ThaiPublica > คอลัมน์ > เสียงกระซิบจากลุงแซม : จะมาเป็นนักเรียนหรือ ถ้าเอาจริง จะเตรียมตัวอย่างไร

เสียงกระซิบจากลุงแซม : จะมาเป็นนักเรียนหรือ ถ้าเอาจริง จะเตรียมตัวอย่างไร

25 มิถุนายน 2012


วรเทพ ยรรยงกุล

ที่มาภาพ: http://campus.sanook.com
ที่มาภาพ: http://campus.sanook.com

อย่าเพิ่งตกใจครับ!! บุคคลที่กำลังชี้ผู้อ่านคือ “ลุงแซม” เขาคือใครหนอ?

ลุงแซมเป็นบุคคลสมมติที่สหรัฐอเมริกาใช้แทนคนอเมริกัน เขาได้รับพรรณนาว่าเป็นชายผิวขาวสูงอายุที่น่าเกรงขาม มีผมขาว เคราแพะ ไม่มีหนวด และสวมใส่ชุดที่เป็นการรำลึกถึงรูปแบบการออกแบบของธงชาติ สหรัฐอเมริกานำชื่อลุงแซมมาใช้ครั้งแรกสมัยสงคราม ค.ศ. 1812 ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอังกฤษและอเมริกาที่เกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งเป็นเวลานาน ภาพลุงแซมถูกใช้ในการประกาศโฆษณาเพื่อเกณฑ์ทหารและใช้มาจนถึงทุกวันนี้

คอลัมน์นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะแนะนำเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และการปรับตัวของนักเรียนไทย ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา โดยนำเอาประสบการณ์จริงของผู้เขียน น้องๆ และเพื่อน ในการแก้ไขปัญหามาเล่าสู่กันฟัง และเนื่องจากใกล้เวลาจะเปิดเทอม Fall ในเดือนสิงหาคม ผู้เขียนเห็นว่าคอลัมน์นี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านหลายท่าน ที่กำลังเตรียมส่งบุตรหลานมาศึกษาต่อในต่างแดน

ป้ญหาที่นักศึกษาไทยส่วนใหญ่มักจะประสบคือ

1. ความเหงาและคิดถึงบ้าน – ผู้เขียนเองก็ประสบปัญหานี้ในช่วงต้นของการมาศึกษาต่อ สิ่งต่างๆ รอบข้างตัวล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องการระยะเวลาในการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาอังกฤษที่ตัวผู้เขียนใช้อย่างงูๆ ปลาๆ หรือความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมที่ทำให้บางครั้งรู้สึกมืดแปดด้าน การทำความรู้จักเพื่อนฝรั่งที่อเมริกาไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนอย่างที่คิด เราพูดไปบางทีฝรั่งเขาไม่เข้าใจ พอเขาพูดมาเราก็ฟังไม่ทัน แต่โชคดีที่ผู้เขียนมีเพื่อนอยู่ในสหรัฐหลายคนจึงสามารถติดต่อปรึกษาได้ ยิ่งสมัยนี้แล้วมีโทรศัพท์ Internet อย่างเช่น Skype ที่สามารถโทรศัพท์กลับเมืองไทยได้อย่างสะดวกสบายโดยเสียค่าใช้จ่ายนัอยมาก ข้อแนะนำคือช่วงแรกควรทำความรู้จักเพื่อนนักเรียนต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย นักเรียนกลุ่มนี้มีความคล้ายคลึงกับนักเรียนไทยในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นระดับความสามารถในการใช้ภาษา ซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างจะช่วยกันพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษให้คล่องขึ้น หรือไม่ว่าจะเป็นความใกล้เคียงในด้านความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องอาหาร หลังจากนั้น ความพยายามหาเพื่อนฝรั่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก รวมถึงโอกาสที่จะได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมและความคิดของฝรั่งด้วย

