ThaiPublica > คอลัมน์ > รัฐบาลควรทบทวน “รายการยา” ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยด่วน

รัฐบาลควรทบทวน “รายการยา” ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยด่วน

11 มีนาคม 2012


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิ์พลเมือง

จากข้อมูลการใช้ยาในระบบสวัสดิการข้าราชการจากรายงานของกรมบัญชีกลางตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ http://bps.ops.moph.go.th/moph/22%20เมย%202554/มาตรการการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล.pdf

ปรากฏว่าในจำนวนใบสั่งยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วย (ที่นับตามใบสั่งยา) สำหรับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิในระบบสวัสดิการข้าราชการ มีจำนวนการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติเฉลี่ย 66% โดยแยกตามโรงพยาบาลในสังกัดต่างๆดังนี้คือ

1.ใบสั่งยาจากโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย (โรงเรียนแพทย์) 65%

2.ใบสั่งยาจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 63%

3.ใบสั่งยาจากโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ 69%

กรมบัญชีกลางได้มีมาตรการตรวจสอบการใช้ยานอกบัญชียาหลัก โดยมอบให้พญ.สาวิตรี เมาฬีกุลไพโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคมะเร็ง และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาล(สพตร.)สำนักวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ไปตรวจสอบว่า แพทย์ที่สั่งยาต่างๆเหล่านี้ ได้ทำการสั่งยาเหมาะสมตามมาตรฐานหรือไม่ และได้ตัดสินว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ ได้ทำการสั่งยาอย่างไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ทั้งๆที่พญ.สาวิตรี เอง ไม่ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ

กรมบัญชีกลาง ได้รับทราบผลการตรวจสอบของผอ.สพตร. ที่ไปเก็บข้อมูลการสั่งยา และสรุปว่าแพทย์หลายๆแห่งใช้ยาไม่เหมาะสม รวมทั้งมีมาตรการกำหนดให้แพทย์ห้ามจ่ายยาหลายชนิดนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ตามที่ผอ.สพตร.เสนอ โดยที่ผอ.ได้อ้างเหตุผลหลายอย่างที่กล่าวว่า แพทย์จ่ายยาโดยไม่เหมาะสม ทั้งๆที่ผอ.สพตร.ไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย เปรียบเทียบระหว่างการใช้ยาในและนอกบัญชียาหลักแต่อย่างใด

แต่กรมบัญชีกลางก็เชื่อถือรายงานนั้นโดยทันที โดยที่รายงานนั้น ก็ไม่ได้อ้างอิงผลการวิจัยเปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยระหว่างการได้รับยานอกบัญชียาหลักที่หมอสั่ง กับยาที่มีในบัญชียาหลักแต่อย่างใด

ฉะนั้นกรมบัญชีกลางควรที่จะต้องมอบหมายให้นักวิชาการทางการแพทย์ ทำการศึกษาวิจัยเพื่อเปรียบเทียบว่ายาในบัญชียาหลักและนอกบัญชียาหลัก ในการรักษาโรคต่างๆนั้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่ากันหรือไม่ ทำไมแพทย์จึงต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักมากกว่ายาในบัญชียาหลัก (66%เทียบกับ 34% ตามรายงานของกรมบัญชีกลาง)

โดยผลการวิจัยนั้น ควรปฏิบัติตามระเบียบวิธีการวิจัย ที่น่าเชื่อถือ มีประจักษ์พยาน (Evidence-based) ในการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพ (ยาได้ผลดีจริงหรือไม่) และประสิทธิผลของยา (ว่ายานั้นได้ผลคุ้มค่าหรือไม่) ระหว่างยาในบัญชียาหลักที่กรมบัญชีกลางมีไว้ให้แพทย์เลือกใช้ กับยานอกบัญชียาหลักที่แพทย์สั่งถึง 66%นั้น ว่ายาในบัญชีกับยานอกบัญชี ยาตัวไหนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่ากัน

และคำถามสำคัญอีกคำถามหนึ่งก็คือ เป็นเพราะเหตุใดจึงทำให้แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยชอบที่จะสั่งยา ที่อยู่นอกบัญชียาหลัก ถึง 66%

