ThaiPublica > คนในข่าว > “พิชัย นริพทะพันธุ์” หนุนปัดฝุ่นเอ็มโอยู 44 เปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หวังเป็นแหล่งพลังงานในอนาคต

“พิชัย นริพทะพันธุ์” หนุนปัดฝุ่นเอ็มโอยู 44 เปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หวังเป็นแหล่งพลังงานในอนาคต

18 กรกฎาคม 2012


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“ความหวังของเราจริงๆ คือพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา … สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ของประเทศเราต้องทำ ใครจะด่าอะไรเราก็ถือว่า เฮ้ย อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น ตามกราฟการผลิตของไทยแหล่งที่ให้พลังงานก็เริ่มลดลง อย่างก๊าซแอลเอ็นจี ราคามันแพงกว่าก๊าซที่เราขุดได้เป็นเท่านะครับ ถามว่าอีกหน่อย ถ้าเราจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่งนี่ คนที่ไม่รักประเทศกัมพูชาอาจจะเริ่มรักกัมพูชาแล้ว”

หลังจากที่กระทรวงพลังงานเปิดประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมครั้งใหม่ ในรอบที่ 21 ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเกิดกระแสต้านทันที

ด้วยเหตุผลที่ว่าการให้สัมปทานปิโตรเลียมแหล่งใหม่ของไทยยังยึดรูปแบบ “ไทยแลนด์ทรี” หรือการเก็บค่าภาคหลวงแบบขั้นบันไดระหว่าง 5-15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็น “ปัจจัย” สำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนที่ประเทศไทยได้รับน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่บริษัทผู้ได้รับสัมปทานกลับทำกำไรจากแหล่งปิโตรเลียมของไทยได้อย่างมหาศาล

กระทั่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. เป็นประธานหยิบยก “ปมร้อน” เข้าสู่การพิจารณา

“พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดห้องทำงานที่พรรคเพื่อไทย ไขข้อข้องใจในเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้

ไทยพับลิก้า : การกำหนดค่าภาคหลวงมีที่มาจากอะไร

ในอดีตเรายังหาแหล่งพลังงานไม่ได้ สมัยนั้นมีคุณฺพอล สิทธิอำนวย (นายพร สิทธิอำนวย อดีตผู้บริหารกลุ่มธุรกิจในเครือกลุ่มพีเอสเอ) ไปทำธุรกิจเรื่องนี้ก็ไปขุดเจาะแก๊ส พระก็บอกเห็นแก๊สเต็มไปหมดเลย แต่เวลาเจาะลงไปไม่มี ก็เลยกลายเป็นว่าคุณพอลล้มละลายหนีออกไป เพราะการลงทุนมันเยอะเป็นร้อยเป็นพันล้าน

ต่อมาเราก็เพิ่งขุดเจอใหม่ๆ ตอนนั้นเหมือนกับว่าเราไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี เราเองก็ยังไม่มั่นใจว่าทำแล้วมีหรือไม่มี เทคโนโลยีของเราก็ยังไม่มี สมัยนั้น ปตท. ก็ยังไม่เกิด การที่จะให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนเราจะไปเสนอการเก็บค่าภาคหลวงแพงๆ ก็ไม่ได้ อันนี้ก็มีการกำหนดว่า ถ้าคุณมาขุดเจอแล้วก็จะมีการเก็บ แต่การเก็บก็ไม่ได้น้อยเกินไปนะ ช่วงการเก็บรายได้ของเราอยู่กลางๆ ไม่ได้น้อยสุดหรือมากสุด พอเราขุดได้ก็มีสัญญากันอยู่

จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันควรจะพูดตั้งนานแล้ว ไม่ควรที่จะมาพูดตอนนี้ เพราะตอนนี้มันก็เลยมาแล้ว ช่วงที่สัมปทานหมดคือช่วงที่ควรจะมีการต่อรองให้มีการเพิ่มผลตอบแทนมากขึ้น แต่ไม่ได้มีการทำ ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็น รมว.พลังงาน

แต่ถ้าเกิดมีการฟลุ๊กเจอหลุมใหญ่ ปริมาณแก๊สเยอะ ในความคิดผมน่าจะมีการพิจารณาการเก็บค่าภาคหลวง และค่าตอบแทนทั้งหมดตามปริมาณแก๊สที่ขุดพบมากกว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย พวกขุดน้อยเจอน้อยอัตราหนึ่ง ขุดมากเจอมากอีกอัตราหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : ให้มีการเก็บตามปริมาณแก๊สที่ได้

ต้องเข้าใจว่าลักษณะแหล่งแก๊สของไทยกับของต่างประเทศมีลักษณะต่างกัน ของเขาเป็นหลุมขนาดใหญ่เบ้อเริ่ม เจาะทีเดียวก็ได้เลย ต้นทุนก็ถูก แต่ของเราเป็นหลุมเล็กๆ เหมือนลูกบอลเต็มไปหมด อยู่แบบกระจายๆ ค่าใช้จ่ายเลยแพง ฉะนั้นเราต้องมาพิจารณาให้ดี สมัยก่อนเรามีหลุมใหญ่ๆ แต่ก็ใช้จนแก๊สเกือบหมดแล้ว ทีนี้ก็เหลือแต่หลุมเล็กๆ แล้ว จะไปเก็บค่าตอบแทนสูงก็จะไม่มีใครขุด จะเป็นปัญหาว่าอีกหน่อยถ้าแก๊สไม่พอจะทำอย่างไร

