ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ดินแแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย (1)

“ผู้นำโกง” – ตามล่าขุมทรัพย์ดินแแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย (1)

7 พฤษภาคม 2013


รายงานโดย อิสรนันท์

ที่มาภาพ : http://media.sacbee.com
ที่มาภาพ : http://media.sacbee.com

ความสำเร็จอย่างไม่คาดฝันของการชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีไซน์ หรือซิเน อัล-อาบิดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย และประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค แห่งอิยิปต์ ได้ส่งแรงกระเพื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในตะวันออกกลาง เมื่อประชาชนในประเทศต่างๆ เริ่มเอาอย่างบ้างเพราะสุดจะทนกับความอัดอั้นตันใจในปัญหาเดิมๆ แบบเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค

ไม่ว่าจะปัญหาผู้นำหน้าเดิมที่อยู่ทนทานกว่า 30 ปี ปัญหาทุจริตคอรัปชัน การเล่นพรรคเล่นพวก การถูกลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ปัญหาข้าวยากหมากแพง การตกงาน การลุกฮือของกลุ่มคลั่งศาสนาและกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ฯลฯ การเดินขบวนขับไล่ผู้นำประเทศรวมทั้งการเรียกร้องให้เร่งปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นราวโดมิโน โดยเยเมนเป็นประเทศที่ 3 ที่เกิดกระแสอาหรับสปริงไล่เลี่ยกับบาห์เรน

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศนี้ไม่ค่อยเป็นข่าวใหญ่มากนัก เนื่องจากถูกบดบังด้วยข่าวการประท้วงและการล้มล้างรัฐบาลอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลของลิเบีย โดยมีสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกแทรกตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การไล่ล่าพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่เป็นศัตรูตัวฉกาจตลอดกาลของสหรัฐซึ่งพยายามหลบหนีสุดชีวิตแต่สุดท้ายกลับถูกประชาชนรุมสังหารอย่างน่าอนาถ นับเป็นผู้นำคนที่ 3 ที่ถูกโค่นล้มแต่เป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่เสียชีวิตจากผลพวงของมหาคลื่นยักษ์อาหรับสปริง

ทำให้ประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ วัย 69 ปี แห่งเยเมน “ดินแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย” หรือ “นครแมนฮัตตันแห่งทะเลทราย ซึ่งเป็นประเทศที่ 3 ที่เกิดกระแสคลื่นปฏิวัติมหาชนคู่กับบาห์เรน ถูกเบียดกลายเป็นผู้นำรายที่ 4 ที่ตกกระป๋องการเมืองไล่หลังพันเอกกัดดาฟีในโค้งสุดท้าย แต่เป็นผู้นำอีกคนหนึ่งที่เกือบเอาชีวิตไม่รอดระหว่างการประท้วงเมื่อได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณใบหน้า ลำคอ และศีรษะ จากเหตุคนร้ายจากเผ่าฮาชิด เผ่าเดียวกับนายซาเลห์ ภายใต้การนำของชีค ซาดิก อัล อาห์เมอร์ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านนายซาเลห์ ได้ยิงจรวดถล่มมัสยิดภายในทำเนียบประธานาธิบดีระหว่างที่นายซาเลห์ รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนกำลังสวดมนต์อยู่ จนต้องหามไปรักษาที่ซาอุดีอาระเบียนานถึง 3 เดือน ท่ามกลางข่าวลือว่าจะขอลี้ภัยตลอดกาล แต่สุดท้ายนายซาเลห์ซึ่งกระดูกแข็งไม่ตายง่ายๆ ก็เดินทางกลับประเทศด้วยความเชื่อมั่นว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ และตัวเองจะอยู่ในตำแหน่งต่อจนกว่าจะหมดวาระในปี 2556 นี้ โดยจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัยหลังจากครองอำนาจมายาวนานถึงกว่า 33 ปี

ประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ วัย 69 ปีแห่งเยเมน "ดินแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย" หรือ"นครแมนฮัตตันแห่งทะเลทราย" ที่มาภาพ : http://a57.foxnews.com/global.fncstatic.com
ประธานาธิบดี อาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ วัย 69 ปีแห่งเยเมน “ดินแดนแห่งกุหลาบทะเลทราย” หรือ “นครแมนฮัตตันแห่งทะเลทราย” ที่มาภาพ: http://a57.foxnews.com/global.fncstatic.com

