ThaiPublica > คอลัมน์ > เกมซุปเปอร์โบว์ลครั้งที่ 49 ในสายตานักเศรษฐศาสตร์

เกมซุปเปอร์โบว์ลครั้งที่ 49 ในสายตานักเศรษฐศาสตร์

8 กุมภาพันธ์ 2015


รศ.ดร. วิมุต วานิชเจริญธรรม
อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เช้าวันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ เวลาประเทศไทย

การแข่งขันซูเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 49 ดำเนินมาถึงช่วงท้ายเกม สกอร์ขณะนั้น นิวอิงแลนด์ แพตทริออต นำ ซีแอตเทิล ซีฮอว์กส์ อยู่ 28 ต่อ 24

แม้จะเหลือเวลาการแข่งขันเพียง 26 วินาที แต่ซีแอตเทิลได้รุกเข้ามาถึงเส้น 1 หลา หน้าเขตเอ็นด์โซน (end zone) แล้ว โอกาสทำคะแนนพลิกสถานการณ์มาเป็นฝ่ายชนะในช่วงสุดท้ายของเกม และคว้าถ้วยซูเปอร์โบว์ลประจำฤดูกาล 2014/2015 กลับบ้าน อยู่เพียงแค่เอื้อม

ขอเพียงแค่พาบอลเข้าไปทัชดาวน์ (touchdown) ในเขตเอ็นด์โซนให้ได้ จากที่ตามอยู่ 4 แต้ม จะกลับพลิกมาเป็นขึ้นนำ 2 แต้ม ในทันที

แต่ทว่า ระยะทาง 36 นิ้วนั้น กลับกลายเป็นระยะทางที่ไกลเกินไปสำหรับซีแอตเทิล เมื่อการเล่นในจังหวะต่อมา บอลที่ขว้างจากมือควอเตอร์แบ็คของซีแอตเทิล พุ่งเข้าซองของตัวคุมปีกนิวอิงแลนด์ แทนที่จะเป็นอุ้งมือของตัวรับบอลซีแอตเทิล ทำให้บอลถูกเปลี่ยนมาให้นิวอิงแลนด์เป็นฝ่ายบุก และด้วยเวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดนั้น เกมการแข่งขันจึงจบลงด้วยชัยชนะของนิวอิงแลนด์ที่สกอร์ 28 ต่อ 24 นั่นเอง

ประเด็นที่ถูกกล่าวขานกันภายหลังเกมซูเปอร์โบว์ลครั้งนี้นั้นคือ เหตุใดทีมที่มีตัววิ่งเกรดเออย่างซีแอตเทิล จึงเลือกที่จะขว้างทำคะแนนในสถานการณ์ที่เหมาะเจาะเหลือเกินสำหรับการใช้ตัววิ่งลุยเข้าทำทัชดาวน์

กลยุทธ์หลักๆ ของการเคลื่อนบอลไปข้างหน้าในเกมอเมริกันฟุตบอลนั้นมีอยู่สองทางเลือก คือ หนึ่ง ใช้การขว้างบอลให้กับปีก (หรือตัวรับบอล) กับ สอง ส่งบอลให้ตัววิ่งพาบอลฝ่าขึ้นไป การขว้างบอลนั้นมีข้อดีคือสามารถพาบอลไปได้ระยะไกลกว่า แต่มีข้อเสียคือเสี่ยงต่อการเสียการครองบอล เพราะเมื่อบอลถูกปล่อยออกจากมือแล้ว คู่แข่งมีโอกาสที่จะแย่งบอลไปครองได้สูง ในขณะที่การวิ่งลุยของตัววิ่งนั้น แม้จะทำระยะโดยเฉลี่ยได้ไม่มาก แต่ความเสี่ยงที่จะถูกแย่งบอลไปมีต่ำกว่า เพราะตัววิ่งจะกอดบอลไว้กับตัวขณะวิ่ง

ทั้งสองกลยุทธ์จึงมีผลตอบแทน (วัดจากระยะทางที่พาบอลไปข้างหน้า) และความเสี่ยง (จากการเสียการครองบอล) ที่แตกต่างกัน การขว้างนั้นให้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย

การเรียกแผนในวินาทีที่ 26 นั้น กลายมาเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์ เพราะ ด้วยระยะเพียงหนึ่งหลา สำหรับการทำคะแนนแซงนั้น ไม่ใช่เป็นการเล่นที่หวัง “ผลตอบแทน” ด้านระยะทาง ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเล่นที่ต้องควบคุมด้าน “ความเสี่ยง” เพราะหากเสียการครองบอลในจังหวะนั้น นั่นหมายถึงการบอกลาตำแหน่งแชมป์ซูเปอร์โบว์ลในทันที ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเสี่ยงด้วยการขว้างบอลแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ทีมซีแอตเทิลมีเกมวิ่งที่ไม่เป็นรองใคร มีผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ในตำแหน่งตัววิ่งของทีมด้วย ไม่ว่าจะมองมุมไหน สถานการณ์ตรงจุดนั้น ชี้ชัดว่าทีมสมควรใช้การวิ่งเพื่อทำคะแนนมากกว่า

สิ่งที่โค้ชซีแอตเทิลเลือกทำในการเล่นครั้งนั้นถูกวิจารณ์อย่างหนัก ถึงขั้นว่าเป็นการตัดสินใจเรียกแผนการเล่นที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันอเมริกันฟุตบอลเลย

อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ลืมว่าในเกมชิงชัยระดับนี้ สตาฟโค้ชของแต่ละทีมต้องทำการบ้านมาเป็นอย่างดี สิ่งที่เราๆ ท่านๆ คิดวิเคราะห์ได้นั้น ฝ่ายทีมรับของนิวอิงแลนด์ก็คิดได้เช่นกัน ดังนั้น ฝ่ายทีมรับของนิวอิงแลนด์ย่อมมองเหมือนกันว่า ณ จุดนั้น ทีมซีแอตเทิลต้องเลือกใช้ส่งบอลให้ตัววิ่งเข้าทำทัชดาวน์เป็นแน่แท้

หากอุปมาเกมฟุตบอลนี้เป็นดั่งการเล่น เป่า ยิง ฉุบ ที่หากเราคาดการณ์ได้ว่า หากฝ่ายตรงข้ามจะออกก้อนหิน เราก็จะออกกระดาษ เพื่อเป็นการตอบโต้ ฉันใดฉันนั้น

ในเกมการเล่นใดๆ ที่เราเล่นเพื่อชัยชนะ เราจะไม่ปล่อยให้คู่แข่งเอาชนะเราด้วยกลยุทธ์ที่เราคาดคะเนได้แน่นอน เราต้องทำทุกอย่างเพื่อหักล้างความได้เปรียบของคู่แข่ง

ดังนั้นฝ่ายทีมนิวอิงแลนด์ย่อมใช้ตรรกะเดียวกัน และวางกำลังเพื่อปิดการวิ่งทะลวงของฝ่ายทีมซีแอตเทิล ดังจะเห็นได้จากการเปิดเผยของโค้ชทีมนิวอิงแลนด์ในภายหลังว่า ในจังหวะการเล่นนั้น เขาได้วางแนวป้องกันไว้ถึง 8 คน เพื่อหยุดเกมวิ่งของ ซีแอตเทิล เมื่อเรามองย้อนกลับไป จะพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่หากซีแอตเทิลใช้แผนวิ่งในการเล่นนั้นจะเข้าทางของนิวอิงแลนด์ที่เตรียมการรับมือไว้อย่างดี และซีแอตเทิลก็จะไม่สามารถรุกคืบไปข้างหน้าได้ แม้เพียงแค่หลาเดียวก็ตาม

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ได้หยิบยกเอาสถิติของการแข่งขันในปี 2014 ที่มีการทำแต้มในระยะหนึ่งหลาหน้าเอ็นด์โซนมาเป็นหลักฐานสนับสนุนวิธีคิดของโค้ชทีมซีแอตเทิล กล่าวคือ ตามสถิติที่ปรากฏ กลยุทธ์การขว้างและการวิ่งเพื่อทำคะแนนในระยะดังกล่าว มีผลสัมฤทธิ์ที่ไม่แตกต่างกัน โดยอัตราสำเร็จของการทำคะแนนทัชดาวน์ของแต่ละกลยุทธ์เท่ากัน พอดี คือเท่ากับร้อยละ 57.5 โดยในการบุกทั้งหมดที่เกิดขึ้น แบ่งออกได้เป็นการบุกโดยใช้การวิ่ง 212 ครั้ง และใช้การขว้าง 106 ครั้ง

สถิติข้างต้นบอกเราว่า ฝ่ายบุกไม่ใช่ว่าจะตะบันใช้วิธีการวิ่ง เพื่อเข้าทำทัชดาวน์เมื่อบุกมาจ่อที่ระยะหนึ่งหลาเสมอไป เพราะหากใช้กลยุทธ์ที่ฝ่ายรับคาดการณ์ได้ แผนการทำคะแนนนั้นก็จะไร้ผล กลยุทธ์ที่ใช้ทำคะแนนจึงเป็นการผสมแผนการวิ่งกับการขว้าง คือบางครั้งฝ่ายบุกจะใช้การขว้าง และบางครั้งก็ใช้การวิ่ง โดยสัดส่วนของการวิ่งต่อการขว้างจะอยู่ที่ อัตรา 2:1 (212 : 106)

การใช้วิธีสลับเล่นกลยุทธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้คู่ต่อสู้จับทางได้ถูก เฉกเช่นเวลาเราเล่น เป่า ยิง ฉุบ ถ้าเรารู้จักสลับออก ก้อนหิน กระดาษ และกรรไกร อย่างเหมาะสม ฝ่ายตรงข้ามจะจับทางไม่ได้ และโอกาสที่จะเราจะเป็นฝ่ายชนะก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การวิเคราะห์ตามแนวทางข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า โค้ชของทีมซีแอตเทิลได้เลือกใช้วิธีสลับกลยุทธ์วิ่ง/ขว้าง หรือที่เรียกตามภาษาของทฤษฎีเกม (game theory) ว่า mixed strategies เพื่อเอาชนะคู่แข่ง (หรือเลี่ยงการใช้กลยุทธ์ที่คู่แข่งจับทางได้นั่นเอง) ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง น่าเสียดายที่ความผิดพลาดที่เกิดในการลงมือปฏิบัติในขั้นสุดท้ายเปลี่ยนชะตาของเขาให้กลายเป็นโค้ชผู้เรียกแผนการเล่นที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แทนที่จะถูกยกย่องว่าเป็นฮีโร่ผู้เลือกแผนเหนือเมฆ