2. การหาที่อยู่ที่เหมาะสม ปลอดภัย และใกล้มหาวิทยาลัย – ที่อยู่ที่เหมาะสมค่อนข้างหายาก โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จักสถานที่ ไม่รู้จักย่านที่ปลอดภัย และบังเอิญเลือกรัฐที่อากาศหนาวจัด รัฐหลายรัฐ เช่น มินเนโซต้า อุณหภูมิอาจลงถึง -60 องศาฟาเรนไฮต์ (-50 องศาเซลเวียส), ไอดาโฮ 21.6 องศาฟาเรนไฮต์ (อย่าลืมว่า 32 องศาฟาเรนไฮต์คือจุดเยือกแข็ง), นิวยอร์ก, เนบราสก้า, ชิคาโก ฯลฯ หนาวทั้งนั้น พูดง่ายๆ รัฐที่อยู่ทางเหนือและทางตะวันออกเฉียงเหนือ จะหนาวแบบทนแทบไม่ได้เลย (พูดจริงๆ) โดยทั่วไปแล้วนักเรียนมี 3 ทางเลือกสำหรับที่อยู่อาศัยคือ 1) หอพักในรั้วโรงเรียน (On-Campus Housing/Dormitory) 2) อพาร์ตเมนต์นอกรั้วโรงเรียน (Off-Campus Apartment) หรือ 3) การพักอาศัยในบ้านของครอบครัวฝรั่ง (Host Family Housing) แต่ละทางเลือกมีข้อดีและข้อเสีย สำหรับตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสที่ดี หรืออาจจะเรียกได้ว่าโชคดีที่ได้อาศัยกับครอบครัวฝรั่งใจดี คิดค่าเช่าต่อเดือนไม่แพง แถมยังได้ฝึกภาษากับลูกชายวัย 9 ขวบ เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนได้แนะนำตั้งแต่ต้นๆ ก่อนที่จะมาเรียนว่า ให้หาครอบครัวฝรั่งที่มีคนแก่และเด็ก เพราะคนสองกลุ่มนี้จะมีเวลาให้เราได้ฝึกการพูดและฟังภาษาอังกฤษ

3. เรื่องการเงิน – ปัญหาการเงินก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อาจจะเพิ่มความไม่สบายใจให้กับนักศึกษาได้ นักศึกษาควรติดต่อกับมหาวิทยาลัยและสอบถามให้ดีว่า ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเทอม ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้านหรือห้อง รวมแล้วเป็นเท่าไหร่ นักเรียนต่างชาติจะเสียค่าเทอมมากกว่านักเรียนอเมริกันถึง 3 เท่าตัว พ่อแม่ควรเตรียมงบประมาณให้พอเพียงสำหรับอย่างน้อยหนึ่งปีการศึกษา และนักศึกษาอาจขอทุนการศึกษาหรือขยับขยายหางานทำในมหาวิทยาลัย ความคิดของนักเรียนส่วนใหญ่จะมาทำงานในร้านอาหารไทย เป็นความคิดที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วนนัก เพราะนอกจากการทำงานนอกรั้วโรงเรียนเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว การทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ ถึงแม้จะได้เงินดี (โดยเฉลี่ยจะได้ 10 เหรียญต่อชั่วโมง) แต่ผู้เขียนเห็นว่าหากเอาเวลานั้นไปอ่านหนังสือเพิ่มเติมหรือหาเพื่อนใหม่ๆ จะเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่ากว่า

4. เรื่องเรียน- หลายๆ คนคิดว่าการเรียนหนังสือในต่างประเทศก็เหมือนการเรียนในประเทศไทย เข้าไปฟังอาจารย์พูดในห้องเรียนแล้วก็ขอสมุดโน้ตของเพื่อนมาลอก ตอนสอบก็อ่านแค่สมุดโน้ต ขอเตือนด้วยความหวังดีว่าไม่เวิร์คครับ อาจารย์ที่นี่เขาไม่สอนแบบบอกจดหรือสอนตามหนังสือ หนังสือมีไว้สำหรับอ่านอ้างอิง เขามักจะบรรยายนอกเหนือจากหนังสือ การเรียนในห้องเรียนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับนักเรียนไทยในช่วงต้นๆ อาจารย์บางคนพูดเร็วและบางคนก็มีสำเนียงแปลกๆ ยิ่งคนต่างชาติสอนแล้วเราอาจฟังเขาไม่รู้เรื่อง แทบทุกคนที่มาเรียนต่างประเทศจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “สองเทอมแรกไม่รู้เรื่องเลยว่ะ”

