สัมภาษณ์โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
หลายครั้งที่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นจากเคล็ดลับเพียงเล็กๆ
หลายครั้งที่ “คนแถวหน้า” ยืนโดดเด่นเพราะมีหลายคนยอมอยู่ “แถวหลัง”
ทว่า น้อยคนจะมีความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่ โดยเฉพาะคนที่ต้องเปลี่ยนสถานะ-สลับบทบาทเป็นว่าเล่น อย่าง “เอ็ดเวิร์ด เกรซเซอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจก้าวหน้าใน มูลนิธิโกลบอล เวิร์ค (Director of the Progressive Economy think tank, Global Works Foundation) ซึ่งเคยผ่านงานที่ปรึกษาผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่ปรึกษาของสมาชิกสภาคองเกรส นักวิจัยหัวข้อการเมืองและการพัฒนา

นอกจากนี้ยังเป็น “วิทยากรขาประจำของไทย” เมื่อได้รับเชิญจากส่วนราชการ-องค์กรด้านการค้า-สถาบันการศึกษา ให้เปิดบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของอเมริกา เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ด้านบวก-ลบให้คนไทยฟัง
เป็นผลให้ชื่อ “เอ็ดเวิร์ด” เริ่มคุ้นหูคนไทย นับจากยุคบุกเบิกเอฟทีเอไทยสมัยรัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”
นอกจากบทบาท “นักพูด” เขายังเป็น “นักเขียน” ผลิตบทความป้อนรัฐบาลและรัฐสภาของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ทว่าน้อยคนจะรู้ว่า “เอ็ดเวิร์ด” คนนี้เคยเป็นมือยกร่างสุนทรพจน์ให้ “บิล คลินตัน” ประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐฯ มาแล้ว 2 ครั้ง
งานที่ไม่มีชื่อปรากฏในฐานะเจ้าของ แต่ทำให้เจ้าตัวภาคภูมิใจทุกครั้งที่หวนนึกถึง และนำเขาไปพบในสิ่งที่หลายคนไม่อาจเห็น!
ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1998 เมื่อ “คลินตัน” เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
อีกครั้ง ในการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เมื่อปี ค.ศ. 2000
“ตอนนั้นผมไม่ได้ทำงานให้ประธานาธิบดีคลินตันโดยตรง แต่ผมเป็นผู้อำนวยการการค้าและการตลาดโลกของสถาบันนโยบายก้าวหน้า (Trade and Global Markets Director for the Progressive Policy Institute) คอยให้คำปรึกษาด้านนโยบาย และเขียนสุนทรพจน์ให้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United State Trade Representative: USTR) แต่เวลาประธานาธิบดีคลินตันจะไปกล่าวสุนทรพจน์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า คณะทำงานทำเนียบขาวก็จะขอความเห็นในการเขียนสุนทรพจน์มา”
“อย่างในการประชุมองค์กรการค้าโลก ทางทำเนียบขาวก็ขอความเห็นมา ผมก็ลิสต์หัวข้อ ยกร่าง แล้วส่งให้ทำเนียบขาว จากนั้นเขาก็ดูทีละย่อหน้า ปรับแต่งบางคำ ก่อนส่งให้สภาคองเกรสพิจารณา เพราะสมาชิกรัฐสภาต้องการรู้ว่าผู้นำกำลังจะไปพูดอะไรกับต่างชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อเมริกาหรือไม่ ซึ่งในทุกปีประธานาธิบดีจะเดินทางไปสภาคองเกรสเพื่อเล่าถึงวาระที่จะทำ จากนั้นก็จะมีองค์กรหนึ่งคอยจัดการยกร่างสปีชให้ ส่งร่างให้ประธานาธิบดีดู ซึ่งเขาสามารถเปลี่ยนแปลงบางคำได้ถ้าต้องการ เพราะเขาคือประธานาธิบดีของประเทศนี้ โดยเฉพาะคลินตัน ซึ่งมักทำอะไรด้วยตัวเอง เขาก็จะเปลี่ยนบางคำ เพิ่มเติมบางเนื้อหา ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆ อาจมีคนร่างให้เขา แต่ถ้าเป็นสุนทรพจน์การเมือง ส่วนใหญ่เขาจะคิดของเขาเอง”
“คลินตันเป็นคนชอบทำอะไรด้วยตนเอง เขาสามารถคิด ทำ และอธิบายเรื่องยากๆ ด้วยการใช้คำพูดสามัญๆ ตัวอย่างสุนทรพจน์ที่ผมค่อนข้างชอบคือการปราศรัยต่อประชุมใหญ่ประจำปีพรรคเดโมเครต (เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2012) เพื่อเสนอชื่อบารัก โอบามา เป็นแคนดิเดตชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เขาพูดยาวเกือบชั่วโมง แต่ในจำนวนนี้เป็นมุมมองต่อพรรครีพับลิกัน และไม่ลืมขมวดปมว่า “ไม่มีประธานาธิบดีคนไหน ไม่ว่าผม ไม่ว่าใครก่อนหน้าผม จะสามารถซ่อมแซมความเสียหายที่โอบามาเจอทั้งหมดในเวลาแค่ 4 ปี” ถือเป็นคำสั้นๆ แต่สามารถอธิบาย หรือให้คำจำกัดความเสียหายที่เกิดจากพรรครีพับลิกันได้หมด”
จึงน่าสนใจว่า กว่า “คลินตัน” จะเป็นผู้พูดที่จับใจคน เป็นผู้ฟังที่จับใจความได้ดี เขานิยมทอดสายตา “อ่านคน-อ่านความ” ผ่านหนังสือโปรดประเภทใด?
