ThaiPublica > คอลัมน์ > เกมนิรโทษกรรม เกมที่ไม่ขำของประชาชน

เกมนิรโทษกรรม เกมที่ไม่ขำของประชาชน

8 พฤศจิกายน 2013


คริส โปตระนันทน์
น.บ. (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น.บ.ท.
GDip in Economics, University of Nottingham
LLM University of California, Berkeley (Fulbright)
[email protected]

กฎหมายต่างๆ ที่ประกาศใช้ในอารยประเทศมักเป็นผลลัพธ์ที่สืบเนื่องจากกลุ่มผลประโยชน์ที่มีการต่อรองกันผ่านกระบวนการทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ล้อบบี้ยิสต์ทั้งหลาย องค์กรภาคประชาชนต่างๆ รวมถึงประชาชนเอง เพราะฉะนั้น การที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำการชุมนุมฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลืองนั้นเป็นเรื่องปกติ การที่อดีตนายกฯ​ทักษิณจะได้กลับหรือไม่ได้กลับ ได้เงินคืนหรือไม่ได้เงินคืนก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการต่อรองกันกับทุกๆ ฝ่าย (คดีความของทักษิณทั้งที่ตัดสินแล้วและยังไม่ได้ตัดสินยังมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายอยู่มาก เนื่องจากคดีความส่วนใหญ่นั้นมี คตส. ที่ถูกตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็นโต้โผ) แต่ที่ไม่ปกติและไม่มีประเทศใดในโลกทำกัน ก็คือการที่รัฐบาลพยายามจะยำความผิดทุกอย่างของทุกฝ่ายมารวมไปถึง การยกเว้นโทษของความผิดที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม เพื่อแลกกับการยกเว้นความผิดของอดีตนายกฯ​ทักษิณ

เกมการเมืองที่ผ่านมาตลอด 7 ปีนี้ มีการใช้ชีวิตคนเป็นเดิมพันในเกมนี้ทุกครั้ง การชุมนุมเหล่านี้ ผู้นำการชุมนุมทุกครั้งหวังผลให้มีการกระทบกระทั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มมวลชนเพื่อให้มีผู้เสียชีวิต เพื่อจะหวังให้มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ซึ่งก็มีทั้งที่การชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตละไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมไล่ทักษิณของเสื้อเหลืองในปี 2548 การเริ่มก่อตั้งมวลชนเพื่อสนับสนุนพรรคไทยรักไทยในปี 2549 จนกลายเป็นมวลชนเสื้อแดงในปี 2552 จะเป็นการออกมาแสดงพลังของเสื้อเหลืองต่อรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในปี 2551 (ผู้เสียชีวิต 8 ศพ) การชุมนุมของเสื้อแดงเมษายนปี 2552 เพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ไม่มีผู้เสียชีวิต) การชุมนุมของเสื้อแดงปี 2553 เพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ผู้เสียชีวิต 91 ศพ)

ค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พฤศจิกายน 2556
ค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พฤศจิกายน 2556

และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ด้วยความพยายามของพรรคเพื่อไทยที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อทำให้ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดที่ผ่านมา 7 ปีเป็นอันสิ้นผลไป หากดูเผินๆ อาจดูเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ของทุกฝ่าย (Set Zero) น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่เราเหลืออยู่อาจไม่ใช่ศูนย์ มันคือเกมการเมืองที่มีแต้มเป็นศูนย์ บวกกับกฎใหม่ของเกม คือ การนิรโทษกรรมสามารถทำได้

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทย ไม่ใช่การครั้งแรกของการมีนิรโทษกรรม จากบทความของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เห็นด้วย – ไม่เห็นด้วย”

การนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองมีอยู่ 3 ฉบับ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (ผู้เสียชีวิต 77 ศพ): พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (ผู้เสียชีวิต 46 ศพ): พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (ผู้เสียชีวิต 52 ศพ): พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2535

และเป็นกฎหมาย 3 ฉบับนี้ที่กำหนดมาตรฐานการเมืองไทยไว้ คือ ชุมนุมได้ คนตายได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องรับผิด (ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้นำการชุมนุม) และถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกมาได้สำเร็จจะเป็นการย้ำชัดๆ ว่า

