ข่าวตีนแมว 6 คนงัดบ้าน สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เลขที่ 77 ลาดพร้าว 64 แยก 2 เขตวังทองหลาง กทม. ซึ่งเป็นบ้าน 2 หลัง ในเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา กวาดเงินไป 200 ล้านบาท และยังสารภาพอีกว่ามีเงินใส่ถุงอีกเพียบไม่น้อยกว่า 700-1,000 ล้านบาทอยู่ในบ้าน ขณะที่นายสุพจน์ออกมาชี้แจงว่าขโมยเอาเงินไป 6 ล้านบาทเท่านั้น ข่าวนี้ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยทันทีว่าทำไมรวยผิดปกติเช่นนี้ เขาผู้นี้ทำมาหากินอะไร ทำไมเงินมันท่วมบ้านได้ปานนั้น และเจ้าของเงินตัวจริงคือใคร
ต้องยอมรับว่า เส้นทางการไต่เต้า เข้ามานั่งเก้าอี้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคมของ “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” นั้นไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะถ้าย้อนหลังไปไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา สุพจน์ ยังเป็นแค่วิศวกรกรมทางหลวง ระดับซี 8 ซี 9 ที่ไม่ค่อยมีบทบาทหรือมีใครกล่าวถึงเท่าไหร่นัก
กระทั่งจุดพลิกผันสำคัญ เมื่อปี 2551 ในสมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีกลุ่มของ เนวิน ชิดชอบ กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ก่อตัวเป็น “ขั้วอำนาจใหม่” ในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน มีการสร้างฐานข้าราชการของตนเองขึ้นในกระทรวงสำคัญ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมก็ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์คุมการใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท
คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นไฟเขียวตั้ง สุพจน์ ขึ้นนั่งซี 10 ตำแหน่ง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นการชิมลาง ก่อนจะไต่เต้าโยกย้ายแบบสายฟ้าแลบ ขึ้นเป็น อธิบดีกรมทางหลวง ดูแลการก่อสร้างเส้นทางสำคัญทั่วประเทศ และในที่สุด สุพจน์ ก็ได้นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงคมนาคมในเดือนตุลาคมปี 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ผู้ใกล้ชิดคนใหญ่ในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นรมว.คมนาคม นั่นเอง
ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบฯไทยเข้มแข็งจากรัฐบาลไปทั้งสิ้น 18 โครงการ คิดเป็นเป็นวงเงินรวม 44,963 ล้านบาท มีโครงการที่เด่นๆ ได้แก่ งานบำรุงรักษาทางหลวง 13,910 ล้านบาท โครงการถนนไร้ฝุ่น 14,595 ล้านบาท เป็นต้น
แน่นอนว่า การขึ้นนั่งเก้าอี้ใหญ่ระดับซี 11 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และมิได้อาศัย “โชคช่วย” เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ข้าราชการที่ขึ้นเป็นใหญ่ต้องมี “ตัวช่วย” คือการตอบสนองความต้องการของนักการเมืองได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว และต่อเนื่อง ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมทุกยุคสมัยก็ต้องมีคุณสมบัตินี้
คอนเน็คชั่นของสุพจน์นั้นมาแบบเงียบๆ เนิบๆ แต่กินพื้นที่กว้าง ครอบคลุมตั้งแต่คนใหญ่คนโตในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ไปจนถึงพื้นที่บุรีรัมย์ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่เป็นวิศวกรออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการลงทุนให้รัฐบาลหลายยุคสมัย
โดยผลงานที่ข้าราชการกรมทางหลวงกล่าวขานกันจนกระทั่งขณะนี้ ว่าเป็นแรงผลักดันของสุพจน์ ก็คือ เส้นทางหลวงสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ที่มีขนาดกว้างคูณยาวในลักษณะที่หลายจังหวัดต้องอิจฉา
เมื่อในขณะที่ ศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ยังนั่งเก้าอี้เป็น อธิบดีกรมทางหลวง สุพจน์ คือมือดี “มือขวา” ที่ศรีสุข ไว้วางใจให้ออกแบบก่อสร้างถนนสู่บรรหารบุรีเส้นนี้
มีการพูดกัน “วงใน” ว่า ถนนสายสุพรรณบุรี ไม่มีวิศวกรคนใดในกรมทาง กล้าที่จะออกแบบ เพราะถูกทักท้วงอย่างหนัก จากหน่วยงานต่างๆว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่เมื่อแรงกดดันทางการเมืองในจังหวะคาบเกี่ยวที่ บิ๊กเติ้ง บรรหาร ศิลปอาชา เป็นใหญ่เมื่อเกือบ 18 ปีก่อน ทำให้ไม่มีใครกล้าต่อกร ต้องตอบสนองกันสุดลิ่ม
