“ผู้แทนฯ นี่เวลาอยู่ในพื้นที่หนักเบาเอาสู้ อยู่อย่างไรกินอย่างไรก็อยู่ได้ แต่ว่าเวลาเขาเดินทางไปต่างประเทศต้องให้เกียรติให้เขาได้นอนโรงแรมดีๆ กินอาหารให้เขาได้กินอิ่มนอนอุ่นสบายๆ เป็นการชาร์จแบตเตอรี่เติมกำลังในการกลับมาทำงานที่หนักหนาให้กับประชาชน”
“จองล้าง….จ้องผลาญ…” เป็นฉายาสภาผู้แทนราษฎรประจำปี 2555 ที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งให้
ด้วยเหตุผลที่ว่า การทำหน้าที่ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในการสภาไม่ต่างอะไรกับการจ้องจะล้างแค้นซึ่งกันและกัน
ขณะที่ “จ้องผลาญ” คือการผลาญงบประมาณแผ่นดิน ภาพที่เห็นชัดเจนคือ การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2555 และปี 2556 ที่ ส.ส.จ้องจัดสรรงบฯ ให้พวกตัวเอง และการจัดทริปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ชุดต่างๆ
การไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการแต่ละชุด เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการไปท่องเที่ยวพักผ่อน มากกว่าที่จะไปดูงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง!
และเพราะงบประมาณ 5 ล้านบาท ที่ กมธ. ได้รับจากการจัดสรรเพื่อใช้ในการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ถือเป็นจำนวนที่มาก และเป็นงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน
“คำถาม”จึงเกิดขึ้นตามมาว่า การใช้งบประมาณในส่วนนี้มีความคุ้มค่าหรือไม่?
จากบรรทัดต่อไปนี้ เป็น “คำตอบ” ในเรื่องเดียวกันจากการให้สัมภาษณ์ของ “ไพจิต ศรีวรขาน” ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. กิจการสภา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเปรียบได้กับ “พ่อบ้าน” ของสภาแห่งนี้
ไทยพับลิก้า : วัตถุประสงค์ของการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการสามัญประจำสภาเป็นไปเพื่ออะไร
การเดินทางดูงานต่างประเทศของ กมธ. ดูจะเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของ กมธ. เจตนาก็คือเรื่องของงานนิติบัญญัติโลกได้พัฒนาขึ้นและมีมิติสัมพันธ์ มีเรื่ององค์กร เรื่องรัฐสภาระหว่างประเทศ ซึ่งมีข้อตกลงในการที่จะพัฒนางานนิติบัญญัติอยู่มาเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้น การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องทำภารกิจในแต่ละ กมธ. เพื่อให้สอดคล้องต่อการพัฒนางานนิติบัญญัติ ก็มีความจำเป็นที่ต้องได้แลกเปลี่ยนได้ดูแบบอย่างงานแต่ละเรื่องแต่ละคณะที่รับผิดชอบอยู่ เพื่อมาเป็นบรรทัดฐานในการที่จะวินิจฉัยแก้ปัญหาในแต่ละเรื่อง
ฉะนั้น ถ้าดูในเรื่องของงานของคณะในเรื่องของงบประมาณ เรื่องของคน ก็จะมีตัวเลขที่เป็นสัดส่วนที่เห็นว่า แต่ละคณะจะต้องทำภารกิจพวกนี้ให้เกิดความร่วมมือแลกเปลี่ยนในทางนิติบัญญัติให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาการเดินทางดูงานถือว่าได้นำมาใช้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