กฎเกณฑ์ของเกมในเมืองไทยคือ เกมการเมืองระบบประชาธิปไตยไทยๆ บวกกับการนิรโทษกรรม

การชุมนุมเหล่านี้มีรูปแบบคล้ายกัน คือ ฝั่งผู้นำการชุมนุมจะชุมนุมบนถนน มีการเข้าปิดสถานที่ราชการ เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลลาออก ยุบสภา หรือแสดงพลังกดดันเพื่อให้มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ส่วนฝั่งรัฐบาลจะต้องเลือกระหว่างการสลายการชุมนุมด้วยการใช้กำลังหรือการจัดการผู้ชุมนุมด้วยสันติวิธี

บทความนี้จะอธิบายถึง ผลกระทบของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และแสดงเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงไม่ควรออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยทฤษฎีเกมอย่างง่ายๆ ด้วยตารางเมทริกซ์ 2X2

ท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่คุ้นเคยกับ ทฤษฎีเกม (Game Theory) อาจไม่เห็นว่า ตารางสี่เหลี่ยมสองคูณสอง ทำไมถึงเอาไปวิเคราะห์เกมการเมืองระดับประเทศที่มีความซับซ้อนมีปัจจัยต่างๆ มากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ตัดสินใจ สิ่งที่เราวิเคราะห์จากทฤษฎีเกมนั้นไม่อาจอธิบายทุกสิ่งได้หมด แต่สิ่งที่เราได้จากกล่องสี่เหลี่ยมนี้คือ ถ้าผู้เล่นมีผลตอบแทนตามตารางดังกล่าว ผู้เล่นย่อมเลือกที่จะทำตามที่ตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด นอกจากนี้ เรายังสามารถกำหนดสถานการณ์สมมติในกรณีมีเหตุการณ์ที่ทำให้ผลตอบแทนของผู้เล่นตามตารางผลตอบแทน (pay-off matrix) เปลี่ยนไป การกระทำของผู้เล่นก็ย่อมจะเปลี่ยนไปด้วย และในที่นี้ เรามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนให้ผลตอบแทนของเมทริกซ์เปลี่ยนไป

สถานการณ์ที่กำหนดขึ้นมีสมมุติฐานดังนี้

1. แกนนำผู้ชุมนุม (protester) เป็น ผู้เล่นที่ตัดสินใจแทนผู้ชุมนุมทั้งหมด
แกนนำรัฐบาล (government) เป็น ผู้เล่นที่ตัดสินใจแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมด
2. ผู้เล่นจะเลือกการกระทำที่ให้ผลตอบแทน (pay-off หรือ utility) ที่มากกว่าเสมอ เช่น ตัวเลือก A ให้ผลตอบแทน 5 มากกว่าตัวเลือก B ที่ให้ผลตอบแทน 0 กรณีนี้ผู้เล่นจะเลือก ตัวเลือก A เสมอ
3. ผู้เล่นมีข้อมูลในการตัดสินใจครบ รู้ผลตอบแทนของตนเองและของฝั่งตรงข้าม (complete information)
4. การใช้ความรุนแรงของทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและรัฐบาล ทำให้บรรลุเป้าหมายของฝั่งตนเองได้ง่ายกว่า ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า (ในกรณีฝ่ายไม่ใช้กำลัง)
5. ระบบกฎหมายในเกมที่ 2 มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกัน (deter) ไม่ให้ผู้เล่นกระทำความผิดได้ (สามารถลดผลตอบแทนได้มากพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เล่นได้ )

