ThaiPublica > คอลัมน์ > สาม ‘คานงัด’ สังคมไทย

สาม ‘คานงัด’ สังคมไทย

15 กรกฎาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

มีผู้เปรียบเทียบจุดสำคัญที่ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างลุล่วงว่าเป็นดั่ง ‘คานงัด’

ในสังคมไทยเราโดยแท้จริงแล้วมี ‘คานงัด’ ดังกล่าวอยู่ในหลายเรื่อง ซึ่งหากมีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพแล้วเชื่อได้ว่าจะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

‘คานงัด’ แรกคืออุปสรรคของธุรกิจ SMEs ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ช่วยทำให้คนไทยจำนวนมากมีงานทำจนลืมตาอ้าปากได้ก็คือธุรกิจที่มีการจ้างงานต่ำกว่า 200 คน ซึ่งได้แก่ ธุรกิจ SMEs ที่เรารู้จักกัน กว่าร้อยละ 90 ของจำนวนธุรกิจในบ้านเรา คือ SMEs

SMEs กินความตั้งแต่ธุรกิจซื้อมาขายไป (เช่น เอเย่นต์รับส่งวัตถุดิบอาหารให้ร้านอาหาร รับเฟอร์นิเจอร์มาขายปลีก ขายโอ่งขายไหตามหมู่บ้าน หาบขายของเล็กๆ น้อยๆ ตลอดจนธุรกิจให้เช่าพระ ขายผักผลไม้ ร้านขายหนังสือพิมพ์ ขายเสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ) จนถึงการผลิตหรือให้บริการ (เช่น ขายส้มตำ ผลิตข้าวแกงขาย โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ร้านก๋วยเตี๋ยว ผลิตของที่ระลึก ร้านนวด ร้านสปา ฯลฯ)

อุปสรรคสำคัญของผู้ค้าขาย SMEs ก็คือความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบด้วยการเดินทางบนถนนที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัด (ถ้าตัดเรื่องความไม่สะดวกของการขนส่งด้วยรถไฟออกไปเพราะมีรางเดี่ยวแล้วก็เหลือแต่การขนส่งทางถนนที่จะกล่าวถึงในข้อเขียนนี้)

ปัญหาปวดหัวที่ทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงขึ้น และมีความไม่สะดวกในการสัญจร ได้แก่ การถูกเก็บสารพัดส่วยระหว่างทาง กฎเกณฑ์เล็กๆ น้อยๆ หยุมหยิมถูกหยิบขึ้นมาเป็นเครื่องมือรีดไถโดยเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งไม่ใช่ตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียว

คนที่คิดจะหากินด้วย SMEs ซึ่งต้องเกี่ยวพันกับการเดินทางดังกล่าวรู้สึกท้อใจจากการได้รับทราบเรื่องราวเหล่านี้จนรู้สึกแหยง ลองจินตนาการดูว่า ถ้าการเดินทางเหล่านี้สะดวก ลื่นไหล และราบรื่น ชาวบ้านที่ทำธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเหล่านี้จะสามารถมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้มากกว่าเดิมเพียงไร

ปัญหาโลจิสติกส์อันเกิดจากการขนส่งเป็นปัญหาของประเทศไทยก็จริงอยู่ แต่ไม่จำเป็นว่าปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ไขกันในระยะเวลายาว ในช่วงเวลาสั้นๆ การปราบปรามการรีดไถดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาโลจิสติกส์ได้เป็นอันมาก

การสร้างความสะดวกในการขนส่งและเดินทางทางบกด้วยการแก้ไขปัญหารีดไถก็คือการเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการเช่นเดียวกับการมีประสิทธิภาพของระบบธนาคาร ระบบไอทีที่สนองตอบความต้องการของประชาชน (ฟรี Wi-Fi ของเมือง) การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ในภาคเศรษฐกิจ ตลอดจนการลดต้นทุนไปด้วย

คานงัดที่สอง คือการขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเวลาอันควรและอย่างมีธรรมาภิบาล ในปัจจุบันนักลงทุนไทยและเทศเบื่อหน่ายการขออนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม กฎหมายที่ซ้ำซ้อนตลอดจนระบบที่มีขั้นตอนในการให้ใบอนุญาตที่ยาวและโยงใยกับความเห็นของหลายหน่วยงานเป็นโอกาสของการสร้างคอร์รัปชันในกระบวนการขออนุญาต

