ThaiPublica > คอลัมน์ > ภาพโป๊กลางสภา — ถามหามาตรฐานจริยธรรม

ภาพโป๊กลางสภา — ถามหามาตรฐานจริยธรรม

26 เมษายน 2012


รณพงศ์ คำนวณทิพย์
Twitter: @rockdaworld

“ดีเอสไอชี้ภาพโป๊ในสภา มาจากมือถือคนในห้องประชุม”
“86 มือถือเข้าข่าย ยิงภาพโป๊! ส.ส. – ส.ว. ระทึก 2 วันรู้ตัว”

ข่าวภาพโป๊โผล่บนจอทีวีกลางที่ประชุมสภาในสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นและพาดหัวใหญ่ของสำนักข่าวต่างๆ ลำพังเรื่องภาพหลุดต่างๆ โผล่ผ่านจอโทรทัศน์หรือโทรทัศน์วงจรปิดต่างๆ นั้น แน่นอนว่าเป็นความผิดที่น่าละอาย แต่ก็เป็นเรื่องที่เคยพบเห็นกันอยู่บ้างจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการถ่ายทอดสัญญาณหรือการขัดข้องทางเทคนิค แต่เหตุการณ์นี้กลับไม่ใช่เรื่องธรรมดา

หลังเกิดเหตุการณ์ ประธานรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ชี้แจงว่า “ภาพดังกล่าวอาจเป็นการแทรกมาจากวงจรภายนอก เพราะสภายังไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อย่างไรก็ตาม ก็ได้สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว”

ขณะที่รองเลขาธิการสภาฯ ระบุว่า “คาดว่าภาพดังกล่าวเกิดจากมีผู้ไม่หวังดีแฮกเกอร์เข้ามาในระบบเพื่อสร้างความวุ่นวาย ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบและติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีอย่างเร่งด่วนแล้ว”

ทั้งหมดนี้กลับถูกมองว่าเป็นข้อแก้ตัวมากกว่า เพราะการแฮ็กระบบโทรทัศน์วงจรปิดซึ่งไม่ใช่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ภายหลังพิสูจน์แล้วว่า น่าจะเกิดจากการส่งสัญญาณไวไฟผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่สามารถส่งภาพขึ้นจอรุ่นนั้นได้ และเป็นการส่งสัญญาณมาจากสมาชิกผู้ทรงเกียรติในที่ประชุมสภานั่นเอง

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ หากผู้กระทำคือ ส.ส. หรือ ส.ว. ในที่ประชุมสภาจริง กลับไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นเลย จนกระทั่งต้องให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอเข้ามาค้นหาความจริง น่าคิดว่าการทำงานของดีเอสไอที่มาจากเงินภาษีของประชาชนน่าจะถูกนำไปใช้ในเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่านี้หรือไม่

เรื่องนี้ชวนให้ผู้เขียนย้อนนึกถึงความหลังครั้งยังเป็นเด็กนักเรียน เมื่อเกิดกรณีความผิดในห้องเรียนที่หาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ครูประจำชั้นก็จะบอกว่า หากไม่มีผู้ออกมารับผิด นักเรียนทุกคนก็จะต้องเข้าแถวกอดอกให้ครูตีทีละคน เมื่อใช้มาตรการแบบนี้ในที่สุดผู้ทำความซึ่งอย่างไรก็ต้องถูกตีอยู่ดี ก็จะยืดอกออกมาแสดงความรับผิดอย่างสง่างามในสายตาของเพื่อนๆ

น่าเสียดายที่เราไม่ได้เห็นพฤติกรรมแบบนี้จากเหล่า ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้ถูกยกย่องให้เป็นผู้ทรงเกียรติแต่อย่างใด ทุกคนต่างปฏิเสธความรับผิดชอบและโยนความผิดกันไปมา หากผู้กระทำผิดออกมายอมรับความผิดและชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ก็น่าจะจบลงได้ง่ายๆ และสังคมก็อาจให้อภัย

ล่าสุดคาดว่าคงไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ เพราะผู้ผลิตจอทีวีออกมาแถลงแล้วว่า หากเป็นการส่งสัญญาณผ่านระบบไวไฟจริง ก็ไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้เพราะไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่าสัญญาณถูกส่งมาจากอุปกรณ์เครื่องใด

เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ เพราะขนาดความผิดที่เห็นชัดเจนแบบนี้ ก็ยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ นับประสาอะไรกับความผิดที่ใหญ่กว่านี้ อย่างเช่นกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำกันในที่ลับ

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ก็ออกมายืนยันในเรื่องนี้ ผลสำรวจเผยว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 83.3 รู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อรัฐสภาอันทรงเกียรติของประเทศ”

ถึงแม้ว่ากรณีนักการเมืองกระทำความผิดหลบหนีกฎหมายจะไม่ใช่เรื่องใหม่ ล่าสุดก็มีการเผยหลักฐานคลิปวีดีโอ ส.ส. กดบัตรแทนกันออกมาอีก เรื่องเหล่านี้ทำให้มาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองเหล่านี้ตกต่ำลงไปอีก และจะยิ่งทำให้คนดีๆ หันหลังให้กับการเมืองมากขึ้น ชึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเลย เพราะการเมืองเป็นเรื่องของประชาชน และเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก

ถึงเวลาหรือยังที่นักการเมืองและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกมายกเครื่องมาตรฐานจริยธรรมกันใหม่ อย่ามองข้ามการกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เพราะนั่นหมายถึงการนำไปสู่ความผิดที่ใหญ่มากขึ้น และความเสียหายต่อประเทศชาติ และวิกฤตศรัทธาของประชาชน

เรื่องนี้ยังแฝงข้อคิดอีกอย่างหนึ่งว่า อุปกรณ์ไฮเทคอย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ที่เหล่านักการเมืองเรียกร้องของบประมาณมาซื้อใช้นั้น แม้อยู่ในมือของผู้ที่มีวุฒิภาวะอย่าง ส.ส. หรือ ส.ว. ยังถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดชนิดไม่เลือกที่เลือกเวลาได้…

…นับประสาอะไรกับแท็บเล็ตที่รัฐบาลจะนำมาแจกเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ถึงแม้ว่าหากใช้ให้ดีก็จะเป็นประโยชน์ แต่หากใช้ในทางที่ผิดแล้วก็จะเกิดโทษมหันต์ตามมาเช่นกัน…

… ยิ่งผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้เด็กๆ เห็นแล้ว อนาคตของบ้านเมืองเราจะฝากไว้กับใครดีครับ?