จริงๆ แล้วประเด็นของผมและของกระทรวงพลังงานที่เรามีการคุยกัน มันควรจะมีความยืดหยุ่น ถ้าเป็นบ่อใหญ่คุณก็เก็บค่าผลตอบแทนเยอะ ขณะเดียวกันถ้าเป็นบ่อเล็ก หลุมเล็ก ก็เก็บค่าตอบแทนน้อยหน่อยเพื่อให้สามารถเอาแก๊สขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่า โอ้โห ใหญ่เล็กไม่ต่างกัน พอเป็นหลุมเล็กใครจะอยากไปเสี่ยง ถ้าไปทำแล้วไม่คุ้มที่จะต้องจ่ายตอบแทนเยอะ แต่ถ้าเกิดว่าเรามีการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนหลุมเล็กให้เหมาะสมก็จะมีคนกล้าเสี่ยงมาก

ผลตอบแทนในปัจจุบันที่เราได้มันเหมือนกับสูงสุดแล้ว (ตามแผนภูมิ A ด้านล่าง) คือในระยะปัจจุบัน ช่วง 2556-2557 เป็นช่วงที่ปริมาณแก๊สมากที่สุด ทำให้ได้ผลตอบแทนที่เยอะ เพราะมีการตอบแทนเป็น 3 ส่วน คือ มีค่าภาคหลวง เปอร์เซ็นต์จากบริษัท และรายได้พิเศษจากการคำนวณแหล่งใหญ่แหล่งเล็ก และจะมีผลประกอบการ 50 เปอร์เซ็นต์จากผลกำไร ซึ่งเป็นอัตราภาษีพิเศษ เราก็ได้เยอะนะ ปีที่ผ่านมาได้เยอะสุดเลย 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อนกว่า 2.6 หมื่นล้าน ตัวเลขนี้อีก 1-2 ปีจะอยู่ในระดับนี้ แต่หลังจากปี 2557 แล้ว ก็จะเริ่มลดลง

ดังนั้นทางออกคือ เราต้องให้สัมปทานในการขุดเจาะเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะหาแหล่งเพิ่มขึ้น หรือเราต้องหาแหล่งใหญ่ๆ เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาว่าเราจะต้องเข้าไปดูในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งผมยืนยันว่ายังไงก็ต้องมี และเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างแท้จริง ถ้าเราไม่มีแหล่งใหม่พลังงานเราจะไม่พอใช้ ปัจจุบันแม้เราจะขุดได้เองแต่เราต้องนำเข้าอีก 30 เปอร์เซ็นต์นะ มาจากพม่าบ้าง ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลย์

เรื่องพลังงานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประเทศนี้อย่าเอาเรื่องพลังงานมาเล่นกับการเมือง เพราะความเสียหายมันมากกว่าความจริง ต้องขอเรียกร้องทุกฝ่ายเลย ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านทั้งหมดให้หยุด คือประเทศที่เจริญแล้วทั้งยุโรปและอเมริกา เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่เขาเข้าใจ ประเทศที่มีการศึกษาจะรู้ว่าพลังงานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทุกคนอยากใช้พลังงานที่ถูกแต่ถูกแล้วก็ไม่ดี เพราะเวลาพลังงานถูกก็จะไม่มีการประหยัด จะใช้กันแบบฟุ่มเฟือย สุดท้ายแล้วเหมือนกับไปโกงลูกหลาน ถ้าคุณใช้ตอนนี้ถูกอีกหน่อยลูกหลานก็ไม่มีใช่ไหมครับ

ในความคิดผม เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเราต้องหาแหล่งน้ำมันในอนาคต เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยให้ความสนใจกันมากนัก ซื้อมาขายไป และเชื่อว่ามันจะมีตลอด ซึ่งมันไม่มีตลอดหรอก อนาคตมันจะแพงขึ้นอีกเรื่อยๆ ใช่ไหม ถ้าเราไม่รู้จักค้นหาคิดหาไว้เพื่ออนาคตก็จะมีปัญหา การสำรองไม่ใช่น้ำมันอย่างเดียวนะ แต่หมายถึงแก๊ส ไฟฟ้าด้วย จะทำอย่างไรที่จะทำให้มีความเพียงพอในอนาคต แต่ความเป็นจริง ผมไม่ได้เข้าข้างบริษัทน้ำมันนะ แต่บริษัทน้ำมันของไทยต้องมีความแข็งแรง ถ้าไม่มีความแข็งแรงก็จะไม่มีกำลังเพียงพอที่จะไปซื้อหาแหล่งพลังงานในโลกที่จะสะสมไว้ ขณะเดียวกันไม่อยากให้รู้สึกว่าบริษัทน้ำมันเอาเงินไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก ต้องระวังเหมือนกัน ว่าเอากำไรไปแสวงหาผลประโยชน์กันข้างนอก ซึ่งมันก็ต้องหาจุดสมดุลให้ดี

ไทยพับลิก้า : ในประเทศเองมีแหล่งพลังงานธรรมชาติเยอะหรือไม่

เอ่อ ของประเทศไทยเองมีไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นแก๊สเยอะ ซึ่งเราเองก็เหลืออยู่ไม่เยอะ ความหวังของเราจริงๆ คือพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ได้ประโยชน์เยอะมาก จริงๆ ผมจุดประเด็นขึ้นมาเพราะเขาไม่อยากจะคุยกัน แต่ผมบอกว่าเรื่องนี้นี่ยังไงประเทศก็จะได้ประโยชน์ ถ้าไม่พูดมันเหมือนจะไปกลัวนั่นกลัวนี่ ประโยชน์ของประเทศก็จะไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ของประเทศเราต้องทำ ใครจะด่าอะไรเราก็ถือว่า เฮ้ย อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น ตามกราฟการผลิตของไทยนี่แหล่งที่ให้พลังงานก็เริ่มลดลง อย่างก๊าซแอลเอ็นจี ราคามันแพงกว่าก๊าซที่เราขุดได้เป็นเท่านะครับ ถามว่าอีกหน่อย ถ้าเราจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่ง คนที่ไม่รักประเทศกัมพูชาอาจจะเริ่มรักกัมพูชาแล้ว (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามีแหล่งก๊าซมากขนาดไหน

