บรรยง พงษ์พานิช
ท่านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ถือ “รัฏฐาธิปัตย์” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในเวลานี้ ได้ประกาศแนวทางที่จะดำเนินการไว้แล้วว่า หลังจากที่ความสงบกลับคืนมา ท่านจะให้มีธรรมนูญการปกครอง จัดให้มีรัฐบาล มีสภานิติบัญญัติ ที่จะทำหน้าที่แทนสภาปรกติ รวมทั้งออกรัฐธรรมนูญถาวร (นับเป็นฉบับที่ 20 ใน 82 ปี ที่ผมภาวนาว่าจะเป็นฉบับถาวรสุดท้ายคู่ชาติจริงๆ เสียที) ควบคู่กันไปกับสภาปฏิรูป เสร็จแล้วก็จะจัดให้มีเลือกตั้ง
ท่านบอกไม่ค่อยชัดเจนว่า น่าจะใช้เวลาทั้งหมดนานสักเท่าใด บางคนก็ตีความว่าแค่ปีเดียว บางคนว่า 15 เดือน แต่บางคนคิดว่าน่าจะสัก 18 เดือน ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้แต่หวังว่าจะกระจ่างชัดเจนในเวลาต่อไปไม่นานนี้นะครับ (เพราะความไม่แน่นอนมีต้นทุนสูงเสมอ) และเงื่อนเวลาที่กระชับชัดเจนจะช่วยลดแรงกดดันจากนานาชาติได้ดีอีกด้วย
เป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่กระบวนการที่ว่ามีปลายทางอยู่ที่ “ประชาธิปไตย” แต่จะเป็นประชาธิปไตยแบบไหน แบบเสรีตามอย่างสากล หรือจะเป็นอย่างครึ่งค่อนใบ เลือกบ้างตั้งบ้าง เราค่อยมาดูกัน แต่หวังว่า คงจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากหลักประชาธิปไตยที่พิสูจน์ยืนยันมามากมายยาวนานนักแล้ว กับหวังว่า จะเปิดกว้างให้สังคมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ได้บ้างตามควร อย่าให้แต่สภาที่ท่านสั่งซ้ายขวาหันได้กำหนดแต่ถ่ายเดียว
ภาระกิจที่ท่านจะทำนั้น ความจริงแล้วก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเย็น เหลือบ่ากว่าแรงอะไร
การจะร่าง “รัฐธรรมนูญถาวร” ที่เหมาะกับเมืองไทยก็ไม่น่าจะยากเย็น เพราะเรามีภูมิปัญญาสะสมมามากมาย มีมาแล้วตั้ง 13 ฉบับ อีกทั้งมีตัวอย่างจากชาติประชาธิปไตยทั่วโลกอีกกว่า 150 ชาติ ถ้าท่านจะตั้งใจเร่งทำ ความจริงหกเดือนก็น่าจะแล้วเสร็จ ระหว่างนั้น จะให้ สนช. จะช่วยเร่งพิจารณากฎหมายที่คั่งค้างสะสมมายาวนานบ้างก็ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความชัดเจน เช่น พวกที่จะกระจายทรัพยากรจากคนรวย พวกที่จะลด ละ เลิก การคอร์รัปชันโกงกิน พวกที่ชัดเจนว่ามีแต่ประโยชน์ (แต่สมัยนี้ จะหากฎหมายที่มีแต่ประโยชน์กับทุกๆ ฝ่ายจริงๆ นั้นยากมาก เขาถึงต้องมีประชาธิปไตยไงล่ะครับ) หวังว่าท่านคงจะไม่พยายามร่างรัฐธรรมนูญที่ “ไม่มีที่ติ” จนต้องใช้เวลายาวนาน เหมือนขออ้างของ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ที่ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 เสียสิบปีเศษ (แล้วใช้แค่สองปีก็ปฏิวัติฉีกทิ้งเสียอย่างงั้น)