สิ่งที่ได้รับทางตรงก็คือ แต่ละคณะจะไปดูแบบอย่างในการแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องแต่ละคณะที่เขารับผิดชอบอยู่จากต่างประเทศที่มีความสมบูรณ์มากกว่า อาจจะไปดูเรื่องการป้องกันและแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ หรือดูเรื่องกฎหมาย ที่จะเอามาใช้ในการที่จะฟื้นฟูหรือการป้องกันเยียวยาช่วยเหลือประชาชนต่างๆ งานของแต่ละคณะก็จะไปในโซนที่ตัวเองรับผิดชอบ
ไทยพับลิก้า : การใช้งบประมาณตรงนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไปอย่างไม่คุ้มค่า
คนประเมินว่าคุ้มไม่คุ้มก็คือประชาชน ประชาชนก็จะเป็นคนได้รับดอกผลของการพัฒนางานของฝ่ายนิติบัญญัติ ของ ส.ส. ส.ว. ถ้าประชาชนสามารถที่จะมีผู้แทนราษฎร มีช่องทางในการดูแลแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือการประเมินว่า กมธ. แต่ละคณะได้ใช้จ่ายเงินเหล่านี้เพื่อการไปดูงานให้เป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ อยู่ที่ กมธ. แต่ละคณะเป็นสำคัญ เช่นเดียวกัน แต่ละคณะคือประธานจะต้องเป็นหัวหน้าคณะในการเดินทางไปต่างประเทศ ประธาน กมธ. ที่เป็นคนรับผิดชอบต่อภาระค่าใช้จ่ายของงบประมาณแต่ละคณะโดยตรงต้องนำคณะ กำหนดภาระในการเดินทางที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่ออกไป เหล่านี้คือรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะเห็นชอบเป็นหลักการกว้างๆ รายละเอียดจะให้เป็นเนื้องานที่เป็นประโยชน์ตรงกับภาระของ กมธ. แค่ไหนอย่างไร
ไทยพับลิก้า : งบประมาณที่ กมธ. ได้รับการจัดสรรเฉพาะดูงานต่อปีงบประมาณอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่
คณะละ 5 ล้านบาทต่อ กมธ. 15 คนต่อการศึกษาดูงานที่จะต้องเป็นไปตามข้อปฏิบัติของข้าราชการที่จะต้องเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ จะมีระเบียบการใช้เงินในการเดินทางไปต่างประเทศของกระทรวงการคลังกำกับอยู่ โดยคำนวณจากระยะทางใกล้-ไกล ประเทศที่มีค่าครองชีพสูง-กลาง-ต่ำก็จะมีอัตราที่แตกต่างกัน มีเบี้ยเลี้ยงให้ท่านสมาชิกประมาณ 3,300 บาทต่อหนึ่งวัน เบิกค่าใช้จ่ายเหมือนข้าราชการทั่วๆ ไป การเดินทางของท่านสมาชิกก็สามารถที่จะเดินทางโดยชั้นธุรกิจหรือชั้นประหยัดก็ได้ บางทีมีงบประมาณน้อยก็ต้องไปชั้นปะหยัด หรืออาจจะใช้รถยนต์ในการเดินทางในทริปแทนการใช้เครื่องบิน ซึ่งบางทีดูโปรแกรมการเดินทางของ กมธ. แต่ละคณะ เมื่อเทียบกับของการไปราชการของเจ้ากรมต่างๆ ก็ยังดูค่อนข้างประหยัดอยู่
โดยงบในส่วนนี้จะใช้เฉพาะ กมธ. แต่ถ้าเป็นคนอื่นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง สำหรับข้าราชการประจำคณะ กมธ. ที่ติดตามไปด้วยนั้นจะเป็นการเบิกค่าใช้จ่ายในจำนวนเงินของ กมธ. ได้แต่เป็นอีกอัตราหนึ่ง โดยนัยยะแต่ละคณะจะรักษาเงินเหล่านี้ให้กับ กมธ. เป็นหลัก ดังนั้นข้าราชการจึงเดินทางไปเท่าที่จำเป็นในการที่จะจดบันทึกงานและติดต่อประสานงานเท่านั้น
ไทยพับลิก้า : ถูกวิจารณ์ว่าเป็นฤดูกาลที่ ส.ส. จะพาครอบครัวไปเที่ยว
