ThaiPublica > คอลัมน์ > 7 Deadly Sins ตอนที่ 2

7 Deadly Sins ตอนที่ 2

17 ธันวาคม 2011


กระทิงโทน

บาปข้อที่ 4 แก้งานกันเป็นชาติ

ข้อนี้ก็สืบเนื่องมาจากตอนที่แล้ว ข้อที่ 3 คือ Brief งานไม่เคลียร์ ก็เลยเป็นเหตุให้ต้องแก้งานมันทุกสิ่ง กรณีนี้เป็นกรณีที่เกิดจากวิธีคิดของฝั่งลูกค้าของนิตยสารว่า ก็ฉันจ่ายเงินแล้ว ฉันก็มีสิทธิจะแก้ทุกอย่างที่ฉันต้องการสิ ว่าแล้วก็ขอเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ ซึ่งบ่อยๆ ก็มักจะเป็นอาการประหลาดมากตรงที่ มีเวลาตั้งนานให้แก้ ก็ไม่แก้ แต่พอใกล้เวลาที่จะต้องปิดเล่ม ส่งโรงพิมพ์ อาทิเช่น นิตยสารมีกำหนดเวลาที่จะส่งงานเข้าโรงพิมพ์ในเวลาสองทุ่ม ลูกค้าก็แก้ติดพันไปจนโน่น กว่าจะส่งทุกอย่างที่ตัวเองขอแก้มาให้ก็ปาเข้าไปทุ่มสี่สิบห้า ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ส่งซะชาติหน้าเลย แถมที่ส่งมานั้นก็เป็นการแก้แบบคุณพระคุณเจ้าช่วยมาก คือ ฟอนต์ (ตัวหนังสือ) สีดำทะมึนเกินไป เห็นแล้วเครียด (แล้วมาเครียดอะไรตอนนี้) สินค้าควรจะขยับไปอยู่ทางขวาของนิตยสารอีกประมาณ 2 เซ็นต์ เพราะจะได้ไม่รู้สึกว่าภาพแน่นและอึดอัดสายตามากเกินไป (โอ้ววว ที่หายไปนานสองนานนี่ไปปรึกษากับจักษุแพทย์มาเลยหรือเปล่า) หรือแก้กระทั่งข้อความที่ตัวเองรู้สึกว่าขายของเกินไป (เอ๊า แล้วตกลงจะขายหรือไม่ขาย ลงแอดแล้วไม่อยากขายของซะอย่างนั้น แต่ถ้าจะให้ขายให้เนียนกว่านี้ ก็ต้องไม่ให้มีรูปหรือชื่อสินค้า แต่คุณก็ไม่เอาอีก ไม่ใช่หรือ? แต่บอกแล้วว่าโลกนี้ไม่มีแอดเนียน ทำยังไงคนอ่านเขาก็รู้ว่าเป็นแอดอยู่ดี)

พูดก็พูดเถอะว่า มันเป็นการแก้ที่ใกล้เคียงการแก้กรรมเก่าจากชาติที่แล้วมาก เพราะแก้กันละเอียดยิบ ราวกับว่าทุกอย่างมีผลกับชีวิตมากชนิดที่ว่าถ้ามองผ่านไปบริษัทจะย่อยยับอับปางลงภายในสิ้นเดือน ซึ่งคนทำงานฝั่งนิตยสารที่ต้องรองรับอารมณ์และการแก้ที่แสนจะกรรมเวร (ของกรู) นี้ ก็ต้องนั่งทำงานงกๆ แก้ไปตามใจลูกค้าที่เคารพ แต่ไม่เคารพเวลาของคนอื่นใดในโลกเลย