วิธีการเล่น
1. ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายเลือกการกระทำของตนเองพร้อมกัน
2. แกนนำผู้ชุมนุมมีทางเลือกสองทางระหว่าง “การชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย” กล่าวคือ มีการใช้ความรุนแรง ปิดถนน ยึดสถานที่ราชการ มีการใช้อาวุธ (ในตารางแทนด้วย “Force”) กับ “การชุมนุมโดยสงบ” อย่างสันติวิธี ปราศจากความรุนแรง (ในตารางแทนด้วย “Peace”)
รัฐบาลมีสองทางเลือก ระหว่าง “สลายการชุมนุม” ด้วยความรุนแรง กล่าวคือ สลายการชุมนุมโดยไม่ได้สัดส่วน ใช้ทหารที่ไม่ได้ผ่านการฝึกการควบคุมฝูงชน ใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุม (ในตารางแทนด้วย “Force”) และ “ดูแลการชุมนุม” ด้วยวิธีการที่สันติ ได้สัดส่วน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด (ในตารางแทนด้วย “Peace”)
3. เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของแกนนำผู้ชุมุนุมคือ “รัฐบาลล้ม” นั่นหมายถึง ผลตอบแทนจะสูงที่สุดหากไล่รัฐบาลสำเร็จ โดยไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย

เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของแกนนำรัฐบาล คือ “รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไป” นั่นหมายถึง ผลตอบแทนจะสูงที่สุด หากอยู่ในอำนาจได้ โดยไม่มีการประท้วง และไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย

ภาพนิ่ง1

กรณีนี้เห็นได้ชัดว่า เกมนี้เป็นเกมในรูปแบบของ prisoner’s dilemma

การที่สองฝั่งเลือกที่จะใช้กำลัง (Force, Force)

คือ ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด คนละ 3 หน่วย เนื่องจากความสูญเสียที่สองฝ่ายจะได้รับ กล่าวคือ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเมื่อทั้งสองฝั่งใช้กำลัง และเมื่อทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงก็ไม่มีความแน่ชัดว่าใครจะชนะ เพราะฉะนั้น โอกาสที่รัฐบาลที่จะล้มจึงมี แต่ไม่แน่นอน

ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเลือกที่จะใช้กำลัง แต่อีกฝั่งเลือกสันติวิธี {(Force, Peace) หรือ (Peace, Force)}

ฝั่งที่ใช้กำลังจะได้ผลตอบแทนสูงที่สุดคือ 7 หน่วย ซึ่ง 7 หน่วย ในที่นี้สำหรับฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมคือ รัฐบาลล้ม และสำหรับฝั่งรัฐบาลคือ สลายการชุมนุมสำเร็จ ได้อยู่ในอำนาจต่อไป

ส่วนฝั่งที่เลือกสันติวิธี จะผลตอบแทนต่ำที่สุดคือ 0 หน่วย สำหรับฝั่งแกนนำผู้ชุมนุม คือ โดนสลายการชุมนุม ไม่ได้แสดงออกทางความคิดเห็น สำหรับทางฝั่งรัฐบาล คือ รัฐบาลล้ม

ทั้งสองฝ่ายเลือกสันติวิธี (Peace, Peace)

กรณีนี้ได้ผลตอบแทนคนละ 5 หน่วย กล่าวคือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องทนๆ กันไป ผู้ประท้วงก็ต้องทนรัฐบาลที่ไม่ล้ม (ผลตอบแทนคือ 5 น้อยกว่า 7 กรณีใช้ Force แล้วรัฐบาลล้ม) แต่ก็ยังดีกว่าการที่จะต้องสูญเสียอย่างมาก(5 มากกว่า 3 กรณีเลือก Force ทั้งคู่) รัฐบาลก็ต้องอดทนที่จะใช้วิธีจัดการกับการชุมนุมอย่างสันติ เช่น มีการเจรจาต่อรอง ใช้วิธีการดูแลการชุมนุมแบบได้สัดส่วน ซึ่งผลที่ได้มักจะช้า ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วเหมือนการใช้กำลัง รัฐบาลต้องทนให้คนวิพากษ์วิจารณ์ (ผลตอบแทนคือ 5 น้อยกว่า 7 กรณีที่รัฐบาลล้ม) ซึ่งกรณีนี้ก็ยังดีกว่าการที่จะต้องสูญเสียอย่างมาก(5 มากกว่า 3 กรณีเลือก Forceทั้งคู่) กรณีนี้ได้ผลตอบแทนคนละ 5 หน่วย

ค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พฤศจิกายน 2556
ค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พฤศจิกายน 2556

