ภาพกรุงเทพฯ ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอาคารสูง และมีพื้นที่สีเขียวเบาบาง บีบให้วิถีชีวิตของคนกรุงฯ ดูเหมือนจะมีทางเลือกไม่มากนัก จนกลายเป็นผู้ใช้พลังงานเกินความจำเป็น และเป็นผู้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว แต่วิถีชีวิตคนกรุงฯ เปลี่ยนแปลงได้ เพียงแค่คนกรุงฯ หันไปหาทางเลือกใหม่ๆ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
ในงานเสวนา “ชวนคิดชีวิตคนกรุงฯ” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ณ โถงหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ นางสาวฝ้ายคำ หาญณรงค์ ผู้ประสานงาน คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม, นางสาวปณัฐพรรณ ลัดดากลม สถาปนิกและนักผังเมืองเพื่อชุมชนสถาบันอาศรมศิลป์, นางสาวนนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล ผู้ก่อตั้ง bangkok bicycle campaign และนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการกินเปลี่ยนโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในมุมมองต่างๆ สู่การเปลี่ยนแปลง “วิถีคนกรุงฯ ที่ยั่งยืน” ด้วยการจัดการมนุษย์ สิ่งก่อสร้าง และธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล
นางสาวฝ้ายคำกล่าวว่า อัตราการใช้พลังงานของคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ จากประชากรกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรไทย แต่มีรถที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯประมาณร้อยละ 24 ของจำนวนรถยนต์รวม ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ทั้งประเทศ 34 ล้านคัน เฉพาะรถที่จดทะเบียนในปี 2556 พบว่าทั้งประเทศมีรถจดทะเบียน 3.4 ล้านคัน ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นของคนกรุงเทพฯ ฉะนั้น แค่การใช้พลังงานของรถยนต์ของคนกรุงเทพฯ ก็สูงมากแล้ว
สำหรับการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศรวม 148,700 ล้านหน่วยนั้น กรุงเทพฯ ใช้มากถึง 44,200 ล้านหน่วย หรือประมาณ 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งอีก 1 ส่วนใช้ใน 7 จังหวัดอุตสาหกรรม และส่วนที่เหลือ 65 จังหวัดใช้รวมกัน หรือถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ กรุงเทพฯ ใช้ไฟฟ้าเกือบเท่าฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ และมากกว่าประเทศนิวซีแลนด์ ดังนั้น คนกรุงเทพฯ จึงปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 4.61 ตันต่อคนต่อปี เทียบได้กับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 คน ภาคเหนือ 8 คน และภาคใต้ 5 คน
ภาคธุรกิจคือกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในกรุงเทพฯ 3 อันดับแรกคือห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานให้เช่าและอพาร์ทเม้นท์ เกสต์เฮาส์ แค่เฉพาะกลุ่มห้างสรรพสินค้าใช้ไฟฟ้าถึง 2,250 ล้านหน่วย ซึ่งมากกว่าการใช้ไฟฟ้าของประเทศลาวที่ใช้อยู่ที่ 2,350 ล้านหน่วย และประเทศกัมพูชาที่ใช้อยู่ที่ 2,008 ล้านหน่วยเท่านั้น
ในปี 2549 เฉพาะห้างสรรพสินค้าเซนทรัลเวิลด์ สยามพารากอน และมาบุญครอง ใช้ไฟฟ้ารวมกันเทียบเท่ากับกระแสไฟฟ้าที่เขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูล และเขื่อนอุบลรัตน์ผลิตได้รวมกัน ซึ่งเป็นการคุ้มค่าแล้วหรือไม่กับการสร้างเขื่อนที่สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัย ณ พื้นที่สร้างเขื่อนมหาศาลเพื่อห้างสรรพสินค้าแค่ 3 แห่ง
ปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ ต้องการใช้พลังงานมากถึง 8,590 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเองแค่ 2,258 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้
วิถีของคนกรุงเทพฯ ทั้งที่อยู่อาศัยและสำนักงานไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงาน และผังเมืองก็ไม่ได้ออกแบบเพื่อให้ชีวิตคนกรุงฯ มีทางเลือกอื่นในการดำเนินชีวิต หากมองไปรอบๆ เมืองก็จะเห็นแต่ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เกต และร้านขายส่งซึ่งมีมากถึง 232 แห่ง ในขณะที่มีสวนสาธารณะเพียงแค่ 31 แห่งเท่านั้น
คุณภาพชีวิตของคนเมืองขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ในเมือง และสิ่งที่อยู่ในเองคือตัวกำหนดการใช้พลังงานของเมืองด้วย ปัจจุบันในต่างประเทศแข่งขันกันสร้างเมืองที่น่าอยู่ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน และการเลิกใช้รถยนต์เพราะสร้างมลพิษและใช้พลังงานฟอสซิลสูง แล้วหันมาใช้การเดินทางด้วยวิธีอื่นแทน เช่น เดินเท้า ขนส่งสาธารณะ จักรยาน ฯลฯ
ถึงเวลาที่เราต้องวิเคราะห์แล้วว่ากรุงเทพฯ ใช้พลังงานมากเกินไปหรือไม่ เพื่อทำให้เกิดการลดการใช้พลังงานในส่วนที่เกินความจำเป็น โดยลดความต้องการใช้พลังงานของตัวเองให้น้อยลง เนื่องจากกรุงเทพฯ พึ่งพาทรัพยากรจากต่างจังหวัดและต่างประเทศเพื่อผลิตพลังงาน ถ้าลดความต้องการได้ ก็สามารถลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างเขื่อนและลดผลกระทบต่อคนและแหล่งทรัพยากรที่ผลิตพลังงานให้กรุงเทพฯ
ด้านนางสาวปณัฐพรรณ ลัดดากลม สถาปนิกและนักผังเมืองเพื่อชุมชน สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของอาคารสูงและห้างสรรพสินค้าที่กระจุกตัวกันอยู่ จนกลายเป็นแหล่งที่ความร้อนสูงกว่าจุดอื่นๆ ของเมือง เรียกว่า “เกาะความร้อนหรือโดมความร้อน” เนื่องจากตึกที่สร้างจากปูนเหล่านี้คายร้อนออกมาทั้งความร้อนจากทางธรรมชาติและพลังงานที่ใช้ภายในอาคาร ซึ่งในปี 2554 พบว่าพื้นที่กลางเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าชานเมืองถึง 7 องศาเซลเซียส
อีกทั้งกลางเมืองยังขาดพื้นที่สาธารณะสีเขียว มีแต่พื้นที่สาธารณะของอาคารหรือห้างสรรพสินค้า ทางเท้า ถนนที่เป็นพื้นดาดแข็ง เช่น ปูน ซีเมนต์ หรือเหล็ก จึงยิ่งใช้พลังงานมากและคายความร้อนสู่เมืองมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นพื้นดินหรือพื้นธรรมชาติก็จะช่วยให้เมืองเย็นสบายขึ้น และเป็นพื้นที่หายใจของอาคารต่างๆ
การแก้ปัญหาเกาะความร้อน คือ 1. ออกแบบผังเมืองใหม่ เพราะผังเมืองกรุงเทพฯ แบบเดิมกระจัดกระจาย สร้างแต่ถนนซึ่งไม่เอื้อต่อการคมนาคมรูปแบบอื่นๆ นอกจากรถยนต์ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ลดการสร้างถนนและพัฒนาขนส่งสาธารณะมากขึ้น 2. ควรมีมาตรการก่อสร้างอาคารที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากมาตรการที่ผ่านมาเอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมาโดยตลอด 3. กำหนดรูปแบบการก่อสร้าง เช่น ห้ามสร้างบ้านขวางตะวัน เพราะจะทำให้บ้านและอาคารกักเก็บความร้อนไว้สูง เนื่องจากไม่มีลมพัดผ่าน
ดังนั้น การก่อสร้างใหม่จึงควรสร้างอาคารที่อยู่สบาย โดยการออกแบบตัวอาคารที่ให้ลมพัดผ่านได้และไม่ขวางทางตะวัน มีหน้าต่าง อีกทั้งพื้นที่รอบอาคารต้องมีธรรมชาติอยู่ด้วย เช่น พื้นดิน ต้นไม้ บ่อน้ำ เพราะธรรมชาติจะช่วยให้บ้านหรืออาคารเย็นสบายขึ้น รวมถึงหันมาใช้วัสดุอื่นแทนปูน เช่น ไม้ เพื่อลดการดูดซับความร้อนและลดการใช้พลังงาน เช่น อาคารหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ส่วนบ้านหรืออาคารที่สร้างแล้ว สามารถทำให้เย็นขึ้นและลดการใช้พลังงานได้โดยการปลูกต้นไม้ตามระเบียงตึกในชั้นต่างๆ และพื้นด้านล่างโดยรอบ
