ThaiPublica > คอลัมน์ > “ด้วยกัน” หรือ “กีดกัน”

“ด้วยกัน” หรือ “กีดกัน”

29 กันยายน 2015


ณัฐเมธี สัยเวช

File 9-29-2558 BE, 06 23 37

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นแคมเปญหนึ่งที่น่าสนใจ ขอเรียกชื่อตามแฮชแท็กที่ใช้ในการรณรงค์ว่าคือแคมเปญ #ThailandStandupChallenge และ #StrongerTogether ซึ่งโดยสรุปแล้วก็คือ เป็นการโพสต์ภาพตัวเองที่ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย ทำการแชร์ลงในโซเชียลมีเดีย (ส่วนใหญ่คงต้องเฟซบุ๊ก) วันละ 1 ภาพ ต่อเนื่อง 3 วัน และท้าให้เพื่อนๆ ตัวเองเข้าร่วม โดยวัตถุประสงค์ของแคมเปญก็คือ “รวมพลังเพื่อต่อต้านความรุนแรงด้วยสันติวิธี บอกพวกก่อความไม่สงบว่าเราไม่กลัว และนำเสนอประเทศไทยในมุมมองของคุณให้ชาวโลกเห็น และชักชวนให้เขามาเที่ยวประเทศไทยเพื่อสัมผัสมุมมองแบบเรา”

ไม่แน่ใจว่าแคมเปญดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับล้นหลามหรือล้มเหลวขนาดไหน แต่ก็พอจะได้เห็นหลายๆ คนในกลุ่มเพื่อนทางเฟซบุ๊กของตัวเองที่เข้าร่วม ซึ่งเห็นแล้วก็นึกสนุกอยากเล่นกับเขาบ้าง แต่รอเท่าไหร่ก็ไม่มีใครมาท้าเสียที เลยสงสัยว่า หรือเพราะไม่ค่อยมีรูปไปท่องๆ เที่ยวๆ คนเขาก็เลยไม่คิดว่าเราจะมีอะไรมาเล่าในแคมเปญนี้ และคิดเลยเถิดไปอีกนิดว่า หรือว่าเขาเห็นเราไม่ค่อยมีรูปไปท่องไปเที่ยว ทำให้คิดว่าเราอาจเป็นพวกไม่ค่อยมีเงินไปเที่ยว (ก็จริงอยู่บ้างนะ) เลยไม่ชวนเราร่วมแคมเปญนี้ ซึ่งข้อคิดเพ้อเจ้อข้อหลังนี่ละครับ ที่ทำให้สะดุดใจขึ้นมาว่า จะมีคนไทยสักกี่คนที่สามารถ “together” หรือก็คือ “ไปด้วยกัน” กับแคมเปญนี้ได้

ก็เลยลองไปหาข้อมูลดูคร่าวๆ ในอินเทอร์เน็ตครับ เลยได้เจอรายงานพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย ปี 2558 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวของประชากรชาวไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 63,060 ราย เพื่อดูว่าเขาเที่ยวไทยกันอย่างไร ไปไหน ไปอย่างไร ใครไปบ้าง ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการท่องเที่ยวนั้นคิดเป็นเงินเท่าไหร่

ผลคร่าวๆ ที่อยากเล่าให้ฟังก็คือ ในจำนวนประชากรที่ทำการสำรวจ มีคนที่ไม่ไปท่องเที่ยวอยู่ร้อยละ 35.1 โดยเหตุผลหลักๆ 3 ประการแรก คือ ไม่มีเวลาว่าง (ร้อยละ 60.0) ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการเดินทาง (ร้อยละ 40.9) และไม่ชอบเดินทาง (ร้อยละ 34.2)

จุดที่ผมสนใจก็คือ งบประมาณที่คนคนหนึ่งต้องใช้ในการไปเที่ยวหนึ่งครั้งนั้น คิดเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลที่พบก็คือ หากเป็นการเดินทางแบบไม่พักค้างคืน จะใช้เงินประมาณ 1,239 บาท ค้างคืน 3,612 บาท และโดยเฉลี่ยแล้ว การไปเที่ยวหนึ่งครั้ง คนหนึ่งจะต้องใช้เงินประมาณ 2,600 บาท

