ThaiPublica > เกาะกระแส > PwC เผยปี 2557 ภัยโลกไซเบอร์พุ่ง แต่งบลงทุนเพื่อป้องกันความปลอดภัยองค์กรลดลง

PwC เผยปี 2557 ภัยโลกไซเบอร์พุ่ง แต่งบลงทุนเพื่อป้องกันความปลอดภัยองค์กรลดลง

28 ตุลาคม 2014


นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)

นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ The Global State of Information Security Survey 2015 จัดทำโดย PwC ร่วมกับนิตยสาร CIO และ CSO ผ่านการสำรวจความคิดเห็นบรรดานักธุรกิจและผู้นำบริษัทไอทีชั้นนำทั่วโลกกว่า 9,700 ราย ครอบคลุม 154 ประเทศ โดยแบ่งเป็นผู้ถูกสำรวจจากทวีปอเมริกาเหนือ (35%) ยุโรป (34%) เอเชียแปซิฟิก (14%) อเมริกาใต้ (13%) และ ตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ (4%) ว่า จำนวนภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Information security) ทั่วโลกในปี 2557 สูงถึง 42.8 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นถึง 48% จากปี 2556 และมีการโจมตีเฉลี่ย 117,339 ครั้งต่อวัน หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 66% จากปี 2552 ที่เริ่มทำการสำรวจภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก

“ปี 2557 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่สร้างความกังวลที่สุดปีหนึ่งก็ว่าได้ พบว่าภาคธุรกิจมีการลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลลดลง สวนทางกับความถี่และความเสียหายทางการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ทุกวันนี้อาชญากรรมไซเบอร์จะกลายเป็นภัยที่แทบจะไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่รู้จัก เพราะปัจจุบันโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในระยะยาวคือการตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและรับมือกับอาชญากรคอมพิวเตอร์ ที่มีรูปแบบการก่อเหตุที่หลากหลายและสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจไม่ว่าเล็กใหญ่มานักต่อนัก”นางสาววิไลพรกล่าว

ทั้งนี้ ภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในยุโรปพบว่า ภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น 41% อเมริกาเหนือ 11% และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 5% ด้วยเหตุนี้เองทำให้มูลค่าความเสียหายทางการเงิน (Financial losses) ที่เกิดจากภัยคุกคามความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศทั่วโลกในปีนี้มีมูลค่าถึง 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 87 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 27 ต.ค. 57 ที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 32.32 บาท) เพิ่มขึ้น 34% จากปี 2556 และมีจำนวนบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อไซเบอร์โดยรายงานความเสียหายเป็นมูลค่าถึง 20 ล้านดอลลาร์ หรือราว 646 ล้านบาทขึ้นไปเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา

งบป้องกันความปลอดภัยด้านไอทีทั่วโลกลดลง

secrity investment

นางสาววิไลพรกล่าวว่า เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่องค์กรทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ลดลง โดยผลสำรวจในปีนี้พบว่า การลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล (Information security budgets) ในปี 57 ปรับตัวลดลง 4% มาที่ 4.1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 132 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2556 ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลในส่วนของงบด้านไอทีคงตัวอยู่ที่ 4% หรือน้อยกว่านั้นติดต่อกันมาเป็นเวลา 5 ปี

ผลสำรวจพบว่า ภาคอุตสาหกรรมที่ลดงบด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมคอมพิวเตอร์มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน-อวกาศและการป้องกันประเทศ โดยลดลง 25% เทคโนโลยี ลดลง 21% ค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลง 15% สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวโน้มธุรกิจของบางอุตสาหกรรมมีทิศทางไม่สดใสเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มงบประมาณด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูลมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ โดยเพิ่มขึ้นถึง 66% ทั้งนี้เพื่อรักษาฐานข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน การแพทย์ และครอบครัวของผู้ใช้บริการ รองมาได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 15% และอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค เพิ่มขึ้น 9%

“ปัจจุบันการลงทุนด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กรในระยะยาวที่ผู้บริหารทั้งไทยและต่างประเทศต้องใส่ใจ หากต้องการป้องกันความเสี่ยง รักษาความปลอดภัยของข้อมูลลับ และลดผล กระทบจากภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลสียมูลค่ามหาศาลต่อตัวองค์กรและพนักงาน” นางสาววิไลพรกล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากขนาดขององค์กรจะพบว่า องค์กรขนาดใหญ่มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายในการก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น จากผลสำรวจพบว่า องค์กรที่มีรายได้ 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 32,000 ล้านบาทขึ้นไป เกิดภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น 44% แต่เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่มีฐานทุน พร้อมทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนากว่า จึงทำให้จำนวนภัยคุกคามน้อยกว่าองค์กรขนาดกลางที่มีรายได้ 100-1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3,200-32,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้เกิดภัยคุกคามเพิ่มขึ้น 64%

secrity investment-2

“คนใน” ตัวการสำคัญของภัยอาชญากรรมไซเบอร์

ข้อมูลที่น่าสนใจที่พบจากผลสำรวจคือ อินไซเดอร์ (Insider) หรือกลุ่มผู้ใช้ข้อมูลภายใน ถือเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาชญากรรมคอมพิวเตอร์มากที่สุด ซึ่งในหลายกรณีเกิดจากการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น พนักงานทำการใช้ข้อมูลผ่านมือถือ หรือการถูกโจมตีแบบฟิชชิง (Targeted phishing scheme) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของอาชญากรรมไซเบอร์ โดยอาชญากรจะทำการขโมยข้อมูลผ่านการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตหรืออีเมล เพื่อให้ผู้ใช้งานทำการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จากผลสำรวจพบว่า ภัยคุกความด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่เกิดจากพนักงานในองค์กรเพิ่มขึ้น 10%

