ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (3)

ประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (3)

5 กันยายน 2012


ภาวิน ศิริประภานุกูล

นโยบายภาษีพรรคเพื่อไทย ที่มาภาพ : http://sphotos-b.xx.fbcdn.net/
ที่มาภาพ : http://sphotos-b.xx.fbcdn.net/

ผมขอกลับมาชวนท่านผู้อ่านพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยอีกครั้งครับ โดยประเด็นหลักในครั้งก่อนๆ ของเราจะอยู่ที่การปรับโครงสร้าง “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย

เราจะพอมองเห็นได้ครับ ว่าองค์ประกอบทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เงินลดหย่อน” ในโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยมีลักษณะที่อาจจะขัดแย้งกับหลักการที่ควรจะเป็นของระบบภาษีอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเห็นว่าการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นหน้าที่หลักอันพึงกระทำประการหนึ่งของรัฐบาล เงินลดหย่อนหลายๆ ประเภทดูแล้วจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคมไทยครับ

ประเด็นที่น่าสนใจในการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังไม่จบอยู่เพียงแค่การปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายและเงินลดหย่อนเพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นแวดล้อมหลายๆ อย่างที่ยังคงเหลืออยู่ โดยเราจะหยิบยกบางประเด็นมาพูดคุยกันในวันนี้ครับ

ผู้มีเงินได้นอกระบบ

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็คือ เราเป็นประเทศที่มีภาคเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ โดยผู้มีเงินได้ในกลุ่มนี้จะไม่มีเอกสารใดๆ ยืนยันการได้รับเงินได้ดังกล่าว ซึ่งทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคนในกลุ่มนี้จะต้องพึ่งพาการรายงานเงินได้โดยสมัครใจแต่เพียงอย่างเดียว

ประเด็นนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้สถิติการยื่นแบบภาษีของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำครับ โดยจากข้อมูลในงานวิจัยของ ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร เศรษฐกร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในปี 2553 ประเทศไทยมีแรงงานในระบบประกันสังคมราว 38 ล้านคน แต่มีผู้มายื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 เพื่อเสียภาษีอยู่แค่เพียงราว 9.5 ล้านราย โดยที่บางรายอาจเป็นการยื่นแบบร่วมกันของสามี-ภรรยา ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่ามีคนยื่นแบบเพื่อเสียภาษีอยู่ราว 10 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 26 ของแรงงานในระบบประกันสังคม และมีผู้ที่ต้องเสียภาษีจริงอยู่ที่ราว 2.7 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 14 ของแรงงานในระบบประกันสังคมเท่านั้น ยังไม่นับรวมแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม

เป็นไปได้ครับว่า แรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบกลุ่มใหญ่ อาจเป็นกลุ่มแรงงานรากหญ้าที่มีเงินได้ในระดับต่ำ ซึ่งในกรณีนี้พวกเขาก็จะไม่มีภาระในการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ประการใด การยื่นแบบจะยิ่งทำให้เกิดต้นทุนในการประมวลผลของทางเจ้าหน้าที่รัฐไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ผมมีความเชื่อส่วนตัวครับว่า ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ เพื่อกันคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีประเภทอื่นๆ ได้

ความไม่เท่าเทียมกันของประเภทเงินได้

เงินได้พึงประเมินตามระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย แบ่งออกได้เป็น 8 ประเภท ครับ ได้แก่ 1) เงินได้จากการรับจ้างทำงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส 2) เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ 3) เงินได้จากสิทธิต่างๆ 4) เงินได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล 5) เงินได้จากค่าเช่า 6) เงินได้จากการประกอบอาชีพอิสระ 7) เงินได้จากการรับเหมา และ 8) เงินได้จากการประกอบธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง และอื่นๆ

โดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเงินได้ประเภทที่ 1 เป็นหลักครับ และเงินได้ประเภทนี้เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่มีข้อยกเว้น ในขณะที่จริงๆ แล้วมีเงินได้ประเภทอื่นๆ ที่ดูแล้วจะมีความแตกต่างจากเงินได้ประเภทที่ 1 อยู่พอสมควรครับ

ยกตัวอย่างเช่น เงินได้ประเภทที่ 6 – 8 นั้น เป็นเงินได้ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลบออกไปได้ เพื่อให้กลายเป็นเงินได้สุทธิที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ได้รับจริงๆ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในหลายๆ กรณีนั้นจะมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายเหมาจ่าย เช่น ในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการขนส่ง การพาณิชย์ การอุตสาหกรรมบางประเภท สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 80 ของส่วนหนึ่งของรายได้ ในขณะที่ผู้ที่มีเงินได้ประเภทที่ 1 จริงๆ แล้วก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำความสะอาดเครื่องแบบ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการทำงาน ฯลฯ เช่นเดียวกัน แต่กลับสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพียงร้อยละ 40 และหักได้สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท

เงินได้ประเภทที่ 4 เป็นเงินได้ที่มีข้อยกเว้นอยู่ประการหนึ่งครับ พวกเราส่วนใหญ่รู้ว่าดอกเบี้ยเงินฝากจากบัญชีเงินฝากประจำจะโดนหักภาษีร้อยละ 15 แต่มักจะไม่รู้ว่ากฎหมายมีการกำหนดให้ภายหลังจากการหักภาษีดังกล่าวแล้ว ผู้มีเงินได้จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำไปคำนวณรวมกับเงินได้ประเภทอื่นๆ ในการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เห็นได้ชัดครับว่าผู้ที่มีเงินได้ในระดับสูงจะเป็นผู้ได้เปรียบจากข้อกำหนดดังกล่าว เนื่องจากถ้าหากมีการนำเงินได้จากดอกเบี้ยไปคำนวณรวมกับเงินได้ประเภทอื่นๆ แล้ว พวกเขาจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงเกินกว่าร้อยละ 15