คำตอบต่อคำถามนี้ น่าจะได้มาจากการทำวิจัยที่ถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัยที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่จากการไป “สรุป”เอาเองจาการตรวจสอบเวชระเบียน (เท่านั้น)ว่า เป็นเพราะแพทย์ทุจริตและมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยาเท่านั้น

จริงอยู่อาจจะมีการทุจริตทั้งที่เกิดจากแพทย์หรือผู้ป่วยก็อาจเป็นได้ แต่แพทย์ส่วนมากน่าจะสั่งยานั้นๆเนื่องจากได้รับรู้จากงานวิจัยทางคลินิกจากต่างประเทศ หรือจากในประเทศ ว่ายาเหล่านั้นมีประสิทธิภาพดีกว่ายาที่มีในรายการบัญชียาหลัก

หรือแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย ได้เฝ้าติดตามผลการรักษาผู้ป่วยของตน เป็นจำนวนมากพอ และได้ตระหนักว่ายานอกบัญชียาหลักมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่ายาการใช้ยาในบัญชียาหลัก เนื่องจากยาเหล่านี้ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วยได้ดีกว่า ช่วยให้ผู้ป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยา ในบัญชียาหลักใช่หรือไม่

ถึงแม้ว่ายานอกบัญชียาหลักจะมีราคาสูงกว่ายาที่อยู่ในบัญชียาหลัก แต่ผลการรักษาก็อาจคุ้มค่ากว่า (เช่น ทำให้หายป่วยเร็วกว่า โรคไม่ดื้อยา ไม่มีอาการแทรกซ้อนหรือผลอันไม่พึงประสงค์ และไม่เจ็บป่วยเรื้อรัง) และมีผลดีต่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง

ฉะนั้นน่าจะถึงเวลาที่ควรจะมีการทบทวนรายการยาในบัญชียาหลัก ว่ามีครบถ้วนและเหมาะสมในการรักษาโรคต่างๆในปัจจุบันแล้วหรือไม่ ควรจะมีรายการยาเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรคเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนายาใหม่ที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่ายาเดิมมากขึ้น

จึงขอเสนอว่า รัฐบาล “ต้อง” มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และหน่วยงานวิชาการทางการแพทย์ เช่นราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทาง หรือคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำการวิจัย เรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยาต่างๆ ที่กรมบัญชีกลางกำลังพยายามที่จะห้ามสั่งจ่าย ให้แก่ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่ายาในบัญชียาหลัก และทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีจริงหรือไม่อย่างไร ก่อนที่กรมบัญชีกลางจะไป “ลิดรอนสิทธิ์” ข้าราชการ จากการฟังความเห็นของแพทย์คนเดียว และจากการกำหนดให้ใช้เฉพาะยาในรายการบัญชียาหลัก ที่ไม่ทันกับความเจริญก้าวหน้า และพัฒนาการของวิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบัน

เมื่อได้ผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบแล้ว จึงค่อยมาสรุปว่าบัญชียาหลักของประเทศไทยในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่ สมควรที่จะให้ผู้ป่วยไทยได้รับการรักษาเฉพาะยาในบัญชียาหลักเท่านั้นหรือ

หรือถึงเวลาที่สมควรจะต้องแก้ไขปรับปรุงบัญชียาหลักใหม่ให้ทันสมัย เหมาะสมกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน

เนื่องจากมียาใหม่ๆมากมายที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติในปัจจุบัน และแพทย์ก็ชอบที่จะสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักถึง 66%

มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ถูกกรมบัญชีกลาง “เรียกเงินจากการเบิกค่ายานอกบัญชียาหลัก” ส่งคืนให้กรมบัญชีกลาง ตามเหตุผลที่ทางผอ.สพตร.ได้อ้างว่า “จ่ายยาไม่สมเหตุผล” และแพทย์บางคนก็ “ถูกกล่าวหา”ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือทำการทุจริต แต่โรงพยาบาลเหล่านั้นบางแห่งได้ยืนยันว่า แพทย์ได้สั่งจ่ายยาอย่างสมเหตุผลแล้ว และไม่ยอมคืนเงินให้กรมบัญชีกลาง

