ThaiPublica > คอลัมน์ > “เศรษฐกิจดิจิทัล” เพื่อใคร? อันตรายของชุดกฎหมายไซเบอร์

“เศรษฐกิจดิจิทัล” เพื่อใคร? อันตรายของชุดกฎหมายไซเบอร์

18 มกราคม 2015


สฤณี อาชวานันทกุล

ณ ต้นปี 2558 นโยบายของรัฐบาลเผด็จการภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ชัดเจนที่สุด เคลื่อนเร็วที่สุด และเป็นอันตรายต่อประชาชนคนใช้เน็ตมากที่สุดในความเห็นของผู้เขียน คือ นโยบายเปลี่ยนกระทรวงไอซีทีเป็น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” และดัน “เศรษฐกิจดิจิทัล” ให้เป็นหัวหอกของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

ผู้เขียนเห็นว่า ชุดร่างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอล 10 ฉบับ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 ธ.ค. 2557 และ 6 ม.ค. 2558 (อ่านสาระสำคัญและดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ต) นั้น นอกจากจะไม่ช่วยสร้าง “เศรษฐกิจดิจิทัล” ตามข้ออ้างของรัฐบาลแล้ว ยังจะฉุดรั้งพัฒนาการของเศรษฐกิจดิจิทัล ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนอย่างถาวร และเปิดช่องให้เกิด “คอร์รัปชันเชิงสถาบัน” อย่างถูกกฎหมาย!

บทสรุปข้างต้นของผู้เขียนมองเห็นได้ไม่ยาก ถ้าเพียงแต่อ่านสาระสำคัญของร่างกฎหมาย แล้วคิดต่ออีกเล็กน้อยถึงความหมายและผลกระทบ

โครงสร้างใหม่ (?) ของหน่วยงานด้านไอซีทีของไทย ที่มาภาพ: https://thainetizen.org/2015/01/new-thailand-digital-economy-organizations-structure-2015/
โครงสร้างใหม่ (?) ของหน่วยงานด้านไอซีทีของไทย ที่มาภาพ: https://thainetizen.org/2015/01/new-thailand-digital-economy-organizations-structure-2015/

“ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ” จะตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่งได้แก่ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 7 คน

กปช. และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจละเมิดสิทธิประชาชนมหาศาลชนิดที่จีนกับเกาหลีเหนืออาจมาอยากนับญาติด้วย ลำพังพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับหนังสือจากเลขาธิการ กปช. ก็สามารถขอข้อมูล เอกสาร หรือเรียกบุคคลใดๆ มาให้การ, ส่งหนังสือสั่งให้หน่วยงานรัฐและเอกชนทำตาม และเข้าถึง “ข้อมูลการติดต่อสื่อสาร” ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ไปรษณีย์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อ “ประโยชน์ในการปฏิบัติการเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” (มาตรา 35)

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมที่ “ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติภารกิจเพื่อตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่กระทบต่อความมั่นคงทางทหาร” ถือเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้โดยอัตโนมัติ (มาตรา 38) มีอำนาจทั้งหมดที่กล่าวถึงด้านบนด้วย

“ภัยคุกคามไซเบอร์” กับ “ความมั่นคงทางทหาร” ไม่มีนิยามใดๆ ในร่างกฎหมายนี้ มีแต่นิยาม “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ซึ่งหมายถึงมาตรการและการดำเนินการใดๆ ที่กำหนดขึ้น “เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ” ให้สามารถรับมือกับ “สถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงการโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”

สิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง คือ ลำพังสถานการณ์ที่ “อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง” ก็เพียงพอให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงดักฟังการสื่อสารแล้ว!

ผิดหลักสากลที่ว่า กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนนั้นจะต้องลิดรอนสิทธิเท่าที่ “จำเป็นและได้ส่วน” (necessary and proportionate) อย่างชัดเจน

นอกจาก กปช. จะมีอำนาจสั่งให้ทุกคนทำตาม ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนแล้ว หาก กปช. มีมติว่าใครก็ตามไม่ดำเนินการตาม ร่างกฎหมายนี้ก็ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวกระทำผิดวินัย (มาตรา 31) อีกทั้ง สำนักงาน กปช. ก็หาเงินเองได้ รับเงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรระหว่างประเทศก็ได้ (มาตรา 19) แถมไม่ต้องนำส่งรายได้เข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (มาตรา 20)

ยิ่งไปกว่านั้น ร่างกฎหมายนี้ยังเปิดช่องให้เกิด “คอร์รัปชั่นเชิงสถาบัน” โดยกำหนดให้สำนักงาน กปช. มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ (มาตรา 14) ทำให้เกิดความกังวลทันทีว่า ประชาชนหรือใครก็ตามจะมีสิทธิฟ้องเจ้าหน้าที่ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต (มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา) ได้อย่างไร