อ๋อ…พวกที่เอาผู้ติดตามไปต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองนะครับ เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวแต่ละท่าน เวลาไปเมืองนอกที่จะต้องไปดูงานที่ กมธ. ต้องรับผิดชอบนี่ พวกที่ติดตามไปบางครั้งก็มีโอกาสได้ไปดูด้วย แต่โดยธรรมเนียมถ้าเป็นทางการเขาจะจำกัดเฉพาะ กมธ. และเจ้าหน้าที่จำนวนเท่านั้นเท่านี้คน ส่วนพวกติดตามที่เอาภรรยาไป เอาลูกไป บางทีอาจจะต้องคอยอยู่โรงแรมหรือจะไปช็อปปิ้งที่ไหนก็สุดแล้วแต่
“มันเหมือนกับว่า ชีวิตของผู้แทนราษฎรนี่เขาเหนื่อยยากลำบากเมื่ออยู่ในพื้นที่ เวลาเขาเดินทางต่างประเทศถือว่าเป็นการไปรีแล็กซ์ ผ่อนคลาย เขาเลยเอาคนที่ร่วมสุข ร่วมทุกข์ คืออาจจะเป็นภรรยา ถ้าใครมีลูกอาจจะเอาลูกไป”
ไทยพับลิก้า : ประเมินว่า เงินงบประมาณจำนวน 5 ล้านบาทต่อ กมธ. ที่ได้มาใช้ในการดูงานมากหรือน้อย
ก็พอไปได้ แต่ถ้าไปประเทศที่มีค่าใช้จ่ายแพงๆ อย่าง อเมริกา ซึ่งเดินทางไกล ค่าเดินทางแพง ตัว กมธ. อาจจะมีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ประธานหรือหัวหน้าคณะต้องรับผิดชอบหน่อย แต่ว่าค่าใช้จ่ายที่ได้มา 5 ล้านก็พอเหมาะกับฐานะที่จะไปในประเทศที่อยู่ในระดับกลางๆ เดินทาง 5-8 ชั่วโมง
แต่ว่าถ้าจะไปแอฟริกาไป อเมริกา ก็อาจจะต้องมี กมธ. ร่วมเดินทางไปจำนวนไม่มาก เมื่อไปไม่มากต่อหัวต่อคนก็ลดลง แต่โดยนัยยะคือ ทุกคณะ ถ้าจัดเดินทางก็ควรที่จะไปให้เต็มคณะ ถ้าขาดก็ไม่ควรจะมากกว่าคณะละ 3-4 คน ถ้าขาดเกินกว่านั้นก็ถือว่าไม่งดงาม เพราะเวลาเราติดต่อองค์กรระหว่างประเทศเขาก็ต้องมาต้อนรับอำนวยการให้เราได้ดูงานอย่างสมเกียรติ
ไทยพับลิก้า : กมธ. ของต่างประเทศมีมาดูงานเหมือนบ้านเราไหม
มีครับ แต่เขาก็อาจจะไม่มาดูประเทศไทย ไปที่อื่น ไม่ค่อยเห็น ส.ส. อเมริกันมาดูงานสภาไทย ไม่มี ส.ส. อังกฤษมาดูงาน ที่จะมาดูประเทศเราบ้างก็มีประเทศในภูมิภาคเดียวกันนี้
ไทยพับลิก้า : ขั้นตอนการว่าจ้างบริษัททัวร์มีระเบียบอะไรกำกับหรือไม่
การจะใช้บริษัททัวร์ใดมาประสานการดูงาน เป็นหน้าที่ของ กมธ. แต่ละคณะที่จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณา วิธีการคือจะมีบริษัททัวร์ที่ ส.ส. เคยใช้บริการและจะพูดกันว่าบริษัทนี้ใช้ได้ บริษัทนี้ห่วยแตก เพราะผู้แทนฯ นี่เวลาอยู่ในพื้นที่หนักเบาเอาสู้ อยู่อย่างไรกินอย่างไรก็อยู่ได้ แต่ว่าเวลาเขาเดินทางไปต่างประเทศต้องให้เกียรติให้เขาได้นอนโรงแรมดีๆ กินอาหารให้เขาได้กินอิ่มนอนอุ่นสบายๆ เป็นการชาร์จแบตเตอรี่เติมกำลังในการกลับมาทำงานที่หนักหนาให้กับประชาชน จึงเลือกจากบริษัทเหล่านี้เป็นหลัก จะมีพวกที่ปรึกษา พวกที่เป็นผู้ช่วยเหลืองานของคณะแต่ละคณะนั่นแหละเป็นคนจัดการดู ซึ่งผมก็จะประเมินดูจาก กมธ. เป็นหลักว่าเขาไปแล้วแฮปปี้หรือไม่ มีความสุขดีไหม สนใจใยดีกับงานของสภาผู้แทนราษฎรได้
แต่สิ่งที่ต้องถือเป็นเรื่องหลักเลยก็คือ เรื่องงานที่จะศึกษา ต้องได้รับเกียรติ ได้รับสิ่งที่เราอยากได้ เมื่อวิเคราะห์ว่าไปประเทศนี้พอได้บ้าง คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับเวลาที่เดินทางก็ถึงจะตัดสินใจไป ถ้าติดต่อแล้วไม่ค่อยได้รับเกียรติไม่ได้รับการต้อนรับ ก็ไปแล้วเหมือนกับไปบริษัทเพื่อเที่ยวดูตามสี่แยกห้าแยกอยู่ ก็อย่าไปดีกว่า มันไม่เป็นประโยชน์
