ThaiPublica > เกาะกระแส > มองภัยพิบัติน้ำท่วมในมิติ “วัฒนธรรม”

มองภัยพิบัติน้ำท่วมในมิติ “วัฒนธรรม”

9 ธันวาคม 2011


ปรากฏการณ์น้ำท่วมช่วง 2-3 เดือนที่ผ่าน ประเด็นที่กล่าวถึงส่วนใหญ่เป็นมิติทางด้านเศรษฐกิจ คือมุ่งประเมิน ตรวจสอบความเสียหาย ความสูญ และการดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

แต่ปรากฏการน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ ยังมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งมิติทางสังคม และวัฒนธรรม ที่อาจถูกมองข้ามหรือถูกจัดลำดับความสำคัญในอันดับรองๆ ลงมาของการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ทั้งที่มิติด้านสังคม และวัฒนธรรม มีนัยสำคัญต่อบริบทการแก้ปัญหาเรื่องน้ำไม่น้อยไปกว่ามิติทางด้านเศรษฐกิจ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเข้าใจมิติด้านสังคม และวัฒนธรรม เพื่อจะได้เข้าใจ เข้าถึง และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มที่พยายามผลักดันแนวคิดใน 2 มิติดังกล่าวคือ “ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง” สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม จัดสัมมนาในหัวข้อ “ภัยพิบัติน้ำท่วมกับมิติใหม่ของสังคม” โดยเชิญกลุ่มพลังทางสังคมรูปแบบใหม่ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการถอดประสบการณ์โมเดลสินามิถึงน้ำท่วมปี 2554 ตามที่ไทยพับลิก้าได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ (ถอดโมเดลสึนามิถึงวิกฤตน้ำท่วม’54 จากจิตอาสาสู่เครือข่ายถาวร – จากการ “ให้” เป็น “พัฒนา”, มิติใหม่พลังทางสังคมกับการจัดการภัยพิบัติ – ความเป็นธรรม – ความมั่นคงทางอาหาร )

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “ภัยพิบัติน้ำท่วมในมิติวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากการเสวนาครั้งแรก การเสวนามี 2 หัวข้อหลักคือ “มิติของสังคมและวัฒนธรรมกับการจัดการน้ำท่วม” กับ “ความเป็นธรรมและความถูกต้องในการจัดการน้ำท่วม : กฎหมาย สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และสารพิษ”

วัฒนธรรมความเชื่อเป็น “ดาบสองคม”

ในหัวข้อ “มิติของสังคมและวัฒนธรรมกับการจัดการน้ำ” มีประเด็นนำเสนอของนายชัยยุทธ สุขศรี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ “วัฒนธรรมความเชื่อ” ที่เชื่อว่าวิศวกรเก่ง เหมือนกับเชื่อว่าคุณหมอเก่ง วัฒนธรรมนี้ไม่ได้กล่าวหาว่าทั้งสองอาชีพเชื่อไม่ได้ แต่ความเชื่อนี้กลายเป็นดาบสองคม ทำให้สังคมไม่กล้าตั้งคำถาม

นายชัยยุทธ สุขศรี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายชัยยุทธ สุขศรี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายชัยยุทธ อธิบายว่าน้ำท่วมไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นในปี 2538 ปี 2549 ซึ่งในปี 2549 มีการศึกษา มีข้อเสนอให้ผู้รับผิดชอบตัดสินใจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นดูเหมือนสังคมไว้วางใจผู้ทำหน้าที่วิศวกรมากเกินไป เลยไม่ตรวจสอบข้อมูล อย่างกรณีล่าสุดมีแนวคิดสร้างอุโมงค์ยักษ์ความยาว 100 กิโลเมตร แก้ปัญหาน้ำท่วม ทันทีที่มีปัญหาการจัดการน้ำเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

วิธีการคิด การหาคำตอบ ที่เสนอออกมาอย่าง “ฉับไว ฉับพลัน” เจอปัญหาตอนเย็น รุ่งเช้ามีคำตอบ นี่คือ “วัฒนธรรมวิศวกร