แปลกใจจริงๆ ว่าเวลาอยู่เมืองไทยเราก็พูดกับฝรั่งรู้เรื่องดี แต่พอมานั่งในห้องเรียนกลับตามไม่ทัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเวลาอยู่ประเทศไทยเราอาจคุยกับฝรั่งในเรื่องที่เรารู้เรื่องดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนหนทาง หรือเรื่องอาหารไทย อีกอย่างคือฝรั่งที่เราคุยด้วยเขาอาจจะพูดช้าให้เราเป็นพิเศษ เราคุยกับเขาเป็นระยะเวลาสั้นๆ และภาษาที่ใช้เป็นภาษาพื้นๆ ที่เราใช้ประจำวัน แต่เวลาเรียนหนังสือ ศัพท์ที่ใช้เป็นภาษาวิชาการ คำบางคำไม่เคยใช้ในชีวิตเลย แถมฝรั่งยังมีสำเนียงแปลกๆ ที่เราไม่คุ้นหูอีก (คนแด่ละภาคสำเนียงไม่เหมือนกัน เช่น คนทางภาคใต้ของไทยสำเนียงจะแตกต่างจากคนภาคกลาง) หลังจากฟังคำบรรยายติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมง เรามักจะล้าและก็เริ่มเหนื่อย ไม่มีสมาธิ ภาษาจึงเป็นปัญหาขึ้นมาได้

ดังนั้น คนที่มาเรียนเทอมแรกๆ จึงต้องเรียนหนักเป็นพิเศษ อ่านหนังสือก่อนเข้าเรียนทุกครั้งเพื่อจะได้ตามคำบรรยายของอาจารย์ให้ทัน เรียนเสร็จแล้วก็ทบทวนสักหน่อย วิธีแก้ปัญหาอีกวิธีหนึ่งคือการรวมตัวกลุ่มติว (Study Group) เพื่อปรึกษาหารือกันกับเพื่อนร่วมห้อง

5. การร่วมออกความเห็นในชั้น หรือการเสนอรายงานหน้าห้อง (presentation) – สองอย่างนี้เป็นสิ่งที่นักเรียนไทยเกลี๊ยดเกลียด ไม่เห็นเหมือนเวลาเข้ากลุ่มเมาท์กันเลย เวลาเข้ากลุ่มบางคนพูดไม่หยุดเลย แต่พอเข้าห้องเรียนเงียบเหมือนเป่าสาก บางครั้งอาจารย์จะเรียกถามความคิดเห็นจากนักเรียนแบบสุ่ม นักเรียนไทยหลายคน รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย มีอาการหนาวสั่นทุกครั้งเพราะกลัวว่าจะตอบไม่ได้ หรือถึงแม้ว่าจะรู้คำตอบ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายเป็นภาษาอังกฤษอย่างไร อาจารย์บางท่านถึงกับให้คะแนนพิเศษกับนักเรียนที่ให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องเรียน

เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเตรียมตัวก่อนเรียน ควรอ่านหนังสือก่อนเข้าเรียนและอาจจะเตรียมคำถามที่น่าสนใจไว้ล่วงหน้า สำหรับการเสนอรายงานหน้าห้อง ก็ต้องมีการเตรียมบทพูดมาเป็นอย่างดี และได้ทำการซักซ้อมกับเพื่อนกลุ่มติวหรือกลุ่มทำงานล่วงหน้าหลายๆ ครั้งจนกว่าจะคล่อง

