ThaiPublica > คอลัมน์ > เสียงกระซิบจากลุงแซม: 5 บทเรียนสำคัญสำหรับคนอเมริกัน หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

เสียงกระซิบจากลุงแซม: 5 บทเรียนสำคัญสำหรับคนอเมริกัน หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

2 สิงหาคม 2012


วรเทพ ยรรยงกุล

ที่มาภาพ: www.newwavemediaonline.com
ที่มาภาพ: www.newwavemediaonline.com

จากภาพข้างบน ถ้าเป็นประเทศไต้หวันนักลงทุนคงจะยินดียิ้มแก้มปริ เพราะหุ้นที่มีสีแดงบนกระดานหลักทรัพย์หมายถึงหุ้นที่มีราคาเพิ่มขึ้น แต่ในประเทศไทยหรือประเทศสหรัฐอเมริกา ความหมายจะตรงกันข้าม เราจะเห็นนักลงทุนหน้าตาเหี่ยวนั่งกุมขมับดังภาพที่เห็น

วิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์คืออะไร?

วิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปีของอเมริกาหลัง Great Depression วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2550 หลังจากภาวะฟองสบู่แตกของธุรกิจกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ที่ขยายตัวอย่างมากในสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือที่เรียกว่า Subprime Mortgage

จนถึงทุกวันนี้ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงงัวเงีย ไม่ค่อยดีขึ้นสักเท่าไร หลายท่านคงได้ติดตามข่าวสารของวิกฤติการณ์ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด และมีหลายบทความได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุในหลายประเด็นด้วยกัน แต่สำหรับบทความนี้ ผมขอนำเสนออีกแง่มุมหนึ่ง ถึงข้อมูลในปัจจุบันของผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจนี้ และบทเรียนที่แสนเจ็บปวดสำหรับคนอเมริกันในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของสหรัฐอมเริกาที่น่าสนใจดังนี้

1) ตั้งแต่ต้นปี 2551 คนในตลาดแรงงาน 9.1 ล้านตำแหน่ง ถูกเลิกจ้าง ณ อัตราการจ้างงานในปัจจุบัน อเมริกาจะต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 5 ปีในการกอบกู้ตำแหน่งงานเหล่านั้นกลับคืนมา

2) มูลค่าบ้านลดลงถึง 34.3% ของช่วงเวลาที่ขึ้นสูงสุดในปี 2549 คนอเมริกันส่วนใหญ่มีภาระการผ่อนบ้านในจำนวนที่มากกว่ามูลค่าบ้านจริง หรือที่เรียกว่า “Under Water” ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่เจ้าของบ้านยอมให้บ้านถูกยึด

3) 1.4 ล้านครอบครัว ไม่มีบ้านอาศัยเพราะถูกธนาคารยึด เนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำคนจำนวนหนึ่งไม่มีรายได้และเงินออมทรัพย์พอจ่ายเงินผ่อนบ้านรายเดือน

4) ไม่ไช่เฉพาะคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย สุนัขและแมวมากกว่า 1 ล้านตัว ถูกทอดทิ้ง เพราะเจ้าของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นไม่สามารถเลี้ยงดูแลต่อ

5) ภาคการศึกษาก็ถูกกระทบพอควร โรงเรียนและห้องสมุดหลายแห่งถูกปิด เพราะขาดงบประมาณจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น คุณครูจำนวนมากถูกไล่ออก หรือโดนตัดเงินเดือนและถูกลดวิชาให้สอนน้อยลง

ข้อมูลข้างต้นคงช่วยทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้ขยายตัวลุกลามไปถึงธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เมื่อเศรษฐกิจทรุดตัวลง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง Lehman Brother หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ก็ต้องประกาศล้มละลาย ปิดกิจการ หรือปลดพนักงานออก เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรและลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอด ความเดือดร้อนที่คนอเมริกันประสบในช่วง 5 ปีที่ผ่าน ได้สร้างบทเรียนที่สำคัญอย่างยิ่งดังต่อไปนี้

บทเรียนที่ 1: “บ้าน” ไม่ใช่ความฝันที่สวยหรูอีกต่อไป ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ บ้านเป็นหนึ่งในความฝันของคนอเมริกันและเป็นสิ่งที่ใช้แสดงฐานะในสังคม คนส่วนใหญ่จะมองหาบ้านขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ครอบครัวอเมริกันเป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็กที่มีแต่พ่อแม่และลูกๆ ไม่เหมือนคนไทยที่อยู่กันหลายครอบครัวในหลังคาเดียวกัน แต่คนอเมริกันกลับอยู่อาศัยในบ้านขนาดใหญ่ที่มี 4-5 ห้องนอน คนที่นี่จะมองหาซื้อบ้านที่มีราคาประมาณ 5 เท่าของเงินเดือนต่อปี ดูเหมือนตัวเลขจะไม่มากมายนัก แต่คนส่วนใหญ่จะลืมไปว่าตัวเองไม่มีเงินออมที่สามารถใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้เงินที่สะสมมาตลอดชีวิตเพื่อจ่ายเป็นเงินดาวน์และเงินผ่อนบ้าน แต่สุดท้ายก็ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระต่อและบ้านต้องถูกโดนยึด ในขณะเดียวกันธุรกิจห้องเช่ากลับคึกคักในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ อัตราการเช่าขึ้นถึงจุดสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 95.3%

