ThaiPublica > คอลัมน์ > กรีซ กับวิกฤตเงินยูโร

กรีซ กับวิกฤตเงินยูโร

23 พฤษภาคม 2012


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ดูข่าวเรื่องกรีซแล้วเหมือนดูฟุตบอลครับ กรีซเป็นทีมบ๊วยท้ายตาราง มีสิทธิ์ตกชั้นในฤดูกาลหน้า ระยะหลังๆ ยังแพ้หลุดลุ่ยอยู่ตลอด ทีมใหญ่ทีมอื่นๆ เห็นแล้วเป็นห่วง (จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยห่วงกรีซเท่าไรหรอกครับ แต่กลัวกรีซพาเพื่อนออกจากลีกไปด้วย เดี๋ยวจะพากันพังไปทั้งลีก) เลยช่วยเตะเข้าข้างตัวเองบ้าง แอบเอาเงินไปอัดฉีดให้นักเตะกรีซบ้าง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไร

ตอนนี้คงเป็นช่วงต่อเวลาพิเศษครึ่งหลัง (หลังจากทดเวลาเจ็บกันมานานแล้ว) ให้นักเตะไปนั่งคิดกันในห้องพักว่าเอาไงต่อดี จะออกมาเตะตามกฎกันต่อ แต่แนวโน้มแพ้ต่อเนื่องมีสูง ทีมคงเจ็บปวดกันต่อไป หรือว่าจะออกจากลีกไปเตะแบบสบายๆ ตามลานวัด หรือว่าจะออกมาเล่นแบบผิดกติกาให้เพื่อนๆ บังคับออกจากลีกดี

ไม่น่าเชื่อนะครับ แค่ไม่กี่เดือนที่แล้ว ตลาดหุ้นเพิ่งจะดีใจที่กรีซสามารถหนีจากสภาพล้มละลายไปได้โดยการทำ debt swap คือบังคับให้เจ้าหนี้เอกชนของกรีซเอาพันธบัตรเก่ามาแลกกับพันธบัตรใหม่ ที่มีมูลค่าในปัจจุบันลดลงไปกว่า 70% แต่ถึงอย่างนั้น หลายๆ คนก็ยังมองว่ากรีซไม่น่ารอดอยู่ดี

ทำไมนะหรือครับ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังครับ คนส่วนใหญ่ดูว่าประเทศมีภาวะการคลังที่น่ายั่งยืนหรือไม่จากประมาณการปริมาณหนี้ต่อรายได้ซึ่งขึ้นอยู่กับสี่ปัจจัยสำคัญครับ คือ หนึ่ง ปริมาณหนี้ในปัจจุบัน สอง อัตราดอกเบี้ยที่จ่าย สาม แนวโน้มการเจริญเติบโตของรายได้หรือ GDP และสุดท้ายคือ ดุลการคลังก่อนจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ (primary surplus)

ถึงเจรจาลดหนี้ไปแล้ว กรีซยังมีหนี้สูงถึงเกือบ 150% ของ GDP (เพราะหนี้ในมือเอกชนที่ลดหนี้ไปนั้นไม่ถึงหนึ่งในสี่ของหนี้ทั้งหมดของกรีซ และหนี้ที่ลดลงไปก็ทดแทนด้วยหนี้ของ EU/ECB/IMF ที่เข้าช่วยเหลือกรีซเกือบจะทันที

อัตราดอกเบี้ยของกรีซในตลาดก็สูงเกือบ 20% (และเพิ่มขึ้นมาเป็น 30% ในระยะหลังนี้) แม้ว่าหนี้ที่ swap ไปใหม่จะจ่ายดอกเบี้ยแค่ 2% แต่กรีซไม่มีทางกลับเข้ามาขอยืมเงินจากตลาดการเงินได้อีกนาน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจกรีซยังหดตัวอยู่อย่างต่อเนื่องมาสี่ห้าปีแล้ว อย่างเดียวที่จะทำให้เจ้าหนี้เชื่อใจว่ากรีซจะมีเงินจ่ายคืนคือการใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก ทุกวันนี้ก็ตัดกันจนอัตราการว่างงานสูงเกือบ 20% แล้ว

อย่างที่ผมเคยบอกครับ ปัญหาปัจจุบันของกรีซและประเทศอื่นๆ ในยุโรปตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาทางการคลังครับ แต่มันคือปัญหาความสามารถทางการแข่งขัน (ที่เห็นได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงและต่อเนื่อง) ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้เงินยูโร ที่ทำให้กรีซไม่สามารถลดค่าเงินเพื่อปรับสภาพเศรษฐกิจของตัวเองได้