เชื่อได้ว่าปริมาณที่เราจะขุดได้จากตรงนี้จะได้เยอะมาก และพอที่จะใช้ไปอีก 30-40 ปี คืออย่างนี้ แก๊สธรรมชาตินี่ เวลาเราขุดขึ้นมา มันไม่สามารถที่จะเอาไปใช้เลย นอกจากจะเป็นแอลเอ็นจี ซึ่งแอลเอ็นจีก็จะลงทุนอีกเยอะ ส่วนมากเวลาขุดขึ้นมาจะใช้ในบริเวณใกล้เคียง ทีนี้ประชากรของกัมพูชามีแค่ 10 กว่าล้านคน แต่ของเรามี 60 กว่าล้านคน ยังไงเราก็ได้ประโยชน์มากกว่า เพราะเราจะได้ใช้มากกว่าในราคาที่ถูกกว่า

นอกจากนี้แก๊สในอ่าวไทยมีส่วนผสมที่แยกออกมาทำปิโตรเคมิคอลได้ อย่างแก๊สของพม่าไม่มีนะ เป็นแก๊สเปล่าๆ ที่เอามาเผาทำไฟฟ้าหรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์อย่างเดียว แต่แก๊สในอ่าวไทยมีคุณสมบัติพิเศษ เขาเรียกว่า Wet gas เป็นแก๊สเปียกที่สามารถแยกส่วนผสมออกมาเป็นปิโตรเคมิคอล เม็ดพลาสติกอะไรอย่างนี้ ซึ่งธุรกิจต่อเนื่องจะให้ผลตอบแทน 6-20 เท่า จริงๆ แล้วผลตอบแทนไม่ได้อยู่ที่เนื้อแก๊สนะ แต่อยู่ที่ผลผลิตที่จะตามมา

ไทยพับลิก้า : เนื้อแก๊สของไทยมีคุณภาพดี

ใช่ จากข้อมูลที่ได้รับในส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จะมีปริมาณแก๊สมากกว่าหรือเท่ากับปริมาณแก๊สเดิมที่เรามาอยู่ในอ่าวไทยเลย เราใช้มานานหลายปี ซึ่งอันนี้จะเป็นอนาคตของเรา กัมพูชาเองเขาไม่มีโรงแยกแก๊ส และปิโตรเคมิคอลของเราก็ติดอันดับโลก ของเราติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก กว่าเราจะทำมาได้ขนาดนี้ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ไม่ใช่เพิ่งจะมี

ฉะนั้นการที่ขุดแก๊สมาเราก็จะได้ประโยชน์ เพราะกว่ากัมพูชาเขาจะสร้าง ถ้าเราไม่สามารถขุดแก๊สขึ้นมาได้และแก๊สเราหมดไปเรื่อยๆ อนาคตของธุรกิจปิโตรเคมิคอลที่เป็นแสนล้านเป็นล้านล้านก็จะหายไป อันนี้คือความเป็นจริง

ไทยพับลิก้า : อีกมุมหนึ่ง การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนถูกมองว่ามีผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแอบแฝงอยู่

อันนี้ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นไง คือ จริงๆ แล้วประโยชน์ที่จะได้รับคือเนื่องจากสัมปทาน แต่เดิมเราให้ไปแล้ว ให้ยูโนแคล ปัจจุบันเป็นบริษัทเชฟรอน ก่อนที่จะมี ปตท. อีก จริงๆ แล้วถ้าสามารถที่จะเจรจาได้ ให้บริษัทแก๊สของคนไทยเข้าไปมีส่วน ซึ่งก็คือ ปตท. ผมเองส่วนตัวแล้วยังมองไม่เห็นว่าจะมีผลประโยชน์อย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก การสัมปทานเรื่องนี้ต้องโปร่งใสหมด ผมมองดูว่าเรื่องนี้ถ้าเราคิดอย่างนี้ประเทศก็ไม่เจริญนะ ถามว่าใครได้ประโยชน์ ไม่มีใครได้ประโยชน์เลยนะ

ไทยพับลิก้า : ในภาพรวมของประเทศไทยจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์หรือไม่

ไม่ใช่ แก๊สออกมาประโยชน์คนไทย 65 ล้านคนมากกว่ากัมพูชาแล้ว เรามีโรงแยกแก๊ส 6 โรง เรามีปิโตรเคมิคอลพร้อมหมดแล้วที่จะผลิต แล้วกัมพูชามีอะไร ไม่มี (หัวเราะ) กว่าเขาจะเริ่มต้นใช้เวลากี่ปี กว่าเราจะมาถึงวันนี้ใช้เวลา 20 ปี แล้วคุณว่ากัมพูชาจะมีสตางค์สร้างได้ขนาดนี้หรือ แล้ว Value Added จากแก๊สเนี่ย 6-20 เท่ามันอยู่กับเรานะ ใช่ไหม คนที่พูดว่ากัมพูชาจะได้ประโยชน์มากกว่าจะได้มากกว่าได้อย่างไร และตอนนี้มีการแบ่งโซน 3 โซนในพื้นที่ทับซ้อน ถ้ามีการเจรจากันจะแบ่งผลตอบแทนเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าอย่างไรไทยมีโอกาสได้มากกว่า