คุณลูกค้าจะทราบไหมว่า เมื่อคุณส่งงานแก้ครั้งสุดท้ายมาแล้ว คุณก็สามารถออกจากออฟฟิศคุณ ไปลั้ลลาอยู่ตามซอยทองหล่อได้เลย (โดยมีข้ออ้างว่า ให้รางวัลตัวเองหน่อย ฉันเหนื่อยแก้งานดึกๆ ดื่นๆ มานะ) ขณะที่ฝั่งคนทำงานที่ก็มีบ้านต้องกลับ มีครอบครัวรออยู่ แต่ต้องนั่งแก้งานอีกอย่างน้อยเป็นชั่วโมงก่อนส่งโรงพิมพ์ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าห้ามแก้เลย เพราะถึงอย่างไร ฝั่งคนทำนิตยสารก็เข้าใจอยู่แล้วว่าทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง คนซื้อหน้าแอด (ที่มาจ้างให้นิตยสารทำแอดให้อีกทีด้วยนะ) ก็ต้องอยากได้ในสิ่งที่ดีที่สุด คุ้มที่สุด แต่คำว่าดีและคุ้มนั้น ควรจะอยู่บนพื้นฐานของความพอเหมาะพอควร และเห็นใจคนอื่นบ้าง เคารพเส้นตายในการทำงานบ้าง ไม่มีใครว่า ถ้าคุณแก้เพราะข้อมูลในแอดผิดและมีผลเสียต่อสินค้าของคุณ แต่ไม่ใช่แก้เพราะความพอใจของคุณไม่นิ่งเอง และไม่ใช่แก้เพราะคิดว่าฉันจะส่งช้าแค่ไหนก็ได้เพราะฉันเป็นลูกค้า ถ้าไม่ทำตามก็จะถอนแอด

จะว่าไป ปัญหาเหล่านี้ คนทำนิตยสารก็ปวดหัวมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว แต่เป็นปัญหาน้ำท่วมปาก พูดไม่ออก เพราะเซลส์หรือเออีของนิตยสาร ก็ไม่สามารถต่อรองหรือโน้มน้าวให้ลูกค้าเคารพเวลาได้เลย สาเหตุที่ดูเหมือนไม่น่าเชื่อแต่จริงก็คือ เออีของนิตยสารมักจะไม่เก๋าพอ อายุไม่เยอะ อ่อนกว่าลูกค้าประมาณ 2 รอบ ลักษณะน่าจะเป็นเหลนมากกว่า ดังนั้นเขี้ยวยังลากดินไม่เท่าลูกค้า ในที่สุดก็ต้องตามใจและบางทีถึงขั้นยอมให้ลูกค้า ‘แก้จนนาทีสุดท้าย’ กรณีแบบนี้ บ.ก จึงจำเป็นต้องออกโรงเข้มงวดกับเส้นตายและแก้ปัญหาเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับข้อตกลงได้อย่างดีที่สุด และเสียหายน้อยที่สุด ถ้าจำเป็นต้องเจรจา ก็ต้องเจรจาบนพื้นฐานว่า ทางนิตยสารจะเสียหายอย่างไรจากการส่งงานล่าช้าของลูกค้า

เรื่องนี้ไม่ใช่เพราะแค่เพียงลูกค้าอยากได้งานที่มีคุณภาพ นิตยสารก็อยากได้ลูกค้าที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน ถ้าทั้งสองความต้องการนี้มาบรรจบพบกันได้ ทุกคนก็น่าจะทำงานลื่นไหล และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในระยะยาวไม่ใช่หรือ?