ที่ผมเป็นห่วงว่า ท่านอาจใช้เป็นข้ออ้างใช้เวลานานเสียจนลืมคืนอำนาจให้ประชาชน ก็คือเรื่อง “ปฏิรูป” นี่แหละครับ เพราะ “สภาปฏิรูป” นี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย แถมตัวอย่างในนานาประเทศก็มีน้อย แถมที่มีบ้าง ก็ไม่มีมาตรฐานกลางอะไรให้จับต้องได้ ไม่เหมือนกับ “Constitution” ที่ล้วนมีหลักการ โครงสร้างคล้ายๆ กัน
แปลกไหมครับ ทั้งๆ ที่คำว่า “ปฏิรูป” คำว่า “Reform” เป็นคำสำคัญ เป็นเรื่อง เป็นกระบวนการที่ทุกประเทศต้องมี เพื่อให้เกิดการพัฒนา เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่เขาก็ไม่ได้จัดให้มี “สภาปฏิรูป” หรือ “Reform Council” ที่เอิกเกริกใหญ่โตเป็นการถาวรอะไร ส่วนใหญ่ เวลาจะปฏิรูปต้องระบุชัดว่า จะปฏิรูปอะไร เรื่องไหน เพราะอะไร ให้เป็นแบบไหน ทำอย่างไร เงื่อนเวลาอย่างไร เช่น “จะปฏิรูปที่ดิน เพราะมันกระจุกตัว ใช้งานไม่มีประสิทธิภาพ ให้มีการกระจายการเป็นเจ้าของ และใช้งานได้ดี โดยใช้การจำกัดสิทธิ์ถือครอง และกระบวนการภาษี” เป็นต้น เขาจะไม่พูดกว้างๆ รวมๆ จนหาความหมายรายละเอียดไม่ได้อย่างที่เราตะโกนๆ กันอยู่ตามสี่แยก
ปรกติแล้ว “การปฏิรูป” นั้น เป็นกระบวนการที่ต้องมีอยู่แล้ว และแฝงอยู่แล้วในทุกๆ อณูของ “ประชาธิปไตย” การปฏิรูปแต่ละเรื่องนั้นใช้กระบวนการไม่เหมือนกัน ใช้เวลาไม่เท่ากัน มีผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ กัน มีผลกระทบไม่เท่ากัน ปฏิรูปตำรวจกับเลือกตั้งผู้ว่า ถึงแม้จะเป็นเรื่องปกครองเหมือนกัน แต่ก็มีมิติที่ต้องพิจารณาแตกต่างกันเยอะ ปฏิรูปเศรษฐกิจ เช่น พลังงาน ตลาดทุน ท่องเที่ยว แต่ละเรื่องแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าผมไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านการปฏิรูปหรือการจัดตั้งสภาปฏิรูปนะครับ ผมเพียงแต่พยายามที่จะขอให้ท่านทำให้ชัดเจน ว่าขอบเขตวิธีการของสภาฯ ที่ว่านี้จะมีแค่ไหน จะทำเรื่องอะไรบ้าง มีกรอบอย่างไร ทำแผนแล้วจะนำไปสู่ทางปฏิบัติได้อย่างไร อย่าลืมว่า เมื่อไม่นานมานี้ เราก็เคยมีทั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ และ สภาปฏิรูปฯ ที่ใช้งบประมาณไปพอสมควร แต่ผลที่ได้ก็คือสมุดสองเล่ม (ที่ผมเห็นว่ามีเรื่องที่ดีอยู่ไม่น้อย) แต่ก็ไม่มีใครเอาไปทำอะไร ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