จริงๆ ในฐานะที่ผมเป็นพ่อค้านะ ผมคิดว่าถ้าเราไปซื้อเขาใช้ทั้งหมดเรายังกำไรเลย เพราะมันถูกกว่า เราก็เอามาทำอย่างอื่นได้ แต่อันนี้สมมุตินะ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่การแบ่งคงจะแบ่งด้วยความยุติธรรม คงอยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะเจรจาในช่วงไหน ซึ่งเราเองเราก็มีการแบ่งเป็น 3 โซนคือ พื้นที่ตรงกลางระหว่างไทย-กัมพูชา ถ้าขุดเจอก๊าซก็แบ่งกันคนละครึ่ง แต่ถ้าพื้นที่ที่ใกล้ประเทศใดก็จะแบ่งมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ ส่วนที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมีปริมาณมากกว่าซึ่งเราเองก็น่าจะได้สัดส่วนที่มากว่า แต่จะลงที่ตัวเลขเท่าไหร่ผมว่ามันไม่สำคัญมากนัก สมมุติว่า 6 เหรียญ จะบอกว่าคุณ 3 เหรียญ ผม 3 เหรียญ เอามาแบ่งครึ่งก็โอเค อันนี้เป็นส่วนที่เราต้องไปนั่งคุยกันว่าเราจะอย่างไร แต่ความจริง 3 เหรียญ เราเอาไปทำเป็น 70 เหรียญ 100 เหรียญได้ ไอ้ส่วนเกินนี่อยู่กับเรานะ (ยิ้ม) คือต้องคิดให้ฉลาด

ถ้าตกลงกันตอนนี้ ต้องใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 10 ปีนะกว่าที่จะขุดขึ้นมาได้ ถามว่าอีก 10 ปีนี่รัฐบาลอะไร ผลประโยชน์ใครได้อะไร มันไม่ใช่แล้วนะ ตอนนั้นคือประโยชน์ของประเทศชาตินะ ตอนนั้นเพื่อไทยจะอยู่หรือประชาธิปัตย์อยู่ คิดให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราทำนี่เพื่อลูกหลานเราต่อไป ไม่ได้เพื่อคนอื่น อย่างไทย-มาเลเซีย ใช้เวลา 28 ปีนะกว่าจะได้แก๊สแรกออกมา

ผมว่านะ ถ้าไม่เอาความจริงมาคุยกัน พูดแต่เรื่องการเมืองอย่างเดียว ประเทศมันเดินไม่ได้ 5-6 ปีมานี้ ไม่ใช่เพราะการเมืองหรือ ประเทศเราหยุดนิ่งทั้งที่ประเทศเราน่าจะเจริญกว่านี้ ก็อยากให้คิดว่ามันควรต้องเอาการเมืองออกไปบ้างแล้ว เอาความจริงมา คุณอย่าพูดไปเรื่อยว่าทับซ้อนอย่างนี้ ต้องบอกว่าจะให้มีระบบอะไรที่จะไม่ให้ทับซ้อน ความจริงก็คือว่ามันต้องขุดมาให้ได้ เพราะว่าประเทศจะได้เดิน ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับว่าบ้านคุณมีสมบัติอยู่มาก แต่ไม่อยากให้ใครใช้เพราะกลัวพี่น้องจะแบ่งสมบัติกันไม่ลงตัว ทุกคนเลยอดตาย อยู่กันอย่างยากลำบาก ถามว่าเป็นประโยชน์ไหม ถูกไหมครับ

ไทยพับลิก้า : ความเป็นไปได้ที่จะมีการพูดคุยกันในเร็วๆ นี้

เอ่อ ตอนนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่นะ มันก็เลยเป็นปัญหาอยู่ จริงๆ แล้วมี 2 ประเด็นที่จะต้องเจรจาเขตแดนอยู่ด้วย ในส่วนของทะเลก็จะมีเส้นที่ลากผ่านเกาะกูด คงต้องมานั่งเจรจากันเพื่อให้มันจบ อันที่ 2 เรื่อง เอ็มโอยู 2544 เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการเป็นระยะเวลาหนึ่งมานานแล้ว ใช่ไหม ต้องถามว่าถ้าจะยกเลิกเอ็มโอยู 2544 จะเจรจาอะไร อย่างไร อันนี้คือข้อเท็จจริง ถ้าบอกว่าไม่เอาเอ็มโอยู 44 แต่จะเอาอย่างที่เราต้องการ และเขาก็ไม่เอาด้วย แล้วการเจรจาจะจบไหม มันก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ต้องมาทำอะไรใหม่หมด อย่างนี้อีกกี่ชาติจะได้ทำ ถูกไหม ผมไม่อยากให้เป็นเรื่องการเมืองมากเกินไป

แม้กระทั่งราคาแก๊สน้ำมันก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่จำเป็นในเรื่องการขึ้นราคาแก๊สเอ็นจีวี สมัยแรกที่เราเริ่มใช้กัน 8.50 บาท ตอนนั้นราคาน้ำมัน 23-25 เหรียญต่อบาเรลนะ ตอนนี้ราคาน้ำมัน 100 เหรียญ แต่ราคาเอ็นจีวียัง 8.50 บาทอยู่ ถามว่ามันถูกต้องไหม การที่คุณใช้ถูกนี่ก็เหมือนคุณไม่ประหยัด ที่จริงประเทศเราน่าจะใช้เอ็นจีวีมากขึ้น เพราะเราหาเองได้ แต่ปัญหาคือหาเราขายไปขาดทุนไป คนขายก็ไม่อยากขาย กลายเป็นว่าเงินกองทุนน้ำมันก็ต้องเอาไปแบกให้กับคนใช้เอ็นจีวี