6. ความเหงาในช่วงเทศกาลวันหยุดต่างๆ – ในอเมริกาเขาจะฉลองเทศกาลต่างๆ เช่น Christmas, Thanks Giving, Memorial Day และจะหยุดเป็นระยะเวลานาน เด็กฝรั่งเขามักจะเดินทางกลับไปหาครอบครัวในต่างเมือง (เหมือนกับคนไทยกลับไปเยี่ยมบ้านตอนสงกรานต์) มหาวิทยาลัยจะเงียบเหงา เราอยู่คนเดียวจะรู้สึกเหว้าเหว่ แก้ไขได้อีกแล้ว (แหมไอ้คนเขียนมันช่างรู้จัง)

โดยทั่วไป ทุกโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมักจะมีแผนกที่ดูแลนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะ บางแห่งเรียกว่า Counseling Office หรือมหาวิทยาลัยของผู้เขียนเรียกว่า International Student/Scholar Office ที่จะคอยจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวันหยุดฉลองเทศกาลต่างๆ บางครั้งทางมหาวิทยาลัยจะถามว่าต้องการจะไปร่วมกิจกรรมทางด้านประเพณีหรือทางด้านศาสนากับ Host Family ไหม เค้าจะพาเราไปร่วมทานอาหารกับครอบครัว และมักชวนเราไปเที่ยวบ้านเขา ทำไก่งวงอบให้เราทาน ฯลฯ การไปเที่ยวกับเพื่อนคนไทยเป็นกลุ่มๆ ก็การช่วยแก้ปัญหาได้ แต่อย่าทำแบบนี้บ่อยเกินไป เพราะเราอาจจะไม่ได้ฝึกภาษาอังกฤษเลย บางคนไปอยู่เมืองนอก 3-4 ปี พูดไทยชัดแจ๋วแต่พูดอังกฤษไม่ได้เลยก็มี

7. เครียด ไม่รู้จะเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือเปล่า – เกณฑ์ที่สำคัญที่สุดที่มหาวิทยาลัยใช้ในการคัดเลือกนักศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทคือ

– ประวัติการศึกษาที่ดีเสมอต้นเสมอปลาย

– ความสามารถทางการเงินที่จะสามารถสนับสนุนการเรียนจนจบ ตอนสมัครมาโม้ไปก่อนว่าเราไม่มีปัญหาแน่ๆ มาถึงแล้วค่อยขยับขยายหางานทำในมหาวิทยาลัย และถ้าโชคดีก็อาจจะได้ทุนการศึกษาเรียนฟรี เหมือนกับตัวผู้เขียนที่ได้ทำงานให้กับ Office of International Student Admissions แถมยังได้ประกันสุขภาพและเงินเดือนพิเศษต่างหาก (ในสหรัฐเขาบังคับให้ทำประกันสุขภาพเพราะค่ารักษาพยาบาลแพงมากๆ)

– สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการใชัภาษาอังกฤษ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะวัดจากผลการสอบ TOEFL รวมถึงผลการสอบ GMAT หรือ GRE สำหรับการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโท ผู้เขียนขอแนะนำว่า นักเรียนควรจะสอบให้ได้คะแนนดีพอสมควรที่ประเทศไทย เพื่อเป็นการประหยัดทั้งเงินและเวลา การมาเรียนภาษาที่อเมริกาในช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะไม่สามารถรับประกันได้ว่า นักเรียนจะสามารถทำข้อสอบได้คะแนนดี

คำแนะนำสุดท้ายคือ อย่าเอานิสัยมาสายเป็นประจำที่เราชอบโทษว่า “รถติด” มาใช้เป็นอันขาด เพราะอาจารย์ที่อเมริกาเขาจะตรงเวลา และยิ่งไปสัมภาษณ์เพื่อของานทำ หรือสัมภาษณ์เพื่อรับเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าไปสายก็เตรียมตัวว่าเขาจะปฏิเสธเราอย่างแน่นอน

ข้อมูลเพิ่มเติม
ปีการศึกษา หรือ ภาคการศึกษา (Academic Year)

ในการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สหรัฐอเมริกานิยมแบ่งปีการศึกษาเป็น 4 ระบบด้วยกัน ระบบที่นิยมใช้มากที่สุด ก็คือ