ปัจจุบันปัญหาเฉพาะหน้าของกรีซคือปัญหาดุลการชำระเงินครับ ด้วยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกว่าร้อยละสิบต่อปี หมายความว่ากรีซต้องหาเงินมาจ่ายค่าการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก และปัจจุบันคงไม่มีใครเอาเงินเข้าไปลงทุนในกรีซแน่ๆ ซ้ำร้ายเมื่อมีข่าวร้ายๆ เกี่ยวกับรัฐบาล ผู้ฝากเงินของกรีซก็เริ่มเอาขนเงินออกจากประเทศแล้วด้วย นอกจากนี้ ธนาคารในกรีซก็เริ่มหมดเครดิตและไม่มีใครอยากให้ธนาคารของกรีซยืมเงิน บัญชีทุนก็ติดลบแบบมโหฬาร

ถ้าปล่อยไปแบบนี้เรื่อยๆ และไม่มีเงินช่วยเหลือจากคนอื่น กรีซคงมีเงินไม่พอแม้แต่จ่ายค่านำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค ไม่ต้องนับเรื่องจ่ายคืนหนี้หรอกครับ

สถานการณ์ทางการเมืองก็ยิ่งทำให้วิกฤตของกรีซหนักข้อขึ้นไปอีก

หลังจากที่รัฐบาลล้มไปคราวก่อนหลังทำการลดหนี้ไปไม่นาน ส.ส. ของกรีซที่เลือกตั้งกันมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมก็ตกลงตั้งรัฐบาลกันไม่ได้ เพราะมีความเห็นต่างกันค่อนข้างมาก จนต้องยุบสภาไปเลือกตั้งใหม่กันอีกรอบในเดือนมิถุนายน ที่น่าสนใจคือ พรรคการเมืองที่มีความเห็นต่อต้านการใช้มาตรการรัดเข็มขัดมีคะแนนนิยมดีขึ้นเรื่อยๆ (จนได้ที่สองเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อน) ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจจะชนะการเลือกตั้งก็ได้ โดยพรรคนี้เชื่อว่า ถึงอย่างไรยุโรปก็ไม่ปล่อยให้กรีซออกจากยูโรหรอก แล้วเราจะมาทำร้ายตัวเองอยู่ทำไม

ถ้ามีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแล้วมีความเห็นคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดอย่างจริงจัง จนทำให้รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของ EU/ECB/IMF อีกละก็ มีหวังเราได้เห็นกรีซถูกตัดหางปล่อยวัด มีสิทธิหลุดออกจากยูโรแน่ๆ เพราะไม่มีใครอยากจะช่วยแล้ว

ระยะหลังๆ ผู้นำประเทศที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในขณะที่ประเทศตัวเองก็ต้องรัดเข็มขัดเหมือนกัน ถูกประชาชนลงโทษแพ้เลือกตั้งทั้งสนามเล็ก สนามใหญ่กันถ้วนหน้า ดูฝรั่งเศสและเยอรมันเป็นตัวอย่างสิครับ

มีคนบอกว่าถ้าเงินหมดก็พิมพ์เงินยูโรเองสิ ระบบการบริหารธนบัตรของประเทศในกลุ่มยูโรน่าสนใจทีเดียวครับ ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีการแบ่งการพิมพ์ธนบัตรไปตามประเทศต่างๆ โดยแต่ละประเทศสามารถออกธนบัตรได้ในจำนวนที่ได้รับอนุญาตจาก ECB เท่านั้น และมีหมายเลขบอกชัดเจนว่าธนบัตรแต่ละใบ “ออก” โดยธนาคารกลางประเทศใด เช่น ธนบัตรที่ออกโดยธนาคารกลางกรีซ ก็จะมี serial number ขึ้นต้นด้วยตัว Y หรือธนบัตรที่ออกโดย Bundesbank ก็จะขึ้นต้นด้วยตัว X ดังนี้เป็นต้น (ใครมีธนบัตรยูโรที่ออกโดยกรีซเยอะๆ ก็ระวังไว้หน่อยครับ)

แต่ธนบัตรที่ออกโดยแต่ละประเทศอาจจะพิมพ์มาจากประเทศอื่น เช่น โรงพิมพ์ที่กรีซสามารถพิมพ์ธนบัตรได้ราคาเดียวเท่านั้น ส่วนธนบัตรราคาอื่นๆ ต้องพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ในเยอรมันและเนเธอร์แลนด์เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีควบคุมการพิมพ์ธนบัตรได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ดี ถึงกรีซจะสามารถแอบพิมพ์ธนบัตรยูโรออกมาใช้เอง ก็ไม่ได้หมายความว่าปริมาณเงินจะเพิ่มมากขึ้นขนาดนั้น ธนบัตรที่ใช้เวียนกันอยู่นี้นับเป็นส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณเงินทั้งระบบ