ฉะนั้น เมื่อได้ราคาที่เป็นธรรม ปตท. ก็ยินดีที่จะขยายการให้บริการ รถยนต์เราก็ต้องเพิ่ม ถ้าอยากให้คนใช้เอ็นจีวีเพิ่มมากขึ้น คือ ปัจจุบันนี่รถขนส่งมีถึง 7-8 แสนคัน แต่ใช้เอ็นจีวี 3-4 หมื่นคัน แค่นี้ ปตท. ก็ขาดทุน 1-2 หมื่นล้านแล้ว ถ้าเราไปทำให้ใบ้ 4-5 แสนคันไม่ขาดทุนเจ๊งไปเลยหรือ กำไรที่บอกมีเป็นแสนล้าน กลายเป็นปัญหาว่าเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ เพราะเดินหน้าไป ปตท. ก็ขาดทุนมากขึ้น แต่ถ้าเราขึ้นราคาก็ถูกต่อต้าน แต่สุดท้ายแล้วมันก็คงต้องขึ้น เพราะราคาที่มาเหมาะสม

ไทยพับลิก้า : ราคาต้นทุนจริงๆ 8.39 บาท

จริงๆ แล้วตอนนี้กำลังให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำอยู่ มีแก๊สออกมาเท่าไหร่ ค่าตั้งปั๊ม ค่ามาร์จิน ถ้าเป็นปั๊มแนวท่อจะถูกกว่าปั๊มนอกแนวท่อ เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ต่อขึ้นไปได้เลย ปั๊มนอกแนวท่อจะต้องขนส่งจากปั๊มแม่ไปปั๊มลูก ในส่วนของแต่ละปั๊มจะมีต้นทุนที่ต่างกัน แล้วแต่จุดของปั๊มที่มีอยู่ จริงๆ แล้วแนวท่อนี่ไม่ใช่ว่าเราจะไปทำแนวท่อเพื่อให้ทำปั๊ม ก็ไม่คุ้มอีก มันต้องมีโรงฟ้าและมีแนวท่อไปโรงไฟฟ้า เพื่อที่ว่าจะสามารถต่อจากแนวท่อได้ มันก็จะถูกกว่า จะได้ขยายตามแนวท่อได้เยอะ

ไทยพับลิก้า : ต้นทุนการผลิตก๊าซดูเหมือนจะสูงกว่าราคาของตลาดโลกที่อยู่ที่ 4 บาท

คืออย่างนี้ครับ อันนี้เป็นการเข้าใจผิด ปัจจุบันไปเทียบกับราคาของอเมริกา เฮนรี่ ฮับ มันเทียบไม่ได้ คือสมัยก่อนนี้ อเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้าแอลพีจีนะ ไม่กี่ปีมานี่เขาเพิ่งมาเจอเชลล์แก๊ส (Shale gas หินกาบ) ทำให้เปลี่ยนโครงสร้างเลยนะ อเมริกามีเชลล์แก๊สจำนวนมโหฬารเลย เชลล์แก๊สจะเป็นจุดที่ทำให้อเมริกาฟื้นกลับมา แต่ปัจจุบันนี่เนื่องจากอเมริกายังไม่ตัดสินใจว่าจะให้ส่งออกเชลล์แก๊สไหม ฉะนั้นมันก็เลยยังไม่มีการอนุมัติ แก๊สก็เลยมีล้นในประเทศ ราคาก็เลยถูก ถามว่าทำไมคุณไม่เทียบราคาแอลเอ็นจีกับตลาดโลกล่ะ

ไทยพับลิก้า : เกิดอะไรขึ้นกับการที่ กฟผ. ไปซื้อแก๊สจาก ปตท. แพงกว่าที่ ปตท. ขายให้กับบริษัทลูกหรือโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าของเอกชน

คือ ผมว่าโครงสร้างเรื่องการใช้ มันต้องมานั่งคุยกันว่าอะไรคือเหมาะสม แต่ละอันบางทีบริษัทในเครือมันก็มีกำไรของมันเอง ส่วนตัวผมว่าบางเรื่อง เช่น ปตท. ขายแอลพีจีให้กับบริษัทลูกในราคาที่ถูกเพื่อไปทำปิโตรเคมี คือมันมีการจ้างงาน มีโปรดักส์อื่นที่สามารถผลิตออกมาแล้วได้กำไรมากกว่าเยอะ ประเทศได้ประโยชน์มากกว่าเยอะ

ถ้าคุณบอกว่าไปขายให้กับบริษัทลูกแพงๆ มันก็ไม่เกิด ไม่สามารถที่จะเอาไปผลิตอย่างอื่นได้ มันก็ไม่เกิดการสร้างงาน ธุรกิจปิโตรเคมิคอลเรานี่มีเป็นแสนๆ ล้านแล้วนะ เราได้กำไรจากแก๊สจากส่วนผสมของแก๊ส บางทีเอาประเด็นๆ หนึ่งมาพลิ้วเป็นอีกเรื่องหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถามว่าราคาค่าไฟเราแพงไหม ไม่แพงนะ 3 บาทกว่านี่ ถ้าคุณย้ายไปเวียดนามคุณจ่ายค่าไฟเท่าไหร่ ของเวียดนามแพงกว่าของเราเป็นเท่านะครับ

ไทยพับลิก้า : ทำไม กฟผ. ถึงซื้อแก๊สแพงกว่าที่เอกชนซื้อจาก ปตท.