ในความเห็นของผม สิ่งที่สภาปฏิรูปควรทำ คือการระบุถึงปัญหา การวางเป้าหมายในภาพรวม การกำหนดหัวข้อใหญ่ การกำหนดวิธีการแบบกว้างๆ การกำหนดกระบวนการที่ต้องให้มีผู้มีส่วนได้เสียเข้ามีส่วนร่วม ฯลฯ เรื่องทั้งหมดน่าจะใช้เวลาแค่สี่ห้าเดือน ถ้าทำงานกันอย่างจริงจัง โดยอาจออกกฎหมายสักฉบับรองรับบังคับไว้ (ถ้าจะให้ดีเป็นประชามติไว้ก็ได้) ส่วนการดำเนินการปฏิรูปจริง จะถ่ายโอนกลับไปให้หน่วยงานตามปกติดำเนินการ หรือถ้าจะให้มีสภาฯ คอยกำกับช่วยเหลืออย่างถาวรก็อาจระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่จะร่างใหม่ก็ได้ (สมาชิกสภานี้อาจใช้วิธีเลือกจากอาชีพต่างๆ หรือลากตั้งบ้าง แต่ให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามสมควรเท่านั้น)
ส่วนเรื่องที่ต้องปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้งใหม่ ก็มีแค่การปฏิรูป “กลไกการเข้าสู่อำนาจรัฐ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “การปฏิรูปการเลือกตั้ง” (ถ้าคิดว่าอยาก ถ้าคิดว่าต้องปฏิรูป) ซึ่งก็สามารถออกแบบ เลือกหาวิธีการที่มีใช้อยู่ทั่วโลก มาดัดแปลงให้เหมาะกับบริบทที่ท่านต้องการ (แต่คงต้องคงหลักการ one man, one vote เอาไว้นะครับ)
ทั้งหมดนี่แหละครับ เป็น Roadmap แบบกว้างๆ ที่ผมคิดว่าควรจะเป็นจากนี้ไป ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรจากที่ท่านผู้นำประกาศไว้ เพียงแต่มีรายละเอียดขอบเขตเพิ่มขึ้นบ้าง กับกำหนดเวลาให้สั้นเข้าไว้ตามหลักการ “ทำให้น้อย ถอยให้เร็ว” ที่ผมเชื่อว่าเป็นทางที่ดีที่สุดของประเทศ
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากฝากไว้ก็คือ ในระยะสั้น ท่านหนีไม่พ้นที่จะต้องสรรหาโครงการ “ประชานิยม” มาให้กับประชาชน อันคำว่า “ประชานิยม” นั้น ถึงหลายคนคิดว่าเป็นคำหยาบ (ท่านอาจเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นแทนเพื่อหลีกเลี่ยงก็ได้นะครับ) แต่อย่างน้อย ทุกๆ โครงการก็จะมีส่วนของการกระจายรายได้ การกระจายทรัพยากร (Redistribution) อยู่ไม่น้อย เพราะไม่มีประชานิยมไหนเอาจากมากคนมาให้น้อยคน แน่นอนครับ ว่าเรามีประชานิยมที่ดีอยู่บ้าง แต่เราก็มีประชานิยมที่ห่วยอยู่ไม่น้อย
ในการทำประชานิยมของ คสช. ผมขอให้พิจารณา หลักการดังต่อไปนี้
– พยายามหาโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของประชาชน เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในระยะยาว ไม่ใช่แค่เอาเงินไปแจกชนิดที่เขาเรียกว่าสักแต่ให้กินแล้วก็ขี้ทิ้ง ตัวอย่างโครงการประชานิยมที่ดี ก็เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพฯ การฝึกอาชีพและทักษะ การศึกษา การจัดกองทุนฯ ต่างๆ ที่ให้รากหญ้าได้เข้าถึงทรัพยากร (ต้องปรับปรุงคุณภาพ) การแจกจ่ายที่ดินรกร้างว่างเปล่า การเดินต่อโครงการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ฯลฯ