“เท่าที่ผมรู้ เขาชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์นะ แต่ครั้งหนึ่งในปี 2000 เจ้านายผม แชร์เลน บาร์เชฟสกี (ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ) โทรศัพท์ตามผมไปคุยงาน หลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกับคลินตัน ผมแปลกใจมากๆ ที่เห็นหนังสือ Meditations ซึ่งเขียนโดยมาร์คุส ออเรลิอุส (อดีตจักรพรรดิโรมัน ซึ่งถือเป็นกษัตริย์นักปรัชญาลัทธิสโตอิกคนสำคัญ) วางอยู่ตรงที่นั่งของประธานาธิบดี ผมประหลาดใจที่คลินตันอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้ออเรลิอุสเขียนในช่วงประสบปัญหาหลายด้าน เขาพยายามค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้เขามีพลัง กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ทำอย่างไรให้มีสถานภาพสูงและรักษามันไว้ได้ ทำอย่างไรจะรักษาความเป็นมิตรกับคนอื่นไว้ได้ ทำอย่างไรจะมีชีวิตที่ดีเมื่อมีอำนาจมาก เราสามารถรักษาพื้นฐานตามที่เราเป็น และเข้าใจพื้นฐานที่คนอื่นเป็นอยู่ได้อย่างไร ผมเชื่อว่าหากได้อ่านจบ มันจะส่งผลต่อความคิด ต่อบุคลิกภาพของคนอ่าน และเชื่อว่ามันอาจส่งผลต่อความเป็นคลินตันด้วย” เอ็ดเวิร์ดกล่าว

แม้ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าข้อเขียนของ “จักรพรรดิออเรลิอุส” ที่เกิดขึ้นกว่า 1800 ปีก่อน เพื่อสนทนากับความคิด-จิตใจตัวเอง ส่งผลต่อความคิด-ชีวิตผู้อ่านที่ชื่อ “บิล คลินตัน” อย่างไร แต่สิ่งที่ “เอ็ดเวิร์ด” ยืนยันได้คือ “อดีตผู้นำสหรัฐฯ” รายนี้มี “บุคลิกพิเศษ” และผลักให้เขาเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการสนับสนุนจากพลเมืองมะกันมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
“อดีตมือร่างสปีช” ยกเรื่องหลังฉากของ “คลินตัน” ซึ่งไม่เคยถูกบันทึกที่ไหนมาก่อน ขึ้นสนับสนุนความเห็นดังกล่าว
“ตอนปี 2000 ผมมีโอกาสร่วมคณะประธานาธิบดีไปเยือนเวียดนาม พวกเราเข้าพักโรงแรมในกรุงฮานอย สิ่งแรกที่คลินตันทำหลังเข้าโรงแรมคืออะไรรู้ไหม เขาเริ่มต้นจากการเดินไปที่ห้องน้ำ ทักทายพนักงานทำความสะอาด จากนั้นก็เดินไปรอบๆ โรงแรมเพื่อคุยกับพนักงานเปิดประตู เชคแฮนด์พนักงานยกกระเป๋า พนักงานต้อนรับ เดินไปที่เคาน์เตอร์เลยนะ ทำให้พนักงานหญิงที่เป็นวัยรุ่นเวียดนามเข้ามาขอถ่ายรูปเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็เดินขึ้นชั้น 2 ไปทักพนักงานทำความสะอาด นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจมาก และยังประทับใจมากระทั่งวันนี้ เพราะไม่คิดว่าเขาจะทำ อ้อ! ผมลืมบอกไปว่าคลินตันเป็นคนที่มือนุ่มมากๆ เหมือนมือเด็ก เวลาไปเชคแฮนด์ใคร ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันเลย ผมเองก็รู้สึกอย่างนั้น (หัวเราะ)”
“แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ปรากฏต่อสาธารณะ เพราะเวลาประธานาธิบดีไปกัมพูชา เวียดนาม ก็ต้องไปพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำรัฐบาลประเทศนั้นๆ สิ่งที่ปรากฏต่อสื่อจึงเป็นเรื่องที่เป็นทางการในหนังสือพิมพ์ ซึ่งมันคือความสำเร็จในการเยือนประเทศๆ หนึ่ง แต่สิ่งที่เขาทำที่โรงแรมฮานอยไม่ได้จัดฉากหรือทำเพราะต้องการให้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เขาทำเพราะมีความสุข ทำเพราะนี่คือสิ่งสำคัญสำหรับเขา”