บทเรียนที่ 2: คนอเมริกันเห็นความสำคัญของ “การออมทรัพย์” มากขึ้น การจับจ่ายใช้สอย เงินผ่อนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ บริษัทห้างร้านต่างๆ มีการแข่งขันที่สูง และได้ส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่น 0% ดาวน์พร้อมไม่ต้องจ่ายเงินผ่อนในอีก 3 ปีข้างหน้า (เหมือนที่ธนาคารในประเทศไทยกำลังทำกันอยู่ในขณะนี้) สินค้าเกือบทุกประเภทสามารถซื้อด้วยเงินผ่อน ไม่ว่าจะเป็น เตียงนอน โซฟา โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์

ช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คนอเมริกันเก็บหอมรอมริบแค่ 1% ของรายได้ สังเกตได้จากการซื้อบ้านที่มีขนาดใหญ่โตเกินความจำเป็น และเปลี่ยนรถใหม่ทุกๆ 5 ปี ทั้งๆ ที่รถยังอยู่ในสภาพดีเลิศ ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ คนอเมริกันเกิดความหวาดกลัวกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ได้เพิ่มการออมทรัพย์เป็น 5% ของรายได้ (เมื่อเทียบกับคนไทยที่มีอัตราการออมร้อยละ 35)

บทเรียนที่ 3: การเตรียม “ความพร้อม” สำหรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ หรือพนักงานประจำในองค์กรเล็กหรือใหญ่ ต่างก็วิตกกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่จะรับประกันความมั่นคงในอนาคตได้คือ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังตัวอย่างของสายการบิน American Airline ที่วางแผนจะเลิกจ้างพนักงาน 13,000 คน ในปีนี้เพื่อความอยู่รอดของบริษัท นิตยสารชื่อดัง Forbes ได้แนะนำให้พนักงานบริการบนเครื่องบินเรียนภาษาจีนเพิ่มเติม เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นของสายการบินจีน หลายบริษัทที่เตรียมเพิ่มสายการบินระหว่างประเทศ

บทเรียนที่ 4: การกระจายความเสี่ยงเพื่อปกป้อง “กองทุนเกษียณอายุ” พนักงานประจำส่วนใหญ่สะสมเงินออมทรัพย์ในรูปแบบกองทุนเกษียณอายุ หรือที่เรียกว่า 401K เงินส่วนนี้จะถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือนก่อนหักภาษี แล้วนำไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้น การลงทุนที่เป็นที่นิยมก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจคือ การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ ความเสี่ยงเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของกองทุนเกษียณอายุไม่มีเวลาหรือความรู้เพียงพอในการบริหารการลงทุนและการกระจายความเสี่ยง ดังตัวอย่างของพนักงาน Bank of America ที่สูญเสียเงินกองทุนเกษียณอายุประมาณ 58% ในรูปแบบของหุ้นของบริษัทตนเองภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี

บทเรียนที่ 5: ความหวังสุดท้ายจาก “แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล สภาคองเกรสในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา อนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายระลอก ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการสร้างงาน และเพื่อช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษี หรือการเพิ่มงบประมาณในการสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภค ประชาชนทั่วไปต่างมีความหวังว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นในเวลาอันสั้น

แต่ในความเป็นจริง มีนักวิเคราะห์หลายคนให้ทัศนะว่า การเข้าแทรกแซงของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเพียงการสูญเสียเงินจากภาษีของประชากรโดยเปล่าประโยชน์ และไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในการสร้างงานได้จริง ดูได้จากดัชนีราคาบ้านของ Case-Shiller ที่ประมาณว่าราคาบ้านจะตกต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ หรือดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ที่เป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องใน 5 เดือนที่ผ่านมา

ประเทศไทยได้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2540 ธนาคารและบริษัทเงินทุนถูกปิดไป 56 แห่ง ธุรกิจภาคเอกชนล้มละลายไปมากมาย ทำให้คนไทยทุกคนสำนึกในพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายท่านคงเคยได้ยินคำนี้มานับครั้งไม่ถ้วน และนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับตัวผมแล้ว “เศรษฐกิจพอเพียง” น่าจะเป็นแนวความคิดหนึ่งที่ถูกนำไปใช้ในการร่างนโยบายเศรษฐกิจของธนาคารกลางของอเมริกาและรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา

ข้อมูลอ้างอิง:

1.”Employment, Hours, and Earnings from the Current Employment Statistics survey (National).” . U.S. Bureau of Labor Statistics, n.d. Web. 12 Jul 2012. .

2.Case-Shiller Home Price Index

3.”National Real Estate Trends.” . RealtyTrac, n.d. Web. 10 Jul 2012. .

4.”Estimates Up to 1 Million Pets at Risk During Economic Crisis.” . ASPCA, n.d. Web. 8 Jul 2012. .

7.Todorova, Alexsandra. “Timing a Car Purchase.” . Wall Street Journal, n.d. Web. 12 Jul 2012. .

8.Rapoza, Kenneth. “Unemployed American Airline Workers Should Learn Chinese.” . Forbes, n.d. Web. 12 Jul 2012. .

9.Michael J., Moore. “Wall Streeters Lose $2 Billion in 401(k) Bet on Own Firms.” Bloomberg. 09 Jul 2012: n. page. Web. 9 Jul. 2012. .

10.”US Consumer Confidence.” . 9.Trading Economics, n.d. Web. 12 Jul 2012. .

หมายเหตุ:

วรเทพ ยรรยงกุล เป็นผู้บริหารความเสี่ยงที่ Bank of America ณ สำนักงานใหญ่ ในเมือง Charlotte รัฐ North Carolina จบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ และปริญญาโทด้าน Information Technology ใช้ชีวิตในอเมริกานานกว่า 9 ปี นอกเหนือจากงานประจำ วรเทพได้ทำงานในฐานะ Director of Professional Development ให้กับ NAAAP (The National Association of Asian American Professionals)