– หลีกเลี่ยงโครงการที่จะก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาดในระยะยาว เช่น การแทรกแซงราคา และกลไกตลาดอย่างถาวร เช่น จำนำข้าว ประชานิยมเรื่องราคาน้ำมัน ฯลฯ
– หาโครงการที่การดำเนินงานไม่ยุ่งยากซ้ำซ้อน ไม่ต้องตั้งหน่วยงานใหม่ที่สิ้นเปลือง ไม่เปิดช่องให้มีทุจริต เช่น การใช้กลไกภาษี (โกงยาก) การแจกเงินตรงต่อผู้ต้องการความช่วยเหลือ
– เป้าหมายความช่วยเหลือ ควรเป็นประชากรรากหญ้าเป็นเป้าหมายหลัก พวกเสื้อแดงที่เทิดทูนระบอบทักษิณนั่นแหละครับ คือกลุ่มที่ควรได้รับมากที่สุด เพราะปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของความแตกแยก (นอกจากนั้นยังได้ผลทางการเมืองอีกด้วย พวกเสื้อเหลือง พวกอำมาตย์ ไม่ต้องช่วยเขาหรอกครับ ยังไงๆ เขาก็เดินตามท่านต้อยๆ อยู่แล้ว) สิ่งควรระวังอย่างมาก คือให้ระวังว่าโครงการอาจเป็นประโยชน์กับคนรวยมากกว่าได้ เช่น ถ้าลดราคาน้ำมัน รับรองคนรวยได้มากกว่า (เอาคูปองน้ำมันไปแจกคนจนดีกว่าเยอะ) หรือ ตัวอย่างขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ดันไปลดภาษีกำไรกิจการลงตั้งสองแสนล้าน (ฝีมือกิตติรัตน์ ณ ระนอง) คนงานได้น้อยกว่าเศรษฐีอย่างผมเยอะ อย่างนี้เค้าเรียกว่า Re-redistribution
– อย่าได้รังเกียจโครงการเดิมที่มีคนเคยทำ ไม่ต้องกลัวว่าจะเอาอย่างใคร โครงการในโลกไม่ได้มีมากมาย การพยายามแสดงความคิดสร้างสรรค์ อาจนำความฉิบหายยุ่งยากมาให้ ตัวอย่างเช่น อัจฉริยะพรรคเพื่อไทยคิดเรื่อง “จำนำข้าวทุกเมล็ด” เพื่อไม่ต้องตามตูด “การประกันราคาข้าว” ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายนำความหายนะมาให้กับอุตสาหกรรมข้าวทั้งมวลอย่างยับเยิน ใครทำอะไรดี ทำตามเลยครับ ตัดออกเฉพาะที่ชั่วๆ ก็เจริญตายแล้ว
– หลีกเลี่ยงการที่รัฐจะเข้าดำเนินการเอง พยายามให้กลไกเอกชนทำงานให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น ให้กู้รากหญ้าผ่านธนาคารเอกชน หรือที่กำลังเป็นประเด็น ว่าจะไม่ประกันราคาข้าวเหมือนประชาธิปัตย์ แต่จะช่วยเหลือปัจจัยการผลิตแทน อย่างนี้ผมขอค้าน เพราะจะต้องมีการจัดซื้อ จอบ เสียม ปุ๋ย ปีหนึ่งครึ่งแสนล้าน หวานคอแร้งนักจัดซื้อ แถมบางอย่างที่ไปยัดเยียด ชาวนาเขาอาจไม่อยากได้ก็มี สู้ยอมกลับไประบบประกันราคา (ไม่ต้องกลัวประชาธิปัตย์ได้เครดิตหรอกครับ เพราะจริงๆ แล้วทีดีอาร์ไอคิดให้ทุกอย่าง) ที่เป็นปัญหา เช่น ชาวนาปลอม ไม่ผลิตจริง ไม่เพิ่มผลิตภาพ ก็แก้ไปเป็นจุดๆ สุดท้ายได้ทะเบียนชาวนา ได้ทะเบียนคนจน จะเป็นประโยชน์มากกับการวางแผนสวัสดิการสังคมในอนาคต