เงินได้ประเภทที่ 4 อีกอันหนึ่ง คือ เงินปันผล ซึ่งมีข้อกำหนดตามกฎหมายในลักษณะใกล้เคียงกันกับดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝาก เพียงแต่ว่าเงินปันผลจะผ่านการเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาก่อนหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม มีเงินปันผลประเภทหนึ่งซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีโดยสมบูรณ์ นั่นคือ เงินปันผลที่จ่ายจากบริษัทที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งไม่ว่าผู้มีเงินได้จะมีเงินได้มากมายในระดับใดก็ตาม ก็ไม่ต้องเสียภาษีจากเงินปันผลดังกล่าวแม้แต่บาทเดียว

เงินได้ในลักษณะผลได้จากทุน (Capital gain tax) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของกำไรจากการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นเงินได้อีกประเภทหนึ่งซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยสมบูรณ์ นั่นคือ ผู้ที่ได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นไม่จำเป็นจะต้องนำกำไรดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีครับ ในขณะที่เงินรางวัลจากการชิงโชค หรือแม้แต่รางวัลจากการถูกลอตเตอรี่นั้น ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ

ความเชื่อมโยงของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับภาษีประเภทอื่นๆ

ผู้ที่มีเงินได้ในระดับสูง มีโอกาสในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอีกบางลักษณะครับ ยกตัวอย่างเช่น การจัดตั้งคณะบุคคล โดยมีข้อกำหนดตามกฎหมายว่าเงินได้หรือส่วนแบ่งกำไรจากคณะบุคคลที่ผ่านการชำระภาษีมาแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องนำมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีซ้ำอีก ในขณะที่เงินได้ของคณะบุคคลนี้จะถูกคำนวณแยกออกจากเงินได้ของหุ้นส่วนในการจัดตั้งคณะบุคคลดังกล่าวครับ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากผู้มีเงินได้คนหนึ่งมีเงินได้ในระดับสูงจนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 30 แล้ว อาจสามารถจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมา และให้มีการโอนเงินรายได้บางส่วนเข้าสู่คณะบุคคลดังกล่าว การทำเช่นนี้จะทำให้เงินได้ส่วนที่โอนเข้าสู่คณะบุคคลไม่ถูกคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 30 แต่มีการตั้งต้นคำนวณใหม่คล้ายๆ กับเป็นภาษีของผู้มีเงินได้อีกคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนครับว่าจะเสียภาษีในอัตราน้อยกว่าร้อยละ 30

ภาษีเงินได้นิติบุคคลในระดับที่ต่ำ เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการโอนย้ายรายได้ของผู้มีเงินได้ในระดับสูงได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมีความแตกต่างจากอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในชั้นสูงๆ โดยในกรณีที่ผู้มีเงินได้ในระดับสูงจนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 37 อาจจัดตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อโอนย้ายรายได้บางส่วนเข้าสู่บริษัทได้ เงินปันผลจากบริษัทดังกล่าวจะมีภาระภาษีเพิ่มเติมอีกร้อยละ 10 และจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ ของผู้มีเงินได้คนดังกล่าว นอกจากนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลยังเป็นภาษีที่หักค่าใช้จ่ายหลายๆ ประการออกไปได้ ซึ่งทำให้เจ้าของบริษัทสามารถนำเอาค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีได้อีกด้วยครับ

และแน่นอนว่า ยิ่งถ้าหากผู้มีเงินได้ในระดับสูง สามารถจัดตั้งกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้แล้ว ยิ่งจะทำให้ภาระภาษีของผู้มีเงินได้คนดังกล่าวลดลงเป็นอย่างมาก โดยเขาสามารถโอนย้ายรายได้บางส่วนเข้าสู่บริษัท และกำหนดให้บริษัทจ่ายเงินปันผลออกมา เงินปันผลดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ครับ

จะเห็นได้ว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะกระทำแยกส่วนออกจากโครงสร้างภาษีรูปแบบอื่นๆ ไปไม่ได้ โดยการปฏิรูปโครงสร้างดังกล่าวจะต้องกระทำไปพร้อมๆ กับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสมอีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงจะมีรายละเอียดในการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่อีกบางส่วนครับ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าผมได้ชวนท่านผู้อ่านพูดคุยถึงประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปหมดแล้ว

แน่นอนครับว่า ท่านผู้อ่านอาจมีความเห็นคล้อยตามหรือแตกต่างจากผมบ้างในบางประเด็น แต่ความตั้งใจหลักของผมอยู่ที่การนำเสนอประเด็นเหล่านี้เพื่อการถกเถียงกันต่อไปในอนาคตครับ ไม่ใช่การหาแนวร่วมหรือการผูกขาดความคิดเห็น

สุดท้ายนี้ผมขอย้ำว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเครื่องมือที่สำคัญอันหนึ่งของรัฐบาลในการทำหน้าที่อันพึงกระทำ โดยผมคิดว่าหน้าที่อันพึงกระทำที่สำคัญอันหนึ่งของรัฐบาลคือการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม และเครื่องมือภาษีนี้สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งครับ ถ้าหากมันถูกออกแบบเอาไว้อย่างเหมาะสม