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ “เอ็ดเวิร์ด” ภาพหลังฉากเช่นนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับ “ประธานาธิบดีรุ่นน้อง” นาม “บารัก โอบามา” เนื่องจากเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่พูดมาก ชอบอยู่กับครอบครัว ไม่ชอบอยู่กลางฝูงชน ต่างจาก “คลินตัน” ที่สนุกกับการเปิดฉากสนทนาและพบปะคนมากหน้าหลายตา
“ผมไม่คิดว่าโอบามาจะทำแบบเดียวกันนี้นะ เพราะเขามักโฟกัสว่าวันนี้ในตารางงานมีอะไร ประชุมอะไร ต้องไปพบใคร นี่คือความแตกต่างอย่างมากของประธานาธิบดีทั้ง 2 คนที่มาจากพรรคเดโมแครตเหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ประเทศมันแตกต่างกันมากด้วย ในยุคคลินตัน (ปี 1993-2001) สถานการณ์เศรษฐกิจดี ประชาชนมีความสุข แต่ในช่วง 4 ปีของโอบามา (ปี 2008-2012) เศรษฐกิจแย่ คนตกงาน บริบทมันต่างกันมาก จึงไม่มีทางที่โอบามาจะเป็นเหมือนคลินตันได้ อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ในตัวโอบามาคือเป็นคนฉลาด เป็นคนทำงานหนัก รักครอบครัว จะเห็นว่าเขาใกล้ชิดภริยาและลูกสาว 2 คนมาก ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ชื่นชอบโอบามาจากสิ่งเหล่านี้”
แล้วความเหมือนระหว่าง “คลินตัน” กับ “โอบามา” คืออะไร?
“ในความคิดผม ทั้งคู่มีนโยบายที่เหมือนกัน เช่น พยายามผลักดันนโยบายด้านการประกันสุขภาพ และทั้งคู่มีพื้นเพครอบครัวคล้ายคลึงกัน เพราะเติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน และตอนนี้เขาเป็นเดโมแครตที่ได้เป็นประธานาธิบดี 2 สมัยเหมือนกัน โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าเรื่องในอดีตหรือเรื่องเล่าหลังฉากจะเป็นอย่างไร แต่เวลาประธานาธิบดีอยู่หน้าฉาก พวกเขาต้องแสดงความมั่นใจว่าสามารถจัดการได้ดีกว่า ต้องแสดงให้เห็นว่าไม่กลัว เพื่อให้คนประทับใจ พวกเขาต้องการโชว์ว่าอะไรคือปัญหา และจะแก้มันได้อย่างไร”
และเพราะการเข้าฉากร่วมกันระหว่าง “ผู้นำคนที่ 42 และ 44 ของสหรัฐฯ” บนเวทีการเมืองนี่เอง ที่นำไปสู่ชัยชนะของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน และส่ง “โอบามา” หวนคืนทำเนียบขาวอีกครั้ง
“เอ็ดเวิร์ด” ชี้ว่า ปรากฏการณ์ “พี่ช่วยน้อง” หาใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของ “พรรคสีฟ้า” ไม่ เพราะในอดีตประธานาธิบดีสังกัดพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่มักเสียชีวิตก่อนมีโอกาสเห็นความสำเร็จของคนการเมืองร่วมพรรค ขณะที่บางรายที่ยังอยู่ก็เลือกหายใจแบบเงียบๆ หรือไม่ก็เคลื่อนไหวในนามส่วนตน ไม่อิงกับพรรค
ไม่มีใครออกโรงทำหน้าที่ “ป๋าดัน” เดินสายปราศรัยราว 30 เวที เพื่อช่วย “น้องร่วมค่าย” อย่างที่ “คลินตัน” ทำให้ “โอบามา”
“ผมคิดว่าหลายปีที่ผ่านมา โอบามากับคลินตันมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกันมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะโอบามาต้องเผชิญสถานการณ์ไม่ต่างจากคลินตัน เช่น เขาทั้งคู่ต้องทำงานหนักในช่วง 2 ปีแรกเพื่อพิสูจน์อะไรหลายอย่าง และในการเลือกตั้งกลางเทอม สถานการณ์ก็เลวร้ายลง เมื่อพรรคเดโมแครตเสียที่นั่งในสภาไปมาก โอบามาจึงพยายามเรียนรู้ว่าคลินตันทำอย่างไรเพื่อผ่านจุดย่ำแย่นั้นไปได้ หลายครั้งพวกเขาไปคุยกันเพื่อหาไอเดีย และทำให้เกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ”
ถ้าเช่นนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกหาก “โอบามา” จะตอบแทนบุคคลที่เขาเคยยกให้เป็น “เพื่อนที่ยอดเยี่ยม” ด้วยการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของสหรัฐฯ ประจำกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ตามที่สื่อบางสำนักเสนอข่าว?