– คำแนะนำสุดท้าย ให้ระวัง ระแวง คำแนะนำของข้าราชการประจำกับองค์กรเอกชนทั้งหลายให้มาก ไม่ใช่ไม่ให้ฟังนะครับ แต่ต้องตรวจสอบ คานความเห็นโดยนักวิชาการและภาคประชาสังคมด้วย เพราะพวกแรกเป็นกลุ่มที่ร่วมมือหรือเป็นบ่อเกิดของคอร์รัปชันมาตลอด ส่วนพวกหลังก็มักเอาแต่ได้ เอาแต่ประโยชน์ตน เป็นต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำ
วันนี้นั่งเขียนยืดยาว ก็ขอถือเป็นตอนต่อตอนจบของบทความ สี่คำถามที่มีต่อ คสช. ที่เขียนค้างคาไว้เมื่อสิบกว่าวันก่อนเลยนะครับ
เมื่อวาน วันอาทิตย์ ผมไปบรรยายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ใจเย็นไว้กับการเมืองไทยและขออภัยในความไม่สะดวก” (Keep Calm and Do Apologize for The Polotical Inconvenience) ซึ่งเป็นหัวข้อที่เขาตั้งไว้ให้สามเดือนแล้ว ก่อนรัฐประหารเสียอีก ผมก็ได้พูดจาไปประมาณนี้ โดยในระหว่างนั้นได้พูดไปว่า เมื่อยี่สิบวันก่อนได้มีโอกาสฟังเพลงปลุกใจทั้งวันอยู่สองวัน
พอจบการบรรยาย เดินออกมา ก็มีคุณผู้หญิงวัยกลางคน แต่งตัวดีเก๋ไก๋ เดินมาดักพูดว่า “ดิฉันชอบฟังเพลงปลุกใจมาก โดยเฉพาะเพลงหนักแผ่นดิน และคิดว่าคุณบรรยงควรฟังบ่อยๆ เพราะดิฉันคิดว่าคุณเป็นคนหนักแผ่นดิน เห็นนามสกุลก็รู้แล้วว่าเป็นคนชั่ว” ว่าแล้วเธอก็ชักนกหวีดที่มีสายเป็นลายธงชาติออกมาโชว์ ยังดีที่เธอไม่เป่าปรี๊ดใส่ผมให้เอิกเกริกไป
เสร็จแล้วเธอก็สะบัดหน้าเดินยืดจากไปด้วยท่าทางเสมือนหนึ่งว่าเพิ่งได้ประกอบวีรกรรมยิ่งใหญ่เพื่อชาติไป
ผมนึกขำมากกว่านึกโกรธนะครับ แต่นี่แหละครับ แค่ความเห็นที่ตรงไปตรงมา ขอเพียงไม่ตรงใจสักเล็กน้อย ก็ทำให้คนเราโกรธเคืองแตกแยกกันได้ถึงเพียงนี้
ก็เลยถือโอกาสประกาศสักหน่อยว่า อันนามสกุล “พงษ์พานิช” นั้น มีมากมายหลายสาย เข้าใจว่า คนจีนเดินไปอำเภอ ท่านถามว่าทำอะไร พอบอกค้าขาย ท่านก็เลยตั้งให้ว่า “พงษ์พานิช” เท่าที่ทราบมีอย่างน้อยห้าสาย จากต่างๆ เมือง พ่อผมเป็นคนยะลา สืบเชื้อสายมาจากคนจีนยะลา ไม่ปรากฏว่าเคยมีญาติท่านใดอยู่ในแวดวงการเมือง หรือใหญ่โตในวงราชการ พวกเราเป็นคนสมถะ ไม่โด่งดังโฉ่งฉ่างกับใคร ที่มีชื่อเสียงมากหน่อยก็คือ นพ.บัญชา พงษ์พานิช น้องชายผมเอง แต่ก็เป็นเรื่องศาสนา เรื่องประชาสังคม เรื่องประวัติศาสตร์ ที่มันก็มักจะมาจิกหัวให้ผมไปช่วยรับใช้มันเสมอๆ
วันนี้ว่าเสียยาวตามเคย ขอจบแค่นี้ จะไปออกกำลังลดน้ำหนัก เพื่อแผ่นดินจะได้เบาลง
หมายเหตุ: ตีพิพม์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich วันที่ 9 มิถุนายน 2557