อันนี้…คุณต้องไปถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในปัจจุบัน อันนี้ผมไม่ทราบเหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า หลังจากเกิดปิโตรเคมีขึ้นมาทำให้แก๊สเราขาด

ก็ต้องถามว่าประโยชน์ของประเทศได้มากไหม ผมเองเป็นคนให้เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันบาทเดียว

ไทยพับลิก้า : เกิดการตีความว่ามันคือวัตถุดิบไม่ใช่เชื้อเพลิง เลยเก็บแค่บาทเดียว ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโดน 30 บาท

คืออย่างนี้ครับ ต้องเข้าใจนิดหนึ่ง อย่าไปมองว่าเวลาเราได้แก๊สมาก็จะมีการไปเข้าโรงแยกแก๊ส ถูกไหมครับ ต้องคิดว่า ปตท. นี่ ถ้ามองในแง่ของกระบวนการหนึ่ง เขาไปทำจนเป็นโปรดักส์ออกมา มีกำไร มีภาษีให้กับประชาชน เงินเข้าประเทศเท่าไหร่ ถูกไหมครับ แต่มาเทียบกับแอลพีจีที่ขายอยู่กับปัจจุบัน เรื่องนี้ต้องเอาประเทศเป็นหลัก ปัญหาที่ไม่ได้พูดถึงคือแอลพีจีปัจจุบัน ที่ใช้กับครัวเรือนนี่มันก็ถูกลักลอบเอาไปใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน ถามว่าเราไปแบกตรงไหน ไหวหรือ ใช่ไหมครับ มันไม่มีทาง

อย่างไรก็ตาม มันควรเป็นราคาที่เหมาะสม ว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดการลักลอบ ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องไปซื้อแก๊สมาเพื่อให้เพื่อนบ้านใช้ถูกๆ มันไม่ไหวนะ อย่างกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนามนี่นะ เขามีพื้นฐานเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเราเยอะ เขาใช้แก๊ส 40-50 บาท ทำไมเขาทำได้ คนเขาจนกว่าเราตั้งเยอะนะ นี่เป็นเพราะการที่เราบิดเบือนมานานไง คิดว่าไม่มีทางไปแก้ แต่ถ้าเราไม่แก้ปัญหาจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปิด AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ทุกคนสามารถเอาไปได้เสรีนะ คุณแบกรับไหวหรือ ความเป็นจริงในแนวความคิดผมเราต้องหาทางช่วยเหลือคนรายได้น้อยในเรื่องนี้ คนที่มีปัญญาซื้อแพงก็ให้เขาซื้อแพง ถูกไหม มันเป็นการอุดหนุนโดยตรง (direct subsidy)

ไทยพับลิก้า : เคยมีการศึกษาไหมว่าจะอุดหนุนแบบใดบ้าง

ก็มีหลายอันนะครับ แต่ยังไม่ได้สรุป อะไรที่ยังไม่ได้สรุปอย่าไปพูดมันเลย จริงๆ ถ้าย้อนกลับไปได้ ตอนที่รัฐบาลให้ใช้ไฟฟ้าฟรี เราควรที่จะมาประกอบกับการขึ้นค่าแก๊สไปเลย เรามองว่าคนที่มีรายได้น้อยคือคนที่มีรายได้น้อย จริงๆ แก๊สไม่ได้แพงนะ ถังหนึ่งใช้กันเป็นเดือน เลยต้องมานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ตรงจุดที่เหมาะสม ว่าจะปรับอย่างไร

ไทยพับลิก้า : ปัจจุบันเอ็นจีวีมีราคาอยู่ที่ 15 บาทกว่า ราคาควรอยู่ตรงนี้

จริงๆ แล้วเอ็นจีวีเราเริ่มต้นที่ 8.50 บาท ราคาน้ำมัน 23-25 เหรียญต่อบาร์เรล อันนี้ราคาน้ำมันประมาณ 100 เหรียญ ราคาเอ็นจีวียัง 8.50 บาทอยู่เลย มันไม่ใช่ไง ราคาต้องปรับแล้ว แต่จะปรับที่เท่าไหร่ก็ต้องมาดูกัน เพื่อให้ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ปตท.ไม่ขาดทุนสามารถดำเนินธุรกิจได้ เพื่อที่จะขยายกิจการด้านเอ็นจีวีมากขึ้น เพราะเมื่อระบบขนส่งใช้เอ็นจีวีมากขึ้นจะได้ลดการใช้ดีเซล

แต่ในปัจจุบันคนไม่ใช้เพราะมันต่อแถวยาว ปตท. ก็ไม่ขยายสาขาเพราะขาดทุน มันเดินไม่ได้ ประเทศก็หยุดนิ่ง ก็ต้องตัดสินใจว่าคุณจะเอาอย่างไร จะบอกว่า ปตท. ขาดทุนไปเรื่อยๆ เถอะ ปัจจุบันเขาขาดทุน 1-2 หมื่นล้าน แล้วคุณบอกว่าจะให้เขาขาดทุนไปเรื่อยๆ และขยายจาก 3-4 หมื่นคันเป็น 3-4 แสนคัน อีก 10 เท่าเขาจะขาดทุนเป็นอีกแสนล้านหรือเปล่า ถูกไหมครับ

ไทยพับลิก้า : ต้นทุน 8.39 บาท ต้นทุนการดำเนินการ 7 บาทมันแพงไปไหม

อันนั้นก็ต้องมาวิเคราะห์กัน ปั๊มมี 2 ส่วนคือ ปั๊มในแนวท่อ กับปั๊มนอกแนวท่อ ปั๊มนอกแนวท่อมันจะแพงกว่า