บาปข้อที่ 5 ขอให้บ.ก ช่วยเขียนถึงสินค้าหรือบริการสักเล็กน้อย

การเป็นบรรณาธิการนิตยสารทุกวันนี้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะบรรณาธิการที่พยายามกันตัวเองออกจากการ ‘ถูกซื้อตัว’ ทางอ้อม เพราะจะต้องผ่านการต่อรองจากลูกค้าว่า ที่ให้เขียนถึงสินค้าก็เพราะ บ.ก มี ‘ต้นทุน’ ทางสังคม คือเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดกับคนอ่าน ดังนั้นการที่บ.ก เขียนสนับสนุนสินค้าของลูกค้าจะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ เอ่อ ตรรกะนี้ฟังเผินๆ อาจจะดูดี ดั่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ลูกค้าผู้มีพระคุณก็เสียเงินลงแอดแล้ว บ.ก ก็น่าจะหยวนๆ ตอบแทนด้วยการเขียนเชียร์สินค้าแบบเนียนๆ ให้หน่อย ลักษณะเป็นการตอบแทนบุญคุณน่ะ ว่าง่ายๆ กรณีนี้อธิบายได้ว่า แม้บ.ก ของนิตยสารจะมีต้นทุนทางสังคมอะไรที่ว่ามาก็ตาม แต่นั่นหมายความว่า เขาสะสมของเขามาเอง ผ่านประสบการณ์ ผ่านโลกมามากมายกว่าจะเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิดกับคนอื่นได้ และคนที่น่าจะได้รับการขอบคุณเสียยิ่งกว่าลูกค้าก็คือ พ่อแม่ของบ.ก เองที่อบรมเลี้ยงดูจนเติบโตและมีความสามารถและความน่าเชื่อถือขนาดนั้นได้ ดังนั้นไอ้ต้นทุนที่เขาสะสมมานัั่นน่ะ มันมีราคาที่ต้องจ่ายมาแต่ไหนแต่ไร และไม่ทราบว่าคุณลูกค้าได้มาจ่ายกับเขาตั้งแต่ต้นหรือ?

ถ้าบ.ก คนใด เขียนชมสินค้าตัวนั้นเนียนๆ โดยไม่ได้อินไปกับสินค้าหรือแทบไม่เคยใช้เลย แล้วปรากฏว่าคนอ่านไปซื้อใช้แล้วไม่เห็นว่ามันจะเจ๋งอย่างที่บ.ก บอก แล้วเขาเขียนจดหมายมาด่าแม่ขึ้นมา เป็นผลให้ความน่าเชื่อถือที่เป็นต้นทุนหนึ่งทางสังคมที่เขาสะสมมาเกิดหดหายไป คุณลูกค้าไปหามาใช้คืนเขาได้หรือเปล่า? จะให้แม่ของลูกค้ามาโดนด่าแทนไหม? ดังนั้นขอให้รู้ไว้เลยว่า การที่บ.ก บางท่านไม่ยอมเขียนถึงสินค้าใดๆ เลยนั้น ไม่ใช่เขาไม่อยากตอบแทนลูกค้า แต่เขากำลังสะสมต้นทุนด้านความน่าเชื่อถือที่ลูกค้าเชื่อว่าเขามีต่างหาก เพราะเมื่อเขามีความน่าเชื่อถือ มันก็ส่งผลทางอ้อมต่อฐานคนอ่านที่ติดตามนิตยสารเล่มนั้น ซึ่งเป็นผู้บริโภคของลูกค้าอยู่ดี แต่ในทางกลับกัน ถ้าเขาเขียนชมสินค้าตัวใดตัวหนึ่งได้ ครั้งต่อไป ลูกค้าท่านอื่นก็ต้องมาขอให้เขียนได้ แล้วถ้าเป็นสินค้าคู่แข่งคุณล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น? และถ้าคุณคิดว่า บ.ก น่าจะเกรงใจและยอมทำ ก็อยากจะย้อนถามว่า คุณคิดว่าบ.ก เป็นส่วนหนึ่งในแผนกคนเขียนข้อความโฆษณาของคุณไปตั้งแต่เมื่อไหร่่?

ทั้งหมดทั้งปวงนี้เอง จึงเป็นเหตุผลที่บ.ก ต้องมีเส้นความเป็นกลางที่ชัดเจน และมีพื้นที่ส่วนตัวที่ใครจะมารุกล้ำไม่ได้ คำพูดประมาณว่า ‘ถามเฉยๆ เผื่อจะเขียนให้ได้ ไม่ได้บังคับว่าต้องเขียนให้’ นั้นไม่ได้ฟังแล้วดูว่าคุณอุตส่าห์มีมารยาทและเกรงอกเกรงใจเลย เพราะคนที่มีมารยาทจริงๆ จะไม่ถามเรื่องเช่นนี้ตั้งแต่แรก หลายคนที่อ่านเรื่องนี้อาจจะเถียงว่าก็ไม่เห็นเป็นไรเลย บ.ก ตั้งหลายเล่มก็ยังยอมเขียนเชียร์ลูกค้า และบ.ก บางคนถือว่าเป็นการเอาใจลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ต้องร้องขออีกต่างหาก เรื่องนี้ขอให้เข้าใจด้วยว่า บ.ก แต่ละคน ก็คือคน ที่มีความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาต่ออาชีพมากน้อยไม่เท่ากัน การที่คนหนึ่งทำอะไรลงไปด้วยวิธีคิดแบบหนึ่ง ไม่ได้หมายความโดยปริยายว่านั่นคือมาตรฐานการตัดสินใจของบ.ก ทุกคนบนโลกนี้ได้ แต่โดยรวมแล้ว สิ่งที่ไม่ควรทำที่ลูกค้าพึงตระหนักก็คือ ไปอยู่บ้านใคร อย่าทำเหมือนกำลังอยู่บ้านตัวเอง เขียนสั้นๆ แค่นี้ ไปตีความกันเอาเอง

