาพหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จะส่งผลให้เราไม่สามารถวางแผนแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในระยะยาว เนื่องจากประเด็นปัญหาเหล่านี้ต่างต้องใช้เวลาและความทุ่มเทในการแก้ไขอาจจะนานถึงหลายชั่วอายุคน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลทหารเข้ามาและเน้นไปที่การสร้างเสถียรภาพมากขึ้น แน่นอนว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยสร้างอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ดีได้ระยะยาว เปรียบเหมือนกับเริ่มต้นหยุดทอดสมอและวางแผนทำงานอย่างจริงจัง แต่นั่นยังไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งและการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย แต่อีกด้านต้องเข้าใจว่ารัฐบาลทหารไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือมุมมองเหมือนกับนักธุรกิจหรือนักเศรษฐศาสตร์ จึงไม่แปลกใจที่มุมมองการบริหารเศรษฐกิจจะแตกต่างออกไป” นายแอนดรูว์กล่าว

3 ปัจจัยเร่งด่วน “สังคมผู้สูงอายุ-ยกระดับการผลิต-พัฒนาระบบดิจิทัล”

นายแอนดรูว์กล่าวต่อไปว่า การที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว เราจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 3 ประเด็น ซึ่งเป็น “รากฐาน” ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ได้แก่

1) จำนวนประชากรและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาที่กำลังแรงงานของไทยเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ในอนาคต จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่าภายในปี 2583 ประชาชนกว่า 25% จะมีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งต้องพึ่งพากำลังแรงงานที่เหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องของการบริโภคหรือเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งในท้ายที่สุดรัฐบาลและกำลังแรงงานอาจจะไม่สามารถอุ้มและรักษาระดับการบริโภคหรือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อไปได้

นายแอนดรูว์กล่าวเสริมว่า ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ประชากรเหล่านี้จะมีอายุมากขึ้นและจะต้องออกจากกำลังแรงงาน แต่อีกด้านหนึ่ง เราต้องยอมรับว่าประชากรเหล่านี้เป็นประชากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลต้องหาทางนำทักษะเหล่านี้กลับมาสู่ระบบอีกทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระบบการเดินทางหรือระบบการทำงานที่บ้าน เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น

2) ไม่มีรากฐานที่เข้มแข็งสำหรับยกระดับห่วงโซ่การผลิตขึ้นไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นความรู้ หรือ Knowledge Based Economy ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่มีแนวโน้มแย่ลง ปัญหาลิขสิทธิ์ การวิจัยและพัฒนาที่น้อย ซึ่งจำเป็นต่อการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน การที่ค่าแรงกลับเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ จนเร็วกว่าผลิตภาพ ยิ่งสร้างแรงกดดันต่อระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

3) ขาดการลงทุนในระบบดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศและสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่ดีขึ้น การสื่อสารที่ดีขึ้น การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น เปลี่ยนภาพของการประกอบธุรกิจ ทำให้แรงงานมีผลิตภาพในการทำงานมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังคงใช้ “กระดาษ” เป็นหลักในการทำกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ นอกจากจะสร้างต้นทุนจำนวนมหาศาลแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้การดำเนินการต่างๆ ขาดความโปร่งใสด้วย เนื่องจากสามารถตรวจสอบได้ยากกว่า

“หลาย 10 ปีที่แล้ว การที่เกาหลีใต้เพิ่มพัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็ว 1 ใน 2 เรื่องที่เกาหลีได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลคือระบบดิจิทัลซึ่งช่วยให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่เร็วๆ นี้ที่อังกฤษเพิ่งประกาศว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะต้องเป็นสิทธิของประชาชน เหมือนการเข้าถึงน้ำ ไฟฟ้า นั่นเพราะดิจิทัลเป็นรากฐานของทุกๆ อย่าง ซึ่งสามารถช่วยระบบเศรษฐกิจในทุกๆ แง่มุม” นายแอนดรูว์กล่าว