
จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ. ของ ป.ป.ช. มาตรา 103/7 และ 103/8 กำหนดไว้ หรือภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2556
กว่าที่ ครม.จะอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยราคากลาง และการคำนวณราคากลางตามกฎหมายนี้ได้ ต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณากว่า 1 ปี จากวันแรกที่ ป.ป.ช. เสนอเรื่องนี้ให้ ครม.
โดยครั้งแรกที่ ครม. ได้พิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ครม. ยังคงไม่มีการอนุมัติให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพียงแค่รับทราบรายงานของ ป.ป.ช. และได้กำชับให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ที่กำหนดให้มีการเปิดเผยราคากลางอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องเปิดเผยวิธีคำนวณ
โดยอ้างว่ากฎหมายนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และได้ให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงบประมาณ ทำการหารือกับ ป.ป.ช. ท่ามกลางกระแสกดดันจากหลายฝ่ายที่อยากให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ก่อนมีการประมูลโครงการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม
เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผย “การคำนวณ” ราคากลางในการประมูลจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่มีเพียงการเปิดเผยราคากลางอย่างเดียว กลายเป็นต้องเปิดเผยที่มาว่าราคากลางดังกล่าวคำนวณมาได้อย่างไร เช่น ในการจัดหาพัสดุสำนักงาน ต้องมีการบอกว่าราคากลางของการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวมีที่มาอย่างไร คิดราคาเก้าอี้ตัวละเท่าไร หรือโต๊ะตัวละเท่าไรซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส และทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ง่ายขึ้น หากเกิดกรณีจัดหาพัสดุชนิดเดียวกัน แต่ราคากลางที่เปิดเผยแตกต่างกัน หน่วยงานของรัฐจะต้องสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงมีราคาแตกต่างจากการจัดซื้อของที่อื่นๆ
โดยกระทรวงการคลังได้ทำการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทำการศึกษาเพื่อแก้ไข ปรับปรุงกฎระเบียบไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวทางการเปิดเผยราคากลาง และวิธีคำนวณสำหรับงานก่อสร้าง ให้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ป.ป.ช. กำหนดแล้ว โดยได้แจ้งให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2555
แต่สำหรับการเปิดเผยราคากลางของการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานก่อสร้าง อาทิ ราคากลางยาและเวชภัณฑ์ อัตราค่าจ้างที่ปรึกษา และราคากลางงานพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการเปิดเผยวิธีคำนวณที่ชัดเจน กระทรวงการคลังได้ทำการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวง ICT และสำนักงบประมาณ จนได้ข้อสรุปในการเปิดเผยราคากลาง และวิธีคำนวณราคากลางสำหรับสินค้าดังกล่าวที่ไม่ใช่งานก่อสร้าง
โดยสาระสำคัญของการเปิดเผยราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานก่อสร้าง สำหรับครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ ยาในบัญชียาหลัก ยานอกบัญชียาหลัก และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ใช้ตามประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงบประมาณ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวง ICT) หากไม่มีประกาศให้ใช้ราคาที่เคยซื้อหลังสุดในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ และหากไม่มีราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ ให้ใช้ราคาตลาด โดยสืบจากราคาท้องตลาด รวมทั้งเว็บไซต์ต่างๆ เป็นราคาอ้างอิง
การจ้างที่ปรึกษา การจ้างงานวิจัย หรือสนับสนุนให้ทุนการวิจัย ให้กำหนดอัตราจ้างที่ปรึกษาโดยให้พิจารณาจากวุฒิการศึกษา และประสบการณ์ของที่ปรึกษาเป็นสำคัญ และสำหรับการจ้างออกแบบและควบคุมงาน ให้ใช้อัตราตามที่ระเบียบสำนักนายกฯ และระเบียบอื่นๆ ของหน่วยงานนั้นกำหนดเป็นราคาอ้างอิง
เมื่อกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำหลักเกณฑ์คำนวณราคากลางเสร็จ จึงได้เสนอให้ ครม. พิจารณา และ ครม. ได้อนุมัติข้อเสนอดังกล่าวในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยวิธีคำนวณราคากลางงานก่อสร้างและการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นๆ หลังพิจารณาและแก้ไขนานกว่า 1 ปี ทำให้การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ของ ป.ป.ช. มาตรา 103/7 และ 103/8 สมบูรณ์ในที่สุด