1) ระบบ Semester มหาวิทยาลัยที่ใช้ระบบนี้ เช่น Indiana University, Illinois State University, University of Illinois, University of Michigan ในระบบ Semester นั้น (คล้ายกับระบบที่ใช้อยู่ในประเทศไทย) ปีการศึกษาหนึ่งแบ่งออกเป็น 2 Semesters ระยะเวลา 1 Semester จะยาวประมาณ 16 ถึง 18 สัปดาห์และจะมี Summer Session Fall Semester เปิดเรียนประมาณกลางเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนธันวาคม Spring Semester เปิดเรียนประมาณต้นเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน Summer Session เปิดเรียนประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม Summer อาจจะแบ่งเป็น 2 ช่วงสั้น ๆ

2) ระบบ Trimester มหาวิทยาลัยจะแบ่งปีการศึกษาเป็น 3 ระยะเท่าๆ กัน Trimester หนึ่งยาวประมาณ 14 ถึง 16 สัปดาห์ Trimester ที่ 1 เปิดเรียนประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม Trimester ที่ 2 ประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน Trimester ที่ 3 ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ใช้ Trimester คือ Carleton College, Rochester Institute of Technology, Stanford University College of the Atlantic

3) ระบบ Quarter ปีการศึกษา จะประกอบด้วย 4 Quarter แต่ละ Quarter จะเปิดเรียนประมาณ 12 สัปดาห์ คือ Fall Quarter เปิดเรียนประมาณกลางเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม Winter Quarter เปิดเรียนประมาณเดือนมกราคมถึงกลางเดือนมีนาคม Spring Quarter เปิดเรียนประมาณกลางต้นเดือนเมษายนถึงกลางเดือนมิถุนายน Summer Quarter เปิดเรียนประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ใช้ระบบ Quarter คือ The University of Chicago, Northwestern University, Ohio State University, Oregon State University, University of Oregon, Stanford University เป็นต้น

4) ระบบ 4-1-4 ในปีการศึกษาหนึ่ง จะประกอบด้วย 2 ภาคเรียนใหญ่ และคั่นกลางด้วยภาคเรียนสั้นๆ 1 เดือน เพื่อให้นักศึกษาไปค้นคว้าด้วยตนเอง หรือออก Field Trip ซึ่งภาคเรียน 1 เดือนนี้ มีชื่อเรียกว่า Interim ระบบ 4-1-4 นี้เป็นระบบใหม่ที่มีใช้อยู่ในสถานศึกษาที่อเมริกาประมาณ 8% ซึ่งประกอบด้วย Fall Semester เปิดเรียนประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม Interim ช่วงเดือนมกราคม (1 เดือน) Spring Semester เปิดเรียนประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม

โรงเรียนสอนภาษา

สหรัฐอเมริกามีสถาบันสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองอยู่มากมาย มีทั้งโรงเรียนของรัฐบาลและของเอกชน หลักสูตรที่เปิดสอนโดยส่วนใหญ่เรียกว่า Intensive English Program ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดสอนขึ้นเพื่อนักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะ นักศึกษาต่างชาติมักจะเริ่มเรียนในหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรก และจะต้องมี visa อเมริกาประเภทวีซ่านักเรียน F-1 ก่อน หรือ visa อเมริกาประเภทวีซ่านักเรียน J-1 (visa นักเรียนแลกเปลี่ยน) จึงจะมาเรียนที่นี่ได้ แต่ผู้เขียนไม่ค่อยแนะนำ เพราะว่าค่าเล่าเรียนค่อนข้างจะแพง แต่ก็มีข้อดีเพราะนักเรียนได้ซ้อมพูดภาษาอังกฤษพร้อมกับการเรียน

หมายเหตุ: วรเทพ ยรรยงกุล เป็นผู้บริหารความเสี่ยงที่ธนาคาร Bank of America ณ สำนักงานใหญ่ ในเมือง Charlotte รัฐ North Carolina จบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ และปริญญาโทด้าน Information Technology ใช้ชีวิตในอเมริกานานกว่า 9 ปี