ไทยพับลิก้า : ส่วนใหญ่บริษัททัวร์ที่จะถูกว่าจ้างจะเป็นบริษัทที่เคยใช้บริการกันมาเป็นประจำ
เขาแข่งขันกัน นำบริการพวกเหล่านี้เพื่อดูแลท่าน กมธ. ถ้าใครอยากได้กำไรเยอะๆ ก็ได้ขายครั้งเดียว เขาก็จะพูดต่อๆ กันว่าบริษัทนี้ไม่ได้เรื่องอย่าใช้บริการ แต่ถ้าเจ้าไหนไปแล้วพอรับได้ อาหารการกินมีมาตรฐาน สมมุติอาหารจีนเขาจะบอกเลยว่าน้ำซุปนี่เป็นซุปอะไร ตัวที่เป็นเนื้อคือส่วนไหน จะมีมาตรฐานพวกนี้อยู่ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีบริษัทใหม่ๆ มาเสนอขาย
ไทยพับลิก้า : งบประมาณการดูงานทริปหนึ่งประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนที่มาก ทำไมถึงไม่มีการเปิดให้มีการแข่งขันประมูลราคาระหว่างบริษัททัวร์
ไม่มีเป็นการตกลงว่าจ้างในกรอบของระเบียบของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ไม่ได้จ้างครั้งเดียว แต่ยังมีค่าเดินทางโดยเครื่องบิน อย่างถ้าเดินทางโดยการบินไทย กมธ. ก็ไม่ต้องสำรองเงินค่าตั๋วเครื่องบินไปก่อน แต่จะมีการออกตั๋วให้ก่อนแล้วมาเบิกกับสภาโดยตรง ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้หลายแสนบาท สภาก็จะลงบัญชีของ กมธ. เอาไว้ อยู่ในเงินจำนวน 5 ล้านบาทที่ได้มา ทีนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่อาจจะต้องจ่ายโดยไม่มีราคากลาง เช่น การเช่าเหมารถที่ใช้สำหรับ กมธ. แต่ค่าที่พักนี่ตายตัวอยู่แล้วว่าได้คืนละเท่าไหร่
ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่เป็น ส.ส. มานาน มองว่าการดูงานของ กมธ. ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพหรือไม่
ถ้ามองในเรื่องของความร่วมมือในงานผมว่ามันคุ้มนะ ในแง่ของ กมธ. มีมาจากหลายพรรค แต่ละคนจะได้ศึกษาจิตใจกันว่าเป็นอย่างไร
ไทยพับลิก้า : เมื่อกลับมาแล้ว กมธ. ต้องทำรายงานการศึกษาดูงานเสนอ
เป็นข้อกำหนดของท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ตอนที่ท่านเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตอนนั้นผมเป็นประธาน กมธ.กิจการสภาเหมือนกัน เขาเรียกว่าเป็นแนวทางการปฏิบัติในการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศของ กมธ.สามัญ สภาผู้แทนราษฎร ก่อนไปต้องเสนอแผน มีคณะกรรมการกลั่นกรองว่ามีหนังสือตอบรับหรือยัง ไปดูงานมีบุคคลเห็นชอบไหม และหลังจากกลับมาแล้วต้องส่งรายงานว่ามีประเด็นใดที่ไปดูแล้วมีประโยชน์ ได้ข้อสรุปอย่างไร ก็ส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองนี่แหละ ซึ่งตอนสมัยท่านชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภาก็ยังใช้หลักเกณฑ์นี้อยู่