แต่ในความเป็นจริงการสร้างอุโมงค์ยักษ์ จะมองเฉพาะทางวิศวกรรมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องศึกษาความเป็นไปได้ด้วย ทั้งด้านด้านเศรษฐกิจ การเงิน รวมถึงต้องมองความเป็นไปได้ทางสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมด้วย แต่ยังไม่เห็นข้อเสนอที่เป็นหลักเป็นฐานเชิงวิชาการอย่างชัดเจน รวมถึงหากจะทำจริงต้องศึกษาผลกระทบมากมายต่อระบบนิเวศเพราะเรากำลังสร้างเส้นทางใหม่ให้น้ำเดิน ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต้องตั้งคำถามให้มาก ต้องช่วยกันดูช่วยกันตรวจสอบ

“วิศวกร ก็มีส่วนในการสร้างความเข้าใจผิดในสังคมส่วนหนึ่ง เพราะเราเน้นโครงสร้างมากไป ต้องมองด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ลากเส้นแล้วคือคำตอบ ไปขอเงินงบประมาณ ไม่เช่นนั้นกลัวว่าจะกลายเป็นขั้นตอนทำให้ใครสักคนกำลังสร้างเมกกะโปรเจกให้เกิดขึ้น ประเด็นนี้ต้องระวัง”นายชัยยุทธกล่าว

เสนอเปิดข้อมูลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ส่วนใหญ่มุ่งไปเรื่องการบริหารจัดการน้ำ แต่นายชัยยุทธ มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องน้ำ แต่เป็นเรื่องการใช้ดิน ซึ่งเราเติบโตมากับการใช้ที่ดินอย่างไร้ระเบียบ ผังเมืองบังคับใช้ไม่ได้ และสังคมไม่เข้าใจนิเวศวิทยาทางน้ำว่าพื้นที่ที่อยู่เป็นทางน้ำ หรือเสี่ยงน้ำท่วม น้ำหลากหรือไม่อย่างไร

ดังนั้นต้องพยายามผลักดันให้เปิดเผยข้อมูลที่จะบอกรายละเอียดว่าระดับความสูงของพื้นที่เมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ประชาชนเข้าถึงมากที่สุด ซึ่งในต่างประเทศมีการเปิดเผยให้สาธารณะชนเข้าถึง แต่ประเทศไทยไม่มี ส่วนใหญ่ใช้ในแวดวงวิชาการ

ข้อมูลดังกล่าวพัฒนาจากแบบจำลอง “Digital Elevation Model” หรือ DEM เป็นข้อมูลที่กรมพัฒนาที่ดินใช้ประโยชน์ในเชิงการเกษตร การชลประทาน เป็นหลัก แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เปิดกันแค่นั้น ควรนำมาใช้กับกรณีน้ำท่วมได้ด้วย

“ข้อมูลแบบเดียวกัน สามารถนำมาใช้ในเรื่องการตั้งถิ่นฐานได้ด้วย ไม่ควรปิดกั้นใช้เฉพาะในวงวิชาการ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลชุดนี้อาจกระทบต่อราคาที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งบวกและลบ แต่เรื่องนี้ถ้าทำได้ก็เสมอตัว แต่ถ้าไม่ทำสังคมก็ขาดทุน แล้วจะยอมขาดทุน ยอมจ่ายทุกครั้งที่มีน้ำท่วม แล้วจะปล่อยไปแบบนี้โดยไม่ตั้งคำถามหรืออย่างไร” นายชัยยุทธกล่าว

อีกข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจของนายชัยยุทธ คือ บ้านจัดสรรที่ปลูกในพื้นที่น้ำท่วม ขวางทางกันน้ำ จริงๆ แล้วผู้ประกอบการบ้านจัดสรรควรรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เพราะในการก่อสร้างต้องทราบดีว่าพื้นที่ดังกล่าวเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงน้ำท่วมถึง ดังนั้น น่าจะเขียนเป็นเงื่อนไขประกาศในกระทรวงมหาดไทยว่า บ้านจัดสรรต้องดูแลเรืองนี้ให้ลูกบ้านด้วย

“เกิดเหตุการณ์แบบนี้แก้กฎกระทรวงไม่ได้หรือ แม้จะทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรลดลงบ้าง แต่ที่เสียไปมันคุ้มหรือไม่” นายชัยยุทธกล่าว

นายแมน ปุโรทกานนท์  เลขาธิการมูลนิธิ Thai Water Partnership
นายแมน ปุโรทกานนท์ เลขาธิการมูลนิธิ Thai Water Partnership

ท้องถิ่นใช้ “personal connection” แก้ปัญหา

นายแมน ปุโรทกานนท์ เลขาธิการมูลนิธิ Thai Water Partnership ซึ่งลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำใน 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี นครสวรรค์ และอุทัยธานี พบว่า การจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่พบความเป็นระบบ ไม่พบการจัดการเชิงสถาบันใดๆ เลย พบแต่กรณีการใช้ “ปัจเจกชน” คือ หน่วยงานท้องถิ่น เช่น นายกองค์บริหารส่วนตำบล (อบต.) เวลาทำงานจะทำงานด้วยการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว เครือข่ายส่วนตัว (personal connection) ติดต่อขอความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ของตัว

ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมความเป็นปัจเจกชนของผู้นำท้องถิ่น ที่นายแมนไปพบคือ ผู้นำของตำบลหาดทนง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวติดต่อขอถุงยังชีพมาช่วยชาวบ้าน ทำให้ครัวเรือนหนึ่งได้รับถุงยังชีพมากที่สุดถึง 47 ครั้ง หรือกรณีที่ตำลบทับเกตุ อำเภอชุมแสง จังหวัดอุทัยธานี ที่ผู้นำมีบุคลิกเป็นคนปากหวาน พูดเพราะ ยกมือไหว้ทุกคน ทำให้สามารถเจรจาช่วยให้รถไฟจอดรับคนในหมู่บ้านไปรับเงินชดเชยน้ำท่วม 5,000 บาท เหมือนรถเมล์จอดรับคนทุกป้าย

“การช่วยเหลือในระดับท้องถิ่นเป็นคนละเรื่องกับระบบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ. ดูแล้วมันสวนทางกัน ด้วยอำนาจตามพ.ร.บ.มีปัญหาในการใช้ ยิ่งใช้ในแนวดิ่งยิ่งลำบาก และการปล่อยให้เกิดวัฒนธรรมการแก้ปัญหาแบบปัจเจกชนแบบนี้พบว่ามีผู้นำบางคนใช้เรื่องแบบนี้แข่งขันทางการเมืองทุกระดับ”นายแมนกล่าว

ทั้งนี้ เลขาธิการมูลนิธิ Thai Water Partnership ยังแสดงความเป็นกังวลว่า การแก้ปัญหาภัยพิบัติที่มีลักษณะปัจเจกชนของผู้นำ เห็นได้ในท้องถิ่นภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียง เกือบทุกพื้นที่ หากทิ้งไว้แบบนี้อาจสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมา คือทำให้สังคมเกิดการแบ่งแยกเป็นชุมชนของฉัน ชุมชนของเธอ จนกลายเป็นปัญหาขัดแย้งในที่สุด รวมถึงปัญหาการเมืองท้องถิ่นที่อาจรุนแรงขึ้น ในขณะที่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบของส่วนกลางเข้าไปไม่ถึง และทำอะไรไม่ได้เลย

ดังนั้นเรื่องการกระจายอำนาจต้องมีการทบทวนหรือไม่ เป็นประเด็นคำถามที่เลขาธิการมูลนิธิ Thai Water Partnership ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายไว้ให้คิด

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

ยึดหลัก “นิติรัฐ” สร้างความเป็นธรรม

ขณะที่ในหัวข้อ “ความเป็นธรรมและความถูกต้องในการจัดการน้ำท่วม : กฎหมาย สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และสารพิษ” เริ่มจากประเด็นทางกฎหมาย ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ แสดงความเห็นว่า ประเด็นความถูกต้องและความเป็นธรรม อยู่ในทุกส่วนของการจัดการน้ำท่วม

โดยเริ่มตั้งแต่การจัดการที่ดี น้ำก็ไม่ท่วม และทุกอย่างต้องมองมิติของชุมชน ให้แต่ละฝ่ายเข้ามาร่วมในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญเมื่อมีภัยพิบัติต้องยึดหลัก “นิติรัฐ” คือต้องเคารพสิทธิขั้นฐาน การจะเลือกใครได้ประโยชน์เสียประโยชน์จะต้องมีเหตุมีผลที่ถูกต้อง และเมื่อมีภัยต้องเยียวยาให้เป็นธรรมด้วย

