ThaiPublica > สัมมนาเด่น > เสวนา สัจนิยมหมัศจรรย์: การเมือง การปลดปล่อย วรรณกรรม และการจากไปของ “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ”

เสวนา สัจนิยมหมัศจรรย์: การเมือง การปลดปล่อย วรรณกรรม และการจากไปของ “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ”

12 พฤษภาคม 2014


“อ่านไปถึงตอนที่มันฆ่าคนแล้วเอาขึ้นรถไฟมองไปแล้วนี่ ‘คน’ เต็มรถไฟ หรือมันเป็น ‘กล้วย’ มันเห็นเลยว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกที่ 3 การเข้าไปกดขี่คนในโลกที่ 3 ของบริษัทข้ามชาติต่างๆ มันมีมาก่อนโลกาภิวัตน์ แล้วมาร์เกซก็เขียน (ร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว) ให้เห็นภาพตรงนี้ คิดว่าได้อ่านถึงตรงนี้… มันมีสภาพการณ์คล้ายกันอยู่ (เหตุการณ์ 6 ตุลา กับการเกิดสงครามกลางเมืองในหนังสือ)… ตอนนั้นเป็นความรู้สึกหดหู่ว่าจะผ่านช่วงเวลาของสังคมไทยตอนนั้นไปได้อย่างไร”

 กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
โครงการรัฐศาสตร์ภาคประชาชน ได้จัดงานเสวนา สัจนิยมหมัศจรรย์: การเมือง การปลดปล่อย และวรรณกรรม ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติแก่การจากไปของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
โครงการรัฐศาสตร์ภาคประชาชน ได้จัดงานเสวนา สัจนิยมหมัศจรรย์: การเมือง การปลดปล่อย และวรรณกรรม ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติแก่การจากไปของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

เมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา โครงการรัฐศาสตร์ภาคประชาชน ได้จัดงานเสวนา “สัจนิยมมหัศจรรย์: การเมือง การปลดปล่อย และวรรณกรรม” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติแก่การจากไปของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ผู้เป็นที่รู้จักในนามของนักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมในแนว “สัจนิยมมหัศจรรย์” (Magical Realism, เมจิคัลเรียลลิสม์) จากนวนิยายเรื่อง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (100 Years of Solitude) และย้อนรำลึกถึงพัฒนาการของสัจนิยมมหัศจรรย์ในสังคมไทยที่มักผูกโยงกับเรื่องของการเมือง

นำการเสวนาโดย นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี (สิงห์สนามหลวง) นักเขียนอาวุโส ผู้เขียนคำนำให้แก่หนังสือ “ร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ฉบับภาษาไทย, รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ. ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ. ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิชญ์: ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับสัจนิยมมหัศจรรย์กันก่อนว่ามันเป็นอย่างไรครับอาจารย์สุรเดช?

สุรเดช: สำหรับสัจนิยมมหัศจรรย์นั้นอาจมีความสัมพันธ์กับวรรณกรรมที่เราเรียกว่า Fantastic ที่เล่นกับความลังเลของผู้อ่าน มีลักษณะปลายเปิด อย่างเช่น เรื่องเพลงใบไม้ ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ที่เราไม่รู้ว่าตอนจบมันเป็นเรื่องผี หรือเป็นจินตนาการของตัวละคร ในที่สุดแล้วมันไม่สามารถตีความไปทางใดทางหนึ่งได้อย่างชัดเจน

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผมถือว่ามันเป็นการต่อต้านแนวที่เราเรียกว่า “สัจนิยม” (Realism) มาก่อน คือธรรมชาตินิยม (Naturalism) ที่เป็นผลผลิตของยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ที่สำคัญคือว่า การเกิดวรรณกรรมเหล่านี้ และการเกิดสงครามต่างๆ มันเริ่มนำมาสู่การตั้งคำถามในเรื่องของเทคโนโลยีและระบบเหตุผล วิธีคิด หรือการอธิบายแบบตรรกะแบบเหตุผลมันอธิบายได้จริงหรือเปล่า สรุปแล้วสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นสามารถอธิบายได้ด้วยวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์หรือระบบเหตุและผลได้จริงไหม เพราะในที่สุดแล้วชีวิตจริงของเรานั้นมีความซับซ้อนมากกว่านั้น

สำหรับนิยามของสัจนิยมมหัศจรรย์นั้นได้มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย จะขอยกตัวอย่างนิยาม 5 ข้อของ Wendy B. Faris

– ต้องมีองค์ประกอบที่มหัศจรรย์เหนือจริง ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล แต่แฝงอยู่ในบริบทที่เป็นโลกธรรมดาสามัญ อย่างภาพยนตร์เรื่องหมานคร ก็มีบริบทที่มันจริงอยู่

– มีฉากพรรณนาที่ค่อนข้างลึก นำเสนอแบบสัจนิยม จับต้องได้ด้วยสัมผัส อย่างเช่น เดินอยู่บนถนนในกรุงเทพฯ มีชื่อถนนเรียบร้อย เราสามารถรู้สึกได้ว่าเราอยู่ในโลกนั้นจริงๆ

– ผู้อ่านอาจจะรู้สึกคลางแคลงใจหรือตั้งข้อสงสัย แต่จะพยายามประสานความขัดแย้ง เนื่องจากการปะทะกันของทั้งสองขั้ว แล้วก็พยายามที่จะประสานว่าในที่สุดแล้วมันจริงหรือไม่จริง

– เรื่องเล่าต้องเชื่อมโยงพรมแดนระหว่างอาณาบริเวณที่ต่างกัน ซึ่งอาจหมายรวมไปถึงโลกที่แตกต่างกันก็ได้ แน่นอนว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้เพราะมันมีความแตกต่างทางทัศนคติ มันเกิดขึ้นได้เพราะ “โลกาภิวัตน์” การที่เราต้องเดินทางท่องเที่ยว การที่เราต้องไปเจอโลกใหม่โลกอื่นๆ มันทำให้เราให้เรารู้สึกตัวเลยว่าโลกทัศน์ที่เราอาศัยอยู่มันไม่สามารถอธิบายได้

ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะฉะนั้น ในแง่นี้สัจนิยมมหัศจรรย์คือการนำเสนอเรื่องของการเชื่อมโยงพรมแดนที่แตกต่างกัน นวนิยายเรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวมันคือการเปิดหมู่บ้านมาคอนโดไปสู่โลกภายนอก สิ่งต่างๆ เข้ามาโดยเฉพาะทุนนิยมอเมริกาของบริษัทกล้วย มันทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างวิธีคิดหลายๆ แบบ

– จากการเชื่อมโยงดังกล่าวทำให้เราตั้งคำถามกับแนวคิดที่เรายอมรับกันมาเกี่ยวกับ เวลา สถานที่ และอัตลักษณ์

พิชญ์: อยากให้อาจารย์สุชาติเล่าว่า สำหรับในเมืองไทย อาจารย์มองมาร์เกซกับสัจนิยมอย่างไรบ้าง

สุชาติ: เมื่อถามผมเรื่องมาร์เกซและร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ก็ต้องย้อนไปไกลพอสมควร เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ช่วงที่ผมเริ่มเขียนเรื่องสั้นในชุด “ทางแยก” ลงพิมพ์ครั้งแรกปี 2515 มันมีอะไรประหลาดซึ่งโดนวิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มซ้ายจัด เขาก็วิจารณ์งานผมว่าเป็นงานที่ประหลาดมาก เต็มไปด้วยความซับซ้อน คืออ่านไม่รู้เรื่อง

นักคิดนักเขียนในสำนักนี้ได้รับคำวิจารณ์จาก “จิตร ภูมิศักดิ์” ว่าเป็นพวก “โรคประจำศตวรรษ” คือโรคที่เหงา เศร้า เบื่อ มองไม่เห็นชัยชนะของประชาชน ไม่ทราบสมัยนี้เขาเรียก “สลิ่ม” หรือเปล่า แต่สมัยนั้นก็เอาคำคำนี้มาวิจารณ์

คำว่าสัจนิยมมาจากนักคิดนักไทยรุ่นก่อนหน้าผม เขาใช้เพื่อที่เขียนเกี่ยวกับวรรณกรรมเรียลลิสม์ แล้วผมก็เอามาใช้ตาม เมื่อต้องการอธิบายคำว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิต ในลักษณะที่มาจากศัพท์วรรณกรรมที่เรียกว่าโซเชียลลิสต์ (Socialist) ผมก็บัญญัติศัพท์ขึ้นมาว่าเป็น “สัจสังคม” ถ้าเป็นโซเชียลลิสต์เรียลลิสม์ (Socialist Realism) ก็เป็นสัจสังคมนิยม เพราะต้องถือว่าเป็นรูปแบบของวรรณกรรมที่เกิดขึ้น ในช่วงการเปลี่ยนผ่านก่อน 14 ตุลา กับช่วงหลัง 14 ตุลา