พูดง่ายๆ คือ กฎหมายฉบับนี้ให้ กปช. มีอำนาจล้นฟ้า ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนขั้นพื้นฐาน ดักฟังล้วงเจาะข้อมูลสื่อสารและข้อมูลส่วนตัวได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล (ต่างจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ปัจจุบัน) เพียงใช้ข้ออ้างครอบจักรวาลว่ามีสถานการณ์ที่ “อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง” ต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งยังไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับการใช้อำนาจของตนเอง

เปรียบเป็นการสถาปนา “กฎอัยการศึกทางคอมพิวเตอร์” ไปชั่วกัลปาวสาน

ตอนที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ออกมาแฉว่าหน่วยงานข่าวกรองอเมริกัน คือ National Security Agency (NSA) ดักข้อมูลประชาชนคนอเมริกันและชาวต่างชาติทั่วโลกอย่างมโหฬาร (ซึ่งที่จริง ข้อมูลที่ถูกดักในอดีตนั้นถูกเข้ารหัสโดยโปรแกรมเมอร์ของ NSA เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัว แต่กลไกนี้ถูกถอดออกในเวลาต่อมา) บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ในอเมริกาอย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก ยาฮู! ฯลฯ ก็ประสานเสียงกันประณามรัฐทันทีว่าโครงการสอดแนมกำลัง “ทำลาย” เศรษฐกิจดิจิทัลอเมริกัน (รายละเอียดข่าว) เพราะ “ความไว้วางใจ” ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ใช้เน็ตคือหัวใจของเศรษฐกิจดิจิทัล ลูกค้าจำนวนมากหันไปสนใจบริษัทชาติอื่นที่โฆษณาว่าปลอดภัยจากเงื้อมมือรัฐ

นอกจากนี้ การสืบสวนเรื่องโดยสภาก็พบว่าเจ้าหน้าที่ NSA ใช้ระบบสอดแนมในทางมิชอบหลายกรณี เช่น สอดแนมคนที่ตนสนใจจะจีบเป็นแฟน

Edward Snowden ผู้ออกมาแฉโครงการสอดแนมประชาชนของ NSA ที่มาภาพ: http://scottberkun.com/wp-content/uploads/2014/04/what-do-you-think-of-national-security-leaker-edward-snowden-poll.jpg
Edward Snowden ผู้ออกมาแฉโครงการสอดแนมประชาชนของ NSA ที่มาภาพ: http://scottberkun.com/wp-content/uploads/2014/04/what-do-you-think-of-national-security-leaker-edward-snowden-poll.jpg

จากประสบการณ์ที่เราได้เห็นในต่างประเทศ ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าหากร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาจริงๆ คือ บริษัทดิจิทัลชั้นแนวหน้าของโลกจะยิ่งไม่อยากมาตั้งสำนักงานในเมืองไทย จะได้ปลอดภัยจากการถูกดักข้อมูลและถูก กปช. สั่งให้ดักข้อมูลลูกค้า ส่วนบริษัทไทยที่อยากทำธุรกิจดิจิทัลก็ยิ่งต้องคิดหนักว่าอยากทำหรือไม่ และประชาชนคนไทยที่ไม่อยากถูกรัฐละเมิดความเป็นส่วนตัว ก็จะแห่กันไปใช้บริการของต่างชาติมากขึ้น

ดูๆ ไปแล้วกฎหมายฉบับนี้น่าจะฉุดรั้งพัฒนาการของเศรษฐกิจดิจิทัล มากกว่าสนับสนุนให้เกิด

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายอีกฉบับในชุดนี้ คือ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ฉบับใหม่ ยังระบุว่า การจัดสรรคลื่นความถี่สามารถใช้วิธี “คัดเลือก” ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการประมูล

ถอยหลังเข้าคลองอย่างชัดเจน เพราะเปลี่ยนจากวิธีที่โปร่งใสมาก กลับไปใช้วิธีที่โปร่งใสน้อย ไม่รับประกันการเปิดเสรี เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายเดิมๆ มีอำนาจเหนือตลาดต่อไป อีกทั้งยังดึง กสทช. ให้กลับไปเป็นองค์กรใต้กำกับของรัฐบาล เปิดช่องให้การเมืองแทรกแซงอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มกลไกตรวจสอบและความโปร่งใส

ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนเห็นว่า ชื่อ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” สมควรเปลี่ยนเป็น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ” เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของกฎหมาย

เพราะกฎหมายใดก็ตามที่ให้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่จำเป็นและไม่ได้ส่วนกับขนาดของภัยต่อความมั่นคง อีกทั้งยังเพิ่มภาระและความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการ ย่อมไม่มีวันสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อคนไทยทุกคนได้เลย.