ไม่เพียงเท่านั้น สุพจน์ ยังเป็นวิศวกรคนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนสร้างถนน “โลคัลโรด” คู่ขนานกับซุปเปอร์ไฮเวย์ ในยุคที่ศรีสุขเป็นอธิบดี และมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรมว.คมนาคม ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้คนในกรมทางหลวงว่าไม่คุ้มค่าและขัดกับหลักวิศวกรรมเช่นเดียวกัน
ถ้ากลุ่มเนวินและบรรหาร คือคนที่เป็น “แบ็คอัพทางการเมือง” สำคัญให้กับ สุพจน์ ก่อนก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคม ตัวละครที่ชื่อ ศรีสุข จันทรางศุ ก็คือ “แบ็คอัพทางราชการ” ที่ปูพื้นฐาน ให้กับ สุพจน์ ในการบริหารหน่วยงาน กรม กองต่างๆ และรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคมแบบถึงลูกถึงคน
เพราะในขณะที่ศรีสุข ซึ่งโตมาจากสายการบินพาณิชย์ ต้องขึ้นไปกุมบังเหียน กรมทางหลวง ก็ได้ สุพจน์ ในฐานะวิศวกร ที่คลุกคลีอยู่กับผู้รับเหมามาอย่างโชกโชน เป็นตัวช่วยสำคัญในการบริหารอย่างราบรื่น ก่อนที่ศรีสุขจะขึ้นเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ควบเก้าอี้ประธานบอร์ด “การท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่” (บทม.) ที่ดูแลการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ขณะนั้น สุพจน์ ก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วย ศรีสุข ปรับลดแบบอาคารผู้โดยสาร(เทอร์มินัล)สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ สามารถนำไปอวดอ้างได้ว่ามีการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างลงจำนวนมาก ทั้งที่จริงๆแล้วมีการลดขนาดการลงทุนนั่นเอง
กระทั่ง ศรีสุข เกษียณอายุราชการไป แต่ก็ยังมีชื่อวนเวียนอยู่ในตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง โดยเฉพาะในยุคของพรรคภูมิใจไทยคุมกระทรวงคมนาคม ศรีสุข คือมือทำงานสำคัญและยังมีอิทธพลต่อการตัดสินใจของรมว.คมนาคมหลายๆเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการผลักดันให้เสนอชื่อ สุพจน์ นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงคมนาคม ในขณะที่อายุราชการของเขาเหลืออีกหลายปี
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดในยุคที่ สุพจน์ เป็นปลัดกระทรวงคมนาคม จะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งรถไฟฟ้าหลากสี ถนนสายหลักหลายเส้น และ ถนนปลอดฝุ่นทั่วประเทศ ขณะที่ชื่อของบริษัทผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลงานจะเกี่ยวโยงกับพรรคการเมืองสำคัญอย่างภูมิใจไทยไม่มากก็น้อย
คนวงในประเมินว่า แท้จริงแล้ว สุพจน์ ก็คือข้าราชการระดับสูงที่มีเส้นทางเดินคล้ายกับลูกพี่อย่าง ศรีสุข ที่ใช้ “ฝีมือบวกคอนเน็คชั่นทางการเมือง” ได้อย่างลงตัวคนหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือสุดท้ายปลายทางของทั้งสองคนนี้อาจใกล้เคียงกันนั่นคือต้องคดีอยู่กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
“สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2496 อายุ 58 ปี เป็นบุตรชายของนายถวัลย์และนางพยุง ทรัพย์ล้อม อาชีพรับราชการอยู่ที่แขวงการทางจ.อยุธยา กรมทางหลวง
ข้าราชการรุ่นเก่าๆที่ทำงานแขวงการทาง จ.อยุธยาเล่าให้ฟังว่านายสุพจน์เป็นลูกที่มีความกตัญญู โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้จัดงานครบรอบวันเกิดให้บิดาที่จังหวัดอยุธยาอย่างยิ่งใหญ่ มีแขกผู้หลักผู้ใหญ่เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ตีนแมวงัดบ้าน “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” ล้อมทรัพย์ 200 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 สื่อเกือบทุกฉบับรายงานข่าว อย่างโพสต์ทูเดย์พาดหัวว่า “โจรปล้นบ้านปลัดคม.รับกวาด 200 ล.“ เป็นข่าวที่สร้างความฉงนสงสัยว่าทำไมมีเงินมากมายขนาดนั้นเก็บไว้ในบ้าน โดยเนื้อหารายงานว่าพล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผบ.ตร. ได้แถลงผลการจับกุมแก๊งคนร้ายที่ร่วมปล้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม (คม.) ประกอบด้วย นายสิงห์ทอง หรือ ไก่ ใจชมชื่น อายุ 44 ปี และ นายเสาร์แก้ว หรือ แก้ว นามวงศ์ อายุ 59 ปี พร้อมของกลางเงินสด 2,822,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท จำนวน 2 เส้น อุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เครื่องช็อตไฟฟ้า 3 อัน โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง โดยจับกุม นายสิงห์ทอง ได้ที่ห้องพักย่านคลองตัน และจับกุม นายเสาร์แก้ว ได้ที่บ้านพัก จ.เชียงราย
ทั้งนี้แก๊งปล้นดังกล่าวร่วมวางแผนมาหลายเดือนแล้ว มีการวนมาดูบ้านที่เกิดเหตุหลายรอบ แต่ยังไม่กล้าลงมือ จนกระทั่งนายวีระศักดิ์ ได้ติดต่อมาว่าเตรียมอุปกรณ์ในการลงมือครบถ้วนแล้ว โดยมีการใช้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เครื่องสัญญาณกล้องวงจรปิด เครื่องตัดสัญญาณประตูเลื่อนหน้าบ้าน
นายสิงห์ทอง ได้สารภาพว่า ได้วางแผนนานประมาณ 1 ปี แล้ว โดยมี นายวีระศักดิ์ เป็นหัวหน้าแก๊ง ซึ่งทราบข่าวว่าที่บ้านหลังดังกล่าวมีเงินสดเก็บอยู่เป็นจำนวนมาก โดยวันเกิดเหตุได้ใช้อุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์และเข้าไปในบ้านทั้ง 5 คน ส่วน นายคำนวณ คอยดูต้นทางอยู่ข้างนอก เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วก็ได้บุกเข้าไปขโมยเงินสดที่ใส่อยู่ในถุง และเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าภายในห้องนอน ซึ่งพบว่ามีเงินสดจำนวนหลายถุง ส่วนเงินภายในตู้เซฟไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ถัดมาในวัน 18 พย. 2554 น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ได้รายงานต่อว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า เป็นผู้ออกคำสั่งให้ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยการพิจารณางบประมาณฟื้นฟูของกระทรวงคมนาคม ที่มีงบประมาณสูงถึง 40,000 – 50,000 ล้านบาท จึงจำเป็นที่จะต้องนำคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วย ทั้งนี้ หากจะทำในฐานะปลัดกระทรวงคมนาคม ก็จะได้เพียงงานของกระทรวงคมนาคมเท่านั้น
นอกจากนี้ นายยงยุทธ ยังกล่าวปฏิเสธว่า การย้ายมาช่วยราชการครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับกรณีเงิน 1,000 ล้านบาท เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนที่ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะตั้งคณะกรรมการมาสอบสวนนั้น ถือเป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ซึ่งยังไม่มีการส่งเรื่องมายังรัฐบาล
ขณะที่น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 พ.ย. 2554 รายงานว่า นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ปปช. กล่าวถึงกรณีที่ คนร้ายที่ร่วมกันปล้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้การว่าปล้นไป 200 ล้านบาทและมีเงินสดซุกซ่อนอยู่ในบ้านอีกจำนวนมากว่า นายสุพจน์ ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี 2545 ได้ยื่นในตำแหน่งกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ( ทอท. ) ต่อจากนั้นก็ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯในฐานะกรรมการรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง รวมทั้งตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง ปลัดกระทรวงคมนาคม ครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 16 ยื่นเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 54 ในตำแหน่งกรรมการ บริษัท การบินไทย
“ตอนนี้เจ้าหน้าที่ ปปช.ที่ดูแลเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินฯ ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากนั้นก็จะรายงานให้คณะกรรมการ ปปช. ทราบ ซึ่งคณะกรรมการ ปปช. จะประชุมกันในวันที่ 22 พ.ย.นี้ และมีมติว่าจะทำการไต่สวนเรื่องร่ำรวยผิดปกติหรือไม่” นายกล้านรงค์ กล่าว (ข่าวหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ 19 พ.ย.2554 )