Nash Equilibrium คำตอบของเกม

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนสิ่งที่สังคมต้องการตัวเลือกสุดท้ายที่ “ทั้งคู่ใช้สันติวิธี” ผลตอบแทนรวมของทั้งสองฝ่าย (5+5) คือ 10 หน่วย ซึ่งมากที่สุดในเกมนี้ แต่อย่างไรก็ดี กรณีนี้เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายล้วนมีตัวเลือกอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า (profit deviation)

ตัวอย่าง ถ้ากรณีอยู่ที่ช่องสุดท้าย (Peace, Peace)

คือ ทั้งสองฝั่งเลือก peace ฝั่งรัฐบาลจะเปลี่ยนจาก Peace เป็น Force เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่าคือ 7 หน่วยซึ่งมากกว่า 5 หน่วย

พอมาดูฝั่งแกนนำ แกนนำการชุมนุมก็จะเปลี่ยนไปเลือก Force เช่นกัน

ตัวอย่าง {(Force, Peace) หรือ (Peace, Force)}

ก็ไม่ทางเป็นคำตอบของเกมเช่นกัน

กรณีที่ฝั่งหนึ่งเลือก Peace อีกฝั่งหนึ่งเลือก Force ฝั่งที่เลือก Peace จะเปลี่ยนไปเลือก Force เท่านั้น เนื่องจากผลตอบแทนที่มากขึ้นจาก 0 หน่วยเป็น 3 หน่วย

แต่สำหรับจุดดุลยภาพคือ คำตอบที่ดีที่สุดที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีทางที่จะเปลี่ยนไปเลือกคำตอบอื่น จะเห็นได้ชัดว่า คือ (Force, Force)

ตัวอย่างแรก แกนนำผู้ชุมนุมรู้แล้วว่า ถ้ารัฐบาลเลือก Force แกนนำผู้ชุมนุมก็เลือก Force เพราะยังไงก็ยังมีโอกาสที่จะชนะคือ ไปวัดดวงเอา (ถ้าจะมีคนเสียชีวิต ผลตอบแทนลดลง แต่ก็ไม่ได้แย่กว่าการที่จะเลือก Peace) ถึงแม้รัฐเกิดไม่เล่นตามเกมคือถ้ารัฐบาลเลือก Peace ผู้ชุมนุมก็จะเลือก Force เพราะเท่ากับชนะเลย

ส่วนรัฐบาลก็เช่นกัน ถ้ารู้อยู่แล้วว่า ผู้ชุมนุมจะเลือก Force แล้วรัฐบาลเลือก Peace รัฐบาลจะล้มทันที เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็จะเลือก Force เช่นกัน

ท้ายที่สุด เราจะเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายจะจบลงที่การเลือก Force ทั้งคู่ และนั่นก็คือสถานการณ์ปกติของการเมืองไทย คือมีการนองเลือด แกนนำมักจะปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ออกมาชุมนุมทุกครั้ง การชุมนุมส่วนใหญ่มักเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็มักจะมีการสลายการชุมนุมเมื่อสถานการณ์สุกงอมเกือบทุกครั้ง

สิ่งที่เราสามารถวิเคราะได้จากตารางนี้คือ ดุลยภาพของแนช (Nash Equilibrium)
ในเกมแรก เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ดุลยภาพของเกมนี้คือ แกนนำผู้ชุมนุมเลือก Force และ รัฐบาลเลือก Force ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากในมุมมองของรัฐบาลนั้น ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเลือก Peaceเลย เนื่องจาก รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าเมื่อตนเลือกForceจะไม่ถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะรู้ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของตน แต่ผลตอบแทนก็ไม่ต่ำพอที่จะหยุดไม่ให้รัฐบาลเลือก Force ได้

ทางฝั่งผู้ชุมนุมก็เช่นกัน แม้จะรู้อยู่แล้วว่ามีโอกาสเสียหาย และจะเกิดความสูญเสีย มีผู้เสียชีวิตจากการที่ตนเองจะเลือก Force และรัฐบาลจะเลือก Force แต่อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนนั้นไม่ต่ำพอจะให้แกนนำผู้ชุมนุมคำนึงถึงผู้เสียชีวิตจากเลือกการกระทำของบรรดากลุ่มแกนนำ

ภาพนิ่ง2

สถานการณ์นี้ เป็น “โลกที่เราต้องการ” คือ “ผู้ที่ใช้กำลังต้องรับโทษตามกฎหมาย”

ในโลกใบนี้ เราจะลดผลตอบแทน (pay-off) ของฝั่งที่ใช้ความรุนแรงลง 5 หน่วย กล่าวคือ เมื่อมีการใช้ความรุนแรง (ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเลือก Force) เมื่อมีผู้เสียชีวิต ต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งในกรณีที่ระบบกฎหมายแข็งแกร่ง ไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม จะทำให้ผู้เล่นในเกมต้องพิจารณาเพิ่มต้นทุนของตนเอง (internalize the cost) ในกรณีที่จะต้องใช้ความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิต

กรณีนี้จะเห็นได้ชัดว่า Nash equilibrium ของเกมนี้อยู่ที่ (Peace, Peace) เนื่องจากมีกฎหมายที่ใช้ลงโทษฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง

สังเกตได้ว่า ตัวเลือก Peace นั้นกลายเป็น dominant strategy (ตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเสมอ) ของทั้งสองฝั่ง นอกจากนี้แล้ว {(Peace, Peace)} ยังเป็นจุดดุลยภาพของแนชในเกมที่สองอีกด้วย เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่่าในการที่จะเปลี่ยนไปเลือกการกรกระทำอื่น กล่าวคือ ระบบกฎหมายที่ไม่มีการนิรโทษกรรมนั้นสามารถลดแรงจูงใจ (disincentive) ที่จะใช้กำลังของทั้งสองฝ่ายได้

โดยสรุป

สถานการณ์ในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นคล้ายกับเกมที่ 1 มาก ถึงแม้ว่าโมเดลของผู้เขียนไม่อาจสรุปปัจจัยต่างๆ ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนของการเมืองไทยได้ทั้งหมด แต่จากตารางที่ผู้เขียนเสนอนั้น น่าจะพอทำให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า การที่เรามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในสังคมไทยนั้นทำให้ผู้เล่นทางการเมืองใช้ความรุนแรงอยู่เรื่อยไปในเกมแห่งอำนาจเกมนี้ หากเราต้องการประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ แน่นอนว่าการประท้วงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับระบบประชาธิปไตย แต่การประท้วงนั้นต้องเป็นไปในลักษณะสันติวิธี ซึ่งเราสามารถทำให้เป็นจริงได้ หากเราทำให้ผู้นำทางการเมืองทั้งสองฝ่ายเรียนรู้ว่า ชีวิตคนมีคุณค่า ไม่ใช่เป็นเพียงผักปลาหรือเบี้ยที่ให้ขุนเอาไปแลกกันเท่านั้น หากเราไม่ต้องการความสูญเสียนั้นเอง ประชาชนต้องให้บทเรียนกับพวกเขา ต้องไม่มีการยกโทษให้กับการฆ่าคน หรือการพาคนไปตายอีก เรามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมา 3 ฉบับแล้ว และก็เกิดพฤษภาเลือดปี 53 อีก 91 ศพ ถ้าวันนี้เรามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีก ดุลยภาพของในเกมหน้าก็คือ (Force,Force) อีก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะไม่ใช้ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

ภาคผนวก

วิธีอ่านตาราง และวิธีอ่านstrategy

การกระทำ (Action) ของฝ่ายผู้ชุมนุมอ่านทางแนวตั้ง
การกระทำของฝ่ายรัฐบาลอ่านทางแนวนอน
ตัวเลขในวงเล็บคือผลตอบแทนของทั้งสองฝั่ง
ตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บทางซ้ายคือผลตอบแทนของฝ่ายผู้ชุมนุม
ตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บทางซ้ายคือผลตอบแทนของรัฐบาล

ตัวอย่าง

จากตารางแรก เมื่อแกนนำเลือก Force รัฐบาลเลือก Peace เราจะเห็นว่า ผลตอบแทนคือ (10,0)