บาปข้อที่ 6. เรียกกองบรรณาธิการเข้าไปรับบรีฟ ให้คิดไอเดียมาขาย แต่หักมุมด้วยการเอาไปทำเองหน้าตาเฉย

นี่ก็เป็นอีกเหตุการณ์น้ำท่วมปากระดับสุดยอด (กรณีนี้น่าจะท่วมถึงจมูกเลย) เป็นการกระทำที่ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร นอกจากอยากจะบอกว่า มันคือการขโมยไอเดียอย่างสุภาพและเป็นมืออาชีพ แต่ลงท้ายแล้ว จะขโมยด้วยมือเปื้อนๆ หรือใส่ถุงมือกำมะหยี่ก็คือขโมยอยู่ดี เอาเข้าจริงนั่นคือการกระทำของมืออาชีพที่ลึกๆ แล้วไม่มีความเป็นมืออาชีพเอาเสียเลย แล้วเหตุการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นอยู่ได้ทุกเมื่อเชื่อวันในโลกของคนทำสื่อ โดยเฉพาะคนทำนิตยสาร อาจเพราะว่าลูกค้า ยังเชื่อในศักยภาพของสื่อแบบนิตยสารและฐานคนอ่านที่เข้มแข็งมากพอ ซึ่งคนทำนิตยสารเองเขาก็อยากเรียกร้องให้มีองค์กรคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์การคิดไปเลยให้รู้แล้วรู้รอด เพราะในที่สุด การกระทำที่ไร้มารยาทของลูกค้ามันก็ไม่ได้ส่งผลดีอะไรเลยกับทุกฝ่าย ลูกค้ากับนิตยสารเองก็น่าจะมองหน้ากันไม่ติด เพราะมันเหมือนลูกค้าไปหลอกให้นิตยสารคิด โดยมีคำพูดเหมือนๆ กันเป็นแพทเทิร์นว่า ‘มีงบเยอะ อยากรู้ว่าทางนิตยสารจะทำอะไรให้ได้บ้าง’ พูดง่ายๆ ว่ามันคือการโยนเหยื่อมาล่อ แล้วเมื่อทางนิตยสารกระโดดงับ ก็ติดเบ็ดเสร็จทุกราย เป็นการฟันแล้วทิ้งอย่างแท้จริง แล้วทางนิตยสารก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้คนไม่จริงใจลอยนวลไปครั้งแล้วครั้งเล่า

จะว่าไป ปัจจุบันนี้ ลูกค้าใช้วิธีให้นิตยสารหลายๆ เจ้าเข้าไป Pitching หรือแข่งกันนำเสนอว่าจะทำโปรเจ็คต์โฆษณาอย่างไร งานนี้ใช้วิธีใครดีใครได้ ใครชนะก็กินงบมหาศาลไป ซึ่งกรณีเช่นนี้ถ้านิตยสารอยากได้งบนั้นจริงๆ และพร้อมสู้กับเจ้าอื่น ก็ต้องเล่นตามกติกาของเขาไป ด้วยการคิดงานให้ออกมาเจ๋งที่สุด เพื่อให้ลูกค้าประทับใจที่สุด แต่ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่า อาจจะได้หรือไม่ได้งานนั้นก็ได้ วิธี Pitching นี้ เผลอๆ ทางเออีของนิตยสาร หรือคนที่ดูด้านการตลาดในระดับสูงต้องอ่านเกมให้ขาดพอสมควรว่าทางนิตยสารของตัวเองมีโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อแค่ไหน ควรจะเสี่ยงไหม หรือควรจะแทงกั๊กไอเดียไม่ปล่อยหมดเพื่อให้ไม่เสียเปรียบโดนสูบไอเดียไปทีหลัง เรื่องพวกนี้จะว่าไปก็เหมือนเล่มเกม ใครอ่านเกมออกก็เล่นสนุก ใครอ่านไม่ออก ตามไม่ทันลูกค้าก็เซ็งไป ซึ่งคนที่มีทางเลือกน้อยที่สุดคือนิตยสาร เพราะเงินก็อยากได้ ใครเขาอยากให้เข้าไปเสนอไอเดียก็อยากไปทั้งนั้น เผื่อจะมีโอกาสที่ลูกค้าซื้อ แต่การคิดไอเดียเพื่อให้คนอื่นเอาไปใช้ฟรีๆ ก็ไม่ไหวเช่นกัน สุดท้าย คงโทษใครไม่ได้ เพราะระบบการทำงานที่เน้นการแข่งขันเช่นนี้ มันไม่ได้ใส่คุณธรรมเข้าไปในระบบมากพอ แต่ก็น่าจะเป็นข้อเรียกร้องหนึ่งที่นิตยสารหลายๆ เจ้า อยากให้ฝ่ายลูกค้าได้ทบทวนและทำในสิ่งที่มองหน้ากันติดและไว้เนื้อเชื่อใจกันไปอีกหลายปีข้างหน้าดีกว่า ถ้าคุณคิดว่า ทางนิตยสารคิดไอเดียมาไม่ดีพอ ก็เลือกไอเดียจากเจ้าอื่นได้ นั่นเป็นสิทธิของคุณร้อยเปอร์เซนต์ แต่ถ้าเขาคิดมาดีจนคุณชอบ แต่ไปหักหลังหยิบไอเดียเขาไปใช้ดื้อๆ โดยเขาไม่ได้อะไรเลยนั้น นอกจากคุณไม่มีสิทธิทำแบบนั้นแล้ว ขอให้รู้ไว้ด้วยว่า การหลอกใช้คนอื่น มันเป็นบาป

บาปข้อที่ 7. ไม่เคารพหน้าที่ของกองบรรณาธิการนิตยสาร หรือปฏิบัติกับกองฯ เหมือนคนรับจ้างทำแอด

กรณีนี้ไม่ถึงกับเกิดขึ้นบ่อย เพราะลูกค้ารู้บทบาทของกองบ.ก นิตยสารอยู่แล้วว่า จึงไม่ค่อยจะก้าวก่ายหน้าที่กัน เช่น ลูกค้ารู้อยู่แล้วว่านักเขียนก็มีสำนวนการเขียนของเขาเอง จึงไม่ค่อยไปปรับแก้มากเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีลูกค้าบางท่านที่อาจจะร่ำเรียนมาสูง จบเมืองนอกเมืองนา เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย เลยทำให้ใช้ภาษาไทยไม่ถูกหลัก แล้วก็เคยชินกับสิ่งที่ตัวเองใช้ โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องของหลักภาษา แม้จะผิดก็ยืนยันที่จะใช้ภาษาผิดๆ ไปแบบนั้น เรื่องมันจะไม่เป็นไรเลยถ้าหากว่า คุณลูกค้ายอมที่จะให้หน้านั้นเขียนว่า Advertorial Page เพื่อให้คนอ่านรู้ว่านั่นไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบของกองบ.ก ภาษาผิดๆ ที่คุณใช้ก็ไม่ใช่เพราะฝ่ายของนิตยสารไม่ได้ตรวจทาน แต่ปัญหาคือลูกค้าไม่ยอมให้ใส่คำว่า Advertorial Page หรือคำว่าพื้นที่โฆษณาอะไรก็ตาม นิตยสารจึงต้องถูกมองว่าไม่มีมาตรฐานในการใช้ภาษาต่อไป เป็นความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับไว้ทั้งที่ไม่ได้สร้างความผิดด้วยตัวเองเลย พฤติกรรมเช่นนี้ของลูกค้า ในอีกนัยหนึ่งจึงเรียกว่าไม่เคารพหน้าที่ของกองบรรณาธิการเช่นกัน เพราะคุณไม่คิดว่าเขามีความเป็นมืออาชีพด้านภาษามากกว่าคุณ และนอกจากคุุณจะไปทำให้มาตรฐานการเขียนของนิตยสารของเขารวนแล้ว เผลอๆ ลูกค้าบางรายก็ยังก้าวเลยไปมากกว่านั้นคือ โทรสั่งการกับนักเขียนเองเลยว่าอยากได้แบบนั้นแบบนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เป็นดั่งเจ้านายตรง ที่จ้างนักเขียนทำงานเป็นการส่วนตัว แบบนี้ก็ไม่ไหวเช่นกัน ผิดมารยาทการทำงานอย่างยิ่ง เพราะระบบของกองบรรณาธิการที่ดีคือ ลูกค้ากับนักเขียนจะแยกจากกันโดยเด็ดขาด คนที่จะประสานงานกับนักเขียนให้ลูกค้าได้คือเออีหรือเซลส์ของนิตยสารเท่านั้น และเจ้านายของนักเขียนก็คือ บ.ก ดังนั้นจะปรับจะแก้งานอย่างไร ก็หนีไม่พ้นต้องให้บ.ก ต้องเป็นคนรับรู้ก่อน เพราะบ.ก ต้องคุมโทนของงานชิ้นนั้นให้เป็นไปตามข้อตกลงเอาไว้ ไม่ใช่เป๋ไปเป๋มาตามใจลูกค้า แล้วหลุดไปจากคอนเซปต์ทั้งของสินค้าและนิตยสาร ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่นิตยสารหลายๆ แห่งอาจจะหยวนๆ ยอมๆ กันได้ แต่นิตยสารบางแห่งเขาก็ซีเรียสกับเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นคุณลูกค้าต้องดูด้วยว่า ทางนิตยสารนั้นเขามีสไตล์การทำงานแบบไหน แล้วก็อย่าไปล้ำเส้นเขา

สิ่งที่ต้องห้ามอีกอย่างคือ กรุณาอย่ามาระเบิดอารมณ์ของคุณใส่นักเขียน เพราะนั่นไม่ใช่วิสัยที่ดีของการทำงานร่วมกัน จริงอยู่ที่คุณเป็นลูกค้า เป็นผู้มีพระคุณ จริงอยู่ที่คุณจ่ายเงินให้นิตยสาร และจริงอีกที่นิตยสารรับเงินจากคุณ คุณอาจจะเถียงด้วยก็ได้ว่า ถ้าไม่อยากให้ด่าก็อย่ารับทำ (มีคนคิดแบบนี้เหมือนกัน) ถามว่า ก่อนที่คุณจะมาซื้อแอด คุณมีทางเลือกอะไรมาให้เขาบ้าง คำตอบคือไม่มี คุณมาถึงก็บอกกับนิตยสารว่ามีเงินเท่านี้ ทำอะไรได้บ้าง มีคนทำแอดให้ไหม ทั้งที่คุณเป็นเอเจนซี่ แต่ก็อย่างที่บอกว่า คุณไม่ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น ซึ่งนั่นก็คือการคิดโฆษณาที่ตอบโจทย์ลูกค้า ทำ Print Ad ให้ดูน่าสนใจ ใครเห็นก็อยากจะเปิดอ่าน (ซึ่งมันเป็นโจทย์ของคุณแท้ๆ ) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณไปโขกค่าเอเจนซี่ฟีมาจากลูกค้าตรง แต่โยนงานมาให้นิตยสารทำให้ แล้วเขาก็ต้องทำให้เพราะเขามีรายได้หลักที่ทำให้อยู่ได้จากการขายพื้นที่โฆษณา เท่ากับว่าคุณเอาเงินค่าโฆษณามาต่อรองให้เขาไม่มีทางเลือก พูดให้หนักไปกว่านั้นคือ เขาต้องทำหน้าแอดให้แทนที่คุณจะทำ คุณบอกว่าคุณจ่ายเงินให้เขาทำ แต่เปล่าเลย ความจริงคือ เขาสมควรได้เงินนั้นอยู่แล้วเพราะเขามาช่วยทำให้ เขาต่างหากคือผู้ที่ช่วยคุณให้ได้กินค่าเอเจนซี่ฟีอย่างสำเริงสำราญกันทุกปีๆ ถ้าพูดให้เห็นภาพคือ คุณกำลังจ้างคนมาทำการบ้านให้คุณนั่นแหละ แล้วพอเขาทำการบ้านไม่ถูกใจ เพราะเขาไม่ได้เรียนห้องเดียวกับคุณหรืออาจารย์เดียวกับคุณ คุณก็ไปด่าเขาเสียอย่างนัั้น มันถูกตรงไหน?