ไทยพับลิก้า : แยกเป็น 2 ราคาได้ไหม

จริงๆ มันก็ทำได้นะ แต่ปั๊มนอกแนวท่อเขาอาจจะรู้สึกว่าทำไมของเขาแพง (หัวเราะ) จริงๆ มันน่าจะเป็นราคาที่เท่ากันมากกว่า ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหาเหมือนกัน จะให้ผมไปวิเคราะห์ราคาว่าความจริงแล้วควรเป็นอะไรเราก็ไม่มีข้อมูลเพียงพอ แต่ที่คุย ทางกลุ่มผู้ใช้เขาก็ยอมรับว่าราคานี้มันถูก ก็ยอมให้ขึ้น ทาง ปตท. ก็ไปศึกษา ตอนที่ผมได้รับข้อมูลตอนนั้นคือว่าตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมก็ประกาศ 3-4 เดือนก่อนนะ ไม่ใช่เพิ่งประกาศ แต่ก็เงียบไป พอใกล้ๆ ก็มีการประท้วงกัน ซึ่งก็เข้าใจนะ

แต่ในแง่ของความเป็นจริง ราคามันก็ควรจะดูว่าเท่าไหร่ ที่เราคิดขึ้นมาคือ 14.50 บาท จริงๆ แล้ว ปตท. ยินดีเลยนะครับที่จะเอาธุรกิจนี้ออกจาก ปตท. เลย ให้มาบริหารจัดการเอาเอง เขาไม่เอากำไรไม่เอาอะไรเลย แยกออกมาเลย คิดเฉพาะเรื่องแก๊สและให้คุณมาบริหารจัดการเอาเอง คือถ้าเขาไม่ขาดทุนเขาโอเคแล้ว อันนี้มีการพูดคุยเป็นเรื่องเป็นราวนะ ไม่ได้พูดเพื่อข่มขู่ คือจะให้เขาไปแบกก็แบกไม่ไหว นโยบายของรัฐอยากให้เขาใช้เอ็นจีวีมากขึ้น ขนส่งควรจะขยายเพราะจะได้ลดการนำเข้าของดีเซลลง ก็เป็นประโยชน์กับประเทศและประหยัดกว่า ใช้เอ็นจีวีประหยัดเป็นครึ่งๆ นะ ถ้าคุณบอกว่าคุณขาดทุนคุณเอามาทดลองกันไหม 14.50 บาท ยังไงก็ยังประหยัดกว่าครึ่งๆ แน่นอน อันนี้คือความจริงไง เขาก็ไม่ยอมคุยกัน จะใช้ถูกอย่างเดียวมันไม่ได้ไง ถูกไหม มันต้องให้ความเป็นจริง อ้างว่าใช้แก๊สแล้วเครื่องมันเสื่อมเร็ว คุณก็ต้องไปแก้ปัญหาตรงนั้น ไม่ใช่บอกว่าแก๊สต้องถูก มันไม่ใช่ไง ก็เหมือนกับคุณใช้อะไรไม่ประหยัดแล้วบอกว่าต้องมาลดค่าต้นทุนพลังงานเพราะใช้แล้วมีปัญหา มันไม่ใช่ไง

ไทยพับลิก้า : ของดีราคาถูกไม่มี ของไม่ดีราคาก็ต้องถูก

(หัวเราะ) มันไม่ใช่อย่างนั้นไง ของเมืองนอกก็ใช้เยอะแยะไปไหม

ไทยพับลิก้า : ในต่างประเทศ ก๊าซเอ็นจีวีมีเทนเข้มข้นสูงมากแต่ของเราเติมไปตั้ง 18 เปอร์เซ็นต์

คืออย่างนี้ครับ นี่คือความเข้าใจผิด ถ้าแก๊สจากพม่ามันมีไนโตรเจนอยู่ เราก็จะเติมได้เร็ว ไม่ต้องผ่านโรงแยก รถก็สามารถที่จะใช้ได้เลย แต่ก๊าซจากอ่าวไทยมันต้องผ่านโรงแยก และมันจะมีความเข้มข้มของแก๊สสูง ถ้าเป็นแท็กซี่เจ๊งเลยนะ เพราะให้ความร้อนสูงเกินไป ถ้าเป็นรถบรรทุกใหญ่ๆ ไม่เป็นไร จะมีเครื่องปรับระบบใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องเติมไปเพื่อให้ความร้อนลดลง เพื่อสามารถที่จะใช้ได้พอดี

ไทยพับลิก้า : มีประเด็นต่อไปว่า คุณเอา CO2 (ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) มาขายเรา 15 บาท เพราะมี CO2 อยู่ถึง 18 เปอร์เซ็นต์

(หัวเราะ) ผมจะเติมให้คุณบริสุทธิ์เลยก็ได้ แต่รถคุณเจ๊งนะ ใช่ไหม ปกติถ้าพม่าไม่ปิดบ่อก็ไม่มีปัญหา เพราะใช้ของพม่าได้เลย แต่อาจะต้องผสมได้นิดหน่อย แต่ว่าเมื่อไหร่ที่พม่าปิดเราก็ต้องเติม CO2 เข้าไปแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นรถจะพัง

ถ้าเราเอาพลังงานมาเล่นประเด็นการเมืองตลอด ประเทศมันเดินไม่ได้นะ ปัญหาของประเทศนี่ใช้พลังงาน 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีนะ ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก ประเทศที่มีประสิทธิภาพแล้วอย่างญี่ปุ่นหรือยุโรป ใช้แค่ 8-10 เปอร์เซ็นต์นะ ซึ่งประกอบไปด้วยการใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพและระบบขนส่ง เช่น รถไฟเราไม่เวิร์กด้วย ปีที่แล้วเรานำเข้า 1.2 ล้านล้านบาท แต่ถ้าคุณสามารถลดปริมาณการนำเข้าพวกนี้ได้ ก็เป็นเงินที่อยู่ในประเทศ คุณขายสินค้าเกษตร ขายกุ้ง ขายข้าว ขายยา ทั้งหมดยังได้ครึ่งหนึ่งของที่คุณนำเข้าพลังงานเลยนะ (หัวเราะ) ถ้าคุณลดการใช้พลังงานของคุณไม่ได้ คุณแก้ปัญหาประเทศไม่ได้