หลัง 14 ตุลา ผมคุยกับเพื่อนฝรั่งที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เขาบอกว่าสำหรับเขาวรรณกรรมในลักษณะโซเชียลลิสต์เรียลลิสม์เป็นรูปแบบที่น่าเบื่อที่สุด เพราะถ้าหากทำได้ไม่ถึงมันจะกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) แต่ว่างานชุดประเภทนี้เข้าถึงสังคมไทยมาในช่วงที่มีการจัดตั้งขบวนการนักศึกษาในปี พ.ศ. 2517-2518 ผมคิดว่าที่เขาวิจารณ์ว่างานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นโรคประจำศตวรรษเป็นเพราะเขาต้องการแย่งชิงการนำรึเปล่า

ผมซื้อหนังสือหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวมาอ่าน แต่อ่านไปไม่ถึงครึ่งเล่มก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา พอเกิด 6 ตุลา มันพลิกผันอะไรหลายอย่าง เป็นต้นว่านายธานินทร์ กรัยวิเชียร ออกมาประกาศบอกว่าจะขอเวลาเพื่อปฏิรูปประเทศ 12 ปี โชคดีที่เขาอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ หนังสือต่างๆ รวมทั้งที่ผมทำ ผมเขียน กลายเป็นหนังสือต้องห้าม

เกิดการ “หนีตาย” เราใช้คำคำนี้ บางคนก็หนีไปหลบในเซฟเฮาส์ บางคนก็หาทางที่จะติดต่อจัดตั้งเพื่อเข้าป่า ผมตัดสินใจออกจากบ้าน มีหนังสือมากมายในบ้านที่ยังเลือกไม่ถูก ก็มีหนังสือที่ยังอ่านไม่จบ ชื่อ 100 Years of Solitude ของมาร์เกซ หนังสือเล่มนี้แหละที่น่าจะเหมาะกับอารมณ์ความรู้สึกผมในช่วงนั้น

เข้าใจว่าอ่านไปถึงตอนที่มันฆ่าคนแล้วเอาขึ้นรถไฟมามองไปแล้วนี่คนเต็มรถไฟ หรือมันเป็นกล้วย มันเห็นเลยว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกที่ 3 การเข้าไปกดขี่คนในโลกที่ 3 ของบริษัทข้ามชาติต่างๆ มันมีมาก่อนโลกาภิวัตน์ แล้วมาร์เกซก็เขียนให้เห็นภาพตรงนี้ คิดว่าได้อ่านถึงตรงนี้จุดที่กำลังจะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพ่อตากับลูกเขย มันมีสภาพการณ์คล้ายกันอยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นเป็นความรู้สึกหดหู่ว่าจะผ่านช่วงเวลาของสังคมไทยตอนนั้นไปได้อย่างไร

ผมคิดว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นส่วนต่อขยายของสัจนิยม อยู่ระหว่างความเป็นจริงกับความเหนือจริงที่นำมาผสมผสานกัน แล้วมันก็ลงตัวด้วยการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน สิ่งที่ได้จากวรรณกรรมที่เป็นสัจนิยมมหัศจรรย์คือมันทำให้คิดต่อ มันเป็นปลายเปิด

แต่งานเขียนแนวนี้มักโดนพวกฝ่ายซ้ายจัดด่าทั้งนั้น เพราะสิ่งที่เข้ามาในสังคมไทยในลักษณะของทฤษฎีวรรณกรรมวิจารณ์ส่วนใหญ่เข้ามาในแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ (Marxist) หรือสตาลินนิสต์ (Stalinist) ส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งที่ผมเข้าใจว่าควรจะต้องศึกษาต่อไปว่าวิวัฒนาการของสิ่งที่เป็น “เพื่อชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นเพลง วรรณกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ คุณจะเห็นอะไรหลายๆ อย่างในสภาพสังคมที่ผ่านมา

นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี (สิงห์สนามหลวง) นักเขียนอาวุโส
นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี (สิงห์สนามหลวง) นักเขียนอาวุโส

มาร์เกซให้คำตอบผมอย่างน้อยที่สุดจากที่พูดมาว่า Magical เป็นส่วนต่อขยายของ Realism จะทำให้เห็นว่าส่วนต่อขยายมันมีลักษณะที่น่าจะสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าเป็นงานเขียนชาวบ้านๆ ของเรา แต่ทำไมมันไม่งอกงาม ของเรามีอะไรมหัศจรรย์มากมายเลยอย่าง แก้วหน้าม้า นางสิบสอง คือลักษณะวรรณกรรมที่เป็นนิทานชาวบ้านถูกพวกปัญญาชนในช่วงแรกๆ มองว่าเป็นอะไรที่ไม่พัฒนา หารู้ไม่ตนเองกลับไปเอาแนวคิดชั้น 2 ของต่างประเทศมา

พิชญ์: ต่อกันที่มุมมองทางวิชาการกันบ้าง อาจารย์ชูศักดิ์มีความเห็นว่าอย่างไรครับ

ชูศักดิ์: ผมพยายามจะตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ของไทย ข้อสังเกตเบื้องต้นสัจนิยมมหัศจรรย์ไทย ยอมรับว่ามันเข้ามาแล้วก็มีการพูดถึงกันมากมาย มีบทบาทที่สำคัญพอสมควรในวงการวรรณกรรมบ้านเรา และก็มีงานเขียนแนวนี้ออกมาจำนวนหนึ่ง

จากคำนำของคุณสุชาติในหนังสือหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว หรือที่เล่ามาเมื่อสักครู่ มันทำเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เรารู้ว่า หนังสือ หรือการ์เซีย มาร์เกซ และสัจนิยมมหัศจรรย์ มันเข้ามาในสังคมไทยในบทริบทของอะไร โดยเฉพาะที่อาจารย์พูดว่ารับรู้มัน หรืออ่านมันท่ามกลางบริบทความขัดแย้งทางการเมืองในเมืองไทย เป็นจุดที่ทำให้การรับรู้หรือการพูดถึงสัจนิยมมหัศจรรย์ในสังคมไทยมันจะเน้นมิติการเมืองของงานแนวนี้มาก

ประเด็นที่มักจะพูดกันว่า นักเขียนลาตินอเมริกัน การที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐเผด็จการผ่านงานเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์ มันได้ซ่อนความหมายบางอย่างไว้ ที่เห็นในหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวว่า การฆ่าล้างหมู่คนงานที่มาประท้วงแล้วก็เกิดฝนตกติดต่อกันสี่ปี รัฐบาลก็รณรงค์ว่ามันไม่เคยมีการประท้วงมาก่อน นั่นก็คือกระบวนการที่รัฐพยายามเข้าไปสถาปนาความทรงจำชุดใหม่แทนที่ความทรงจำชุดเดิม ซึ่งก็เป็นวิธีที่เราพูดได้ว่างานแนวนี้มันมีนัยยะทางการเมือง หรือมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองอยู่อย่างชัดเจน นี่เป็นประเด็นที่นักเขียนไทย หรือเราเองมักจะคิดถึงสัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมไทย

ในมุมประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เข้ามาในไทยในบริบทอะไรบ้าง การประกาศนโยบาย 66/23 (นโยบายที่ให้เหล่านักศึกษาและประชาชนผู้ที่ “เข้าป่า” ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท. กลับออกมาในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”) ได้นำไปสู่การล่มสลายของอุดมการณ์สังคมนิยม หรือที่ว่า “การโละทิ้งครั้งใหญ่ในอุดมการณ์สังคมนิยม” ทำให้ในวงการวรรณกรรมมันเกิดเกิดกระแสของการวิพากษ์ตรวจสอบทบทวนวรรณกรรมเพื่อชีวิตครั้งใหญ่ มีความพยามที่จะแสวงหาแนวการเขียนใหม่ๆ ที่เลี่ยงไปจากงานวรรณกรรมเพื่อชีวิต

ในช่วงปี 2523-2524 เป็นบริบทที่ทำให้สัจนิยมมหัศจรรย์ในเมืองไทยเป็นที่ตอบรับมากกว่าแนวอื่น เพราะในเวลาเดียวกันนั้นมันเกิดกระแสกลับไปที่วัฒนธรรมชาวบ้าน สัจนิยมมหัศจรรย์มันกลับไปให้ความสำคัญกับตำนาน เรื่องเล่าพื้นถิ่น ที่มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์

เราพบว่าเดิมกระแสภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ถูกมองว่าเรื่องของชาวบ้านเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ เพราะถูกมองในกรอบสมัยใหม่นิยม เหตุผลนิยม แต่ว่ากระแสวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ไปนิยามสถานะความเชื่อของชาวบ้านใหม่ ว่ามันเป็น “ภูมิปัญญา” ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ มันก็สอดคล้องกับการที่สัจนิยมมหัศจรรย์หวนกลับไปเอาตำนานพื้นถิ่น เอาเรื่องเล่าของปู่ย่าตายาย มาสอดในโลกสัจนิยม สถานะจึงต่างไปจากเดิม

ที่ลาตินอเมริกามีความจริงอันมหัศจรรย์ก็คือ หากมองในสายตาตะวันตกเรื่องมันก็มหัศจรรย์ทั้งนั้น แต่นั่นคือความจริงในชีวิตของชาวอินเดียน คนกินดิน หรืออะไรก็แล้วแต่ ชาวอินเดียนก็เสนอว่าอันนี้แหละคือลักษณะที่เรียกว่าสัจนิยมมหัศจรรย์ของชาวลาตินอเมริกัน

สำหรับสัจนิยมมหัศจรรย์ไทยมันอาจมีลักษณะที่ต่างกับสัจนิยมมหัศจรรย์ของมาร์เกซ ของชาวลาตินอเมริกันอยู่พอสมควร ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีลักษณะเช่นนี้ เพราะเรายึดถือเอาสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นงานที่มุ่งเน้นมิติทางการเมืองมากไปหน่อย

รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิชญ์: แล้วสัจนิยมมหัศจรรย์มันเกี่ยวโยงอย่างไรกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน

ยุกติ: หากมาดูงานเขียนในเชิงมานุษยวิทยา “คติชนชาวบ้าน” (Folklore) มีส่วนทำให้งานในเชิงมานุษยวิทยาที่ศึกษาคติชนชาวบ้านนั้นมีความมหัศจรรย์ไปด้วย

ตัวอย่างงานของนิโคลัส แทปป์ (Nicolas Tapp) ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องม้งทั่วโลก มีการพูดถึงม้งทางเหนือของไทย และได้รวบรวมไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของม้ง ในตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์เล่าว่า มีกบฏคนหนึ่งชื่อว่า “ปาใจ” เป็นกบฏในต้นศตวรรษที่ 20 ที่ก่อกบฏจนฝรั่งเศสต้องใช้เวลากว่า 10 ปีกว่าจะปราบได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าปาใจโดนจับหรือโดนฆ่ากันแน่

แต่มีตอนหนึ่งที่เขียนโดยไปเก็บเอาคำบอกเล่าของคนม้งว่า ปาใจหนีกองทัพที่ไล่ล่าจนถึงน้ำตกแห่งหนึ่งเสร็จแล้วปาใจก็แยกตัวออกเป็น 2 ร่าง จากนั้นก็มีปาใจคนหนึ่งที่ถูกฆ่า ส่วนปาใจอีกคนหนีไป นี่คือประวัติศาสตร์ของชาวม้ง

ในงานเขียนทางมานุษยวิทยามีตำนานมีเรื่องเล่าใส่ไว้โดยประมาณ สิ่งมหัศจรรย์เป็นเนื้อหาอย่างหนึ่งของมานุษยวิทยา เพราะฉะนั้นวิธีการที่นักมานุษยวิทยาจัดการกับ “เรื่องมหัศจรรย์” วิธีหนึ่งคือทำความเข้าใจกับมันอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีผู้ให้ข้อเสนอว่าความมหัศจรรย์มันเป็นศาสตร์แบบหนึ่ง เป็นความรู้แบบหนึ่งของคนดั้งเดิม

ความมหัศจรรย์เป็นเรื่องของสังคมไม่ใช่เรื่องของระบบคิดเท่านั้น แต่ว่าคุณจะต้องเข้าใจตรงกันในสังคม คุณจะมาเสกหนังควายเข้าท้องใครเขาต้องรู้เรื่องว่าหนังควายมันเข้าท้องได้ หรือว่ามันไม่ใช่หนังสัตว์อย่างอื่นต้องเป็นหนังควายเท่านั้น มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ขนบที่มีการแบ่งปันร่วมกัน นี่วิธีการจัดการทางมานุษยวิทยาหลักๆ ที่ทำกันมา

เมื่อทศวรรษ 80 มีข้อเสนออย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ วัฒนธรรมนั้นถูกนักมานุษยวิทยาสร้างขึ้นมา เป็นข้อวิพากษ์สำคัญ แต่ว่างานเขียนทางมานุษยวิทยาก็คืองานสร้างภาพแทนวัฒนธรรม โดยผ่านสัจนิยมเป็นหลัก ดังนั้น งานเขียนทางมานุษยวิทยาไม่ได้เป็นงานทางวิทยาศาสตร์อีกต่อไป แต่ว่ามันมันเป็นการประพันธ์ในแนวสัจนิยม แล้วก็อยู่ในหัวข้อทางการเมืองแบบหนึ่ง ต่อมาการตั้งประเด็นเรื่องการขยายพื้นที่ อารมณ์ความรู้สึก นำมาสู่สิ่งที่เราเรียกกันว่าสัจนิยมมหัศจรรย์

ผศ. ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ. ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิชญ์: แล้วสำหรับมุมมองของสัจนิยมมหัศจรรย์กับการเมืองล่ะ

สุรเดช: ขณะที่สัจนิยมมหัศจรรย์เล่าเกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ พัฒนาการของสังคม ก็มีการเล่าเรื่องราวของชนเผ่าที่ยึดการนับถือภูต หรือกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่ยังคงเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์อยู่ และมองว่าเรื่องเหล่านี้มันมีความชอบธรรมที่จะยืนอยู่ในเรื่องเล่าอย่างเท่าเทียมกัน มองในแง่นี้สัจนิยมมหัศจรรย์ เป็นเรื่องของการรื้อสร้าง รูปแบบ เนื้อหา รื้อการเล่าแบบสัจนิยม ขณะเดียวกันก็เป็นรูปแบบแฟนตาซี เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่ามันอยู่ร่วมกันได้

สัจนิยมมหัศจรรย์มันทำให้เราตั้งคำถามในเรื่องของการครอบงำ เขาจะตั้งคำถามที่ว่า ในที่สุดแล้ว กระแสหลายๆ กระแสมันมีที่มาที่ไปของมัน ไม่ใช่ไปมองว่าต่อไปเป็นยุคการกลับมาของนิยายพื้นบ้านหรืออะไรแบบนั้น แต่มันแสดงให้เห็นถึงปัญหา ขีดจำกัด แสดงให้เห็นถึงการปะทะสังสรรค์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้นำไปสู่บทสรุปอะไร

มันอาจจะเหมาะกับสภาวะการเมืองที่อึมครึม ขณะที่มันดูเหมือนไม่มีทางออก แต่ขณะเดียวกันในความไม่มีทางออกนั้นมันเป็นศักยภาพที่ทำให้เกิดความอัดอั้นของการอยากที่จะเล่าเรื่องขึ้นมา โดยผมเองมองว่าท้ายสุดแล้วสัจนิยมมหัศจรรย์โดยตัวมันเองนั้นเป็นวาทกรรมผสมผสาน โดยมันจะต้องเป็นเรื่องเล่าที่เล่นกับเรื่องของสัจนิยม สิ่งสำคัญคือ มันเองจะนำไปสู่การตั้งคำถาม ในที่สุดแล้วมันทำให้เราอย่าด่วนคิดสรุป

สุชาติ: ผมอยากจะสรุปเป็นการถามตัวเอง ถามทุกคนว่าสังคมไทยเดี๋ยวนี้ เราเข้ามาอยู่ในกระแสสัจนิยมแล้วหรือยัง หรือว่าเรายังอยู่ในยุคอะไรก็ไม่รู้ คือคล้ายๆ ผมจะฝันว่ามันจริงหรือที่แต่ก่อนนี้เราเชื่อว่าเราก้ม เราคลาน เราหมอบ แล้วก็มีคนบอกว่าตอนนี้เราได้พัฒนาขึ้นมาแล้ว เรายืนตรงอะไรแบบนี้ เราจะไม่กลับไปแบบนั้นอีกแล้ว แต่ดูเหมือนว่าในฝันของผมเราค่อยๆ ค้อมตัวลงไปเหมือนเดิม