อย่างไรก็ดี แม้จะต้องเผชิญหน้ากับการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมเลือดเย็น จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อย และบาดเจ็บอีกนับพันคน กลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาชน และแกนนำฝ่ายค้าน ซึ่งได้จัด “วันแห่งความโกรธแค้น” ระดมประชาชนนับล้านๆ คนมาร่วมขับไล่รัฐบาลนานกว่า 10 เดือน ยืนกรานหัวเด็ดตีนขาดในนโยบาย “3 ไม่” นั่นก็คือ “ไม่มีกฎการสืบทอดทางสายเลือด ไม่มีกฎการครองอำนาจตลอดชีวิต และไม่แก้รัฐธรรมนูญ” ก็เป็นฝ่ายชนะ เมื่อสามารถบีบให้ประธานาธิบดีซาเลห์จำใจถอดหัวโขนอย่างเป็นทางการที่พระราชวังในกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ และตัวแทนประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ได้แก่ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) คูเวต โอมาน และกาตาร์ ที่นายซาเลห์ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ตลอดจนตัวแทนฝ่ายค้านเยเมน ที่ยกขบวนไปดูนายซาเลห์สละตำแหน่งให้เห็นกับตา

ตามข้อตกลงสันติภาพ นายซาเลห์ได้ถ่ายโอนอำนาจให้กับรองประธานาธิบดีอับดราบูห์ มันซูร์ ฮาดี ที่สวมหัวโขนประธานาธิบดีคนใหม่แต่โดยดี โดยตัวเองรั้งหัวโขน “ประธานาธิบดีเกียรติคุณ” เป็นเวลา 90 วัน หลังจากที่มีการถ่ายโอนอำนาจ แลกกับเอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ถูกเช็กบิลย้อนหลังเหมือนอดีตผู้นำของตูนีเซียและอิยิปต์ โดยเอกสิทธิ์คุ้มครองนี้ครอบคลุมไปถึงลูกหลานทุกคนในครอบครัวของนายซาเลห์ ที่มีส่วนร่วมในการควบคุมประเทศด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ประท้วงยืนกรานจะไม่ยอมปล่อยให้คนชั่วลอยนวล และจะต้องกระชากตัวทุกคนมาเช็คบิลย้อนหลังให้ได้

จอมพลซาเลห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเยเมนอาหรับ หรือ เยเมนเหนือตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2521 ก่อนจะขึ้นมาเป็นผู้นำของสาธารณรัฐเยเมนหลังการรวมประเทศในปี 2523 และอยู่ต่อเนื่องเรื่อยมาเมื่อชนะเลือกตั้งทุกครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อปี 2549 รวมเวลาที่ครองอำนาจนานติดต่อกันถึงกว่า 33 ปี ยาวนานกว่าประธานาธิบดีทุกคนของประเทศ และถ้าไม่มีอุบัติเหตุการเมืองมาแทรกแซงเสียก่อน เมื่อถึงเดือน พ.ย. 2554 นายซาเลห์ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำประเทศที่ไม่ใช่ราชวงศ์ที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลก

ในช่วงแรกที่ขึ้นมาเป็นผู้นำเยเมน นายซาเลห์ต้องเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสเพื่อคลี่คลายสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นหลังสงครามรวมประเทศระหว่างภาคเหนือและกลุ่มแยกดินแดนทางตอนใต้ ตามด้วยการแก้ปัญหาความยากจนอันสืบเนื่องมาจากผลผลิตน้ำมันลดน้อยลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วประเทศ 23 ล้านคนมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลลาร์หรือไม่ถึง 60 บาท เป็นเหตุให้หนึ่งในสามของประชากรประสบปัญหาความหิวโหยเรื้อรัง

