เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) โดยนายยอด นาคหวัง เลขานุการบริษัทฯ ทำจดหมายชี้แจง หลังจากมีข่าว “ผู้ถือหุ้นทุ่งคายื่นฟ้องรัฐบาลไทย” ว่า กรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิดำเนินการของผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ เป็นการใช้สิทธิที่มิได้รับทราบปัญหาและไม่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของทางบริษัทฯ ส่วนกรณีบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้รับประทานบัตรทำเหมืองทองคำ แต่ไม่สามารถขนแร่ทองคำออกจากพื้นที่ได้ เพราะชาวบ้านต่อต้านจนส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจนั้น ขณะนี้ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กรณี “ผู้ถือหุ้นทุ่งคายื่นฟ้องรัฐบาลไทย” นั้นเปิดเผยโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ว่าผู้ถือหุ้นชาวมาเลเซีย บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THL ใช้สิทธิระงับข้อพิพาทโดยใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor State Dispute Settlement: ISDS) ฟ้องร้องต่อรัฐบาลไทย เนื่องจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยไม่สามารถขนแร่ทองคำออกจากเหมืองได้เพราะชาวบ้านต่อต้าน จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการแจ้งไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แล้ว
ข้อมูลภาพรวมผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2556 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า THL มีผู้ถือหุ้นชาวมาเลเซีย 3 ราย คือ 1. MISS REGINA WEN LI NG ซึ่งถือหุ้นมากเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 5.33 หรือจำนวน 40,318,300 หุ้น 2. บริษัท SINO PAC INVESTMENTS (L) LTD ซึ่งถือหุ้นมากอันดับที่ 8 ร้อยละ 1.68 หรือจำนวน 12,689,460 หุ้น และ 3. MR.RONALD NG WAI CHOI ซึ่งถือหุ้นมากเป็นอันดับที่ 31 ร้อยละ 0.60 หรือจำนวน 4,517,441 หุ้น จากจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 4,019 ราย
ข้อมูล ISDS ระบุว่า ISDS เป็นกลไกภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน หรือความตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลของประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน เช่น หากรัฐภาคีละเมิดพันธกรณีตามที่กำหนดในความตกลงฯ และส่งผลให้การลงทุนเสียหายอย่างแท้จริง นักลงทุนจะมีสิทธิใช้กลไก ISDS ในการระงับข้อพิพาท ได้แก่ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions) และกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration) ภายใต้องค์กรและกฎระเบียบและวิธีดำเนินการที่กำหนดในความตกลงฯ เช่น UNCITRAL Arbitration Rules หรือ ICSID Additional Facility
นอกจากนี้ บริษัท”ทุ่งคาฮาเบอร์ บริษัทแม่ของทุ่งคำ” ไม่ส่งงบการเงินปี ’56 ตลาดหลักทรัพย์เตรียมเพิกถอนหุ้น – บริษัทอ้างอยู่ระหว่างขอฟื้นฟูกิจการ และปี 2556 อนุญาโตตุลาการ กรุงลอนดอน อังกฤษ ชี้ขาดให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด แพ้คดีดอยซ์แบงก์ ต้องตั้งสำรองเต็มหนี้ 51.44 ล้านเหรียญซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาประนอมหนี้ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด และบริษัทยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้การประนอมหนี้โดยคาดหวังให้ตัวเลขหนี้ลดลง
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดกรณีความขัดแย้งระหว่างบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย หลังมีคณะกรรมการ 4 ชุดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติการในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งคณะกรรมการนี้นำโดย พล.ต. วรทัต สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย ในฐานะผู้บังคับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย ได้จัดประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองที่ได้รับผลกระทบรวม 3 ครั้ง คือ วันที่ 6, 8 และ 17 สิงหาคม 2557
ทั้งนี้ ในการประชุม 2 ครั้งแรก สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากไม่ยอมรับคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดที่ตั้งขึ้นมาโดยมีทหารและข้าราชการจังหวัดเลยแต่ไม่มีชาวบ้านเป็นกรรมการร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การประชุมใน 2 ครั้งนี้มีชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านจำนวนหนึ่งเข้าร่วมฟังการประชุมด้วย
ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2557 พ.ท. วรวุฒิ สำราญ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 8 ผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย เชิญนายสมัย ภักดิ์มี และนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไปคุยที่ว่าการอำเภอวังสะพุง เพื่อให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางที่ทหารกำหนดไว้ 3 เรื่อง คือ 1. ปิดเหมืองชั่วคราว 2. ขนแร่ออกนอกพื้นที่ 3. การฟื้นฟู
นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ตั้งแต่มีทหารเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านมีแรงกดดันสูงมาก การแก้ไขปัญหาต่างๆ กลายเป็นทางตันไปหมด ไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร ชาวบ้านก็เริ่มเสียงแตกถึงวิธีการแก้ปัญหา แต่ยังคงยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องปิดเหมืองถาวร ดังนั้นทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงมีมติเห็นชอบร่วมกันเสนอทางออกและเข้าร่วมประชุมในวันที่ 17 สิงหาคม 2557
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวไม่มีข้อสรุปใด เพราะทุกฝ่ายไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ สำหรับข้อเสนอที่ชาวบ้านเสนอไป นายวิชัย เชิดชีวศาสตร์ กรรมการบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ก็ไม่รับปากว่าจะทำหรือไม่ แต่กลับเสนอว่า ขอทำเหมืองทองคำต่ออีก 2 แปลง และขอขนแร่ออกจากเหมืองทั้งหมด รวมถึงเรื่องที่ชาวบ้านต้องการให้ข้อตกลงหรือสัญญาฯ ที่จะจัดทำขึ้นเป็นสัญญาฯ 3 ฝ่าย โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะต้องลงนามในฐานะคู่สัญญาฯ ไม่ใช่พยาน ก็ไม่มีการตอบรับจากหน่วยงานราชการในจังหวัดที่เข้าร่วมในเวทีเจรจาในวันนั้น ในขณะที่ทางทหารสรุปว่าการเจรจาผ่านไปได้ด้วยดี
บ่ายวันที่ 20 สิงหาคม 2557 หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ให้อัยการจังหวัดเลยเตรียมจัดให้มีการลงนามในสัญญาฯ โดยจะให้ผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้านเป็นผู้ไปลงนามในสัญญา แต่ก็ต้องยกเลิกกะทันหัน เนื่องจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ออกแถลงการณ์ในช่วงเช้าของวันดังกล่าวว่า ข้อตกลงหรือสัญญาฯ ที่รัฐได้จัดทำขึ้น จะต้องปฏิบัติตามมติประชาคมอย่างเป็นขั้นตอน มิเช่นนั้นชาวบ้าน 6 หมู่บ้านจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งต่อมามีข่าวว่า จะมีการนัดผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้านให้ไปลงนามในสัญญาดังกล่าวอีกครั้ง ในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 และการดำเนินการของทหารที่ผ่านมาไม่เคยมีหนังสือแจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า แต่จะแจ้งปากเปล่า หรือนำรถมารับตัวในหมู่บ้านพร้อมกับหนังสือ