นอกจากพนักงานปัจจุบันหรือพนักงานเก่าแล้ว บุคคลที่สาม หรือผู้ที่มีแหล่งเข้าถึงข้อมูลและเครือข่ายขององค์กรอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการรายใหม่และรายเก่า ที่ปรึกษา และผู้รับเหมา ก็ถือเป็นอาชญากรไซเบอร์อันดับต้นๆ เช่นกัน

“บ่อยครั้งที่เราพบว่า เมื่อมีภัยคุกคามเกิดขึ้น ผู้บริหารหลายรายกลับเลือกที่จะจัดการปัญหาเป็นการภายใน แทนที่จะจัดการดำเนินคดีหรือบังคับใช้กฎหมาย ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่บริษัทอื่นๆ หากนายจ้างเหล่านั้นมีการจ้างอาชญากรพวกนี้ไปทำงานต่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ ” นางสาววิไลพรกล่าว

นอกจากนี้สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาคธุรกิจไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มากเท่าที่ควร โดยขาดการสื่อสารแบบบนลงล่าง (Top-down communication) อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลที่น่าเป็นห่วงจากผลสำรวจอีกประการ คือ การขาดการจัดอบรบหรือสัมมนาเพื่อสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาข้อมูลองค์กรอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ตอบแบบสำรวจไม่ถึงครึ่ง (49%) เท่านั้นที่ระบุว่า บริษัทของพวกเขามีการจัดตั้งคณะทำงานหรือทีมจากหลายหน่วยงานภายในองค์กร (Cross-organisational team) ร่วมกันจัดการปัญหาด้านความปลอดภัยข้อมูลเป็นประจำ ขณะที่มีเพียง 36% ที่ระบุว่า บอร์ด หรือคณะกรรมการของบริษัทของตน มีส่วนร่วมในพิจารณานโยบายด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง

secrity investment-1

แนวโน้มอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในเอเชียและไทย

นางสาววิไลพรกล่าวต่อว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นผู้นำในการดำเนินกลยุทธ์และนำมาตรการการป้องกันความปลอดภัยด้านข้อมูลในด้านต่างๆ มาใช้ โดยผลสำรวจพบว่าผู้บริหารถึง 66% มีการนำกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยข้อมูลมาใช้ควบคู่ไปกับรูปแบบและความต้องการในการดำเนินของธุรกิจ ขณะที่ 73% กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงในที่ทำงานของตนมีการสื่อสารเรื่องความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งองค์กร

แม้ว่าแนวโน้มการลงทุนด้านความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ของภูมิภาคจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในปีล่าสุด กลับมีทิศทางปรับตัวลดลงถึง 13% สวนทางกับมูลค่าความเสียหายทางการเงินที่เกิดจากภัยคุกคามความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศที่เพิ่มขึ้น 22% สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ต่อเนื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

สำหรับประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตต่างๆ นั้นสามารถทำได้จากโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ทำให้การเข้าเน็ตเป็นเรื่องง่าย ดูได้จากยอดผู้ใช้บริการ Facebook ของไทยที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านคน ติดอันดับที่ 9 ของโลกจากการจัดอันดับของเว็บไซต์จัดอันดับสถิติโซเชียลเน็ตเวิร์ก ZocialRank

นอกจากนี้ ข้อมูลของกองบัญชาการปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่า ในปี 2556 มีการฉ้อโกง ซื้อ-ขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากที่สุดจำนวนกว่า 250 คดี รองลงมาเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจำนวน 100 คดี มีมูลค่าการเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไปคือ แนวโน้มอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในไทยที่เพิ่มขึ้น ที่กลับสวนทางกับความพร้อมในการรับมือภัยจากโลกไซเบอร์ เพราะมาตรการรักษาปลอดภัยที่มีนั้น อาจไม่ทันสมัย หรือไม่เพียงพอต่อการก่ออาชญากรรมที่พัฒนารูปแบบไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ทางแก้ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ก็อาจกลายเป็นบ่อเกิดของภัยคุกคามเสียเอง ทั้งจากการใช้งานผู้ให้บริการภายนอก แอปพลิเคชันมือถือ การเข้ารหัสข้อมูล และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กร ดังนั้น ภาคธุรกิจและหน่วยงานของรัฐต้องหันมาให้ความสำคัญและหาแนวทางรับมือภัยคุกคามความปลอดภัยอย่างจริงจัง

“ยิ่งธุรกิจไทยนำบริการออนไลน์มาให้บริการแก่ผู้บริโภคมากเท่าไหร่ ยิ่งจำเป็นต้องลงทุนเพื่อป้องกันความปลอดภัยด้านข้อมูลสารสนเทศของผู้ใช้บริการมากขึ้นเท่านั้น ผู้บริหารต้องปรับกระบวนทัศน์และกลยุทธ์ให้มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภัยคุกคามไซเบอร์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน” นางสาววิไลพรกล่าว