ในโลกแห่งการลงแอดนิตยสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ในบ้านเรานั้น ยังไม่มีระบบการตรวจสอบหรือจัดการให้เป็นไปอย่างมีระเบียบที่ถูกที่ควรเท่าไหร่ และถ้าเป็นไปได้ ก่อนที่โฆษณาจะก้าวล้ำเส้นคนอ่านหรือหลักการของนิตยสารแต่ละหัวมากไปกว่านี้ ก็ควรที่จะมีการจัดการเรื่องนี้กันสักที ถ้าเป็นสมาคมนิตยสารของเมืองนอก เขาจะมีหลักเกณฑ์หรือไบเบิ้ล สำหรับเอเจนซี่และสื่อ เพื่อจะได้รักษามาตรฐานและจรรยาบรรณในการทำงาน ถามว่าได้ผลไหม ก็อาจจะไม่ถึงกับสามารถบังคับใช้ได้กับทุกสื่อเหมือนกันหมด เพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะแหกคอก หรือทำในสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว แต่แค่มีหลักที่บังคับและใช้ได้ผลกับสื่อสักจำนวนหนึ่งที่แม้จะไม่ได้มาก แต่ก็อย่าให้ถึงกับไม่มีเลยก็แล้วกัน

บอกตรงๆ ว่าแม้สื่อจะมีรายได้จากโฆษณา และโฆษณาสินค้าก็หวังจะเข้าถึงกลุ่มคนอ่านที่เป็นเป้าหมายในสื่อนั้นๆ แต่สุดท้ายแล้ว คนที่จะตัดสินว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อนิตยสารเล่มนั้นๆ ก็คือลูกค้า หรือ คนอ่าน ถ้าเขาไม่หยิบเงินซื้ิอนิตยสารของคุณซะอย่าง แอดที่ลงไปโดยหวังจะให้เขาดู ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน ส่วนเนื้อหาของนิตยสารที่ทุ่มเทกันทำงานมาทั้งหมด ก็ไปไม่ถึงคนอ่านอีกเช่นกัน คนทำนิตยสารที่ไม่มีคนอ่าน เอเจนซี่ที่ลงแอดไปแล้วเหมือนเสียเปล่า ก็ไม่รู้ใครจะเจ็บปวดกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คนอ่านหันหลังให้แล้วละก็ ทั้งสื่อและลูกค้า เอเจนซี่ ก็จะมาโทษกันเองว่าใครผิด ใครล้ำเส้นใคร เช่น หนังสือคุณไม่ดีเองเลยไม่มีคนอ่าน กับ ก็เพราะมีลูกค้ามากำหนดทุกอย่างแบบคุณนั่นแหละที่ทำให้มันไม่มีอะไรจะอ่าน

ใช่….เถียงกันอยู่อย่างนั้นว่าใครผิด แต่อะไรที่ถูกที่ควร ก็ไม่เคยมีใครใส่ใจและหยิบมาทำกันให้ยั่งยืนเลย

แต่ถ้าลูกค้าหรือเอเจนซี่ท่านใดอยากเริ่มต้นทำเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในวงการ ก็ขอให้เริ่มต้นจากการละเว้นบาป 7 ประการเหล่านี้กันให้สิ้นซากทีเถอะ

ป้ายคำ :