เช่นเดียวกัน สำหรับบ้านก็สามารถลดความร้อนลงได้โดยการปลูกไม้กระถางในบริเวณพื้นบ้านดาดแข็งที่รับแสง เช่น ดาดฟ้าหรือระเบียงบ้าน เพื่อให้พุ่มไม้กรองแสงให้ตกลงสู่พื้นได้น้อยลง บ้านจึงดูดความร้อนไว้น้อยลง ส่งผลให้บ้านเย็นขึ้น เวลาที่ปิดเครื่องปรับอากาศในบ้านก็จะทำอุณหภูมิเย็นได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ให้นำกระถางต้นไม้ อ่างน้ำ หรืออ่างบัว วางไว้ในแนวรับแสงของบ้าน เพื่อให้ต้นไม้หรือน้ำช่วยกรองแสงและลดความร้อนภายในบ้าน
แม้ว่าตอนนี้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อกันความร้อนอาคาร เช่น สีทาบ้าน หรือฉนวนกันความร้อนต่างๆ ที่ช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านได้ แต่สิ่งเหล่านี้มีต้นทุนสูง ต้องทำซ้ำ หรือซ่อมแซมบ่อยๆ จึงไม่ยั่งยืนเท่าการพึ่งพาธรรมชาติ
สำหรับพื้นที่สาธารณะกลางเมือง ให้ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นทั้งในสวนและทางเท้า รวมถึงให้ความสำคัญกับถนนคนเดิน เช่นเดียวกับถนนออร์ชาร์ด ประเทศสิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญกับต้นไม้ทุกต้นโดยจดทะเบียนต้นไม้ นอกจากนี้ เราต้องให้ทางเลือกอื่นๆ ในการเดินทางของเมืองนอกจากนั่งรถยนต์อย่างในปัจจุบันด้วย
“การมีพื้นที่สาธารณะสีเขียวกลางเมือง นอกจากเป็นพื้นที่หายใจทั้งของสิ่งมีชีวิตและอาคารต่างๆ แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของคนที่ออกจากบ้านมาพบปะ พูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกันในที่สาธารณะ ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานในบ้านและอาคารได้”
ทั้งนี้ ผังเมืองของกรุงเทพฯ เอื้อให้มีพื้นที่สาธารณะมาโดยตลอด แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติเนื่องจากไม่มีบทลงโทษ ทำให้การก่อสร้างที่ผ่านมาผู้ประกอบการคำนึงถึงต้นทุนเป็นหลัก เน้นสร้างมูลค่ามากกว่าคุณค่า แต่ตอนนี้มีการผลักดันในด้านนโยบายแล้ว คาดว่าจะปฏิบัติได้จริงภายใน 2 ปี
ด้านนางสาวนนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล ผู้ก่อตั้ง bangkok bicycle campaign กล่าวว่า การปั่นจักรยานในเมืองสามารถทำได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย เพราะตัวเองเป็นคนชอบปั่นจักรยาน โดยเริ่มจากปั่นรอบๆ บ้าน พอโตขึ้นก็กล้าที่จะปั่นไกลขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และไปต่างจังหวัด และสานต่อการปั่นจักรยานในเมืองอย่างจริงจัง โดยรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่ปั่นจักรยานในเมือง จากที่ปั่นจักรยานสัปดาห์ละครั้ง ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ จนกลายเป็นเสพติดการปั่นจักรยานทุกวัน ซึ่งช่วยลดทั้งการใช้พลังงานและลดน้ำหนักด้วย ยิ่งปั่นจักรยานมากขึ้นยิ่งทำให้เราคำนวณเวลาเดินทางได้ และเป็นเวลาที่คงที่แน่นอนไม่ว่าจะมีปัญหารถติด การชุมนุม หรืออุบัติเหตุฉุกเฉินใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม
แม้ถนนในกรุงเทพฯ จะไม่เอื้ออำนวยให้ปั่นจักรยานมากนัก แต่ซอยลัดเลาะต่างๆ ในกรุงเทพฯ กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ได้เห็นวิถีชุมชนแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน และทำให้เราใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ระหว่างทาง เช่น ต้นไม้ถูกตัด ไฟทางเสีย แล้วแจ้งกรุงเทพมหานครให้มาแก้ไขได้
ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่สนใจเรื่องการปั่นจักรยานมากนัก แต่เราก็พยายามปั่นจักรยานเพื่อให้เขาสนใจและเห็นความสำคัญอยู่สมอ และพยายามเสนอการปั่นจักรยานเข้าเป็นโครงการของ กทม. จนในที่สุดคนของ กทม. ก็เริ่มสนใจและลองมาปั่นจักรยาน สู่การผลักดันโครงการทำทางจักรยานทั้ง 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ และโครงการปั่นจักรยานมากมาย
ส่วนนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการกินเปลี่ยนโลก กล่าวว่า คนในปัจจุบันพึ่งพิงอาหารแบบใหม่มากขึ้น ได้แก่ อาหารแช่เย็น และอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาหารประเภทนี้ใช้พลังงานในการผลิตมากกว่าอาหารแบบเก่าที่ขายในตลาดสดถึง 50-100 เท่า ตั้งแต่การปลูก ใช้ปุ๋ย เครื่องจักรกลทางการเกษตร และค่าขนส่งปกติ ยังไม่รวมค่าขนส่งข้ามประเทศและพลังงานที่ใช้ในการบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ และยิ่งแปรรูปมาก รวมถึงผ่านการแช่เย็นหรือแช่แข็งด้วย ก็ยิ่งใช้พลังงานสูงขึ้น ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานมหาศาลจากอาหารที่บริโภค
งานวิจัยในสหรัฐฯ ระบุว่า การผลิตอาหารเพื่อบริโภคต่อคนต้องใช้น้ำมันถึง 400 แกลลอน และพลังงานของโลกร้อยละ 40 ใช้เพื่อผลิตปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการปลูกพืช และกระบวนการผลิตปุ๋ยนี้สร้างก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงมาก ฉะนั้น เมื่ออาหารเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราจึงมีส่วนรวมในการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์จากอาหารที่เราบริโภค
ในซูเปอร์มาร์เกตและร้านสะดวกซื้อที่ผู้บริโภคนิยมซื้ออาหารนั้นขายสินค้าที่เป็นอาหารถึงร้อยละ 70-90 ของสินค้าทั้งหมด อาหารเหล่านี้มักเป็นอาหารแช่แข็ง ซึ่งต้องคงอุณหภูมิไว้ที่ -18 องศาเซลเซียส เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรืออาหารแช่เย็นที่ต้องคงอุณหภูมิไว้ที่ 8-12 องศาเซลเซียส จะเห็นว่าระบบการจัดการอาหารแบบนี้ใช้พลังงานและน้ำมันสูงมาก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี มีขายสดใหม่ทุกวัน แต่กลับต้องพึ่งอาหารแบบใหม่ ซึ่งก่อนจะกินก็ต้องใช้พลังงานเพื่อทำให้ร้อนพร้อมทานอีก
“การบริโภคในปัจจุบันเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอาหารแบบใหม่ และคนเมืองเริ่มคุ้นชินกับอาหารเหล่านี้ จนลืมการกินอาหารตามฤดูกาลไปหมดแล้ว เพราะเราสามารถกินอะไรก็ได้จากทั่วโลก และกินได้ตลอดทั้งปีไร้ขีดจำกัด รวมถึงกินทิ้งกินขว้าง ทำให้อาหารมากถึง 1 ใน 3 ส่วนกลายเป็นขยะ”
เราถูกทำให้เชื่อว่าอุตสาหกรรมอาหารแบบปิดสะอาดและปลอดภัยกว่าการผลิตอาหารในระบบเปิดตามธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยรับความคิดชุดนี้มาภายใน 20 ปีซึ่งเร็วกว่าประเทศอื่นๆ มาก อีกทั้งกระบวนการผลิตนี้ไปทำลายเกษตรกรรายย่อยและการกระจายตัวของตลาด และส่งเสริมให้คนบริโภคอาหารจากอุตสาหกรรมมากขึ้น
แม้ว่าอุตสาหกรรมอาหารแบบใหม่ดูเหมือนว่าจะผูกขาดตลาด แต่จริงๆ แล้วผู้บริโภคมีทางเลือกอื่น เพียงแต่ต้องกล้าเลือกบริโภคและหาความรู้เกี่ยวกับอาหารที่บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะโฆษณาอาหารต่างๆ เช่น กินแล้วขาว ผู้บริโภคก็ต้องตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่แล้วไปหาคำตอบ ซึ่งถ้าผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงทัศนคติการกินและรวมตัวกัน ก็สามารถผลักดันสู่นโยบายการบริโภคแบบใหม่ที่ไม่พึ่งอาหารจากอุตสาหกรรมอาหารมากเช่นในปัจจุบัน