ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อรัฐบาลสหรัฐโดนจับเป็นตัวประกัน

เมื่อรัฐบาลสหรัฐโดนจับเป็นตัวประกัน

4 ตุลาคม 2013


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ที่มา : http://www.channelnewsasia.com/image/831868/1380578898000/large16x9/768/432/barack-obama-1.jpg
ที่มา : http://www.channelnewsasia.com/image/831868/1380578898000/large16x9/768/432/barack-obama-1.jpg

ช่วงนี้ประเด็นทางการเมืองมาแรงมากครับ ทั้งการเมืองในไทยและที่อื่นๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา คงไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าตอนนี้รัฐบาลสหรัฐโดนปิด พนักงานของรัฐกว่าแปดแสนคนโดนสั่งให้หยุดอยู่บ้านแบบไม่ได้รับเงินเดือน และมีการพูดถึงว่ารัฐบาลสหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ได้ด้วย บางคนบอกว่าสหรัฐถังแตก! มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ครับ

เรื่องนี้มันมีอยู่สองเรื่องปนกันอยู่ครับ เรื่องแรกคือเรื่องกฎหมายงบประมาณ อันที่สองคือเรื่องเพดานหนี้ และทางออกของเรื่องทั้งสองต้องการกฎหมายที่ต้องออกโดยความเห็นชอบของสภาล่าง (House of Representative), สภาสูง (Senate) และประธานาธิบดี

ปัญหามันอยู่ที่ว่า พรรค Republican มีเสียงข้างมากในสภาล่าง ในขณะที่พรรค Democrat คุมเสียงข้างมากในสภาสูง และตำแหน่งประธานาธิบดี Obama ก็เป็น Democrat การผ่านกฎหมายใดๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และทั้งสองพรรคมีความเห็นทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ต่างกันพอสมควร

Republican เป็นพรรคที่ออกไปทางอนุรักษ์นิยม (แบบฝรั่ง) นิยมกลไกตลาด ชอบรัฐที่มีขนาดเล็ก ไม่อยากให้รัฐเข้าไปยุ่งกับการแข่งขันภาคเอกชนมากนัก และระยะหลังมีกลุ่มหนึ่งในพรรค Republican ที่เรียกว่า Tea Party Movement ที่มีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มนี้ต่อต้านการขาดดุลงบประมาณและผลักดันให้มีการปฏิรูปภาครัฐ เพื่อลดขนาดและลดหนี้สาธารณะของรัฐบาล

ในขณะที่พรรค Democrat เป็นพวกเสรีนิยม (ในความหมายของการเมืองสหรัฐ) ที่นิยมแนวนโยบายหัวก้าวหน้าที่เน้นความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม เห็นว่ารัฐควรมีบทบาทในเศรษฐกิจ อยากทำนโยบายภาครัฐหลายๆ อย่างที่ต้องใช้เงินพอสมควร

ปัญหาเรื่องแรกคือเรื่องกฎหมายงบประมาณ ด้วยความแตกต่างของความคิดเรื่องรัฐ และงบประมาณ รัฐสภาสหรัฐไม่สามารถตกลงกันเพื่อผ่านกฎหมายงบประมาณอย่างเป็นทางการได้มาตั้งแต่ปี2008 เลยต้องใช้กฎหมายที่เรียกว่า continuing resolution คือกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้เงินชั่วคราวไปก่อนและกฎหมายนี้ต้องต่ออายุกฎหมายกันอยู่เรื่อยๆ และกฎหมายนี้ “หมดอายุ” ลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการถกเถียงและต่อรองกันอย่างหนักของทั้งสองสภาจนเกือบถึงเส้นตาย

ตามกฎหมาย Anti-Deficiency Act ที่ออกมาตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง ปี 1870 รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถใช้เงินภาษีเพื่อการใช้จ่ายใดๆ ที่ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน ยกเว้นได้รับอนุมัติจากรัฐสภาก่อน เมื่อไม่มีกฎหมายงบประมาณมารองรับ หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐจำนวนมากที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจึงถูกสั่งให้ปิดตัวลง เพราะไม่สามารถขอให้พนักงานมาทำงานก่อนแล้วจ่ายทีหลังได้ ค่าน้ำค่าไฟก็เปิดไม่ได้

พนักงานของรัฐกว่าแปดแสนคน จากทั้งหมดสองล้านกว่าคน จะต้องถูกขอให้ลาหยุดโดยไม่ได้รับเงินเดือน หน่วยงานเช่น พิพิธภัณฑ์ Smithsonian, อุทยานแห่งชาติทั้งหลาย, โรงเรียนบางแห่ง, บริการเก็บขยะในเมือง Washington DC จะถูกปิด เข้าใจว่ารวมไปถึงผู้ช่วยของประธานาธิบดี Obama ด้วย! และข้อมูลทางเศรษฐกิจบางอย่างอาจจะไม่มีให้รายงานเพราะหน่วยงานที่ผลิตข้อมูลโดนปิด!

ในขณะที่ตำรวจ ทหาร บริการทางการแพทย์ ไปรษณีย์ รวมไปถึง ส.ส. และ ส.ว. ต้องมาทำงานเป็นปกติ ได้ยินว่าการพยากรณ์อากาศไม่ได้รับผลกระทบนะครับ

ถ้ารัฐบาลโดนปิดแค่อาทิตย์สองอาทิตย์คงไม่มีผลกระทบเท่าไร แต่ถ้าปิดสักเดือนหนึ่ง ว่ากันว่าอาจจะมีผลต่อ GDP ในไตรมาส 4 สักร้อยละ 1.4-2.0 ได้

แล้วทำไมนักการเมืองสหรัฐถึงตกลงกันเรื่องกฎหมายงบประมาณไม่ได้ จนทำให้รัฐบาลโดนปิด ขายหน้าเขาไปทั่วโลก?

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะนักการเมืองสหรัฐเล่นการเมืองกันหนักไปหน่อย อย่างที่บอกครับ พรรค Republican เป็นพวกชอบรัฐขนาดเล็ก จึงบ่นให้มีการตัดลดงบประมาณมาตั้งนานแล้ว แต่พรรค Democrat อยากใช้นั่นใช้นี่ เลยตกลงกันไมได้สักที ยิ่งมีกลุ่มการเมืองเล็กๆ ในพรรค Republican อย่าง Tea Party ที่มีความเห็นแบบสุดโต่ง และกำลังได้รับความนิยม และได้รับความสนใจ ยิ่งทำให้พรรค Republican ต้องการใช้เส้นตายของเรื่องกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการเจรจาทางการเมือง

เรื่องแรกที่ถูกยกมาเป็นประเด็นคือ นโยบายปฏิรูประบบประกันสุขภาพของ Obama หรือที่รู้จักกันในนาม Obamacare ที่เรียกว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง อาจจะอันเดียวของชีวิตการเป็นประธานาธิบดีของ Obama ในสมัยแรกที่ต้องการให้คนอเมริกาทุกคนมีประกันสุขภาพถ้วนหน้า กฎหมายนี้ออกใช้ตั้งแต่ปี 2010 แต่พรรค Republican ค้านกฎหมายนี้หัวชนฝาแบบไม่ชอบเอามากๆ พยายามล้มกฎหมายนี้มาตลอด ฟ้องศาลก็แล้ว เอาเป็นประเด็นทางการเมืองมาตลอด แต่ก็ล้มไม่ได้ เพราะแพ้โหวตตลอด

มีคนบอกว่าการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ Obama ในสมัยที่สองก็เป็นเครื่องรับรองอย่างหนึ่งว่าประชาชนสหรัฐให้การยอมรับนโยบายนี้ (แม้ว่าผลการสำรวจจะบอกว่าประชาชนไม่ค่อยชอบ Obamacare เท่าไรนักก็ตาม)

แต่ Republican ก็ตามกัดตามจิกกฎหมายนี้ และนำมาเป็นประเด็นหลักในการเจรจาเรื่องงบประมาณสามสี่วันก่อนถึงเส้นตายเรื่องกฎหมายงบประมาณ สภาล่างที่ถูกคุมโดยพรรค Republican ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ แต่พ่วงไปด้วยว่าจะยกเลิก Obamacare แน่นอนว่าสภาสูงที่คุมโดยพรรค Democrat ไม่ยอมผ่านกฎหมายนี้ให้แน่นอน สภาสูงตัดข้อความเกี่ยวกับ Obamacare แล้วส่งกลับไปให้สภาล่าง สภาล่างก็ไม่วายใส่เรื่อง Obamacare กลับมา ยกเลิกไม่ได้ ขอให้ชะลอการใช้กฎหมายไปอีกสักปีก็ยังดี แต่สภาสูงก็ไม่เอาด้วยส่งกลับไปเหมือนเดิม

เถียงกันไปเถียงกันมาจนเลยเที่ยงคืนวันที่สามสิบกันยายน และรัฐบาลสหรัฐก็โดนปิดไปโดยปริยายโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเปิดได้เมื่อไร จริงๆ แล้วรัฐบาลสหรัฐโดนปิดมาแล้วหลายครั้ง และครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลโดนปิดคือสมัยประธานาธิบดี Clinton เมื่อปี 1995 ที่หาข้อตกลงกันไม่ได้ และปิดไป 28 วัน