แต่เมื่ออยู่ในอำนาจนานขึ้น นายซาเลห์ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศเสียเอง เนื่องจากการเล่นพรรคเล่นพวกและร่วมกันทุจริตคอร์รัปชันเป็นหมู่คณะ การตั้งลูกหลานเข้าไปคุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพและตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง อาทิ การตั้งนายอาเหม็ด อาลี ลูกชาย ให้เป็นผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์สาธารณรัฐหรือหน่วยรีพับลิกัน การ์ด ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ปกครองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกำลังหลักในการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ส่วนนายยาห์ยา โมฮัมเหม็ด ผู้เป็นหลานชาย ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการหน่วยรักษาความมั่นคงกลาง อันเป็นหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายที่ผ่านการผึกอบรมจากสหรัฐ นายทาเร็ก โมฮัมเหม็ด อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ หลานชายอีกคนหนึ่ง เป็นผู้บัญชาการหน่วยองครักษ์ประธานาธิบดี ส่วนนายโมฮัมเหม็ด ซาเลห์ อัล อาห์มาร์ พี่ชายต่างแม่ของประธานาธิบดีซาเลห์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวซาเลห์อีกหลายคนยังเข้าไปคุมรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ อย่างสายการบินแห่งชาติ “เยมาเนีย แอร์เวย์ และบรรษัทเศรษฐกิจเยเมน (เยโค) เป็นต้น

ผู้สันทัดกรณีหลายคนเชื่อว่า แม้นายซาเลห์จะยอมถอดหัวโขนแล้ว แต่สารพัดปัญหาที่รุมเร้าเยเมนมายาวนานคงจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะกว่า 33 ปีที่นายซาเลห์ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายใต้การประสานผลประโยชน์ที่ลงตัว ปล่อยให้ครอบครัวรวมทั้งญาติมิตรและบริวารฝังรากลึกในกองทัพ ธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ ได้กลายเป็นชนวนปัญหาเรื้อรัง ประเทศมีแต่ยากจนแม้จะเป็นประเทศผลิตน้ำมันก็ตาม เกิดความแตกแยกและการช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้นำชนเผ่ากลุ่มต่างๆ รวมไปถึงบรรดานายพลและนักการเมือง ทำให้นายซาเลห์ตกเป็นเป้าถูกลอบสังหารหรือมีความพยายามท่ีจะยึดอำนาจหลายครั้ง เพียงแต่นายซาเลห์โชคดีเหมือนกับแมวเก้าชีวิตเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง ขณะเดียวกัน กลุ่มติดอาวุธอัลไกดา ซึ่งมีฐานที่มั่นในประเทศนี้ก็อาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ขึ้นจนอาจกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ทำให้สหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียวิตกกังวลว่าจะลามออกไปจนยากควบคุม

นายซาเลห์เคยคุยว่า ความพยายามที่จะประสานผลประโยชน์เพื่อรักษาอำนาจมาตลอดช่วงกว่า 33 ปีที่ผ่านมานั้นก็เหมือนกับการเต้นรำหลอกล่อบนหัวงูหลายหัว ต้องระวังไม่เผลอให้หัวใดหัวหนึ่งฉกกัดเอาได้ แต่สุดท้ายคนที่ทำให้นายซาเลห์หมดอำนาจจริงก็คือประชาชนที่ถูกกลุ่มผู้ปกครองเหยียบย่ำเอารัดเอาเปรียบมาตลอด

เอลิซาเบ็ธ จอห์นสัน เจ้าหน้าที่ประจำสถาบันวิจัยความโปร่งใสระหว่างประเทศ ได้นำเสนอผลงานการวิจัยชิ้นหนึ่งว่า ประธานาธิบดีซาเลห์และบริวารหว่านเครือมีรายได้เข้ากระเป๋าอย่างน้อยปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์ นานติดต่อกันหลายสิบปีจากการยักยอกเงินกองทุนประกันราคาน้ำมันซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 10 เปอร์เซนต์ของงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ไม่นับรวมเงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์ที่ผู้นำเยเมนลักลอบนำไปฝากในต่างประเทศ

ซึ่งคงไม่น้อยไปกว่าอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก แห่งอียิปต์ที่เชื่อว่าปล้นเงินแผ่นดินไปเป็นสมบัติส่วนตัวและครอบครัวมากถึง 40,000-70,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าทรัพย์สินของนายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเอกอัครมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกนานติดต่อกันกว่าสิบปี