นั่นหมายถึง 10 หน่วยคือผลตอบแทนของฝ่ายผู้ชุมนุม ส่วน 0 หน่วยผลตอบแทนของรัฐบาล

strategy ที่เขียนในวงเล็บก็คือ คำแรกหมายถึงการกระทำของฝั่งผู้ชุมนุม ส่วนคำที่สองหมายถึงการกระทำของฝั่งรัฐบาล

เกิดอะไรขึ้นบ้างในเกม

เกมที่ 1 มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้ใช้ความรุนแรงไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย

1. (Force, Force)
มีการปะทะกัน สูญเสียมากทั้งคู่

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 3 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และแกนนำไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม) มีโอกาสที่รัฐบาลจะล้ม แต่ไม่แน่นอน (50%)

ฝั่งรัฐบาลได้ 3 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม) มีโอกาสที่รัฐบาลจะล้ม แต่ไม่แน่นอน (50%) สลายผู้ชุมนุมได้

2. (Force, Peace)
ผู้ชุมนุมล้มรัฐบาลสำเร็จ มีความสูญเสียบ้างที่เกิดจากการใช้กำลัง

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 7 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง และแกนนำไม่ต้่องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม) และ รัฐบาลล้ม
ฝั่งรัฐบาลได้ 0 หน่วย มีผู้เสียชีวิตบ้าง ผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากไม่ได้ใช้กำลัง) รัฐบาลล้ม สลายผู้ชุมนุมไม่ได้

3.(Peace, Force)
รัฐบาลสลายการชุมนุมสำเร็จ มีความสูญเสียบ้างที่เกิดจากการใช้กำลัง

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 0 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง และ แกนนำไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากไม่ได้ใช้กำลัง) รัฐบาลไม่ล้ม

ฝั่งรัฐบาลได้ 7 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง ผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม) และรัฐบาลไม่ล้ม สลายผู้ชุมนุมได้

4.(Peace, Peace)
ล้มรัฐบาลไม่สำเร็จ ประท้วงมีต่อไป

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 5 หน่วย หมายถึง ไม่มีผู้เสียชีวิต และแกนนำไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากไม่ได้ใช้กำลัง) แต่รัฐบาลไม่ล้ม

ฝั่งรัฐบาลได้ 5 หน่วย หมายถึง ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย (เนื่องจากไม่ได้ใช้กำลัง) รัฐบาลไม่ล้ม สลายผู้ชุมนุมไม่ได้

เกมที่สอง

1.(Force, Force)
มีการปะทะกัน สูญเสียมากทั้งคู่ รับโทษตามกฎหมายทั้งคู่

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ -2 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และ แกนนำต่้องรับโทษทางกฎหมาย มีโอกาสที่รัฐบาลจะล้ม (50%)

ฝั่งรัฐบาลได้ -2 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้สั่งสลายการชุมนุมต้องรับโทษทางกฎหมาย มีโอกาสที่รัฐบาลจะล้ม (50%)

2.(Force, Peace)
ผู้ชุมนุมล้มรัฐบาลสำเร็จ มีความสูญเสียบ้างที่เกิดจากการใช้กำลัง แกนนำรับโทษตามกฎหมาย

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 2 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง แกนนำต้องรับโทษทางกฎหมาย รัฐบาลล้ม

ฝั่งรัฐบาลได้ 0 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง และ แกนนำรัฐบาลไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย รัฐบาลล้ม

3.(Peace, Force)
รัฐบาลสลายการชุมนุมสำเร็จ มีความสูญเสียบ้างที่เกิดจากการใช้กำลัง รัฐบาลรับโทษตามกฎหมายจากการใช้กำลัง

ฝั่งผู้ชุมนุมได้ 0 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง และ แกนนำไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย รัฐบาลไม่ล้ม

ฝั่งรัฐบาลได้ 2 หน่วย หมายถึง มีผู้เสียชีวิตบ้าง ผู้สั่งสลายการชุมนุมต้องรับโทษทางกฎหมาย รัฐบาลไม่ล้ม สลายผู้ชุมนุมได้

4.(Peace, Peace)
กรณีนี้เหมือนกับเกมแรก