นอกจากนี้ทางกลุ่มได้ส่งหนังสือคัดค้านการเซ็นสัญญาถึงนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, แม่ทัพภาคที่ 2, ผู้บัญชาการทหารบกจังหวัดเลย, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย, อุตสาหกรรมจังหวัดเลย, พ.อ. เสาวราช แสงผล, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย, สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเลย และนายอำเภอวังสะพุง เพื่อชี้แจงว่า การบันทึกข้อตกลงในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 หรือวันถัดจากนี้ไปที่ไม่เป็นตามข้อเสนอของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ถือว่ามิชอบด้วยกฎหมาย และไม่ถือเป็นเอกสารที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้
ทั้งนี้การเข้ามาทำงานของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยทหารนั้นมีกำหนดระยะเวลาเสร็จสิ้นภาย 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2557 ซึ่งตรงกับการประกาศปิดเหมืองชั่วคราวของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2557
อย่างไรก็ตามล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการยกเลิกนัดในวันนี้(25 สิงหาคม2557) เพื่อลงนามทำข้อตกลงดังกล่าว โดยเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
ประชาคมของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557
1. ให้ปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาขึ้นเป็นสัญญาลายลักษณ์อักษร ระหว่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด, ตัวแทนชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน, ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย ร่วมลงนามใน “สัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย” เพื่อกำหนดเป็นหลักฐานว่า
1.1 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใดๆ ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ หากไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (บรรลุนิติภาวะ)
1.2 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่เป็น “แหล่งน้ำซับซึม” อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในด้านการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค ของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน และในจังหวัดเลย เพื่อเป็นพื้นที่สงวนหวงห้าม โดยมิให้ใช้ประโยชน์อื่นใดในที่ดินดังกล่าว
1.3 ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการศึกษาสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่และพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ 6 หมู่บ้าน จนกว่าจะได้ข้อสรุปการปนเปื้อน ผลประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ค่าภาคหลวงแร่ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชน และผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA โดยให้นักวิชาการที่ชาวบ้านมีส่วนในการคัดเลือกเป็นผู้ทำการศึกษาตามหลักการของกระบวนการมีส่วนร่วม
1.4 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หรือ ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
2. เงื่อนไขในการขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่
2.1 ให้ถอนฟ้องคดีความ 7 คดี ที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้อง-กล่าวโทษเอาผิดกับชาวบ้าน 33 ราย
2.2 ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรออกนอกพื้นที่แปลงประทานบัตร
2.3 ส.ป.ก. จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำที่หมดอายุลง และให้นำที่ดินดังกล่าวมอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
2.4 ทสจ. จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก จำนวน 608 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา และที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำที่หมดอายุลง และให้นำที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา มอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
2.5 อบต.เขาหลวง ต้องไม่อนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก
2.6 ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ออกนอกพื้นที่ เฉพาะแร่แต่งแล้ว จำนวน 1,942.54 ตัน
2.7 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ ต้องขนแร่โดยปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ระเบียบที่ประกาศโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ทางหลวง และระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก
2.8 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ภายใน 15 วัน หลังจากมีการลงนามในสัญญาฯ นี้ คณะกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณในการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว
2.9 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งวันและเวลาในการขนแร่แก่คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ก่อนการขนแร่ 15 วัน และให้ทำการขนแร่ได้ในเวลากลางวันเท่านั้น
2.10 หากการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีการทำผิดกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก็ตาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และข้าราชการที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถึงที่สุด
2.11 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้ประกอบการอื่นๆ ประกอบโลหกรรม โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
3. เงื่อนไขในการฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองแร่
ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดตั้งคณะกรรมการในการศึกษา จัดทำแผน และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ตัวแทนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน นักวิชาการจากสาขาที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ คัดเลือก แต่งตั้ง โดยนำงบประมาณในการดำเนินการมาจากกองทุนประกันความเสี่ยงและกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ โดยต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยขั้นตอนการดำเนินการ ตามมติความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ในครั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. หลังจากการปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และตัวแทนชาวบ้าน ลงนามในสัญญาฯ เพื่อเป็นหลักฐานให้เป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2. ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาฯ ให้แล้วเสร็จ และรายงานต่อ คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ตามข้อ 2.8 ก่อนจะมีการขนแร่