แต่พอมาถึงสมัยท่านสมศักดิ์ ท่านไม่อยากให้เป็นปัญหา เพราะมองว่าประธาน กมธ. แต่ละคนมาจากสัดส่วนของพรรค ดังนั้นพรรคนั้นๆ ต้องไปคุมกันเอง มันเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่แล้ว จึงยกเลิกการใช้หลักเกณฑ์นี้ไป การขออนุมัติแต่ละครั้งจึงไม่มีการผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง กลับมาแล้วใครจะส่งรายงานหรือไม่ ไม่เป็นประเด็น
ไทยพับลิก้า : เท่าที่ดูรายงานของ กมธ. ส่วนใหญ่เป็นการรวมข้อมูลพื้นฐานที่มีการเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว
ผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องที่จะไปเทียบเคียงมาตรฐานข้าราชการอย่างอื่นลำบาก เพราะเขาถือว่าเขาผ่านการเลือกตั้ง มีวุฒิภาวะ เมื่อพรรคเลือกเขามาให้เป็นประธาน กมธ. แล้ว เขากับผิดชอบงานเท่าที่เขามี เพราะฉะนั้น การที่ไปค้นข้อมูลทั่วๆ ไปจากอินเทอร์เน็ตมารวบรวมและเย็บเล่มส่งรายงานแบบนั้นแปลว่าไม่มีประโยชน์ เหมือนกับว่าได้ไปดูงานแต่ไม่มีโอกาสที่จะนำสิ่งที่ไปดูมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้สมกับเงินภาษีอากรอย่างคุ้มค่า ก็ได้อย่างเดียวก็คือพา กมธ. ไปพักผ่อน ไปเฮฮา คนที่ไม่เคยดื่มไวน์ด้วยกันจะได้กินไวน์แดงไวน์ขาว ก็แลกเปลี่ยนกัน สิ่งที่ประชาชนคาดหวังก็ไม่ได้ ผมไปวุ่นวายเขามาก ประธานไปวุ่นวายกับเขามาก เขาก็โกรธเอาไม่พอใจ
ความจริง สมัยท่านวันนอร์เป็นตัวอย่างที่ดี และควรที่จะทำด้วย คือ คณะไหนไม่ส่งรายงาน หรือส่งแล้วดูแล้วไม่เข้าท่าเข้าทาง ก็ส่งเข้าสภาเพื่อให้ที่ประชุมอภิปรายกัน เป็นเอกสารที่ออกสู่สาธารณะและประเมินได้ ก็จะประเมินงานของแต่ละคณะด้วย และจะเห็นความแตกต่างกันของแต่ละคณะ
ไทยพับลิก้า : งบประมาณที่ได้มาจากภาษีของประชาชน การดูงานของ กมธ. ควรเป็นไปอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบหรือไม่ว่า กมธ. ใช้งบประมาณในส่วนนี้อย่างไร
ตอนนี้ดีขึ้นนะ แต่ละคณะเวลาเดินทางไปกันเกือบเต็มคณะ 10 คนขึ้นไป แสดงว่าเขามีน้ำหนึ่งใจเดียวกันแตกต่างจากเมื่อก่อน เวลาไปแต่ละที 3-5 คน นอกนั้นเป็นผู้ติดตาม ผู้เชี่ยวชาญบ้าๆ บอๆ ไปหมด ซึ่งนั่นทำให้ลดละต่อองค์กรที่มาต้อนรับเราในนามสภา
สมัยนี้มีการประชุม กมธ. 35 คณะ น้อยหน่อย ท่านประธานว่าอย่างไรไม่ทราบ เพราะผมเคยเสนอไปว่า ใน 1 เดือนควรที่จะประชุมกัน 1 ครั้ง พอปิดสมัยประชุมก็ใช้เวลาให้ประธาน กมธ. เหล่านี้มาสัมมนาว่างานของ กมธ. ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร สามารถทำความเข้าใจกันได้
ไทยพับลิก้า : สื่อมวลชนสภาตั้งฉายาสภาผู้แทนราษฎรประจำปี 2555 ว่า “จองล้าง จ้องผลาญ…”
หนึ่ง เราต้องสำนึกว่าเงินนี้เป็นของใคร แล้ว กมธ. ทำเพื่อใคร เพื่อประโยชน์ของใคร และพยายามไปดูงานในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อภาระที่มีของ กมธ. แต่ละคณะ ที่ได้ตระหนักถึงอันนี้ก็จะมีข้อเข้มแข็งของงบประมาณนี้ได้อยู่แล้ว อยากให้แต่ละคณะใช้มาตรฐานการดูงานให้คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับในสิ่งที่ท่านรับผิดชอบ การดูงานก็ควรที่จะเลือกในสิ่งที่ตรงกับ กมธ. เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าไปช็อปปิ้งหรือพักผ่อน