มาถึงตอนนี้ หลายๆ คนคงสงสัยว่ากรีซจะออกจากยูโรได้อย่างไร อันนี้น่าสนใจครับ และเจ้าหน้าที่ของ ECB ได้ออกมายอมรับแล้วว่า เริ่มมีการพิจารณากรณีสมมุติดังกล่าวไว้แล้ว แม้ว่าผู้นำประเทศต่างๆ ในยุโรปเพิ่งจะยืนยันนอนยันกลางที่ประชุม G8 ว่า จะไม่ปล่อยให้กรีซออกจากยูโรเป็นแน่ (แต่จะให้พูดเป็นอย่างอื่นได้อย่างไรละครับ)

ผมว่าเป็นไปได้สองกรณีครับ คือ หนึ่ง กรีซออกจากยูโรเองพร้อมกับเบี้ยวหนี้ที่มีอยู่ พร้อมกับนำเงิน drachma กลับมาใช้ใหม่

และอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีที่กรีซทำตัวเกเรไม่ยอมทำตามคำมั่นสัญญาเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างด้านการคลังและรัดเข็มขัด เพื่อให้สามารถเกินดุลการคลังได้ตามที่สัญญาไว้กับ ECB/EU/IMF (เช่น ถ้ารัฐบาลใหม่นำโดยพรรคการเมืองที่ประกาศกร้าวว่าจะเบี้ยวสัญญา) และทำตัวแบบไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ในกรณีนั้น เป็นไปได้ว่าประเทศต่างๆ ในยูโรอาจจะตัดหางปล่อยวัดกรีซ หยุดให้เงินช่วยเหลือกับกรีซ กรณีนี้กรีซอยู่ได้ไม่นานแน่ๆ เพราะมีการขาดดุลบัญชีการชำระเงินค่อนข้างมาก ในกรณีนี้ กรีซคงหมดเงินที่จะนำมาจ่ายค่าสินค้านำเข้าในไม่ช้า ในขณะเดียวกัน เงินยูโรคงไหลออกจากระบบการเงินกรีซไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับเกิดเหตุการณ์ bank run ที่ประชาชนแห่ไปถอนเงินเพื่อความปลอดภัย เพื่อให้เศรษฐกิจอยู่ได้ กรีซคงต้องถูกบังคับให้พิมพ์ธนบัตร drachma กลับมาใช้เอง

แน่นอนครับ ทั้งสองกรณีกรีซต้องใช้มาตรการ capital control เพื่อป้องกันเงินไหลออกจากประเทศ และค่าเงินของกรีซคงลดฮวบฮาบเมื่อเทียบกับยูโร พร้อมๆ กับความวุ่นวายในประเทศ ลองนึกดูนะครับ ใครที่มีสินทรัพย์เป็นเงินยูโรคงต้องแห่กันไปแลกหรือแอบเอาออกนอกประเทศกันวุ่นวาย บริษัทที่มีสัญญาต่างๆ เป็นยูโรทั้งหมดคงมึนๆ สับสนกันไประยะหนึ่ง ธนาคารต่างชาติที่มีหนี้กับธนาคารหรือรัฐบาลกรีซคงไม่ต้องหวังได้เงินคืน หรือถ้าได้ก็คงได้เป็น drachma

ธนาคารกลางยุโรปคงต้องล้อมรั้วกันยกใหญ่ เพื่อไม่ให้นักลงทุนตื่นตะหนกคิดว่าประเทศอื่นอาจจะเลียนแบบหรือโดนบังคับให้ทำแบบกรีซ (หลายๆ คนเริ่มพูดถึงโปรตุเกส สเปน และอาจจะถึงอิตาลีกันแล้ว) ธนาคารเป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่ต้องระวัง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่คนหมดความมั่นใจแห่กันไปถอนเงิน ระบบการเงินคงล่มกันได้เลย ทุกวันนี้ค่าเงินยูโรเลยผันผวนหนัก เพราะหลายๆ คนกำลังตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่ากรณีน่ากลัวแบบนี้อาจจะเกิดขึ้น

แต่สิ่งที่กรีซอาจจะได้กลับมาจากการมีเงินของตัวเอง คือความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ที่อาจจะสามารถทำให้กรีซกลับมามีเศรษฐกิจที่สามารถแข่งขันได้อีกครั้ง จำสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยเมื่อปี 1997 หรือ Iceland ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจแบบรุนแรงได้ไหมครับ ทุกวันนี้เศรษฐกิจ Iceland กลับมาเติบโตได้อีกครั้งหลังจากค่าเงินลดไปกว่าครึ่ง และดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกแน่นอนครับ การปรับตัวผ่านราคาย่อมรวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าการปรับตัวผ่านการหดตัวของเศรษฐกิจเป็นไหนๆ

ผมว่ามีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ในอีกหกเดือนข้างหน้า คอยจับตาดูให้ดีครับ