พิชญ์: นั่งดูปรากฏการณ์สัจนิยมมหัศจรรย์หลายๆ เรื่องผมก็มานึกถึงสังคมไทย เป็นโลกสมัยใหม่หรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่ามันอยู่ในสิ่งที่เราเรียกว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์ทางการ” (Official Magical Realism หรือเปล่า) คือมันเป็นสัจนิยมที่มหัศจรรย์แล้วก็เป็นทางการด้วย มันมีอยู่รูปแบบเดียว ความมหัศจรรย์ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียน แต่มันถูกเขียนขึ้นโดยการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

ชูศักดิ์: พวกสัจนิยมมหัศจรรย์จะเอาคำอุปมาหรืออุปลักษณ์มาใช้ เราพูดเป็นปกติว่า ฝนตกเหมือนกับฟ้าร้องไห้ แสดงว่าเราพูดในเชิงเปรียบเปรย แต่ในการเล่าของมาร์เกซที่มีบรรยากาศคล้ายๆ กัน พระราชาที่ตายก็มีดอกไม้มาโปรยปรายให้ แต่เขาไม่ได้หยุดแต่ฟ้ามาโปรยปรายดอกไม้ มีการทำให้คำอุปมาดูเป็นจริงแบบจริง คือเมื่อดอกไม้ตกมาเยอะมันก็ปกคลุมท้องถนนสร้างความรำคาญให้แก่ชีวิตคนก็ต้องเอาพลั่วเอาคราดมาไถดอกไม้ที่ว่า เพื่อให้ขบวนแห่ศพเดินไปได้

เราจะเห็นว่ามันผสมผสานกันอยู่ ความมหัศจรรย์ที่เกิดจากการที่ผลักกรอบคิดเรื่องสัจนิยม หรือเรื่องมหัศจรรย์ไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งของไทยผมพบว่าไม่มีลักษณะนี้ มันทำให้ความมหัศจรรย์กลายเป็นสิ่งอุปมาไป คือสร้างเรื่องที่มหัศจรรย์ขึ้นมาแล้วมหัศจรรย์นั้นมันกลายเป็นอุปลักษณ์ให้กับบางอย่าง เป็นข้อความทางการเมืองบางอย่าง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่เข้มข้นแหลมคมแบบที่การ์เซีย มาร์เกซ ทำ

spd_20120426160520_b

เรื่องที่อาจารย์สุชาติพูดว่าไทยเราเป็นสัจนิยมหรือเปล่าจริงๆ แล้ว อันนี้ก็น่าคิด มันก็เหมือนกับที่นักคิดสมัยใหม่มีปัญหามากในสังคมไทย คือสังคมไทยยังไม่มีความเป็นสมัยใหม่เลย (Modern) ก็ไปเสนอแนวคิดหลังสมัยใหม่มาแล้ว (Post-modern) มันเหมือนกับว่าเรายังไปไม่ถึงประชาธิปไตยเลย แล้วเราจะมาพูดเรื่องหลังประชาธิปไตย

ยุกติ: ถ้าพูดในแง่นี้คนที่อ่านงานสัจนิยมมหัศจรรย์ในโลกที่สังคมนิยมและประชาธิปไตยแบบยุคแสงสว่างทางปัญญามันสูงตระหง่านมาก ผมคิดว่าสัจนิยมมหัศจรรย์มีเหตุผลของมันอยู่ มันมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจการเมืองของชนชั้นล่าง ของคนรากหญ้าเหล่านี้ผ่านกระบวนการสัจนิยมมหัศจรรย์

พิชญ์: ผมคิดว่าบรรยากาศสำคัญ ตัวมาร์เกซก็สำคัญ ตัวแนวคิดก็สำคัญ แต่ว่าบริบทของการที่แนวคิดเรื่องนี้เข้ามาในสังคมไทยมันก็มีนัยยะมีหน้าที่ทางการเมืองบางอย่างของมันอยู่ ซึ่งมันอาจไม่ถูกจริตกับคนหลายคนที่มีความเชื่อที่ว่าการปฏิวัติควรเป็นไปในทิศทางเดียว

การให้เหตุผลบางสิ่งมากเกินไปจะทำให้มันหล่นไปอยู่ในความสัมพันธ์ทางอำนาจบางอย่างทำไมเราไม่รู้จักเข้าใจมันในแบบที่มันเป็น แต่มันก็ไม่ได้เข้าใจในแบบนั้นแบบเดียวมันก็มีหน้าที่บางประการอย่างที่อาจารย์ชูศักดิ์พูดมางัดหรือเปล่า มันก็มีชีวิตของมันไม่สามารถนำไปใช้เชิงกลไกทั้งหมดได้