ทีนี้ ขั้นตอนต่อไปก็คือการตามหาจำนวนคนยากจนในประเทศ ว่ามีจำนวนกี่คน ซึ่งในการจะดูว่าใครเป็นคนยากจน ผมก็ต้องอาศัย “เส้นความยากจน” (poverty line) อธิบายง่ายๆ ก็คือ เส้นที่บ่งบอกจำนวนเงินขั้นต่ำที่จำเป็นต้องใช้ในการอุปโภคบริโภคเพื่อดำรงชีวิต คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นที่ว่านี่ หรือมีรายจ่ายด้านการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นนี้ ก็จะถือว่าเป็นคนยากจน

ในหน้าที่ 25 ของรายงาน “การแถลงผลงาน 6 เดือน (12 กันยายน 2557 – 12 มีนาคม 2558)” ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ระบุไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2556 เส้นความยากจนของไทยอยู่ที่ 2,572 บาทต่อคนต่อเดือน (นั่นหมายความว่า ในเดือนๆ หนึ่ง ใครมีกำลังจ่ายค่าอุปโภคบริโภคหรือมีรายได้ต่ำกว่านี้ก็นับเป็นคนจนนะครับ) และเรามีจำนวน “คนจน” รวมกับ “คนเกือบจน” (คนที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนร้อยละ 20) อยู่ 14 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของประชากรทั้งประเทศ

และเมื่อค่าใช้จ่ายต่อการไปเที่ยวหนึ่งครั้งอยู่ที่ 2,600 บาทต่อคน นั่นก็หมายความว่ามีคน 14 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการไปท่องเที่ยวในประเทศด้วย

ดังนั้น หน้าตาที่แท้จริงของแคมเปญนี้ก็อาจต้องกลายเป็น #Thailand-14ล้านStandupChallenge หรือ #StrongerTogether-14ล้าน

ด้วยกัน-กีดกัน

อันที่จริง ผมยอมรับนะครับว่าแคมเปญนี้มีข้อดีอยู่เยอะ เพราะภาพสวยๆ และคำบรรยายดีๆ นี่มีผลในการชักชวนคนเข้าร่วมและคล้อยตามอย่างแน่นอน (ถึงผมจะงงๆ ว่าถ้าวัตถุประสงค์คือให้ชาวโลกเห็น แต่ส่วนใหญ่เล่นโพสต์เป็นภาษาไทย แล้วชาวโลกจะอ่านออกไหมก็ตาม) ก็อย่างที่พอจะรู้กันน่ะครับ เศรษฐกิจบ้านเราตอนนี้ ขาดท่องเที่ยวไปก็คงไม่มีอะไรมาพยุงไว้แล้ว นี่ยังไม่นับว่า การท่องเที่ยวก็เป็นการช่วยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นได้ด้วย (แต่ก็นั่นแหละครับ ไม่ใช่ทุกท้องถิ่นหรอก ก็ไปกระจุกกันที่ถิ่นท่องเที่ยวนั่นแหละ)

แต่ก็เป็นประจำทุกครั้ง ที่มีแคมเปญอะไรโดยเอาคำว่า “คนไทย” หรือ “ประเทศไทย” เป็นฐานว่าจะทำอะไร “ด้วยกัน” ผมจะพบเจอว่ามีคนไทยมากมายที่ไม่สามารถจะเข้าไปร่วมอยู่ในขบวนกับเขาได้ ไม่สามารถไปด้วยกันกับเขาด้วยเหตุผลนานัปการ

บ่อยครั้ง บางแคมเปญ สามารถส่งผลกระทบรุนแรงขนาดที่ว่า ทำให้คนที่ไม่สามารถเข้าร่วมนั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนไทย หรือทำให้คนที่เข้าร่วมชี้หน้าคนที่ไม่เข้าร่วมว่าไม่ใช่คนไทย โดยไม่สนใจเหตุผลและข้อจำกัดของผู้ที่ไม่เข้าร่วม ไม่ว่าจะทางด้านวัตถุหรือจิตใจ (แต่คิดว่าแคมเปญนี้คงไม่ให้ผลไปถึงขนาดนั้นนะ อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งที่ไม่รู้สึก)

บางที ความหวังดีที่จะให้ทุกคนได้ไปด้วยกัน ก็สามารถกลายเป็นความรุนแรงที่กีดกันหลายๆ คนออกไป โดยที่ก็ไม่ได้มีฝ่ายไหนตั้งใจเช่นนั้นสักนิด