“แต่จะตัดสินใจอย่างไรให้ถูกต้อง จะตัดสินใจอย่างไรให้เป็นธรรม เป็นความท้าทายที่ให้โจทย์กับผู้บริหารและทุกๆ ฝ่ายต้องพิจารณา”ดร.สุนทรียากล่าว

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม

วัฒนธรรมปิดข้อมูล อุปสรรคประเมิน”สารพิษ”

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความกังวลว่า ปัญหาน้ำท่วมทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกนิคมเร่งสูบน้ำออกโดยไม่มีการป้องกัน ตรวจสอบน้ำที่สูบออกไป ก็อาจกระทบประชาชนที่รับน้ำที่สูบออก ที่สำคัญสารเคมีรั่วไหลไม่มีเฉพาะอุตสาหกรรมในนิคมฯเท่านั้น แต่นอกนิคมอุตสาหกรมก็มี และอาจไม่มีการจัดการยิ่งแย่ รวมถึงหลุมฝังกลบขยะหลายแห่งถูกน้ำท่วม สารเคมีในไร่นา หรือแม้แต่อู่รถยนต์ เมื่อถูกน้ำท่วม สารเคมีต่างๆ จะไหลผสมกันไปเป็นจำนวนมากไม่รู้เท่าไร

ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ ความเสี่ยงจากสารเคมีอันเกิดจากอุทกภัยยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ มีเพียงบอกว่าได้ตรวจสอบแล้วเจอไม่เจออะไร แต่ไม่มีใครบอกว่าชาวบ้านมีความเสี่ยงแค่ไหน จะป้องกันอย่างไร ขณะที่ทางศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ก็พยายามประเมินความเสี่ยง แต่ดร.สุจิตรายอมรับว่า ทำได้ยากเพราะไม่มีข้อมูลรอบด้าน อาจมีบ้างแต่ไม่ทันสมัย นี่คือปัญหาอุปสรรคทำให้ประเมินไม่ได้ว่ามีสารเคมีอยู่ในพื้นที่ใด จำนวนเท่าไร

“ปัจจุบันไม่มีเจ้าภาพว่าประชาชนมีความเสี่ยงที่เกิดจากภัยน้ำท่วมแค่ไหน เพราะภาครัฐมักมีวัฒนธรรมไม่เปิดเผยข้อมูลรอบด้าน ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ จะมีหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดเหตุการณ์พายุแคทรีนา เขาตั้งทีมตรวจวัดคุณภาพน้ำและสารพิษทันที แต่เราแค่ตรวจขั้นพื้นฐานเท่านั้น”ดร.สุจิตรากล่าว

นางเพ็ญโฉม แช่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
นางเพ็ญโฉม แช่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

ผลักดันใช้ก.ม.เปิดข้อมูลสารพิษอันตราย

นางเพ็ญโฉม แช่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เรียกร้องว่า ประเทศไทยต้องมีการผลักดันกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายการเปิดเผยข้อมูลสารเคมีเป็นพิษอันตรายให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องไปยื่นเรื่องร้องขอ หรือใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพราะอาจไม่ทันกาล ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมในต่างประเทศจะมีกฎหมายบังคับและกำหนดให้หน่วยราชการเปิดเผยข้อมูลว่า โรงงานแต่ละแห่งมีสารเคมีอะไร จำนวนเท่าไร เมื่อเกิดความเสียหายจะได้จัดการได้ง่ายกว่า

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยกตัวอย่างว่า กรณีนิคมอุตสาหกรรมบางประอิน มีเตาเผาขยะ บ่อกำจัดน้ำเสีย ทางกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม พยายามเข้าไปตรวจสอบคุณภาพน้ำและสารพิษ แต่ยืนยันว่าตรวจไม่เจอ เพราะมวลน้ำมากทำให้เจือจาง แต่ตั้งข้อสังเกตว่า การตรวจโลหะหนักอาจตรวจ 10 ตัว แต่สารเคมีมีเป็น 100 ตัว ถ้าไม่ตรวจก็ไม่เจอ ดังนั้นจึงประเมินไม่ได้ว่าสารเคมีอันตรายที่ไปกับน้ำมีปริมาณเท่าไร และจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร

“ได้ข้อมูลว่า 7 นิคมอุตสาหกรรมมีขยะอันตรายที่ต้องฝังกลบ 178,000 ตัน ดังนั้นปัญหาขยะใหญ่มาก ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ไม่มีใครตอบได้ว่า 7 นิคมฯ มีสารเคมีกี่ชนิด เก็บที่ไหน สะท้อนให้คิดย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วเรื่องสารเคมีคลองเตยระเบิด สารเคมีที่ไหม้ไฟปริมาณเท่าไร อันตรายอย่างไร กรมท่าเรือปิดเงียบ มาครั้งนี้ก็เหมือนเรื่องเกิดซ้ำซาก เพราะฉะนั้นต้องผลัดกันกฎหมายเปิดเผยข้อมูลสารเคมีเป็นพิษอันตราย การเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้จะได้ไม่สูญเปล่า” นางเพ็ญโฉมกล่าว

ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จี้หาคนรับผิดชอบ

ขณะที่ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยคือ วัฒนธรรม”ผักชีโรยหน้า” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับประเทศถึงระดับย่อย ที่เราต้องแก้ไขให้ได้ เพราะกำลังจะก่อตัวกลายเป็นวัฒนธรรมซึ่งเป็นเหมือน “การละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” คือ ไม่ทำเอง แต่คอยชิม สะท้อนได้จากหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ทำให้ปัญหาน้ำท่วมกลายเป็นภัยพิบัติ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควบคุมได้

ประเด็นโครงสร้างทางกฎหมายในการจัดการภัยพิบัติ ดร.กิตติศักดิ์ บอกว่า แบ่งเป็นภัยพิบัติที่ควบคุมได้ และภัยพิบัติที่ควบคุมไม่ได้ โดยภัยพิบัติที่ควบคุมไม่ได้ คือ ภัยก่อการร้าย แต่อาจบรรเทาให้เกิดขึ้นยากที่สุดหรือเกิดแล้วให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

ส่วนกรณี เรื่องน้ำ ดร.กิตติศักดิ์ ถือเป็นที่ภัยพิบัติที่ควบคุมได้ เพราะมีการจัดทำสถิติระดับน้ำของกรมชลประทาน และมีพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งกำหนดให้มีการฝึกซ้อม แต่ทำจริงหรือไม่ไม่ทราบ และสามารถป้องกันได้ตั้งแต่การวางผังเมือง การจัดการทางน้ำ(ฟลัดเวย์) แต่การเปลี่ยนแปลงผังเมืองสะท้อนเราไม่ได้วิเคราะห์ภัย ซึ่งต้องฝึกให้เกิดขึ้นในระบบราชการไทย แต่กลับเป็นการใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลผังเมือง ที่ขาดความรับผิดชอบ

“ทุกขั้นตอนมีกฎหมายกำหนด และให้อำนาจดำเนินการ แต่ไม่มีใครทำตามหน้าที่ ดังนั้นเราต้องไปจี้หาคนรับผิดชอบ คือต้องสร้างวัฒนธรรมรับผิด ไม่ใช่รับชอบอย่างเดียว” ดร.กิตติศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.กิตติศักดิ์ มองว่าถ้าสังคมลุกขึ้นมาชี้ว่าใครควรจะ”หัวขาด”หรือจี้ให้รับผิดชอบ จะมีผลกระทบกระตุกให้เกิดการขยับทุกภาคส่วน และหลุดพ้นจากวังวนวัฒนธรรม”การละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” ได้

“การหาคนรับผิดชอบ เป็นคดีที่ต้องทำให้ยุติลง เพราะความยุติธรรมกับความยั่งยืนต้องไปด้วยกัน และเมื่อพูดเรื่องความเป็นธรรมก็ต้องพูดเรื่องความรับผิด และความรับชอบ อย่าปล่อยให้อึมครึม และเวลาพูดเรื่องความเป็นธรรม ก็ต้องพูดเรื่องความรับผิดชอบด้วย” ดร. กิตติศักดิ์กล่าว