ไทยพับลิก้า : ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา บอกว่า ใต้ดินเรามีปิโตรเลียมจำนวนมาก และ 29 ปีที่ผ่านมาเอกชนโกยไปได้ตั้ง 2.6 ล้านล้านบาท แต่เราเก็บค่าภาคหลวงได้แค่ 4 แสนล้าน แสดงว่าเมื่อหักลบกับที่เรานำเข้ามามันน่าจะพอสมควร หรือมันไม่พอใช้

ตอนเป็น รมว.พลังงานใหม่ๆ เราก็ฟังทุกฝ่าย ผมก็เจอทั้งคุณกร(จาติกวณิช)และคุณรสนา โตสิตระกูล (ส.ว.กทม. ประธานกรรมาธิการ ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา) ก็นั่งคุยกัน ทุกคนฟังกัน หลายๆ คนเขาก็ทำบริษัทพลังงานมาก่อนนะ เขาก็รู้รายละเอียด แต่ผมว่าบางเรื่องนี่เขาอาจจะเอาเรื่องจริงมาปนกับเรื่องไม่จริง ซึ่งอาจจะทำให้คนงงไปหมด มันก็เป็นอะไรที่ต้องเอาความจริงมาคุยกันในบางเรื่องนะ บางเรื่องโอเค ถ้ามันผิด ปตท. ก็จะต้องปรับ อันนี้พูดตรงๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง อย่างน้ำมันนี่นำเข้า 85 เปอร์เซ็นต์ เราขุดได้น้อยมากในประเทศ แต่เราใช้น้ำมันเยอะมาก วันละล้านบาร์เรลเลยนะ

ไทยพับลิก้า : น้ำมันสำเร็จรูปเหลือเราก็ส่งออก

จริงๆแล้วปัจจุบันการส่งออกน้ำมันของเรานี่นะ ลาวใช้น้ำมันเรา 70-80 เปอร์เซ็นต์เลย เรานำเข้ามาและขายให้ลาวเพราะลาวไม่มีโรงกลั่น คือปัจจุบันใช้เองเกือบหมด เนื่องจากมีบางอันที่จะต้องมีเหลือบางประเภทก็ส่งออก

จริงๆ แล้วตอนที่ผมเป็น รมว.พลังงาน ผมก็มีโครงการที่จะเสนอให้ยกเลิกเบนซิน 91 มีหลายเหตุผล ถ้าไปดูประเทศอื่นนี่น้ำมันมีไม่กี่อย่างเลยนะ แต่ประเทศเรามีเยอะมากเลย มีเบนซิน 91 เบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 91 เต็มไปหมด ความเป็นจริงมันควรจะมีปริมาณน้อยลง และเราต้องยอมรับความจริงว่าเราไปสนับสนุนให้มีแก๊สโซฮอล์เยอะ แต่แก๊สโซฮอล์ไม่ได้มีปริมาณมากขึ้นเท่าที่ควร มันมีแค่ล้านกว่าลิตร ถ้าเรายกเลิก 91 มันอาจขึ้นถึง 2 ล้านลิตรได้ ประเทศเราเป็นประเทศเกษตร ราคาน้ำมันในอนาคตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงนะ

ไทยพับลิก้า : มีงานวิจัยบอกว่าแก๊สโซฮอล์ทำให้เกิดฟอร์มัลดีไฮด์ในอากาศ

ผมไม่เคยได้ยินเลยนะ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ยุโรปเขาไม่ให้ใช้อยู่แล้ว ในยุโรปแก๊สโซฮอล์แพงกว่าน้ำมันปกตินะ เพราะเขาต้องอิมพอร์ตเอทานอลเข้ามา แต่คนยุโรปยินดีที่จะเติมแก๊สโซฮอล์มากกว่าน้ำมันปกติ เพราะเขาคิดว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผมไม่คิดว่ามันจะมีสารอะไร

ว่าด้วยสาระเอ็มโอยู 2544

บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ เอ็มโอยู 2544 มีการลงนามโดยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทย กับ นายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

โดยพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา มีอยู่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประเมินว่ามีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ราวๆ 5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ในเอ็มโอยู 2544 มี 5 ข้อตกลงร่วมดังนี้

1. ภาคีผู้ทำสัญญา (ไทยและกัมพูชา) พิจารณาว่าเป็นที่พึงปรารถนาที่จะทำข้อตกลงชั่วคราว ซึ่งมีลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้ในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน

2. เป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจาที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน

(ก) จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วมดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาการพัฒนาร่วม) และ

(ข) ตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้ายเป็นเจตนารมณ์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญา ที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ (ก) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้

3. เพื่อวัตถุประสงค์ตามข้อ 2 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากแต่ละประเทศแยกต่างหากจากกัน คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคมีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับการกำหนด

(ก) เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันของสนธิสัญญาการพัฒนาร่วม รวมถึงพื้นฐานซึ่งยอมรับร่วมกันในการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ของการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และ

(ข) การแบ่งเขต ทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะระหว่างเขต ที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอยู่ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งใช้บังคับ

4. คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคจะประชุมกันโดยสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เสร็จสิ้นโดยเร็ว คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคอาจจัดตั้งคณะอนุกรรมการตามที่เห็นว่าเหมาะสม

5. ภายใต้เงื่อนไขการมีผลใช้บังคับการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้ และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา