PwC คอนซัลติ้ง เผยผลสำรวจพบธุรกิจฟินเทค (Financial Technology: FinTech) บูมไม่เลิก คาดเห็นเม็ดเงินกว่า 5.3 ล้านล้านบาทจากผู้เล่นในหลากหลายธุรกิจไหลเข้ามาลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หวังแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจให้บริการทางการเงิน ชี้นายแบงก์ทั่วโลกหวั่นสูญมาร์เก็ตแชร์เกือบ 1 ใน 4 ให้ฟินเทค พร้อมแนะผู้ประกอบการทำความเข้าใจ Blockchain เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมการทำธุรกรรมบนโลกการเงิน
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจ ที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)เปิดเผยถึงผลสำรวจ Blurred Lines: How FinTech is shaping Financial Services ที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกลุ่มธุรกิจการเงินและผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ผ่านการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอ หัวหน้าสายงานนวัตกรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ และผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ดิจิทัล และเทคโนโลยี จำนวน 544 ราย จาก 46 ประเทศว่า “ฟินเทค” กำลังเป็นกระแสที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลก โดยผู้ประกอบการในตลาดธุรกิจให้บริการทางการเงินรวมทั้งประเทศไทย ต่างหันมาลงทุนในฟินเทคมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยคาดการณ์ว่า ภายใน 3-5 ปีนับจากนี้ จะมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 5.3 ล้านล้านบาท ไหลเข้ามาลงทุนในธุรกิจฟินเทค
“ด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกการแข่งขันขันและรูปแบบธุรกิจของฟินเทครุดหน้าไปมาก ต่อจากนี้เราจะเห็นผู้เล่นหลักอย่างสถาบันการเงินและบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการโทรคมนาคม เข้ามาลงทุนและแข่งขันกันอย่างดุเดือดในธุรกิจนี้”
ด้านนายจอห์น ชิปแมน หัวหน้าสายงานที่ปรึกษาฟินเทคประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า เทคโนโลยีของฟินเทคได้เข้ามาเปลี่ยนบทบาทของธุรกิจบริการทางการเงิน (Financial Services) แบบดั้งเดิม ที่เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุน จัดสรรเงินทุน การชำระราคา หรือบริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ด้วยโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้เล่นที่หลากหลาย เพียงแค่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็สามารถเข้าสู่ฟินเทคได้ จึงเห็นการลงทุนในธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลของ PwC’s DeNovo platform พบว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนของอุตสาหกรรมฟินเทคขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 5.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4.3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่า ผู้บริหารสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Financial Institution) กว่า 83% เชื่อว่า ธุรกิจบริการทางการเงินของตนมีความเสี่ยงที่จะเสียผลประโยชน์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งให้แก่บริษัทผู้ประกอบการฟินเทค โดยผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่แสดงความกังวลสูงสุดถึง 95% ขณะที่ 23% ของผู้บริหารภาคธุรกิจการเงินยังมองว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจฟินเทคอย่างมีนัยสำคัญ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
แบงก์หวั่นสูญมาร์เก็ตแชร์ให้ฟินเทค
นางสาววิไลพรกล่าวว่า หลังจากที่ฟินเทคเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมการเงิน ทำให้กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินต่างให้ความสำคัญในการหาแนวทางรับมือกับเทคโนโลยีทางการเงินที่เปลี่ยนไป เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและผลประกอบการของบริษัท จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 67% ของบริษัทที่ทำการสำรวจกังวลว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของฟินเทคจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัท ขณะที่ 59% กังวลว่าจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ให้แก่กลุ่มธุรกิจฟินเทคเช่นกัน ในทางกลับกัน กลุ่มธุรกิจฟินเทคเองก็เชื่อว่าจะสามารถพิชิตส่วนแบ่งการตลาดจากภาคธุรกิจการเงินได้ถึง 33%
เมื่อพิจารณาธุรกิจให้บริการทางการเงินเป็นรายกลุ่ม พบว่า ธนาคารและผู้ให้บริการการชำระเงิน (Banking and Payments) เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันจากการเข้ามาของฟินเทคมากที่สุด โดยกลุ่มธนาคารมองว่ามีโอกาสที่จะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 24% ให้แก่ฟินเทคในอีก 5 ปี ข้างหน้า ส่วนกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโอนเงิน (Fund Transfer) และผู้ให้บริการชำระเงินมองว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่กลุ่มฟินเทคสูงถึง 28% ตามด้วยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Asset Management and Wealth Management) ที่ 22% และกลุ่มธุรกิจประกันภัย (Insurance) ที่ 21%
“แบงก์และผู้ให้บริการชำระเงินและโอนเงินเป็นสองกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ตามมาด้วยกลุ่มอื่นๆ ซึ่งความท้าทายตรงนี้จะส่งผลให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้เล่นที่เป็นฟินเทคมากขึ้นในอนาคต ผ่านการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อช่วยเสริมทัพให้แข็งแกร่ง และตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน” นางสาววิไลพรกล่าว
สอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่า 32% ของผู้บริหารที่ทำการสำรวจมองว่า รูปแบบของการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินกับฟินเทคจะเป็นไปในลักษณะพันธมิตรร่วมทางธุรกิจ (Joint Partnership) อย่างไรก็ดี ความแตกต่างระหว่างบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินกับบริษัทฟินเทคในหลายๆ ด้านยังคงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเงินแบบดั้งเดิมหลายรายลังเลที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจัยเรื่องความปลอดภัยทางด้านไอที (53%) ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ (49%) และความแตกต่างของรูปแบบธุรกิจ (40%) ยังเป็นความท้าทายประการสำคัญ
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการกลุ่มฟินเทคก็มองว่าความแตกต่างในการบริหารจัดการองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร (54%) กระบวนการในการปฏิบัติงาน (47%) และความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ (43%) เป็นความท้าทายหลักในการรับมือกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจทางการเงินแบบดั้งเดิมเช่นกัน
“Blockchain” เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการเงินที่น่าจับตา
Blockchain หรือระบบโครงข่ายในการทำธุรกรรมและเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการสำคัญของ FinTech ที่น่าจับตา ด้วยเทคโนโลยีสมุดบัญชีแยกประเภทแบบกระจายตัว (Distributed Ledger) ของ Blockchain จะช่วยลดต้นทุนและทำให้การทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพราะการทำธุรกรรมผ่านระบบ Blockchain จะตัดตัวกลางอย่างสถาบันการเงินออกไป ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมถูกลง นอกจากนี้ ผู้ทำธุรกรรมผ่าน Blockchain ยังไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากในการทำธุรกรรมการเงินแต่ละครั้ง ผู้ทำธุรกรรมจะต้องยืนยันตัวตนและถูกตรวจสอบด้วยรหัสผ่านเพื่อใช้สื่อสารกับ Blockchain
“ในอนาคต หากศักยภาพของ Blockchain ถูกพัฒนาต่อยอดให้ทำธุรกรรมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing and Settlement) การชำระเงินข้ามแดน (Cross-Border Payments) หรือบริการทางการเงินอื่นๆ ได้ อาจทำให้สถานบันการเงินแบบดั้งเดิมหรือสำนักหักบัญชีต่างๆ ถูกลดบทบาทหรือสูญหายไปก็เป็นได้”
นอกจากนี้ ศักยภาพของ Blockchain ยังต่อยอดไปถึง Smart Contract หรือระบบดำเนินการและประมวลผลอัตโนมัติเพื่อบังคับผู้ทำธุรกรรมให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เป็นภาระผูกพันของข้อสัญญาที่ตกลงร่วมกันซึ่งระบุไว้บน Blockchain
ทั้งนี้ ตัวอย่างการนำระบบ Smart Contract มาพัฒนาต่อยอดให้กับธุรกิจฟินเทค เช่น เพิ่มประสิทธิภาพในการกู้ยืมเงิน พัฒนาฟังก์ชันการทำงานของสำนักหักบัญชี อำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น การหักค่าตั๋วพันธบัตรอัตโนมัติจากผู้ถือพันธบัตรผ่าน Blockchain โดยระบบ Smart Contract จะบังคับให้ดำเนินการทันทีเมื่อถึงกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย ทำให้ในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรในทำรายการดังกล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริหารที่ทำการสำรวจถึง 56% จะเล็งเห็นถึงความสำคัญของ Blockchain แต่ก็มีผู้ประกอบการถึง 57% ที่ไม่แน่ใจว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนี้อย่างไร สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจ ของภาคธุรกิจต่อเทคโนโลยีนี้
นางสาววิไลพรกล่าวทิ้งท้ายว่า Blockchain และเทคโนโลยีสมุดบัญชีแยกประเภทแบบกระจายตัว ถือเป็นหนึ่งในโอกาสครั้งสำคัญในการเปลี่ยนโฉมใหม่ให้ธุรกิจบริการทางการเงิน แต่ความท้าทายขั้นต่อไปของผู้ประกอบการคือ การทำความเข้าใจในเทคโนโลยีของ Blockchain และดึงเอาศักยภาพออกมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ต้องศึกษาถึงโอกาสและความเสี่ยงของ Blockchain ให้ถ่องแท้ก่อนนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรด้วย