ถ้าระบบเศรษฐกิจขาดโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถมีการผลิตได้ ไม่มีการสร้างงานและไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ขึ้นได้ ถ้าระบบเศรษฐกิจไม่สามารถมีโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และความต้องการของตลาดก็จะเกิดการสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งรายได้และโอกาส

การแก้ไขคอร์รัปชันในกระบวนการให้ใบอนุญาต การปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้เกิดเส้นทางการขออนุญาตที่กระชับและอุดมด้วยธรรมาภิบาล จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้เป็นอันมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

คานงัดที่สาม คือการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้เงินเพื่อการศึกษาของประเทศไทย เราเสียเงินปีละ 400,000 กว่าล้านบาท (ปีงบประมาณใหม่นี้เข้าใจว่าเกือบถึง 500,000 ล้านบาท) แต่กลับไม่ได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจจากการผลิตนี้

กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงกว่าทุกกระทรวงสำหรับการเพิ่มคุณภาพของประชาชน แต่ไม่สามารถทำให้เกิดการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้ นี่คือโจทย์สำคัญของการศึกษาไทย

ถ้าดูตัวเลขของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการก็จะพบว่า รายการจ่ายเงินที่ใหญ่ที่สุดคือประมาณร้อยละ 59 เป็นเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผู้ที่ไม่ใช่ครูแต่ทำงานลักษณะอื่น) และถ้ารวมเงินค่าตอบแทนการบริหารอื่นๆ ตัวเลขนี้ก็ขึ้นไปถึงร้อยละ 76

ถ้าครูทุกคนมีอุดมการณ์ของความเป็นครู สามารถทำงานในการเป็นครูได้อย่างเต็มที่ (ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการทำรายงานตัวชี้วัด งานธุรการ เข้าประชุม อบรม) มีคุณลักษณะและความสามารถของการเป็นครูที่ดี เงินร้อยละ 76 ที่จ่ายนั้นก็มีประโยชน์

แต่เมื่อลักษณะต่างๆ ของความเป็นครูไม่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เงินร้อยละ 76 นั้นก็ไม่มีประโยชน์เต็มที่ ส่วนหนึ่งของการใช้จ่ายจึงเป็นการสูญเปล่าที่น่าเสียดาย การเรียนการสอนที่มีคุณภาพสมกับเงินที่จ่ายไปจึงไม่เกิดขึ้น

‘คานงัด’ ในเรื่องนี้คือการพัฒนาให้ครูมีคุณภาพ สัดส่วนร้อยละ 76 นั้นไม่อาจแก้ไขได้ในเวลาอันใกล้เนื่องจากไม่อาจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งมีจำนวนมากถึงกว่า 350,000 คนออกจากงานได้ ถ้าจะแก้ไขก็คือการบรรจุครูใหม่ที่มีคุณภาพสูง และพัฒนาครูที่มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมให้จงได้ด้วยวิธีการอบรมแบบใหม่ซึ่งเกี่ยวพันการเรียนรู้โดยได้ลงมือปฏิบัติจริง

การพัฒนาครูมิได้หมายถึงการเอาครูมาอบรมตามแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาหากเกี่ยวพันไปถึงการฝึกอบรมแบบใหม่ การยกเครื่องระบบการบริหารงานบุคคล (การบรรจุโอนย้ายครู) และระบบการบริหารจัดการ (ครูรับผิดและรับชอบกับคุณภาพของนักเรียน) ตลอดจนการให้ความเป็นอิสระในการบริหารงานแก่โรงเรียนที่สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้ ฯลฯ

อาร์คิมิดิส (Archimedes, 287-212 ปีก่อนคริสตกาล) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกในยุคกรีกโบราณบอกว่า ถ้าให้ ‘คานงัด’ ซึ่งยาวและแข็งแรงพอ เขาจะสามารถงัดโลกใบนี้ได้ เขามิได้หมายความตามนั้นจริงๆ หากต้องการให้เห็นถึงความสำคัญเชิงฟิสิกส์ของ ‘คานงัด’

‘คานงัด’ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมเราได้ ถ้างัดถูกจุดด้วยพลังอย่างเต็มที่โดยเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม 2557