“จริงหรือ ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย” เขาเบิกตา ทำท่าประหลาดใจแบบสุดๆ ก่อนพูดต่อว่า “ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการตั้งอดีตประธานาธิบดีไปเป็นทูตนี่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน ในอดีตเรามีอดีตประธานาธิบดีที่ไปเป็นผู้พิพากษาในศาลสูงของสหรัฐฯ (Supreme Court) หลังพ้นตำแหน่ง มี “จอห์น ควินซี แอดัมส์” ประธานาธิบดีคนที่ 6 กลับไปทำหน้าที่ ส.ส. หลังพ้นวาระ แต่นั่นเป็นเวลาที่นานมาแล้ว ข่าวที่ออกมานี้จึงทำให้ผมแปลกใจมากๆ”
ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับครอบครัว “คลินตัน” หรือไม่?
“ในการเป็นทูตหรือ ผมคิดว่าการเป็นทูตไอร์แลนดเป็นทางเลือกที่ดีนะ เพราะคลินตันมีบทบาทสำคัญและประสบความความสำเร็จในการสร้างสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี 1998 อีกทั้งปัจจุบันเรามีไอริชอเมริกันเยอะมากในนิวยอร์กและบอสตัน”
เป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักในการผลักดันศรีภริยาอย่าง “ฮิลลารี คลินตัน” รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 หรือไม่?
“ผมไม่คิดว่านี่จะเป็นยุทธศาสตร์การเมืองล้วนๆ นะ ตอนนี้ฮิลลารีอายุ 65 ปีแล้ว แต่ถ้าเธอต้องการเป็นประธานาธิบดีก็อาจเป็นได้ เพราะโรนัลด์ เรแกน ก็เป็นประธานาธิบดีตอนอายุ 70 ปี ซึ่งฮิลลารีก็มีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณะ มีผลงานจับต้องได้ การที่เธอถอยออกจากเทอมที่ 2 ของรัฐบาลโอบามาก็สามารถคิดได้ว่าจะทำอะไรต่อ แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีเธอคนเดียวที่จะเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีที่เข้มแข็งในนามพรรคเดโมแครต ยังมีคนอื่นๆ อีก”
“ในประวัติศาสตร์ชาติ เราเคยมีประธานาธิบดีพ่อ-ลูกมาแล้ว เช่น ครอบครัวบุช ครอบครัวแอดัมส์ แต่ไม่เคยมีประธานาธิบดีสามี-ภริยา ไม่เคยมีประธานาธิบดีหญิงมาก่อน ก็คงเหมือนประเทศไทยที่เพิ่งมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก เธออาจจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่”
หาก “คลินตัน” ต้องการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอเมริกัน พวกเขาต้องทำอะไรใน 4 ปีหลังจากนี้?
“ผมไม่รู้ว่าเธอกำลังจะทำอะไรในช่วง 4 ปีนี้ แต่ฮิลลารีต้องวางตนอยู่ในสถานะที่น่าสนใจ ซึ่งคิดว่าเธอไม่ต้องการมีตำแหน่งในรัฐบาลโอบามา 2 แต่เธอจะไม่หยุดเป็นนักเคลื่อนไหวไม่ว่าในเรื่องใดๆ”
เหล่านี้เป็นมุมคิดจาก “เอ็ดเวิร์ด เกรซเซอร์” บุคคลที่เคยเห็น “คลินตัน” ในมุมอันซีน ล่วงรู้เคล็ดลับการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ จากการทำหน้าที่ “ปากกา” ให้ผู้นำสหรัฐ!!!