ตอนนี้คนสหรัฐเริ่มจะออกอาการไม่พอใจพรรค Republican เท่าไรที่เอาเรื่องการเมืองมาเป็นประเด็นจนรัฐบาลโดนปิดไป ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถ้าว่ากันแล้วน่าจะตัดสินกันได้ตอนเลือกตั้ง อยากยกเลิกนโยบายอะไรก็เอาไปบอกประชาชน ถ้าเขาเห็นด้วยเขาก็เลือกมาเยอะๆ เอง เมื่อตัวเองเป็นรัฐบาลหรือคุมเสียงข้างมากในสภาก็สามารถออกกฎหมายยกเลิกนโยบายที่ไม่ชอบได้เอง

เพดานหนี้สหรัฐปัจจุบันอยู่ที่ 16.7  ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เพดานหนี้สหรัฐปัจจุบันอยู่ที่ 16.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

และเรื่องยังไม่จบเท่านี้ ยังมีเรื่องเพดานหนี้สาธารณะอีก สหรัฐมีกฎหมายอันนึงที่กำหนดระดับหนี้สาธารณะไว้ คือ ห้ามมีหนี้เกินเท่านั้นเท่านี้ และรัฐสภาต้องออกกฎหมายมาเปลี่ยนแปลงหนี้อยู่เนืองๆ เลยเป็นอีกประเด็นที่การเมืองใช้เรื่องนี้ในการเจรจา

ปัญหาคือ ตอนนี้หนี้สาธารณะของสหรัฐใกล้จะถึงเพดานที่ 16.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอีกแล้ว ถ้าไม่มีการออกกฎหมาย (ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาล่าง สภาสูง และประธานาธิบดี) มายกเพดานหนี้ขึ้น สหรัฐจะไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ และภายในวันที่ 17 ตุลาคม เงินสดของรัฐบาลสหรัฐจะเหลือแค่ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เริ่มไม่พอใช้จ่ายค่าใช้จ่ายสุทธิ (หักรายได้ภาษี) รายวันของรัฐบาล และอาจจะต้องเบี้ยวภาระบางอย่าง

ถ้าถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน และเพดานหนี้ยังไม่ถูกยก รัฐบาลจะไม่มีเงินพอจ่ายเช็คประกันสังคมและเงินจ่ายสวัสดิการทหารผ่านศึก และวันที่ 15 พฤศจิกายน จะเป็นเส้นตายสำคัญ เพราะเป็นวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ถ้าเพดานหนี้ยังไม่ได้ถูกยก มีความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐจะต้องเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

และเป็นเรื่องใหญ่มากๆ สำหรับตลาดการเงินที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นพื้นฐานของการตั้งราคาสินทรัพย์ทุกประเภท ถ้าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยงน้อยที่สุด และมีสภาพคล่องสูงสุดเกิดผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา นึกไม่ออกจริงๆครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ตอนนี้ประเด็นที่พรรค Republican เริ่มเผยว่าจะเอามาใช้เจรจาเรื่องเพดานหนี้ นอกเหนือไปจากเรื่อง Obamacare ก็มีเรื่องโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL จากแคนาดา นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมและการขุดเจาะน้ำมันในที่ของรัฐ ยกเลิกระเบียบเรื่อง Greenhouse gas หรือเรื่องการให้เงินอุดหนุน Consumer Financial Protection Bureau

ฟังดูแล้วขำๆ ไหมละครับ

พรรค Democrat บอกว่า นี่คือ “รายการค่าไถ่” หรือ ransom note ที่พรรค Republican ใช้เพื่อผลักดันประเด็นทางการเมืองของตัวเอง (ที่แพ้มาจากการเลือกตั้ง)

ส่วนพรรค Republican ก็บอกว่า Democrat ไม่ยอมเจรจาเรื่องพวกนี้สักที ต้องใช้เวลานี้แหละถึงจะยอมคุยกันเขา

ประธานาธิบดี Obama บอกว่า เราจะยอมให้กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ในสภาหนึ่งสภา แค่ในหนึ่งอำนาจอธิปไตยมาปิดรัฐบาลลงได้อย่างไร

นี่สะท้อนให้เห็นว่า การเล่นการเมืองหนักไปหน่อย ส่งผลต่อประเทศและส่วนรวมอย่างไร

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐกำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า คงได้เห็นอีกรอบว่าประชาชนสหรัฐตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าสหรัฐไม่เบี้ยวหนี้คนอื่นไปเสียก่อนนะครับ