แต่ก็มีอีกหลายโรงพยาบาลที่กำลังถูกสอบสวน บางโรงพยาบาลผู้บริหารก็ยอมคืนเงิน แต่แพทย์ผู้สั่งยาก็รู้สึกว่า “ไม่ยุติธรรม” ที่ผู้บริหารโรงพยาบาล ไม่ได้ตรวจสอบการทำงานของตนว่า “ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่” แต่ยอมทำตามที่กรมบัญชีกลางเรียกร้องตามการตรวจสอบของพญ.สาวิตรี เมาฬีกุลไพโรจน์เท่านั้น

จากการตรวจสอบรายชื่อคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ จะเห็นได้ว่า มีอนุกรรมการทั้งสิ้น 28 คน มีนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ มีกรรมการตามตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ด้านการแพทย์หรือยาอยู่ 5 คน

ข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติก็คือ ควรจัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แต่ละสาขา เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่า ยาใดสมควรที่จะบรรจุไว้ในบัญชียาหลัก ตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆเห็นสมควร

ไม่ใช่ว่าไม่ยอมนำยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่า มาบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพียงเพราะว่าราคาสูงเกินไปเท่านั้น โดยไม่ฟังเสียงผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ได้อาศัยประจักษ์พยานจากการวิจัยมาสนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดยารักษาผู้ป่วย

จะเห็นได้ว่า เมื่อกรมบัญชีกลางได้อ้างผลการวิจัยที่นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยของสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้อ้างว่ายากลูโคซามีน ไม่มีผลในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม และได้เสนอให้กรมบัญชีกลาง “เลิกจ่ายยากลูโคซามีน” ให้แก่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระบบสวัสดิการข้าราชการ

ข้าราชการจึงได้ไปร้องเรียนให้มีการตรวจสอบผลการวิจัยนั้น และราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปีดิกซ์ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ได้ออกมาโต้แย้งว่า นพ.สุวิทย์ว่าได้อ้างผลการวิจัยที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไปอ้างผลการวิจัยของ “กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์” ซึ่งเป็น “อาหารเสริม” แต่ยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมก็คือ “กลูโคซามีนซัลเฟต” ซึ่งเป็นอนุมูลคนละตัวกับที่นพ.สุวิทย์กล่าวอ้าง และราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปีดิกส์ได้ยืนยันว่า ยากลูโคซามีนซัลเฟตที่แพทย์สั่งจ่ายเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น มีประสิทธิภาพดีและช่วยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจริง จนเป็นเหตุผลสำคัญที่กรมบัญชีกลางต้องยกเลิกการประกาศห้ามใช้ยากลูโคซามีนมาแล้ว

ฉะนั้น เพื่อความเหมาะสมตามหลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน และตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยที่ทันยุคทันสมัย เพื่อคุณภาพการรักษาผู้ป่วยและคุณภาพชีวิตผู้ป่วย จึงขอเสนอในนามผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และในนามของกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมืองว่า ถึงเวลาที่นักวิชาการทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางการแพทย์ทุกสาขา รวมทั้งนักวิชาการด้านเภสัชกร ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้เหมาะสมตามเป้าหมายที่สำคัญคือ “เพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาผู้ป่วย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย” ไม่ใช่เอา “งบประมาณ” มาเป็นตัวกำหนดรายการยาเพื่อ “ประหยัดงบประมาณ” เท่านั้น

รัฐบาลควรต้องรีบดำเนินการในการแก้ไขการ การกำหนดรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยด่วนที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ

ทั้งนี้การ “จำกัดรายการยาในบัญชียาหลัก” ที่ไม่ครอบคลุมยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เป็นการ “ลิดรอนสิทธิ์” ของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันนี้ จะมีแต่ผู้ป่วยที่ “จ่ายเงินเอง” ในการรักษาตัวเท่านั้น จึงจะมี “โอกาส”ในการได้รับยา “ตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาอย่างเหมาะสมที่สุด” ในการรักษาความเจ็บป่วยของตน